Playlist ลูกทุ่งล้านวิว ในวันที่ผู้ใช้แรงงานยังติดกับดักความจน

เพลงลูกทุ่ง ถือเป็นเพลงอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่งอีสาน ที่แทบปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จะกี่ยุคสมัยเพลงลูกทุ่งแนวอีสานก็ได้รับกระแสตอบที่ดีเสมอ สังเกตได้จากยอดการเข้าชม (Views) รวมไปถึงการแสดงความคิดเห็น (Comments) ผ่านแพลตฟอร์มที่คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงและใช้ในการเสพสื่อได้ นั่นคือ ยูทูบ (Youtube)

สาเหตุที่เพลงลูกทุ่งแนวอีสานสามารถสร้างกระแสตอบรับได้ดีและยังคงมีผู้ฟังมาอย่างต่อเนื่องจนถึงยุคปัจจุบัน ถึงแม้จะเป็นเพลงเดิมที่ถูกแต่งขึ้นมาเป็นระยะเวลานานแล้วก็ตาม นั่นเป็นเพราะการเป็นแนวเพลงที่สามารถเข้าถึงคนหมู่มากได้ อีกทั้งยังนำเสนอด้วยเนื้อเพลงที่เป็นภาษาถิ่น พร้อมเนื้อหาหรือเรื่องราวที่เล่าอย่างเข้าอกเข้าใจชนชั้นแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่เพลงลูกทุ่งอีสานจะเข้าไปอยู่ในใจของหลายๆ คนได้ตลอดกาล

ในวาระ ‘วันแรงงานแห่งชาติ’ กระแสเพลงลูกทุ่งอีสานที่มุ่งเน้นการนำเสนอหรือเล่าเรื่องของชนชั้นแรงงาน ก็ได้กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง จะเห็นได้จากรวบรวมเพลงลูกทุ่งอีสานหลายๆ เพลงเป็นเพลย์ลิสท์ (Playlist) โดยการนำเสนอผ่านค่ายเพลงใหญ่อย่าง Grammy BIG นอกจากนี้ หากเข้าไปสังเกตการแสดงความคิดเห็นในแต่ละเพลงอย่างแยกย่อย จะพบว่ามีคนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งกดเข้ามาฟังและดูอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้เพลงลูกทุ่งอีสานที่อยู่ในกระแสมียอดการเข้าชมและการแสดงความคิดเห็นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Photo: เพลงดังทั่วทิศ ลูกทุ่งฮิตทั่วไทย แรงใจแรงงาน

เพลงลูกทุ่งส่วนใหญ่ที่มีผู้ฟังเป็นจำนวนมากมักเป็นเพลงที่มีเนื้อหาหรือเรื่องราวที่สะท้อนวิถีชีวิตชนชั้นแรงงานที่ต้องเดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ โดยตรง ใจความหลักที่มักถูกนำเสนอผ่านเนื้อเพลงจะเล่าถึงการเดินทางของคนจากภาคอีสานเข้ามายังเมืองกรุง เพื่อหวังว่าจะเจอหนทางที่ดีและโอกาสในการทำงานที่มากกว่า รวมถึงยังเป็นการนำเสนอผ่านมุมมองของแรงงานเองด้วยเช่นกัน

ถัดจากนี้ จะเป็นหยิบยกตัวอย่างเพลงลูกทุ่งอีสานที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ช่วงที่ปล่อยเพลงออกมาใหม่ๆ จนถึงปัจจุบันก็ยังมีแฟนเพลงเหนียวแน่น โดยมียอดการรับชมถึงหลักล้าน อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ มองสภาพสังคม และวิถีชีวิต รวมถึงทำความเข้าใจว่า เพลงลูกทุ่งอีสานจึงกลายเป็นเครื่องปลอบใจของชนชั้นแรงงานได้อย่างไร ผ่านบทเพลงดังต่อไปนี้

‘ต้องมีสักวัน’ มอบความหวังให้คนทำงาน

ฟังเพลงได้ที่: ต้องมีสักวัน – ก๊อท จักรพันธ์ 

หนึ่งในเพลงลูกทุ่งอีสานที่ถูกแต่งเนื้อร้องขึ้นในปี 2544 โดย สลา คุณวุฒิ นักแต่งเพลงที่มุ่งถ่ายทอดเรื่องราว ประสบการณ์ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอีสาน โดยมีเนื้อหาสะท้อนการดิ้นรนของคนอีสานที่ต้องเข้าสู่เมืองกรุงเพื่อหางานทำ ตลอดจนการนำเสนอถึงอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของผู้ใช้แรงงาน

เพลง ‘ต้องมีสักวัน’ ขับร้องโดย ก๊อท-จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติท เป็นหนึ่งในเพลงที่มีเนื้อหาที่พยายามให้กำลังใจชนชั้นแรงงานค่อนข้างชัดเจน นั่นคือ การเชื่อมั่น อดทน และยอมเหนื่อยกับสิ่งที่กำลังทำ อีกทั้งเชื่อว่าวันหนึ่งจะสามารถทำตามสิ่งที่ฝันไว้ได้ 

จากข้อความการแสดงความเห็นใต้มิวสิกวิดีโอในแพลตฟอร์ม Youtube พบว่า แม้เพลงนี้จะถูกปล่อยออกมาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากกลับเข้ามาฟังเพลงนี้ เพื่อเสริมสร้างกำลังใจในการทำงานให้กับตนเอง

‘ดอกหญ้าในป่าปูน’ ภาพสะท้อนปัญหาการศึกษาไทย

เพลงนี้ขับร้องโดย ต่าย-อรทัย ดาบคำ นักร้องลูกทุ่งหญิงเจ้าของฉายา ‘สาวดอกหญ้า’ โดยเพลง ‘ดอกหญ้าในป่าปูน’ ถูกปล่อยในปี 2545 แต่งโดย สลา คุณวุฒิ เช่นเดียวกัน เป็นเพลงที่มีเนื้อหาเล่าถึงเรื่องราวหญิงสาวที่ต้องเดินทางเข้ามาเรียนต่อระดับมหาวิทยาภายหลังจากจบการศึกษาระดับชั้นมัธยม และด้วยข้อจำกัดทางการเงิน จึงทำให้ตัวละครในเพลงต้องทำงานส่งตัวเองเรียนภาคค่ำ ด้วยความหวังที่ว่าการศึกษาจะยกระดับฐานะ รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้

“ลาทุ่งดอกคูณไสว มาอาศัยชายคาป่าปูน เอาแรงเป็นทุน สู้งานเงินเดือนต่ำต่ำ เก็บเงินเข้าเรียนภาคค่ำ”

ฟังเพลงได้ที่: ดอกหญ้าในป่าปูน – ต่าย อรทัย

“อยู่เมืองสวรรค์ แต่เป็นคนชั้นติดดิน เป็นผู้รับใช้จนชิน หูได้ยินแต่คำสั่งงาน

แต่ยังยิ้มได้ เพราะใจเหมือนดอกหญ้าบาน ถึงอยู่ในที่ต่ำชั้น แต่ก็บานได้ทุกเวลา”

ถึงแม้เพลงนี้จะมีท่าทีการเล่าเรื่องที่ดูมีความหวัง แต่ก็ยังมีการตัดพ้อหรือกล่าวถึงชีวิตที่ต้องอดทนและทำงานหนักของชนชั้นแรงงาน โดยเนื้อเพลงยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาระบบการศึกษาที่รัฐไม่ได้มีนโยบายสาธารณะที่จะสามารถให้โอกาสทางการศึกษาแก่ผู้เรียนในทุกพื้นที่ได้อย่างเท่าเทียม จึงทำให้คนต่างจังหวัดต้องดิ้นรนเดินเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อขายแรงงานราคาถูก หรือส่งตัวเองเรียนในระบบการศึกษาที่ตนไม่มีสิทธิเลือกได้มากนัก

‘สัญญากับใจ’ จะไม่กลับหลัง ถ้ายังไม่ได้ดี

เพลง ‘สัญญากับใจ’ ในเวอร์ชั่นนี้ถูกขับร้องโดย รัชนก ศรีโลพันธุ์ ในอัลบั้ม ดอกไม้แด่ผองศิษย์ ด้วยรักแด่ครูสลา ต้นฉบับเดิมขับร้องโดย จอมขวัญ กัลยา และปล่อยผลงานครั้งแรกในปี 2550 เนื้อหาในเพลงนี้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของคนต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางเข้ามาเป็นแรงงานในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน 

“ดั่งนกไร้คอน บินร่อนในดงคอนกรีต ละครชีวิต ถูกขีดด้วยความเดือดร้อน ให้สู้ทุกฉาก จากตื่นถึงหลับตานอน ปลอบฝันสักวันคืนคอน เสริมใจให้มีพลัง”ความน่าสนใจในเพลงนี้คือตรงท่อนที่ร้องว่า “ละครชีวิต ถูกขีดด้วยความเดือดร้อน” ที่สะท้อนให้เห็นคนต่างจังหวัดที่เดินเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ นั้น ชีวิตของพวกเขาต้องดำเนินไปตามบริบทที่ไม่สามารถกำหนดชะตาตนเองได้ นอกจากก้มหน้าก้มตาทำงาน อดทน และสร้างความหวังให้กับตนเองว่า สักวันหนึ่งจะมีชีวิตที่ดีขึ้น

ฟังเพลงได้ที่: สัญญากับใจ – รัชนก ศรีโลพันธุ์

‘ดอกนีออนบานค่ำ’ กับการเล่าเรื่องชีวิตแรงงานภาคค่ำ

เพลงนี้ ตั๊กแตน-ชลดา ทองจุล เป็นผู้ขับร้อง แต่งโดย วสุ ห้าวหาญ ในปี 2551 เนื้อหาในเพลงเล่าถึงชีวิตของผู้หญิงต่างจังหวัด 3 คน ที่เดินทางเข้ามาขายแรงงานในกรุงเทพฯ บอกเล่าผ่านอาชีพที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นสาวโรงงานเย็บผ้า พนักงานร้านสะดวกซื้อ และบริกร ซึ่งเป็นการทำงานหนักที่ได้ค่าตอบแทนต่ำ แต่ถึงแม้จะเป็นค่าแรงที่ต่ำ ตัวละครทั้งสามที่ถูกเล่าผ่านบนเพลงก็ยังต้องสู้งานเพื่อจะผ่านความยากลำบากไปให้ได้

นอกจากนี้ เนื้อหาในบทเพลงยังเล่าถึงอาชีพเดิมที่ตัวละครทั้งสามเคยทำเมื่อครั้งยังใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด ได้แก่ อาชีพในภาคเกษตรกรรม การทำนาข้าว ทำสวนยางพารา ทำสวนผลไม้ ซึ่งไม่อาจช่วยเลี้ยงดูและจุนเจือครอบครัวได้อีกต่อไป เนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจและราคาผลผลิตตกต่ำที่ส่งผลให้ภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล ด้วยเหตุนี้ จึงนำไปสู่การบอกเล่าเรื่องราวการพลัดถิ่นเข้ามาในสังคมเมืองอีกด้วย

ฟังเพลงได้ที่: ดอกนีออนบานค่ำ – ตั๊กแตน ชลดา

“เป็นลูกจ้างตังค์น้อย ลำบาก เท่าใดบ่ยั่น ดึกๆ ดื่นๆ ยังยืนสู้งาน เหนื่อยก็โทรหากัน เนาะเราคนภาคค่ำ”

จากเนื้อเพลงข้างต้น ยังแสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงในพื้นที่ต่างจังหวัดกับบ้านเกิด หรือกล่าวได้ว่าครอบครัวยังเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ช่วยให้สามารถมีแรงใจในการทำงานได้ แม้จะเหนื่อยเพียงใดก็จะไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก และมีความหวังว่าจะชีวิตจะดีขึ้นได้ในสักวัน

‘คนบ้านเดียวกัน’ คำปลอบใจคนทำงานกับค่าแรงขั้นต่ำติดดิน

เพลง ‘คนบ้านเดียวกัน’ ของ ไผ่-พงศธร ศรีจันทร์ แต่งโดย วสุ ห้าวหาญ ในปี 2556 มีความแตกต่างไปจากเพลงอื่นๆ คือการนำเสนอชีวิตของชนชั้นแรงงานที่ต้องเผชิญกับการทำงานที่ไม่คุ้มค่าแรง ผ่านดนตรีและจังหวะที่สนุกสนาน เพื่อเป็นการให้กำลังใจคนทำงานไปพร้อมๆ กับการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น

“น้องตั๊กแตน เข้ามาเป็นสาวโรงงานเย็บผ้า แรงที่ใช้กับเงินที่ได้ ยังบ่เคยคุ้มค่า นักเรียนม.ปลายจากภาคอีสาน กลายเป็นแรงงานถูกกดราคา”

เนื้อหาในเพลงนี้ยังคงทำหน้าที่สะท้อนชีวิตของชนชั้นแรงงานจากต่างจังหวัดได้เป็นอย่างดีไม่ต่างจากเพลงอื่นๆ ข้างต้น แต่ประเด็นที่เพลงนี้เน้นย้ำและนำเสนอ นั่นคือ ประเด็นค่าแรงที่ต่ำ แม้จะทำงานหนักแค่ไหน ก็ยังไม่สามารถยกระดับฐานะให้ดีขึ้นได้

‘เพลงลูกทุ่งอีสาน’ ภาพสะท้อนสังคมในวังวนความยากจน

จากการหยิบเพลงลูกทุ่งทั้ง 5 บทเพลง มาวิเคราะห์เบื้องต้น จะเห็นได้ว่าเพลงทั้งหมดนั้นถูกปล่อยออกมาในช่วงปี 2544-2556 ซึ่งหากย้อนกลับไปดูสภาพเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น จะพบว่าเป็นช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่เข้าขั้นวิกฤติก็ว่าได้

ในช่วงปี 2544 พบว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวตั้งแต่ช่วงต้นปี เนื่องจากการส่งออกที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักและรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยภาพรวมมูลค่าส่งออกทั้งปีนั้นหดตัวลงจากปีก่อนหน้า ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2545 ก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน

ต่อมา ช่วงปี 2551-2552 ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ไทยก็เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังทำให้การส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศและสหรัฐอเมริกาได้น้อยลง เพราะภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจที่สำคัญและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างมากในอีกปีถัดมาคือปี 2556 จากภาวะ ‘Bangkok Shutdown’ โดยเหตุการณ์ในขณะนั้นเกิดจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง จนนำไปสู่การก่อความไม่สงบ กระทั่งมีการปิดเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2556 จนถึงกลางปี 2557 นอกจากจะนำมาสู่การทำรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว Bangkok Shutdown ยังส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ทั้งภาคการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน ไทยส่งออกได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก โดยมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าที่คาดไว้คิดเป็นร้อยละ 10 

จากสภาวะทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปีดังกล่าวนี้ จึงทำให้สามารถทำความเข้าใจได้ว่า ทำไมเพลงลูกทุ่งส่วนใหญ่จึงมุ่งสะท้อนความยากลำบากและคุณภาพชีวิตของชนชั้นแรงงาน เพราะสุดท้ายแล้วกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจต่างล้วนเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานนั่นเอง 

ความน่าสนใจของประเด็นเศรษฐกิจที่ถูกนำเสนอผ่านเพลงลูกทุ่งคือ แม้เพลงเหล่านี้จะถูกปล่อยออกมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ แต่กลุ่มผู้ใช้แรงงานในยุคปัจจุบันก็ยังคงติดตามรับฟังและรู้สึกตามไปกับเพลงเหล่านี้อยู่ ซึ่งอาจเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ท้ายที่สุดแล้ว สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงอยู่ในภาวะวิกฤติอยู่ รวมไปถึงการบริหารจัดการจากฝั่งภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้

ด้วยเหตุนี้ กระแสเพลงลูกทุ่งจึงไม่เคยหายไป อีกทั้งยังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเนื้อหาของบทเพลงยังคงจับใจและถ่ายทอดความรู้สึกแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้เป็นอย่างดีไม่ต่างจากในอดีต

อ้างอิง

Author

มนสิรา กาหลง
ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีจนจบ ม.ปลาย แล้วจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อมาเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ วัยเด็กโตมากับทีวี รักการดูโฆษณา ปัจจุบันหันมาสนใจงานเขียน งานข่าว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยน้ำชง เพลงเเจ๊ส และแมว มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการเอาชีวิต(ให้)รอดในโลกทุนนิยม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า