เรื่อง + ภาพ : ทรงกลด บางยี่ขัน
ตรงชื่อของ ‘Postal Museum’ ในหนังสือคู่มือท่องเที่ยวประเทศไต้หวันของผมมีรอยปากกาไฮไลท์สีเขียวสะท้อนแสงปาดเอาไว้ปื้ดใหญ่ แปลความหมายในใจได้ว่า ไม่น่าพลาด
ลำพังข้อมูลแค่ ที่นี่มีดวงตราไปรษณียากรกว่า 80,000 ดวงจากกว่า 120 ประเทศมาจัดแสดงอยู่นั้นไม่ได้ทำให้ผมตื่นเต้นถึงขนาดหยิบปากกาไฮไลท์ออกมาเปิดปลอก แต่สิ่งที่ทำให้ผมรีบทาบปลายปากกาลงบนหน้ากระดาษก็ด้วยข้อมูลที่ว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นอีกหนึ่งสถานที่ซึ่งบอกเล่าสถานการณ์ทางการเมืองในระดับโลกของไต้หวันได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือ แสตมป์จากทั่วโลกที่เดินทางมาแสดงตัวอยู่ที่นี่นั้นสิ้นสุดอยู่แค่ปี 1971 ซึ่งเป็นปีที่ไต้หวันออกจากการเป็นสมาชิกสหประชาชาติ
อย่างที่ทราบกันนั่นแหละครับ ความขัดแย้งระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันเกาะเล็กมันรุนแรงและลุกลามไปยังทุกวงการ – ไม่เว้นแม้แต่วงการแสตมป์!
จีนบอกว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน เช่นเดียวกับฮ่องกง และทิเบต ไต้หวันบอกว่า พวกเขาคือไต้หวัน ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีน ไต้หวันอยากแยก แต่จีนไม่ยอม สถานภาพของไต้หวันในเวทีโลกเลยคาราคาซังยังไม่สามารถเรียกตัวเองว่าเป็นประเทศได้สักที (ซึ่งดูตามรูปการแล้ว ยังไงก็ไม่น่าจะเป็นประเทศได้ในอนาคตอันใกล้) หากบังเอิญว่ามีประเทศไหนใจกว้างยอมรับให้ไต้หวันเป็นประเทศ แล้วดำเนินสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน ประเทศนั้นก็เตรียมตัวถูกเลิกคบจากพี่มังกรจีนได้เลย
ผมเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ความสูง 6 ชั้นด้วยท่าทีแบบคนไทยที่อยากคบหากับไต้หวัน แต่ก็ยังรักใคร่กับจีน โดยรวมๆ แล้วมันไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ที่เลิศหรูแต่อย่างใด อารมณ์ไม่ต่างจากพิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานราชการบ้านเรายังไงยังงั้น แต่ก็พอจะมีความน่ารักน่าเอ็นดูอยู่บ้าง เช่น เมื่อเราจ่ายเงินค่าผ่านประตู เราจะได้รับตั๋วที่อยู่ในรูปร่างของไปรษณียบัตรพร้อมใช้งาน ผ่านประตูไปแล้วจะเก็บไว้ก็ได้ หรือจะส่งหาคนอื่นก็ไม่ผิดกติกา เคาน์เตอร์ขายแสตมป์นั้นรอท่าอยู่ข้างๆ แล้ว
ผมเริ่มต้นการเยี่ยมชมที่ชั้นบนสุดของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นพื้นที่แสดงนิทรรศการชั่วคราวเกี่ยวกับแสตมป์รูปนกจากทั่วโลก ตั้งบอร์ดกระจกแสดงกันแบบง่ายๆ เดินดูบอร์ดสองบอร์ดแรกก็เหมือนจะไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น แต่พอเดินดูไปเรื่อยๆ แล้วเห็นแต่แสตมป์รูปนก นก และนก มันก็ชักจะเริ่มหวั่นไหว เพราะแสตมป์หลายพันดวงที่มีตั้งแต่เก่ากึ้กจนใหม่กริ๊บเหล่านี้มันช่างหลากหลายเสียเหลือเกิน
ถ้าว่ากันประสานักนิเวศวิทยา นี่คือการเรียนรู้พันธุ์นกทั่วโลกผ่านแสตมป์ที่ไม่เลวเลยทีเดียว ประเทศต่างกัน ภูมิประเทศต่างกัน พันธุ์นกต่างกัน แสตมป์รูปนกของพวกเขาก็ต่างกัน
ถ้าว่ากันประสาศิลปิน นี่คือการเรียนรู้ลายเส้นและวิธีการวาดรูปนกแบบต่างๆ ทั่วโลกที่น่าสนใจเอามากๆ เพราะแสตมป์รูปนกนั้นไม่ได้มีแต่ภาพวาดเหมือนจริงเท่านั้น แต่ยังมีภาพวาดในสไตล์ลายเส้นของประเทศนั้นๆ ด้วย
รูปนกที่ปรากฏบนแสตมป์นั้น กว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นนกที่ผมเรียกชื่อไม่ถูก (ถ้านาทีนั้นมี ‘นักนก’ หรือ ‘นักปักษีวิทยา’ มาคอยให้คำอธิบายมันคงเป็นการเดินส่องแสตมป์ที่ได้ความสำราญไม่แพ้การดูนกแน่ๆ ) และชื่อประเทศที่พิมพ์อยู่บนแสตมป์ประมาณสัก 10-20 ประเทศก็เป็นดินแดนที่ผมไม่รู้จัก
โดยเฉพาะประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิก หรือประเทศอย่างเลโซโท ถามว่าเคยได้ยินชื่อไหม ก็พอจะเคยได้ยินครับ แต่ถ้าจะบอกว่ารู้จักก็ดูจะซี้ซั้วเหมากันเกินไปหน่อย
นั่นสิ จริงๆ แล้วเรา ‘รู้จัก’ ประเทศไหนกันบ้างนะ
ผมพยายามเพ่งหาดวงตราไปรษณียากรจากประเทศไทย ประเทศที่ผมรู้จักดีแน่ๆ เพราะผมเองก็เคยเห็นแสตมป์ไทยรูปนกอยู่หลายชุด แต่ก็ไม่ปรากฏอยู่ในคอลเล็คชั่นนี้สักดวง ไม่รู้ว่าเป็นด้วยเหตุผลกลใด
ถัดจากนิทรรศการชั่วคราว ผมก็เดินลงมายังนิทรรศการถาวร ซึ่งเริ่มจากแสตมป์เก่าแก่หายากไปจนถึงแสตมป์ใหม่หาง่ายจากทั่วโลก ในห้องนี้มีแสตมป์ไทยเฉิดฉายอวดโฉมอยู่เยอะมากครับ ซึ่งถ้าว่ากันจริงๆ แสตมป์ไทยนั้นถือว่าดูดีในเวทีโลกเลยทีเดียว ผมเห็นแสตมป์ดอกกุหลาบของไทยรุ่นที่มีกลิ่นหอม แต่ไม่รู้ว่าผู้มาชมอื่นๆ จะรู้หรือเปล่าว่ามันเป็นแสตมป์ที่มีกลิ่นหอม และถ้าบังเอิญว่าแสตมป์ชุดสุดหายากอย่าง ‘เบญจภาคี’ ได้มาแสดงตัวที่นี่ด้วย คนที่มาชมก็ไม่น่าจะรู้ว่านี่คือแสตมป์ที่ผ่านการปลุกเสกแบบเดียวกับพระเครื่องชุดเบญจภาคีทุกประการ ขึ้นป้ายได้เลยครับว่าเป็นแสตมป์ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลก!
และในห้องนี้ก็ยังบอกเราว่าแสตมป์บางรูปแบบก็เป็นเทรนด์ที่มีทำกันในหลายประเทศ เช่น แสตมป์ชุดท่องเที่ยวแบบเป็นชีท 30 ดวง ซึ่งของไทยก็ไม่พลาดเทรนด์นี้ด้วย (หรือเราจะเป็นผู้เริ่มเทรนด์? )
นี่เลยทำให้ข้อมูลที่ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่มีแสตมป์หลังปี 1971 เห็นจะไม่จริงเสียแล้ว
แสตมป์เป็นกระดาษที่แปลกดี เราสามารถกำหนดราคาของมันว่าเป็นเท่าไหร่ก็ได้ การผลิตแสตมป์เลยดูเหมือนจะเป็นธุรกิจการพิมพ์กระดาษที่มีดอกผลงดงามใช้ได้เลยทีเดียว
เคยมีคนบอกว่า แสตมป์เปรียบเสมือนหน้าต่างของประเทศ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อแสตมป์ต่างชาติต่างภาษามารวมตัวอยู่ด้วยกัน แสตมป์แต่ละดวงทำหน้าที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมของที่ที่มันมาได้อย่างน่าปรบมือให้
ชั้นล่างๆ ลงมาเป็นพื้นที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ของวงการไปรษณีย์ไต้หวัน ตั้งแต่ยุคที่บุรุษไปรษณีย์ถักเปียยาวถึงกลางหลัง แล้วใช้คานไม้หาบชะลอมจดหมาย มาจนถึงยุคปั่นจักรยาน และบิดมอเตอร์ไซค์ แล้วก็ยังมีเรื่องของวงการไปรษณีย์ทั่วโลก และตู้ไปรษณีย์หลากสี ตู้ไปรษณีย์รุ่นปัจจุบันของไต้หวันเป็นตู้คู่ ตู้หนึ่งสีเขียวอีกตู้สีแดง แต่ตู้ยุคโบราณของไต้หวันเคยมีสีเหลืองสลับเขียวและสีฟ้าล้วนมาก่อน ตู้ของสเปนในห้องนี้ก็เป็นสีเทา ตู้ของเนเธอร์แลนด์เป็นสีเทาแดง สวีเดนเป็นสีเหลืองเทา สหรัฐอเมริกาเป็นสีน้ำเงิน ไม่รู้ว่าตู้เหล่านี้เคยใช้กันในยุคสมัยใดและยังใช้กันอยู่หรือไม่ แต่มันก็เป็นสีสันที่สวยแปลกตาดี
อีกส่วนที่ผมว่าน่ารักดีก็คือ การรวบรวมเอาโลโก้ของกิจการไปรษณีย์จากหลายสิบประเทศต่างๆ มาแสดงให้ดู สวยเด็ดไปเลยครับ โลโก้ในยุคนี้มักจะเป็นเส้นสายที่น้อยๆ ง่ายๆ แต่โลโก้โบร่ำโบราณนั้นผมว่ามันช่างงามสง่าและดูดีมีราคาเอามากๆ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ โลโก้กว่าครึ่งที่ผมเห็นในห้องนี้มีนกเป็นส่วนประกอบ แต่ละประเทศก็ต่างสายพันธุ์กันไป ที่ผมพอจะดูออกก็แค่สหรัฐอเมริกาเป็นนกอินทรี นิวซีแลนด์เป็นนกกีวี และไทยแลนด์เป็นครุฑ
นกคงเป็นสัญลักษณ์ของการสื่อสาร แต่ผมก็ยังสงสัยไม่หายว่าทำไมนิทรรศการบนชั้น 6 นั้นถึงรวบรวมแสตมป์รูปนกมาได้เยอะขนาดนั้น
ทั่วโลกมีแสตมป์รูปปลาเยอะขนาดนี้ไหม?
ก่อนจะเดินออกจากพิพิธภัณฑ์ ผมแวะเข้าไปที่เคาน์เตอร์ขายแสตมป์เพื่อเลือกซื้อแสตมป์รูปนกติดมือกลับมาเป็นที่ระลึกสักชุดสองชุด ก่อนที่จะเก็บมันลงในกระเป๋า ผมนึกอะไรขึ้นมาได้อย่างหนึ่ง ผมหยิบตั๋วเข้าพิพิธภัณฑ์ที่เป็นโปสการ์ดขึ้นมา ผมเพิ่งเข้าใจวันนี้เองครับว่าเรื่องราวบนโปสการ์ดนั้นไม่ได้ถูกถ่ายทอดผ่านรูปด้านหลังและข้อความด้านหน้าเท่านั้น แสตมป์ดวงเล็กๆ นั่นก็ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวอะไรบางอย่างแก่เราด้วยเช่นกัน
ผมแปะแสตมป์รูปนกทั้งชุดลงไปบนโปสการ์ดแล้วจ่าหน้าหาตัวเอง ไม่ต้องเขียนอะไร ผมก็น่าจะจำได้ว่า ผมมาที่นี่เพื่อดูนิทรรศการแสตมป์รูปนก
ถึงวันนี้ เกือบปีผ่านไป โปสการ์ดใบนั้นยังเดินทางมาไม่ถึงผม ซึ่งก็หมายถึงแสตมป์รูปนกสัญชาติไต้หวันฝูงนั้นด้วย ความทรงจำในเรื่องนี้ของผมก็เลยจบลงแบบหักมุมเล็กน้อย
อยากรู้จริงๆ ตอนนี้นกของผมหลงไปทำรังอยู่ในตู้ไปรษณีย์ไหนกันนะ