โค่นตาล เปลี่ยนนา ย้ายคน อนาคตสีเทาของเมืองเพชร หลังมอเตอร์เวย์สายใต้จ่อคอหอย

ทุ่งนาโล่งเตียน โดยรอบมีเพียงต้นตาล ถนนยางมะตอยสองเลนที่มีป้ายกรมทางหลวงสีฟ้าปักอยู่ ในละแวกนั้นมีบ้านเรือนอีกหลายหลังตั้งอยู่

ดูเหมือนไม่มีอะไรผิดปกติในพื้นที่แห่งนี้ ฉากที่ปรากฏสองข้างทางเป็นทิวทัศน์สำหรับผู้ที่ขับรถลงใต้ต้องผ่าน และเมื่อลับจากสายตาก็คงลับหายไปจากความทรงจำ แต่วันนี้ชาวบ้านเพชรบุรีหลากตำบลรวมตัวกันในบริเวณนี้เพื่อกระจายเสียงความคิดเห็นของตนให้พวกเราได้ฟัง ความคิดเห็นต่อหมุดปูนสี่เหลี่ยมที่ถูกปักลงผืนดินโดยที่ชาวบ้านไม่ทราบเรื่อง หมุดเหล่านั้นทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์บอกหลักกิโลเมตรให้แก่ถนนมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ โครงการที่ได้รับการผลักดันจากรัฐบาลและกรมทางหลวงมายาวนาน ที่ผ่านมาชาวบ้านคัดค้านโครงการมาโดยตลอดเนื่องจากจะทำลายพื้นที่ทำมาหากินและแหล่งอาศัยของหลายชีวิต

ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม-ชะอำเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 8 หรือที่รู้จักในนามว่า ‘มอเตอร์เวย์สายใต้’ มีเส้นทางเริ่มตั้งแต่จังหวัดนครปฐมลงสู่สงขลา รัฐเล็งเห็นว่าเป็นการพัฒนาเส้นทางคมนาคมครั้งสำคัญของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีสมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ปี 2540

ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม-ชะอำ มีเส้นทางผ่าน 4 จังหวัดตั้งแต่ราชบุรี สมุทรสงคราม นครปฐม เพชรบุรี ความยาวทั้งสิ้น 119 กิโลเมตร ในระยะทางทั้งหมดมีระยะทางประมาณ 46 กิโลเมตรที่ตัดผ่านจังหวัดเพชรบุรีในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเขาย้อย อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอบ้านลาด และอำเภอท่ายาง

“เฉียงๆ มานู้น เฉียงมาจากต้นตาลตรงนั้น หมดเลย พื้นที่เสียหายหมดเลย”

สุรพล นกเพชร ชี้ให้เห็นแนวทางถนนในอนาคตที่จะตัดผ่านที่ดินทำกินของชาวบ้าน เบื้องหลังของเขาชาวบ้านหลายคนค่อยๆ ทยอยขี่มอเตอร์ไซค์เรียงเป็นแถวตอนเพื่อพบนักข่าว ไกลออกไปมีควันไฟสีดำเพราะการเผาฟางลอยอยู่ สุรพลเป็นสมาชิก อบต. หมู่ 3 ตำบลไร่สะท้อน อำเภอบ้านลาด เขาเล่าต่อว่านอกจากนั้นแล้วพื้นที่โดยรอบของชาวบ้านคนอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

“ระดับถนนที่สร้างมันสูงกว่าหมู่บ้าน ฝนตกลงมาตอนกลางวัน พอกลางคืนมันมีโอกาสท่วมหมู่บ้าน เพราะถนนเหมือนเป็นเขื่อนกั้นไม่ให้น้ำไหล ฝนตกสักชั่วโมงน้ำก็ท่วมแล้ว แล้วพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เกษตรทำข้าวให้กับสหกรณ์ ปีหนึ่งได้ 100 ไร่ มีสมาชิกจำนวน 45 รายเห็นจะได้”

รายได้ของชาวบ้านแถบนี้ส่วนใหญ่มาจากการทำนา เก็บผลผลิตจากต้นตาล และเลี้ยงวัวเนื้อ

“เลี้ยงวัวไปเพื่อขาย ขายแล้วก็เลี้ยงไปเรื่อย หมุนเวียนกันไปเรื่อย ซื้อมาใส่เรื่อยแล้วก็ทำไปเรื่อย ตามที่ในหลวง (รัชกาลที่ 9) ให้ทำ ที่ดินตรงนี้ของชาวบ้านทั้งหมดเลย เจ้าหนึ่งก็แปลงหนึ่ง ต้นตาลทำรายได้ประมาณต้นละ 6,000 บาทต่อปี ทำส่งขายส่ง ทำขนมได้ เขาเรียกขนมตาล บ้านเราบ้านนอกเขาเรียกโตนดสุก มันทำได้หลายอย่างลูกตาลเนี่ย ขั้นแรกออกมาทำน้ำตาล พอเป็นโตนดสุกก็ขายเป็นลูกได้อีก แล้วก็เอามาคั้นแล้วก็ชั่งกิโลขายได้อีก เม็ดมันก็เก็บไว้ให้งอก พองอกก็เอามาทำขนมได้อีก เปลือกมันเอาไปใส่เตาก็ได้ เปลือกมันเอาไปทำกับข้าวก็ได้ ลำต้นมันโค่นเอามาทำเครื่องบน ประหยัดได้เยอะ ทั้งต้นมันใช้ได้ทั้งหมด แถวนี้ตาลเยอะมาก” รัตน์ พวงแตง หนึ่งในชาวบ้านทั้งสามที่พวกเราจับกลุ่มคุยเล่าให้ฟัง กระบวนการทั้งหมดได้รับผลกระทบทั้งสิ้น

“เสียหาย ต้นตาลตรงนี้โค่นทิ้งหมด” สุรพลกล่าวเสริมด้วยน้ำเสียงปนเศร้า

สุรพล นกเพชร สมาชิก อบต. หมู่ 3 ตำบลไร่สะท้อน อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับโตนดตาลมาทั้งชีวิต โตนดตาลคือคำที่ชาวบ้านใช้เรียกที่ดินที่ต้นตาลขึ้นเรียงรายเป็นกลุ่มนับไม่ถ้วน สุรพลเล่าให้ฟังว่าเขาขึ้นต้นตาลเพื่อเก็บลูกตาลครั้งแรกตั้งแต่อายุ 12 ปี

เมื่อถามอายุของต้นตาล จาม บุญทวี ชาวบ้านอีกคนตอบว่า “อย่างน้อยอายุ 50 กว่า ตั้งแต่จำความได้อายุ 6-7 ขวบก็มีอยู่แล้ว ตรงโน้นมีเตาเอาไว้เคี่ยวน้ำตาล กระบวนการต้องไปนวดตาล พ่อแม่เราขึ้นตาลเราก็ขึ้นตาม ตอน ป.5 ขึ้นตอนเช้า 5 ต้น ตอนเย็น 5 ต้น ก็ไปโรงเรียนพอเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ก็ลงมือทำนา เลิกทำตาล หลังจากเก็บเกี่ยวก็กลับมาทำตาล หลังจากเดือนมกรา ช่วงกุมภา มีนา เมษา”

“เขาไม่ได้มาบอกเลย มาลง มาปักเฉยๆ” รัตน์ พวงแตง ชาวบ้านตำบลไร่สะท้อน พูดขณะชี้ให้พวกเราเห็นหมุดที่ถูกปักไว้ริมทุ่งนา

หมุดสี่เหลี่ยมถูกปักโดยเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงพิเศษเมื่อต้นปี 2562 โดยที่ชาวบ้านตำบลไร่สะท้อนไม่รู้เห็น หากเพียงเดินผ่านมาเราคงไม่สังเกตเห็นตัวหมุด มันปกคลุมตัวเองด้วยหญ้าสีเขียวราวกับเขินอายไม่ต้องการให้ใครมาสบตา บนหมุดแห่งนั้นมีตัวอักษร CL ที่ย่อมาจากคำว่า Center Line และตัวเลขสีแดงเขียนบอกหลักกิโลเมตร หากโครงการเดินหน้า ถนนมอเตอร์เวย์จะมีรัศมีกว้าง 120 เมตร โดยมีจุดศูนย์กลางแผ่ออกซ้าย-ขวาจากตัวหมุดดังกล่าว ส่วนที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่ขวางถนนจะถูกเวนคืนทั้งหมด

รัตน์ พวงแตง
รัตน์ พวงแตง ชาวบ้านตำบลไร่สะท้อน

ชาวบ้านไร่หัวโลดประสบโชคชะตาเช่นเดียวกับชาวบ้านหนองแก หมุดแนวเส้นทางชิ้นที่ 2 ถูกปักลงระหว่างทุ่งนากว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตากับถนนสองเลน บนทุ่งนามีเพียงฟางข้าวเรียงรายเป็นสิ่งตกค้างที่บ่งบอกถึงฤดูเก็บเกี่ยวที่ผ่านพ้นไป แต่นอกเหนือจากถนนที่ตัดผ่านบ้านไร่หัวโลดแล้วจะมีการก่อสร้างจุดพักรถโดยใช้พื้นที่ถึง 60 ไร่

มงคล อินงาม ชาวบ้านไร่หัวโลด อธิบายว่า ที่ดินบริเวณบ้านไร่หัวโลดเป็นพื้นที่น้ำท่วม เมื่อฝนตกหนักน้ำจะติดถนนและระบายไม่ได้ เขาและชาวบ้านไร่หัวโลดเสนอว่า แทนที่จะตัดถนนเส้นใหม่ก็ให้ทางการไปยกระดับทางหลวงเพชรเกษมที่มีอยู่แล้วแทน ถึงแม้ว่าทางการจะระบุว่าทางหลวงเพชรเกษมมีรัศมีโค้งต่ำกว่ามาตรฐานทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง “รัฐบาลก็แก้เอาสิ อย่าไปมองว่าลงทุนถูก” มงคล อินงาม เสริม

หมุดถัดมาตั้งอยู่ริมทางหลวงเพชรเกษม บ้านหัวดอน ตำบลหัวสะพาน เขตอำเภอเมืองเพชรบุรี หมุดดังกล่าวจะเป็นจุดตัดของทางหลวงหมายเลข 8 และถนนเพชรเกษม

ประจิน อุ่นโรจน์ ตัวแทนชาวบ้านนำทางพวกเรามายังตัวหมุด เสียงล้อรถเสียดสีกับพื้นยางมะตอยกรีดร้องโหยหวนเป็นระยะ มันอาจคล้ายกับเสียงร้องของชาวบ้านที่กำลังจะโดนเวนคืนที่ดิน

“ในละแวกนี้หลาย 10 ครอบครัวจะไม่มีที่อยู่ มีทั้งที่ทำกินและที่อยู่อาศัย บ้านป้าข้างๆ ไม่เหลืออะไรทั้งนั้น พ่อแม่พี่น้อง ลูกหลาน เป็นครอบครัวใหญ่แบ่งกัน ก็โดนกันหมด ที่ทำกินก็โดนหมด ที่อยู่อาศัยที่ทำกินที่แบ่งให้ลูกก็โดนหมด แบบที่เขาออกแบบมาก็ไม่เคยบอกว่ารูปแบบมอเตอร์เวย์ที่สร้างจะเป็นยังไง พอเจ้าหน้าที่ลงมาก็มากำหนดค่าเวนคืน ไม่บอกว่าราคาเท่าไหร่ พอถามก็บอกว่าไม่มีอำนาจบอก แต่มาสำรวจว่าจะกำหนดค่าเวนคืน ไม่ขออนุญาตเจ้าของที่ จู่ๆ ก็ส่งทีมงานเข้ามาสำรวจดุ่มๆ จะสำรวจที่ใครก็เข้ามา ชาวบ้านเขาออกไปทำงาน พ่อแม่อยู่บ้านเขาก็ใจไม่ดีไม่รู้ว่าใครเข้ามา คนดีหรือคนร้าย ส่วนมากจะบอกว่ารับจ้างมา ไม่บอกรายละเอียด”

ประจินเล่าอีกว่าเจ้าหน้าที่ขอให้ชาวบ้านถ่ายเอกสารที่ดิน ที่อยู่ ที่ทำกินให้โดยที่ไม่บอกว่าจะนำไปทำอะไร “ตอนนั้นที่ถ่ายชาวบ้านก็ไม่เข้าใจว่าถ่ายไปทำไม ทั้งๆ ที่ตอนจะมาสำรวจโครงการก็ไม่เคยบอกถึงผลกระทบว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นกับชาวบ้านบ้าง รูปลักษณ์ ลักษณะถนนมอเตอร์เวย์ก็ไม่บอกว่ามันจะเป็นยังไงบ้าง แล้วชาวบ้านสามารถสัญจรผ่านไปมาได้หรือไม่ ถ้าลงมาก็จะพูดแล้วให้ชาวบ้านยอมรับ ชาวบ้านไม่มีสิทธิเลือก ไม่บอกว่าชาวบ้านจะได้ประโยชน์หรือไม่ หรือจะกระทบยังไง ชาวบ้านไม่มีสิทธิเลือก ให้ชาวบ้านยอมรับอย่างเดียว”

ประจินเน้นย้ำว่าทุกวันนี้ตำบลหัวสะพานก็มีปัญหาน้ำท่วมอยู่แล้ว แล้วยิ่งถ้ามีการสร้างทางหลวงก็จะกลายเป็นตัวกั้นน้ำที่ไหลมาจากเขาแดง ถึงแม้ว่าแถวนั้นจะมีคลองบางจากแต่ก็ไม่ใช่คลองที่กว้างและที่ผ่านมาน้ำก็ท่วมแทบทุกครั้ง เขาตั้งคำถามว่าที่ดินทำนาบางแห่งจะถูกถนนผ่ากลาง หากเป็นเช่นนั้นชาวนาจะต้องขับรถอีแต๋นกี่กิโลเพื่อหาทางลอด นอกจากนั้นหากจะติดต่อกับเทศบาล ชาวบ้านจะต้องเดินทางเพิ่มเป็นระยะทางเท่าไหร่ เนื่องจากชาวบ้านเองก็ไม่ทราบว่าจุดลอดที่ทางการวางแผนไว้อยู่ตรงไหน

เมื่อยืนเหนือหมุดแนวทางที่ปักอยู่ ทางซ้ายเป็นถนนเพชรเกษม รถรามากมายแล่นไปมา ทางด้านขวาเราจะเห็นแมกไม้ข้างทางแหวกออกเป็นทรงกลม เผยให้เราเห็นบ้านสีขาวซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางหมู่ไม้สีเขียว

เจ้าของบ้านหลังนั้นคือลูกๆ ของ นางเชื่อม สายนาก ผมของเธอขาวโพลนไปทั้งศีรษะราวกับแผ่นกระดาษสีขาว “ชาวบ้านจะชอบแบ่งให้ลูกอยู่เป็นคนละส่วนๆ”

เธออธิบายเรื่องการใช้สอยที่ดินของชาวบ้านแถวนั้น ส่วนลูกของเธออธิบายถึงที่ดินของแม่ว่า “อยู่กันมาสามสี่ชั่วคนแล้วมั้ง ปู่ย่าตายายเขาก็เสียไปแล้ว อันนี้ตั้งมาใกล้เคียง 100 ปีแล้วนะ เพราะปู่ยาตายายเสียไปแล้ว รุ่นแม่ก็ 70 กว่าแล้ว อย่างเราก็ 50 แล้ว ก็อยู่กันมาหลายสิบปีแล้ว”

“อยู่มานานก็ใจหาย ไม่รู้จะไปอยู่ไหน เหลือเล็กเหลือน้อย ชาวบ้านก็รวมๆ กันจับกลุ่มกัน ประชุมก็ไป คุณแม่ก็ร้องไห้ ประชุมทีไรก็ร้องไห้ทุกที อยู่มานานก็ร้องไห้” ประยงค์ สายนาก หวนคิดถึงครั้งที่แม่ของเขาไปประชุมโครงการทางหลวงหมายเลข 8

“ย้ายก็ไม่มีที่อยู่ เราเองเราก็ไม่มีที่อยู่ เราก็มีแค่นี้ พ่อแม่ให้ก็อยู่กันตรงนี้แหละไม่รู้จะไปอยู่ตรงไหน ไปประชุมทุกครั้งเลย รู้สึกว่าเราอยู่มานาน ลูกๆ เราก็อยู่กัน ถ้าย้ายแล้วจะไปอยู่ที่ไหนกัน” เมื่อสิ้นเสียงสะอื้นเชื่อมยกมือขึ้นปาดน้ำตาของตน เบื้องหลังหลานของเธอกำลังเล่นของเล่นอย่างไร้เดียงสา

ในช่วงบ่ายวันเดียวกันชาวบ้านทั้งสามพื้นที่เดินทางมาร่วมงานเวทีสัมมนา ‘อนาคตเมืองเพชรและมอเตอร์เวย์สายใต้’ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จัดโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และองค์กรต่างๆ ในเครือข่าย หน่วยงานรัฐไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ตัวแทนกรมทางหลวง 3 คนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรีก็เข้าร่วมงานครั้งนี้เพื่อรับฟังปัญหาของชาวบ้าน ในงาน ชาวบ้าน นักข่าว และข้าราชการนั่งกระจายปะปนกันไปในงาน

สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพชรบุรี กล่าวว่าชาวบ้านไม่ได้ต้องการขัดขวางความเจริญ แต่เพียงอยากเสนอเส้นทางอื่นเพราะมีความเดือดร้อน เธอกล่าวว่า “ถ้าอยากสร้าง เราก็อยากให้สร้างแต่ฟังเราหน่อย แค่นั้นเอง”

ในขณะที่ตัวเลือกของชาวบ้านที่เสนอให้รัฐทำการขยายหรือยกระดับทางหลวงเพชรเกษม ซึ่งกรมทางหลวงให้คำตอบว่าจะกระทบตึกแถวหรือผู้อยู่อาศัยริมทางหลวงเธอตอบว่า “แล้วชาวนาชาวบ้านที่ทำไร่ทำสวนกระทบไม่เป็นไรใช่ไหม”

“ในประเด็นการปักหมุดที่ทำให้ชาวบ้านไม่สบายใจว่าโครงการได้คิดจะก่อสร้างแล้ว” สมบูรณ์ เทียนธรรมชาติ หนึ่งในตัวแทนกรมทางหลวงให้เหตุผลว่าหมุดดังกล่าวทำหน้าที่เป็นหมุดอ้างอิงเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำรังวัด ในทางกลับกันมันสามารถเป็นข้อมูลสะท้อนได้ว่าในแต่ละพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างไรเพื่อที่จะให้วิศวกรหรือทีมออกแบบทำการบ้านเพิ่มเติม แต่เมื่อถูกถามว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาว่าจะใช้เส้นทางนครปฐม-ชะอำแล้วหรือไม่ สมบูรณ์ตอบว่า “ตอบตามข้อมูลแล้ว แนวนี้เข้าข่ายว่ามีนัยยะสำคัญที่จะต้องเดิน”

ทั้งนี้สมบูรณ์ยอมรับว่าคนที่ได้ผลประโยชน์จากการตัดทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในหลายๆ กรณีนั้นจะไม่ใช่ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ผู้อยู่อาศัยมักเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ได้ประโยชน์คือกลุ่มเป้าหมายในภาพรวม

ศักดิ์ศิริ สรรพสิริโสภณ ตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ยืนยันกับที่ประชุมว่า ในขณะนี้จะยังไม่มีการดำเนินการสร้างถนนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะตอนนี้ทางกรมทางหลวงอยู่ในระหว่างการดำเนินการทำ EIA แบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่แทนที่ฉบับเก่าที่หมดอายุไปเมื่อปี 2560 และโครงการนี้ก็ยังไม่ผ่านมติ ครม.

“วันนี้เราทราบปัญหา รับทราบความลำบากของประชาชน เรารับทราบทุกอย่าง ตั้งแต่วิถีชีวิตประชาชนที่อยู่มาเป็น 100 ปีที่ผ่านมา เราจะนำเสนอผู้บริหารได้พิจารณา เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ” สถิตย์พงษ์ อภิเมธีธำรง ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 15 กล่าวปิดท้าย

เชื่อม สายนาก ในวัย 72 ปี นั่งอยู่ที่ชายขอบของห้องประชุมจนจบงาน เธอจับจ้องทุกวินาทีและฟังทุกความคิดเห็นในที่ประชุมพร้อมสีหน้าที่ไม่แสดงออกอารมณ์ใดๆ แต่เหมือนกับที่ลูกชายของเธอพูดเมื่อเช้า ในตอนท้ายเธอร้องไห้

Author

ทัศ ปริญญาคณิต
นักศึกษาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ชอบอ่านหนังสือ ฟังเพลง ไปเที่ยว นอกจากนั้นยังชอบมีมคอมมิวนิสต์ และเสือกเรื่องดราม่า

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า