รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสถาปนาได้การเมืองแบบชนชั้นนำ เพิ่มอำนาจผู้ดี ลดอำนาจประชาชน และจะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างกว้างขวางในไม่ช้า เพราะความสัมพันธ์ทางอำนาจเช่นนี้ไปทำลายพื้นที่ชีวิตสังคมการเมืองที่จำ เป็นของผู้คนที่เคยสร้างจรรโลงกันมา
ประภาส ปิ่นตบแต่ง
เราได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมาธิการในช่วงหลังสงกรานต์กันแล้ว ซึ่งก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ในขั้นต่อไป แต่ฐานคิดและบทบัญญัติที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คงจะถูกแก้ไขเพียงในรายละเอียดเท่านั้น
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ บอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการป้องกันสภาวะขาใหญ่คนเดียว สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ กล่าวในเวทีประชุม สปช. เหมือนกันว่า เราต้องทำให้คนจนลดลงเพราะคนพวกนี้ส่งนักการเมืองเลวๆ เข้าสู่อำนาจ ฟังแล้วถึงกับบ้าแข่งกับหมาในฤดูร้อนนี้กันเลยทีเดียว
หน้าตารัฐธรรมนูญที่ออกมาไม่เป็นที่น่าแปลกสักเท่าไร เพราะทั้งพวกที่ยึดอำนาจและพวกที่ยกร่างก็ล้วนสะท้อนวิธีคิด วิธีการมองปัญหา ให้เห็นมาโดยตลอด
โดยภาพรวมรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งที่จะเอาอำนาจออกจากประชาชนคนส่วนใหญ่ ที่ถูกมองว่าเป็นผู้โง่งก ที่ส่งพวกอัปรีย์ชนเข้าสภาและสู่อำนาจทางการเมือง พวกผู้ดี (ส้นตีนแดง!) ทั้งหลาย จะคิดออกแบบไปอย่างอื่นได้อย่างไร นอกเสียจากต้องทำให้เสียงและอำนาจของคนเหล่านี้ค่อยลง
การเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นการเมืองแบบชนชั้นนำมุ่งเอาอำนาจขึ้นไปข้างบน กลับไปสู่รัฐราชการ แต่จะไม่อัปลักษณ์น่าอดสูเหมือนกับยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จหรือภาพแบบประชาธิปไตยครึ่งใบยุค พลเอกเปรม
หน้าตาคงจะออกมาในลักษณะที่มีความเหนียมอายแบบ ‘ประชาธิปไตยค่อนใบ’ กล่าวคือ มีส่วนที่ไม่เป็นประชาธิปไตยซ่อนเร้นอยู่บางส่วนแบบหลบๆ ซ่อนๆ
ประเด็นเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก (ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. แต่ต้องให้สภาผู้แทนฯ เลือกจากเสียงข้างมาก) สู้กันมายาวนาน ผ่านการบาดเจ็บล้มตายเมื่อเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แต่กลับเหยียบข้ามประวัติสาสตร์การต่อสู้การสร้างประชาธิปไตยกันเพียงแค่ให้เหตุผลว่า ต้องการไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง
เรื่องวุฒิสมาชิก 200 คน ก็มีความชัดเจน ส่วนหนึ่งให้มาจากการเลือกตั้งแบบเขตจังหวัด 77 คน แต่ที่เหลือก็เป็นการสรรหา เอาเข็มจิ้มหาคนดี ผู้ทรงคุณวุฒิ กำหนดผู้เคยเป็นปลัดกระทรวง 10 คน และปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุดหรือผู้บัญชาการเหล่าทัพ 10 คน
ส่วนที่เหลือมาจากสัดส่วนวิชาชีพ ซึ่งคาดเดาได้ไม่ยากว่าจะมาจากพวกกลุ่มองค์กรที่เชื่อมโยงกับชนชั้นนำ คนส่วนนี้คุมไม่ยาก เพราะองค์กรวิชาชีพที่เป็นทางการในสังคมไทยล้วนแต่เป็นองค์กรแบบรัฐจัดตั้งและควบคุมกำกับทั้งนั้น
สิ่งสำคัญก็คือ ประเด็นเรื่องอำนาจของวุฒิสมาชิก ที่มีอำนาจที่ใช้ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และที่มาซึ่งไม่ยึดโยงกับอำนาจของประชาชนที่เป็นปัญหาในเชิงหลักการเช่นเดียวกับองค์กรต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อมุ่งตรวจสอบ กำกับนักเลือกตั้ง
การไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่ยึดโยงกับบุคคล สถาบันที่เชื่อว่าบริสุทธิ์ ดีงาม เป็นกลาง ฯลฯ นี่แหละจะเป็นปมปัญหาให้กับความขัดแย้ง ความไม่ลงรอยกันในทางความคิดปฏิบัติการทางการเมืองที่แหลมคมข้างหน้า
ประเด็นเรื่องจำนวน ส.ส.เขตที่ลดลงเหลือเพียง 250 คน (จากเดิม 375 คน) ก็จะทำให้ความเป็นผู้แทนหรือตัวแทนหดแคบลง ที่กล่าวเช่นนี้เพราะเราต้องเข้าใจว่า ส.ส. ไม่ได้ทำหน้าที่ในการออกกฎหมายแต่ยังทำหน้าที่ในการกระจายทรัพยากร เป็นกลไกในการต่อรองของชาวบ้านด้วย
การเมืองแบบชนชั้นนำที่เกิดขึ้นอีกส่วนที่สำคัญ คือ การออกแบบองค์กรตรวจสอบ การกำกับ และสมัชชาต่างๆ เช่น สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ทำหน้าที่ในการกำกับมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้บริหารระดับสูง และไต่สวนผู้ที่ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง และส่งเรื่องให้ประชาชนถอดถอน
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งคงไม่เกินเลยว่า นี่คือองค์กรสืบทอดอำนาจ เพราะมาจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 60 คน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ 30 คน
คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการไม่เกิน 15 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ และระบุไว้ว่าไม่ฝักฝ่ายทางการเมืองหรือความขัดแย้ง คำถามคือ มีใครที่ไหนไม่อยู่บนทัศนะ จุดยืนและผลประโยชน์บ้าง
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า องค์กรเหล่านี้จะเกิดคำถามเรื่องที่มา เป็นใครมาจากไหน และการยึดโยงกับประชาชนอย่างไร เรายังไม่เห็น แต่คงเดาไม่ยากถ้าดูจากประสบการณ์ที่มาขององค์กรอิสระที่มีลักษณะ ‘ตุลาการภิวัตน์’ กล่าวคือ การเชื่อมคณะกรรมการสรรหาส่วนใหญ่คงจะมาจากสถาบันที่คาดกันว่าบริสุทธิ์ ยุติธรรม โดยไม่ต้องคำนึงถึงการยึดโยงกับประชาชน
ประเด็นสุดท้าย คณะกรรมาธิการยกร่างฯคุยโวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการสร้างการเมืองภาคพลเมือง แต่ก็กล่าวเอาไว้สั้นๆ ก่อนว่า เรากำลังจะเจอปัญหาวาทกรรมเรื่องการเมืองภาคพลเมืองหรือการเมืองภาคประชาชน
เพราะถ้าเรานิยามว่า การเมืองภาคประชาชนคือ การถ่ายโอนอำนาจลงข้างล่างไปสู่ประชาชนจัดการชีวิตกันเองมากยิ่งขึ้น ใช้อำนาจโดยตรงมากยิ่งขึ้น การออกแบบสมัชชาพลเมือง องค์กรตรวจสอบภาคพลเมืองดังที่ปรากฏในบทบัญญัติต่างๆ เช่น สมัชชาพลเมือง สภาตรวจสอบภาคพลเมืองคงไม่ใช่การเมืองภาคพลเมืองในความหมายนี้
แต่จะเป็นการเมืองภาคพลเมืองแบบชนชั้นนำ เป็นองค์กรประชาชนอุปโลกน์ที่ไม่ยึดโยงกับอำนาจประชาชน เกิดคำถามในเชิงหลักการเรื่องของความเป็นตัวแทน เพราะสุดท้ายเราคงจะได้บรรดาขุนนางชาวบ้านซึ่งทำงานกับเครือข่ายองค์กรที่ขับไล่รัฐบาลเลือกตั้งที่ผ่านมา
คนเหล่านี้เป็นคนดีของเครือข่ายที่พากกันยึดอำนาจมาแน่ๆ แต่หากมองจากความเป็นตัวแทนก็จะเห็นได้ว่า มีความคับแคบเฉพาะกลุ่มอย่างมาก แต่พวกเขากลับไปมีบทบาทกำกับ ตรวจสอบผู้แทน ตัวแทนที่มาจากการยึดโยงกับอำนาจของประชาชน
****************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ ประชาชนเกี่ยวอะไร นิตยสาร WAY 85 , พฤษภาคม 2558)