ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเผด็จการกับทุนสามานย์

เรื่อง: นิธิ นิธิวีรกุล
ภาพ: ชินกฤต เชื้ออินต๊ะ

 

ผลจากการชุมนุมทางการเมืองของ กปปส. ที่นำไปสู่การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ผ่านมาแล้ว 3 ปี จนถึงปัจจุบัน เกิดอะไรขึ้นบ้างในสังคม เกิดอะไรขึ้นบ้างกับคนชนบท โดยเฉพาะประชาชน ‘คนอีสาน’ ที่มักตกเป็นผู้ถูกกระทำจากอำนาจรัฐอยู่เสมอ

สำหรับคนที่ไม่ปิดหูปิดตาตนเองย่อมรับทราบดีถึงสภาพอันบีบคั้นกดดัน และอาจไม่จำเป็นต้องตอกย้ำให้เจ็บปวดต่อสภาวะที่ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงบนแผ่นดินถิ่นเกิดของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการถูกละเมิดลิดรอนสิทธิ์ การถูกสั่งฟ้องด้วย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไม่นับความพยายามของรัฐในการผลักดันผู้คนออกจากที่ดินทำกินของตนเองเพื่อเปิดทางให้กลุ่มทุนเข้าไปดำเนินกิจการที่ส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ รวมถึงไม่นับการจับกุมผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองที่ปรารถนาเห็นความยุติธรรมเกิดขึ้น และเป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้านในฐานะของลูกหลานคนอีสานคนหนึ่ง

ด้วยความคับข้องทั้งหมดนั้น ‘ขบวนการอีสานใหม่’ ซึ่งก่อตั้งภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจของ คสช. จากการรวมตัวกันของทั้งองค์กรชาวบ้านที่เคลื่อนไหวในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์กรพัฒนาสังคม ตลอดจนนักกิจกรรมและนักศึกษาในพื้นที่ภาคอีสาน จึงร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ อีสานกลางกรุง ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ ‘3 ปี การพัฒนาบนคราบน้ำตาประชาชน’ โดยมีทั้งนักกิจกรรม นักกฎหมาย นักวิชาการ สื่อมวลชน และตัวแทนชาวบ้านมาบอกเล่าผลกระทบต่างๆ ตลอด 3 ปีของการครองอำนาจโดยรัฐบาล คสช.

หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนา คือ รศ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเสนอความคิดเพื่อตอบคำถามสำคัญๆ สามประการ คือ หนึ่ง-ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างระบอบเผด็จการกับทุนนิยมสามานย์ สอง-รัฐเผด็จการกับการส่งเสริมระบอบทุนนิยมสามานย์ภายใต้กรอบของลัทธิเสรีนิยมใหม่ และข้อสุดท้าย-ประชาชนกำลังต่อสู้อยู่กับอะไร?

การต่อสู้อันยืดเยื้อ

“ความเคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสาน เป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่าสองทศวรรษ โดยที่ไม่มีอะไรคืบหน้าหรือเป็นผลดีสักเท่าไหร่ต่อชาวบ้าน”

อาจารย์ปิ่นแก้วเริ่มต้นด้วยการสะท้อนความรู้สึกในใจ ก่อนจะมองต่อไปอย่างมีความหวังว่า อย่างน้อยที่สุดในการต่อสู้อันยาวนานยืดเยื้อนี้ยังมีข้อดีในแง่ที่ว่า การที่ชาวบ้านต่อสู้กับรัฐและกลุ่มทุนมาอย่างยาวนานกว่ากลุ่มอื่นๆ ของสังคมนั้น มีส่วนช่วยให้ชาวบ้านรู้จักรัฐและรู้จักกลุ่มทุนดีกว่าคนกลุ่มอื่นๆ

“การที่พวกเขาได้ทำงานใกล้ชิด ใกล้ชิดในที่นี้หมายถึงการคัดง้างนะคะ ใกล้ชิดกับรัฐและหน่วยงานราชการ ภายใต้รัฐต่างระบอบการเมือง ทำให้พวกเขาได้ผ่านร้อนผ่านหนาว ได้เห็นถึงความต่างระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการ และช่วยทำให้เกิดการวิเคราะห์กลไกของรัฐ”

ปิ่นแก้วมองว่า ปัญหาที่ยังดำรงอยู่เนิ่นนานหลายทศวรรษ ยังคงเป็นปัญหาเรื่องที่ดิน การแย่งชิงที่ดินระหว่างกลุ่มทุนใหญ่กับเกษตรกรรายย่อยที่ล้วนแล้วแต่เป็นคนจน ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์เฉพาะเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลกที่ทุนนิยมขยายตัวเข้าไป

“คำถามคือว่า หลายปีที่ผ่านมาของขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องที่ดินมีความคืบหน้าอะไรบ้าง ในเชิงขบวนการมีความคืบหน้ามากน้อยแค่ไหน แน่นอนล่ะว่ารัฐบาลเผด็จการย่อมเข้ามามีส่วนทำลายขบวนการเคลื่อนไหว ฉะนั้น สิ่งที่เราควรจะวิเคราะห์ต่อไป อย่างแรกคือ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างระบอบเผด็จการกับทุนสามานย์ ประการที่สอง เรื่องการส่งเสริมของรัฐเผด็จการกับทุนสามานย์ ประการที่สาม ชาวบ้านกำลังต่อสู้อยู่กับอะไร”

 

ทุนนิยมสามานย์กับรัฐบาลประชาธิปไตย

ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างระบอบเผด็จการกับทุนสามานย์ อาจารย์ปิ่นแก้วมองว่า ในขบวนการเคลื่อนไหวบางส่วนยังคงมีความเชื่อและความเข้าใจที่ผิด ซึ่งก่อให้เกิดความหายนะของกลุ่มคนที่ทำงานด้านภาคประชาชน

ความเชื่อผิดๆ เรื่องแรกก็คือ การล้มล้างระบอบทักษิณ คือการล้มล้างระบอบทุนนิยมสามานย์ มีแต่รัฐที่มาจากระบอบทุนนิยมเท่านั้นเป็นผู้ผลิตสร้างระบอบทุนนิยมที่ผลาญทรัพยากร แปรรูปทรัพย์สินส่วนรวม นำกลไกตลาดเข้ามาบริหารจัดการสังคม และใช้ปัจจัยของการตลาดเป็นเป้าหมายสูงสุด ความเชื่อประเภทนี้นำไปสู่แนวคิดอีกสองประเภทที่สำคัญ คือ มีแต่นักการเมืองเท่านั้นที่เล่นการเมือง ทหารไม่เล่นการเมือง มีแต่นักการเมืองเท่านั้นที่กอบโกยผลประโยชน์จากทุนนิยมสามานย์ ทหารก็คือทหาร ไม่ใช่นักการเมือง ระบอบทหารและทุนนิยมสามานย์เป็นสองระบอบที่ไม่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน

ความเชื่อประเภทนี้จึงนำไปสู่อีกความเชื่อหนึ่งที่ว่า จำเป็นต้องมีการล้มล้างระบอบทุนนิยมสามานย์หรือทุนนิยมเสรีใหม่ แม้จะเป็นระบอบที่ควบคู่กับระบอบประชาธิปไตย แต่การต่อสู้กับกลุ่มทุนในลักษณะนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญกว่าการต่อสู้กับเผด็จการ ซึ่งปิ่นแก้วมองว่า ความเชื่อเช่นนี้ทำให้กลุ่มคนในภาคประชาชนเหล่านี้เชื่อว่าระบอบทหารและทุนนิยมสามานย์ไม่เกี่ยวข้องกัน

“กล่าวให้ชัดก็คือ คนกลุ่มนี้เชื่อว่าอยู่ใต้รัฐเผด็จการยังดีกว่าอยู่ใต้รัฐทุนนิยมสามานย์หรือเสรีนิยมใหม่”

 

รัฐบาลไหนก็สามานย์เหมือนกัน

ถามว่าใครบ้างที่เชื่อในความคิดเช่นนี้? ปิ่นแก้วให้คำตอบว่า มีอยู่สองกลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรก คือ กลุ่มชนชั้นกลางที่ไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อน แต่แล้ววันดีคืนดีก็กลับสนใจการเมืองขึ้นมา ด้วยสาเหตุที่มาจากความจงเกลียดจงชังทักษิณ ชินวัตร ขณะที่กลุ่มต่อมาคือ ฝ่ายซ้ายที่เคยต่อสู้กับเผด็จการทหารมาแล้วในช่วงสงครามเย็น โดยจับมือร่วมกันกับกลุ่ม NGO ที่ขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชน โดยฐานความคิดนี้มีเดิมพันที่สูงมาก ซึ่งเกิดจากความคิดในการปิดประเทศ แล้วมอบอำนาจให้กับเผด็จการทหารจะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ให้ปลอดจากทุนนิยมสามานย์ได้ ซึ่งนำไปสู่การเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเมื่อ 3 ปีก่อน และในตอนนี้ปิ่นแก้วมองว่า เราได้มาแล้วซึ่งสุญญากาศทางการเมือง

ความเชื่อประเภทที่สอง ปิ่นแก้วกล่าวว่า ไม่เหมือนกับความเชื่อประเภทแรกเสียทีเดียว ความเชื่อนั้นคือ ไม่ว่าจะรัฐบาลใด ล้วนแล้วแต่สามานย์เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือทหาร เพราะไม่เห็นหัวประชาชนเหมือนกัน ดังนั้น ระบอบใดก็ได้ ขอเพียงอย่ามายุ่งกับผลประโยชน์ของตัวเอง หรือกระทบกับสิ่งที่กำลังทำเท่านั้นพอ

ความเชื่อทั้งสองประเภทเป็นฐานของความเชื่อที่ผิดๆ คือ ถ้าเรามองออกไปนอกกะลาแลนด์ของเรา แล้วไปดูประวัติศาสตร์การรัฐประหารทั่วโลก จะพบว่าไม่มีรัฐประหารที่ไหนที่ไม่สนับสนุนระบอบทุนนิยมสามานย์ ซึ่งจริงๆ แล้วทุนนิยมสามานย์จำนวนไม่น้อยยังทำงานได้ดีภายใต้ระบอบเผด็จการ ยิ่งกว่าภายใต้การเมืองระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนเสียอีก”

เผด็จการสนับสนุนทุนนิยมสามานย์

จากการศึกษาในหลายกรณี อาจารย์ปิ่นแก้วยังกล่าวอีกว่า ยิ่งรัฐบาลเผด็จการรวมศูนย์อำนาจมากเท่าไหร่ หรือปกครองภายใต้ระบบผู้นำสูงสุด ยิ่งส่งเสริมระบอบทุนนิยมสามานย์มากขึ้นเท่านั้น โดยยกตัวอย่างประเทศชิลีภายใต้การปกครองของนายพลออกุสโต ปิโนเชต์ ที่นำเอาระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่มาใช้ในละตินอเมริกาเป็นประเทศแรก และปกครองชิลีอย่างยาวนานกว่า 17 ปี

“ทำทุกอย่างที่ทุนนิยมสามานย์จะทำได้ แปรรูปกิจการรัฐและรัฐวิสาหกิจ แปรรูปทรัพยากรสาธารณะและทรัพยากรชุมชนให้เป็นสินค้าไปป้อนแก่นายทุนเพื่อสร้างกำไร ตัดงบภาครัฐในการดูแลสวัสดิการประชาชน ใช้กลไกตลาดในการบริหารจัดเศรษฐกิจแทบทุกอย่าง ทุบทำลายกิจการรายย่อย เปิดทางให้ทุนรายใหญ่เข้าแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากร เป็นยุคที่เทคโนแครตเสรีนิยมใหม่เรืองอำนาจ ชนชั้นนำและชนชั้นนายทุนร่ำรวยขึ้นก็เพราะระบอบนี้ โดยมีการอวดอ้างว่าเผด็จการชิลีประสบความสำเร็จในการสร้างชาติจากทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ในขณะที่ประชาชนและคนจนกลับถูกเบียดขับออกจากที่ดินและทรัพยากรของตนเองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ก่อให้เกิดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน แม้จะสิ้นสุดยุคของปิโนเชต์ในปี 2533 รัฐบาลประชาธิปไตยที่ขึ้นมาแทนที่ก็ยังสืบทอดนโยบายทุนนิยมสามานย์ของเผด็จการมาใช้ต่อ” อาจารย์ปิ่นแก้วระบุ

 

สิ่งที่เผด็จการไม่มี

กล่าวเช่นนี้ ย่อมหมายความถึงความเชื่อที่ว่ารัฐบาลใดๆ ก็สามานย์ไม่แตกต่างกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐภายใต้ระบอบปกครองแบบใดล้วนเอื้อผลประโยชน์ให้กับทุนใหญ่เหมือนกันทั้งสิ้น

แต่หากถามว่าความเชื่อเช่นนี้ ถูกต้องแล้วใช่หรือไม่? ปิ่นแก้วกล่าวว่า ความเชื่อที่ว่านี้ถูกเพียงครึ่งเดียว นั่นเพราะรัฐแต่ละรัฐ แต่ละระบอบ ล้วนใช้มรรคที่แตกต่างกันในการผลักดันให้ระบบทุนนิยมเกิดขึ้น ปิ่นแก้วยกตัวอย่างชิลีอีกครั้งว่า ในยุคของปิโนเชต์ที่ปกครองในระบอบเผด็จการนั้น มีการกวาดจับประชาชนที่ประท้วงการดำเนินการของรัฐบาล บางคนถูกจับและทรมานจนเสียชีวิต

รัฐทุกรัฐที่เป็นประชาธิปไตยล้วนแต่เป็นทุนนิยมสามานย์ด้วยกันทั้งสิ้น นั่นเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่รัฐในระบอบประชาธิปไตย อย่างน้อยที่สุดยังเปิดให้มีกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลได้ กลไกที่มีอยู่นี้ทำให้รัฐไม่สามารถที่จะทำลายประชาชนได้ง่ายนัก หรืออย่างน้อยก็ยังเห็นหัวประชาชน ถ้าประชาชนมีจำนวนมาก ประชาชนก็มีสิทธิ์มีเสียง แต่ในรัฐเผด็จการ จำนวนแทบไม่มีความหมายเลย ยิ่งในปัจจุบันสื่อยังไม่สามารถพูดแทนประชาชนได้ กลายเป็นตำรวจของรัฐมาทำหน้าที่แทนสื่อเสียเอง ซึ่งถือเป็นยุคที่ตกต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา”

 

รัฐที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน

ภายใต้รัฐประชาธิปไตย ปิ่นแก้วยังมองอีกว่า การชุมนุมโดยสันติยังสามารถเป็นเรื่องที่ทำได้ ซึ่งความแตกต่างนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง นั่นเพราะในรัฐที่ไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับประชาชน เป็นรัฐที่ไม่ได้ถูกเลือกโดยประชาชน รัฐจะผลักดันโครงการใหญ่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งประชาชนและกลุ่มธุรกิจรายย่อย อย่างกว้างขวางและรุนแรงกว่ารัฐในระบอบประชาธิปไตย

อาจารย์ปิ่นแก้วยังกล่าวอีกว่า ที่พูดเรื่องเหล่านี้หาได้ต้องการจะรื้อฟื้นในเรื่องที่ผ่านไปแล้ว แต่จำเป็นต้องทำความเข้าใจเพื่อก้าวไปสู่อนาคต ซึ่งวางอยู่ฐานความคิดที่ว่า ขบวนการปกป้องทรัพยากรและขบวนการประชาธิปไตยนั้นแยกออกจากกันไม่ได้ ไม่เช่นนั้นแล้วการดำเนินยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวก็จะผิดพลาด ดังนั้น ในยุคปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่า เหตุใดรัฐบาลเผด็จการจึงพยายามบ่อนเซาะทำลายขบวนการประชาธิปไตย เพราะระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นตัวขัดขวางไม่ให้ทุนนิยมใต้รัฐเผด็จการเดินหน้าไปได้

“สิ่งที่รัฐเผด็จการทำคืออะไร? คือสร้างวาทกรรมจอมปลอมขึ้นในแต่ละวัน แล้วล่าสุดก็มาบอกว่าธรรมาธิปไตยดีกว่าประชาธิปไตย อยากถามว่าธรรมาธิปไตยที่ท่านว่าคืออะไร? ธรรมาธิปไตยที่แท้จริง คือ การสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ถ้าจะทำอย่างนั้นได้ ประชาชนต้องมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น”

 

ตื่นเถิด

จากประเด็นนี้ อาจารย์ปิ่นแก้วเชื่อมโยงไปสู่คำอธิบายที่ว่า เหตุใดรัฐเผด็จการจึงสนับสนุนทุนนิยมสามานย์ นั่นเพราะตัวรัฐเผด็จการที่เป็นทหารนั้นไม่ได้มีความสามารถในการดำเนินการทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม รัฐเผด็จการจึงใช้กลไกของรัฐที่ตนมีไปสนับสนุนทุนนิยมสามานย์ ซึ่งในแง่นี้ รัฐเผด็จการก็ไม่ได้แตกต่างจากนักการเมือง กล่าวอีกแบบคือ เผด็จการทหารสนับสนุนทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ก็เพื่อความอยู่รอดทางการเมืองของตนเอง เพื่อจะครองอำนาจในระยะยาว ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ก็ด้วยการสร้างความมั่นคงให้กับตนเองผ่านการสนับสนุนทุนนิยมสามานย์ ดังนั้น หากใครยังคิดว่ารัฐเผด็จการจะเข้ามาสร้างความสุข สร้างความมั่งคั่งได้ ปิ่นแก้วใช้คำว่า “ตื่นได้แล้วค่ะ!”

ระบอบเผด็จการทุกๆ ระบอบ ทุกๆ ประเทศ พวกเขาสนใจแต่การผนึกอำนาจของตัวเองให้อยู่ได้ในระยะยาว ดังนั้น รัฐเผด็จการจึงเรียกใช้นักเศรษฐศาสตร์บริกร นอกเหนือจากนักนิติศาสตร์บริกร เพราะทหารไม่มีปัญญาคิดอะไรในทางเศรษฐกิจได้”

เหตุผลที่รัฐบาลปัจจุบันเรียกใช้นักเศรษฐศาสตร์จากรัฐบาลในสมัยทักษิณ ชินวัตร นั่นเพราะระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ล้วนอยู่ในกรอบที่ไม่อาจแปรเปลี่ยนไปสู่แนวทางอย่างที่รัฐบาล คสช. พยายามกล่อมประชาชนให้เชื่อได้ และด้วยการจะทำเช่นนั้นได้ รัฐเผด็จการจึงต้องลดทอนเงื่อนไขที่จะบั่นทอนอำนาจของตน โดยปิ่นแก้วมองว่ามีอยู่ 2 วิธี

วิธีแรกคือ การแจกจ่ายผลประโยชน์ให้กับกลุ่มพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทหารด้วยกันเอง กลุ่มทุนขนาดใหญ่ หรือกลุ่มชนชั้นนำในสังคม เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ การจงรักภัคดี ผ่านการตอบแทนแลกเปลี่ยน ทั้งนี้เป็นไปเพื่อการลดแรงเสียดทานจากนานาประเทศในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“วิธีที่สองคือ การกดกำราบกลุ่มที่ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางการเมืองของระบอบเผด็จการ หากแนวทางแรกคือ การให้รางวัล แนวทางที่สองก็คือ การใช้ความรุนแรง ในรัฐเผด็จการที่มีผู้นำใช้อำนาจเพียงคนเดียว อย่างเช่นนายพลปิโนเชต์ ประเทศชิลี เราจะเห็นว่าผู้นำคนเดียวตัดสินใจในทุกเรื่อง การเดินหน้าสร้างระบอบทุนนิยมสามานย์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กว้างขวาง และไม่มีใครห้ามได้”

 

เราไม่ได้ต่อสู้กับทุนใหญ่

ประเด็นชวนคิดในข้อสุดท้ายของอาจารย์ปิ่นแก้ว คือ คู่ต่อสู้ที่แท้จริงของขบวนการภาคประชาชนไม่ใช่รัฐเผด็จการหรือทุนใหญ่เท่านั้น เพราะต่อให้ขบวนการภาคประชาชนต่อสู้ชนะในชั้นศาล ก็เป็นเพียงชัยชนะเล็กๆ ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร

“ดังนั้นเวลาที่เราบอกว่า เราได้ที่ดินมาแล้วจำนวนนี้ กับบ้านเท่านี้ เราสำเร็จแล้ว แต่ระบอบใหญ่ยังไม่ได้เปลี่ยน มันพร้อมจะกลับมาได้ทุกเมื่อ เพราะโครงสร้างอำนาจที่คอยกำกับควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับชาวบ้านไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย”

สุดท้ายแล้วปิ่นแก้วมองว่า เวลานี้เรากำลังต่อสู้กับระบบ เพราะไม่ว่ารัฐใดๆ ล้วนแต่ต้องการแปรทรัพยากรให้เป็นสินค้าทั้งสิ้น แต่กลไกที่จะอนุญาตให้การเข้ายึดครองทำได้โดยสะดวกมันต่างกัน ด้วยระบอบการเมืองที่ต่างกัน

“สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ว่า การที่ประชาชนจะต่อสู้เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองให้ตัวเอง อำนาจการต่อรองนั้นต้องเป็นไปเพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่า ความเดือดร้อนของประชาชนจะต้องถูกยกระดับให้เป็นความเดือดร้อนในระดับสาธารณะ การเคลื่อนไหวต้องเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าในระดับประเด็น สามารถที่จะทำให้เห็นการไร้ความเป็นธรรมในระดับโครงสร้าง หากทำเช่นนี้ได้จะทำให้การเคลื่อนไหวปกป้องทรัพยากรสามารถเชื่อมต่อกับกลุ่มคนอื่นๆ ที่ถูกกระทำจากรัฐเผด็จการได้ และด้วยแนวทางเช่นนี้เท่านั้นจึงจะสามารถสร้างอำนาจการต่อรองที่มีน้ำหนักขึ้นมาได้

“ที่ดิฉันจะบอกก็คือ การต่อสู้กับระบอบทุนนิยมสามานย์ คือการต่อสู้ตลอดชีวิต และนี่เป็นข่าวร้าย เหมือนอย่างชิลีแม้จะล้มเผด็จการได้ด้วยขบวนการประชาชน จนกระทั่งเมื่อได้ประชาธิปไตยมาแล้วก็ยังสานต่อโครงการเสรีนิยมใหม่ที่รัฐบาลเผด็จการสร้างเอาไว้ แต่ความแตกต่างอยู่ตรงที่ว่า ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยยังมีเงื่อนไขพื้นฐานอย่างหนึ่งที่อนุญาตให้คนออกมาคัดง้างกับรัฐบาลได้ เอื้ออำนวยในการต่อสู้กับรัฐบาลได้ แต่หากปราศจากโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตยเสียแล้ว ย่อมไม่มีเครื่องมือให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้ได้

“ฉะนั้น ดิฉันคิดว่าชาวบ้านที่ผ่านการต่อสู้ในหลายรัฐบาล อย่างน้อยตั้งแต่ทักษิณ อภิสิทธิ์ ยิ่งลักษณ์ จนมาถึงปัจจุบัน คงตอบได้ว่ารัฐบาลชุดไหนที่ทำให้เราจมน้ำมากยิ่งกว่านี้ หรืออยู่ในภาวะที่ถูกปิดปากมากขึ้นยิ่งกว่านี้ ดิฉันอยากจะบอกเพียงว่า ระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยจึงสำคัญที่สุด เป็นระบอบที่สามารถทำให้ชาวบ้านสร้างเครือข่ายได้ หากแม้ต้องต่อสู้ไปตลอดชีวิต”

 

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า