พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ ‘3 แกน สร้างอนาคต’ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่เข้าใจแม้แต่ในสิ่งที่ตนเองพูด
ประเด็นแรก พล.อ.ประยุทธ์ อ้างว่าโครงสร้างพื้นฐานใกล้เสร็จแล้ว เช่น สัญญาก่อสร้างโครงการ 3 สนามบิน แต่เมื่อสืบค้นข้อมูลกลับพบว่า ไม่มีความคืบหน้าแม้แต่น้อย ส่วนโครงการรถไฟไทย-จีน ใช้ระยะเวลาสร้าง 5 ปี มีความคืบหน้าเพียงร้อยละ 4.6 ขณะที่ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3F มีคืบหน้าเพียงร้อยละ 5
ประเด็นต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ อ้างว่าจะทำให้ไทยเป็นที่หนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แต่ข้อเท็จจริงพบว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง โดยพิธายกตัวอย่างเปรียบเทียบกับบริษัท Vinfast ที่กู้เงิน 1.5 แสนล้าน และเตรียมเปิดตัวในโชว์รูมใหญ่ทั่วสหรัฐอเมริกา ขณะที่ประเทศไทยยังต้องเลื่อนการเปิดตัวออกไปเพราะเกิดปัญหาในห่วงโซ่อุปทานอยู่
“แรงงานไทยกว่า 8 แสนคน อาจจะต้องตกงานจากการที่อุตสาหกรรม EV ของไทยไล่กวดประเทศเพื่อนบ้านไม่ทัน และอาจช้าไปแล้วที่จะทำ”
ขณะเดียวกัน พิธาระบุว่า หัวใจสำคัญของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าคือ แร่ลิเทียมและแร่โคบอลต์ ซึ่งมีในประเทศออสเตรเลียและจีน ขณะที่แร่นิกเกิลมีอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ประธานาธิบดี โจโควิ โดโด แห่งอินโดนีเซีย จึงได้เดินทางไปหารือเรื่องการลงทุนกับมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ ซึ่งยิ่งทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะมีผู้มาลงทุนด้านนี้ในประเทศไทย เนื่องจากนักลงทุนต่างมุ่งไปยังประเทศที่มีแร่ธาตุพร้อมอยู่แล้ว ก่อนจะส่งเข้ามาขายในไทยภายหลัง ปัญหาสำคัญคือ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เล็งเห็น Pain point หากยังต้องการเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ และยิ่งทำให้ไทยล้าหลังกว่าเดิม
ประเด็นที่สาม คือ การไม่น่าไว้วางใจเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยพิธาระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ พูดทุกปีเรื่องอัตราการเติบโตของสินเชื่อ โดยพยายามบอกว่าทุกอย่างกำลังไปได้ดี ทว่าจากข้อมูลกลับพบว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อปี 2561-2564 มีธุรกิจขนาดใหญ่โตขึ้นร้อยละ 12.8 จากทั้งหมด แต่ธุรกิจขนาดเล็กยังคงติดลบเสมอมา การที่นายกฯ ออกมาพูดว่าทุกอย่างกำลังจะดีขึ้นจึงไม่น่าเชื่อถือ และไม่เป็นความจริง
นอกจากนี้ พิธาระบุว่า ในช่วงที่ค่าเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 24 ปี ค่าเงินบาทอ่อนที่สุดในรอบ 16 ปี รวมถึงราคาปุ๋ย หนี้สาธารณะ และราคาอาหารที่แพงที่สุดตั้งแต่เก็บข้อมูลมา แต่นายกรัฐมนตรีกลับคิดว่าสิ่งสำคัญสำหรับประชาชนคือเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายรถยนต์ไฟฟ้า หรือเรื่องวงเงินสินเชื่อขนาดเล็ก ทั้งที่ประชาชนต้องการทางออกจากสถานการณ์ ‘ของแพง-ค่าแรงถูก’ อีกทั้งการแก้ไขปัญหาด้วยการโยนเรื่องให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่สามารถมอบทางออกให้แก่ประชาชนได้
ประเด็นสำคัญที่ ส.ส.พิธา ระบุชัดเจน คือการดูเบาสถานการณ์การสู้รบในเมียนมา ที่กองทัพไทยปล่อยให้เครื่องบินรบของเมียนมาใช้น่านฟ้าและเข่นฆ่าประชาชนไปนับสิบราย ซึ่งกำลังกลายเป็นความผิดพลาดของประเทศไทยไปด้วย เนื่องจากองค์การสหประชาชาติ (UN) เริ่มสืบสวนสถานการณ์ในเมียนมาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา และพบว่าการกระทำของกองทัพเมียนมาอาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ขณะเดียวกันกฎหมายต่างประเทศ the Articles on Responsibility of States for Internationally Wrongful Acts (ARSIWA) ได้ระบุในมาตรา 16 มีใจความสำคัญว่า “หากมีการให้ใช้น่านฟ้าอาณาเขตของรัฐใดเพื่อก่ออาชญากรรมสงคราม ประเทศนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดขึ้น” ซึ่งจะเป็นการผูกประเทศไทยเข้ากับความยุ่งยากในสถานการณ์โลกที่จะตามมาในอนาคต
ส.ส.พิธา ระบุว่า ประเทศไทยจะไม่สามารถเอาตัวรอดไปจากสถานการณ์นี้ได้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ผู้บัญชาการทหารอากาศ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ต่างระบุว่าทางการไทยมีความสามารถด้านการสืบข่าวเพียงพอที่จะรู้ทุกครั้งว่าเครื่องบินของเมียนมาจะล้ำเข้าน่านฟ้ามาเมื่อไหร่ มาทำอะไร และจะออกไปเมื่อไหร่ ซึ่งการให้สัมภาษณ์เช่นนี้ถือเป็นคำสารภาพมัดตัวรัฐไทย ว่ารู้เห็นเป็นใจให้กองทัพเมียนมาเข้ามาใช้น่านฟ้าไทยเพื่อฆ่าประชาชนชาวเมียนมา และในอีก 10-20 ปีข้างหน้า พล.อ.ประยุทธ์ อาจต้องไปขึ้นศาลโลก ข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
นอกเหนือไปจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีพฤติการณ์สนับสนุนวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในกองทัพ การทุจริตระเบียบราชการในหลายโครงการ การไม่สามารถแสดงความซื่อสัตย์สุจริตให้เป็นที่ประจักษ์
“ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สมควรได้รับความไว้วางใจให้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่สมควรบริหารและสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศนี้อีกต่อไป” พิธากล่าว