เมื่องานของ ‘มูราคามิ’ อาจไม่ใช่ Soft Power ของญี่ปุ่น

บ่ายวันหนึ่งของฤดูใบไม้ผลิปี 1978 ขณะที่ ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) หนุ่มเจ้าของบาร์แจ๊ซ กำลังนั่งจิบเบียร์ไปพลาง ดูการแข่งเบสบอลไปพลางที่สนามเบสบอลจิงกูคิวโจ เขาก็เกิดความคิดขึ้นมาว่าเขาน่าจะเขียนนิยายสักเรื่อง

หลังจากนั้นจึงตรงกลับบ้าน แวะร้านคิโนะคุนิยะ หาซื้อกระดาษและปากกาที่เหมาะมือ แล้วเริ่มลงมือเขียนนิยายในยามค่ำคืนที่ห้องครัวในบ้านของเขา หลังจากที่บาร์แจ๊ซปิดบริการแล้ว 

ไม่นานหลังจากนั้น สดับลมขับขาน (Hear the Wind Sing) นิยายเล่มแรกของเขาก็เสร็จสิ้น และในปีต่อมาเขาก็ได้รางวัลนักเขียนหน้าใหม่ของนิตยสารวรรณกรรมกุนโซ และตัดสินใจเดินหน้าสู่การเป็น ‘นักเขียนนวนิยายเป็นอาชีพ’ อย่างเต็มตัว

มูราคามิเดินอยู่ในเส้นทางการเขียนนวนิยายเป็นอาชีพอย่างจริงจังเรื่อยมา จนงานของเขาโด่งดังไประดับโลก หนังสือของเขาถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 50 ภาษา ในประเทศไทยเอง งานของมูราคามิก็ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้อ่าน และได้รับการแปลเป็นไทยเกือบครบทุกเล่มโดยสำนักพิมพ์กำมะหยี่ 

ท่ามกลางความสำเร็จระดับโลกของมูราคามิ และท่ามกลางกระแสตื่นตัวของ soft power หนังสือในฐานะตัวแทนทางวัฒนธรรม มีส่วนในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมีอิทธิพลต่อประเทศอื่นๆ นั้นก็ถือว่าเป็น soft power ชนิดหนึ่ง มองในมุมนี้หนังสือของมูราคามิที่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านทั่วโลกก็ย่อมต้องจัดให้เป็น soft power ด้วยเช่นกัน 

ทว่า เบื้องหลังความสำเร็จและความโด่งดังของมูราคามิ กลับไม่ได้มาจากการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือแม้กระทั่งจากคนในวงการอุตสาหกรรมหนังสือของญี่ปุ่นเองก็ตาม แต่มาจากการกระเสือกกระสนดิ้นรนของตัวมูราคามิเอง หรือในอีกแง่หนึ่งพูดได้ว่า ความสำเร็จในระดับสากลของมูราคามิเริ่มต้นมาจากการไร้ที่ทางของตนในอุตสาหกรรมหนังสือญี่ปุ่นเองด้วย

ก้าวข้ามพ้นกรอบวรรณกรรมญี่ปุ่น

เส้นทางนักอ่านของมูราคามิ โตมาพร้อมกับวรรณกรรมตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ (Raymond Chandler) เคิร์ต วอนเนกัต (Kurt Vonnegut) หรือ ริชาร์ด โบรติกัน (Richard Brautigan) เขายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่ได้มีโอกาสอ่านวรรณกรรมญี่ปุ่นมากเท่าไรนัก จึงไม่อาจเข้าใจว่าวรรณกรรมญี่ปุ่น หรือ ‘วรรณกรรมบริสุทธิ์’ เป็นอย่างไร 

(แม้มูราคามิจะดูมีนิสัยถ่อมตัวและดูสุภาพ เช่นเดียวกันกับตัวละครหลักในนิยายของเขา แต่ท่าทีของมูราคามิยามเมื่อพูดถึงวงการวรรณกรรมญี่ปุ่น แลดูจะมีน้ำเสียง ‘แซะ’ และ ‘กวนตีน’ อยู่ไม่ใช่น้อย)

ดังนั้น ตลอดระยะเวลาหลายเดือนแรก ในช่วงค่ำคืนก่อนฟ้าสางที่โต๊ะในห้องครัวของเขา จึงเป็นการเริ่มต้นเส้นทางนักเขียนนวนิยาย ด้วยการคาดเดาไปเองว่าคงประมาณนี้ หรืออาจใช้คำว่า ‘นั่งเทียนเขียนเอา’ ก็คงจะไม่ผิดนัก 

จากการพยายามจะเขียนนิยายโดยหวังว่าจะเป็นไปตามครรลองของวงการวรรณกรรมญี่ปุ่น ผลคือนิยายดราฟต์แรกของมูราคามิ ไม่เป็นที่ประทับใจของเจ้าตัวเท่าไรนัก จนมูราคามิถึงกับรู้สึกท้อแท้และคิดว่าตนเองอาจไม่เหมาะกับการจะเป็นนักเขียน แต่สิ่งที่ยังคงเหลืออยู่คือ ความปรารถนาที่ได้มาอย่างปริศนาในบ่ายวันนั้นที่สนามเบสบอลจิงกูคิวโจ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มูราคามิยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจที่จะเขียนนิยายเรื่องแรกของเขาให้สำเร็จ

ในรอบสองนี้ มูราคามิใช้ความรู้สึกที่คิดว่าตนเองไม่เหมาะกับการจะเป็นนักเขียนเป็นหลักนำในการทำงาน ในเมื่อไม่สามารถจะเดินบนทางเส้นทางวรรณกรรมอันบริสุทธิ์ได้ เขาจึงละทิ้งวิถีทางที่ได้ทำมาในครั้งก่อน แล้วลองเขียนตามใจตนเอง ตามสัญชาตญาณ (ซึ่งการเขียนตามสัญชาตญาณนี้กลายเป็นหนึ่งในจุดเด่นของมูราคามิ) 

สิ่งหนึ่งที่เขาได้ละทิ้งคือการใช้ภาษาญี่ปุ่นในการเขียน รวมไปถึงการเขียนลงบนกระดาษเก็งโคโยชิ (กระดาษญี่ปุ่นที่มีลักษณะเป็นช่องเล็กๆ เรียงกันเป็นแถวๆ เวลาเขียนจะเขียนจากบนลงล่าง จากขวาไปซ้าย ตามขนบการเขียนอ่านของญี่ปุ่น) และเปลี่ยนมาใช้ภาษาอังกฤษพิมพ์ลงไปด้วยเครื่องพิมพ์ดีดแทน

แม้มูราคามิจะโตมากับการอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ แต่เขาก็ยอมรับว่าทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษของเขาไม่ได้เลิศเลอ และเผชิญกับข้อจำกัดอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นคลังศัพท์ที่มีอย่างจำกัด เมื่อเขียน (หรือพิมพ์) นิยายตามใจตัวเองด้วยภาษาอังกฤษได้หนึ่งบท มูราคามิจึงนำบทแรกมาแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นอีกที และนั่นทำให้เขาค้นพบสไตล์การเขียนของตัวเอง ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมูราคามิ เรียกได้ว่าเป็นนิยายภาษาญี่ปุ่นที่มีรูปแบบประหยัดถ้อยคำ และใช้ภาษาอย่างเรียบง่ายอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับวรรณกรรมญี่ปุ่นที่มักเน้นความวิจิตรและความสวยงามของภาษา (มูราคามิใช้คำว่า ‘ฟุ่มเฟือย’) นี่จึงทำให้งานของมูราคามิมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากงานของนักเขียนญี่ปุ่นคนอื่นๆ และเมื่อนำนิยายเล่มแรกของเขา สดับลมขับขาน ส่งไปยังนิตยสารวรรณกรรมกุนโซ เขาจึงคว้ารางวัลนักเขียนหน้าใหม่มาจนได้

อย่างไรก็ดี สไตล์การเขียนของมูราคามิก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์บ่อยครั้งว่ามีลักษณะเหมือนกับเป็นงานที่ถูกแปลมา บ้างก็ถูกค่อนขอดจากคนในวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นว่าเป็นการดูถูกภาษาญี่ปุ่น 

นักเขียนดาวรุ่งที่วงการวรรณกรรมญี่ปุ่นไม่ต้อนรับ

สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่เชิดชูรางวัล ยิ่งในวงการวรรณกรรมยิ่งแล้วใหญ่ ในวงการวรรณกรรมไทยอาจมีรางวัลต่างๆ ที่มอบให้นักเขียนอยู่ไม่กี่รายการ แต่ในญี่ปุ่นนั้นรางวัลที่มอบให้กับนักเขียนกลับมีมากมายรายหลายการ ขนาดมูราคามิยังเหน็บแหนมว่า ในญี่ปุ่นคงจะมีการให้รางวัลวรรณกรรมทุกวัน วันละอย่างน้อย 1 รางวัล (เป็นการตีความของผู้เขียนบทความนี้เอง ถึงแม้มูราคามิจะย้ำอยู่หลายครั้งว่าไม่ได้เจตนาประชดประชัน) 

ในสังคมญี่ปุ่น การจะเดินบนเส้นทางนักเขียนได้อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องมีรางวัลห้อยท้าย เพราะเป็นขนบในการให้คุณค่าของสังคมญี่ปุ่น แน่นอนว่ามูราคามิในวัย 30 ที่เปิดตัวด้วยการคว้ารางวัลนักเขียนหน้าใหม่จากกุนโซย่อมเป็นใบเบิกทางที่ดีสำหรับเส้นทางนักเขียน แต่ว่าในระยะยาวการจะพึ่งพิงกับไตเติลรางวัลนักเขียนหน้าใหม่นั้นไม่เพียงพอ การได้รางวัลที่ใหญ่กว่านั้นจึงเป็นสิ่งที่นักเขียนทุกคนต่างก็ต้องการ

รางวัลอาคุตางาวะ ซึ่งเป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นเพื่ออุทิศให้ ริวโนะซึเกะ อาคุตางาวะ (Ryūnosuke Akutagawa) นักเขียนชาวญี่ปุ่นซึ่งเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย รางวัลนี้มีขึ้นเพื่อมอบให้กับนักเขียนหน้าใหม่ เป็นรางวัลทางวรรณกรรมที่ขึ้นชื่อพอสมควรในญี่ปุ่น 

มูราคามิได้รับการเสนอชื่อเขาชิงรางวัลอาคุตางาวะถึง 2 ครั้ง แล้วก็ชวดรางวัลดังกล่าวทั้งสองครั้ง การพลาดรางวัลอาคุตางาวะนี้เป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มูราคามิถอยห่างจากวงการวรรณกรรมญี่ปุ่น ไม่ใช่เพราะผิดหวังที่ไม่ได้รางวัล แต่เป็นเพราะทัศนคติของคนในวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นต่างหาก การไม่ได้รางวัลอาคุตางาวะทำให้เกิดเสียงเล่าลือที่สร้างความรำคาญใจให้มูราคามิไม่ใช่น้อย เช่น การพลาดรางวัลนี้ทำให้มูราคามิกลายเป็น ‘นักเขียนที่หมดอายุ’ ซึ่งมูราคามิก็ฉงนกับแนวคิดที่ส่งต่อกันมาในวงการนี้พอสมควร

มิหนำซ้ำ บางส่วนมองว่ามูราคามิตีตัวออกห่างจากวงการเพราะผิดหวังที่ไม่ได้รางวัลนี้ แต่การตีตัวออกห่างของเขา ดูจะมีสาเหตุมาจากความเบื่อหน่ายและความรู้สึกไม่มีที่ทางของตนในวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นเสียมากกว่า สำหรับมูราคามิ เขารู้สึกว่าวงการนี้ไม่ต้อนรับคนอย่างเขาเท่าไรนัก

นอกจากสไตล์งานเขียนและอิทธิพลตะวันตกจะทำให้งานของเขาแตกต่างกับนักเขียนในวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นโดยทั่วไปแล้ว ความแตกต่างอีกประการคือทัศนคติในการทำงาน เป็นที่รู้กันดีว่ามูราคามิเป็นนักเขียนที่มีระเบียบวินัยเรื่องการฝึกฝนร่างกายและรักษาสุขภาพ เพราะเชื่อว่าจะส่งผลต่อการทำงาน เขาตื่นมาวิ่งทุกเช้าอย่างไม่ขาด ลงฟูลมาราธอนทุกปี เขาเชื่อว่างานเขียนเป็นงานที่ใช้ ‘ความอึด’ เป็นงานที่ต้องใช้เวลาในการนั่งอยู่ที่โต๊ะเพื่อเขียนงานวันละหลายชั่วโมง ดังนั้น การทำร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ดี ดูเหมือนนักเขียนญี่ปุ่นทั่วไปในเวลานั้นจะมีทัศนคติไม่ดีต่อการออกกำลังกายเท่าไรนัก อธิบายง่ายๆ คือการที่นักเขียนวรรณกรรมจะออกมาวิ่งหรือเข้ายิมนั้น ดู ‘ไม่คูล’ เอาเสียเลย

ละทิ้งความเป็นญี่ปุ่น ทะยานออกสู่น่านน้ำสากล

ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 มูราคามิเริ่มคิดจะไปบุกเบิกตลาดอเมริกาอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งมาจากกระแสต่อต้านมูราคามิในวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นที่เริ่มจะแรงขึ้นเรื่อยๆ สไตล์ที่แตกต่างซึ่งผสมอิทธิพลจากตะวันตกนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงงานวรรณกรรมที่นำวรรณกรรมต่างประเทศมาดัดแปลง แน่นอนว่าคำวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้ย่อมไม่ถูกใจมูราคามินัก มิหนำซ้ำยังละเมิดความเป็นส่วนตัวทั้งของตัวเขาเองและของครอบครัวด้วย

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ มูราคามิเชื่อว่าเพราะเขาดันไปก้าวล่วง ‘วรรณกรรมบริสุทธิ์’ ของญี่ปุ่น ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเวลานั้นงานของเขาเริ่มเป็นที่นิยมและมีฐานแฟนที่เหนียวแน่น ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของมูราคามิย่อมไปสั่นคลอนความรู้สึกของคนในวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นที่ยังคงผลิตงานและมีขนบการทำงานแบบเดิมอย่างช่วยไม่ได้

อีกประการหนึ่งคือความเริ่มอิ่มตัวของมูราคามิเอง ในตอนนั้นสังคมญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมฟองสบู่ เศรษฐกิจเติบโต ราคาหุ้นพุ่งทะยาน วงการสิ่งพิมพ์เองก็คึกคัก ในฐานะนักเขียนก็มีงานต่างๆ ซึ่งมูราคามิมองว่าเป็นงานง่ายๆ ถูกเสนอมาให้เขาหลายต่อหลายครั้ง มีกระทั่งการจะจ้างมูราคามิเดินทางไปรอบโลกและขอให้เขียนอะไรมาก็ได้ หรือมีแม้กระทั่งเศรษฐีที่เสนอให้มูราคามิไปใช้ชีวิตเขียนงานอยู่ที่คฤหาสน์ในฝรั่งเศส แน่นอนว่ามูราคามิปฏิเสธทั้งหมด 

มูราคามิในวัยย่างเข้า 40 ตัดสินใจบินลัดฟ้า ย้ายมาอยู่ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา กับภรรยา เพื่อหาที่ทางให้แก่ตนเองในฐานะนักเขียนอย่างเต็มตัว ในเวลานั้นสำนักพิมพ์โคดันชะ (Kodansha) ซึ่งเป็นผู้ดูแลลิขสิทธิ์ผลงานของมูราคามิ มีออฟฟิศอยู่ที่อเมริกา ในนาม โคดันฉะ อินเตอร์เนชันแนล (Kodansha International) และได้ทำการแปลผลงานของมูรามิบางส่วนออกสู่สายตาของนักอ่านชาวอเมริกา โดยผลงานเล่มแรกที่ถูกแปลคือ แกะรอยแกะดาว (A Wild Sheep Chase) 

(แกะรอยแกะดาว เป็นหนึ่งในหนังสือลำดับที่ 3 ใน ‘ไตรภาคมุสิก’ หรือ ‘Trilogy of Rat’ ซึ่งมีเนื้อหาต่อกัน เริ่มจากเล่มแรก สดับลมขับขาน (Hear the Wind Sing) และเล่ม 2 พินบอล, 1973 (Pinball, 1973) แม้จะมีตัวละครหลักเดียวกันทั้งสามเล่ม แต่เนื้อหาแต่ละเล่มกลับมีความเป็นเอกเทศและมีธีมของตัวเอง แม้จะไม่ได้อ่านเรียงตามลำดับมาก่อนก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด)

นอกจากงานของเขาจะถูกแปลออกมาโดยโคดันฉะแล้ว เขายังมีผลงานเรื่องสั้นที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร เดอะ นิว ยอร์กเกอร์ (The New Yorker) ซึ่งแม้จะพอมีชื่อเสียงอยู่บ้างในประเทศบ้านเกิด แต่เมื่อมาที่นี่ มูราคามิต้องเผชิญกับมาตรฐานที่สูงของวงการ โดยเฉพาะ เดอะ นิว ยอร์กเกอร์ นั้นมีมาตรฐานในการตีพิมพ์ผลงานที่สูง และไม่ย่อมอ่อนข้อให้แม้แต่กับนักเขียนที่มีชื่อเสียง ดังนั้น การได้ตีพิมพ์ผลงานลงในนิตยสารดังกล่าวก็เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจที่มูราคามิยังคงจำไม่รู้ลืมกระทั่งถึงปัจจุบัน

การตัดสินใจบุกเบิกเส้นทางของตัวเองครั้งนี้ มูราคามิในฐานะนักเขียนญี่ปุ่นท่ามกลางมหานครยักษ์ใหญ่อย่างนิวยอร์ก อันเปรียบเสมือนศูนย์กลางของแวดวงวรรณกรรมโลก นั้นไม่ใช่เส้นทางที่ง่ายเลย มูราคามิตัดสินใจบินเดี่ยวโดยไม่พึ่งพิงกับโคดันฉะ แต่ร่วมทำงานกับบรรณาธิการจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ทั้งปรึกษาหารือ และหาช่องทางในการทำงานร่วมกัน และอีกหนึ่งประการที่มูราคามิทำอย่างจริงจังคือ การทำงานร่วมกับนักแปลที่เหมาะสมจะมาแปลงานของเขา ในบรรดาเหล่านักแปลมากหน้าหลายตามีทั้งนักแปลหนุ่มที่ชื่นชอบในตัวมูราคามิเป็นทุนเดิมและอาสามาแปลงานของเขาด้วยตนเอง อย่าง อัลเฟรด เบิร์นบาม (Alfred Birnbaum) ที่ได้รับหน้าที่ในการแปลผลงานในชุดที่ 3 ของไตรภาคมุสิกอย่าง แกะรอยแกะดาว ออกมาเป็นฉบับภาษาอังกฤษให้กับโดดันฉะในปี 1989 นั่นเอง

(เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย อัลเฟรด เบิร์นบาม มีพื้นเพบางประการที่คล้ายคลึงกับมูราคามิ แม้เขาจะเกิดที่สหรัฐอเมริกา แต่ก็มาเติบโตที่ญี่ปุ่นตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และที่สำคัญคือได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยวาเซะดะ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเดียวกันกับที่มูราคามิจบการศึกษามา หากได้อ่านงานของมูราคามิในหลายๆ เล่ม จะพบว่ามูราคามิค่อนข้างจะยึดติดกับมหาวิทยาลัยวาเซดะอย่างมาก อย่างในเรื่องสั้น Yesterday ก็ว่าด้วยตัวละครหนุ่มตัวหนึ่งที่พยายามอยู่หลายปีเพียงเพื่อจะเข้าเรียนในวาเซดะให้ได้ หรือแม้กระทั่งมหาวิทยาลัยของตัวละครเอกใน Norwegian Wood ก็มีฉากหลังเป็นวาเซดะเช่นกัน)

หลังจากสู้ชีวิตอยู่พักใหญ่ ชื่อของมูราคามิก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นตามลำดับ งานของเขาที่ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและตีพิมพ์ในนิวยอร์ก ค่อยๆ ได้รับความนิยมขึ้น และเริ่มติดอันดับ ‘นิวยอร์ก ไทม์ เบสต์เซลเลอร์’ โดยงานแรกที่เขาตีพิมพ์ในอเมริกาและติดอันดับขายดีคือ คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ: KAFKA ON THE SHORE ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2005 แต่กว่างานของเขาจะติดอันดับ 1 ของ นิวยอร์ก ไทม์ เบสต์เซลเลอร์ ก็ต้องรอถึงปี 2014 ในเล่ม ชายไร้สีกับปีแสวงบุญ: Colorless Tsukuru Tazaki and His Years of Pilgrimage 

อย่างไรก็ดี การมีผลงานอย่างต่อเนื่องและได้รับความนิยมในอเมริกา ทำให้ผลงานของมูราคามิขยายวงออกไปและได้รับความนิยมจากผู้อ่านมากมายหลายประเทศ แม้กระทั่งประเทศที่มูราคามิยังแปลกใจอย่างประเทศรัสเซียที่งานของเขาได้รับความนิยมมาก และหนังสือของเขาเคยติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ในชั้นหนังสือของรัสเซียเกือบครึ่งเลยทีเดียว

(มีการสันนิษฐานกันในหมู่ผู้อ่านว่า หนังสือของมูราคามิที่บรรยายและฉายภาพของสันโดษของตัวละครเอก และความรู้สึกแปลกแยกของตัวเองจากสังคมที่เป็นอยู่ สอดรับเข้ากับความรู้สึกของคนรัสเซียหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ที่ปัจเจกบุคคลต่างรู้สึกสูญเสียอัตลักษณ์และที่ทางของตนเองในสังคม)

แน่นอนว่าในปัจจุบันงานของมูราคามิได้รับความนิยมไปทั่วโลก หนังสือของเขาได้รับการแปลไปมากกว่า 50 ภาษา ในชั้นหนังสือในหลายๆ ร้านต่างก็มีโซนที่ให้พื้นที่กับหนังสือของมูราคามิโดยเฉพาะ นอกจากนี้ งานของเขายังถูกดัดแปลงไปทำเป็นภาพยนตร์จากทั้งนักทำหนังชาวญี่ปุ่นเอง อย่าง Drive My car (2021) ที่กำกับโดย ริวซึเกะ ฮามากุจิ (Ryusuke Hamaguchi) ซึ่งเข้าชิงออสการ์หลายรางวัล หรือแม้กระทั่งถูกดัดแปลงโดยนักทำหนังชาวเกาหลีอย่าง Burning (2018) ที่กำกับโดย อี ชางดง (Lee Chang-dong) และได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน รวมไปถึงดัดแปลงเป็นแอนิเมชันอย่าง Blind Willow, Sleeping Woman (2022) ซึ่งกำกับโดยผู้กำกับสัญชาติฝรั่งเศสอย่าง ปิแอร์ เฟอเดซ (Pierre Földes) 

แล้วทำไมงานของมูราคามิจึงอาจไม่ใช่ soft power?

แม้ในปัจจุบันงานของมูราคามิจะได้รับความนิยมไปทั่วโลก แต่หากจะมองงานของมูราคามิในฐานะ soft power ของประเทศญี่ปุ่นนั้น อาจต้องย้อนดูนิยามความหมายตามที่บิดาแห่งซอฟต์พาวเวอร์อย่าง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ โจเซฟ เอส. ไนย์ จูเนียร์ (Joseph S. Nye Jr.) ได้วางหลักไว้ว่า หัวใจหลักของซอฟต์พาวเวอร์ คือเรื่องการใช้อำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งในมิติหนึ่งคือการใช้วัฒนธรรม และ pop culture ในการโน้มน้าวให้ประเทศอื่นๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และอาจนำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของอำนาจทางเศรษฐกิจด้วยก็ได้ (แม้จะไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกัน) 

หากลองได้ทบทวนเส้นทางของมูราคามิ จะเห็นได้ว่างานของเขาไม่ได้ถูกยอมรับจากคนในประเทศ ในฐานะ ‘วัฒนธรรมประจำชาติ’ เสียด้วยซ้ำ แม้คนญี่ปุ่นอาจภาคภูมิใจว่านักเขียนในประเทศของตนเองได้รับความนิยมและโด่งดังไปทั่วโลก แต่งานของมูราคามิในมุมมองของชาวญี่ปุ่นนั้น แลดูจะไม่มีความญี่ปุ่นเอาเสียเลย แม้กระทั่งชีวิตประจำวันของตัวละครในเรื่องเล่าของมูราคามิที่อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยว จิบเหล้าอเมริกา อ่านนิยายรัสเซีย ไปลงเรียนคอร์สภาษาฝรั่งเศส และมักจะทำซีซาร์สลัดกินอยู่บ่อยๆ ชนิดที่ว่าหากเปลี่ยนชื่อตัวละครทั้งหมดให้เป็นชื่อภาษาอังกฤษก็ย่อมไม่ติดขัดแต่อย่างใด 

นอกจากนี้มูราคามิเองก็ยังมีจุดยืนที่ชัดเจนของการ ‘ละทิ้งความเป็นนักเขียนญี่ปุ่น’ (ซึ่งโดยเนื้อแท้ก็ไม่มีตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว) เมื่อต้องไปบุกเบิกเส้นทางนักเขียนที่ต่างประเทศ

หากมองในแง่การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนชาติอื่นให้เป็นไปในแนวทางตามที่ตนต้องการตามกรอบนิยาม soft power เช่น เมื่อเราดูซีรีส์ซิทคอมฮิตตลอดกาลอย่าง Friends หรือ How I Met Your Mother เราอาจหลงใหลในค่านิยมแบบอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นความน่าสนุกของการอาศัยอยู่ในมหานครนิวยอร์ก การนั่งล้อมวงกับเพื่อนที่ร้านกาแฟประจำ การดูการแข่งขันซูเปอร์โบวล์ การเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส เป็นต้น แต่เราอาจต้องมานั่งพินิจดูว่านักอ่านชาวอเมริกันหรือชาวรัสเซียจะเปลี่ยนพฤติกรรมและค่านิยมให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของญี่ปุ่นได้อย่างไร หลังจากอ่านงานของมูราคามิ?

ประการสุดท้าย เมื่อเรามองเส้นทางความสำเร็จของมูราคามิ จะพบว่าเป็นเส้นทางที่ตัวลงทุนลงแรงมาด้วยตนเองอย่างสุดตัว ทั้งการตัดสินใจละทิ้งบ้านเกิด ออกไปหาที่ทางของตัวเองในมหานครที่การแข่งขันสูงลิบ การทำงานร่วมกับนักแปลอย่างใกล้ชิด การหมั่นเขียนงานส่งให้นิตยสารอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้มูราคามิได้ลงมือทำด้วยตนเองโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศผู้ให้กำเนิดหรือวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นแต่อย่างใด

ดังนั้น ก่อนจะเรียกหรือขนานนามว่า ‘โปรดักส์’ ใดเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของเราหรือไม่ เราอาจต้องลองทบทวนว่าค่านิยมหรือผลลัพธ์ใดที่เราต้องการจากโปรดักส์นั้น และที่สำคัญเราสนับสนุนโปรดักส์นั้นพอสมควรหรือยัง หรือเพียงแค่กระโดดเข้ามาเคลมผลงานเมื่อเห็นมูลค่าทางเศรษฐกิจอันมหาศาลของมัน

อ้างอิง:

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า