ภู กระดาษ: “เครื่องมือของผมคือภาษา” เสียงแห่งความเป็นอื่นต้องมีที่ยืนในสังคมแห่งความหลากหลาย

‘ภู กระดาษ’ คือนามปากกาของ ถนัด ธรรมแก้ว นักเขียนจากอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เจ้าของผลงานเขียน ไม่ปรากฏ (2556) ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ (2558) ชั่วโมงก่อนพิธีสวนสนาม (2559) 24-7/1 (2563) และโดยเฉพาะนวนิยาย เนรเทศ (2557) ที่เพิ่งได้รับรางวัล ‘English PEN Awards’ หรือทุนแปลเป็นภาษาอังกฤษที่มอบให้แก่นักเขียนจากประเทศต่างๆ 19 ประเทศทั่วโลก

งานเขียนของ ภู กระดาษ ส่งเสียงเล่าเรื่องของคนจากแดนอีสานที่ใช้ทั้งตัวละครและน้ำเสียงแบบท้องถิ่น จงใจบ่อนเซาะการครองอำนาจนำของภาษาไทยกลางอย่างแยบคาย โดยเฉพาะนวนิยายเรื่อง เนรเทศ ที่แม้จะอ่านยากมากจนกระทั่งเจ้าตัวก็ยังเอ่ยปากยอมรับ แต่นั่นก็เป็นเสน่ห์ที่ทำให้นิยายเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 (ปี 2557 และ 2559) และเป็นผลงานที่ถูกส่งเข้าชิงรางวัลซีไรต์ประจำปี 2558 จนล่าสุดได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ 

นอกจากงานเขียนของเขาจะใช้ภาษาที่แปร่งหู เนื้อหายังฉายภาพชีวิตของคนธรรมดาสามัญผู้ใช้แรงงานทำมาหาเลี้ยงชีพ จนต้องเนรเทศตัวเองจากบ้านเกิดไปยังเมืองใหญ่ๆ ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานเพียงไม่กี่แห่งของประเทศนี้ และในระหว่างทางยังมีเรื่องเล่ายิบย่อยที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับเส้นเรื่องหลัก แต่หากพิจารณาแล้วก็จะเห็นว่า เรื่องราวเล็กๆ เหล่านั้นล้วนประกอบกันเป็นจิ๊กซอว์ของภาพใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นความพยายามของรัฐสมัยใหม่ที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบรวมศูนย์ จนละเลยดินแดนชายขอบและผลักไสผู้คนจำนวนมากให้กลายเป็นคนชายขอบที่แทบจะไม่ถูกรับรู้ในสังคมไทย

ชะตากรรมอันแสนเศร้าภายใต้ธงไทยไตรรงค์ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะมนุษย์เท่านั้น หากยังเกิดขึ้นกับ ‘ผี’ อีกด้วย แต่ผีของ ภู กระดาษ ไม่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ไม่ได้แลบลิ้นปลิ้นตาหลอกคน หรือไม่มีอิทธิฤทธิ์หักคอใคร ซึ่งเอาเข้าจริงก็แทบไม่ต่างจากคนไร้อำนาจที่แม้จะตายกลายเป็นผีไปแล้วก็ยังไม่มีอำนาจอยู่วันยังค่ำ

WAY ถือโอกาสพูดคุยกับ ภู กระดาษ ผู้ยืนยันถึงเสรีภาพในการแสดงออกของนักเขียนที่แม้จะต้องเผชิญหน้าอำนาจมืดของระบอบเผด็จการ แต่หน้าที่ของคนในโลกวรรณกรรมคือ การลงมือเขียนและถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นออกมาอย่างสัตย์จริงด้วยเครื่องมือของภาษาและตัวอักษร

ภู กระดาษ เข้าสู่เส้นทางการเป็นนักเขียนได้อย่างไร

ผมเริ่มต้นจากการอ่านหนังสือ ตอนเป็นเด็กผมก็อ่านหนังสือในห้องสมุดโรงเรียน ซึ่งก็จะมีแต่หนังสือภาษาไทย ผมอ่านงานเขียนทุกแนว ตั้งแต่งานแนวซีเรียส โรแมนติก นิยายเล่มละ 5-10 บาท ไปจนถึงการ์ตูน เมื่ออ่านมากเข้าผมก็คิดว่า เออ เขียนแบบนี้เราก็เขียนได้นี่หว่า แต่ตอนนั้นยังเด็กก็เลยไม่รู้ว่า เอาเข้าจริงแล้วมันก็เขียนยากพอสมควร

ในวัยเด็กผมแทบไม่ได้ดูทีวีเลย เพราะสมัยนั้นทั้งหมู่บ้านน่าจะมีทีวีเพียง 3 เครื่อง ซึ่งต้องเสียเงินให้เจ้าของบ้านด้วยถึงจะได้ดู ถ้าเป็นหนังใหญ่ก็ต้องรอหนังขายยาหรือหนังกลางแปลง ต้องรองานบุญฉลองโบสถ์ ฉลองศาลา หรืองานศพ อะไรทำนองนี้ที่เจ้าภาพเขาจ้างหนังมาฉาย หนังสือจึงเป็นสิ่งบันเทิงเพียงไม่กี่อย่างของผม มันแปลกใหม่และเสริมสร้างจินตนาการได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นก็ฟังเพลง ฟังนิทานจากคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ และน้าๆ สิ่งเหล่านี้กระตุ้นจินตนาการให้ผมอยากถ่ายทอดเรื่องราวออกมาให้ได้เหมือนอย่างเขาบ้าง และยังเป็นตัวจุดประกายให้ผมลงมือเขียนหนังสือ

ปัจจัยเหล่านี้ผลักดันให้ผมเริ่มศึกษาค้นคว้าและอ่านมากขึ้น เพื่อพัฒนาการเขียนของตน ซึ่งกว่าที่ผมจะพอเริ่มรู้อะไรบ้างก็น่าจะเป็นช่วงเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว เราเริ่มรู้จักสกุลหรือประเภททางวรรณกรรมเยอะขึ้น เช่น เรื่องแต่ง งานวิชาการ สารคดี วรรณกรรมทดลอง วรรณกรรมเพื่อชีวิต หรือเรื่องโรแมนติก แต่ก็ไม่มากไปกว่าสิ่งที่เด็กบ้านนอกคนหนึ่งจะรู้ได้ 

ผมอยู่บ้านนอกมาโดยตลอด เรียนโรงเรียนประจำอำเภอ เข้ามหาวิทยาลัยเล็กๆ ที่เพิ่งก่อตั้งในภูมิภาค ไม่เคยเข้าเรียน ณ ศูนย์กลางแหล่งความรู้ของประเทศอย่างกรุงเทพฯ เลย พูดให้ชัดก็คือ เราอยู่ห่างไกลจากความรู้และความเจริญทุกสิ่ง จนไม่อาจเทียบคนในเมืองได้ ที่บ้านนอกไม่มีใครมาชี้ทางสว่างให้คุณ แม้แต่จะค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเองก็แทบไม่มีแหล่งให้สืบค้น

ดังนั้นในวัย 18-20 ปี ที่ผมเริ่มหัดเขียนก๊อกๆ แก๊กๆ ก็ต้องพบว่า มันเขียนไม่ได้เลย เรามีสติปัญญาเพียงน้อยนิดอยู่แล้ว โครงสร้างยังไม่เอื้ออำนวยอีก ผมเขียนเรื่องสั้น 2 เรื่อง หลังเรียนจบแล้วลองส่งไปให้นิตยสาร แต่หลังจากนั้นก็เลิกเขียนยาวเลย ผมไปเป็นทหาร ไปทำงานหาเลี้ยงชีพ แต่ก็ยังคงอ่านหนังสือและค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ คือผมชอบสะสมหนังสือด้วยน่ะครับ

จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารปี 2549 ผมจึงกลับมาเขียนหนังสืออย่างจริงจัง ก่อนนี้ผมคิดว่าตนเองมีสติปัญญาเพียงเท่านี้ ต่อให้เขียนออกไปก็อายคนอ่านเขาเปล่าๆ แต่การรัฐประหารทำให้ผมรู้สึกว่า ทำไมประเทศไทยถึงเป็นอย่างนี้วะ มึงทำรัฐประหารกันอีกแล้วเหรอ ผมเห็นผู้คนในแวดวงวรรณกรรมและศิลปะ หรือกระทั่งแวดวงหนังไปเออออกับคณะรัฐประหารกันหมด ไม่ได้มาทางประชาธิปไตยเลย ผมไม่เข้าใจเลยว่า พวกเขาอ้างนักคิดนักเขียนต่างชาติอยู่เสมอ แต่กลับใช้ความดีความชั่วเป็นตัวตัดสินทางการเมือง จนหลงลืมหลักการ คนพวกนี้แม่งไม่รู้เป็นอะไร เห็นกันอยู่ทนโท่ว่า การรัฐประหารคือการประหารคนทั้งประเทศ แต่ก็ยังโห่ร้องแสดงความดีใจและสนับสนุนได้ลงคอ ผมจึงเริ่มเขียนหนังสือให้ไม่เหมือนกับสิ่งที่พวกเขาเขียน

photo: อติเทพ จันทร์เทศ | the101.world

ตอนนั้นเขียนเรื่องอะไร

มีเรื่อง หลง เรื่องหนึ่งแน่ๆ อีกชิ้นหนึ่งเป็นเรื่องสั้นชื่อ ยึด: เรื่องราวย่นย่อของเรื่องราวยืดยาวเรื่องหนึ่ง (2550) แล้วก็มีนิยายเรื่องหนึ่งที่ยังเขียนไม่จบ ต้องบอกว่าช่วงนั้นผมเขียนอะไรไม่ได้เยอะหรอกครับ เพราะเป็นช่วงที่เราฝึกเขียนด้วยหลังจากเขียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้มาก่อน ผมเขียนแล้วก็ขยำทิ้งอยู่อย่างนั้น เขียนไว้ 30 เรื่อง แต่เอามาใช้ได้เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น

งานเขียนของผมเริ่มลงตัวก็ช่วง 2551-2557 แล้ว งานช่วงนั้นจะมีจำนวนเยอะมาก ทั้งกลอนเปล่า รวมเรื่องสั้น หรือนวนิยาย ซึ่งงานกลุ่มนี้กลายเป็นหนังสือเกือบทั้งหมดแล้ว นอกจาก เนรเทศ (2557) กับ 24-7/1 (2563) ยังมีรวมเรื่องสั้น ปกรณัมความปวกเปียก ที่กำลังจะตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ ซอย อีกเล่มหนึ่งด้วยครับ

ทราบว่าคุณภู กระดาษ ทำงานประจำเป็นเกษตรกรในฟาร์มแห่งหนึ่ง แล้วมันเป็นอุปสรรคต่อการเขียนหนังสือไหม หรือกลับจะเป็นข้อดีด้วยซ้ำ เพราะทำให้ได้เจอชีวิตในแง่มุมอื่นๆ และหยิบจับมาเป็นวัตถุดิบในการเขียน

ผมว่ามันไม่ใช่อุปสรรคในการเขียนหนังสือ แต่กลับส่งเสริมให้ผมมีความรับผิดชอบและมีวินัยในการทำงานด้วยซ้ำ ผมอาจจะชอบแบบนี้มากกว่า มันทำให้ผมมีตารางเวลาที่ชัดเจนและบีบบังคับให้มีวินัยในการเขียน มิฉะนั้นผมก็คงจะเขียนไม่จบหรอกครับ เพราะยังต้องทำงานไปด้วย 

ช่วงแรกๆ ของชีวิตการเขียน ผมจะตื่นตั้งแต่ตี 2 เพื่อลงมือเขียนจวบจนฟ้าสางประมาณ 7 โมงเช้า จึงอาบน้ำแต่งตัวไปทำงาน เลิกงานมาผมก็ไปออกกำลังกายแล้วกลับมาอ่านหนังสือก่อนจะเข้านอน เพื่อตื่นมาเขียนต่อในเวลาตี 2 งานช่วงแรกนี้ผมจะเขียนด้วยดินสอ วันละ 2-3 หน้า ทำไปเรื่อยๆ เราก็จะเคยชินกับตารางเวลา ถ้าถามว่าทำไมต้องเป็นเวลานี้ ก็ต้องบอกว่า สมัยนั้นผมตื่นมาดูถ่ายทอดสดฟุตบอล ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกแทบทุกคู่ ผมจึงคิดว่าถ้าตื่นมาดูบอลได้ แล้วทำไมกูจะตื่นมาเขียนหนังสือตอนตี 2 บ้างไม่ได้ล่ะ แต่ระยะหลัง ผมเปลี่ยนวิธีการทำงานเหมือนกัน ผมหันมาเขียนหรืออ่านหนังสือในช่วงเย็นหลังเลิกงานบ้าง ก่อนจะไปออกกำลังกาย โดยปรับเลื่อนเวลาช่วงเช้าเป็น ตี 4 หรือตี 5 ก็ได้หากตื่นไม่ไหว เพราะอายุก็เริ่มมากขึ้น แม้ชีวิตจะเดินตามตารางเวลา แต่ผมก็สนุกกับมัน

ในทางตรงข้าม การมีงานประจำทำให้ผมไม่ต้องกังวลเรื่องต่างๆ ที่คนเขียนหนังสือขายยากๆ แนวนี้ต้องเผชิญ ผมจึงเขียนเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของผมเองก็เท่านั้น ถ้าได้เงินก็ดี แต่ถ้าขายไม่ออกก็ไม่เห็นจะเป็นไร เพราะเราได้ทำในสิ่งที่อยากจะทำแล้ว

ประเด็นถัดมาก็คือ การทำงานทำให้ผมได้พบปะและพบเห็นชีวิตคนมากหน้าหลายตา ได้สัมผัสความคิดบางประการของบางคน ซึ่งเราไม่เคยคิดในทำนองนั้นมาก่อน ตลอดจนทำให้เห็นว่า ชีวิตของเราในบางแง่กลับแทบไม่ต่างกันเลย เพราะเวียนว่ายอยู่ในระบอบเดียวกัน ผมจึงเก็บเล็กผสมน้อยมาพัฒนาเป็นคาแรกเตอร์ของตัวละครต่างๆ ในงานเขียนของผม แต่สิ่งสำคัญที่สุดเหนืออื่นใด การทำงานประจำทำให้ผมมีอิสระในการคิด การเขียน และการจินตนาการ

photo: อติเทพ จันทร์เทศ | the101.world

เนรเทศ เพิ่งได้รับรางวัล ‘English Pen Award’ ซึ่งมอบทุนในการแปลแก่หนังสือต่างๆ ทั่วโลก รางวัลนี้มีนัยสำคัญอะไรต่อ ภู กระดาษ ไหม

จะพูดไงดีล่ะ การได้ทุนแปลเป็นเรื่องที่ดีแหละ เพราะจะทำให้งานเขียนได้รับการตีพิมพ์ออกไปเป็นภาษาอื่นๆ บ้าง แต่เรียนตามตรงว่าผมไม่ได้ดำเนินการขอทุนเองหรอก ตอนเซ็นสัญญากับสำนักพิมพ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เขาก็บอกแหละว่า ลิขสิทธิ์ที่เขาซื้อมาอยากเอาไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ ทางสำนักพิมพ์จะดำเนินการเองทั้งหมด ผมก็โอเคแหละ เป็นเรื่องดีเสียอีกที่สำนักพิมพ์ได้รับทุน เพราะจะช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนค่าแปลของเขาได้เยอะครับ ผมไม่ได้เสียหายอะไร

เส้นเรื่องหลักของนิยาย เนรเทศ เป็นการเดินทางกลับบ้านของตัวละคร ซึ่งกินเวลาชีวิตและการทำงานอย่างยาวนาน แน่นอนล่ะว่ามันสะท้อนให้เราย้อนคิดถึงระบบคมนาคมของประเทศไทย แต่การเลือกใช้ ‘การเดินทาง’ มาเล่าเรื่องยังมีนัยอื่นใดอีกไหม

การเดินทางใน เนรเทศ เปรียบเสมือนประเทศไทยที่ไม่ก้าวหน้าไปไหนเลย โดยทั่วไป งานเขียนประเภทการเดินทางบนท้องถนนหรือ road trip มักเล่าเรื่องของการเดินทาง เรียนรู้ประสบการณ์ และการเติบโต แต่ผมกลับพาหักหลบไปอีกทางเลย การเดินทางของผมไม่ได้พาตัวละครไปไหน ไม่ต่างจากการคมนาคมของประเทศไทย คุณเดินทางกลับบ้านในระยะทางแค่ 400-500 กิโลเมตร แต่ต้องกินระยะเวลาเป็นวันๆ เชียว แล้วการเดินทางในเรื่องนี้ก็กลับไม่ถึงบ้านด้วยซ้ำนะ

เวลาในประเทศไทย ไม่ต่างกับเวลาที่ปรากฏในตำนานปรัมปรา เพราะมันไม่เคยมีที่สิ้นสุด ซ้ำซาก และวนเวียน เราจึงมีการรัฐประหารซ้ำๆ และการปกครองด้วยเผด็จการอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะในทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยจ่อมจมอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ไม่ไปไหนเลย เดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ ชีวิตของคนไทยก็เหมือนกับครอบครัวตัวละครเหล่านี้แหละ เพราะไม่รู้จะไปถึงจุดหมายได้หรือเปล่า 

ทุกคนย่อมรู้ว่า บั้นปลายหรือจุดหมายของชีวิตคือความสุข แต่เราต้องเดินทางอย่างทุกข์ทรมานผ่านหนทางอันขรุขระและยาวไกล โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะไปถึงหรือเปล่า นี่คือสังคมของคนไร้อำนาจ ซึ่งไม่มีทางจะรู้ได้เลยว่า ความสุขในชีวิตคืออะไร พวกเขาไม่เข้าใจสภาวะของการพ้นจากความทุกข์หรอก ไม่รู้จักแม้กระทั่งความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน ตราบใดก็ตามที่เวลาของประเทศไทยยังหมุนวนอยู่ภายใต้อุ้งมือของเผด็จการทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจอยู่แต่เพียงเท่านี้

ถ้าจะให้สปอยล์ นัยสำคัญอย่างหนึ่งของเรื่องนี้คือ รถโดยสารสาธารณะ ซึ่งคำว่า ‘สาธารณะ’ หมายถึงการอำนวยความสะดวกแก่คนหมู่มาก รถโดยสารจึงเป็นโครงสร้างขั้นพื้นฐานหรือ infrastructure ที่รัฐบาลควรพยายามสนันสนุน เพื่ออำนวยความสะดวกสบายในชีวิตและลดต้นทุนในการทำมาหากินของประชาชน ผมว่าการคมนาคม การศึกษา หรือการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเอามากๆ เลยนะ และประชาชนทุกคนก็เป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ติดอยู่เพียงแค่รัฐเท่านั้นแหละที่ต้องคิดสร้างเรื่องเหล่านี้ ผมจึงเอาเรื่องพื้นฐานเหล่านี้มาเล่า เพื่อเผยให้เห็นว่าทำไมประเทศเราแม่งไม่ไปไหนกันสักที

แม้เนื้อเรื่องจะพูดถึงการพลัดพรากจากบ้านหรือเนรเทศตัวเองไปทำงานยังเมืองใหญ่ แต่ฉากที่ปรากฏในเรื่องกลับเป็นภาคตะวันออกอย่างชลบุรีและแทบจะไม่มีกรุงเทพฯ เลย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น นี่คือความพยายามในการถอดกรุงเทพฯ ออกจากการเป็นศูนย์กลางหรือเปล่า

ถ้าถามว่าถอดกรุงเทพฯ ออกเลยไหม ผมไม่ได้ถอด กรุงเทพฯ ยังเป็นตัวดูดทรัพยากรและแรงงานของประเทศไปใช้งานแต่เพียงผู้เดียว โดยมีเมืองบริวารแค่ไม่กี่เมือง แล้วในเรื่องนี้ ผมจงใจให้เกิดขึ้นในภาคตะวันออกอย่างชลบุรีหรือระยองเป็นหลัก เพื่อจะบอกว่าประเทศไทยมันก็พัฒนากันอยู่แค่นี้แหละ 

พูดง่ายๆ อำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ถ้าไม่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็อยู่ในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรม หรือมิฉะนั้นก็อยู่ที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือแหล่งอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นแรงงานจากภาคอีสานหรือภาคเหนือก็จะต้องเนรเทศตัวเองจากบ้านเกิดไปทำงานยังเมืองต่างๆ เหล่านี้ ไปกรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง หรือข้ามไปภูเก็ต หรือทำไร่กาแฟในชุมพร เป็นต้น

ทิศทางการพัฒนาของบ้านเรามันกระจุกตัวอยู่เท่านี้ เพื่อเอื้อให้ผู้ประกอบการและนายทุน ถามว่าทำไมเมืองในภาคตะวันออกหรือกรุงเทพฯ ถึงมีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก ก็เพราะว่าอยู่ใกล้ท่าเรือไง มีท่าเรือแหลมฉบังในภาคตะวันออก และท่าเรือคลองเตยในกรุงเทพฯ เจ้าของโรงงานและนายทุนจะได้ประหยัดต้นทุนในการขนส่งสินค้ามากขึ้น แต่ภาคอีสานกลับแทบไม่มีแหล่งงานเลย

โอเคล่ะ เราอยู่ในแผ่นดินเดียวกัน ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับเดียวกัน แต่สำนึกของเราช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้ว่ากรุงเทพฯ พยายามที่จะทำให้ทุกคนมีสำนึกร่วมแบบกรุงเทพฯ เหมือนกันหมดก็ตาม ผมไม่ได้ถอดกรุงเทพฯ ออกจากสมการ แต่อาจเล่าเรื่องผ่านมุมมองที่เป็นอื่น คล้ายกับมุมมองของคนใต้อาณานิคมเสียมากกว่า เพราะผมเองก็มีมุมมองต่อกรุงเทพฯ ว่า เป็นอีกดินแดนหนึ่งที่ห่างไกลจากดินแดนที่ผมอยู่อาศัย

การถอดออกจากศูนย์กลางไม่ได้หมายความแค่ประเด็นการเลือกใช้พื้นที่หรอก แต่คำว่ากรุงเทพฯ มันรวมถึงการศึกษา ภาษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและประเพณีของชนชั้นนำกรุงเทพฯ ซึ่งต้องการให้ทุกคนในประเทศนี้ยึดเป็นแบบอย่าง ผมจึงพยายามเล่าผ่านมุมมองอื่นๆ และภาษาที่เป็นอื่นเพื่อเล่นกับมัน ฟังดูดีแต่ก็น่าเศร้า เพราะสิ่งที่เราสู้ได้กลับมีเพียงแค่นี้เอง นั่นคือ การไม่มองจากมุมของกรุงเทพฯ

photo: อติเทพ จันทร์เทศ | the101.world

นอกจากตัวละครที่เป็นมนุษย์ เนรเทศ ยังมีตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์อย่างเช่นผี ทำไมจึงต้องเล่าเรื่องที่มีผี

ปกติเวลาพูดถึงผี มันจะต้องเป็นเรื่องน่ากลัวใช่ไหม ผีจะต้องมีฤทธิ์มีเดช เช่น ผีแม่นากมือยาวและฆ่าคนได้ แต่ผีในนวนิยาย เนรเทศ แทบจะไม่มีอะไรเลย ก็เปรียบเสมือนคนไร้อำนาจที่แม้จะตายกลายเป็นผีไปแล้วก็ยังไม่มีอำนาจอยู่วันยังค่ำ ทั้งๆ ที่การกลายสภาพเป็นวิญญาณ ผีสาง เทวดา มันควรจะมีอำนาจเหนือธรรมชาติ ลอยไปหักคอใครก็ได้ แต่ผีในเรื่อง เนรเทศ ก็คือตัวแทนของคนไร้อำนาจในประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนหรือเป็นผี คุณก็ไม่มีห่าอะไรเลยอยู่ดี 

แม้จะปรากฏตัวให้เห็น แต่ผีของผมก็ไม่มีฤทธิ์พาผัวและลูกเหาะกลับบ้านโดยไม่ต้องรอรถสาธารณะ หายตัวก็ไม่ได้ ทั้งๆ ที่นั่นคืออิทธิฤทธิ์ที่ผีควรจะมีตามจินตนาการในสังคมไทยของเรา แต่ผีตนนี้กลับทำได้เพียงติดสอยห้อยตามลูกผัวขึ้นรถตลอดทั้งเรื่องจนออกจะน่ารำคาญด้วยซ้ำ เพราะดลบันดาลให้หลุดพ้นจากความทุกข์ยากไม่ได้เลย ผมมองจากมุมคนเขียนนะครับว่า ตัวละครผีคือภาพแทนของการไร้อำนาจ แต่คนอ่านจะตีความอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา

เอกลักษณ์งานเขียนของ ภู กระดาษ คือการมีเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า และการแวะข้างทาง เพื่อพูดถึงประเด็นยิบย่อยอื่นๆ ที่ไม่ใช่เส้นเรื่องหลัก ทำไมจึงเลือกกลวิธีดังกล่าวมาเล่าเรื่อง

ผมเปรียบการเขียนและการเดินทางเหมือนการใช้ชีวิต อย่างวันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่คุณตื่นนอนแล้วก้าวเท้าออกจากบ้าน คุณแทบไม่รู้เลยว่าต้องพบเจออะไรบ้างใช่ไหม คุณอาจแค่อยากไปหาของอร่อยๆ กิน แต่ดันเสือกโดนรถชนเสียก่อน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คาดคิดเอาไว้เลย 

เพราะฉะนั้นไม่แปลกหรอกที่ระหว่างทางของการอ่านเรื่องเล่าต่างๆ คุณจะพบเจออะไรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องก็ได้ บางคนอาจไม่เห็นด้วยและมองว่าผมคิดผิด แต่ผมเลือกที่จะทำเช่นนั้น ผมจะเล่าสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้เลยก็ได้ แต่เชื่อเถอะว่าสุดท้ายเกี่ยวพันกันหมดแหละ เพราะจิตใต้สำนึกในระหว่างเขียนจะพาผมวกกลับมาเอง แน่นอนว่างานเขียนมีจุดหมายปลายทาง แต่ผมก็อยากเขียนสิ่งที่ต้องพบเจอในระหว่างทางด้วย

สมัยเด็กๆ ผมชอบฟังนิทานจากคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งมักไม่เล่าตรงๆ เป็นแกนเดียวตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง แต่จะพาเราแวะข้างทางเสมอ อาทิ เรื่อง สินชัย (สังข์ศิลป์ชัย วรรณคดีชิ้นเอกเรื่องหนึ่งของล้านช้าง) เมื่อเขาเล่าไปถึงฉากต่อสู้ในถ้ำแห่งหนึ่ง เขาก็จะเล่าถึงประวัติของถ้ำนั้นด้วย แล้วค่อยวกกลับมายังเส้นเรื่องหลักต่อ นอกจากนี้ ผมยังชอบดูการแสดงหมอลำด้วย ซึ่งเขาขับกลอนลำอยู่ดีๆ ก็สลับฉากเอาตลกมาเล่น เอาเพลงมาร้อง นี่คือวัฒนธรรมการเล่าเรื่องที่ผมเติบโตมา ผมคิดว่าการจะเล่าเรื่องอย่างไรก็เป็นสิทธิของผู้เขียนในระดับหนึ่ง และผมก็สนุกที่จะได้ทำเช่นนี้

อีกประเด็นคือ การใช้คำศัพท์หรือไวยากรณ์ที่ไม่ใช่ภาษาไทยมาตรฐาน กล่าวคือมีคำลาวและจัดเรียงประโยคที่แปลกหูแปลกตาจนแทบจะไม่ใช่คำพูดของคนไทยกลางเลย เรื่องนี้มีนัยสำคัญอะไร

อย่างหนึ่งเลยก็คือ เป็นการบ่อนเซาะภาษาไทยกลาง ซึ่งปกคลุมเรามาตลอดชีวิต พูดง่ายๆ คือการพยายามทำให้ผู้ใช้ภาษาไทยกลางง่อยเปลี้ยเสียขา และยังพยายามสื่อว่า ในประเทศไทยยังมีคนพูดภาษาแบบอื่นอยู่นะ ทำไมพวกคุณไม่รู้ล่ะ แต่มันไม่ใช่ความผิดของพวกคุณหรอก เพราะภาษาเป็นวิธีการหนึ่งที่ชนชั้นนำไทยใช้กล่อมเกลาคุณมาโดยตลอดต่างหาก 

งานของผมพยายามชี้ให้เห็นว่า ความแข็งแกร่งของภาษาไทยก็ถูกเอามาล้อเล่นและทำให้ปวกเปียกได้ผ่านการใช้คำลาวๆ ผมไม่มีความสามารถอื่นใดๆ ที่จะไปสู้รบปรบมือกับผู้ถือครองอำนาจนำได้นอกเสียจากภาษาของผม เครื่องมือของผมมีเท่านี้ ผมจึงใช้มันเท่าที่สติปัญญาจะเอื้ออำนวย

อันที่จริง ผมตั้งคำถามกลับเหมือนกันว่า การที่ผมเขียนด้วยตัวอักษรไทยทุกคำ แต่คนอ่านกลับไม่เข้าใจเลย มันสะท้อนให้เห็นว่า การรับรู้ว่ามีคนอื่นอยู่ร่วมสังคมไทยมันน้อยเกินไปหรือเปล่า สังคมไทยแทบไม่รับรู้ว่ามีคนชาติพันธุ์อื่นหรือพูดภาษาอื่นอยู่ร่วมกับเขาอย่างเสมอหน้าและเป็นคนเหมือนๆ กันกับเขา ผมพูดในระดับคนธรรมดาสามัญนะครับ

ดังนั้น พอมีอะไรแปลกๆ ขึ้นมาในประเทศไทย จึงกลายเป็นเรื่องที่ exotic เสียอย่างนั้น เหมือนฝรั่งมาเจอผู้คนและสิ่งแวดล้อมของไทยที่แปลกแตกต่างจากบ้านเมืองเขา โอ้โห มันแปลกดีนะ ก็ตื่นเต้นจนอยากอนุรักษ์เอาไว้ จะได้มาเที่ยมชมอีก ไปเจอสัตว์แปลกๆ ก็จะจับใส่กรงเอาไว้ให้คนมาดู ไม่ต่างจากเมื่อมีคนเห็นว่าผมเขียนคำลาวลงไปในหนังสือไทย โอ้โห ช่างแปลกใหม่เสียจริง ก็จะมาตื่นเต้นอะไรกับผมเหมือนอย่างที่อยากอนุรักษ์งาน ‘ลุงคำพูน’ (คำพูน บุญทวี) เอาไว้

แต่ผมว่าคิดแบบนั้นไม่ถูกต้องเลย สังคมเราไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์อะไรหรอก สิ่งที่ควรทำคือการกระตุกหรือ provoke ผู้คนในสังคมให้หันมามองว่ายังมีความเป็นอื่นอีกมากมายอาศัยอยู่ร่วมกันกับคุณมากกว่า เช่น ภาษาลาวก็มีคนใช้ในชีวิตประจำวันจำนวนมากทั้งในภาคอีสานหรือภาคเหนือที่คล้ายคลึงกันมาก อาจจะมากกว่าภาษาไทยด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ผมยังชอบเล่นสนุกกับภาษา แม้จะทำงานที่ชลบุรีก็จริง แต่ผมแทบไม่พูดไทยกับใครเลย ผมจะพูดแต่ภาษาลาวบ้านผมอย่างเดียวแม้จะคุยกับผู้ใช้ภาษาไทยก็ตาม แต่สิ่งที่ผมทำไม่ใช่การยืนยันหรือแสดงอัตลักษณ์นะ ผมไม่เชื่อในการเมืองอัตลักษณ์ แต่ผมเชื่อในความหลากหลายของการดำรงอยู่ร่วมกันมากกว่า แล้วภาษาทุกภาษานอกจากเป็นเครื่องมือในการสื่อสารแล้ว ยังสอดแทรกอำนาจระหว่างกันเข้ามาด้วย ผมจะปรับเปลี่ยนเพียงเพื่อให้คุยรู้เรื่องเท่านั้น ก็ผมใช้ภาษานี้มาทั้งชีวิต ผมจึงเลือกวิธีสื่อสารที่เข้ากับปากของผมที่สุด การเขียนด้วยไวยากรณ์แบบนี้มันถึงใจผมมากกว่า 

บางคำหรือบางตอนผมปล่อยเลยนะ คุณอ่านไม่รู้เรื่องไม่เป็นไรหรอก เพราะคนเขียนดันนึกถึงสิ่งที่ชอบสักอย่างหนึ่งในภาษาของมันก็เลยเขียนออกมาแบบนั้น ซึ่งอาจจะไม่มีความหมายห่าอะไรเลย ผู้อ่านไม่ต้องไปกังวลถึงขนาดอ่านแล้วต้องตีความหมายทุกตัวอักษรก็ได้ คุณข้ามไปเถอะ แต่จงรับรู้ว่ามีความเป็นอื่นในสังคมบ้างจะดีกว่า

photo: อติเทพ จันทร์เทศ | the101.world

เมื่อพิจารณากลวิธีต่างๆ ที่เราพูดถึงกันมาทั้งหมด เนรเทศ น่าจะเป็นหนังสือที่อ่านไม่ง่ายเลย แต่ทำไมหนังสือเล่มนี้จึงได้รับความนิยมมากจนได้รับการตีพิมพ์ซ้ำและแปลเป็นภาษาต่างประเทศ

จริงๆ แล้วผมอ่านตัวเล่ม เนรเทศ แค่รอบเดียว เพราะว่าผมใช้เวลาอ่านทบทวนในขั้นตอนแก้ไขนานโขแล้ว เพราะผิดตรงนั้นตรงนี้เลอะเทอะไปหมด ผมจึงอ่านตัวเล่มซ้ำแค่รอบเดียว ซึ่งพบว่ามันไม่ค่อยสนุกและอ่านยากอยู่เหมือนกัน (หัวเราะ)

เป็นความโชคดีของผมที่คนอ่านให้การสนับสนุน เนรเทศ เป็นอย่างดี พูดง่ายๆ คือคนอ่านมีน้ำใจเกื้อหนุน แม้มันจะอ่านยากมาก กระทั่งคนอีสานที่ใช้ภาษาลาวในชีวิตประจำวัน เขายังอ่านไม่รู้เรื่องหรืออ่านแบบรำคาญ แต่มันก็ยังถูกอ่าน ผมจึงต้องขอบคุณคนอ่านที่แนะนำต่อๆ กัน แม้บางคนอาจอ่านไม่จบ แต่ไปสะกิดเพื่อนว่า เห้ย…มึง…ไปหาเล่มนี้มาอ่านเถอะ 

ผมคิดว่า นี่คือการประลองระหว่างผมกับคนอ่านว่าใครจะหมอบหรือจนตรอกก่อนกัน เพราะสติปัญญาของผมมีน้อยนิดเพียงเท่านี้ แต่คนอ่านเขาฉลาดอยู่แล้ว ผมจึงพยายามเค้นมันออกมาสู้กับเขาให้ได้มากที่สุด เนรเทศ จึงเป็นที่นิยมที่สุดในบรรดาหนังสือที่ออกมา 4-5 เล่ม ซึ่งอีกเล่มคือ 24-7/1 อ่านง่ายกว่านี้มาก แต่กลับไม่เป็นที่นิยมเท่า อาจเพราะมันหนาเกินไปหรือเป็นหนังสือห่วยเลยก็ได้ แต่ถึงแม้จะมีคนอ่านเพียง 10-20 คน ผมก็พอใจและมีความสุขแล้ว อย่างน้อยเขียนเสร็จก็ยังมีคนอ่าน มีคนพูดถึง มีคนสนับสนุน ถึงไม่ได้รางวัลผมก็เฉยๆ มาก

การได้รางวัลเป็นเรื่องดีต่อผมและสำนักพิมพ์แหละ แต่ถ้าหนังสือไปไม่ถึงมือของคนที่อยากจะอ่านมันจริงๆ ผมก็ไม่ภูมิใจ มีคนอ่านแล้วด่ายังจะดีกว่าได้รับรางวัลแต่ไม่มีใครพูดถึงเลย ใครจะด่าก็ด่าไปครับ ผมไม่มีปัญหา เพราะสติปัญญาผมมีเท่านี้จะให้ทำยังไงได้ เดี๋ยวเล่มหน้าค่อยแก้ตัวใหม่ก็เท่านั้นเอง

ฟังดูแล้วไม่ค่อยภูมิใจกับ เนรเทศ ?

ผมภูมิใจกับคนที่อ่านมันมากกว่า คือไม่ว่าจะหนังสือเล่มไหนก็ตาม ผมจะภูมิใจเมื่อมีคนอ่านและพูดถึงผลงานของผม มันเหมือนกับว่าผมได้เขียนหนังสือให้เพื่อนอ่าน ส่วนเรื่องความภูมิใจในตัวผลงานเองนี่ตอบยากมาก เพราะผมก็ทำอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้แล้ว ผลจะออกมาอย่างไรก็เรื่องของมัน เราไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้ ถ้าจะภูมิใจก็คือภูมิใจที่ตนเองเขียนจนจบมากกว่า เออ กูอดตาหลับขับตานอน เขียน ค้นคว้า ทำสรุป วางพล็อต เขียนไทม์ไลน์ หรืออะไรต่างๆ แล้วปั้นออกมาจนเป็นตัว จะสวยหรือไม่สวยก็อีกเรื่อง แต่พอเสร็จแล้ว กูหมดภาระหน้าที่แล้ว

แล้วตอนนี้เขียนผลงานเรื่องอะไรอยู่บ้างไหม

ตอนนี้ผมไม่ได้เป็นเขียนประจำ แต่มีนิยายที่จะเขียนอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งอยู่ในกระบวนการค้นคว้าหาข้อมูล ผมเขียนโครงไว้คร่าวๆ แล้ว แต่ก็ยังทะเลาะตบตีกับตัวเองว่าจะเอาอย่างไรกับมันดี 

ผมเขียนเรื่องสั้นอยู่บ้างหากมีคนขอให้เขียน อย่างล่าสุดก็เพิ่งเขียนเรื่องสั้นให้เขาเอาไปแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นจากนักเขียนไทยร่วมสมัยประมาณ 12 คน ผมเขียนเสร็จและส่งให้เขาไปเมื่ออาทิตย์ก่อน เป็นเรื่องสั้น 10 กว่าหน้า แล้วก็จะมีหนังสือรวมเรื่องสั้น 33 เรื่อง ประมาณ 200 กว่าหน้า ชื่อ ปกรณัมความปวกเปียก กำลังจะออกใหม่ในปีนี้อีกเล่มหนึ่งครับ หากไม่มีอะไรผิดพลาด ก็จะเป็นหนังสือ 2 ภาษา เพราะเรื่องสั้นบางเรื่องก็เป็นภาษาอังกฤษ

ส่วนเวลาที่เหลือก็ไม่ได้เขียนเลย เพราะตอนนี้ผมอยู่ในช่วงค้นคว้าข้อมูลเพื่อเขียนนิยาย ซึ่งผมไม่ได้บังคับตัวเองขนาดนั้น เพราะการเขียนเล่มล่าสุดที่หนามากๆ เมื่อ 2 ปีก่อน (24-7/1) ค่อนข้างกินพลังผมเยอะพอสมควร ผมจึงผ่อนๆ ลงบ้าง อีกอย่างคือผมไม่เคยคิดว่าจะเขียนหนังสือหลายเล่ม เพราะเรามีความรู้ไม่มากนัก เอาแค่ที่เราอยากเขียนแล้วค่อยทำไปเรื่อยๆ ดีกว่า ตอนนี้ก็ทำงาน เตะฟุตบอล แล้วก็อ่านหนังสือ ค้นคว้าบ้าง แค่นั้นเอง น่าจะอีกหลายเดือนกว่าจะกลับมาเขียนนิยายที่วางโครงเรื่องไว้

จากที่คุยกันมา สำหรับภู กระดาษ การเขียนหนังสือไม่เชิงว่าเป็นวินัยที่จะต้องทำเป๊ะๆ ตลอดเวลา แต่เปรียบเหมือนการใช้ชีวิตที่พร้อมเมื่อไหร่ก็ลงมือทำ ไม่ต่างจากการดูหนังหรือออกกำลังกาย

ใช่ๆ แบบนั้นแหละถูกแล้ว การเขียนไม่ใช่วินัยที่จะบีบบังคับให้คุณต้องทำทุกวัน แต่เมื่อใดก็ตามที่เริ่มลงมือเขียน ผมก็จะต้องทำตัวให้มีวินัยบ้างเหมือนกัน แต่ผมไม่ได้เปลี่ยนตนเองเป็นหุ่นยนต์ที่ต้องเขียนงานทุกวันอะไรแบบนั้น (หัวเราะ)

เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเขียน หลังจากมีข้อมูลครบ มีเรื่องในหัวชัดเจน ตัวละครโอเคแล้ว พล็อตก็ร่างไว้แล้วว่ากูจะเล่าวิธีนี้แหละ ผมก็ลงมือทันที เขียนๆ ไปก่อน เขียนเสร็จค่อยว่ากัน ช่วงเวลานี้ผมต้องมีวินัยสักหน่อย ไม่อยากปล่อยตามใจตัวเองนัก เพราะถ้าทำแบบนั้นเราจะกลับมาเขียนอีกรอบได้ยากมาก แต่หลังจากเขียนจบเป็นเรื่องๆ แล้วยังไม่มีอะไรจะเขียนต่อ ผมก็อีเหละเขะขะอยู่เหมือนกัน

อย่างที่เคยบอก สมัยเพิ่งเริ่มหัดเขียนใหม่ๆ ผมเขียนทุกวัน เขียนได้ 30 เรื่อง แต่พอใจอยู่เพียงเรื่องเดียว แต่ถึงเวลาเขียนก็ต้องเขียน มันจึงเป็นนิสัยติดตัวตลอดมา จะเขียนได้หรือไม่ได้ก็ต้องนั่งหน้าจอคอมฯ ไว้ก่อน เขียนอยู่เป็นชั่วโมงแต่ได้ 2 บรรทัด ซึ่งอาจต้องลบทิ้งก็ได้ แต่ก็ต้องเขียน ถ้าไม่ได้ทำก็คือตายเลย มีเรื่องอยู่ในหัว แต่ไม่ปรากฏออกมาเป็นตัวหนังสือ มันก็ไม่ใช่แล้ว แม้ไม่ได้เขียนทุกวัน แต่ผมก็จะเขียนในเวลาที่ผมต้องเขียน

อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากเข้าสู่เส้นทางนักเขียน หรือใครก็ตามที่อยากถ่ายทอดเรื่องราวออกมาบ้างไหม

ผมคงไม่ฝากฝังหรือมีเคล็ดลับอะไรมอบให้หรอก ถ้าทำแล้วสนุกก็ลงมือเลย สำหรับผม การเขียนหนังสือคือความสนุก เพราะเป็นการปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกออกมาท่ามกลางสภาพสังคมไทยที่ย่ำแย่มาโดยตลอดและในอนาคตก็คงจะยังไม่ดีขึ้นนัก ใครอยากเขียนก็เขียนเถอะ จะเขียนอะไรก็ได้ จะหลุดโลกมากๆ ก็ไม่เห็นเป็นอะไร ไม่จำเป็นต้องเขียนในสไตล์ผมหรือนักเขียนคนอื่นๆ ก็ได้ ขอแค่ให้มันสร้างความสนุกและผ่อนคลายกับคุณได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีคนอ่าน อย่างน้อยๆ ตอนคุณส่งสำนักพิมพ์ ก็ยังมีบรรณาธิการคอยอ่านงานให้คุณ มันก็คุ้มค่าแล้วนะ

อย่างที่ผมพูดไปตั้งแต่ต้นว่า การทำงานประจำพร้อมๆ ไปกับการเขียนหนังสือ ทำให้ผมไม่ต้องกังวลกับหลายๆ เรื่องในชีวิตที่นักเขียนคนอื่นต้องพบเจอ ผมจึงยิ่งเน้นความสนุก หากหมดสนุกผมก็ไม่เขียน ผมไม่เคยคิดว่าต้องได้รับคำชม มีชื่อเสียง หรือประสบความสำเร็จขนาดนั้น เพราะอย่าลืมว่าผมไม่ได้เป็นคนกำหนดเรื่องพวกนี้ ผมทำได้แค่เขียนแล้วก็สนุกกับมัน เท่านั้นก็ถือว่าตนเองประสบความสำเร็จแล้ว

ใครก็ตามที่คิดจะเป็นนักเขียน ขอให้คุณมีความสุขกับมัน เรื่องของคุณอาจไม่สนุกก็ช่างเถอะ แต่ขณะที่ลงมือเขียนขอให้มันสร้างความสุขแก่คุณ ในทางกลับกัน ถึงแม้เรื่องที่เขียนจะสนุกตายห่าเลย แต่ถ้าคุณเขียนไปทุกข์ทรมานไป ผมก็ไม่คิดว่าควรทำนะ ไม่ได้จะฝากอะไรหรอก แต่ถ้ามันสนุกก็ทำไป อย่าให้ใครมาขีดเส้น มาจำกัด หรือห้ามคุณเลย

photo: อติเทพ จันทร์เทศ | the101.world

ในบริบทประเทศไทย ไม่แน่ใจว่าเราจะเขียนในทุกสิ่งที่อยากเขียนได้หรือเปล่า เพราะบางทีเมื่องานเขียนของเราไปแตะบางเรื่องเข้าก็อาจจะโดนเนรเทศออกนอกประเทศได้นะครับ

แต่นี่เป็นเรื่องที่ผิดใช่ไหมครับ ผิดหลักสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน เพียงแต่ประเทศนี้มันเป็นแบบนี้ มีกฎหมายปิดปาก มีมาตรา 112 มีหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ คอยห้ามปรามไม่ให้เราพูดถึงบางสิ่งบางอย่างที่อาจกระทบต่อพวกเขา ซึ่งมีอำนาจแทบทุกอย่างทั้งอำนาจกฎหมายและอำนาจมืด

ผมคิดเสมอว่า เราสามารถเขียนได้ทุกเรื่อง เพียงแต่ต้องอาศัยกลวิธีการเขียนสักหน่อย ซึ่งผมถือเป็นความท้าทายนะ พูดง่ายๆ ผมเองก็กลัวโดนจับ กลัวอำนาจมืด แต่ถ้าไม่เขียนอะไรออกมาเลย มันก็ขัดใจเรา ดังนั้นสถานการณ์แบบนี้มันก็บีบให้เราต้องหาทางออกเพื่อเขียนในสิ่งที่อยากเขียน โดยไม่ถูกจับหรือถูกเนรเทศไปเสียก่อน

ไม่มีเหตุผลอันชอบธรรมใดๆ ที่จะคุกคามนักเขียนได้หรอก แต่มันก็เป็นความท้าทายต่อเราว่า จะทำอย่างไรหากต้องเผชิญหน้ากับมัน ผมไม่คิดว่าการเขียนวรรณกรรมคือการบอกเล่าข้อเท็จจริงโต้งๆ แต่มันเป็นการเสริมสร้างกระบวนการคิดที่ลึกซึ้งกว่านั้น มันไม่ใช่การบอกให้รู้ แต่ช่วยสอนวิธีการคิด คุณรู้หมดแหละว่าอะไรเป็นอะไร แต่ถ้าไม่สามารถนำความรู้นั้นมาแปรสภาพให้คนอื่นรู้และคิดตามด้วยได้ ผมว่าก็ไม่ถูกนะ ดีชั่วรู้หมด เผด็จการคืออะไร ประชาธิปไตยคืออะไร แต่ถ้าไม่ผ่านกระบวนการจัดระเบียบความคิด มันก็เป็นแค่ความรู้ที่ไม่มีความหมายใดๆ ในทางสังคม

ผมคิดว่าปัจจุบันนี้ คนไทยรู้หมดแล้วว่าอะไรเป็นอะไร ย้อนหลังไปไม่ไกลมากแค่ 10 กว่าปีก่อน คนยังแทบแยกแยะไม่ได้เลยว่า อะไรคือปัญหาของประเทศไทย ดังนั้นเราก็ต้องคิดว่าเมื่ออยู่ในสถานการณ์แบบนี้ อยู่ในประเทศนี้ แล้วอยากเขียนถึงบางเรื่องมากๆ เราจะต้องทำอย่างไรจึงจะเขียนออกมาได้ มันท้าทายสมองและสติปัญญาของเรามากๆ

ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องจริง เรื่องแต่ง เรื่องโป๊ หรือเรื่องไร้สาระอื่นใดก็ตาม หากคุณคิดว่าจำเป็นต้องเขียน คุณก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองเขียน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของโลกเสรีประชาธิปไตย คุณมีเสรีภาพในการเขียน คุณก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ได้ทำลงไปด้วย เพียงแต่เราอยู่ในประเทศที่มีอำนาจมืด ก็เท่านั้น

ระบอบเผด็จการมันท้าทายนักเขียนหนังสือ นักสร้างศิลปะ หรือคนทำงานวิชาการ แต่ถ้าประเทศเสรีมันก็การันตีว่า เราจะปลอดภัยจากสิ่งที่เราพูด ก็เท่านั้น ความสนุกก็จะต่างกันออกไป ประเทศเราซับซ้อนตรงที่ต้องพึงระวังระแวงหลายอย่าง แต่ผมว่ามันเขียนได้หมด ขึ้นอยู่กับวิธีการเขียน ซึ่งมีสารพัดวิธีที่จะทำให้คนอ่านรู้โดยไม่ต้องบอกตรงๆ สั้นๆ หรือกระชับแบบการทวิตก็ได้

คือมันเลี่ยงการปะทะไม่ได้หรอกครับ แม้แต่ในสังคมที่คิดว่าเสรีแล้วก็ตาม อย่างล่าสุด ซัลมาน รัชดี (Salman Rushdie) ก็เพิ่งโดนแทงไป เพราะในสังคมหนึ่งๆ มีมนุษย์ที่แตกต่างหลากหลายดำรงอยู่ร่วมกันเสมอ มันจึงพร้อมปะทะกันตลอด ข้อเขียนของคุณก็อาจไปปะทะเข้ากับความเชื่อของคนอื่นๆ ซึ่งบางคนก็พร้อมจะทำร้ายและเข่นฆ่าคุณ นักเขียนจึงเป็นอาชีพที่ท้าทายอยู่เสมอ แต่คนอย่างเราห้ามตัวเองไม่ให้เขียนในสิ่งที่อยากเขียนไม่ได้หรอก ส่วนจะใช้กลวิธีเขียนแบบไหนหรืออย่างไรนั้น ผมไม่อาจเอื้อมไปแนะนำหรอกครับ

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า