ลองไล่ดูก็ได้ค้าบบ: ไล่ฝุ่นความคิดด้วยความรู้เรื่องอุตุนิยมวิทยา

 

อุตุนิยมวิทยา

ฝุ่น PM2.5 คือปัญหาใหม่ของสังคมไทย เวลาที่เราเผชิญกับปัญหาใหม่ๆ สภาพจิตใจของเรามักกังวล แต่ข้อมูลหรือความรู้บางศาสตร์ก็พอจะอธิบายสภาพปัญหาที่เรากำลังเผชิญได้ดี

แม้จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้โดยตรง แต่ ความรู้พื้นฐานของ ‘อุตุนิยมวิทยา’ ก็เป็นความรู้หนึ่งที่ช่วยทำนายหรืออธิบายปรากฏการณ์ ‘ตื่นฝุ่น’

ก็เหมือนที่ ดร.ภาณุ ตรัยเวช บอกว่า นักอุตุนิยมวิทยาสามารถรู้หรือทำนายผ่านข้อมูลได้ว่า พรุ่งนี้พายุลูกใหญ่จะเข้า แต่นักอุตุนิยมวิทยาไม่สามารถหยุดยั้งพายุที่จะเข้ามาได้ แต่ “ถามว่าเราทำอะไรได้ 1. แผนการอพยพ 2. เตือนคนล่วงหน้า เพื่อไม่ให้คนไปอยู่ในที่เสี่ยง ก็คงเป็นอะไรแบบนั้นครับ ซึ่งส่วนใหญ่งานอุตุฯ หลักๆ คือการทำนาย”

กรณีฝุ่น PM2.5 ความรู้หรือคำอธิบายทางอุตุนิยมวิทยา น่าจะช่วยทำให้เราเข้าใจสภาพปัญหาที่เผชิญ และมันอาจทำให้เรามองเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาจากภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรง

WAY ชวนอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองฝุ่นผ่านความรู้พื้นฐานเรื่องอุตุนิยมวิทยา เพื่อบันทึกและสะสมความรู้ความเข้าใจต่อปัญหา ฝุ่น PM2.5 เพื่อรับมือกับมันให้ดีขึ้นในอนาคต

 

ปัญหาฝุ่นเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์อุตุนิยมวิทยาอย่างไร

เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มหรือลดปริมาณความเข้มข้นฝุ่นในอากาศคือ ฝุ่นสามารถกระจายตัวได้ดีหรือไม่ สิ่งที่เรากังวลเรื่องฝุ่นคือความเข้มข้นในอากาศ ซึ่งความเข้มข้นในอากาศก็ขึ้นอยู่กับ 1. ปริมาณฝุ่น 2. ฝุ่นกระจายตัวไปได้ไกลแค่ไหน เพราะต่อให้ฝุ่นมีปริมาณเท่าเดิมหรือปริมาณมาก แต่ถ้ามันสามารถกระจายตัวไปได้ไกล ความเข้มข้นมันก็น้อย มันก็ไม่ค่อยแย่เท่าไหร่

ปัจจัยเรื่องฤดูกาลมีส่วนสำคัญ ในช่วงนี้คือช่วงเดือนมกราคมต่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ผมขอใช้คำว่า ‘ฟ้าปิด’ อากาศมันลอยตัวขึ้นไม่ได้ และไม่มีลม ประกอบกับความชื้นน้อย เพราะความชื้นช่วยดักจับฝุ่นในอากาศ ความชื้นในอากาศจะช่วยลดปริมาณได้ แต่ช่วงนี้อากาศลอยตัวขึ้นไม่ได้ ฝุ่นไม่มีที่ให้ไป มันค้างเติ่งอยู่ ความเข้มข้นก็เลยสูง

ถ้าถามว่าทำไมอากาศมันไม่ลอยตัวขึ้น โดยปกติอากาศจะลอยตัวขึ้นได้อุณหภูมิจะต้องสูงหรือร้อน พวกฝุ่นหรือสารพิษจะต้องลอยตัวขึ้นไปได้อุณหภูมิจะต้องสูงระดับหนึ่ง ซึ่งฝุ่นแทนที่มันจะลอยขึ้นไปสูงๆ แล้วกระจายหายไปหรือเจือจาง ลอยไปเจอลมด้านบนพัด มันก็ลอยไม่ขึ้น มันติดฝาอยู่ในอากาศ มันก็มีลักษณะเหมือนเป็น ‘ฝา’ ภาษาที่ใช้คือ ‘inversion layer ‘ เป็นฝาที่อยู่ในอากาศ เรามองไม่เห็น แต่มันเป็นฝาปิดกั้นอยู่ มันก็เลยกลายเป็นความเข้มข้นมาก

อีกเหตุผลหนึ่งคือไม่มีลม ตอนนี้เป็นช่วงที่มีความกดอากาศต่ำ ซึ่งความกดอากาศต่ำทำให้อากาศภายนอกพัดพาเข้ามา ถ้าความกดอากาศสูง อากาศมันจะถูกผลักออกไปภายนอกได้ แต่เมื่อความกดอากาศต่ำอากาศภายนอกก็ตีเข้ามา ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว ความกดอากาศต่ำไม่ได้แย่ ความกดอากาศต่ำจะทำให้เกิดฝน แต่ตอนนี้เป็นช่วงฤดูที่มีความแห้งแล้ง ไอน้ำมันไม่พอ มันก็เลยไม่เกิดฝนขึ้นมา ก็เป็นปัญหารวมๆ กันประมาณนี้ครับ

ถ้าให้นักอุตุฯ มองเรื่องนี้ ก็ต้องดูว่าลมเป็นยังไง ความชื้นในอากาศเป็นยังไง inversion เป็นยังไง และความกดอากาศต่ำมีหรือเปล่า ถ้าเกิดปัจจัย 4 อย่างทางอุตุนิยมวิทยามารวมกันแบบนี้ ก็มีแนวโน้มที่สภาพจะไม่ดีแบบนี้ครับ

ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ตื่นเช้ามาเรามองดูท้องฟ้า แล้วพอจะทำนายทายทักสภาพฝุ่นในแต่ละวันได้อย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าดูเมฆจะช่วยได้นะ ถ้ามีเมฆขึ้นมาแล้วเรามองเห็นเมฆเป็นก้อนๆ มักจะดี เพราะหมายความว่า มีความชื้นในอากาศมาก และเมฆยังบอกเราว่าอากาศมีการไหลเวียน อย่างน้อยมีการลอยตัวขึ้นไปพอที่จะทำให้เกิดเป็นก้อนเมฆได้ ถ้ามองแล้วเห็นก้อนเมฆโอเคเลย แต่ถ้ามองแล้วเห็นฟ้าเทาไปเลย ก็ไม่ค่อยดีแล้ว

กลางคืนฝุ่นน้อยกว่าจริงไหม เช้าฝุ่นเยอะกว่าจริงไหม

จริงครับ เพราะช่วงเช้าเป็นช่วงที่อากาศปิดที่สุด กลางคืนอากาศจะเย็นลง พออากาศเย็นลง อุณหภูมิมันสู้ inversion ไม่ได้ มันก็ลอยขึ้นไปไม่ได้

ฝุ่นมาจากไหน หรือไม่ได้มาจากไหน

ชีวิตประจำวันในเมืองใหญ่มันผลิตฝุ่นอยู่แล้ว เครื่องยนต์ ก่อสร้าง ผมไม่คิดว่ามันมาจากไหน มาจากกัมพูชาไหม ผมไม่ค่อยซื้อไอเดียนี้นะ ก็มีคนพูดบ้างว่าเกาหลีเจอฝุ่นเยอะมากเพราะมาจากจีน หรืออินโดนีเซียมีไฟป่าแล้วก็ลอยเข้ามา มันก็อาจเป็นไปได้ แต่ในกรณีที่เรากำลังเจออยู่นี้ไม่ได้ชัดแจ้งขนาดนั้น เพราะถ้ามีลมที่พัดฝุ่นจากที่อื่นเข้ามากรุงเทพฯ ฝุ่นก็ไม่ควรจะอยู่ที่กรุงเทพฯ มันควรจะไปต่อ…นึกออกไหม ผมคิดว่าความเข้มข้นของฝุ่นน่าจะเกิดจากการไม่มีลมมากกว่า

ใช้โดรนฉีดน้ำช่วยได้ไหม

ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องฉีดน้ำ เอาง่ายๆ เมฆก้อนที่เล็กที่สุดที่ใหญ่พอจะมีฝนหอบเล็กๆ มีน้ำหนักประมาณช้างหนึ่งตัว
เพราะงั้นถามกลับว่าต้องใช้โดรนกี่ตัวล่ะถึงจะอุ้มช้างขึ้นฟ้าได้ อันนี้คือฝนระดับตกเฉพาะสยามสแควร์นะ ทั่วกรุงเทพฯ ไม่ต้องพูดถึงเลย ฝน ลม นี่มันมาง่ายๆ จนหลายครั้งเราลืมว่ามันยิ่งใหญ่แค่ไหนนะ

ถ้าฝุ่นเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์อุตุนิยมวิทยา เราสามารถทำนายล่วงหน้าได้ไหมครับ

ก็พอได้ครับ เราพอจะรู้ได้ว่า.. เอาแบบง่ายที่สุดเลย ช่วงนี้ของทุกปีมันก็จะเป็นแบบนี้ ช่วงเดือนเปลี่ยนผ่านฤดูหนาวเป็นฤดูร้อน ช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปีจะเป็นแบบนี้ แต่ที่เชียงใหม่มันเป็นแบบนี้แทบทุกปีอยู่แล้ว เราก็พอจะทำนายได้ว่าเดี๋ยวมันก็เกิดขึ้นมาอีกในช่วงเวลานี้

ซึ่งมันก็จะช่วยเราได้ เราพอจะมองเห็นว่าในปีหน้าในช่วงฤดูกาลแบบนี้ ความเข้มข้นของอากาศก็จะเป็นแบบนี้อีก เราสามารถออกแบบการควบคุมการปล่อยก๊าซในช่วงฤดูกาลแบบนี้ได้

เดือนกุมภาเป็นเดือนหน้าร้อนของไทยแล้ว หมายความว่าลมหนาวมันออกไปแล้ว เพราะฉะนั้นพออากาศมันร้อนขึ้นมามันก็มีโอกาสเป็นไปได้ ว่าอากาศจะลอยขึ้นไป โดยทั่วไปเมื่อเข้ากุมภาพันธ์ สภาพทั่วไปน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ช่วงที่แย่ที่สุดก็จะเป็นช่วงนี้แหละ ช่วงมกรา-กุมภา

อย่างพี่ธิดา (ผลิตผลการพิมพ์ – ผู้ก่อตั้ง Documentary Club) ถามผมว่า ปลายกุมภาสามารถฉายหนังกลางแจ้งได้ไหม ผมก็บอกว่า ในทางทฤษฎีสามารถทำได้ เพราะปลายกุมภาฟ้าไม่ควรจะปิด แต่ผมก็ต้องบอกเขาว่าเดี๋ยวอีก 2 อาทิตย์เรามาดูกันว่า ปลายกุมภาจะเป็นยังไง

เพราะต่อให้เราทำนายได้ดีมาก เช่น เราจะรู้ว่ามีพายุผ่านเข้ามา ถ้าเรารู้ว่าจะมีพายุผ่านเข้ามา ถามว่าเราจะทำอะไรได้ 1. คืออพยพ 2. เตือนคนล่วงหน้าไม่ให้คนไปอยู่ในที่เสี่ยง ก็คงเป็นอะไรแบบนั้นครับ ซึ่งส่วนใหญ่งานของนักอุตุฯ คือการทำนาย แต่ถามว่าความรู้ด้านอุตุฯ เข้าไปแก้โดยตรงได้ไหม สมมุติเราบอกว่า การก่อสร้างมันทำให้เกิดฝุ่นขึ้นมา มันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่า ห้ามมีการก่อสร้างในกรุงเทพฯ เลย แต่ถ้าบอกว่าเฉพาะช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เราจะจำกัดหรือลดปริมาณการก่อสร้างลง หรือมีมาตรการอะไรบางอย่างในช่วงเวลานี้ แต่โอเคนี่คือการแก้ปัญหาแบบอุตุฯ คือดูปัจจัยเรื่องสภาพอากาศ แล้วเราก็จัดการตามนั้น

ผมเข้าใจว่าพวกโรงงานหรือการก่อสร้าง เขาคงมีกฎหมายของเขาอยู่แล้ว ว่าจะปล่อยควันได้แค่ไหน จะสร้างฝุ่นได้แค่ไหน หรือทำได้แค่ไหน เพียงแต่ว่ากฎหมายเหล่านี้อาจจะไม่เคยเอาปัจจัยเรื่องฤดูกาลมาใช้ขนาดนั้น มันอาจมีบางช่วงฤดูนะที่คุณต้องผลิตฝุ่นน้อยกว่าช่วงอื่นๆ อย่างน้อยในระยะยาวการนำเอาปัจจัยเรื่องฤดูกาลมาพิจารณาร่วม ก็เป็นสิ่งที่น่าลองดู

การสูบบุหรี่ก็เหมือนเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกเอ่ยขึ้นมา โดยหลักการของอุตุนิยมวิทยา ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ก็ทำให้ควันบุหรี่มวลรวมมันไม่ถ่ายเท เหมือนติดฝารวมอยู่กับฝุ่นใช่ไหมครับ

ตอบจริงๆ คือไม่แน่ใจครับ ต้องดูข้อมูลจากนักเคมีด้วยว่า ควันบุหรี่มีส่วนมากน้อยแค่ไหนกับฝุ่นช่วงนี้ เทียบกับปัจจัยอื่นๆ อย่างการก่อสร้าง ควันรถ หรือโรงงานอุตสาหกรรมอีก ถ้าใช่ ถ้าบุหรี่คือสาเหตุหลักจริง เราก็อาจต้องรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์แทน ก็เข้าท่าดี ในอนาคต นอกจาก “ลดเหล้าเข้าพรรษา” เราอาจต้องมี “ลดบุหรี่ หนี PM2.5” ด้วย หรือเราจะมาพูดกันเรื่องการเปิดปิดโรงเรียนหรือการปิดเทอมในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ โครงการก่อสร้างที่ไม่ได้เร่งด่วนจำเป็น การจำกัดปริมาณรถยนต์ในช่วงฤดูกาลแบบนี้ ก็เป็นการนำเอาปัจจัยเรื่องฤดูกาลมาควบคุมการปล่อยของเรา

ถ้าถามนักอุตุฯ ก็จะได้คำตอบประมาณนี้ ยังมีนักเคมีที่เขาน่าจะมีข้อมูลเรื่องการปล่อย ซึ่งก็น่าสนใจเหมือนกัน

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า