Photographer: ณัฐพนธ์ ปานอุดมลักษณ์, นพดล พอใจ
“การแสดงชิ้นนี้จะไม่เกิดขึ้นแน่ๆ ถ้าเราไม่ถูกจับ”
หลังชูป้ายแสดงจุดยืน ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’ ชีวิตหลังจากนั้นของ กอล์ฟ-นลธวัช มะชัย ก็มีอันต้องต่อสู้ทั้งนอกและในชั้นศาลร่วมกับกลุ่มเพื่อนอาจารย์-นักวิชาการเชียงใหม่อีก 4 คน เป็นเวลารวมถึง 1 ปี 4 เดือน จากคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป
เป็น 1 ปีกว่าที่กอล์ฟบอกว่าได้สัมผัสกับโครงสร้างระบบยุติธรรมของไทยอย่างเต็มอิ่ม ตั้งแต่ชั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ทนายความ ไปจนถึงศาล กลั่นกลายมาเป็นวัตถุดิบทางความคิดสำหรับทำละครเพื่อต่อรองต่อต้านกับอำนาจเบื้องบนที่กดทับคนไทยทั้งประเทศไว้
‘กระบวนการยุติธรรม’ ในความทรงจำข้าพเจ้า
“หลังโดนคดี แรกๆ เครียดมาก มันกระทบการงาน ครอบครัว การเรียน ไปไหนก็ไม่ได้ แถมไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่”
ย้อนไปในวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 เชียงใหม่จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา มีทหารนอกเครื่องแบบจำนวนหนึ่งแฝงตัวเข้ามาในงานประชุมและถ่ายภาพผู้นำเสนอผลงานวิชาการในลักษณะคุกคาม กอล์ฟในฐานะช่างภาพและผู้ดูแลความเรียบร้อยของงานจึงได้ร่วมถือป้ายกระดาษพิมพ์ข้อความ ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’ ที่หน้าห้องประชุมและถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
กอล์ฟเล่าว่า ในวันนั้นมีผู้สนใจถือป้ายแล้วถ่ายภาพกันหลายคน แต่สุดท้ายกลับมีเพียง 5 คนเท่านั้นที่ถูกแจ้งดำเนินคดี มีการสันนิษฐานว่าในจำนวนทั้งหมดนี้ไม่มีใครเป็นหน้าใหม่ แต่ละคน ‘สะสมแต้ม’ ประวัติการจัดกิจกรรมที่ คสช. ไม่ชอบใจจนแลกหมายเรียกจากสถานีตำรวจได้คนละใบ
“ตอนที่ข่าวออกมาใหม่ๆ ในรายชื่อเป็น อาจารย์ประจักษ์ (ก้องกีรติ) แต่ภาพข่าวเป็นหน้าเรา” กอล์ฟเล่ากลั้วหัวเราะ “ครั้งแรกไปที่สถานีตำรวจ ปกติตำรวจเป็นด่านหน้าของการรับแจ้งคดีที่เพิ่งเกิดซึ่งมักอยู่ในความสนใจของผู้คน คนก็จะแห่ไปให้กำลังใจกันมาก แล้วจะค่อยๆ เงียบลงเมื่อเรื่องถึงชั้นศาล”
กอล์ฟเล่าย้อนไปถึงวันที่เขาและเพื่อนร่วมคดีความอีก 4 คน ซึ่งล้วนเป็นนักศึกษา นักเขียนและนักวิชาการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา และพิมพ์รอยนิ้วมือเก็บประวัติราวกับเป็นผู้ต้องหา ในวันนั้นมีเพื่อน อาจารย์ และนักวิชาการเข้ามาให้กำลังใจคับคั่งจนสถานีตำรวจภูธรช้างเผือกดูแคบไปถนัดตา
จากชั้นตำรวจไปถึงอัยการจังหวัด สิ่งที่กอล์ฟต้องทำคือนัดหมายกับเพื่อนร่วมคดีความเพื่อหาวันที่ว่างตรงกันครบ 5 คนแล้วเข้าไปเซ็นเอกสารกับอัยการทุกเดือน เพื่อยืนยันว่าไม่ได้หนีไปไหน ขั้นตอนนี้แม้เสียเวลาต่อวันไม่มาก แต่รวมแล้วยืดเยื้อยาวนานเกือบปี หากสังเกตผู้ที่มาให้กำลังใจช่วงนี้ก็จะเห็นทหารนอกเครื่องแบบคอยสังเกตหรือถ่ายรูปสถานการณ์แต่ละครั้งเอาไว้ด้วย
กอล์ฟมักจบลงด้วยการขาดเรียนวิชาเดิมซ้ำๆ และไม่ได้กลับบ้านที่จังหวัดพัทลุงช่วงเปิดเทอม เนื่องจากต้องมารายงานตัว ช่วงนั้นเพื่อนในเฟซบุ๊คมักจะเห็น ‘คุณอุไร’ คอมเมนต์แซวลูกชายในเฟซบุ๊คอยู่เสมอว่า “ลูกบ่าวจำทางกลับบ้านไม่ได้แล้ว”
ในเวลาปกติที่ไม่ถูกครอบงำด้วยอำนาจทหาร อัยการมักไม่สั่งฟ้องคดีลักษณะนี้ต่อศาล เพราะเข้าใจว่าเป็นเพียง ‘คดียุทธศาสตร์’ ของทหารเพื่อเตะตัดขาให้ผู้ถูกฟ้องเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองต่อไปลำบากขึ้น แต่กอล์ฟคาดว่าคงมีการกดดันมาจากหลายทาง จนได้ยินอัยการเปรยๆ ว่า “ทหารมาตามเรื่องทุกเดือน” และในวันที่คดียืดเยื้อจนคนเริ่มให้ความสนใจน้อยลง อัยการก็พูดเป็นนัยถึงขั้นตอนต่อไปว่า “ถ้าคนมาให้กำลังใจน้อยก็คงสั่งฟ้องแล้ว”
หลังจากเจรจาให้ผู้ต้องสงสัยยอมเซ็นข้อตกลงยุติกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่สำเร็จ มาตรการต่อไปคือพยายามยื้อคดีความให้นานจนผู้ติดตามบางส่วนเลิกสนใจไป กระทั่งวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 หรือเกือบหนึ่งปีหลังจัดงานประชุมเวทีวิชาการไทยศึกษา อัยการก็นำผู้ต้องหาทั้ง 5 ขึ้นสั่งฟ้องกับศาลแขวงเชียงใหม่ ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งกอล์ฟและเพื่อนอาจมีโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
วันที่ 6-7 ธันวาคม 2561 ศาลนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์จำนวน 6 ปาก มีการเปิดรายชื่อผู้ที่เป็นภัยต่อรัฐตามที่ทหารบันทึกไว้ ก่อนจะถูกทนายจำเลยซักละเอียดเรื่องความไม่สมเหตุสมผลของรายชื่อ เช่น บางรายเป็นนักวิชาการ บางรายเป็นทูตต่างประเทศ จนทหารฝ่ายโจทก์จำนนตัดออกทีละชื่อๆ หลักฐานฝั่งโจทก์ถูกตีตก แต่ยังไม่ทันที่ฝั่งจำเลยจะได้สืบพยานฝั่งตัวเองบ้าง คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับใหม่ก็ออกมายกเลิกข้อกฎหมายที่ทั้ง 5 รายถูกกล่าวหาก่อนสืบพยานเพียงวันเดียว
สุดท้ายคดีก็สิ้นสุดลงในเช้าวันคริสต์มาสของปี 2561 เมื่อศาลแขวงเชียงใหม่นัดฟังคำวินิจฉัย ‘ยกฟ้อง’ เป็นอันจบคดีชูป้าย ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’ ในชั้นศาล
“อันที่จริงยังไม่จบนะ คดีเสร็จกลางคันโดยที่เราไม่ได้ให้การ ไม่ได้ถูกซักเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง เราไม่ได้พูด เลยทำเป็นเอกสารแถลงต่อศาลแทน ทำเสร็จก็ส่งศาลเดือนมกรา รวมทั้งคดีก็นานประมาณปีครึ่ง” กอล์ฟเล่า ปีครึ่งที่ยาวนานและการถูกจำกัดอิสรภาพที่สิ้นสุดลงแล้ว
POISER: ดินแดนสนธยาของสามอำนาจหลักในไทย
ปัจจุบันกอล์ฟเป็นนักศึกษาคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมทางสังคม-การเมือง และเป็นผู้กำกับการแสดงประเภท performance หรือการแสดงประเภทที่บางส่วนของเรื่องจะมีการด้นสดไปตามแต่ละรอบการแสดง ผลงานล่าสุดที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาไปเป็นเวอร์ชั่นสุดท้ายคือเรื่อง POISER
POISER กล่าวถึงการทดลอง ‘ชั่ง-ตวง-วัด’ ในดินแดนสนธยา ดินแดนซึ่งสถานที่สามแห่ง ได้แก่ สำนักพระราชวัง ค่ายทหาร และศาล กลายเป็นพื้นที่ลึกลับ ยากต่อการตรวจสอบสำหรับคนภายนอก คำว่า POISER แปลว่า ‘ผู้ชั่งน้ำหนัก’ มีที่มาจากความคิดระหว่างที่กอล์ฟพยายามศึกษาเรื่องการใช้อำนาจตุลาการในคดีการเมืองจนตกผลึกได้ว่า ในยุคนี้ความยุติธรรมอยู่ที่ผู้ชั่ง ไม่ได้อยู่ที่ตาชั่งอีกต่อไปแล้ว
กอล์ฟยืมเทคนิคละครญี่ปุ่นประเภทบุโต (Buhto) เข้ามาประกอบ เนื้อเรื่องประกอบด้วยตัวละคร 3 ตัว ทั้งหมดอยู่ในชุดกึ่งเปลือยและทาตัวเป็นสีขาวเพื่อขับเน้นการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ แต่ละตัวจะทำกิริยาต่างกัน ในขณะที่ตัวละครหนึ่งนำสิ่งของต่างๆ มาชั่งน้ำหนักเล่น ชวนให้คนดูนึกถึงการตัดสินคดีของศาล อีกตัวก็นำชิ้นส่วนของหุ่นพลาสติกรูปคนมาประกอบใหม่กลายเป็นหุ่นพิกลพิการ เหมือนการสร้างความบิดเบี้ยวและรับรองความชอบธรรมให้สังคมยอมรับสิ่งที่ศาลสร้างขึ้น ส่วนอีกตัวก็สาละวนกับการใช้ดินสอพองทาตัวให้ขาวโพลน กลบทับแป้งเดิมที่แห้งหลุดร่วง คือการชุบตัวเพื่อให้คนรู้สึกว่าศาล ‘ศักดิ์สิทธิ์’ อยู่ตลอดเวลา
“ปกติการชั่งตวงวัดจะอยู่บนพื้นฐานความคิดแบบวิทยาศาสตร์ แต่เราเซ็ตฉากให้คล้ายสำนักดูดวงแทน เพื่อแสดงให้เห็นว่าศาล ซึ่งควรเป็นองค์กรที่มีตรรกะ กลับอยู่บนระบบบุญคุณ มันทับซ้อนกับพื้นที่ทางไสยศาสตร์ ครอบงำให้คนทั้งประเทศรู้สึกว่าศาลศักดิ์สิทธิ์”
การแสดงชิ้นนี้วิพากษ์วิจารณ์ศาลไทย 1 ใน 3 พื้นที่ลึกลับของดินแดนสนธยา จากพฤติกรรมตุลาการภิวัตน์ หรือการใช้อำนาจตุลาการชี้นกเป็นไม้ตามแต่ความเห็นส่วนตัวของผู้พิพากษา โดยไม่อิงกับข้อกฎหมายเป็นหลักอีกแล้ว เช่น กรณีนักศึกษา 7 รายแสดงละครหน้าป้ายศาลเพื่อให้กำลังใจที่ ‘ไผ่ ดาวดิน’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ผู้ต้องหาคดีตามมาตรา 112 ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีการทำไม้รูปตาชั่งขึ้นมา ให้ข้างหนึ่งเอียงหนักไปทางรองเท้าท็อปบูทแบบทหาร อ่านแถลงการณ์ และหนึ่งในนั้นถือป้ายกระดาษที่มีข้อความว่า ‘Free Pai’ (ปล่อยไผ่)
จากเหตุการณ์นั้น ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาตรงกันว่า ทั้ง 7 ราย “ใช้เสรีภาพเกินขอบเขต” ที่ทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจว่าศาลเอนเอียงเข้าข้างทหาร เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีและความน่าเชื่อถือของศาล หรือกดดันคำพิพากษาของศาล ทั้งที่ศาลได้ทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมดีแล้ว
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าศาลตัดสินให้ทั้ง 7 ผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แม้จะเป็นการกระทำความผิดหน้าป้ายศาล ไม่ได้อยู่ในศาลโดยตรงก็ตาม คำพิพากษาระบุว่า
“…แม้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดจะกระทำการดังกล่าวนอกศาล แต่เป็นการกระทำที่มีความเกี่ยวเนื่องกับคดีที่มีการดำเนินอยู่ในศาลโดยตรง กรณีนี้ย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่มุ่งหมายให้มีผลต่อการดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาล การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นพ้องด้วย”
กอล์ฟเห็นว่า ศาลควรทำหน้าที่เป็นปราการด่านสุดท้ายของความยุติธรรมในสังคม แต่เมื่อศาลถูกสร้างมาเพื่อเสริมความเข้มแข็งของอำนาจบางสถาบัน ศาลก็ไม่ใช่ผู้แก้ไขปัญหาอีกแล้ว แต่กลายมาเป็นผู้เล่นอีกคนหนึ่งทางการเมืองแทน
เขายกตัวอย่างกฎหมายหมิ่นศาลในต่างประเทศ ที่ระบุขอบเขตไว้แค่ห้ามมิให้บุคคลแสดงพฤติกรรมหยาบคาย หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของศาลเท่านั้น แต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาออกมาสูงสุดแล้ว ประชาชนมีหน้าที่ตรวจสอบ โต้แย้ง พิสูจน์กระบวนการยุติธรรมได้เป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับประเทศไทย เราจะพบว่าผู้พิพากษาฟ้องคู่กรณีว่า ‘หมิ่นศาล’ หรือละเมิดอำนาจศาล ใช้กฎหมายเล่นงานคนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบศาล
“ศาลพยายามอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือสิทธิในการแสดงออกของประชาชน”
กอล์ฟเผยว่า หุ่นบิดเบี้ยวพิกลพิการที่ตัวละครหนึ่งใน POISER สร้างขึ้น ได้แรงบันดาลใจมาจากการเห็นศาลสำแดง ‘อภินิหารทางกฎหมาย’ หลายต่อหลายครั้ง โดยที่ประชาชนคาดเดาไม่ออกว่าจะออกมาในรูปแบบไหนอย่างไร เนื่องจากสามารถตั้งมาตรฐานของคำตัดสินใหม่ได้ทุกเมื่อ เพื่อรองรับการมีอยู่ของอำนาจบางประการ เช่น อำนาจของกองทัพทหาร จนได้มาเป็นแนวคิดของการสร้างหุ่นแบบเดิมซ้ำๆ จนคนดูเริ่มจะเดาออก ก่อนจะพบว่าที่เดามานั้นผิด ศาลได้สร้างความบิดเบี้ยวแบบใหม่ขึ้นมาอีกแล้ว
“ในการแสดงเราไม่พูดถึงศาลเลย เพราะเป็นการแสดงประเภทไม่มีบทพูด คนดูอาจรับรู้ว่าเป็นศาลก็ได้ ตีความไปไกลกว่านั้นก็ได้ นั่นคือความคลุมเครือของงานชิ้นนี้”
POISER แสดงโดยนักแสดงจากกลุ่มลานยิ้มการละคร กลุ่มละครที่กอล์ฟก่อตั้งขึ้นหลังสิ้นสุดพันธะคดีความ กำกับโดยกอล์ฟ แสดงมาแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ งานหนังสือเชียงใหม่บุ๊คแฟร์ 2019 ไปจนถึงงาน Connect Fest จัดโดยคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (มอส.) ที่มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ และได้รับการติดต่อจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้แสดงครั้งล่าสุดที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ที่นิทรรศการ ‘Never Again หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน’ ซึ่งเป็นนิทรรศการศิลปะเพื่อรวมวัตถุพยานภาคประชาชนในยุค คสช. และมีกำหนดพัฒนาเป็นเวอร์ชั่นสุดท้ายที่สมบูรณ์ที่สุด แสดงในนิทรรศการเดียวกันนี้อีกครั้ง ที่จังหวัดขอนแก่นและกรุงเทพฯ ตอนปลายปี
ละคร-การเมือง: พื้นที่คลุมเครือของความคิดและจินตนาการ
กอล์ฟศึกษาการสื่อสารมาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เขากล่าวว่าวิธีการในการนำเสนอประเด็นมีหลายวิธี แต่ที่เลือกใช้เทคนิคขับเน้นเรื่องราวผ่านท่วงท่า ที่เรียกว่า physical theatre หรือละครเคลื่อนไหวร่างกายไร้บทพูด เนื่องจากละครคือพื้นที่ที่อนุญาตให้ผู้กำกับมีสิทธิเหนือร่างกายของนักแสดง เช่นเดียวกับอำนาจตุลาการที่คอยควบคุมเนื้อตัวประชาชนอย่างเราๆ อยู่อย่างเงียบๆ
“ทำไมเราไม่จัดงานวิชาการ หรือจัดคอนเสิร์ตแล้วมายืนพูด ยังจะมีคนฟังมากกว่า แต่สังคม การเมือง และการละครมีส่วนคล้ายกันคือมันควบคุมไปถึงเนื้อตัวร่างกาย ควบคุมมโนธรรมสำนึกจนเป็นอัตโนมัติ ถึงจะไม่มีคำสั่งบอกซ้ายหัน-ขวาหัน แต่มีพลังขนาดทำให้เราโดนทำร้ายร่างกายได้ถ้าทำพฤติกรรมประหลาดในที่สาธารณะ เช่น ไม่ได้ใส่ชุดดำในวันที่มีคนหนึ่งเสียชีวิต จนเราลืมไปแล้วว่าครั้งหนึ่งมันเคยไม่มีอิทธิพลต่อเรา เราไม่สามารถยืดอกแล้วบอกว่าฉันเป็นอิสระได้อีกแล้ว”
กอล์ฟเรียกมันว่า ‘ความทรงจำของกล้ามเนื้อ’ เมื่อประชาชนรู้ว่าต้องขยับตัวไปทางใดอย่างอัตโนมัติ เขาใช้แนวคิดทางสังคมวิทยา เช่น อำนาจบงการเหนือร่างกาย (biopower) ของมิเชล ฟูโกต์ เพื่อสร้างข้อสรุปที่ว่ากฎเกณฑ์ทางสังคมห่อหุ้มตัวเราอย่างมิดชิด ก่อนจะสื่อสารย้อนกลับด้วยวิธีเรียบง่ายผ่านกล้ามเนื้อแต่ละส่วนของนักแสดง แล้วใช้อำนาจความเป็น ‘ผู้กำกับละคร’ บงการร่างกายนักแสดงอีกที
ด้วยความที่ไม่มีบทพูด ละครประเภท physical theatre ต้องอาศัยสายตาและประสบการณ์ของผู้ชมช่วยตีความ ประสบการณ์ที่แตกต่างกันนี้เองจะสร้าง ‘พื้นที่คลุมเครือ’ เช่นเดียวกับที่กอล์ฟมองเห็นและได้สัมผัสความคลุมเครือของอำนาจตุลาการภิวัตน์มาแล้วด้วยตัวเองในฐานะ ‘อดีตจำเลย’
“ถ้าศาลไม่ได้มีอิทธิพลกับร่างกายประชาชนโดยตรง เราก็คงเลือกไปทำหนัง ทำเพลง หรือสื่อสารผ่านช่องทางอื่น” กอล์ฟสรุปที่มาถึงการนำเสนอแนวคิดผ่านการเล่นละคร
ด้วยความที่เป็นละครการเมือง กอล์ฟจะแจ้งให้นักแสดงที่มาแคสต์ทราบก่อนทุกครั้งว่าการแสดงพูดถึงประเด็นใดบ้าง และเลี่ยงการปะทะอย่างนุ่มนวลด้วยการนำเสนอผ่านศิลปะที่คนดูต้องตีความเอง อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้กำกับละครวัยเพียง 20 ต้นๆ ที่ต้องรับผิดชอบชีวิตนักแสดงหลายชีวิต กอล์ฟยอมรับว่าแม้ไม่กลัว แต่ก็กังวลไม่น้อยว่าอาจกลายเป็นอีกรายที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นศาล เนื่องจากที่ผ่านมาอำนาจศาลขยายขอบเขตออกไปไกล และส่วนตัวก็ ‘สะสมแต้ม’ กิจกรรมทางการเมืองไว้เยอะพอสมควร
เสียงกอล์ฟเงียบไปคล้ายทบทวนกับตัวเองอยู่ชั่วครู่ ก่อนจะยืนยันคำตอบสุดท้ายว่ากังวล แต่อย่างไรก็ต้องยืนหยัดในจุดยืนทางการเมืองอันเป็นตัวตนของตัวเอง ด้วยการทำศิลปะเพื่อการต่อรองต่อต้าน ไม่ใช่ทำงานศิลปะเพื่อการสยบยอม
เมื่อมาถึงคำถามสุดท้ายว่า หากชีวิตของ ‘นลธวัช มะชัย’ ในฐานะนักกิจกรรมทางการเมืองและนักการละคร มีโอกาสสัมผัสกระบวนการยุติธรรมด้วยตัวเองเป็นหนสองเพื่อนำมาทำเป็นวัตถุดิบผลิตผลงานอีกครั้ง เขาจะเข้าไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์อีกหรือไม่
“ไม่เอา พอแล้ว” ครั้งนี้กอล์ฟหัวเราะลั่น ตอบทันควัน “ไม่ได้กลัวนะ แต่เหมือนเวลาเรากินอาหารบางอย่างน่ะ ถ้ารสชาติมันไม่ถูกปาก เราก็หยุดกิน”