เรื่องสั้นตามใจชอบลำดับที่ 7: ปอง เผ่าพัลลภ/จำนง วงศ์ข้าหลวง (2452-2502) ความสนุกในการเล่นชู้

ทั้งที่เป็นนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ในรุ่นใกล้เคียงกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์, มาลัย ชูพินิจ, มจ.อากาศดำเกิง, ไม้ เมืองเดิม, มนัส จรรยงค์, ส.ธรรมยศ แต่เมื่อเอ่ยถามว่ารู้จักชื่อ ‘ปอง เผ่าพัลลภ’ และ ‘จำนง วงศ์ข้าหลวง’ บ้างไหม ก็เข้าใจว่านักอ่านในบ้านเราเป็นส่วนใหญ่คงอาจจะไม่รู้จักเอาเลย ซึ่งก็คงจะเป็นเหมือนนักเขียน นักประพันธ์ และนักหนังสือพิมพ์ในประวัติวรรณกรรม (สยาม) ไทยในอดีตจำนวนมากที่ถูกลืมไปแล้ว หรือไม่ก็กระจัดกระจายไปอย่างไร้ระบบ ‘จัดเก็บ’ เนื่องจากประเทศนี้ยังไม่เคยมีการจัดทำหนังสือประเภท นามานุกรมนักเขียน และหรือ นามานุกรมวรรณกรรม อย่างมีการอ้างอิงจากเอกสารชั้นต้น หรือที่มีการจัดทำกันขึ้นมาบ้าง ก็มักจะเป็นไปอย่างไร้ระบบ และไม่ครอบคลุมตามไทม์ไลน์จากอดีตถึงปัจจุบัน ประวัติ นักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ นักแปล ฯลฯ หรือแม้แต่ที่เรียกว่า ‘กวี’ ในประเทศนี้จึงกระจัดกระจายไปอย่างไร้ทิศทาง ไม่เคยมี ‘เจ้าภาพ’ ในระดับโครงการอย่างเป็นทางการ ที่จะสร้างการจัดเก็บ ‘นามานุกรม’ ไว้ให้คนรุ่นหลังได้อ้างอิงอย่างมีคุณภาพ และอย่างเห็น ‘ภาพรวม’ ของประวัติวรรณกรรมสยาม-ไทยสมัยใหม่ที่มีความต่อเนื่องมายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4

สิ่งพิมพ์ในเชิง ‘นามานุกรม’ เท่าที่ปรากฏในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มักจะเป็น ‘นามานุกรม’ ของนักเขียน นักประพันธ์ประเภท big name เท่านั้น ไม่ต่อเนื่องตามไทม์ไลน์ และก็มักจะวนเวียนซ้ำซากอยู่แค่นั้น ไม่มีการค้นคว้าเพิ่มเติม ไม่มีระบบจัดเก็บหนังสือ (หายาก) ไม่มีโครงการ ‘หนังสือสานต่อหนังสือ’ ไม่มีงานพิมพ์หนังสือประเภทความทรงจำ และหรืออัตชีวประวัติที่น่าสนใจ ระบบหนังสือแห่งชาติที่ล้มเหลวในประเทศนี้มาพร้อมกับระบบการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความจำมากกว่าความคิดและการค้นคว้าใหม่ๆ ทั้งในเชิงอนุรักษ์ และในเชิงก้าวหน้า ความล้มเหลวของระบบหนังสือในบ้านเราที่เห็นชัด (เมื่อเทียบกับมาเลเซีย และอินโดนีเซีย) ก็คือเราไม่มีโครงการ ‘หนังสือสานต่อหนังสือ’ จำพวก Anthology (วรรณมาลัย) และ Literary Biography & Literary Encyclopedia (นามานุกรมนักเขียน & นามานุกรมวรรณกรรม) ที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับระบบการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ความคิดทางวรรณกรรม เพื่อให้อดีตมาเชื่อมต่อกับปัจจุบัน

‘ปอง เผ่าพัลลภ’ เป็นหนึ่งในนามปากกาของ จำนง วงศ์ข้าหลวง นักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ รุ่นเดียวกับ เหม เวชกร, เฉลิม วุฒิโฆสิต และ เสาว์ บุญเสนอ เขาเกิดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2452 (เป็นรุ่นน้องกุหลาบ สายประดิษฐ์ 5 ปี) และได้ลาลับจากไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2502 ด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตก อายุสั้นเพียง 50 ปี

เข้าใจว่า ‘ส.พลายน้อย’ น่าจะเป็นคนแรกที่ได้บันทึกเรื่องราวของ จำนง วงศ์ข้าหลวง ไว้ในหนังสือ เล่าเรื่องนักเขียนดังในอดีต ที่ ‘สำนักพิมพ์คอหนังสือ’ (บรรณาธิการโดย อำนวย จริงจิตร ) จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2546 จนมองเห็นภาพปะติดปะต่อของนักเขียน นักประพันธ์ และนักหนังสือพิมพ์ในอดีตผู้นี้อย่างมีที่มาที่ไปมากขึ้น โดย ‘ส.พลายน้อย’ เองก็ปะติดปะต่อเรื่องราวมาจากบันทึกข้อเขียนของ เหม เวชกร, เฉลิม วุฒิโฆสิต และน้องชายของจำนง วงศ์ข้าหลวง อีกต่อหนึ่ง (เข้าใจว่าคงปรากฏอยู่ในหนังสืองานศพของ จำนง วงศ์ข้าหลวง ที่ยังหาไม่พบ)

เพื่อให้การปะติดปะต่อของ ‘ส.พลายน้อย’ สัมฤทธิ์ผล ผมจึงขอนำเอาบทความของ ‘ส.พลายน้อย’ ที่เขียนถึง จำนง วงศ์ข้าหลวง ในหนังสือ เล่าเรื่องนักเขียนดังในอดีต มาปรากฏ ณ ที่นี้อีกครั้ง


จำนง วงศ์ข้าหลวง

นักหนังสือพิมพ์-นักเขียนนวนิยาย

จำนง วงศ์ข้าหลวง เป็นชื่อจริง นามสกุลจริงของนักเขียนเก่ารุ่นเดียวกับ ‘ป.ศรีสมวงศ์’ เหตุที่จะได้นามสกุล ‘วงศ์ข้าหลวง’ ก็เนื่องมาจากปู่ของคุณจำนง คือ จางวางชุบ เป็นจางวางอยู่ในสมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย และ ขุนวิวิธบรรณการี (จาย) ผู้เป็นบุตรของจางวางชุบ ก็อยู่ในบังคับบัญชาของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ฉะนั้นเมื่อถึงคราวที่จะมีนามสกุล จึงประทานนามสกุลให้ว่า ‘วงศ์ข้าหลวง’ เพราะตามสายสกุลเป็นข้าหลวงของเจ้านายมาโดยตลอด

นายจำนง เป็นบุตรชายคนโตของรองอำมาตย์โทขุนวิวิธบรรณการี (จาย) และนางวิวิธบรรณการี (พุ่ม) เกิดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2452 ที่บ้านถนนราชดำเนินกลาง เรียนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอนกลางที่โรงเรียนบวรนิเวศ เมื่อ พ.ศ. 2467

ในระหว่างที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 4-5 นั้น ได้เริ่มหลงใหลในการเขียนหนังสือมากกว่าการเรียน ทำให้การเรียนต้องสะดุดหยุดลงเป็นบางครั้งบางคราว ปรากฏว่าได้ร่วมมือกับเพื่อนๆ ออกหนังสือในชั้นเรียนมีชื่อว่า ดรุณสาส์น คุณสวัสดิ์ จุฑะรพ เขียนภาพประกอบ คุณอาษา ขอจิตต์เมตต์, คุณทองอยู่ ทิพาเสถียร, คุณจำนง วงศ์ข้าหลวง และคนอื่นๆ เขียนเรื่อง แม้จะถูกครูลงโทษเพราะไปสนใจทำหนังสือ ดรุณสาส์น มากกว่าการเรียน แต่ทั้งหมดก็ไม่ยอมหยุด  ภายหลังได้พิมพ์ออกจำหน่ายโดยใช้ชื่อใหม่ว่า ดรุณเกษม

คนสำคัญที่ให้กำลังใจในการทำหนังสือคือ เหม เวชกร เพราะไปไหนอยู่ด้วยกันเสมอ เหม เวชกร ได้บันทึกความจำพร้อมด้วยภาพลายเส้นพิมพ์ใน ฟ้าเมืองไทย มีความตอนหนึ่งว่า

“จำนงมีจิตใจเป็นนักประพันธ์มาแต่ยังเด็กก่อน พอโตเป็นหนุ่มก็มีนิสัยเป็นนักหนังสือพิมพ์เพิ่มขึ้นตามหลัง เมื่อสมัยผมยังหนุ่มรุ่นๆ จำนงอายุราว 12 ปี รักผมและติดผมเหมือนติดฝิ่น ถ้าเห็นหน้าผมก็เห็นจำนงด้วย เขาจะตามผมอยู่ตลอดเวลา นอกจากเวลาที่เขาไปโรงเรียนเท่านั้นที่ห่างกัน… ผมจะทำอะไร สนุกอย่างไร ไปถึงไหน จำนงจะต้องติดตามทุกแห่ง โดยมากผมชอบตกปลาและจับปลา เพราะเคยเที่ยวไปตามบ้านนอกบ้านนา จึงมีนิสัยปาณาติบาตติดมา กลับมาอยู่กรุงเทพฯ แล้วก็ยังมองแหล่งที่จะไปจับปลาอยู่เสมอ ในภาพที่เห็นนี่ไม่ใช่บ้านนอกบ้านนาที่ไหนเลย เป็นภาพที่แพซุงจอดอยู่หน้าโรงเลื่อย ปากคลองบางลำพู ผมชอบกับแขกยามที่นั่น เพราะเคยซ้อมว่ายน้ำในแม่น้ำที่ตรงนั้นในเวลาเย็นๆ ทุกเย็น เวลากลางคืนจึงเข้าไปจับปลาได้ เด็กรุ่นๆ เดียวกะจำนงตามไปด้วยสองคน”

น้องชายของคุณจำนง วงศ์ข้าหลวงได้เขียนถึงการแต่งหนังสือของจำนง วงศ์ข้าหลวง ไว้ดังต่อไปนี้

“ตอนต้นรัชกาลที่ 7 สำนักพิมพ์ต่างๆ พิมพ์นวนิยายเล่มละ 10 สตางค์ออกจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย พี่เขียนนวนิยายประเภทต่างๆ ในตอนนั้น มีทั้งเรื่องรัก เรื่องเกี่ยวกับชีวิต ตลอดจนแปลเรื่องภาพยนตร์ไว้เป็นจำนวนมากมาย โดยการเปลี่ยนใช้นามปากกาในการเขียนต่างๆ กัน ส่วนใหญ่มีนาม จำนง วงศ์ข้าหลวง, ปอง เผ่าพัลลภ, ฉันท์ มหาชัย, สมหวัง พงศ์เสนา และอื่นๆ ที่สำนักพิมพ์เพลินจิตต์เป็นสำนักพิมพ์ที่รับบทประพันธ์ของจำนง วงศ์ข้าหลวงและ ปอง เผ่าพัลลภ ออกพิมพ์มากที่สุด และพิมพ์กันมาจนกระทั่งวันตาย บทประพันธ์ชุดใหญ่ 2 ชุดที่ทำชื่อเสียงให้แก่ จำนง วงศ์ข้าหลวง และ ปอง เผ่าพัลลภ มากที่สุดคือเรื่อง ‘ยูงรำแพน’ และ ‘เสน่หาอาลัย’โดยเฉพาะ ‘ยูงรำแพน’ บริษัทโยคีสถานสี่พระยา นำเอาไปทำภาพยนตร์เมื่อปี พ.ศ. 2498

“ระหว่างเป็นนักประพันธ์ พี่ทำงานอยู่สำนักงานหนังสือพิมพ์ด้วย ชีวิตนักหนังสือพิมพ์ของพี่เริ่มตั้งแต่เข้าร่วมในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ‘ไทยหนุ่ม ‘ สมัยคุณหอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา หมดสมัย ‘ไทยหนุ่ม’ พี่ออกไปอยู่ ‘หลักเมือง’  ออกจาก ‘หลักเมือง’ ไปอยู่ ‘ไทยใหม่’ ออกจาก ‘ไทยใหม่’ ไปอยู่ ‘เทอดรัฐธรรมนูญ’ เมื่อหนังสือพิมพ์นั้นล้มไปแล้วก็มาร่วมอยู่ในกองบรรณาธิการ ‘ไทย-ไท’ สมัยหลวงเชวงศักดิ์สงคราม เป็นผู้อุปการะ และ ‘ไทย-ไท’ สมัยหลังสงครามซึ่งน้องคนที่สองเป็นผู้ตั้ง (นายประยูร วงศ์ข้าหลวง) ครั้งหลังสุดพี่เข้าประจำอยู่ในกองบรรณาธิการ ‘ชาวไทย’ มาจนกระทั่งวันสุดท้ายแห่งชีวิต

“พี่แต่งเรื่องเป็นอันมาก ทั้งนวนิยาย, ความคิดเห็นทางการเมือง และสารคดีนานาชนิดลงในหนังสือพิมพ์เหล่านี้โดยเอาชื่อของลูกชาย ลูกหญิง และหลานชายหญิง เช่น ‘สุจริต ภิญโญ’, ‘จรรยา มารยาท’ และ ‘โชติช่วง ชัชวาล,’ เป็นต้น มาตั้งเป็นนามปากกาในเวลาเขียนหนังสือพิมพ์”

คุณเฉลิม วุฒิโฆสิต ได้เขียนถึง จำนง วงศ์ข้าหลวง ไว้ดังต่อไปนี้

“เรารู้จักกันมาร่วม 30 ปี แต่ในระยะที่ร่วมงานหนังสือพิมพ์ ‘ชาวไทย’ ในฐานะที่เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการมา 9 ปี ความสนิทสนมและใกล้ชิด ทำให้ข้าพเจ้าเห็นสมรรถภาพในการทำงานของคุณจำนง ได้อย่างสมบูรณ์ จนยืนยันได้ว่าเขามีเลือดนักหนังสือพิมพ์ที่ดี ทั้งเป็นนักประพันธ์ที่สร้างเรื่องได้หมดจดงดงาม เขาเขียนหนังสือลายมือสวยเรียบ ไม่ว่าจะเป็นข่าวหรือนวนิยาย คุณจำนงบรรจงทำอย่างประณีต เคร่งครัดต่อการใช้ถ้อยคำสำนวน ต้องให้สละสลวย แม้แต่สะกดการันต์และวรรคตอน เรียกว่าหาตัวจับได้ยาก

“คุณจำนงเริ่มงานหนังสือพิมพ์ ‘ชาวไทย’ ด้วยกันตั้งแต่แรกเกิด เป็นผู้ช่วยเหลือ ‘แขนขวา’ ของข้าพเจ้าอย่างไว้วางใจได้ มีความอดทนต่อความเหน็ดเหนื่อยเท่าๆ กับข้าพเจ้า เพราะการทำงานของข้าพเจ้ามีมติอยู่ในใจว่าต้องลงมือและดูงานด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันความบกพร่อง ครั้งเป็นบรรณาธิการ ‘ประมวญวัน’ 8 ปี ข้าพเจ้าไม่เคยหยุดงานเพราะป่วยหรือลาแม้แต่วันเดียว เมื่ออยู่ ‘ชาวไทย’ เข้าปีที่ 10 ก็ไม่เคยหยุดเจ็บป่วยเลยสักวัน คุณจำนงก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับข้าพเจ้า บังเอิญแพ้ไปครั้งเดียวที่จำเป็นต้องหยุดเพราะป่วย เดินไม่ได้ แต่ตลอดเวลาทำงานเขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของข้าพเจ้าอย่างดีที่สุด มีอุดมคติแบบเดียวกัน และเคยร่วมชื่อยื่นใบลาออกทั้งคณะ เมื่อ ‘เจ้าของ’ ต้องการจะให้เราฝืนอุดมคติ แต่เราก็ชนะเพราะเหตุผลของเราเป็นฝ่ายถูกต้อง”

จำนง วงศ์ข้าหลวง ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2502 ด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตก

(จบบทความของ ‘ส.พลายน้อย’)


ผลงานนวนิยายในนามปากกา ‘ปอง เผ่าพัลลภ’ ที่ปัจจุบันเป็นหนังสือเก่าหายากในหมู่นักสะสม เท่าที่ค้นพบคือนวนิยายมีอยู่ 3 เรื่อง ที่พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ เมื่อ พ.ศ. 2485 เล่มแรกมีชื่อว่า เสน่หาอาลัย ส่วนอีก 2 เรื่องต่อมาพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์เพลินจิตต์เช่นเดียวกัน (ไม่ทราบปีที่พิมพ์) คือเรื่อง ยูงรำแพน และ แววมยุรี (ซึ่งเป็นภาคต่อของ ยูงรำแพน)

อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่างานเขียนเรื่องสั้นของ จำนง วงค์ข้าหลวง และ ปอง เผ่าพัลลภ ที่พิมพ์ครั้งแรกตามนิตยสารต่างๆ ในช่วงทศวรรษ 2480, 2490 และ 2500 คงจะมีกระจัดกระจายอยู่ไม่น้อย  และยังไม่เคยนำรวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก เท่าที่เห็นจาก ‘เอกสารชั้นต้น’ เช่นนิตยสาร เพลินจิตต์รายเดือน ฉบับพิเศษของสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ เมื่อปี พ.ศ. 2495-2496 ที่เขียนไว้ในนามปากกา ‘ปอง เผ่าพัลลภ’ และที่ใช้นามจริง จำนง วงศ์ข้าหลวง (เท่าที่ผมมี ‘เอกสารชั้นต้น’) ก็มีนับได้ 16 เรื่อง เช่น

  1. รักแรมทาง
  2. มาลี-ชีวิต
  3. เพราะรัก
  4. วารุณีเข้าสังคม
  5. สื่อสายตา
  6. มัจจุราชดับขันธ์
  7. คะนองบาป
  8. ผู้ชายแมวๆ
  9. ผู้หญิงที่หลายแบบ
  10. นกน้อยซึ่งคล้อยบิน
  11. บุรุษที่ 3
  12. เยาวเรศพบรัก
  13. ใจมีในร่างคน
  14. อารมณ์เปลี่ยว
  15. ประกายพฤกษ์หลังแว่นดำ
  16. วิมานคนธรรพ์

บรรดาเรื่องสั้นที่ปรากฏในนิตยสาร เพลินจิตต์รายเดือน ในช่วงปี 2495-2496 เหล่านี้ ยังไม่เคยนำมารวบรวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกทั้งสิ้น และเข้าใจว่าคงจะยังมีผลงานตามนิตยสารรายต่างๆ ในช่วง 3 ทศวรรษดังกล่าวอยู่อีกไม่น้อย  ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นความอาภัพของนักเขียนนักประพันธ์ไทยในอดีต ที่เมื่อตัวตายไปแล้ว ผลงานที่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ในวาระต่างๆ ก็จะตายตามไปด้วย และก็จะถูกลืมไปในที่สุด

เรื่องสั้นตามใจชอบ รักแรมทาง ของ ปอง เผ่าพัลลภ ที่นำมาปรากฏใน เรื่องสั้นตามใจชอบ วาระนี้ เป็นเรื่องสั้นในแนวทาง ‘ท้าทายศีลธรรม’ ที่ผมชอบมากกว่าเรื่อง สัญชาตญาณมืด ของ ‘อ.อุดากร’ ที่ปรากฏขึ้นมาในช่วงใกล้เคียงกัน แต่กลับไม่โด่งดัง ลีลาการประพันธ์และสำนวนภาษาของ ‘อ.อุดากร’ นั้น ผมมีความรู้สึกเป็นส่วนตัวว่าค่อนข้างใช้ภาษารุงรัง และแอบแฝงการสั่งสอนศีลธรรมทางอ้อม แต่เรื่องสั้น รักแรมทาง ของ “ปอง เผ่าพัลลภ” ที่ปรากฏนี้ แม้จะพิสดารน้อยกว่า แต่ผมว่าตัวละครมีความตรงไปตรงมามากกว่า และไม่สั่งสอนศีลธรรม ดังนั้นจึงนับเป็นเรื่องสั้นแนว ชวนสวาท (erotic: คำของ รังสรรค์ ธนะพรพันธ์) ที่มีลีลาเรียบเนียนไม่แพ้งานเขียนของ ‘อุษณา เพลิงธรรม’  บรรยากาศและฉากที่ปรากฏ แม้ว่านักอ่านในรุ่นนี้อาจจะไม่ get กับฉากรักใน ‘เรือจ้าง’ อีกต่อไปแล้ว เพราะจินตนาการคำว่า ‘เรือจ้าง’ ที่มีคนแจวเรืออยู่หัวท้ายไม่ออก รับบริการขนส่งทางน้ำตามแม่น้ำลำคลองเมื่อประมาณค่อนศตวรรษก่อน แต่ชีวิตวัยเด็กในรุ่นของผมเมื่อ 70 ปี ยังพอ get กับการไปไหนมาไหนโดยใช้บริการเรือจ้างที่ให้บริการไปตามแม่น้ำลำคลอง

ตัวละครชาย-หญิงในเรื่องสั้น รักแรมทาง ที่มาต้องใจกันโดยบังเอิญเพราะหนังสือเป็นเหตุ ได้นั่งรถไฟและนั่ง ‘เรือจ้าง’ ไปพร้อมกันในชั่วเวลา 1 วัน 1 คืน สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงขณะดังกล่าวของตัวละครทั้งสอง เป็นความตั้งใจ เป็นภาวะ รักแรมทาง หรือ one night stand ที่มักจะไม่ค่อยได้พบกันบ่อยนักในงานเขียนของนักเขียนเคร่งศีลธรรมในบ้านเรา  แต่งานเขียนของ ‘ปอง เผ่าพัลลภ’ เมื่อ 66 ปีเรื่องนี้กลับล้ำหน้าเส้นแบ่งทางศีลธรรมไปแล้ว กล่าวคือนำเสนอเรื่อง ‘ชวนสวาท’ one night stand ในแบบตบหน้านักอ่านเคร่งศีลธรรมได้อย่างน่าฉงน จนรู้สึกว่า ‘หล่อน’ ที่เป็นตัวละครในเรื่องนี้นั้นเป็นตัวของตัวเองจนน่ากลัว ก้าวล้ำนำหน้า ปล่อยตัว แต่ไม่ปล่อยใจ แม้จะมีผัวอยู่แล้ว แต่ฉันจะหา ‘ความสุขในการเล่นชู้’ ใครจะทำไม?

นี่คือ รักแรมทาง หรือ one night stand ในแบบของ ‘ปอง เผ่าพัลลภ’ ที่ผมเห็นว่าตัวละครหญิงในเรื่องสั้นเรื่องนี้ส่งผล ‘ท้าทายศีลธรรม’ และสร้างภาวะ ‘ชวนสวาท’ ในจินตนาการทางการอ่านมากเสียยิ่งกว่าตัวละครหญิงในเรื่องสั้น สัญชาตญาณมืด ของ ‘อ.อุดากร’

ผมไม่ค่อยพบตัวละครสตรีสมัยใหม่ที่ ‘ท้าทายศีลธรรม’ แบบนี้มากนักในเรื่องสั้นสมัยใหม่ของไทย ดังนั้น รักแรมทาง เรื่องนี้จึงเปิดโลกให้ผมเห็นว่า นักเขียนไทยในอดีตที่ถูกลืมไปแล้วในประวัติวรรณกรรมมีแง่มุมที่นำสมัย และกล้าหาญมากกว่านักเขียนไทยในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่มัก ‘ปากว่าตาขยิบ’

ต่อไปนี้ขอเชิญท่านพบกับ ‘ความสุขในการเล่นชู้’ หรือ one night stand แบบไทย-ไทยเมื่อ 66 ปีก่อน

 4 กรกฎาคม 2562


รักแรมทาง

ปอง เผ่าพัลลภ

ข้าพเจ้ามีธุระต้องเดินทางไปจังหวัดสิงห์บุรี แต่ด้วยความประสงค์ที่จะหาความเพลิดเพลินในระหว่างไปด้วย จึงเลือกเดินทางโดยรถไฟไปลงจังหวัดลพบุรี แล้วว่าจ้างเรือแจวไปอีกทอดหนึ่ง แทนที่จะไปโดยเรือกลไฟรวดเดียวถึง ส่วนขากลับตั้งใจจะล่องทางน้ำ

เมื่อขึ้นไปบนรถไฟชั้น ๒ และมองหาที่นั่ง สายตาก็ได้สะดุดภาพผู้หญิงคนหนึ่งนั่งเยี่ยมหน้าอยู่ตรงช่องหน้าต่างรถ หล่อนไม่ใช่สาวรุ่นๆ คะเนอายุเห็นจะเกินกว่า ๒๐ แต่ยังสวยไม่จืดตา และมากกว่านั้นยังมีทรวดทรงเป็นเสน่ห์ก่อกวนใจ ถึงกับข้าพเจ้าต้องนึกบอกตัวเองในทันทีทันใดนั้นว่า “เราเห็นจะได้เพื่อนเดินทางที่ช่วยสร้างความเพลิดเพลินเจริญใจให้ได้ไม่น้อย”

ตรงข้ามกับที่หล่อนนั่งยังมีที่ว่าง ข้าพเจ้าจึงตรงเข้าไปยึดเอาไว้ด้วยความตั้งใจจะสังเกตดูหล่อนโดยใกล้ชิด ตลอดทั้งการแต่งเนื้อแต่งตัวของหล่อนและทุกอิริยาบถเคลื่อนไหว ไม่แสดงว่าหล่อนเป็นคนหลุกหลิกและล้าสมัย ที่สุดหล่อนก็ได้หยิบสมุดพกเล็กๆ ออกมาจากกระเป๋าถือ และเริ่มเขียนข้อความอะไรลงไปขยุกขยิก สงสัยจะเป็นบันทึกประจำวัน แต่เมื่อข้าพเจ้าแสร้งชะโงกหน้าชำเลืองตาไปมองดู จึงได้เห็นคำกลอนภาษิต คล้ายจะย้ำความรู้สึกภายในของตัวเอง และต่อจากนั้นก็ดูเหมือนหล่อนจะจมอยู่ในความคิดฝัน

“เป็นนักประพันธ์หรือนักศึกษาอย่างไรกันแน่” ข้าพเจ้าต้องนึกบอกตัวเองอีกครั้งหนึ่ง “แต่ดูหน้าตาของหล่อนไม่บอกว่าจะเป็นอะไรสักอย่างใน ๒ ประการนั่น”

เพื่อที่จะให้หล่อนแลเห็นรสนิยมของตัวเองบ้าง ข้าพเจ้าได้เปิดกระเป๋าเดินทาง เลือกหยิบหนังสือเล่มหนึ่งที่เตรียมไว้เป็นเพื่อนแก้เหงาระหว่างทางออกมาวางไว้บนตัก เป็นหนังสือที่เปิดเผยมุมมืดต่างๆ ในสังคม โดยประพันธกรมีชื่อแห่งยุคคนหนึ่งนำมาเขียนตีแผ่ไว้อย่างไม่หวั่นเกรงต่ออิทธิพลใดๆ

ได้สังเกตว่าหล่อนแอบชำเลืองมองดูชื่อหนังสือที่ปรากฏอยู่บนหน้าปก ในขณะที่ข้าพเจ้าทำสาละวนปิดกระเป๋าเดินทาง แล้วหล่อนก็หันไปเลือกหยิบนิตยสารบางฉบับซึ่งคงจะได้ซื้อไว้ตอนก่อนจะขึ้นรถและพลิกอ่านดูเฉพาะหน้าที่เสนอข่าวสังคม ข้าพเจ้าได้รออยู่จนกระทั่งหล่อนอ่านจบ และปิดนิตยสารฉบับนั้นวางลงข้างกาย จึงก้มศีรษะให้หล่อนพร้อมกับเอ่ยขึ้นเป็นประโยคแรก

“ขอโทษครับ, คิดว่าคุณคงไม่รังเกียจถ้าผมจะขอยืมนิตยสารฉบับนั้นอ่านดูบ้าง?”

“อ๋อ, เชิญค่ะ” หล่อนมีคำตอบเพียงสั้นๆ

“และคุณคงไม่รังเกียจเช่นเดียวกันที่ผมจะขอแลกกันอ่านกับคุณด้วยหนังสือเล่มนี้”

“ขอบคุณค่ะ ถ้าเป็นเรื่องสนุกดิฉันก็ยินดี”

“วิเศษยิ่งกว่านั้นเสียอีกครับ ทั้งสนุกและได้ความรู้เท่าทันมนุษย์ เป็นศิลปอันสูงของผู้ประพันธ์ที่เป็นคนรักความจริง”

หล่อนรับหนังสือไปจากมือข้าพเจ้า และเริ่มเปิดอ่านอย่างสนใจ ข้าพเจ้าได้เห็นรอยยิ้มปรากฏขึ้นบนใบหน้าของหล่อนเกือบตลอดเวลา จึงเอ่ยดักเอาใจหล่อนขึ้นอีก

“เห็นจะเป็นที่ถูกใจของคุณ”

“ค่ะ” หล่อนผงกศีรษะตอบ “ดิฉันชอบอ่านเรื่องสนุกๆ มากกว่าเรื่องเศร้าๆ เพราะมันทำให้อารมณ์ของดิฉันพลอยผันแปรไปด้วย”

น้ำแข็งละลายแล้ว หลังจากนั้นหล่อนและข้าพเจ้าต่างมีการสนทนาต่อกันอย่างเปิดเผย ข้าพเจ้าได้รับทราบว่าหล่อนเป็นภรรยาของข้าราชการคนหนึ่ง ซึ่งถูกทางราชการสั่งย้ายไปประจำอยู่จังหวัดสิงห์บุรีเมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้ และสามีของหล่อนได้เดินทางไปรับมอบหมายการงานแล้วล่วงหน้า ส่วนหล่อนเพิ่งจะติดตามเขามาภายหลัง มากกว่านั้น ข้าพเจ้ายังจับได้ว่าหล่อนไม่ค่อยรักสามีของหล่อนเท่าไรนัก แต่ก็เช่นเดียวกับผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้วส่วนมาก จำต้องสงบอยู่ในกรอบของประเพณีและบำเพ็ญตนเป็นแม่บ้านที่ดีของเขา การที่หล่อนต้องเดินทางติดตามไปอยู่ร่วมชีวิตเดียวกันกับเขายังจังหวัดที่อยู่ห่างไกลจากสูนย์กลางของความเจริญ ก็เป็นการจำเป็นจำใจอย่างหนึ่ง แท้จริงนั้นหล่อนสมัครใจจะอยู่ในพระนครมากกว่า เพราะญาติพี่น้องทั้งมวลของหล่อนก็มีพำนักหลักแหล่งอยู่ด้วยกัน

“ดิฉันรู้สึกว่าที่ไหนๆ ก็สู้ในพระนครไม่ได้ จริงไหมคะ?” หล่อนเอ่ยถามขึ้นในตอนหนึ่ง

“ถามอย่างนี้ไม่มีใครปฏิเสธคุณได้แน่ !” ข้าพเจ้าสนองตอบ

หล่อนเริ่มพูดถึงความสนุกสนานที่เคยได้รับขณะอยู่ในพระนคร เป็นทำนองคล้ายจะรำพันความรู้สึกของหล่อนในการเดินทางเหมือนกับกำลังจากที่อันสว่างแจ้งไปสู่ที่มืดด้วยความอาลัยอาวรณ์อย่างยิ่ง หล่อนไม่ได้ปรารถนาหรือมีศรัทธาแต่สักนิด ความหลงใหลใฝ่ฝันของหล่อนดังนี้เอง ทำให้ข้าพเจ้าต้องนึกบอกตัวเองอีกว่า

“เราได้พบจุดที่จะโจมตีหล่อนอยู่ตรงนี้เอง ! หล่อนช่างหลงพระนครและดิ้นรนที่จะให้ได้รับรสแห่งความหลงสมใจต้องการ ไม่ผิดอะไรกับนกน้อยในกรงขังจะพึงดิ้นรนเพื่อการได้โผผินไปตามที่ต่างๆ โดยเสรี หรือเช่นเดียวกับผู้หญิงสาวๆ ตามชนบทที่คิดริษยาต่อความสนุกสำราญตามที่ตนได้สร้างขึ้นในมโนภาพ จนต้องตกเข้าไปในบ่วงมารเพราะความทะเยอทะยานของตน”

“คุณมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างคะ ในส่วนที่เกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองของพระนคร?” ได้ยินเสียงหล่อนเอ่ยถามขึ้นอีก

ต่อคำถามของหล่อนประโยคนี้ ข้าพเจ้าอยากจะร้องไห้มากกว่า ช่างน่าสงสารที่หล่อนมองเห็นแต่ด้านดีด้านเดียว จนไม่ได้เฉลียวใจคิดถึงความจริงข้อหนึ่งที่ว่า ความเจริญในที่ใด ยิ่งมีมาก ความสกปรกโสมมในที่นั้นก็ย่อมมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ไม่ทันที่ข้าพเจ้าจะได้เปิดปากกล่าวคำใด หล่อนคงพูดต่อไปฉอดๆ ชั่วเวลาเพียงครู่เดียว ข้าพเจ้าก็ได้รับรู้ว่าหล่อนชอบอ่านหนังสือประเภทใดบ้าง ตลอดจนประพันธกรคนใดเป็นที่โปรดปรานของหล่อน แต่ละคนที่หล่อนเอ่ยนามของเขา ล้วนเป็นผู้มีชื่อเด่นแห่งยุค และคนหนึ่งในจำนวนนั้นได้ทำให้ญาติผู้หญิงของหล่อนคนหนึ่งคลั่งไคล้ถึงกับเขียนจดหมายไปถึง ค่าที่เขาสามารถวาดลักษณะและแนวชีวิตตัวสำคัญในบทประพันธ์ของเขาไว้ละม้ายคล้ายคลึงกับชีวิตจริงของตน

หล่อนได้พูดถึงดาวหนังดาวละครที่อยู่ในความนิยมของหล่อน พูดถึงงานสังคมที่หล่อนเคยไปปรากฏตัวอยู่ ออกเอ่ยนามของรัฐมนตรีบางท่าน ผู้แทนราษฎรและคหบดีบางคนที่หล่อนเคยมักคุ้นหรือวิสาสะ ตลอดเวลา ๑ ชั่วโมงที่ผ่านไป ข้าพเจ้าต้องคอยตอบคำถามของหล่อนไม่หยุดหย่อน รู้สึกว่าเป็นที่ถูกอกถูกใจหล่อนมาก แล้วต่อจากนั้นก็ถึงคราวที่ข้าพเจ้าจะได้เล่าถึงความรู้เห็นของตัวเองให้หล่อนฟังบ้าง เป็นการตอบแทนกัน

ข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องราวต่างๆ ทั้งในด้านที่งามบรรเจิดราวกับแดนสวรรค์ และในด้านตรงกันข้ามที่เป็นประดุจแห่งนรก เกี่ยวกับเรื่องที่เราเรียกกันว่าความรัก การวิวาทบาดหมางถึงฆ่าฟันกันตาย พฤติการณ์ที่น่าอัปยศอดสู…รู้สึกว่าหล่อนตั้งอกตั้งใจฟังอย่างจริงจัง เปรียบกับนักดื่มก็ดื่มอย่างกระหาย หรืออย่างจะกระจะกราม หลายต่อหลายครั้งที่หล่อนได้เปล่งเสียงร้องอุทาน

“เป็นไปได้ถึงเพียงนั้นเทียวหรือคะ ? เขาทำกันอย่างนั้นจริงๆ หรือ ?”

ข้าพเจ้าคงได้แต่ผงกศีรษะรับและยิ้มอย่างแฝงนัย…

“เห็นจะมีก็แต่คนปัญญาทึบ หรือชาวชนบทที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญของอารยธรรมแผนใหญ่เท่านั้น ที่ยังคงรักษาความบริสุทธิ์สะอาดของตนอยู่ได้โดยปราศจากมลทินมัวหมอง และเฝ้าริษยาต่อความสำเริงสำราญของบุคคลเหล่านั้นอยู่เงียบๆ นอกจากนั้นแล้วจะหาที่บริสุทธิ์สะอาดจริงๆ ได้ยาก”

เหมือนกับคนตัดต้นไม้ที่เหวี่ยงขวานจะโค่นต้น หนแล้วหนเล่า ข้าพเจ้าเริ่มใช้ความพยายามเจาะโพรงลึกลงไปหมายจะขุดรากแก้วได้ พูดถึงคนเราเกิดมาแล้วต้องเดินทางไปสู่หลุมฝังศพโดยหารสชาติอะไรไม่ได้เลยในชีวิต ก็มีจำนวนหาน้อยไม่ คนเหล่านั้นไม่รู้ว่าการมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร เขาไม่รู้จักความรัก ไม่รู้จักความสนุกในการเล่นชู้ (ตรงนี้ข้าพเจ้าเน้นสำเนียงหนัก เพราะรู้ว่าจะทำให้หล่อนเกิดความกระเทือนใจ)…เขาไม่ได้ลิ้มรสผลไม้ที่ต้องห้าม…

ข้าพเจ้าได้เปิดแผลสุดท้ายด้วยการยกตัวอย่างประกอบ เล่าให้หล่อนฟังถึงพฤติการณ์อันน่าทึ่งในที่ลับตาคน เช่นในห้องรับประทานอาหารตามภัตตาคารต่างๆ ความตื่นเต้นในการเล่นรักแบบแมวขโมยปลาย่าง…

เสียงหวูดรถไฟดังสนั่นอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับที่เรารู้สึกว่ารถค่อยชะลอความเร็วลง คู่สนทนาสาวสวยของข้าพเจ้าชะโงกหน้าออกไปนอกหน้าต่างแล้วหันมาร้องบอก

“ถึงลพบุรีแล้วค่ะ”

ข้าพเจ้าต้องถอนใจลึกด้วยความเสียดาย และอดนึกไม่ได้ว่ารถช่างแล่นเร็วเกินต้องการ แต่ไม่มีเวลาสำหรับความโอ้เอ้ เราต่างเตรียมตัวลงจากรถ ข้าพเจ้าคงเดินตามหล่อนลงสู่ชานชาลาที่นั่น หล่อนได้หันมาบอกข้าพเจ้าด้วยท่าทางอันกะปรี้กะเปร่า

“ดิฉันจะต้องแวะเยี่ยมเพื่อนเสียก่อน เขาเป็นครูอยู่จังหวัดนี้และได้สามีอยู่ที่นี่ สวัสดีนะคะ”

“สวัสดีครับ หวังว่าผมจะได้พบคุณอีกที่สิงห์บุรี”

หล่อนได้ตอบให้ความหวังแก่ข้าพเจ้า แล้วกระพุ่มมือขึ้นไหว้อำลา ข้าพเจ้าคงยืนมองตามหลังหล่อนอย่างงงๆ ขณะที่หล่อนผละห่างออกไปเป็นครู่ใหญ่จึงยักไหล่ให้แก่ตัวเอง แล้วออกเดินเลี้ยวไปสู่ตลาด

เสร็จจากการหาอาหารรับประทานจนเพียบแปล้ ข้าพเจ้าได้เที่ยวหาว่าจ้างเรือแจวเพื่อเดินทางต่อไป แต่ขณะที่ข้าพเจ้าไปถึงเป็นหน้าน้ำน้อย และเป็นเวลาบ่ายมากแล้ว ครั้งแรกไม่มีเรือลำใดตกลงจะไปด้วย ข้าพเจ้าต้องลงทุนอ้อนวอนและชี้แจงความจำเป็นให้เขาฟัง จึงมีเรือลำหนึ่งรับอาสา แต่ได้ขอค่าจ้างแพงกว่าปกติเล็กน้อย ซึ่งข้าพเจ้าก็ยินยอมตกลงโดยทันที

หลังจากลงไปนั่งอยู่ในประทุนเรือ และเจ้าของเรือเตรียมจะออกจากท่า โดยเมียพายหัวผัวแจวท้าย ก็มีเสียงร้องถามลงมาจากบนฝั่ง

“เรือลำนั้นจะไปเมืองสิงห์ไม่ใช่หรือคะ?”

“จ้ะ”, เมียเจ้าของเรือร้องตอบ

“ขอให้ดิฉันโดยสารไปด้วยสักคนได้ไหมคะ?” คนบนฝั่งร้องถามลงมาอีก

“มีผู้จ้างเหมาเสียแล้วนี่จ้ะ” เมียเจ้าของเรือกล่าวปฏิเสธตามมรรยาท

“เอ งั้นดิฉันจะทำอย่างไรดี?” คนบนฝั่งพูดเชิงปรารภกับตัวเอง “ไม่มีเรือลำไหนออกเสียด้วย”

ข้าพเจ้ามองลอดออกไปทางช่องประทุนเรือ และอดปลื้มใจจนตัวเบาเสียมิได้ เจ้าของเสียงแจ้วๆ ที่ยืนอยู่บนตลิ่ง คือสาวสวยเพื่อนร่วมเดินทางบนรถไฟและที่ได้เคยวิสาสะต่อกันมาแล้ว ถ้ากระนั้นก็หมายความว่าเราจะได้ร่วมการเดินทางโดยทางเรือไปด้วยกันอีก โชคช่างบันดาลเข้าข้างข้าพเจ้ากระไรเช่นนี้ !

ก่อนที่ข้าพเจ้าจะทำอย่างหนึ่งอย่างใด ชายเจ้าของเรือซึ่งอยู่ตอนท้ายได้นั่งยองๆ ลงและพูดเข้ามาในประทุนเรือ

“ให้ผมรับไปด้วยอีกคนจะรังเกียจไหมครับ เป็นผู้หญิงเสียด้วย น่ากลัวจะลำบาก”

แน่นอนที่ข้าพเจ้าจะต้องตอบไม่ขัดข้อง พร้อมกับโผล่หน้าออกไปให้หล่อนเห็น ซึ่งทำให้หล่อนต้องอุทานด้วยความดีใจ

“คุณนี่เอง !”

ข้าพเจ้าจัดที่จะให้หล่อนนั่งตอนท้ายเมื่อหล่อนก้าวลงมาในเรือ แต่หล่อนไม่ยอม ขอนั่งอยู่ตอนหัวโดยมีกระทงเรือกั้น ซึ่งข้าพเจ้าก็คงไม่อาจขัดความประสงค์ของหล่อน จากนั้นจึงได้รับรู้ว่าเหตุที่หล่อนต้องรีบร้อนไปสิงห์บุรีในวันเดียวกัน เพราะปรากฏว่า เพื่อนที่หล่อนแวะไปเยี่ยมได้สวนทางเข้าพระนคร การจะโอ้เอ้พักค้างแรมคืนอยู่ที่ลพบุรีสำหรับผู้หญิงตัวคนเดียวเช่นหล่อนจึงเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย หล่อนได้ออกปากจะขอช่วยชำระค่าจ้างเรือแก่ข้าพเจ้าคนละครึ่ง ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าต้องหัวเราะด้วยรู้สึกขบขันและบอกแก่หล่อนว่า

“ถ้าคุณจะให้ก็ให้เป็นรางวัลแก่เจ้าของเรือเขาดีกว่า”

การเดินทางโดยทางเรือในหน้าน้ำน้อยเช่นนั้นช่างเต็มไปด้วยความขลุกขลักสิ้นดี ปรากฏว่าพอเรือออกจากท่าไปได้ครู่ใหญ่ก็ติดตื้น แม้คนเรือจะถอดแจวค้ำไปตามทางน้ำกลางคลอง เรา – ข้าพเจ้ากับเพื่อนร่วมเดินทางต้องขึ้นจากเรือเดินลุยไปตามพื้นทราย ปล่อยให้เจ้าของเรือช่วยกันเข็นเรือไปจนกว่าจะพ้นตื้นจึงได้กลับไปลงนั่งกันใหม่ แต่ชั่วระยะเวลาเท้าไม่ทันจะแห้ง เรือก็ติดตื้นอีก และเราต้องขึ้นจากเรือเดินลุยทรายพื้นคลองคุยกันต่อไป เป็นอยู่ดังนี้ตลอดทางจนแทบจะกล่าวได้ว่า เรามีเวลานั่งเรือน้อยกว่าการเดินลุยพื้นทรายเสียอีก บางครั้งกว่าจะพ้นตื้นก็หลายเส้น และเรานึกสนุกเข้าช่วยเจ้าของเรือเข็นเรือก็มี แต่แทนที่เราจะเกิดความรำคาญ กลับเห็นเป็นการเผชิญภัยย่อยๆ ซึ่งทำให้อารมณ์ของเราร่าเริงอยู่ตลอดเวลา และด้วยเหตุนี้เอง ความมักคุ้นในระหว่างข้าพเจ้ากับเพื่อนสาวผู้ร่วมการเดินทางที่มีเป็นทุนเดิมอยู่บ้างแล้ว จึงกระชับแน่นหนายิ่งขึ้น

เรือถึงบ้านท่าวุ้งประมาณครึ่งทางจากลพบุรีไปสิงห์บุรีเป็นเวลาพลบค่ำพอดี ตอนนี้เองเจ้าของเรือได้แสดงตนให้เรารู้จักว่า เป็นชาวบ้านท่าวุ้ง พร้อมทั้งชี้แจงให้ฟังว่าการจะดึงดันเดินทางต่อไปให้ถึงสิงห์บุรีในเวลาค่ำคืนเช่นนั้นหาความปลอดภัยไม่ได้ เกรงโจรจะลุยทรายลงมายึดเรือปล้นเอาง่ายๆ และปรากฏว่าได้มีอยู่บ่อยๆ ทางที่ดีเราควรจะพักค้างแรมคืนที่บ้านท่าวุ้งชั่วคืนหนึ่งก่อน แต่เช้ามืดจึงค่อยออกเดินทางต่อไป ไม่ทันสายก็จะถึง คำบอกเล่าของสองผัวเมียเจ้าของเรือทำให้ข้าพเจ้ากับเพื่อนสาวผู้ร่วมการเดินทางต้องมองดูตากัน นิ่งอึ้งไปชั่วพัก แต่เมื่อไม่มีทางอื่นใดก็เป็นเรื่องที่ต้องจนปัญญา

เจ้าของเรือได้แสดงความอารีโดยชวนเราขึ้นไปค้างแรมบนเรือน แต่ทั้งข้าพเจ้าและหล่อนต่างปฏิเสธ เย็นวันนั้นเราคงได้อาหารที่ข้าพเจ้าขึ้นไปเที่ยวซื้อจากร้านค้าเล็กๆ บนฝั่งมารับประทานกันไปตามมีตามเกิด และได้น้ำในลำคลองลูบไล้ชะโลมผิวกายพอคลายร้อนอย่างขอไปที

บัดนี้เราคงอยู่ด้วยกันตามลำพังสองต่อสองในประทุนเรือ ซึ่งมีความสว่างเพียงตะเกียงกระป๋องที่เจ้าของเรือปรานีจุดไว้ให้ก่อนจะขึ้นไปบนเรือน ข้าพเจ้าได้เริ่มเล่าให้หล่อนฟังถึงชีวิตในมุมต่างๆ ต่อไปอีก ชีวิตที่น่าอภิรมย์ ชีวิตที่โลดโผนโจนทะยานเท่าที่ได้เห็นมีอยู่ดาดดื่นในพระนคร ยิ่งเล่าจิตใจก็ยิ่งเกิดความกล้า และยิ่งเกิดความหวั่นไหวขึ้นในอารมณ์ เวลาล่วงไปเป็นลำดับ ความมืดยิ่งเข้มข้นหนักขึ้น เมื่อแสงไฟที่แลเห็นสว่างวอมแวมอยู่ตามบ้านเรือนบนบกดับหายไปทีละดวงสองดวง ที่สุดแม้แต่ตะเกียงกระป๋องในเรือของเรา ลมก็ยังกระโชกพัดมาปลิดเอาความสว่างไปจากปลายไส้ เราตกลงอยู่ด้วยกันในความมืด แม้แต่ดวงตาที่เป็นประกายแจ่มใสปานดวงดาวของคู่สนทนาสาวสวย ข้าพเจ้าก็ยังไม่แลเห็น

ลมพัดโชยเอากลิ่นหอมของดอกไม้ที่พวกชาวบ้านปลูกไว้บนฝั่งมารวยริน บางครั้งก็ได้ยินเสียงสุนัขเห่ากระโชกมาจากที่ไกลๆ ชีวิตบนฝั่งกำลังเข้าสู่นิทรารมณ์ เราตะแคงตัวพิงกระทงที่กั้นกลางคนละกราบ และในความมืดนั้นเอง มือของข้าพเจ้าได้เลื่อนไปสัมผัสผิวเนื้อต้นแขนของหล่อน ลองลูบไล้เพียงเบาๆ คู่สนทนาสาวสวยของข้าพเจ้าคงนิ่งสงบอยู่เป็นปกติ แม้เมื่อข้าพเจ้าลองเปลี่ยนไปจับมือของหล่อนบีบ หล่อนก็มิได้ชักมือหนี ที่สุดข้าพเจ้าก็รู้สึกว่าเรากำลังหายใจรดหน้าซึ่งกันและกันอยู่ ด้วยลมหายใจนั้นผ่าวหูผ่าวปาก ข้าพเจ้าแทบได้ยินหัวใจของหล่อนเต้นระทึกอยู่ภายใน

ไม่มีปัญหาอะไรเหลืออยู่เลยที่ข้าพเจ้าจะข้ามกระทงเรือไม่พ้น

แต่ทันใดที่ข้าพเจ้าจูบต้นคอของหล่อน รู้สึกว่าหล่อนสะดุ้งเยือกเหมือนกับเพิ่งตื่นจากหลับ…ข้าพเจ้าไม่เคยนึกเลยจริงๆ ว่าหล่อนอยู่ในห้วงนิทรารมณ์ !… และก่อนที่ข้าพเจ้าจะทันรู้สึกว่ามีอะไรบังเกิดขึ้น หล่อนได้ทุบข้าพเจ้า ๕-๖ ครั้ง เป็นการทุบที่เหมือนหนึ่งจะเชื้อเชิญ ! ข้าพเจ้าพยายามจะรวบมือของหล่อนไว้ท่ามกลางความมืด แต่หล่อนขัดขืนเบี่ยงบ่ายเสียทุกครั้ง จนที่สุดข้าพเจ้าอดโมโหมาแทบไม่ไหว ประกอบกับเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจขึ้นมาตะหงิดๆ จึงแกล้งหันหลังพิงกระทงเรือให้หล่อน

ดูเหมือนหล่อนจะเข้าใจในท่าทีของข้าพเจ้าและได้ทุบหลังข้าพเจ้าอีก ๒-๓ อึกก็หยุดไป

หลังจากนั้นอีกราวครึ่งชั่วโมง ข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงหล่อนร้องไห้กระซิกๆ ราวกับได้รับความขมขื่นแสนสาหัส จนไม่อาจหักห้ามได้ เสียงร้องไห้ของหล่อนบาดลึกเข้าในหัวใจข้าพเจ้า ลำลำจะหวนเข้าปลอบประโลมใจ และขอโทษขอโพยต่อการที่ได้ล่วงเกินหล่อน แต่รู้สึกว่าการกระทำเช่นนั้นจะเป็นการน่าเกลียดอย่างใหญ่หลวงจึงงดไว้ ที่สุดหล่อนก็หยุดร้องไห้ไปเอง และโดยเหตุที่เราต่างคนต่างได้รับความเหน็ดเหนื่อยอยู่ด้วยกัน ไม่ช้าเราก็ต่างขดตัวหลับไหลอยู่ในที่ของตน

พอแสงเงินแสงทองเบิกฟ้าขึ้นมาทางเบื้องบูรพาทิศ เจ้าของเรือผัวเมียก็ตื่นจากที่นอนมาลงเรือ และเริ่มการเดินทางต่อไป ข้าพเจ้าได้สังเกตว่าตลอดคืนที่ผ่านมา เพื่อนร่วมเดินทางผู้ทรงเสน่ห์ของข้าพเจ้าคงจะไม่ได้หลับนอนเท่าไรนัก นอกจากจะแกล้งทำเป็นนอนนิ่งอยู่กระนั้นเอง เมื่อหล่อนทรงตัวลุกขึ้นนั่งในตอนเช้า ข้าพเจ้าจึงได้เห็นรอยร่วงโรยบนใบหน้าของหล่อนอย่างชัดเจน แต่เมื่อมองสบตากัน ใบหน้าของหล่อนก็ยังไม่วายขึ้นสีเลือด หลบตาข้าพเจ้าแล้วไถลไปถามภรรยาเจ้าของซึ่งอยู่ตอนหัว

“อีกนานมากไหมคะ คุณน้า กว่าจะถึงเมืองสิงห์?”

“ก็เห็นจะน้องๆ เพลแหละจ้า”

“แหม, นอนในเรือนี่เมื่อยขบไปหมดทั้งตัว” หล่อนพูดเปรยๆ ต่อไป

“ไม่ฟังหรอกจ้ะ, ที่มันคับแคบ” ภรรยาเจ้าของเรือกล่าวตอบ

“แต่พอถึงเมืองสิงห์ คุณก็คงจะหายเมื่อยเป็นปลิดทิ้ง” ข้าพเจ้าอดไม่ได้ที่จะพูดจายั่วเย้า

“พูดอะไรก็ไม่รู้ !”

หล่อนเพียงแต่ทำสะเทิ้นอายเพียงเล็กน้อย ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าต้องนึกชมในความเยือกเย็นของหล่อนอยู่ในใจ เปรียบกับนักแสดงละคร หล่อนก็เป็นตัวแสดงที่เก่งที่สุดคนหนึ่ง

การเดินทางในตอนครึ่งหลังนี้เร็วกว่าครึ่งแรก มีติดตื้นอยู่บ้างในตอนต้นๆ ต่อไปคนเรือก็สามารถแจวและพายได้ตลอดจนกระทั่งออกสู่แม่น้ำใหญ่ และข้ามฟากไปเมืองสิงห์ หล่อนได้บอกคนแจวเรือให้แวะส่งที่ตลาด ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้พลอยตามหล่อนขึ้นไปด้วย และนับเป็นเคราะห์ดีของหล่อน พอพ้นท่าเรือข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงหล่อนร้องออกมาเต็มเสียง

“คุณพี่คะ !”

พร้อมกันนั้นหล่อนได้โผเข้าไปเกาะแขนผู้ชายคนหนึ่งไว้ เขาหันมารับขวัญหล่อนด้วยความดีใจ ขนาดเนื้อเต้นเห็นได้ถนัด จากท่าทีแสดงต่อกัน ไม่ได้ทำให้ข้าพเจ้าสงสัยเลยว่า ผู้ชายคนนั้นจะไม่ใช่สามีของหล่อน

“แหม, เคราะห์ดีจังค่ะที่ได้พบคุณพี่พอเหมาะ” หล่อนฉอเลาะอย่างเบิกบาน “ดีใจบ้างไหมคะที่เราได้พบกันอีก?”

ข้าพเจ้าหิ้วกระเป๋าเก้กัง และมองหาทางที่จะไป พอดีหล่อนหันมาร้องเรียก

“อ้าว, คุณจะแยกทางไปเฉยๆ ยังงั้นหรือคะ?” แล้วหล่อนก็หันไปทางสามี” คุณพี่ควรจะขอบใจคุณไว้มากๆ เป็นเพื่อนเดินทางที่มีน้ำใจอารีต่อดิฉันอย่างหาได้ยาก ถ้าดิฉันไม่ได้รับความเอื้อเฟื้อให้โดยสารเรือมาด้วย ดิฉันก็เห็นจะตกค้างอยู่ที่ลพบุรีอีกคืนหนึ่ง จะลำบากอย่างไรก็ไม่รู้ แต่คุณพี่คะ ดิฉันมักโชคดีได้พบผู้ร่วมการเดินทางล้วนแต่คนที่น่านับถือทั้งนั้น ไม่ใช่หรือคะ?”

สามีของหล่อนได้แสดงคารวะต่อข้าพเจ้า และเยินยอบุญคุณมากมาย ตลอดเวลาฝ่ายภรรยาคงยืนจ้องมองดูข้าพเจ้าพร้อมกับยิ้มละไมอยู่ในหน้า

ข้าพเจ้ายอมสารภาพว่าในชีวิตก็เพิ่งจะรู้สึกบัดซบที่สุดหนนี้เอง !

(พ.ศ. 2496)


พิมพ์ครั้งแรก: เพลินจิตต์พิเศษ เล่มที่ 13 นิตยสารรายเดือน: พฤษภาคม พ.ศ. 2496
นายเวช กระตุฤกษ์ เจ้าของและผู้อำนวยการ
นายเอื้อม รุจิดิษ บรรณาธิการ
นายนิยม โรหิตเสถียร บรรณาธิการผู้ช่วย

หมายเหตุ: วรรคตอน สำนวนภาษา สะกดการันต์ ได้คงไว้ตามเดิม เช่น ‘จะกระจะกราม’ ที่คงหมายถึงคำว่า ‘ตะกละตะกลาม’ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นการปรูฟผิด หรือสมัยนั้นใช้กันแบบนั้น

ขอบคุณ: ปีติ วิริยะ ที่ช่วยถ่ายเอกสารบทความของ ‘ส.พลายน้อย’ จากหนังสือ เล่าเรื่องนักเขียนดังในอดีต ของสำนักพิมพ์คอหนังสือ มาให้ใช้เป็นข้อมูล

Author

สุชาติ สวัสดิ์ศรี
นักเขียนไทยกว่าครึ่งค่อน โดยเฉพาะสายวรรณกรรมสร้างสรรค์ ทั้งผลิตเรื่องสั้นและนวนิยายในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา แทบปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วน ‘ผ่านมือชาย’ ที่ชื่อสุชาติ สวัสดิ์ศรี ผู้เป็นเสมือนครูใหญ่แห่งโรงเรียนวรรณกรรมไทยโดยแท้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า