เรื่องสั้นตามใจชอบลำดับที่ 4: ‘ดาวหาง’ นามปากกาลึกลับ ผู้สร้างนวนิยายการเมืองเรื่องแรกของสยาม

“ดาวหาง” เป็นนามปากกาลึกลับในประวัติวรรณกรรมสยาม-ไทย ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475  เนื่องจากผลงานเรื่อง พัทยา ของเขาได้รับการบอกกล่าวกันมาว่าเป็น “นวนิยายการเมืองเรื่องแรกของสยาม”  นักเขียน นักอ่าน และนักหนังสือเก่าต่างให้ความสนใจ และพยายามตามหา “นวนิยายการเมืองเรื่องแรก” เล่มนี้มาตลอดเวลาเกินครึ่งศตวรรษ  แม้จะมีผู้ค้นพบนวนิยายเรื่องนี้รวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกเมื่อ  พ.ศ. 2495  แต่ก็ยังถามไถ่กันต่อมาว่า “ดาวหาง” เป็นนามปากกาของใคร  ทำไมจึงลึกลับนัก  เป็นนักเขียนบุรุษหรือนักเขียนสตรี   ภาพถ่ายหรือภาพวาดก็ไม่เคยมีปรากฏให้เห็น  ตามหากันมาเป็นเวลานาน  แต่ก็ยังไม่ทราบว่าเป็นนามปากกาของใคร  ข้อมูลเบื้องต้นที่พอปะติดปะต่อได้ก็คือ “ดาวหาง” เป็นนามปากกาของนักเขียนบุรุษในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  ผู้ที่นำเรื่องนี้มาเขียนถึงเป็นครั้งแรกคือ เจือ สตะเวทิน  โดยเขียนไว้ในหนังสือตำราภาษาไทยอุดมศึกษา เล่ม 1 ประวัตินวนิยายไทยเล่าถึงความเป็นมาของนวนิยายไทยยุคเริ่มต้น  ให้รายชื่อนวนิยายบางเรื่อง  ประวัติย่อและนามปากกาของนักเขียน นักประพันธ์ บางคนไว้พอสังเขป  และหนังสือ “ประวัตินวนิยายไทย” เล่มนี้นับเป็นงานเขียนตำราประวัติวรรณกรรมสยาม-ไทยสมัยใหม่เล่มแรกๆ ที่ให้แหล่งข้อมูลเริ่มต้นในบางเรื่องไว้พอประมาณ งานเขียนแบบตำราของเจือ สตะเวทิน ชุดนี้ มี 2 เล่ม คือ ประวัติวรรณคดีสำหรับชั้นเตรียมอุดมศึกษา และ  ภาษาไทยอุดมศึกษา เล่ม 1  ประวัตินวนิยายไทย   [ พิมพ์จำหน่ายเอง  โรงพิมพ์สุทธิสารการพิมพ์ พ.ศ.2517]  ข้อมูลเบื้องต้นในตำราประวัติวรรณกรรมเล่มนี้แม้จะไม่สมบูรณ์จนเห็นภาพรวมอย่างมีระบบ  วิธีการเขียนก็ไม่ได้อ้างอิง “เอกสารชั้นต้น” อย่างมีที่มาที่ไป  แต่หนังสือตำราวรรณกรรมเล่มนี้ ผมอยากให้เครดิตว่าเป็นงานบุกเบิกที่ทำให้เห็นภาพต่อเนื่องบางประการของคำว่าประวัติวรรณกรรมสยาม-ไทยสมัยใหม่

ข้อบกพร่องก็คือแม้จะรู้ที่มาแต่การไม่อ้างอิงไทม์ไลน์จากเอกสารชั้นต้นก็ทำให้การสืบค้นในรุ่นต่อมามีความไม่กระจ่าง  เช่นไม่บอกว่า ความไม่พยาบาท ของ “นายสำราญ” [ครูเหลี่ยม] พิมพ์ครั้งแรกที่ไหน  เมื่อไร  ทั้งที่มีความสำคัญในฐานะที่ได้ชื่อว่าเป็น First Novel ของประวัติวรรณกรรมสมัยใหม่

หนังสือประวัตินวนิยายไทยของ เจือ สตะเวทิน ที่นำมาอ้างเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2517 มีการเอ่ยถึงนักเขียนนักประพันธ์นักหนังสือพิมพ์ในเชิงประวัติสั้นๆ ไว้หลายคนเช่นหลวงสารานุประพันธ์  “ศรีบูรพา”  “อารยัณโฆษ”  ส่ง เทพาสิต  ม.จ.อากาศดำเกิง  “ไม้ เมืองเดิม”  อิศรา อมันตกุล  “ส.ธรรมยศ”  “อ.อุดากร” สด กูรมะโรหิต  มนัส จรรยงค์  “สันต์ เทวรักษ์” ฯลฯ  ที่สำคัญคือได้อ้างตัวอย่างทั้งเรื่องสั้นและนวนิยาย ( ที่เจือ สตะเวทิน เรียก Fiction ว่า “เรื่องสมมุติ” )  มานำเสนอไว้เหมือนต้องการใช้เป็นแบบเรียน และในบรรดาตัวอย่างของ “เรื่องสมมุติ” เหล่านั้นมีเรื่อง พัทยา ของผู้ใช้นามปากกา “ดาวหาง” รวมอยู่ด้วย

จึงอาจกล่าวได้ว่า  ผมรับรู้ข้อมูลกว้างๆของนวนิยายเรื่อง พัทยา ของ “ดาวหาง” เป็นครั้งแรก ( โดยยังไม่เคยเห็น “เอกสารชั้นต้น” ที่นำมารวมพิมพ์เป็นเล่มในภายหลัง  ก็จากคนชื่อ เจือ สตะเวทิน นี่เอง  และบุคคลผู้นี้  ครั้งหนึ่งในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถือเป็นคนแรกที่เคยอภิปรายให้ความเห็นว่านวนิยายไทยในยุคปัจจุบัน ( พ.ศ.2515 ) กำลังตกอยู่ในภาวะ “น้ำนิ่ง” และเมื่อน้ำนิ่งนานเกินไป  มากเกินไป  มันก็จะเข้าสู่ภาวะ “น้ำเน่า”  ( คือไม่มีคุณภาพ )  วาทกรรมของคำว่า “น้ำเน่า” ที่ปรากฎขึ้นในช่วงนั้นได้ถูกขบวนการฝ่ายซ้ายในเวลานั้นนำเอาไปใช้เปรียบเทียบกับคำว่า “เพื่อชีวิต” จนเลยเถิด จนเกิดเป็นกระแส “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” VS “วรรณกรรมน้ำเน่า” และนำไปสู่วาทกรรมแบบก่อกระแสในกรณี “เผาวรรณคดี” ในช่วงเวลาต่อมา

“ ข้าพเจ้า [เจือ สตะเวทิน] ..มีมติส่วนตัวของข้าพเจ้าว่า  นวนิยายการเมืองเรื่องแรกของไทยเรา คือเรื่อง พัทยา โดย ดาวหาง  นวนิยายเรื่องนี้แหวกแนวที่สุด เมื่อครั้งลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งนานมาแล้ว  ผู้อ่านตื่นเต้นกันมาก  ต่อมาพิมพ์เป็นเล่มโดยบริษัทประชาช่าง เมื่อ พ.ศ.2495 รวม 2 เล่มด้วยกัน  ขนาด 16 หน้ายก  รวมจำนวน 1,191 หน้า  ข้าพเจ้าเคยอ้างเรื่องนี้แก่นักศึกษาหลักการประพันธ์ของข้าพเจ้าเสมอว่า เรื่อง พัทยา คือ ตำราการเขียนนวนิยายการเมือง…”

อย่างไรก็ตาม  เจือ สตะเวทิน ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าด้วยเรื่องประวัติชีวิตและผลงานอื่นๆ ของ “ดาวหาง” ไว้แต่ประการใดเลย  นอกจากทิ้งไว้ให้รุ่นหลัง “เดา” กันต่อมาว่า 

“…เข้าใจว่า [ดาวหาง] เป็นนักการทูตไทยคนหนึ่งที่มีความรอบรู้มากทีเดียว ”   

ต่อมา เจือ สตะเวทิน ได้นำเอาประเด็นเรื่องนี้มาแยกเขียนเป็นบทความต่างหากในชื่อ พัทยา : นวนิยายการเมืองเรื่องแรกของไทย [ พิมพ์ครั้งแรก บางกอกไดเจสต์ : มกราคม 2525 ] และผมเคยได้นำบทความเรื่องนี้มาพิมพ์ซ้ำอีกครั้งใน โลกหนังสือ ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 : ธันวาคม 2526  โดยก่อนหน้านี้เคยมีบทวิจารณ์เรื่อง พัทยา นวนิยายการเมืองเรื่องแรกของไทย โดย อิงอร สุพันธุ์วนิช [ พิมพ์ครั้งแรกใน อักษรศาสตร์พิจารณ์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 13-14 มิถุนายน – กรกฎาคม 2519 ]  แม้จะเขียนถึงเนื้อหาของนวนิยายเรื่องนี้ไว้เชิงวิจารณ์  แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดและข้อมูลเชิงประวัติว่า “ดาวหาง” เป็นใคร  อีกทั้งยังคงเชื่อกันว่า “ดาวหาง” คืออดีตนักการทูตของไทยที่มีความรอบรู้ทั้งเรื่องในประเทศและนอกประเทศ  ภาพถ่ายของ “ดาวหาง” ก็ไม่เคยปรากฏหน้าตาว่าเป็นเช่นใด  เรื่องของเรื่องก็คือยังลึกลับกันมาเรื่อย  แต่ก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผลงานเรื่อง “พัทยา” “..เขียนเมื่อ พ.ศ.2477 จบลงเมื่อ พ.ศ.2480 โดยเขียนลงในหนังสือพิมพ์ สุวันนภูมิ ก่อน แล้วบริษัทประชาช่างได้จัดพิมพ์เล่มหนึ่งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2494 และเล่มสองในปี พ.ศ.2495 ”

พัทยา ของ “ดาวหาง” ทั้งเล่ม 1 และเล่ม 2  แม้จะมีนักหนังสือเก่าหลายคนค้นพบหนังสือชุดนี้ในเวลาต่อมา  แต่ก็ไม่มีผู้ใดทราบประวัติชีวิตและไม่เคยมีภาพถ่ายของบุคคลผู้นี้ปรากฏ  จนต่อมาได้ทราบข้อมูลเพิ่มขึ้นอีกว่า  นอกจากเรื่อง พัทยา แล้ว นักเขียนลึกลับผู้ใช้นามปากกาว่า  ดาวหาง ผู้นี้  ยังมีผลงานเขียนนวนิยายขนาดสั้นอีกหลายเรื่อง  เช่นที่รวมพิมพ์ไว้เป็นเล่มในชื่อ  จุดดำ  สำนักพิมพ์เขษมบรรณกิจพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2502 [ อ้างใน ละครแห่งโลก เล่าเรื่องหนังสือ โดย “ศรีดาวเรือง”  สำนักพิมพ์ไรเตอร์  2537 ]

จนอีกหนึ่งทศวรรษต่อมาผมจึงได้รับจดหมายจากคุณธรรมนูญ เรืองศิลป์ บุตรชายของ ใช้ เรืองศิลป์ [ นามปากกา “ช.เรืองศิลป์”] นักเขียนนักประพันธ์และบรรณาธิการรุ่นเดียวกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ที่ได้กรุณาแจ้งข้อมูลเบื้องต้นมาให้ทราบเป็นครั้งแรกว่า  ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง พัทยา ที่ใช้นามปากกา “ดาวหาง” นั้นมีชื่อจริงว่า รัตน์ ศรีงาม  เป็นนักเขียน นักแปล และนักเขียนบทความทางการเมือง  นอกจากนามปากกา “ดาวหาง” แล้ว  ยังมีนามปากกาอื่นด้วย คือ “ร.ศรีงาม” และ “พระไมตรีราชรักษา”   ผลงานเรื่อง พัทยา พิมพ์ครั้งแรกเป็นตอนๆ ใน นสพ.สุวันนภูมิ รายวันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2477 – 2480 และต่อมาในช่วงทศวรรษ 2490  ยังมีงานเขียนเรื่องสั้น บทกวี และงานเขียนคอลัมน์ในแบบต่างๆ  พิมพ์ครั้งแรกใน เอกชน รายสัปดาห์  สยามสมัย รายสัปดาห์ และ ปิยะมิตร รายสัปดาห์  จนมายุติบทบาทลงในช่วงต้นทศวรรษ 2500 เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2500 และทำรัฐประหารอย่างเบ็ดเสร็จอีกครั้งในช่วงปี พ.ศ.2501 และเริ่มจับกุมนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักเคลื่อนไหวต่างๆอย่างเด็ดขาดในปี พ.ศ.2503  นามปากกา “ดาวหาง”  “ร.ศรีงาม” และ “พระไมตรีราชรักษา” จึงค่อยๆเลือนหายไปจากแวดวงอย่างไร้ร่องรอย

จนเมื่อปี พ.ศ. 2559 เวียง-วชิระ บัวสนธ์ และเพื่อนได้พยายามสืบหาข้อมูลต่อจากที่ทราบว่า “ดาวหาง” คือนามปากกาของ รัตน์ ศรีงาม และย้ายมาทำธุรกิจอยู่ในจังหวัดชลบุรี  และต่อมาได้แกะรอยไปเรื่อยจนได้พบกับทายาทคนหนึ่งของคุณรัตน์ ศรีงาม และได้รับภาพถ่ายของ “ดาวหาง” มาจากทายาท พร้อมทั้งข้อมูลเชิงประวัติบางประการ  จนทำให้ชัดเจนมากขึ้น  กล่าวคือ

รัตน์ ศรีงาม เกิดเมื่อวันที่ 2 กันยายนพ.ศ.2454 และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมพ.ศ.2526  รวมอายุ 72 ปี  เป็นคนกรุงเทพฯ ที่ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2500 หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม  คุณรัตน์ ศรีงามจึงละเลิกออกจากแวดวงหนังสือ หันไปทำธุรกิจส่วนตัวในจังหวัดชลบุรี

ผลงานการประพันธ์ของ “ดาวหาง” “ร.ศรีงาม” และ “พระไมตรีราชรักษา” [ ชื่อนี้นำมาจากชื่อตัวละครเอกในนวนิยายเรื่องพัทยาซึ่งอดีตเคยเป็นนักการทูตเกษียณอายุมีประสบการณ์พบปะผู้คนในต่างประเทศ  และเป็นผู้นำเอาแนวคิดเรื่องสังคมนิยม – สหกรณ์ มาสู่เมืองในอุดมคติ – พัทยา]  รวมทั้งข้อมูลเชิงประวัติในด้านต่างๆ  ทราบมาว่า คุณเวียง-วชิระ บัวสนธ์ ได้ติดต่อกับทายาทของคุณรัตน์ ศรีงาม ( รัตน์ ศรีงาม มีทายาท 3 คน บุตรสาว 2 คน บุตรชาย 1 คน บุตรสาวคนโตอพยพไปอยู่ต่างประเทศ บุตรสาวคนที่ 2 คือ คนที่ บก.เวียง-วชิระ บัวสนธ์ ติดต่อ เพื่อจะขออนุญาตนำผลงานเรื่อง “พัทยา” “จุดดำ” และเรื่องสั้นอื่นๆ ที่ค้นพบมาพิมพ์เผยแพร่ให้หาย “คาใจ” ในเวลาต่อไป  เพราะในเวลานี้ทุกท่านในแวดวงก็คงได้ทราบแล้วว่า นามปากกาลึกลับ “ดาวหาง” เป็นใคร  หน้าตาเป็นเช่นใด และที่แน่ๆก็คือไม่ใช่ “…อดีตนักการทูตของไทย” ดังที่ เจือ สตะเวทิน เคยให้ข้อมูลไว้

รัตน์ ศรีงาม เจ้าของนามปากกา “ดาวหาง” เกิดเมื่อปีพ.ศ.2454   กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา “ศรีบูรพา” เกิดเมื่อปี พ.ศ.2448 เมื่อไล่อายุกันแล้ว ก็ต้องถือว่า รัตน์ ศรีงาม เป็นนักเขียน นักประพันธ์ อยู่ในแวดวงร่วมสมัยเดียวกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ และ “คณะสุภาพบุรุษ”  กล่าวคือ  “ศรีบูรพา” เป็นรุ่นพี่ของ “ดาวหาง” 6 ปี  แต่ที่น่าแปลกก็คือแวดวงหนังสือในบ้านเราต่างรู้จักชื่อเสียงและผลงานของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และ “ศรีบูรพา” เป็นอย่างดี  แต่กลับไม่รู้จัก รัตน์ ศรีงาม และ “ดาวหาง” ที่ก็มีผู้ยกย่องไว้ว่าเป็นผู้สร้างนวนิยายการเมืองเรื่องแรกของสยาม-ไทย เมื่อ พ.ศ.2477  เมื่อดูจากไทม์ไลน์ในปี พ.ศ.2477 รัตน์ ศรีงาม เจ้าของนามปากกา “ดาวหาง” ที่เขียนผลงานเรื่องนี้ทะยอยพิมพ์ ใน นสพ. สุวันนภูมิ  รายวัน  เขาเพิ่งเป็นหนุ่มอายุ 23 ปีเท่านั้น  แสดงว่ามีอัจฉริยภาพทางการประพันธ์มาตั้งแต่อายุยังไม่เบญจเพส แต่แวดวงในบ้านเรากลับไม่มีฐานข้อมูลเชิงประวัติและภาพถ่ายของเขาบันทึกไว้อย่างเป็นระบบ  จนเวลาล่วงเลยมาเกินครึ่งศตวรรษ 

เรื่องสั้นตามใจชอบแม่ของลูกของ “ดาวหาง” ที่นำมาปรากฏใน Way of Words วาระนี้  เอกสารชั้นต้นที่ได้ระบุไทม์ไลน์ไว้ว่าพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร เอกชน  รายสัปดาห์ ปีที่ 5 เล่มที่ 3 พ.ศ.2491 ( ชื่อที่ปกนิตยสารใช้ว่า “แม่ของโลก” แต่ชื่อภายในเล่มใช้ว่า “แม่ของลูก” ดังนั้นคงต้องมีคนปรู๊ฟพลาดที่ไหนสักแห่ง  ผมขอใช้ชื่อ “แม่ของลูก” ที่เป็นเนื้อหาของเรื่องสั้นมากำหนด )  และจากการที่มีผลงานของ “ดาวหาง” ปรากฏในนิตยสาร “เอกชน” รายสัปดาห์  ในช่วงทศวรรษ 2490 ทำให้ผมคิดไปว่า บางที “ดาวหาง” อาจจะมีกับความสัมพันธ์กับนักเขียน นักประพันธ์ใน “กลุ่มจักรวรรดิศิลปิน” ของ สด กูรมะโรหิต มาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 2480 – 2490 และจากความสัมพันธ์ในครั้งนั้น ก็อาจเป็นไปได้ที่แนวคิดเรื่องสังคมนิยม-สหกรณ์ ของ “ดาวหาง” [ ที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง พัทยา ] ได้นำมาสู่แนวคิดในเรื่องสหกรณ์ศิลปินที่ปรากฏอยู่ใน “กลุ่มจักรวรรดิศิลปิน” ของ สด กูรมะโรหิต  ข้อมูลบางประการที่ทราบมาจากทายาทของ “ดาวหาง”  เป็นที่แน่ชัดว่า ทั้งสด กูรมะโรหิต และ รัตน์ ศรีงาม นั้น เคยเป็นเพื่อนมิตรกันมาตั้งแต่ในช่วงสมัยเริ่มต้นที่ปรากฏนามปากกา “ดาวหาง” 

ข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งของผม ก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่แนวคิดในเชิงอุดมคติก้าวหน้าที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง “พัทยา” ของ “ดาวหาง” ที่หนังสือพิมพ์ “สุวันนภูมิ” รายวัน ทะยอยพิมพ์ครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ.2477 -2480 นั้น  ว่าไปแล้วก็คือการนำเอาแนวคิดเรื่องสังคมนิยม-รัฐสวัสดิการ ที่ปรากฏอยู่ใน “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ของนายปรีดี พนมยงค์ ที่เรียกกันว่า “สมุดปกเหลือง” เมื่อปี พ.ศ.2476 นั้น  บางทีอาจเป็นความบันดาลใจที่ทำให้คนหนุ่มอายุ 23 นำเอามาเขียนในรูปแบบของคำว่า “นวนิยาย” ก็เป็นได้  นี่เป็นข้อสันนิษฐานที่น่าจะมีการศึกษาหาแง่มุมในทางประวัติวรรณกรรมต่อไป โดยการสืบหาเอกสารชั้นต้น คือ นสพ “สุวันนภูมิ” รายวัน ที่ทะยอยพิมพ์นวนิยายเรื่อง “พัทยา” เป็นครั้งแรก ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2477 -2480 มาศึกษาเปรียบเทียบ

3 ธันวาคม 2561

 


 

แม่ของลูก

‘ดาวหาง’

 

“นอนเสียเสียเถิดลูก”   เสียงคุณแม่ยังกังวานอยู่ในหู  คุณแม่ปิดประตูลงไปข้างล่าง ทิ้งให้ลูกน้อยสองคนนอนกันตามลำพัง, หูคอยหวั่นแต่ตุ๊กแก, ตาก็หวาดแต่อ้ายหง่าว.

เรวัตเปนพี่  เรไรเปนน้อง  อู๊ดคนดีของแม่ปลอบแอ๊ดคนซนของแม่ ซึ่งกำลังจะกะบวน “อ้ายหง่าวมันจะกินตับ แอ๊ดอย่าร้องไห้สิ  ประเดี๋ยวคุณพ่อจะเกลียดแอ๊ดนะ  คุณพ่ออยู่บนสวรรค์ ท่านกำลังคุ้มครองเรา” – ชี้ไปที่รูปถ่ายของคุณพ่อในเครื่องแบบตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์, ยิ้มเก๋บนใบหน้า.

“จุนป้อไปหวันไม่มาหาแอ๊ดมั่งเลย” หนูเรไรบ่น. เรวัตกล่อมอื้อฮือให้น้องนอนแทนแม่เพราะแม่ลงไปรับแขกข้างล่างครอบครัวนี้เปนครอบครัวแม่หม้ายลูกติด  มัทนาเปนภริยาของนายร้อยตำรวจตรีแกล้ว ใจกล้า, อยู่กินกันมาเปนผาสุข ปราศจากทะเลาะเบาะแว้งจนเกิดบุตร ๒ คน คือ เรวัต อายุ ๑๒ ขวบ  เรไรอายุ ๕ ขวบ   ทั้งๆที่ผัวหนุ่มเมียสาวรักกันมาก. พรหมลิขิตได้พรากคู่นี้อย่างฉับพลัน เมื่อ ร.ต.ต.แกล้ว ใจกล้า ต้องปืนผู้ร้ายตายในการต่อสู้กับคนร้าย,  มันเปนการตายในหน้าที่  มันเปนความดีความชอบซึ่งทำให้มีบำเหน็จบำนาญเลี้ยงชีพบุตร ภรรยา โดยมิต้องอนาทรร้อนใจ  มันเปนบำนาญที่มัทนาไม่อยากได้เกินไปกว่าชีวิตผัวรัก, เพราะบำนาญนี้มัทนาต้องเสียน้ำตาทุกคราวที่ได้เซ็นนามรับเงิน. โอ, พ่อทูนหัวของเมียเอ๋ย  ยามอยู่พ่อไม่เคยให้เมียลำบาก  คำน้อยก็ไม่ว่าให้เจ็บช้ำน้ำใจ  ยามตายพ่อก็ทิ้งเงินเลี้ยงชีพไว้ไม่ให้เมียเดือดร้อน – คิดถึงข้อนี้ทุกครั้ง มัทนาก็ร้องไห้จนน้ำตาแห้งไปเอง – ร้องไห้ไม่มีน้ำตา  ร้านมัทนาเปนร้านตัดเสื้อ, ข้างล่างเปนร้าน  ข้างบนเปนที่อยู่  เปนตึกริมถนน, เช่าช่วงจากพระคลังข้างที่  คิดจากรายได้จากการเย็บ กับเบี้ยบำนาญก็พอทำให้สามชีวิตอยู่เปนสุขได้  แต่กามเทพท้าวเธอทรงโปรดแผลงศร – ศร ธนบัตร นั่นแหละทำให้แม่หม้ายสาวสวย เปนเสน่ห์ต้องการของชายแก่และชายหนุ่ม ทั้งโสดชนิดสด หรือไม่สด แต่ที่เด่นชัดที่สุด คุณแม่ชักเอนเอียงด้วยนั้นก็คือ ลุงศักดิ์ของอู๊ดและแอ๊ด,  ร.ต.ท.ศักดิ์ เก่งกาจ เพื่อนอาวุโสของแกล้วนั่นเอง.

ขณะนี้ศักดิ์กำลังมาหาและสนทนากับคุณแม่อยู่ข้างล่างอย่างทุกคืน.

แรกทีเดียวศักดิ์คงเคารพเมียเพื่อน, มาเยี่ยมในยามทุกข์โศก,  ต่อมาก็เกิดความสงสารในความว้าเหว่  ศักดิ์เปนสุภาพบุรุษคน ๑ พึ่งจะรู้ตัวว่ารักมัทนาจริงจังเมื่อทำบุญร้อยวัน หลังจากทำศพเพื่อนรักแล้ว, เมื่อมัทนาร้องไห้ร่ำไรกับลูกน้อยคนเล็ก, เมื่อเขาช่วยอุ้มลูกคนโตซึ่งร้องไห้ดิ้นรนขณะที่เขากำลังชุมเพลิง โชตนาการณะจิตตกาธาน – เด็กรู้แต่ว่าพ่อกำลังไปสวรรค์  ไปอย่างไม่เห็นหน้า ไปอย่างไม่มีวันกลับ โธ่เอ๋ยเด็ก  เจ้าจะรู้หรือว่าเขาตายอย่างใดกัน  แอ๊ดคนซนคนโปรดของป๋าไม่มีวันรู้เลยว่า พ่อหายไปไหน จึงเหลือแต่แม่คนเดียวกับรูปถ่ายแขวนอยู่ที่หัวนอน,  อู๊ดคนดีของแม่รู้ประสีประสาบ้างเล็กน้อย  แต่ว่าคุณพ่อตายแล้ว  เขาจะต้องอยู่กับแม่, เปนเพื่อนแม่และจะเลี้ยงแม่เมื่อแม่แก่เฒ่า  เรวัตนึกตรงนี้ก็น้ำตาไหลพราก  เขากำลังจะมีพ่อใหม่  แม้พ่อใหม่จะเปนลุงศักดิ์ที่คุ้นเคย,  จิตต์ใจส่วนลึกของเด็กน้อยก็ไม่รักลุงศักดิ์เหมือนคุณพ่อ  ชีวิตเด็กกำพร้าที่โรงเรียน, ถูกเย้าถูกเยาะจากเพื่อนร่วมชั้น  มีแต่ความว้าเหว่ย่อมหาเพื่อนผู้เห็นใจ  แต่เพื่อนอย่างลุงศักดิ์มาบ่อยๆทุกคืน  เด็กน้อยก็รู้สึกไม่ชอบที่ให้ใครมาแย่งความรักของแม่ ซึ่งควรจะมีแก่ตนคนเดียวเท่านั้น – ประสาทที่ ๖ บอกว่าลุงศักดิ์เปนคนอื่น  เรไร – แอ๊ด หลับแล้ว,  ทารกผู้ไม่สีสาอะไรเลย  ยังอยู่แต่เรวัต – อู๊ด ช่างคิด, เด็กกำพร้าพ่อซึ่งน้อยเนื้อต่ำใจเปนนิจสิน,  เขาลุกขึ้นกราบรูปพ่อ, น้ำตาไหล  โดยไม่มีเหตุผล,  ก้มลงแนบพื้นแอบดูแม่ด้วยใจเปนห่วง, แสงไฟจากข้างล่างส่องลอดมา, เรวัตสอื้นกระซิกๆ, ภาวนาอย่าให้คุณแม่ลืมลูกเสียเลย  เพราะเหตุการณ์ที่เคยพบมีบ่อยๆ พ่อเลี้ยงเคี่ยวเข็ญลูกเลี้ยง, ทารุณโหดร้าย  เสียงห้าวๆของลุงศักดิ์ขึ้นมากระทบหู.

“จริงนะครับคุณมัทนา  ผมรักแกล้วเท่าใด ผมก็รักลูกของแกล้วเท่านั้น  ขอสาบานให้ต่อพระแก้วพระกาฬ, ฟ้าดินผีสางเทวดาเปนพยานด้วย  ผมรักคุณ ผมสงสารคุณและก็ไม่เปนการเสียหายอะไร  เราไม่ประพฤติผิดประเพณีศีลธรรมอันใด  ผมจะต้องจัดการให้ถูกต้องตามกฎหมาย  คุณเปนผู้หญิงคนเดียว จะปกครองตัวเองท่ามกลางความหลอกลวงของโลกไม่ไหว  ส่วนผม, นิสสัยใจคอเปนอย่างไร เราเคยพบเห็นกันมานาน ย่อมรู้ใจกันดี ไม่ต้องจารนัย  ผมมาคืนนี้เพื่อรับคำตัดสินใจครั้งสุดท้ายของคุณตามที่คุณผลัดไว้”   มัทนาไม่ตอบ, นิ่งอั้นแล้วก็ร้องไห้,  ฝ่ายชายก็พูดต่อ “ไม่ต้องร้องไห้ครับ, ผมไม่คาดคั้น, แกล้วเปนคนดี, ผมรู้, คุณย่อมรักและอาลัย แต่แกล้วตายไปแล้ว ไม่มีวันฟื้นขึ้นมาอีกหรอก.  ถึงคุณจะร้องไห้น้ำตาเปนสายเลือด ทางที่ดีคุณควรคิดทนุบำรุงลูกของเขาไว้แทนพ่อดีกว่า.  เรามาปรึกษาถึงอนาคตกันเถิดนะมัทนาคนซื่อ”

เรวัตคนดีของแม่ตื้นตันใจ, แอบฟังอยู่ข้างบน,  แม้จะเปนลุงศักดิ์ที่นับถือ, เกี้ยวคุณแม่. ใจเต้น, อกสั่นขวัญแขวนเมื่อคุณแม่กำลังจะตอบ.  ก้มลงกราบรูปคุณพ่อ อธิษฐานตามประสาเด็ก “คุณพ่อครับ แม้จะอยู่สวรรค์ชั้นใด ยังคิดถึงลูกน้อย ขอให้ดลจิตต์ดลใจคุณแม่ให้รักลูกมากๆ”  เท่านั้นก็ตื้นตันจุกคอหอยพูดไม่ออก.  เสียงคุณแม่พูดช้าๆ แต่ชัดถ้อยชัดคำ – เรวัตตั้งใจตรับฟังเต็มที่ หูผึ่ง มันเปนคำพิพากษาตัดสินโชคชะตาของคุณแม่ – และลูกด้วย, อนาคตซึ่งต่อวินาฑีสุดท้ายนี้แหละ

“ขอบพระคุณที่กรุณาดิฉัน  ดิฉันไม่โกรธคุณ, ไม่เกลียดคุณ  แต่ทว่าดิฉันไม่เคยคิดจะรักคุณอย่างชู้สาวเลย.  พี่แกล้วสร้างคุณงามความดีไว้ให้แก่ดิฉันมากมาย ซึ่งจะลืมเสียมิได้ ตลอดชีวิตสมรสที่ไม่เคยวิวาทกันเลย  ก็คุณงามความดีนี้ ดิฉันควรจะลืมเขาเสียหรือ?  ความรักคือความเสียสละ,  ดิฉันรักสุดชีวิต, ทำไมดิฉันจะเสียสละตัวเอง,  เสียสละความสุขส่วนตัวต่างๆเพื่อเขา เพื่อลูกของเขาไม่ได้  ดิฉันขอกราบขอโทษคุณศักดิ์ด้วยที่ให้คำตอบเช่นนี้,  ดิฉันรู้ว่าคุณหวังดีแก่ดิฉัน แต่ดิฉันมีกรรม มีผัวก็ไม่อยู่ด้วยกันยืนยาว ก็ขอสู้กรรมตามลำพังแม่ๆลูกๆ”  โอ..กามเทพเสด็จลับไปโดยง่ายๆ เหมือนเทพเจ้าช่วยอุ้มลูกพ้นจากขุมนรก,  เรวัตหยุดสอื้นเปนปลิดทิ้ง, รักแม่ขึ้นอีกเปนกอง – แม่ที่ดีย่อมรักลูกเหนือตัวเอง – อย่างนี้ไม่ควรรัก แต่กตัญญูต่อแม่หรอกหรือ  แอ๊ดกลับตัวพลิกมาถูก อู๊ดเอามือลูบหลังเบาๆก็หลับต่อไปไม่ตื่น เสียงลุงศักดิ์พูดขอโทษและขอตัวลาไปอย่างสุภาพบุรุษ, เสียงนั้นสั่นเครือ ลุงศักดิ์ว่า “ขอให้เราเปนเพื่อนกันชั่วกัลปาวสาน,  ผมจะรักตาอู๊ดกับยายแอ๊ดอย่างหลาน, เสมอต้นเสมอปลาย  ขาดอะไรบอกผมจะช่วยอย่างน้องสาวกับหลานกำพร้าพ่อ  เหตุการณ์ที่แล้วมาขอให้นึกเปนฝันก็แล้วกัน”

ลุงศักดิ์ไปแล้ว  ลุงศักดิ์เปนสุภาพบุรุษ  ลุงศักดิ์ไม่ข่มขืนใจ  อู๊ดคนดีของลุงศักดิ์รู้สึกรักลุงศักดิ์อีกมาก,  แม่ปิดประตูร้าน, ดับไฟแล้วขึ้นมาข้างบน, เสียงฝีเท้าเบาๆ เรวัตกราบรูปคุณพ่ออีกครั้ง ๑ ที่ช่วยดลใจคุณแม่ทันเหตุการณ์พอดี,  เงยหน้าเห็นคุณพ่อในรูปถ่ายยิ้มก็ยิ้มด้วย  รีบเข้านอนที่ในมุ้ง คลุมโปงนอนยิ้มคนเดียวในผ้าห่ม – อยากจะลุกขึ้นไหว้คุณแม่ก็กลัวจะถูกจับได้ว่าแอบฟัง เสียกริยาสมบัติผู้ดีดังที่คุณแม่สอนไว้  เสียงคุณแม่เปิดมุ้งเข้ามา, ถอนใจใหญ่ “หลับหมดนะลูกนะ ขอพี่แกล้วคุ้มครองมัทนากับลูกน้อยให้ตลอดรอดฝั่งไปเถิด”  เรวัตทำเปนพลิกตัวตื่น, คุณแม่เลยถือโอกาสกอดไว้, หูฟังไม่ผิด คุณแม่ร้องไห้เบาๆ ท่านคงชอกช้ำใจที่สุดแล้ว  เรวัตนั้นเล่าน้ำตาร่วง แต่เปนน้ำตาของชัยชนะอย่าง ๑ ในชีวิตลูกกำพร้า  โอ คุณแม่ของลูก  เราเห็นหน้ากันแม่ๆ ลูกๆเท่านั้นนะแม่จ๋า.

 

พิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร เอกชน รายสัปดาห์  ปีที่ 5 เล่ม 3 พ.ศ.2491หมายเหตุ : การใช้สำนวนภาษา สะกด การันต์ และวรรคตอน ได้คงไว้ตามต้นฉบับเอกสารชั้นต้นปรากฏครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2491 ซึ่งในสมัยนั้นเรียกการนำเสนอในส่วนนี้ว่า “บันเทิง”

 

Author

สุชาติ สวัสดิ์ศรี
นักเขียนไทยกว่าครึ่งค่อน โดยเฉพาะสายวรรณกรรมสร้างสรรค์ ทั้งผลิตเรื่องสั้นและนวนิยายในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา แทบปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วน ‘ผ่านมือชาย’ ที่ชื่อสุชาติ สวัสดิ์ศรี ผู้เป็นเสมือนครูใหญ่แห่งโรงเรียนวรรณกรรมไทยโดยแท้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า