ความคืบหน้ากรณีเหมืองแร่โปแตช อำเภอด่านขุดทด จังหวัดนครราชสีมา กลายเป็นประเด็นที่น่าจับตามองอีกครั้ง เมื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุดทด’ ได้ออกแถลงการณ์ประณามคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ผ่านทางเฟซบุ๊กเหมืองแร่โปแตชแอ่งโคราช กรณีการตรวจสอบเหมืองแร่โปแตชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด โดยไม่มีตัวแทนภาคประชาชนในฐานะผู้ร้องเรียน เข้าร่วมตรวจสอบด้วย
โครงการเหมืองแร่โปแตชไทยคาลิ เป็นของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด มีคณะกรรมการบริษัทประกอบด้วย นายวุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย และ นางอินทิรา สงวนวงศ์ชัย โดยได้รับอนุญาตประทานบัตร เลขที่ 28831/16137 ระหว่างวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 – 6 กรกฎาคม 2583 รวม 25 ปี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองไทร ตำบลหนองบัวเกียด ตำบลโนนเมืองพัฒนา อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา รวมเนื้อที่ 9,005 ไร่ 1 งาน 63 ตารางวา
แถลงการณ์ประณาม กสม. ครั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่ กสม. ได้เตรียมการลงพื้นที่เพื่อทำการตรวจสอบปัญหาและผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตชของ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด โดย กสม. ได้จัดทำหนังสือเชิญ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและที่ปรึกษากลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ร่วมลงพื้นที่ในฐานะพยานบุคคลของกลุ่มด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ กสม. ได้ติดต่อเลิศศักดิ์หลายครั้ง เพื่อให้มาเป็นตัวแทนผู้ร้องเรียน และให้เข้าไปตรวจสอบเหมืองแร่พร้อมกับคณะของ กสม.
แต่ในเวลาต่อมา บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ได้ประสานไปยัง กสม. ระบุว่า ทางบริษัทฯ ไม่ยินยอมให้นายเลิศศักดิ์เข้าไปในเหมืองตามที่ได้นัดหมายไว้ และมีข้อแลกเปลี่ยนให้ส่งตัวแทนชาวบ้าน 3 คน ที่อยู่ในพื้นที่เข้าไปแทน
ทั้งนี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุดทด ระบุในแถลงการณ์ว่า ประเด็นนี้เป็นสาระสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการตรวจสอบของ กสม. ที่อย่างน้อยควรให้ตัวแทนผู้ร้องเรียน หรือชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดได้เข้าไปเห็นสภาพการทำเหมืองด้วยตาตนเอง
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุดทด มองว่า แทนที่ กสม. จะปกป้องคุ้มครองตัวแทนผู้ร้องและผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบที่จะขาดไปไม่ได้ เพราะจะทำให้สาระสำคัญของการตรวจสอบเกิดความบกพร่องไม่ครบถ้วน ทว่าทาง กสม. กลับยินยอมตามที่บริษัทต้องการ โดยยกเหตุผลหลายประการในการโน้มน้าวชาวบ้าน อาทิ โครงการเหมืองแร่เป็นพื้นที่เอกชน หากใครไม่ได้รับการยินยอมให้เข้าไปจะถือว่าเป็นการบุกรุก รวมถึงการกล่าวหาว่า นายเลิศศักดิ์เป็นคนนอกพื้นที่ที่เข้ามายุแหย่และแสดงความคิดเห็นที่ทำให้ชาวบ้านกระด้างกระเดื่องต่อบริษัทฯ
จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุดทดมีความเห็นว่า กสม. ไม่ได้ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแม้แต่น้อย แต่กลับทำการเจรจาเสมือนเป็นตัวแทนบริษัทฯ โดยเห็นคล้อยตามกับบริษัททุกประการ
“พฤติกรรมและการกระทำของ กสม. ทำให้สิทธิมนุษยชนในสังคมไทยตกต่ำอย่างน่าใจหาย สิ่งที่ กสม. ทำคือปกป้องประโยชน์ของเอกชนของบริษัทมากกว่าประโยชน์สาธารณะของประชาชน อีกทั้งเป็นการทำลายกระบวนการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างราบคาบ ทางกลุ่มฯ จึงของประณาม กสม. ด้วยเหตุดังกล่าวนี้” แถลงการณ์ระบุ
สุปราณี ทองอุไร นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวว่า การที่ กสม. ทำตามคำขอของบริษัทเอกชน โดยการปฏิเสธตัวแทนของกลุ่มคือนายเลิศศักดิ์ในเข้าร่วมตรวจสอบความจริงในพื้นที่เหมืองร่วมกับ กสม. ในฐานะพยานบุคคลในครั้งนี้ ทำให้พวกตนเสียความรู้สึกเป็นอย่างมาก เพราะ กสม. ควรยืนอยู่เคียงข้างชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
“ที่ผ่านมาพวกเราได้รับความเดือดร้อนกันมากจากเหมือง นอกจากไร่นาของเราไม่ได้ผลผลิตจนทำให้เรามีหนี้ที่ต้องจ่าย เรายังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในอีกหลายกรณีด้วย พวกเราไปร้องขอให้นายเลิศศักดิ์เข้ามาร่วมเป็นที่ปรึกษาในการต่อสู้ของกลุ่ม เพราะกลุ่มของพวกเราไม่ได้มีความรู้ด้านกฎหมายหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมือง แต่พอเราได้รับคำปรึกษา ได้รับคำแนะนำพวกเราได้รู้เรื่องสิทธิทางกฎหมาย สิทธิมนุษยชน และแนวทางการต่อสู้ที่เราจะปกป้องตนเองและที่ดินของตนเองไว้ได้ แต่การกระทำของ กสม. ในครั้งนี้ทำให้พวกเราเสียโอกาสในการต่อสู้ครั้งนี้
“กสม. น่าจะเห็นใจชาวบ้านสักนิด ว่าชาวบ้านเดือดร้อน ถ้าไม่เดือดร้อนคงไม่ต้องวิ่งหาที่พึ่งให้หลายๆ คนมาเป็นที่ปรึกษาให้กับชาวบ้าน ดังนั้น กสม. จึงควรทบทวนบทบาทการทำหน้าที่ของตนเองว่าได้สนับสนุนการต่อสู้ของชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างเต็มที่แล้วหรือยัง”
ขณะที่ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ระบุว่า ตนรู้สึกสงสัยในการตัดสินใจของ กสม. ครั้งนี้ เพราะในอดีตตนเคยผ่านเหตุการณ์การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมาหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการของวุฒิสภา กรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร หรือแม้กระทั่งใน กสม. ชุดก่อนหน้า โดยไม่เห็นมีปัญหาอะไร อีกทั้งหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ได้รับผลกระทบ ถือเป็นหลักการของการตรวจสอบที่สำคัญ แต่กลายเป็นว่า กสม. ชุดนี้ได้ทำลายหลักการดังกล่าวไปหมดสิ้น ไม่ยืนหยัดเคียงข้างนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ แต่กลับคำนึงถึงสิทธิหรือประโยชน์ของเอกชนเป็นหลัก
“ผมกังวลว่าความคิดแบบนี้ของ กสม. ถ้าขยายตัวไปเรื่อยๆ จะกลายเป็นต้นแบบของการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบ ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปจะทำให้เกิดคำถามใหญ่ว่า กสม. จะยืนอยู่ฝั่งไหนในการตรวจสอบ ซึ่ง กสม. ชุดนี้กำลังทำให้นิยามความหมายหรือคุณค่าศักดิ์ศรีของสิทธิมนุษยชนถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ”
จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ปรึกษากลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวเสริมว่า การกระทำของ กสม. นอกจากจะไม่ปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังทำลายหลักการของการปกป้องนักปกป้องสิทธิมุนษยชน การแบ่งแยกคนใน-คนนอก ในสถานการณ์การละเมิดสิทธิที่ไม่ควรเกิดขึ้น
“กสม. ควรยืนหยัดปกป้องชาวบ้าน ไม่ให้เกิดการใช้วาทะกรรมคนใน-คนนอก เพราะสุดท้ายแล้วอาจทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องโดดเดี่ยวและยอมจำนนต่อการละเมิดสิทธิฯ ต่อไปใครจะเข้ามาช่วยได้ ถ้าทุกคนถูกกีดกันด้วยคำว่าคนใน-คนนอก หรือไม่ใช่คนตำบลนี้ จากเหตุการณ์นี้ยิ่งตอกย้ำว่า กสม. ไม่ใช่ที่พึ่งของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”
ปรานม สมวงศ์ จากองค์กร Protection International ผู้ประสานงานและตรวจสอบการทำงานของ กสม. มาโดยตลอด ระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นองค์กรอิสระ ที่ควรมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองการปกป้องสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจไว้ ในหลายประเทศ กสม. สามารถดำเนินการสอบสวนตามความประสงค์อย่างยืดหยุ่นภายในขอบเขตของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีความเป็นอิสระที่สามารถติดตามการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือคดีที่หน่วยงานรัฐละเลยได้ และสามารถดำเนินการไปไกลกว่าการเฝ้าติดตามสถานการณ์หรือสอบสวนแบบขอไปที
ปรานม กล่าวอีกว่า กสม. ต้องดำเนินการให้แน่ใจว่าจะมีการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิของบุคคล ชุมชน และดำเนินการสอบสวนสาธารณะ เพื่อเสนอแนวทางที่รวดเร็วที่สุดในการเยียวยาการละเมิดให้รัฐบาลฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ
ปรานม มองว่า เป็นเรื่องน่าอายที่ปีนี้สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (SCA) เพิ่งมีข้อเสนอแนะให้ กสม. กลับคืนสู่สถานะ A (ปลายปี 2558 SCA ได้ลดสถานะของ กสม. ไทย จากสถานะ A เป็น B โดยระบุว่า กสม. ในขณะนั้นยังไม่มีความสอดคล้องกับหลักการปารีสอย่างสมบูรณ์ ทั้งในด้านกฎหมายและการปฏิบัติหน้าที่) การปฏิบัติงานเช่นนี้ของ กสม. รวมถึงหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ขัดกับหลักการที่ยืนยันว่ามีความพยายามในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจริงจัง และไม่สมศักดิ์ศรีสถานะ A ที่เพิ่งได้รับกลับคืนมา