COVID-19: เกมชิงไหวพริบระหว่างจีนกับไต้หวัน

ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ที่ผ่านมานั้น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกกำลังตื่นตระหนกอย่างรุนแรงกับสถานการณ์ของไวรัส COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นจากการพบว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสในประเทศอื่นนอกเขตประเทศจีนเพิ่มขึ้นเป็นรายวัน ไม่ว่าจะในประเทศไทย ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ เวียดนาม หรือแม้แต่ในไต้หวันเอง โดยผู้ติดเชื้อรวมกันทั่วโลกพุ่งขึ้นเป็นหลักหมื่นราย ทำให้เกิดกระแสกักตุนหน้ากากอนามัย ทั้งในรูปแบบธรรมดาและแบบ N95 จนหน้ากากอนามัยหลายแห่ง โดยเฉพาะประเทศจีนขาดตลาด เพราะถูกประชาชนชาวจีนออกมากว้านซื้อจนหมดชั้นวาง ภายหลังจากรัฐบาลออกคำสั่งปิดเมือง และห้ามออกนอกพื้นที่เพื่อป้องกันสถานการณ์ไวรัสระบาด

ภายในไต้หวันเองก็เช่นกัน รัฐบาล ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ได้ออกมาตรการห้ามนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงผู้ที่เคยมีประวัติการเดินทางไปยังฮ่องกงและมาเก๊า ไม่ให้เข้าสู่เกาะไต้หวัน พร้อมกับการสั่งห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยออกจากไต้หวัน ตั้งแต่ช่วงปลายมกราคมถึงช่วงปลายกุมภาพันธ์ หากนักท่องเที่ยวต้องการที่จะซื้อหน้ากากอนามัยจากไต้หวันแล้วนำออกนอกประเทศ จะสามารถกระทำได้โดยยึดดุลพินิจจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายศุลกากรภายในสนามบินเป็นหลักเท่านั้น (ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะถูกจำกัดไม่ให้นำออกเกินคนละ 5 กล่อง หรือก็คือจำนวนที่ไม่ใช่การนำไปใช้เพื่อการพาณิชย์) ส่วนคนไต้หวันด้วยกันเองนั้นจะถูกจำกัดปริมาณการนำหน้ากากฯ ออกนอกประเทศไม่เกิน 250 ชิ้น (หากเกินจะโดนปรับ 3 เท่า) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์หน้ากากฯ ในไต้หวันขาดแคลน (กำลังการผลิตของไต้หวันอยู่ที่ประมาณวันละ 2,000,000 ชิ้น)

แต่แล้วมาตรการเหล่านั้นก็ไม่สามารถปิดกั้นกลุ่มคนที่วางแผนจะเก็งกำไรจากการขายหน้ากากฯ ให้กับคนที่ประเทศจีนได้ เพราะยังมีรายงานการลักลอบกักตุนสินค้า แล้วแอบทำการขนส่งทางเรือออกไปยังท่าเรือของไต้หวันอยู่บ่อยครั้ง จนล่าสุดทางรัฐบาลต้องออกมาประกาศขยายเวลาการห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยจากไต้หวันทุกกรณีจนถึงปลายเดือนเมษายน โดยยึดเหตุผลว่า รัฐบาลต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์กรณีที่ไวรัส COVID-19 นั้นกลายพันธุ์หรือมีความรุนแรงมากขึ้น จนอาจทำให้สถานการณ์ภัยพิบัตินี้ยืดเยื้อไปอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน (ตรงจุดนี้รัฐบาลได้ระบุว่า หากสถานการณ์คลี่คลายลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็อาจจะมีการปลดมาตรการนี้ลงก่อนเดือนเมษายนได้เช่นกัน)

ท่าทีของรัฐบาลไต้หวันขณะนี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และการต่อต้านจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งจากภายในไต้หวันเองและจากจีนแผ่นดินใหญ่ รัฐบาลไต้หวันไม่ได้มีแผนที่จะจัดการรวบรวมส่งหน้ากากอนามัยไปให้การช่วยเหลือแก่จีนแผ่นดินใหญ่เลย ทั้งๆ ที่ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้นรัฐบาลไต้หวันได้พยายามจะจัดการบริจาคหน้ากากอนามัยไปให้ออสเตรเลียกว่า 100,000 ชิ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติไฟป่าที่เกิดขึ้นภายในออสเตรเลียจนบ้านเรือนเสียหายและมีผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก แต่เมื่อถึงคราวที่จีนแผ่นดินใหญ่เดือดร้อน ไต้หวันกลับไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือใดๆ ไปยังประชาชนจีนแผ่นดินใหญ่เลย

กระแสด้านลบในจุดนี้ทำให้ผู้คนภายในจีนแผ่นดินใหญ่โกรธมาก มีการระดมโพสต์ข้อความวิจารณ์ไต้หวันกันไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งใน Facebook, Weibo, WeChat รวมถึงคลิปใน Tiktok ตั้งแต่ “ไอ้พวกคนไต้หวันมันใจร้ายผิดมนุษย์กันเกินไปแล้ว ภัยพิบัติรุนแรงอย่างนี้ยังจะห่วงเรื่องการเมืองกันอีก” “ไม่อยากจะเชื่อว่าคนไต้หวันจะไร้น้ำใจกันขนาดนี้” “ไอ้พวกคนไต้หวันมันบ้าไปแล้ว มันตั้งใจจะให้พวกเราชาวจีนตายกันหมด” “ทำไมคนไต้หวันถึงปล่อยให้ความเกลียดชังมาบดบังการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้แบบนี้ พวกเราผิดหวังมากๆ” ส่วนภายในไต้หวันเองนั้น ประชาชนไม่ว่าจะฝ่ายที่สนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) และพรรครัฐบาล (DPP) ต่างก็พร้อมใจกันบ่นออกมาในทิศทางที่ว่ารัฐบาลทำเกินไป เล่นการเมือง และห่วงผลลัพธ์/ภาพลักษณ์ทางการเมือง (ที่เคยหาเสียงไว้ว่าจะไม่ยอมเป็นมิตรกับจีนแผ่นดินใหญ่) มากเกินไป จนอาจทำให้ความสัมพันธ์ในคาบสมุทรไต้หวัน (cross-strait relations) เลวร้ายลงกว่าเดิมที่เป็นอยู่

อันที่จริงหากพิจารณาผ่านคำแถลงของฝ่ายรัฐบาลไต้หวัน (โดยนายกรัฐมนตรี ซู เจิงชาง (Su Tseng-chang)) ที่ออกมาแก้ต่างตรงๆ ว่าสาเหตุที่รัฐบาลไต้หวันจำเป็นต้องออกมาตรการจำกัดและระงับการส่งออกหน้ากากอนามัยไปยังต่างประเทศนั้น เป็นเพราะปัจจุบันหน้ากากอนามัยภายในไต้หวันนั้นเกิดภาวะขาดตลาดมาร่วม 1 เดือนแล้ว ตั้งแต่ปลายมกราคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับหัวเมืองใหญ่ๆ อย่างไทเป เกาสง ไทจง และไทหนาน ทำให้การหาซื้อหน้ากากอนามัยของประชาชนภายในประเทศเป็นไปอย่างยากลำบาก (ผู้คนกำลังตกอยู่ในความหวาดระแวง เลยพากันไปกว้านซื้อหน้ากากในห้างมาเก็บไว้ เพราะกลัวว่าพอถึงคราวจำเป็นจะไม่สามารถหาซื้อได้) การที่นายกรัฐมนตรี ซู เจิงชาง ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเพื่อขอความร่วมมือว่า “การจะช่วยเหลือคนอื่นได้นั้นต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้ก่อน” จึงไม่ใช่การกล่าวเกินจริง เพราะ ณ ปัจจุบันสถานการณ์ภายในไต้หวันก็ค่อนข้างหนักหน่วง (รัฐบาลอาจมีแผนสั่งให้เพิ่มกำลังการผลิตหน้ากากฯ ไปเป็นวันละ 5,000,000 หรือ 10,000,000 ชิ้นได้ หากภาวะขาดแคลนนั้นไม่บรรเทาลง) ที่ดูๆ แล้วการเคลื่อนไหวของรัฐบาลครั้งนี้น่าจะเข้าข่ายเรื่องของความมั่นคงเสียมากกว่าเรื่องการเมือง

ส่วนจุดที่มีความเกี่ยวโยงกับการเมืองตรงๆ นั้น น่าจะเป็นเรื่องการขับเคี่ยวกันบนเวทีโลกระหว่างจีนกับไต้หวันมากกว่า หากหันมามองในกรอบดังกล่าวก็จะเห็นว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานี้ สิ่งที่รัฐบาลจีนกำลังง่วนทำอยู่นั้นไม่ได้มีแค่การรับมือแก้ไขภัยพิบัติแต่เพียงอย่างเดียว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลจีนกำลังมุ่งหน้าทำควบคู่กันไป คือ การเล่นเกมชักเย่อกับไต้หวันผ่านสนามของสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly) ภายใต้องค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งไต้หวันเคยได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ในช่วงปี 2009 แต่ถูกขับออกโดยจีนในช่วงปี 2016 หลังรัฐบาลพรรค DPP ชนะเลือกตั้ง ทำให้ไต้หวันไม่สามารถมีส่วนร่วมในการประชุมของ WHO อีกเลย ส่งผลให้ไต้หวันถูกตัดขาดออกจากช่องทางการติดต่อสื่อสารหลักกับ WHO ที่แต่เดิมไต้หวันสามารถสื่อสารหรือร่วมประชุมกับทางสมัชชาได้โดยตรง ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นการติดต่อสื่อสารกันผ่านเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนที่จะเป็นฝ่ายรับสารและข้อมูลจากทาง WHO แล้วนำไปส่งกระจายต่อให้กับไต้หวันเฉกเช่นมณฑลอื่นๆ ของจีน (แน่นอนหากทาง WHO ต้องการตัวอย่างของไวรัสจากผู้ป่วยในไต้หวัน ก็ต้องติดต่อให้ทางจีนเป็นผู้ประสานงาน แล้วให้ไต้หวันส่งตัวอย่างไวรัสไปที่จีน แล้วให้จีนส่งไป WHO อีกต่อหนึ่ง)

จุดที่น่าสนใจคือ เมื่อมาถึงจุดที่จีนไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ของไวรัส COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกต่างส่งคำแนะนำให้จีนติดต่อขอความช่วยเหลือจากไต้หวัน หรือไม่ก็ผ่อนคลายมาตรการจีนเดียว แล้วให้ไต้หวันกลับเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ภายในที่ประชุม WHO เหมือนเช่นเดิม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีการจัดการปัญหาระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ ในฐานะที่ไต้หวันมีระบบบริหารจัดการทางด้านสาธารณสุขระดับแถวหน้าของเอเชีย ซึ่งตรงนี้ไต้หวันเองก็ได้เสนอตัวเช่นกัน แต่ทางการจีนก็ยังยืนยันว่าไต้หวันเป็นเพียงมณฑลหนึ่งของจีน หากจีนต้องการความช่วยเหลือ หรือหากทาง WHO ต้องการติดต่อกับไต้หวัน ทางการจีนจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในภารกิจเหล่านั้นด้วยตนเอง และนั่นก็นำมาซึ่งการปฏิเสธความช่วยเหลือจากไต้หวัน ทั้งๆ ที่รัฐบาลไต้หวันเองก็เสนอตัวออกมาเป็นทางการแล้วว่า หากรัฐบาลจีนมีความต้องการความช่วยเหลือ รัฐบาลไต้หวันก็พร้อมเต็มที่ที่จะให้ความช่วยเหลือในทุกภารกิจ (เพื่อเป็นข้อแลกเปลี่ยนในการขออพยพคนไต้หวันที่เหลือทั้งหมดออกจากเมืองอู่ฮั่น ซึ่งจีนได้พยายามถ่วงเวลามามากกว่า 2 สัปดาห์แล้ว) แต่ยังยืนยันจะไม่อนุญาตให้ภาคเอกชนนำหน้ากากอนามัยส่งไปขายที่จีน

เงื่อนไขจึงเป็นไปในรูปแบบที่ว่า ถ้ารัฐบาลจีนต้องการความช่วยเหลือก็ต้องบากหน้ามาขอไต้หวันด้วยตนเอง

อนึ่ง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ปูมหลังมาจากเมื่อครั้งที่ไต้หวันเปลี่ยนรัฐบาลจาก KMT มาสู่ DPP ในช่วงปี 2016 ทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก จนประกาศตัดความสัมพันธ์ระดับทางการ (high-profile diplomatic cuts) ผลก็คือ จีนกับไต้หวันจะไม่มีการติดต่อกันผ่านเจ้าหน้าที่ระดับสูงระหว่างรัฐบาลอีก แปลว่า ผู้บริหารระดับสูงภายในรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะติดต่อทางตรงไปยังไต้หวันทุกกรณี (เช่นเดียวกับฝั่งไต้หวัน) การสื่อสารใดๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผ่านหน่วยงานระดับย่อยและเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ฝ่ายบริหารหลักเพียงเท่านั้น ทำให้การช่วยเหลือนั้นเกิดขึ้นได้ยาก และถ้าจีนขอความช่วยเหลือจากไต้หวันจริงๆ ไต้หวันก็จะมีแต้มต่อในการต่อรองเพื่อให้จีนอนุญาตให้ไต้หวันกลับเข้ามาเป็นภาคีผู้สังเกตการณ์ภายในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกได้อีกครั้ง (ณ ปัจจุบันไต้หวันสามารถเข้าร่วมประชุมกับทาง WHO ได้เฉพาะทางช่องทางออนไลน์โดยไม่ระบุเชื้อชาติเท่านั้น)

สถานการณ์ในลักษณะนั้นจะทำให้ผู้นำสายเหยี่ยวอย่างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) เสียหน้าและดูอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก ทั้งต่อ ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) และต่อ โดนัลด์ ทรัมป์  (Donald Trump) ในฐานะที่ยอมให้ผู้นำที่มีอำนาจน้อยกว่าแข็งข้อต่อรองจนจีนต้องเปลี่ยนท่าทีในเวทีระดับโลก ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจีนใช้ในการตอบโต้ไต้หวันด้วยท่าทีโอหังในเวลานี้ จึงเป็นการพยายามส่งข้อมูลการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แบบมั่วๆ ให้กับทาง WHO โดยทำทีเป็นปัดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ไต้หวันมีปริมาณมากกว่าความเป็นจริง ในสภาวะเงื่อนไขที่ไต้หวันเองไม่มีสิทธิออกรายงานทางการแพทย์ส่งให้กับทาง WHO ได้โดยตรงเช่นนี้ ข้อมูลที่ถูกแพร่กระจายไปยังสื่อ และฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นข้อมูลที่ทางรัฐบาลจีนปั้นแต่งขึ้นมา

บวกกับการที่จีนได้ออกมาตรการกดดันหลายๆ ประเทศไว้ก่อนหน้านี้ว่า ห้ามนับไต้หวันเป็นประเทศ โดยเฉพาะภายในแวดวงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบิน ทำให้การจองที่พัก การเดินทาง การเข้าเมืองในหลายแห่งทั่วโลก ไต้หวันนั้นต้องยืนยันตัวเองว่าเป็น “Chinese” เมื่อเป็นเช่นนั้น นโยบายการห้ามนักท่องเที่ยวจีนเข้าประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกจึงกระทบไต้หวันโดยตรง ไม่ว่าจะอิตาลี เวียดนาม บังกลาเทศ หรือแม้แต่พม่า ต่างก็พากันยกเลิกเที่ยวบินที่มีเส้นทางการบินไปยังไต้หวัน ทั้งขาเข้าและขาออก ส่วนในกรณีของบังกลาเทศนั้นหนักหน่อย ถึงขั้นจะมีการยกเลิก Visa-on-Arrival ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนไปเลย ทำให้นักท่องเที่ยวไต้หวันต้องถูกห้ามการเดินทางเข้าออกไปยังประเทศเหล่านั้นไปโดยอัตโนมัติด้วย

ล่าสุดทางกองทัพของจีนยังได้ส่งเครื่องบินรบ Xian H-6 Bomber, Shenyang J-11, Shaanxi KJ-500 จำนวนหลายลำบินเฉียดเข้ามาในน่านฟ้าของไต้หวันภายใต้ภารกิจซ้อมรบ พร้อมกับการออกมาให้ข่าวโต้ว่าทางการไต้หวันจงใจอพยพคนออกจากเมืองอู่ฮั่นช้ากว่าประเทศอื่นเอง โดยที่ทางการรัฐบาลจีนได้พยายามช่วยเหลือดำเนินการเรื่องการอพยพคนออกจากอู่ฮั่นอย่างเต็มที่แล้ว (ฝั่งไต้หวันตอบกลับว่า จีนเป็นฝ่ายที่ไม่ยอมเจรจาด้วย) แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงท่าทีในการปิดกั้น การข่มขู่ และกดดันในทุกมิติของทางจีนแผ่นดินใหญ่ ภายหลังจากที่ไต้หวันได้พยายามออกสื่อเรียกร้องให้ทางการจีนรับความช่วยเหลือจากไต้หวัน และกดดันให้รัฐบาลจีนเปิดทางให้กับไต้หวันได้สามารถกลับเข้าไปร่วมเป็นภาคีผู้สังเกตการณ์ภายในองค์การ WHO อีกครั้ง ด้วยการนำสถานการณ์ความรุนแรงของไวรัส COVID-19 และจำนวนผู้เสียชีวิต/ผู้ติดเชื้อภายในจีนมาเป็นตัวประกันและเครื่องมือในการต่อรอง

แม้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันจีนจะอยู่ในจุดที่เรียกว่าตกที่นั่งลำบาก แต่จีนเองก็ไม่ต้องการให้ภาพลักษณ์ความแข็งแกร่งของตนต้องถูกทำลายลงจากการรับความช่วยเหลือจากไต้หวัน โดยเฉพาะกับรัฐบาลพรรค DPP ที่จีนรังเกียจ แต่ในขณะเดียวกัน ท่าทียโสของไต้หวันเองก็ทำให้จีนไม่สามารถที่จะปล่อยข้ามไปได้ เพราะหากไต้หวันสามารถใช้โอกาสนี้ในการสร้างข้อต่อรองและเรียกร้องเงื่อนไขที่มากขึ้นบนเวทีโลกได้ แนวโน้มที่จะมีสถานการณ์ซ้ำรอยจนไต้หวันสามารถใช้เป็นแต้มต่อได้ในครั้งถัดไปก็จะมีเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับทางไต้หวัน โอกาสนี้เป็นเพียงโอกาสเพียงไม่กี่โอกาสในรอบหลายปีที่ไต้หวันจะสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของตนเองในการสร้างข้อต่อรองแล้วกดดันให้รัฐบาลจีนเดินหมากไปในทิศทางที่จะเป็นประโยชน์กับไต้หวันได้ (แม้จีนจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากไต้หวัน แต่การที่จีนออกตัวกลั่นแกล้งไต้หวัน หลังจากไต้หวันพยายามเสนอความช่วยเหลือให้ สุดท้ายภาคีสมาชิกอื่นๆ ใน WHO ก็จะหันไปกดดันจีนกันเอง เช่น สหรัฐอเมริกา)

ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงของไต้หวัน หากไต้หวันยังคงขาดช่องทางการสื่อสารทางตรงกับ WHO ในสถานการณ์ไวรัสระบาด หรือภัยพิบัติทางด้านโรคเช่นปัจจุบันนี้ ความเสี่ยงที่จะเกิดตามมาก็คือความเปราะบางในการเข้าถึงข้อมูลและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการต้านภัยพิบัติ (ปัจจุบันรัฐบาลไต้หวันพึ่งพาข่าวสารและข้อมูลด้านโรคระบาดจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก) การ Politicize หรือ การทำให้เรื่องโรคระบาดนั้นกลายเป็นการเมืองครั้งนี้ จึงเป็นเหมือนสถานการณ์จำเป็นของการดิ้นรนเพื่อแก้ไขปมปัญหาด้านความมั่นคงภายในของตนเองมากกว่า

ไต้หวันนั้นรู้ดีว่า ในยามปกติจีนไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องกลัวไต้หวัน ไม่ว่าจะในด้านของกำลังทหาร อาวุธสงคราม หรือแม้แต่พันธมิตรอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น แต่โอกาสเดียวที่ไต้หวันจะทำให้จีนกลัวได้ก็คือ โอกาสที่ไต้หวันจะกระโดดเข้ามารับบทตัวเอกของวิกฤติครั้งนี้ จนสถานะของไต้หวันกลายเป็นที่ยอมรับและสรรเสริญบนเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น สถานการณ์จะยิ่งทำให้ไต้หวันมีแต้มต่อและตีตัวออกห่างจากจีนได้มากขึ้น

Author

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข
อดีตนักวิจัยฝึกหัดจากสถาบัน Richardson ประเทศอังกฤษ สนใจในประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตของจีน และไต้หวัน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ มีประสบการณ์ทางด้านมานุษยวิทยาเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังศึกษาประเด็นเกี่ยวกับโรฮิงญา และความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองโลก

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า