ประชานิยมในโลก (ไร้) ประชาธิปไตย

ในบทความ ‘What is Populism? อะไรคือ ‘ประชานิยม’ ในสากลโลก?’ โดย สฤณี อาชวานันทกุล ซึ่งเผยแพร่ใน the101.world เมื่อ 25 ธันวาคม 2560 ให้นิยามความหมายของคำว่า ‘ประชานิยม’ โดยอิงจากงานเขียนของ ยอห์น-เวอร์เนอร์ มุลเลอร์ (Jan-Werner Müller) ที่ชื่อ ‘What is Populism’ เอาไว้ว่า

  1. ประชานิยม หมายถึงนโยบายหรือนโยบายพื้นๆ เป็นมุมมองแบบอัตวิสัยที่เถียงกันได้ไม่รู้จบว่านโยบายไหน ‘โง่’ หรือ ‘พื้นๆ’ บ้าง
  2. ประชานิยม หมายถึงความต้องการของพลเมืองเฉพาะกลุ่ม อย่างเช่นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่เรียนไม่จบปริญญาตรี โดยนิยามความหมายอิงจากงานเขียนของมุลเลอร์
  3. ประชานิยม หมายถึงสไตล์การเมืองเฉพาะทาง เช่น ความเป็นลูกทุ่ง ไร้ความเป็นผู้ดี (ขออนุญาตเพิ่มเติมมีความเป็นนักเลง เจ้าพ่อท้องถิ่นสูง)

ขณะที่บทความ ‘วาทกรรมการเมือง’ ของ ธนชาติ แสงประดับธรรมโชติ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมือง เผยแพร่ในเว็บไซด์ ประชาไท ได้เขียนไว้ว่า “…วาทกรรม ‘โครงการเอื้ออาทร’ หรือ ‘โครงการเอสเอ็มอี’ หรือ ‘หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์’ แม้ถูกมองว่าเป็นประชานิยม แต่รัฐบาลจากรัฐประหารที่ห่อหุ้มด้วยอำนาจทหารก็มิได้ยกเลิก  ทำได้เพียงแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ หรือเปลี่ยนอัตลักษณ์ใหม่ให้เป็นของตน  แต่วิธีการยังคงเดิม นั่นหมายความว่ารัฐบาลทหารยอมรับวาทกรรมการเมืองเหล่านั้นเช่นเดียวกับประชาชน…”

‘วาทกรรม’ และ ‘ประชานิยม’ จึงเป็นสองคำที่แยกจากกันในแง่หนึ่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ประชานิยม’ เป็นชุดคำที่ถูกให้ความหมาย และถูกทำให้ ‘รู้จัก’ ผ่านวิกฤติทางการเมืองตลอด 12 ปีที่ผ่านมา หากนับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ไม่นับวาทกรรมทางการเมืองอีกมากมายที่ถูกนำมาผลิตใช้ซ้ำอีกครั้งหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งใกล้จะครบวาระสี่ปีในเดือนนี้

เมื่อการเมืองคือเรื่องของประชาชน เพื่อประชาชน และอาจจะโดยประชาชน หากยังเชื่อว่าอำนาจรัฐคืออำนาจของประชาชน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจที่มาที่ไปของคำว่า ‘ประชานิยม’ .ให้มากกว่าวาทกรรม “แจกจ่ายให้ใช้ได้เกินตัว” ศูนย์ดิเรก ชัยนาม และสำนักพิมพ์ Bookscape จึงจัดให้มีการเสวนาและเปิดตัวหนังสือ ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา (Populism: A Very Short Introduction) เพื่อสะสางให้เข้าใจต่อขอบเขตของความหมาย ‘ประชานิยมในโลก(ไร้)ประชาธิปไตย’

ผศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยดิเรกชัยนามกล่าวเปิดไว้ว่า ชื่อหัวข้อในวันนี้คือ ประชานิยมในโลก(ไร้)ประชาธิปไตย และเป็นการเปิดตัวหนังสือ ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา โดยได้เชิญทั้ง ศ.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้แปล และ สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ จำกัด ในฐานะผู้สนอกสนใจเรื่องประชานิยมกับเศรษฐศาสตร์ รวมถึง ผศ.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านลาตินอเมริกา ซึ่งจะมาแจกแจงให้เป็นถึงต้นเค้าของการกำเนิดคำว่า ‘ประชานิยม’ เป็นครั้งแรกในโลก

ประจักษ์กล่าวต่ออีกว่า ‘ประชานิยม’ เป็นคำที่มีปัญหา

“คำว่าประชานิยมในภาษาไทย คนมักจะเข้าใจมันโดยยึดติดกับความหมายทางการเมืองไปแล้ว โดยที่ไม่ได้อาจเป็นความหมายเดียวกับชาวโลกเขาพูดกันเวลาพูดถึง populism เสียทีเดียวนัก นี่อาจเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เราถกกันในวันนี้”

ศ.เกษียร เตชะพีระ

ต่อมา เกษียร เตชะพีระ ผู้ออกตัวว่า “เมื่อไหร่ที่คุณถูกเชิญให้พูดคนแรก นั่นแสดงว่าคุณแก่แล้ว” ในฐานะผู้แปลหนังสือ และยังเคยแปลบทสัมภาษณ์ คาส มูด์เด (Cas Mudde) นักรัฐศาสตร์ผู้เกาะติดศึกษาประชานิยมมานานปี และตีพิมพ์ใน มติชน สุดสัปดาห์ ในประเด็น ‘รู้จักประชานิยมผ่านหนังสือดีที่สุด 5 เล่มกับ คาส มูด์เด’ อธิบายถึงสิ่งที่ตนจะนำเนื้อหาบางส่วนจากในหนังสือมาพูดดังนี้

ผมอยากจะพูดถึงความแตกต่างระหว่างประชานิยมทางเศรษฐกิจกับประชานิยมทางการเมืองก่อน คือผมมีประเด็นง่ายๆ ว่าที่ด่าประชานิยมกันอยู่ในเมืองไทย เอาเข้าจริงๆ มันเป็นประชานิยมทางเศรษฐกิจ มันไม่ใช่ประเด็นประชานิยมทางการเมืองเลย

ในส่วนที่สอง เกษียรต้องการอธิบายนิยามทางการเมืองของผู้เขียนหนังสือ ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา ซึ่งในความเข้าใจของเกษียร ขอเรียกมันว่า ประชานิยมในฐานะกระบวนท่าทางการเมือง

ขณะส่วนที่สาม เมื่อเราคิดถึงคำว่าประชานิยม เรามักจะเห็นหน้าของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมาก่อนสิ่งอื่น สิ่งนี้เป็นประชานิยมที่เกิดขึ้นในวิกฤติเสรีประชาธิปไตยอย่างไร

“ผมคิดว่าประชานิยมในโลกไร้ประชาธิปไตยมันเกี่ยวพันอย่างมากกับชนชั้นกลางในเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์เสรีนิยม ทั้งชนชั้นกลางในส่วนเศรษฐกิจทุนนิยมที่ก้าวหน้า และชนชั้นกลางในประเทศทุนนิยมที่รองลงมาอย่างประเทศไทย”

Economic Populism

ประชานิยมที่เรารู้จักคุ้นเคยและมักมาควบคู่กับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เรียกว่าเป็นประชานิยมทางเศรษฐกิจ หรือ economic populism ซึ่งในหนังสือความรู้ฉบับพกพานิยามความหมายตามแนวทางของเศรษฐกิจสังคม โดย economic populism กำเนิดในลาตินอเมริกาช่วงทศวรรษ 1980-1990 ผ่านการสังเกตของนักเศรษฐศาสตร์ รูดิเกอร์ ดอร์นบุช (Rudiger Dornbusch) และ เจฟฟรีย์ แซก (Jeffrey Sachs) ที่มองเห็นถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบนี้ในหลายประเทศ จึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า populism

“เขานิยามประชานิยมในความหมายทางเศรษฐกิจ หมายถึงนโยบายเศรษฐกิจที่ขาดความรับผิดชอบ ก็คือรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายขาดความรับผิดชอบ ในระยะแรก รัฐบาลจะใช้จ่ายงบประมาณขนานใหญ่ แต่งบประมาณไม่พอ ต้องกู้หนี้ยืมเงินต่างชาติมา ซึ่งผลจากการดำเนินนโยบายแบบนั้นก็จะเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง หรือ hyperinflation ซึ่งพอเจอ hyperinflation ประเภทของราคา 1 บาทในตอนเช้า ตอนเย็นอาจราคาเป็น 100 บาท ภาวะแบบนี้เกิดขึ้นที่ไหน ที่นั่นยุ่งตายห่าเลย”

การดำเนินนโยบายที่อัดฉีดเงินต่างๆ เข้าสู่ระบบทางเศรษฐกิจจนเกิดภาวะเงินเฟ้อนี้เอง ส่งผลให้เกิดมาตรการเข้มงวดทางเศรษฐกิจเพื่อลดภาวะ hyperinflation เป็นสิ่งที่เกษียรมองว่าเป็นประชานิยมแบบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

“นิยามแบบนี้คือความเข้าใจเรื่องประชานิยมที่ด่ากันในเมืองไทย”

ส่วนที่ตลกในมุมมองของเกษียรต่อประเด็นประชานิยมทางเศรษฐกิจสังคมบนเวทีเศรษฐศาสตร์ในระดับโลกได้ตกยุคไปแล้วเรียบร้อย นักวิชาการส่วนใหญ่ไม่เชื่อแล้ว เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะบรรดานักวิชาการในลาตินอเมริการุ่นหลังๆ วิเคราะห์ว่าการขึ้นสู่อำนาจของผู้นำในลาตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น คาร์ลอส เมเนม (Carlos Menem) แห่งอาร์เจนตินา และ อัลแบร์โต ฟูจิโมริ (Alberto Fujimori) ของเปรู ที่แม้จะชูนโยบายเศรษฐกิจสังคม แต่เมื่อได้กุมอำนาจทางการเมืองแล้ว กลับใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่แทน ขณะที่ตัดงบประมาณทางสังคมมหาศาล

“คุณเจอสภาพผู้นำที่ขึ้นมาพร้อมกับปวารณาตัวว่าเป็นนักประชานิยม พอมีอำนาจมันกลับหันไปดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ยักจะเป็นประชานิยมแฮะ แต่เป็นแบบเสรีนิยมใหม่ ดังนั้นไอ้นิยามแบบนี้มันจึงกลายเป็นเรื่องขัดฝืนในตัว เช่น นโยบายลดทอนกำกับนโยบายทางเศรษฐกิจลงให้ภาคธุรกิจต่างๆ ประกอบการได้ง่ายขึ้น แปรกิจการของรัฐเป็นของเอกชน ตัดทอนงบประมาณสังคมต่างๆ การศึกษา สาธารณสุข ลงไปเป็นอันมาก”

แม้ในวงวิชาการ economic populism จะตกยุคไปแล้ว แต่คำนี้ยังถูกใช้ในหมู่นักเศรษฐศาสตร์บางส่วน นักหนังสือพิมพ์ รัฐบาลทหาร และชนชั้นนำในสังคมไทยอยู่เป็นประจำ คือใช้แบบไม่ต้องคิด ประชานิยมคือรูปแบบนี้ในความหมายนโยบายที่กระจายความมั่งคั่ง และใช้จ่ายมากเกินไปอย่างขาดความรับผิดชอบ

ประชานิยม – ประชารัฐ

ในขณะที่ประชานิยมเป็นคำแสลงของรัฐบาลทหารและชนชั้นนำไทย แต่การขาดความเข้าใจ หรืออาจจะเข้าใจเพื่อผลิตสร้างการดำรงอยู่ของคำคำนี้ให้มีอยู่ ‘ประชานิยม’ จึงเปลี่ยนมาเป็น ‘ประชารัฐ’ โดยที่เนื้อหาใจความไม่ได้แตกต่างกันแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีผู้ให้นิยามในเชิงให้คุณค่าที่ดีกว่าประชานิยมจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกด้วย โดยเกษียรยกคำกล่าวของ นณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ของสถาบัน TDRI ซึ่งมองนโยบายรัฐประชารัฐของรัฐบาล คสช. แตกต่างกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง โดยได้กล่าวว่า

“สำหรับนโยบายประชารัฐ ความมุ่งหวังของนโยบายคือการเปิดจุดอ่อนของนโยบายประชานิยมดังกล่าว โดยตัวสาระสำคัญของนโยบายประชารัฐจะอยู่ที่การใช้อำนาจของรัฐเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ for the people นโยบายประชารัฐจึงไม่ได้มุ่งเน้นที่การสร้างความนิยมชมชอบของประชาชนในระยะสั้นเป็นหลัก เพราะนโยบายที่ประชาชนนิยมชมชอบอาจจะมีผลเสียตามมาในอนาคตก็เป็นได้ และไม่ได้ให้ความสำคัญในแหล่งที่มาของอำนาจว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่อีกด้วย”

คือประชารัฐไม่แคร์นะครับว่าอำนาจจะมาจากการไปโหวตเลือกมาหรืออำนาจจะมาจากกระบอกปืน ได้ทั้งนั้น ประชารัฐเราไม่เลือก ขอเพียงให้ผลประโยชน์ของนโยบายตกต่อประชาชนก็พอ คือขอให้ for the people ก็พอ ไม่จำเป็นต้อง by the people นั่นคือนิยามประชารัฐแบบตัดประชาธิปไตยทิ้งไปเลย คุณมีประชารัฐได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีประชาธิปไตย

ความบางเบาของประชานิยม

ด้วยความที่ประชานิยมอิงอยู่กับหลักการง่ายๆ ทางการดำเนินนโยบายที่ว่า ‘ประชาชนต้องการอะไรก็ทำแบบนั้น’ ประชานิยมโดยตัวมันเองจึงอาจเรียกได้ว่าไม่มีอุดมการณ์ทางการเมือง สามารถจัดวางท่าทีตัวเองลงในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมก็ได้ หรือในลัทธิเกลียดผู้หญิงของฝ่ายขวาก็ได้ ซึ่งเกษียรบอกว่า

“ประชานิยมสามารถไปบวกกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่มีเนื้อหาใจกลางหนาแน่น คือบอกเป็นเนื้อหารายละเอียดเลยว่าคุณต้องดำเนินนโยบายแบบใดบ้าง ไม่ว่าอุดมการณ์เหย้านั้นจะเป็นอุดมการณ์ทางขวา เชื้อชาตินิยม ต่อต้านสิทธิสตรี หรือเป็นซ้าย เราจึงมีประชานิยมได้ทั้งขวาและซ้าย”

เสรีนิยม – ประชาธิปไตยบนความเป็นประชานิยม

มองกลับมายังประชานิยมในวิกฤติเสรีประชาธิปไตยระหว่างไทยกับอเมริกา เกษียรมองเสรีนิยมกับประชาธิปไตยเป็นสองแนวคิดที่แยกขาดจากกันแต่มาประกอบเข้ากันเมื่อไม่นานมานี้ ก่อนจะเถลิงการควบรวมกันขึ้นเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จหลังลัทธิคอมมิวนิสต์พ่ายแพ้ และการสร้างความชอบธรรมในทางปกครองให้เกิดขึ้นได้ ต้องเป็นระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยเท่านั้น

“ที่ตลกคือในช่วง 10-20 ปีหลังสิ้นสุดสงครามเย็น มันเกิดแตกแยกระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตย คนที่ศึกษาเรื่องนี้จะรู้ดีว่าเสรีนิยมกับประชาธิปไตยนั้นแยกจากกันมาก่อน มันไม่ได้เกิดมาพร้อมกัน มันวิวัฒน์ต่างกัน และมีความตึงเครียดขัดแย้งกันด้วย แต่มันมาประกบประกอบเข้าเป็นระบอบเสรีประชาธิปไตยได้ไม่เกินร้อยกว่าปีมานี้เอง”

เกษียรอธิบายถึงหลักความคิดของทั้งสองแนวทางที่แตกต่างมารอมชอมเข้าด้วยกันได้ผ่านการ edit ตัวเอง

“ประชาธิปไตยในความเข้าใจคนเดียวของผมไม่เหมือนใครในโลก คือเมื่อคนเราเท่ากัน อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข แค่นี้เอง เพราะว่าเมื่อคนเราเท่ากัน ไม่ว่าจะรวยจน นามสกุลอะไร จะมั่งมีศรีสุข เมื่อคนเราเท่ากัน อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข one man, one women, one vote ถ้าถอดให้เป็นคำทางหลักศาสตร์หน่อยก็คือว่ามันนำไปสู่หลักต่อไปนี้ หลักอำนาจอธิปไตยของประชาชน หลักความเสมอภาค หลักการปกครองด้วยเสียงข้างมาก”

การกระจายอำนาจเป็นหัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยคือเรื่องของการกระจายอำนาจไปให้คนในหมู่กว้างที่สุด และหลักสำคัญของมัน ซึ่งท่านก็คงจำอีตาลินคอร์นได้ ที่แบบพูดมาแล้วเราท่องจำมาตั้งแต่เด็ก ประชาธิปไตยคือ government of the people, by the people, for the people หลักประชาธิปไตยจริงๆ เน้น by the people คือต้องโดยประชาชนเท่านั้น

ขณะที่หลักเสรีนิยมในความเข้าใจของเกษียรมองว่า คือเป็น limited government คือการปกครองที่มีอำนาจจำกัด

“ไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเจ้าของหรือผู้มีอำนาจรัฐคิดอยากจะทำห่าอะไรก็ได้ ไม่ใช่เลย มันต้องถูกจำกัดด้วยหลักสิทธิเสรีภาพของพลเมือง นั่นแปลว่าภายใต้หลักเสรีนิยม ยึดหลักสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือเสียงข้างน้อย ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม ยึดหลักตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ

“ฉะนั้น หัวใจหลักของเสรีนิยมคือจำกัดอำนาจ แต่หัวใจของประชาธิปไตยคือการกระจายอำนาจ หัวใจหลักของเสรีนิยมคือจำกัดอำนาจไว้ กลัวเหลือเกินผู้ปกครองที่มีอำนาจมากไป และสิ่งที่เขาสนใจในหลักสามข้อของลินคอร์น คือ government for the  people เขาไม่แคร์ว่า by ใคร ทีนี้หลักสองอันนี้เวลาประประกอบเข้าด้วย มันจัดการตัวเองยังไง”

ในมุมของเกษียร คือต่างฝ่ายต่างต้อง edit ตัวเองออก โดยการยอมตัดตัวเองของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยจะต้องยอมตัดความเสมอภาคทางเศรษฐกิจออก เหลือแค่ความเสมอภาคที่จะมีสิทธิในเสรีภาพ ขณะที่เสรีนิยม edit ตัวเองด้วยการจำกัดสิทธิตัวเองในการเลือกตั้งให้อยู่เฉพาะกับคนที่มีทรัพย์สิน และให้อยู่เฉพาะกับคนที่มีการศึกษา

“ทีนี้เข้าใจหรือยังทำไม กปปส. ถึงอยากจะกลับไปให้คนกรุงเทพฯมีสิทธิเลือกตั้งมากกว่าคนต่างจังหวัด คนมันไม่เท่ากันครับ คนกรุงเทพฯมีการศึกษาดีกว่า มีฐานะดีกว่า”

การปกครองแบบไทยๆ เพื่อประชาชน โดยชนชั้นนำ

ในขณะที่หลักการประชาธิปไตยของลินคอร์นผ่านการนิยมว่าประชาธิปไตย คือ government of the people, by the people, for the people เกษียรมองว่าประชาธิปไตยของประเทศไทย คือ government of  the king, for the people, by the selected few ซึ่งเป็นระบอบการเมืองที่ ทักษิณ ชินวัตร ต้องเผชิญเมื่อชนะการเลือกตั้งได้ครองอำนาจในสภาสมัยแรก

“การเป็นตัวแทนของระบบเสียงข้างมากทั้งบัญชีรายชื่อและพรรค แกเคลมได้ว่าแกเป็นตัวแทนที่คนไทยทั้งประเทศอยากให้เป็นนายกฯ ในฐานะนั้นแล้ว เห็นความตึงเครียดของประชาธิปไตยแบบไทยไหมครับ มันลำบากตรงไอ้ by the selected few ดังนั้น แนวนโยบายแบบที่แกขึ้นมาในตอนแรก แกขึ้นมาด้วยท่าทีแบบ populism แต่ในเวลาไม่นานนโยบายเศรษฐกิจมันออกไปเป็น economic populism”

ในแง่นี้ เกษียรมองว่าเป็นการประกบทั้งสองแนวคิดเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ระเบียบอำนาจแบบไทยๆ ไม่เคยเจอมาก่อนจากการเลือกตั้งตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก่อนขึ้นมาเป็นรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย เมื่อไม่เคยเจอมาก่อน ทางเดียวที่ชนชั้นนำแบบไทยๆ จะใช้ภูมิปัญญาแบบไทยๆ ในการจัดการกับสิ่งที่ไม่เคยเจอในมุมของเกษียรคือ

ทางเดียวที่ภูมิปัญญาแบบไทยๆ จะตอบโต้ก็ต้องก่อการรัฐประหาร และเป็นเผด็จการเท่านั้นเอง เราคิดได้เท่านี้แหละ

Age of Anger

ประเด็นส่วนต่อมาที่เกษียรนำมาแจกแจงอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นบนความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางล่างและชนชั้นกลางบนที่ไล่เรียงมาตั้งแต่ยุคสมัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ช่องว่างของทั้งสองชนชั้นยังไม่หนีห่างกันมาก ซึ่งเราสามารถเชื่อมโยงภูมิประวัติศาสตร์ไทยในช่วงนั้นกับประวัติศาสตร์โลกในห้วงหลังสงครามเย็น ต่อเนื่องมายังนโยบายเปิดสนามรบให้เป็นสนามการค้า กระทั่งในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง ถึงช่วงรัฐบาลทักษิณสมัยแรก ที่ชนชั้นกลางล่างเริ่มไล่กวดชนชั้นกลางบนขึ้นมาได้

ซึ่งต้องไม่ลืมว่าชนชั้นกลางล่างเหล่านี้นั่นเองคือฐานคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของพรรคเพื่อไทย

“ผมคิดว่าภาวะแบบนี้มันทำให้เกิดภาวะหมองหมางของชนชั้นกลางล่างและชนชั้นกลางบน และเป็นปมสำคัญของปรากฏการณ์ประชานิยมในโลกที่ไร้ประชาธิปไตยในเมืองไทย”

เพื่อจะอธิบายให้เห็นภาพ เกษียรหยิบงานของ ปังกาจ มิชรา (Pankaj Mishra) นักคิดนักเขียนชาวอินเดียที่มองปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้เป็นความปั่นป่วนโกลาหลรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกมาอธิบาย โดยมิชราอธิบายว่าความปั่นป่วนที่ว่านี้เกิดขึ้นจากกระแสสภาวะทันสมัย ทั้งในส่วนของเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรม การเมืองเสรีประชาธิปไตย อารยธรรมยุครู้แจ้งในตะวันตก แผ่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก ทำให้เกิดซ้ำซึ่งความปั่นป่วนโกลาหลรุนแรงดั่งที่ยุโรปเคยเผชิญมาแล้วกับสภาวะทันสมัยทำนองเดียวกันจนนำไปสู่สงครามโลกทั้งสองครั้ง ระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ นาซี ฟาสซิสต์ คอมมิวนิสต์ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ๋

“คอนเซ็ปท์สำคัญที่แกนำเสนอคือ ‘Mimesis’ หรือการเลียนแบบ appropriate mimicry / mimetic desire mimetic rivalry ซึ่งแกยืมมาจากนักเทววิทยาชื่อ เรเน จีร์าร์ด (Rene Girard) ผมเข้าใจว่ามันคล้ายๆ amour-propre หรือความรักตัวเองของ รุสโซ (Rousseau) อันนี้คุยกับคนเรียนปรัชญานะ ถ้าท่านไม่เรียนปรัชญา ช่างมัน เพราะรุสโซไม่ใช่ญาติเรา คือเราอยากได้ใคร่มีวัตถุสิ่งของบางอย่างก็เพราะความอยากได้ใคร่มีของคนอื่นบอกเราว่ามันเป็นของที่พึ่งอยากได้ใคร่มีมาเป็นของเรา ทำไงเราจะได้บ้างเมื่อมือเราสั้นกว่า”

ชนชั้นกลางล่างเห็นแบบแผนการใช้ชีวิตที่ชนชั้นกลางบนสาธิตให้ดูทุกวันมันทำให้เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า ressentiment / resentment ผู้คนเกลียดชังกันเพิ่มขึ้นมหาศาล ต่างคนต่างหงุดหงิดรำคาญกันและกันถ้วนหน้า รังเกียจเคียดชังการดำรงอยู่ของคนอื่น ซึ่งเกิดขึ้นจากทั้งความริษยาบวกความรู้สึกถูกหยามหมิ่นและไร้อำนาจผสมผสานกันเข้มข้น ยิ่งรู้สึกติดค้างในใจนานและซึมลึก ทำให้ประชาสังคมเป็นพิษบ่อนทำลายเสรีภาพทางการเมือง ทำให้ทั้งโลกหันไปหาระบอบอำนาจนิยมและลิทธิคลั่งชาติ

ในขณะที่งานศึกษาในเรื่อง ‘Burning red desire: Isan migrants and the politic of desire in contemporary Thailand’ ของ เคลาดิโอ โซปรานเซตติ (Claudio Sopranzetti) อธิบายปัจจัยที่นำไปสู่เกตุการณ์ล้อมปราบในเดือนพฤษภาคม 2553 ไว้ว่าเป็นเพราะพลังบริโภคนิยมและกิเลสโลภแบบทุนนิยมที่ถูกปลดปล่อยออกมาในจิตใจของคนรากหญ้าและคนชั้นกลางระดับล่างในเมืองและชนบทผ่านนโยบายประชานิยมของทักษิณ

นโยบายที่ทำให้พวกเขาที่มือสั้นเกือบเอื้อมถึง ในจังหวะที่รัฐบาลทักษิณเข้ามาและมีนโยบายนี้เกิดขึ้น มันช่วยให้พวกเขาเกือบเอื้อมถึงสิ่งที่เขาไม่เคยมีมาก่อน เหล่านี้ที่ทำให้คนรากหญ้ารู้สึกไม่พอเพียง และไม่ต้องมาบอกด้วยว่าเศรษฐกิจพอเพียง ก็ทีพวกมึงมี ทำไมกูไม่มี และลุกขึ้นแข็งข้อก่อการเมื่อรัฐบาลเจ้าของนโยบายถูกโค่นโดยการรัฐประหาร เขาเลือกมา คุณโค่นเขา นี่คือคนที่เปิดโอกาสให้เขาเกือบเอื้อมถึง

“พูดอีกแบบ สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาวะที่คนชั้นกลางระดับบนกับอีลิตที่เคยได้ประโยชน์จากนโยบายการพัฒนาแบบเติบโตไม่สมดุลยุคก่อนทักษิณ แต่บาดเจ็บบอกช้ำ (วิกฤติต้มยำกุ้ง) ทางเศรษฐกิจจากโลกาภิวัฒน์เสรีนิยมใหม่ของอเมริกาทำให้เกิดการเผชิญหน้าคนชั้นกลางล่างที่ได้ประโยชน์จากนโยบายประชานิยมของทักษิณ เห็นโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจเป็นโอกาสมากกว่าภัยคุกคาม ผมคิดว่าเรากำลังมาถึงตรงนี้”

ประชานิยมในสายตาใคร

“จริงๆ ประชานิยมทางเศรษฐกิจถ้าไม่พูดถึงการเมืองก็น่าเบื่อ เวลานักเศรษฐศาสตร์พูดถึงนโยบาย มันเป็นปัญหาว่านโยบายที่มีปัญหาบ้าง”

ถัดจากการนิยามความหมายของคำว่า populism สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด อธิบายต่อในประเด็นที่คล้ายกับเป็นการเสริมสิ่งที่เกษียรได้พูดไว้ในเรื่องความเข้าใจเรื่องประชานิยมแบบที่สังคมไทยเข้าใจ นั้นแตกต่างอย่างไร

โดยในทัศนะของสฤณีมองว่าประชานิยมไม่อาจแยกขาดจากเศรษฐกิจได้ โดยการประกาศตัวเองในฐานะผู้กอบกู้เศรษฐกิจ ไม่นับรวมการเป็นคนดีมีศีลธรรม ซึ่งแตกต่างจากมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ที่มองว่าประชานิยมอยู่ที่ ‘ความหมาย’ ของคนใช้ เนื่องจากเป็นปัญหาในทำนองคำถามโลกแตกว่า “แล้วเราจะจำแนกได้อย่างไรว่านโยบายเพื่อประชาชนแบบไหนดีหรือไม่ดี”

ในขณะเดียวกัน ‘ประชานิยม’ มักถูกใช้ในความหมายด้านลบ โดยนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากมองว่า มวลชนมักสายตาสั้น ชอบนโยบายที่ให้ประโยชน์ในระยะสั้น โดยมองไม่เห็นการบั่นทอนประชาธิปไตยและเศรษฐกิจในระยะยาว

นอกจากนี้ประชานิยมในมุมของสฤณียังมองว่าเป็นการถูกครอบงำโดยกลุ่ม ‘คนใน’ ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่ประชานิยมที่วางอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น เวลาที่นักการเมืองขึ้นมานำเสนอนโยบายจึงต้องวางตัวตนและแนวทางให้แตกต่างไปจากเดิม โดยอาจมี ‘ชุมชนจินตกรรม’ ตามนิยามของ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน ที่มองว่าเราต่างมีคุณค่าบางอย่างร่วมกันในฐานะประชาชน เช่น การมองเห็นอดีตที่เคยรุ่งโรจน์ร่วมกัน และปรารถนาให้อดีตนั้นกลับคืนมาเป็นเหมือนเดิม

“เป็นดินแดนในฝันของมวลชน และมีแนวโน้มจัดแบ่งตามแนวทางของศีลธรรมว่า เราดี เขาเลว ชนชั้นนำทุจริต มวลชนบริสุทธิ์ และเป็นพวกฝ่ายดี”

กำเนิดของ Populism

เมื่อกล่าวถึงคำว่าประชานิยม การไม่พูดถึงจุดกำเนิดของคำคำนี้ไม่ได้ ในขณะที่สฤณีอ้างการศึกษาของ เจเรมี เบนแธม (Jeremy Bentham) ในเรื่องแนวคิดของประชานิยมที่ไล่เรียงประวัติศาสตร์การใช้ประชานิยมหลังยุคอาณานิคมมาจนถึงยุคใหม่เมื่อนานาชาติเข้ามาควบคุมนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศในลาตินอเมริกา จนเกิดเป็นกระแสต่อต้านจาก ‘ยาแรง’ จากการจำกัดนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาตามฉันทามติวอชิงตัน ส่งผลเสียไปทั่วทั้งภูมิภาคโดยเฉพาะประชาชน

ในภาพรวม การใช้นโยบายประชานิยมจึงเป็นปฏิกิริยาของประเทศลาตินต่อผลเสียจากอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ และการกดขี่แทรกแซงของบรรษัทข้ามชาติ และรัฐบาลอเมริกัน โดยรูปแบบของประชานิยมในลาตินอเมริกาจำแนกออกเป็นสามประเภทสำคัญๆ คือ

  • ประชานิยมแบบดั้งเดิม มีฐานเสียงส่วนใหญ่อยู่ที่กลุ่มสหภาพแรงงาน มีนโยบายจัดสรร กระจายและแจกจ่ายสินค้า/บริการต่างๆ ให้กับประชาชน
  • ประชานิยมเสรีนิยมใหม่ ที่เลือกดำเนินนโยบายประชานิยมควบคู่ไปกับนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนกกิจกรรมทางเศรษฐกิจและลดบทบาทอำนาจรัฐลง
  • ประชานิยมชาตินิยม มีนโยบายซื้อคืนกิจการของเอกชน โดยเฉพาะกิจการผูกขาดในสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ตกอยู่ในมือบรรษัทข้ามชาติให้กลับมาเป็นของรัฐ

ในทัศนะของผู้ศึกษาการเมืองในลาตินอเมริกาโดยตรง ผศ.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ มองประชานิยมจากความเข้าใจของตนในเชิงภาพรวมของคำว่า economic populism กับคำว่า Thainess ซึ่งหมายถึงประชานิยมแบบไทยๆ

เชาวฤทธิ์กล่าวว่า คำว่า ‘ประชานิยม’ จำเป็นต้องมีบุพบทในการอธิบายเพื่อเข้าใจขอบเขตและความหมายของคำคำนี้ เพราะหากมีแต่คำว่า ‘ประชานิยม’ โดดๆ จะสุ่มเสี่ยงต่อการนิยามความหมายที่หลากหลายไปตามแต่ความเข้าใจส่วนบุคคล

“อย่างเช่น เวลาเราพูดถึงประชานิยม เราจะมองในเชิง negative หมดเลย เพราะว่าเราตีความหมายโดยใช้ economic populism เป็นตัวความหมายหลัก”

โดยนิยามความหมายแรกของคำว่า economic populism ในแวดวงวิชาการและกลายเป็นการยอมรับร่วมกัน เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1989 เพื่อใช้อธิบายวิกฤติการณ์เศรษฐกิจในลาตินอเมริกาช่วงทศวรรษ 1930-1970 ที่เน้นการกระจายรายได้เพื่อตอบโจทย์การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัดในเรื่องรายได้ ซึ่งการนำเสนอ economic populism นั้นโดนใจคนในลาตินอเมริกาเพราะว่าคนในลาตินอเมริกามีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเรื่องการกระจายรายได้

เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่มีนโยบายตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจเรื่องการกระจายรายได้ มันจึงนำไปสู่นโยบายที่เรียกว่า economic populism แต่ถ้ามองในเชิงเศรษฐศาสตร์ economic populism ในระยะยาวจะมีปัญหาเพราะไม่คำนึงถึงข้อจำกัดทางการคลัง พูดง่ายๆ คือรัฐบาลใช้เงินมาก ใช้ในการกระจายรายได้ ใช้ในการช่วยเหลือคนจน แต่คุณไม่เน้นในการหารายได้ ตาชั่งมันไม่เท่า ซึ่งถามว่าวิธีการแก้ มันมีไหม มันมีของ world bank ที่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์สวัสดิการ คือมีทั้งการหาและการใช้ ขณะที่ economic populism ไม่เน้นการหา เน้นแต่การใช้ ในระยะยาวมันมีโอกาสที่จะเสี่ยงด้านการคลัง

กระนั้นข้อได้เปรียบประการหนึ่งของลาตินอเมริกาคือการมีทรัพยากรน้ำมัน ที่หากอยู่ในช่วงราคาน้ำมันขึ้น ส่วนต่างของราคาตรงนี้สามารถนำไปซัพพอร์ทนโยบาย economic populism ทว่าข้อได้เปรียบนี้กลับกลายเป็นข้ออ่อนด้อยไปในเวลาเดียวกัน เพราะลาตินอเมริกาไม่เน้นพัฒนาข้อได้เปรียบทางด้านทรัพยากรในด้านอื่นๆ เมื่อราคาน้ำมันตกตามปัจจัยความผันผวนในตลาดโลก เงินที่จะนำมาซัพพอร์ทก็หายวับไปด้วยเช่นกัน

ฉะนั้นในฟากฝ่ายแนวคิดทางเสรีนิยม มุมมองทาง economic populism จึงส่งผลเสียในระยะยาว จนกลายเป็นการล้ำไปครอบคลุมความหมายเฉพาะของคำว่า populism โดยทั่วไป เช่น การตีความหมาย populism ให้กลายเป็น economic populism อย่างในสังคมไทยที่เกษียรได้อธิบายไป

ประชานิยมแบบไทยๆ

“ทีนี้ย้อนกลับมาดูในกรณีของทักษิณ ถามว่าทักษิณเป็นประชานิยมยังไงบ้าง” ต่อประเด็นนี้ เชาวฤทธิ์เสนอว่าเคยมีดีเบตในทำนองว่า นโยบายประชานิยมของทักษิณไม่ใช่ประชานิยมแบบ economic populism แต่เป็นประชานิยมแบบเน้นสวัสดิการ ทว่าก็มีการเสนออีกเช่นกันว่า นโยบายของทักษิณยังไม่ทันก่อเกิดหายนะทางเศรษฐกิจ ก็โดนรัฐประหารเสียก่อน

นอกจากนี้เชาวฤทธิ์ยังมองว่า ก่อนจะเข้าใจประชานิยมแบบไทยๆ ต้องเข้าใจพื้นฐานความคิดในเรื่องเศรษฐกิจแบบไทยๆ ก่อนว่าเป็นเรื่องบุญพาวาสนาส่ง ว่า “คุณเกิดมาจนเพราะทำกรรมไว้ในชาติที่แล้ว

“ประเด็นที่สองเป็นเรื่องของอัศวินขี่ม้าขาว ไอเดียของการเมืองไทยคืออัศวินขี่ม้าขาว อันที่สามคือกองทัพ ผู้บริสุทธิ์ที่จะรักษาความเป็นชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เราจะเห็นมอตโต้ของกองทัพ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน เพราะฉะนั้นนี่คือลักษณะของการเมืองไทย”

จากลักษณะของการเมืองไทยมาสู่ประชานิยมแบบไทยๆ ที่ผูกโยงอยู่กับความเป็นชาติ ศาสน์ กษัตริย์จากบนลงล่าง อันนี้คือความหมายของความเป็นไทยที่ถูกครอบงำโดยชนชั้นนำ ซึ่งเมื่อเราพูด populism ในลาตินอเมริกา เรากำลังพูดถึงคนหมู่มาก แต่หากเราพูดถึง populism ในไทย เรากำลังพูดถึงคนจำนวนหนึ่งในกรอบของความเป็นไทยเท่านั้น ซึ่งเป็นคนจำนวนน้อย

“เมื่อเราพูดถึง economic หมายถึง economic ของคนส่วนน้อยที่เป็นคนไทย แต่พอเราพูดถึงอะไรที่ไม่ไทย เช่น คนเสื้อแดง อันนี้คือคนที่ไม่ไทย แต่เป็นคนส่วนมาก มันกลับหัวกลับหางกับในลาตินอเมริกา ซึ่งพอเราพูดถึง economic populism ในไทย มันจึงถูกแบ่งออกเป็นสองขั้ว และคนที่ทำให้มันถูกแบ่งออกเป็นสองขั้น คือ elite ในไทย”

ดังนั้น ในมุมมองประชานิยมแบบไทยๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับนิยามทางการเมือง คือการต้องยอมรับในการด้อยวาสนา การมีกรรม และความเหลื่อมล้ำนั้น คุณจะได้รับผลประโยชน์จากชนชั้นนำต่อเมื่อพวกเขามองว่าคุณสมควรได้

คุณเกิดมาจนเพราะคุณทำชั่วในชาติที่แล้ว เพราะฉะนั้นยอมรับมันเสีย ไม่ต้องไปขวนขวายอะไร คุณทำดีในชาตินี้จึงเป็นการหวังผลในชาติหน้า อย่าหวังผลในชาตินี้ คุณเป็นคนรวย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือคุณทำดีในชาติที่แล้ว คุณแก้ไขการกระทำในชาติที่แล้วไม่ได้ ฉะนั้นอย่าไปท้าทายอำนาจเขา อย่าไปเปลี่ยนแปลงอำนาจเขา ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการแบ่งขั้นในสังคมกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในสังคม การแบ่งขั้วดี-เลว รวย-จน

ในทัศนะของเชาวฤทธิ์ เมื่อนิยามทางการเมืองผูกโยงอยู่กับชนชั้นนำและความเชื่อในเรื่องบุญพาวาสนาส่ง การสนองนโยบายต่อประชาชนจึงกลับกลายเป็นเรื่องของให้และทวงบุญคุณ และคนไทยที่ยอมรับในความเป็นไทย ต้องยอมรับว่านี่คือเรื่องของความไม่เท่าเทียม เรื่องของบุญกรรม ไม่ใช่เรื่องของการตอบสนองทางนโยบายทางการเมือง

ขณะที่ในทัศนะของ คาส มูด์เด ซึ่งเกษียรแปลบทสัมภาษณ์ของเขาไว้ ได้กล่าวอ้างอิงงานของ มาร์กาเร็ต คาโนแวน (Margaret Canovan) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The People ไว้ว่า

“ความสำคัญและความสลับซับซ้อนของแนวคิด ‘ประชาชน’ ความสำคัญของแนวคิดประชาชนที่ว่านี้แหละเป็นตัวเชื่อมโยงประชานิยมเข้ากับประชาธิปไตย ทั้งในวาทกรรมประชาธิปไตยและวาทกรรมประชานิยมนั้น อำนาจของประชาชนเป็นเรื่องใจกลาง สิ่งที่เธอแสดงให้เห็นก็คือว่า ‘ประชาชน’ เป็นแนวคิดที่ซับซ้อนและลื่นไหลยิ่ง ทว่ากล่าวโดยรวมแล้วสิ่งที่พวกนักประชานิยมทำก็คือ ทำให้แนวคิดประชาชนที่เป็นเหมือนตำนานปรัมปรานั้นกลายเป็นรูปธรรม แล้วจากนั้นก็อ้างเอามาเป็นของตัว นั่นแหละคือจุดแข็งของพวกเขา”

มูด์เดยังมองอีกว่าในความแตกต่างระหว่างคำว่าประชาธิปไตยกับประชานิยม แก่นแท้ของทั้งสองคำนี้ต่างพูดเรื่องหนึ่งที่สำคัญ เรื่องนั้นคือ ‘อำนาจของประชาชน’

ทั้งหมดนี้อาจหรือไม่อาจช่วยให้เราเข้าใจที่มาที่ไปของคำว่าประชานิยมในบริบทโลกกับประชานิยมในบริบทไทยแตกต่างกันอย่างไรได้ชัดเจนนัก กระนั้น หนังสือ ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา ก็อาจกรุยทางให้เข้าใจได้ระดับหนึ่งว่า ประชานิยมคืออะไรกันแน่ในที่ทางที่ถูกต้อง บนแนวทางของระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ใช่แบบไทยๆ

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า