เรียกได้ว่าเป็นวาระแห่งชาติสำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐนตรีในวันที่ 13 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ หลายคนต่างจับตามองเส้นทางสู่เก้าอี้นายกฯ ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่จะต้องฝ่าด่านการลงมติเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภา 376 เสียงขึ้นไป โดยมีตัวแปรสำคัญอย่าง ส.ว. ร่วมโหวตด้วย
ประเด็นที่ต้องลุ้นกันต่อคือ หากไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯ ในการประชุมครั้งแรกได้ จะต้องมีการโหวตใหม่อีกครั้งในวันที่ 19 และ 20 กรกฎาคม ดังนั้นเราจึงรวบรวมเงื่อนไขการลงมติเลือกนายกฯ และข้อถกเถียงว่าหากมีการเสนอชื่อพิธาซ้ำในการประชุมรัฐสภารอบถัดๆ ไปจะสามารถทำได้หรือไม่ เพื่อเป็นคู่มือสำหรับประชาชนในการติดตามและทำความเข้าใจกติกาการโหวตเลือกนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560
13 ก.ค. เลือกนายกฯ ครั้งที่ 1
- รัฐสภาต้องมีมติเห็นชอบ 376 เสียงขึ้นไป (เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา 750 คน ประกอบด้วย ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน)
- 8 พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีทั้งสิ้น 312 เสียง ขาดอีกอย่างน้อย 64 เสียง หรือ 67 เสียง (กรณีประธาน/รองประธานรัฐสภางดออกเสียง)
19-20 ก.ค. เลือกนายกฯ ครั้งที่ 2-3
1. เสนอชื่อซ้ำไม่ได้
- ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา ให้ความเห็นว่า หากผู้ถูกเสนอชื่อในรอบแรกไม่ผ่าน จะไม่สามารถเสนอชื่อได้อีกครั้ง ดังกรณีการสรรหาบุคคลขององค์กรอิสระ
- ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ระบุว่า หากญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน
2. เสนอชื่อซ้ำได้
- รธน. 2560 มาตรา 272 ไม่ได้ระบุว่า ห้ามเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำกับรอบแรก และเป็นคนละกรณีกับการสรรหาบุคคลขององค์กรอิสระ
- รธน. 2560 ไม่ได้กำหนดว่า การโหวตเลือกนายกฯ ต้องได้ข้อยุติภายในกี่ครั้ง
- ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 มีข้อยกเว้นว่า สามารถเสนอญัตติเดิมได้หากยังมิได้มีการลงมติ และประธานรัฐสภาอาจพิจารณาอนุญาตได้
3. นายกฯ คนนอก
- รธน. 2560 ระบุว่า นายกฯ ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.
- กรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกฯ จากรายชื่อแคนดิเดต ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 376 เสียง สามารถขอให้รัฐสภามีมติยกเว้น เพื่อเสนอชื่อ ‘นายกฯ คนนอก’ ได้
ที่มา:
- แดนชัย ไชวิเศษ. (2558). เส้นทางสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
- ข้อบังคับประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563
- เลือกนายกฯ: ตอบ 6 ข้อสงสัย ก่อนโหวตเลือกนายกฯ เมื่อก้าวไกลตามหา 64 เสียง ส.ว.
- เลือกตั้ง66 : กกต. ประกาศผลแล้ว นัดประชุมรัฐสภาครั้งแรก ภายใน 15 วัน