#วันสิ่งแวดล้อมโลก เครือข่ายประชาชนเดินหน้าฟ้องรัฐ ยกเลิกนโยบายแร่เพื่อแก้โลกเดือด หยุดแปลงผืนดินให้เป็นสินทรัพย์นายทุน

วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็น #วันสิ่งแวดล้อมโลก เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ร่วมกับโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) องค์กร Protection International (PI) ซึ่งประกอบไปด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากหลากหลายเครือข่ายได้ร่วมกันเปิดปฏิบัติการเดินหน้าฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ยกเลิกนโยบายเหมืองแร่ แก้ไขโลกเดือด เตรียมข้อมูลยื่นฟ้องภายในกันยายนนี้

จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโครงการ PPM กล่าวว่า สถานการณ์เหมืองแร่ในปัจจุบันนี้กลายเป็นปัญหาหลักของประเทศ โดยเฉพาะแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ที่ปัจจุบันเป็นปัญหาอย่างมากกับทุกพื้นที่ ทั้งเรื่องแนวคิดและการปฏิบัติที่ขัดกับ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 รวมถึงเป็นตัวทำลายทรัพยากรจนทำให้เกิดสภาวะโลกเดือดขึ้น 

จุฑามาสกล่าวว่า เหมืองแร่ในประเทศไทยชนิดที่น่าเป็นห่วงมากในตอนนี้คือ เหมืองโปแตชที่มีอยู่มากในภาคอีสาน และกำลังกลายเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลเศรษฐา ซึ่งในพื้นที่เหมืองมีการทำลายล้างผืนดิน ชาวบ้านที่อยู่รอบบริเวณเหมืองไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้ จึงต้องถูกตั้งคำถามและต้องถูกตรวจสอบก่อนที่จะมีการเปิดขยายเหมืองแร่ชนิดนี้ออกไปทั้งในจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ สกลนคร หรืออุดรธานี ที่เป็นแหล่งแร่ขนาดใหญ่ 

เหมืองชนิดที่ 2 ที่น่ากังวลคือเหมืองหิน ที่รัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ต้องมีการใช้หินจำนวนมากทั้งหินอุตสาหกรรมก่อสร้างและหินปูน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการทำลายระบบนิเวศหลักของคนในชุมชน เพราะภูเขาหินปูนเหล่านั้นคือแหล่งน้ำซับซึมของคนในพื้นที่ 

“เนื่องในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก เราจึงเปิดปฏิบัติการฟ้องยกเลิกนโยบายแร่เพื่อแก้โลกเดือด โดยจะฟ้องคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในฐานะที่เป็นคนพิจารณาแผนแม่บทแร่ และคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ในฐานะที่เป็นคนจัดการแผนแม่บท ต่อศาลปกครองสูงสุดให้มีการเพิกถอนเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งขณะนี้เราได้รวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนคำฟ้อง และยื่นฟ้องในช่วงต้นเดือนกันยายน” จุฑามาสกล่าว 

ด้านสุภาภรณ์ มาลัยลอย จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมคือสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนต้องได้รับ ตามความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีพโดยไม่ทำให้สิทธิของคนรุ่นถัดไปแย่ลงในอนาคต และรัฐต้องดำเนินการให้สิทธิที่จะอาศัยอยู่โดยปราศจากมลพิษความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมที่ส่งผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่คุกคามต่อชีวิตสุขภาพอนามัย วิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่ที่ดี หรือการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในประเทศและข้ามพรมแดนเกิดขึ้นให้ได้

เมื่อการบริหารจัดการแร่ในปัจจุบันไม่เป็นไปในแนวทางที่เหมาะสม อีกทั้งรัฐและผู้ก่อมลพิษไม่มีมาตรการแก้ไขเยียวยาอย่างเป็นธรรม ประชาชนจึงต้องใช้สิทธิฟ้องต่อศาลเพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ 

ปรานม สมวงศ์ จากองค์กร Protection International ระบุว่า ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกระทรวงหลักที่ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงอื่นๆ แปลงผืนดินให้เป็นสินทรัพย์ แต่ไม่ใช่สินทรัพย์ของประชาชน เพราะผู้จะได้รายได้เต็มๆ คือเอกชนหรือกลุ่มทุนที่ถือใบประทานบัตรเหมืองแร่ การเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนแร่เป็นสิ่งที่ขัดแย้งและเป็นอุปสรรคกับนโยบายมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และการบรรลุตามเป้าหมายกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และความตกลงปารีสที่นายกรัฐมนตรีไปประกาศบนเวทีต่างๆ เช่น เวที COP

เรียกร้องรื้อแผนแม่บทแร่ฯ ฉบับที่ 2 กระทบประชาชน

ขณะที่เฉลิมศรี ประเสริฐศรี ตัวแทนจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ระบุว่า แผนแม่บทบริหารจัดการแร่ จะรวมเรื่องสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง การกำหนดเขตพื้นที่ศักยภาพแร่ หรือพื้นที่ห้ามทำเหมืองตามมาตรา 17 วรรค 4 ใน พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 เช่น พื้นที่แหล่งน้ำซับซึม ซึ่งจะต้องมีเขียนไว้ ดังนั้นรัฐต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริงแล้วนำไปบรรจุในแผน แต่ที่ผ่านมาพบว่าการเชิญให้รับฟังความคิดเห็น เหมือนจัดเป็นเพียงพิธีกรรมที่ไม่ได้มีการยึดโยงเกี่ยวกับประชาชนเลย

ที่ผ่านมาภาคประชาชนได้คัดค้านแผนแม่บทแร่ฯ มาตั้งแต่ฉบับที่ 1 เนื่องจากรัฐใช้ฐานข้อมูลเดิม โดยใช้คำขอประทานบัตร คำขออาชญาบัตรเดิม และพื้นที่ทำเหมืองแร่เดิม มากำหนดและประเมินพื้นที่ศักยภาพแร่แต่ละจังหวัด โดยไม่ได้มีการศึกษาจริงว่าพื้นที่ใดเหมาะสม กระทั่งแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2569) ออกมา ก็มีปัญหากับประชาชนที่อยู่ในเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง

จงดี มินขุนทด ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวว่า กฎหมายแร่ตอนนี้เหมือนออกมาเพื่อให้นายทุนใช้ แต่ชาวบ้านกลับเป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด ฉะนั้นการทำเหมืองต้องศึกษาให้ดีว่าจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง 

ด้านปิยะพงษ์ แสนต่างใจ ตัวแทนจากกลุ่มอนุรักษ์ภูเตา กรณีเหมืองหินทรายเพื่ออุตสาหกรรม จังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า การทำเหมืองใกล้กับพื้นที่ชุมชนย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการขุดเจาะผืนดินที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อม ทำให้เกิดฝุ่นใยหินที่ส่งผลเสียสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างร้ายแรง ส่วนเหมืองที่ใช้การระเบิดก็หนีไม่พ้นปัญหาเรื่องแรงสั่นสะเทือน และปัญหาเสียงที่เกิดขึ้นจากการระเบิดหิน 

ทั้งนี้ รายชื่อของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองและเตรียมยื่นฟ้อง ประกอบด้วย กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจัน จังหวัดหนองบัวลำภู กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย กลุ่มรักษ์ดงลาน อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ภูซำผักหนาม อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ กลุ่มรักเขาโต๊ะกรัง ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล กลุ่มรักษ์บ้านแหง จังหวัดลำปาง กลุ่มอนุรักษ์หินจอก อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง กลุ่มรักเขาคอก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ กลุ่มอนุรักษ์ภูเตา จังหวัดมุกดาหาร

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า