มองทุนนิยมผ่านหนังสือ ‘Feminism for the 99%’ และ ‘เมื่อโลกซึมเศร้า’

วันที่ 13 มิถุนายน 2564 งานเสวนาเปิดตัวหนังสือ Feminism for the 99% และ เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์ เผยแพร่ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊คของสำนักพิมพ์ soi และ Illuminations Editions โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ มุกดาภา ยั่งยืนภราดร บรรณาธิการ soi, ปฐมพงศ์ กวางทอง podcaster จาก Analysand และ วศินี พบูประภาพ ผู้สื่อข่าว workpointTODAY เพื่อเชื่อมโยงเนื้อหาหนังสือทั้งสองเล่มเข้าด้วยกันกับปรากฏการณ์ทางสังคม ซึ่งอาจช่วยให้เราได้ตั้งคำถามกับความเท่าเทียมทั้งในมิติเพศ ชนชั้น และเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้มากยิ่งขึ้น

Feminism for the 99% เต็มไปด้วยมุมมองของเฟมินิสต์สายนักกิจกรรมสังคมนิยม ตีพิมพ์ไปแล้วกว่า 20 ประเทศทั่วโลก มุกดาภาเผยว่า หากมีฉบับภาษาไทยจะเป็นการดีกับผู้อ่านคนไทย เพราะเป็นหนังสือที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจและมีประเด็นใหม่ๆ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ที่หลายคนอาจยังไม่เคยทราบมาก่อนแม้แต่ในแวดวงของเฟมินิสต์เอง ในขณะที่ เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์ ก็ชวนเราตั้งคำถามถึงสิ่งที่ระบบทุนนิยมกระทำกับผู้คนในสังคม ทั้งในมิติของชนชั้นและการกดทับด้วยอคติทางเพศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

เฟมินิสต์นั้นหลากหลาย และต้องต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมหลายมิติ

วศินีเล่าถึงประสบการณ์จากการทำงานสื่อว่าในขณะที่เฟมินิสต์สายเสรีนิยมกำลังเบ่งบาน เมื่อ ฮิลลารี คลินตัน เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับ โดนัล ทรัมป์ มีการเสนอว่าหากฮิลลารีได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกจะเป็นความสำเร็จของผู้หญิงที่ยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ยังมี เชอริล แซนด์เบิร์ก เป็นผู้หญิงที่ได้รับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของ Facebook อีกด้วย ซึ่งในกรณีของประเทศไทยเราอาจได้เห็นปรากฏการณ์ลักษณะนี้บ่อยครั้ง เพราะประเทศไทยมีผู้บริหารหญิงจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันการที่มีผู้หญิงขึ้นไปสู่ตำแหน่งระดับสูงจำนวนมากก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มความเท่าเทียมแต่อย่างใด 

เฟมินิสต์ในสายตาของสื่อกระแสหลักมักเป็นผู้หญิงในชุดสูทที่พูดบนเวทีระดับโลก แต่ในความเป็นจริงเฟมินิสต์มีหน้าตาที่หลากหลายกว่านั้น และมีวิธีการต่อสู้หลายทาง การต่อสู้แบบผู้หญิงในชุดสูทไม่ได้นำมาสู่ความเป็นธรรมของคนทุกคน แต่นำมาสู่ความเท่าเทียมและความเป็นธรรมทางเพศสำหรับผู้หญิงในระดับสูงของสังคมเท่านั้น การต่อสู้ของเฟมินิสต์จึงต้องเชื่อมโยงกับมิติของชนชั้น สิ่งแวดล้อม และการล่าอาณานิคมอีกด้วย 

แรงงานหาเช้ากินค่ำ คือคนกลุ่มแรกที่วศินีนึกถึงเมื่อต้องการฉายภาพความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ซ่อนอยู่ในความไม่เท่าเทียมของมิติอื่นๆ อย่างชัดเจน เช่น ลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งชัดเจนตั้งแต่การที่งานบ้านถูกทำให้เกิดมายาคติทางเพศ ว่างานบ้านเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ระบบทุนนิยมสร้างมโนทัศน์ขึ้นมาว่า หากเป็นงานที่ผู้หญิงทำได้โดยธรรมชาติก็ไม่จำเป็นต้องมีค่าแรงมากหรือไม่มีเลย ทั้งที่การทำงานบ้านต้องใช้ทักษะเช่นกัน อีกทั้งระบบทุนนิยมก็ไม่ชอบให้มีสัญญาจ้างงาน ไม่ชอบให้มีการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิ และกฎหมายยังไม่เปิดโอกาสให้แรงงานนอกระบบสามารถจัดตั้งสหภาพโดยมีกฎหมายรองรับได้ รวมถึงปัญหาเรื่องความเปราะบางทางเพศ เช่น ในกรณีส่วนใหญ่ที่ลูกจ้างทำงานบ้านต้องอยู่ในบ้านของเจ้านาย เมื่อถูกคุกคามทางเพศจากนายผู้ชาย หากอยู่ในสถานะที่ถูกบีบคั้นด้วยข้อจำกัดทางทุนนิยม เช่น ไม่สามารถเสียงานนี้ไปได้เพราะต้องส่งเงินให้ที่บ้าน การจะออกมาพูดว่าถูกคุกคามจึงเป็นไปได้ยาก หรือถ้าพูดออกมา นายผู้หญิงก็มีแนวโน้มที่จะโทษตัวลูกจ้างเอง แล้วตัดสินใจเลิกจ้างในที่สุด

กรณีข้างต้นชัดเจนทั้งในเรื่องทุนนิยมและเรื่องเพศ หากขาดการมองผ่านมิติใดมิติหนึ่งไปอาจไม่สามารถเข้าใจปัญหานี้ได้ เช่น การพูดถึงสวัสดิการสังคม เมื่อรัฐไม่ได้สนับสนุนสวัสดิการทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการผู้สูงอายุ สวัสดิการเด็กแรกเกิด หรือสวัสดิการคนป่วยอย่างเพียงพอ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีภาระหน้าที่ดูแลคนเหล่านั้นก็คือผู้หญิงที่ต้องเป็นฝ่ายแบกรับ เช่น ลูกสาวต้องส่งเงินให้ที่บ้านมากกว่าลูกชาย สัดส่วนแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มากกว่าพ่อเลี้ยงเดี่ยวหลายเท่า เพราะฉะนั้นเมื่อสวัสดิการไม่สำคัญจากมุมมองแบบทุนนิยม หากเป็นชนชั้นแรงงานที่เป็นผู้หญิงด้วยแล้วยิ่งได้รับผลกระทบหนักขึ้น อีกกรณีหนึ่งที่หากไม่พูดถึงเรื่องสวัสดิการก็ไม่นำมาสู่ความเท่าเทียม คือ การทำแท้ง การทำแท้งปลอดภัยมีค่าใช้จ่ายสูง หากขาดสวัสดิการก็จะมีแต่ผู้หญิงที่มีเงินเท่านั้นที่เข้าถึงได้ ไม่ได้เป็นการปลดแอกเรื่องเพศอย่างแท้จริง

ในที่ทำงาน ผู้หญิงก็ต้องเรียกร้องสิทธิหลายอย่าง เช่น เงินเลี้ยงดูเด็ก การมีสถานที่เลี้ยงเด็กอ่อนในที่ทำงาน ซึ่งเป็นความย้อนแย้งที่ว่าแม้ประเทศไทยจะมีผู้บริหารผู้หญิงจำนวนมากแล้ว แต่นโยบายในการให้สวัสดิการที่จะทำให้ชีวิตของผู้หญิงง่ายขึ้นกลับยังมีน้อยมาก 

อีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจคือ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม กรณีเหมืองทองเมืองเลยเป็นตัวอย่างที่ช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด เพราะสิ่งที่คนทั่วโลกสนใจคือ คนที่ลุกขึ้นมาสู้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เพราะผู้หญิงมักเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยบทบาทการเป็นแม่ที่ต้องเฝ้าดูแลบ้าน ทำให้ต้องอยู่ในถิ่นฐาน ไม่ได้ออกไปข้างนอกเหมือนกับผู้ชาย พวกเธอจึงเป็นด่านแรกที่ต้องเผชิญหน้ากับนายทุนที่เข้ามากอบโกยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม คนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่จึงเป็นผู้หญิงและลูกๆ ของพวกเธอ 

ปฐมพงศ์เน้นย้ำว่าการมองในมิติเชื้อชาติ ชนชั้น และอาณานิคม เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นเนื่องจากเป็นปัญหาที่ถูกผลิตซ้ำ เช่น การทำงานบ้าน เลี้ยงลูก และการทำทุกอย่างให้การผลิตดำเนินต่อไปได้ แต่เมื่อมีผู้หญิงกลุ่มหนึ่งขึ้นไปอยู่ช่วงชั้นบนของระบบเศรษฐกิจ เช่น ผู้หญิงผิวขาวชนชั้นกลาง ซึ่งมีกำลังจ่ายและยกภาระหน้าที่นั้นไปให้คนอื่นได้ จึงเป็นบริบทที่ทำให้เกิดการกดทับทางชนชั้นอยู่ดี ในขณะที่มีคำพูดของคนร่ำรวยบอกว่า ตัวเองใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ไม่เคยอยู่ในตารางเวลาคือ งานบ้าน เพราะเขาสามารถใช้เวลาทำสิ่งอื่นได้ โดยที่งานบ้านถูกถ่ายไปที่ผู้อื่นหรือถูกทำให้มองไม่เห็น งานภาคการผลิตที่ถูกผลิตซ้ำ ทำให้งานบ้านเป็นงานเบื้องหลังที่ไม่มีมูลค่า เสมือนเวทมนตร์ที่ตื่นมาก็เห็นสถานที่สะอาดแล้ว โดยไม่เห็นแรงงานหญิงที่ทำสิ่งเหล่านั้น

แรงงานหญิงผู้ถูกผลิตซ้ำด้วยอคติทางเพศ

มุกดาภาเห็นว่าเฟมินิสต์ทั่วโลกในปัจจุบันมีลักษณะเป็น Neo-liberal อย่างมาก ทำให้เกิดการมองข้ามผู้ที่อยู่ฐานล่างสุดของพีระมิด คนเหล่านี้หากพูดในบริบทของงานดูแล (care work) จะเห็นภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติเคลื่อนย้ายจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง กลายเป็นการแบ่งพื้นที่ของแรงงานเป็นซีกโลกเหนือกับใต้ คือการที่ผู้หญิงในซีกโลกเหนือมีเสรีภาพในการออกไปทำงานนอกบ้าน แต่คนที่ยังถูกกดทับอยู่คือ แรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้ามาทำงานในบ้านแทน เพื่อให้ผู้หญิงอีกกลุ่มมีโอกาสได้ไปทำสิ่งที่อยากทำ งานดูแลจึงถูกผูกติดให้อยู่กับพื้นที่ในบ้านโดยมีแรงงานเข้ามาแทนที่ สิ่งนี้จึงยิ่งส่งเสริมความไม่เท่าเทียมของผู้หญิง เพราะยิ่งตอกย้ำบทบาททางเพศว่า สุดท้ายแล้วผู้หญิงต้องอยู่ในบ้านแล้วทำงานบ้าน เราจึงต้องตั้งคำถามว่า เราจะเปลี่ยนภาพของงานดูแลได้อย่างไร โดยที่ไม่อยู่ภายใต้อคติทางเพศหรือถูกผลักให้เป็นเรื่องของปัจเจก

เมื่อเรื่องเพศและชนชั้นถูกผลักให้เป็นปัจเจก ผู้หญิงคนหนึ่งจึงอาจถูกกล่าวโทษว่า ไม่เก่งและไม่ได้ทุ่มเทมากพอ แล้วเอาความเป็นผู้หญิงมาอ้าง ทั้งที่หากพิจารณาเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบกันจะเห็นได้ว่า แม้จะทำงานเหมือนกัน แต่คนคนหนึ่งต้องกลับไปดูแลแม่ที่บ้าน เพราะพี่น้องผู้ชายไม่ยอมทำ จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ผู้หญิงไม่ได้ก้าวหน้าอย่างที่ทุนนิยมคาดหวัง นอกจากทุนนิยมจะคาดหวังให้ผู้คนทำตามมาตรฐาน ไขว่คว้าความสำเร็จ ไต่เต้าในหน้าที่การงานที่ดี จินตภาพเช่นนี้ก็ไปปิดทับบางอย่างเพื่อให้ทุนนิยมดำรงอยู่ได้ การสนับสนุนให้คนสู้ด้วยตัวเองจึงยิ่งไปกดทับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มีอภิสิทธิ์มากพอที่จะทำอะไรตามที่สังคมคาดหวัง

‘ผีมะขิ่น’ ลัดดาแลนด์ ภาพฉายแห่งความไม่เท่าเทียม และทุนนิยมในฐานะผู้ผลิตปัญหาสุขภาพจิต

ปฐมพงศ์ยก ‘ผีมะขิ่น’ จากภาพยนตร์เรื่อง ลัดดาแลนด์ มากล่าวถึงการเป็นสัญญะของการถูกมองไม่เห็น แนวคิดแบบมาร์กซิสต์จึงมองหาผู้ถูกกดขี่ที่จะลุกขึ้นมาปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบ โดยการตั้งคำถามว่า ใครเป็นผู้สูญเสีย แล้วพุ่งเป้าไปที่เหตุของการผลิตซ้ำเพื่อทำให้ปัจจัยที่ทำให้เกิดการผลิตซ้ำกลายเป็นของสังคม เรียกร้องให้เห็นว่าในสิ่งที่ถูกทำให้มองไม่เห็น เสมือนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในฐานะที่การผลิตมาจากการลงทุน แล้วทุกอย่างเติบโตอยู่เรื่อยๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วมีบางอย่างที่ต้องมาดูดมาใช้ทั้งจากธรรมชาติ แรงงาน และผู้หญิงที่ถูกทำให้มองไม่เห็น ระบบเศรษฐกิจเช่นนี้จึงเป็นเศรษฐกิจของการเพิกเฉย และจะเกิดขึ้นต่อไปโดยการเพิกเฉยต่อหลายสิ่งแล้วมองเห็นแค่บางสิ่ง เช่น การมองแค่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ 

วศินีเสริมว่า ทั้งมะขิ่นและผู้หญิงในโลกความเป็นจริง ทำให้เห็นว่าผู้หญิงหรือครอบครัวกลายเป็นผู้ที่รองรับการถูกกระทำจากผู้ชาย คำถามคือทำไมผู้ชายจึงอยากใช้อำนาจกดขี่ผู้หญิง นั่นเป็นเพราะเขาถูกสั่นคลอนความเป็นชายจากระบบแรงงานที่กดทับเขาอีกชั้นหนึ่ง ด้วยมายาคติที่ว่าผู้ชายต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวที่หาเงินมาเลี้ยงดูทุกคน หากทำไม่ได้ แปลว่าความเป็นชายของเขานั้นล้มเหลว ยิ่งเป็นแรงงานที่อยู่ชั้นล่างสุดของระบบเศรษฐกิจ ยิ่งทำให้ถูกมองว่าตัวเองเป็นคนล้มเหลว แต่โครงสร้างเศรษฐกิจเช่นนี้ก็ไม่ได้เอื้อให้ชนชั้นแรงงานหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวได้มากนัก จึงไม่แปลกที่ระบบเศรษฐกิจจะกดทับให้ผู้ชายรู้สึกล้มเหลว แล้วมาระบายความทุกข์กับครอบครัว ซึ่งเป็นผู้หญิงและเด็ก

หากเป็นผู้หญิงชนชั้นกลางก็ต้องเผชิญกับความคาดหวังของทุนนิยมที่ทำให้รู้สึกว่าทำงานไม่ดีพอ เก่งไม่เท่าคนอื่น อีกทั้งการเป็นผู้หญิงคือการถูกกดทับสองต่อ ด้วยมาตรฐานความงามอีกทางหนึ่งด้วย เช่น การที่ผู้คนคาดหวังกับภาพลักษณ์ของนักข่าวผู้ชายกับนักข่าวผู้หญิงต่างกัน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติของมนุษย์ แต่เกิดจากทุนนิยมที่ทำให้เรารู้สึกว่า ผู้หญิงทั้งต้องไขว่คว้าการทำงานตลอดเวลา และในขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรฐานความงามแบบ Hyper Real การกดทับผู้หญิงในระบบทุนนิยมจึงมีทั้งในฐานะแรงงานและในฐานะผู้หญิงด้วย 

ปฐมพงศ์จึงสรุปว่าการพูดถึงทุนนิยมจึงไม่ใช่ในแง่ของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จำเป็นต้องเชื่อมร้อยกับสังคมและวัฒนธรรม เพราะทุนนิยมมีลักษณะที่มากำกับเนื้อตัว การใช้ชีวิต ไปจนถึงวิธีการคิดของผู้คน เราจึงต้องหาวิธีว่าจะทลายการผลิตซ้ำได้อย่างไร รัฐจะต้องมีนโยบายอย่างไรที่จะไม่ส่งเสริมกระบวนการใช้แรงงานโดยไม่จ่ายค่าแรงในพื้นที่การผลิตซ้ำทางสังคม นอกจากนี้ การที่ทุนนิยมกำหนดสังคมแห่งการประสบความสำเร็จ ทำให้ทุกคนมีมาตรวัดที่ต้องแข่งขันกับตัวเองแล้วต้องอยู่ได้ด้วยสารกระตุ้น เช่น การกินกาแฟ ยาเสพติด หากไม่มีสิ่งเหล่านั้นก็จะมีปัญหาทางสุขภาพจิตเป็นผลลัพธ์ตามมา ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตมักถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องของปัจเจกซึ่งยังคงมีการถกเถียงกันอยู่เสมอ การแก้ปัญหาจึงต้องวิพากษ์โดยการผลักไปให้ถึงการเมืองเพื่อแก้ไขระบบสังคมด้วย

เราจึงต้องพิจารณาสิ่งที่สังคมทุนนิยมกระทำกับทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้หญิงในฐานะเฟมินิสต์ แต่เป็นการทำให้สังคมยุติธรรมกับทุกคนมากขึ้น ดังเช่นบทสรุปหน้าสุดท้ายของ Feminism for the 99% ที่ว่า

“เฟมินิสต์เพื่อคน 99% คือเฟมินิสต์ที่ดับเครื่องพุ่งชนทุนนิยมอย่างไม่หยุดยั้ง เราจะไม่เชื่อเรื่องความเท่ากันจนกว่าจะถึงวันที่ทุกคนเท่าเทียม ไม่หยุดแค่การเข้าถึงสิทธิ์ทางกฎหมายจนกว่าคนจะได้รับความยุติธรรม และไม่มีวันพอใจกับประชาธิปไตยจนกว่าสังคมจะยึดถือเสรีภาพของปัจเจกชนเป็นรากฐานของเสรีภาพสำหรับทุกคนโดยถ้วนหน้ากัน”

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า