“อยากเมนส์ไม่มาสัก 9 เดือนมั้ย”
“เห็นแล้วอยากเปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ”
“What’s your name and are you a virgin?”
จากกรณีผู้ใช้ทวิตเตอร์หรือเอ็กซ์ (X) รายหนึ่งได้โพสต์ข้อความที่ว่า “flirt like a straight man go” ชักชวนให้หลายคนเข้ามาร่วมแชร์ประสบการณ์การโดนผู้ชายจีบ โดยไม่ได้มีทีท่าของความต้องการที่จะผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนบางอย่าง หรือกระทั่งไม่ได้มีความต้องการที่จะสะท้อนสังคมอย่างตรงไปตรงมาแต่อย่างใด แต่การเข้ามาร่วมแบ่งปันเรื่องราวของกันและกันบนโลกโซเชียล กลับกลายเป็นว่าเรื่องราวเหล่านั้นได้บอกเล่าประสบการณ์ร่วมกันของผู้หญิงทั่วโลก
ผู้หญิงหลายคนออกมาเล่าถึงเหตุการณ์ที่ตัวเองเจอ เกือบทั้งหมดพบเจอกับสิ่งที่เลยเถิดเกินกว่าจะนิยามว่าเป็นการ ‘จีบ’ แต่เป็นการคุกคามทางเพศ (sexual harassment) ซึ่งนอกจากข้อความที่ยกตัวอย่างไปตอนต้นแล้วนั้น สิ่งที่หลายคนพบเจอร่วมกันคือ การคุกคามด้วยการส่งคลิปวิดีโอหรือภาพถ่ายอนาจาร ราวกับว่าการแสดงออกเรื่องของกามารมณ์ให้ถูกที่นั้นช่างเป็นเรื่องยากเย็น
เมื่อประสบการณ์ที่ไม่น่ายินดีจากทั่วสารทิศถูกนำมากองรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน สะท้อนให้เห็นทัศนะทางเพศที่ชี้ไปในทิศทางตรงกันว่า นี่คือความไม่ปกติ โดยเฉพาะปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ถูกนำมาถกเถียงกันนั้น ไม่เพียงกลั่นมาจากประสบการณ์ส่วนบุคคล แต่ยังสอดคล้องกับใครอีกหลายคนที่มีประสบการณ์คล้ายคลึงกัน จนอาจได้ข้อสรุปร่วมกันว่า สิ่งนี้เป็นค่านิยมผิดๆ ที่ซ่อนอยู่ใต้สังคมปิตาธิปไตยมาอย่างยาวนาน
แม้การร่วมแบ่งปันประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศ อาจไม่ได้หวังผลขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมทางเพศโดยตรง แต่เสียงสะท้อนของคนเล็กคนน้อยเหล่านี้คือองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยยืนยันว่า ถึงเวลาแล้วที่ค่านิยมในสังคมชายเป็นใหญ่ควรถูกสังคายนา และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ผ่านวัฒนธรรม ‘อำนาจร่วม’ (power sharing)
วัฒนธรรม ‘อำนาจร่วม’ และพลังแห่งการแชร์
อำนาจร่วม หรือ power sharing คือ การใช้อำนาจอย่างเสมอภาคในสถานการณ์หรือความสัมพันธ์ เปิดพื้นที่ให้เกิดการแบ่งปันประสบการณ์ หรือระดมความคิดร่วมกันอย่างอิสระ จนกระทั่งเกิดการออกแบบวิธีการเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย
การขับเคลื่อนและกู่ร้องให้สังคมได้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศ เปลี่ยนผ่านจากความเข้าใจที่ว่าเป็นเรื่องหยุมหยิม เรื่องเล็กน้อย สู่การตระหนักว่าแท้จริงแล้วมันคือความไม่ปกติ สามารถผลักดันผ่านวัฒนธรรมอำนาจร่วม เพื่อให้ผู้ที่ถูกด้อยค่าทางเพศเกิดความมั่นใจและมองเห็นคุณค่าการมีตัวตนในสังคม
ตัวอย่างคลาสสิก เช่น ‘ผู้หญิงต้องทำงานบ้าน’ ด้วยระบบคิด ความเชื่อทางสังคม หรือวัฒนธรรมที่สร้างบรรทัดฐานจัดวางบทบาทของเพศชายให้มีอำนาจเหนือเพศหญิง ทำให้ผู้หญิงตกอยู่ในสถานะเป็นรองทางสังคม แต่เมื่อผู้หญิงออกมาบ่นและตั้งคำถามว่า ทำไมฉันต้องทำงานบ้าน ก็กลับถูกสังคมมองว่าเป็นเรื่องหยุมหยิม
ทว่าการตั้งคำถามและแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกันในวงกว้างมากขึ้น ทำให้เสียงของผู้หญิงเริ่มดังขึ้นและถูกมองเห็นมากขึ้น จนสังคมเริ่มหันกลับมาฉุกคิดได้ว่า ค่านิยมที่ผู้หญิงต้องทำงานบ้านเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงการถูกกดทับในสังคมปิตาธิปไตย
อีกตัวอย่างที่ชัดเจนแห่งยุคสมัย อย่างการติดแฮชแท็ก #MeToo เพื่อรณรงค์ต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งมีผู้หญิงจำนวนมากออกมาเปิดเผยถึงเหตุการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศอันเป็นบาดแผลร่วมกัน
การร่วมกันบอกเล่าประสบการณ์อันขมขื่น ท้าทายบรรทัดฐานดั้งเดิมในสังคมปิตาธิปไตยได้เป็นอย่างดี ซึ่ง #MeToo เป็นการเคลื่อนไหวที่มุ่งช่วงชิงพื้นที่บนโลกโซเชียลอันเป็นโลกเสมือน เพื่อสร้างผลกระทบในโลกแห่งความเป็นจริง
ในกรณี ‘flirt like a straight man go’ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนในการเปล่งเสียงของผู้คนผ่านวัฒนธรรมอำนาจร่วม มีการเปิดพื้นที่แบ่งปันประสบการณ์อย่างอิสระ จนตกตะกอนร่วมกันว่า วิธีการจีบของผู้ชายด้วยท่าทีคุกคาม หรือการล้อเลียนความเจ็บป่วยจากการมีประจำเดือนไม่ใช่เรื่องน่าขบขัน แต่เป็นค่านิยมที่มีเบ้าหลอมจากปิตาธิปไตยทั้งสิ้น
อีกแง่หนึ่ง กลุ่มที่ถูกกดทับและลดทอนคุณค่า จำเป็นต้องมีการเสริมอำนาจ (empowerment) ด้วยเช่นกัน คือไม่เพียงแค่รอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น หากต้องมีการระดมคนให้เกิดการรวมพลังจำนวนมากขึ้น เพื่อสื่อสารออกมาให้สังคมได้ตระหนักรู้ และสร้างพื้นที่แห่งการแบ่งปันความคิดเห็นอย่างมีพลังมากขึ้น
อุสมะห์ ลาเฮศักดิ์สิทธิ์ จากสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย จังหวัดปัตตานี ผู้ร่วมทำงานกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างรูปธรรมของการทำงานที่ต้องการเสริมอำนาจและการใช้อำนาจร่วม เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาสุขภาวะผู้หญิง ท่ามกลางสังคมที่ผู้นำครอบครัวและผู้นำชุมชนล้วนเป็นผู้ชาย
“การทำงานเกี่ยวกับแผนสุขภาวะผู้หญิงที่อยู่ในสังคมแบบปิตาธิปไตยไม่ใช่เรื่องง่าย มีเรื่องอำนาจเหนือ อำนาจร่วม เราให้ผู้หญิงนั่ง ผู้ชายยืน แสดงความรู้สึกว่ารู้สึกอย่างไร แล้วก็กลับกันให้ผู้ชายนั่ง แล้วรู้สึกอย่างไร พอนั่งด้วยกันแล้วรู้สึกอย่างไร พอเสร็จทั้งสองฝ่ายบอกว่านั่งเท่าเทียมกันสามารถแลกมุมมอง กล้ามองสิ่งไหนควรไม่ควร เป็นการใช้การแลกเปลี่ยน” อุสมะห์ กล่าวถึงโครงการ ‘ลูกเกิดแม่รอดปลอดภัย’ ที่ต้องการให้ความรู้ด้านการป้องกันดูแลตนเองในวัยเจริญพันธุ์ ผ่านการสร้างผู้นำชุมชน จากนั้นอาศัยผู้นำชุมชนและผู้นำทางศาสนาร่วมเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อการรับผิดชอบตนเองและครอบครัว
เธอเริ่มจากการสร้างความเข้าใจด้วยการปรับฐานคิดให้ผู้ชายเข้าใจภรรยาตนเอง และเข้าใจว่าการดูแลครอบครัวเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน เป็นการปรับฐานคิดขนานใหญ่โดยใช้ลักษณะอำนาจร่วม สามารถสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันครอบครัวและลดความรุนแรงในครอบครัวได้ ซึ่งผลอย่างเป็นรูปธรรมจากการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพ พบว่าพฤติกรรมความรุนแรงในครอบครัวถูกปรับเปลี่ยนเป็นความประนีประนอมมากยิ่งขึ้น
คลื่นลูกที่ 4 ของขบวนการเฟมินิสต์ในโลกออนไลน์
ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสการโจมตีเฟมินิสต์หรือสตรีนิยมในทุกยุคสมัย คือการตอกย้ำการมีอยู่ของวัฒนธรรมอำนาจนิยม ดังนั้นแนวคิดเฟมินิสต์จึงไม่ต้องการเชิดชูให้ผู้ใดเป็นใหญ่เหนือสุด ทว่าต้องการทลายระบอบอำนาจนิยมในสังคมชายเป็นใหญ่ สู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมในทุกเพศ
ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวเพื่อสลายระบอบอำนาจนิยม ปลดพันธนาการความเจ็บปวดจากการถูกกดทับภายใต้ระบอบปิตาธิปไตยของขบวนการเฟมินิสต์ ใช้วิธีขับเคลื่อนผ่านวัฒนธรรมอำนาจร่วมมาโดยตลอด นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวในคลื่นลูกที่ 1 กระทั่งการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน
กล่าวคือ การเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์คลื่นลูกที่ 1 เรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งของผู้หญิงในสหรัฐอเมริกาในปี 1845 และได้ขยายข้อเรียกร้องไปถึงมิติทางสังคม วัฒนธรรม รวมถึงการเข้าถึงโอกาสในอาชีพของผู้หญิงในคลื่นลูกที่ 2 และการเคลื่อนไหวในคลื่นลูกที่ 3 ให้ความสำคัญกับความหลากหลายในสังคม ทั้งในมิติเพศสภาพ ชนชั้น เชื้อชาติ วัฒนธรรม เกิดการตั้งคำถามถึงบทบาททางเพศ (gender roles) ของคนในสังคม บนฐานคิดที่ว่า การมีบทบาททางเพศที่ตายตัว มีส่วนสร้างความไม่เท่าเทียมในสังคม ตลอดจนเป็นการจำกัดทางเลือกและอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็นของปัจเจกบุคคลในเรื่องเพศ ทำให้โลกนี้มีแต่เพศชายและหญิงเท่านั้น
ขบวนการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ในคลื่นลูกที่ 4 เกิดขึ้นในช่วงปี 2010 จนถึงปัจจุบัน พร้อมกับการเติบโตของเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย เป็นการเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ซึ่งกลายมาเป็นช่องทางหลักในการขับเคลื่อนสิทธิสตรี โดยการเรียกร้องความเท่าเทียมบนโซเชียลมีเดียที่ทรงพลังและทำให้คนหันมาทำความเข้าใจขบวนการเฟมินิสต์มากขึ้น ได้แก่ การเรียกร้องผ่านแฮชแท็ก #HeforShe ที่องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ต้องการรณรงค์ให้ผู้ชายเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศ หรือ #MeToo ที่ต้องการต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ โดยมีหลายคนออกมาแบ่งปันประสบการณ์น่าสะท้อนใจที่เกิดขึ้นกับตัวเองและคนใกล้ตัว
ในกรณีของการตั้งสเตตัส ‘flirt like a straight man go’ ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ แม้ไม่ได้มุ่งหวังที่จะขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศโดยตรง และไม่อาจสร้างผลกระทบที่ทรงพลังเช่นเดียวกันกับเหตุการณ์อื่น ทว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้หญิงยังตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ กลับยิ่งจุดประกายให้หลายคนเห็นพ้องต้องกัน พร้อมกับเปล่งเสียงในพื้นที่ของตนเองด้วยการบอกเล่าเรื่องราวของกันและกันผ่านสเตตัสดังกล่าว ว่าสิ่งนี้คือค่านิยมที่บิดเบี้ยว ในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่และมองว่าตนเองเหนือกว่า
จากสเตตัสสั้นๆ แต่ชวนให้หลายคนต้องลุกขึ้นมาเคาะแป้นพิมพ์บอกเล่าเรื่ราวของตนเอง จนต้องบันทึกไว้ว่า นี่เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่สามารถยืนยันถึงการดำรงอยู่ของคลื่นลูกที่ 4 ในขบวนการเฟมินิสต์ รวมถึงสะท้อนได้ว่า เราทุกคนสามารถเปล่งเสียงของตัวเองได้ด้วยอำนาจแห่งการแชร์
ที่มาและความหมาย ‘อำนาจร่วม’ (power sharing)
หนึ่งในผู้ที่ศึกษาแนวคิดเรื่อง ‘อำนาจร่วม’ (power sharing) ในเมืองไทยคือ อวยพร เขื่อนแก้ว ผู้ก่อตั้งศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม ซึ่งนำหลักการของ 2 นักวิชาการ มาปรับใช้เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเฟมินิสต์ในไทยและพม่า
แนวคิดที่ 1 โครงสร้างอำนาจและรูปแบบสังคม
มาจากแนวคิดของ รีเอน ไอส์เลอร์ (Riane Eisler) นักวิเคราะห์ระบบชาวอเมริกัน ซึ่งได้ศึกษาระบบสังคมผ่านการวิเคราะห์โครงสร้างอำนาจและค้นพบรูปแบบสังคม 2 แบบ ได้แก่
- สังคมแบบอำนาจนิยม (Dominance Model) คือสังคมที่มีการจัดลำดับอำนาจ (hierarchy) โดยกลุ่มที่อยู่ลำดับบนของสังคมจะมีอำนาจกำกับควบคุม อารมณ์ ความคิด ความรู้สึก โดยใช้อำนาจผ่านโครงสร้างจากเล็กไปใหญ่ เช่น ครอบครัว ชุมชน สถาบันทางสังคม หรือสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น ค่านิยม จารีต นโยบาย สังคมรูปแบบนี้มักใช้ความกลัวและความรุนแรงในการขับเคลื่อนสังคมให้ดำเนินไป หรือเพื่อรักษาโครงสร้างสังคมนั้นไว้
- สังคมแบบอำนาจร่วม (Partnership Model) คือสังคมที่ใช้ความเสมอภาค ความเท่าเทียม ความเป็นอิสระ ความเคารพในสิทธิซึ่งกันและกัน
แนวคิดที่ 2 รูปแบบการใช้อำนาจ
มาจากแนวคิดของ โจแอนนา เมซี (Joanna Macy) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำแนกรูปแบบการใช้อำนาจของมนุษย์ 2 แบบ ได้แก่
- power over คือการใช้อำนาจในการควบคุม บังคับ
- power sharing คือการใช้อำนาจเพื่อเกื้อกูลกัน
แหล่งที่มาของอำนาจมาจาก 2 ทาง ได้แก่ 1) อำนาจภายใน (power within) อันเกิดจากคุณภาพหรือคุณสมบัติที่ดีงามภายในตัวบุคคล เช่น ความอดทน มุ่งมั่น กล้าหาญ และ 2) อำนาจภายนอก เป็นอำนาจที่มาจากรัฐ สังคม สิ่งของ เช่น เงิน เส้นสาย รูปร่างหน้าตา สถานะทางสังคม อายุ ตำแหน่ง
อวยพรได้นำแนวคิดของทั้งสองมาออกแบบเป็นแนวทางสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมจาก Dominance Model ไปสู่ Partnership Model โดยเริ่มจากสร้างสังคมให้มีอำนาจแบบ power sharing มากขึ้น ทั้งในระดับบุคคลและสถาบันทางสังคม
ตัวอย่างความสำเร็จในการใช้ power sharing เช่น การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม การมีสวัสดิการวัคซีนปากมดลูก การแก้ไขกฎหมายการข่มขืนตามนิยาม consent การเลี้ยงลูกชายหญิงแบบเท่าเทียม การมีค่านิยมทางสังคมที่เคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย เป็นต้น
หมายเหตุ: ข้อมูลจากเครือข่ายเฟมินิสต์
อ้างอิง
- สงครามเฟมินิสต์ จากคลื่นลูกที่ 1 ถึง ยุคดิจิทัล อำนาจและข้อโต้แย้งที่ไม่เคยเปลี่ยน
- อำนาจกับวิถีแห่งจิตวิญญาณ : the power of spirituality
- การใช้ “อำนาจร่วม” “ความเห็นอกเห็นใจ” และ “เปิดใจรับฟังกันและกัน” คือ ปัจจัยหลักของครอบครัวเข้มแข็ง
- Feminism
- สมชัย แสนภูมี. (2565, กรกฎาคม-ธันวาคม). #MeToo กับการเคลื่อนไหวทางสังคมของสตรีนิยมสากล. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, 5(2).