เสื้อผ้านั้นแสดงถึงหน้าตาทางสังคม บ่งบอกถึงบุคลิกส่วนบุคคล อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และสังกัดทางสังคม ซึ่งทั้งหมดจะบ่งชี้ได้ถึง สถานภาพทางสังคม อาชีพหน้าที่การงาน ชาติพันธุ์ การเมือง ศาสนา สถานะทางการเงิน รสนิยมทางเพศ ฯลฯ รหัสของเครื่องแต่งกายไม่ได้ทำหน้าที่ในบริบทของแฟชั่นเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะเครื่องแบบ (Uniform) เป็นเสื้อผ้าที่ถูกทำขึ้นให้มีรูปแบบมาตรฐานเพื่อให้สมาชิกในองค์กรใช้สวม ใส่ระหว่างการเข้าปฏิบัติงานหรือกิจกรรมในองค์กร ซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติในการสวมใส่เสื้อผ้าอย่างเคร่งครัดและเป็นมาตรฐานเดียว กัน สำหรับการใส่เครื่องแบบมีการเริ่มบันทึกไว้ในปูมประวัติศาสตร์ก็คือ ตัวอย่างเครื่องแบบในยุคต้นของกองทัพแห่งจักรวรรดิโรมัน และในอารยธรรมอื่นที่มีมาแต่สมัยโบราณ ส่วนเครื่องแบบสมัยใหม่ที่สวมใส่ในปัจจุบันโดยแบ่งไปตามหน้าที่การงานและ อาชีพต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงตัวตนและพื้นที่ของพวกเขาที่แตกต่างกันไปในสังคมนั้นๆ
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องแบบทาง การเมือง ซึ่งสวมใส่โดยสมาชิกของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งใช้แสดงความเป็นกลุ่มก้อนของพวกเดียวกันในการเดินขบวนหรือทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบตามอุดมการณ์ทางการเมือง
เครื่องแบบ : ที่มาของอำนาจ
“โตขึ้นหนูจะเป็นอะไร”
เป็นคำถามที่ครูมักถามเด็กๆ ในชั้นเรียนอยู่เสมอจนสืบทอดกันมาไม่รู้จบ และเด็กๆ ในสังคมไทยตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ก็มักจะตอบถึงอาชีพที่ผูกอิงอยู่กับความเป็นข้าราชการที่มีเครื่องแบบสวมใส่ คำตอบที่จะได้ยินอย่างชินหูก็คือ ทหาร, ตำรวจ, หมอ, ครู, พยาบาล…
ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่เด็กไทยจะมีความคิดฝังหัวถึงอาชีพใน เครื่องแบบที่เป็นข้าราชการ เมื่อ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านสังคมวิทยาจากอีสต์-เวสต์ เซ็นเตอร์ มหาวิทยาลัยฮาวาย (East-West Center, University of Hawaii) บอกว่าเป็นรากความคิดที่สืบทอดต่อเนื่องมาร้อยกว่าปี ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เริ่มเปิดประเทศ ทำให้เครื่องแบบของข้าราชการ แสดงสัญลักษณ์ของอำนาจที่สืบทอดมาตั้งแต่ยุคนั้น
“ตอนนั้นต้องการทำให้ฝรั่งเห็นว่า คนไทยมีอารยะ รัชกาลที่ 5 ก็เอาเครื่องแบบที่อังกฤษเอาให้คนอินเดียใส่ในการปกครองประเทศอาณานิคมมาใช้ ซึ่งเครื่องแบบเป็นการตอกย้ำอำนาจที่สูงกว่าของคนกลุ่มหนึ่งต่อคนอีกกลุ่ม หนึ่งอยู่แล้ว แสดงความศิวิไลเซชั่นให้คนภายนอก คือฝรั่งเห็นในแง่หนึ่ง และในขณะเดียวกันก็ทำให้คนในสังคมไทยเห็นความสูงต่ำที่คนสวมเครื่องแบบมี เหนือคนไม่มีเครื่องแบบด้วย ชาวบ้านเมื่อก่อนจะกลัวคนที่มีเครื่องแบบ เพราะจะมาพร้อมกับความมีอำนาจ”
ในเมืองไทย เครื่องแบบยังยืนยันถึงสถาน-ภาพทางอำนาจ ซึ่งอิงกับอำนาจรัฐ ศิโรตม์ยกตัวอย่างที่เห็นเจนตาถึงเครื่องแบบของพนักงานรักษาความปลอดภัยหรือ ยามที่เห็นได้เด่นชัด
“ในเมืองนอก ยามเอกชนไม่ต้องแต่งเครื่องแบบยามที่เลียนแบบราชการ แต่ในเมืองไทย ยามต้องแต่งเครื่องแบบเลียนแบบทหาร และตำรวจ แน่นอนเขาก็พยายามทำตัวเองให้ดูมีอำนาจที่ต้องรักษาความปลอดภัยให้กับสังคม แสดงให้เห็นว่าอำนาจในสังคมไทยก็ยังอิงอยู่กับทางราชการค่อนข้างมาก”
พ.ต.ท. ดร.ปิยะ อุทาโย รองผู้บังคับการกองบังคับการอำนวยการกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) ในขณะนั้น ก็มีความคิดเห็นสอดคล้องกัน โดยบอกว่า ในสมัยโบราณมีเครื่องแบบของทหารและข้าราชการในแบบระบบของไทยดั้งเดิมอยู่ แล้ว แต่มาปฏิรูปตามแบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5
“ระบบเครื่องแบบปัจจุบันรับวัฒนธรรมและธรรมเนียมการแต่งกายมาจากของฝรั่ง รวมถึงวิธีการทำงานด้วย ถามว่าเครื่องแบบเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจหรือเปล่า มันตามมาจากส่วนหนึ่งของหน้าที่มากกว่า ถามว่าครูก็มีเครื่องแบบ สีก็ไม่เห็นต่างกับตำรวจตรงไหนเลย แต่ว่าหน้าที่ทำให้คนดูว่ามีอำนาจต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยดั้งเดิม ต้องยอมรับว่าเครื่องแบบเป็นที่มาของอำนาจ”
โลกเก่า : ทหาร-ตำรวจ เครื่องแบบยังสง่า
ภาพ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษกลับมาใส่เครื่องแบบทหารอีกครั้ง ก่อนหน้าที่จะเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 พร้อมด้วยวาทะที่สั่นสะเทือนไปทั้งวงการเมืองว่า ทหารแก่ไม่มีวันตาย จิตวิญญาณของทหารจะอยู่ไปจนชีพจะหาไม่ ภาพที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เหตุที่ไกลไปจากความเป็นจริงนัก หากจะบอกว่าเครื่องแบบนั้นสามารถบอกคนในสังคมให้รับทราบว่า คนที่แต่งเครื่องแบบนั้นเป็นใคร เครื่องแบบจะทำหน้าที่ในการสื่อสารเพื่อบอกว่า คนที่เป็นพวกเดียวกันกับเขามีใครบ้าง พวกที่ไม่ใช่พวกเดียวกันคือใคร ทหารและตำรวจเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในเครื่องแบบต้องดำรงยึดมั่นในสิ่งที่ดีงามตามที่ เครื่องแบบกำหนดไว้
พ.ต.ท. ดร.ปิยะบอกว่า เครื่องแบบทหารและตำรวจที่ติดยศนั้นเพื่อเป็นการแบ่งมอบหน้าที่ แบ่งชั้นการบังคับบัญชา
“เป็นการแสดงถึงภาระที่ต้องทำงานให้กับในหลวงให้กับแผ่นดิน จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเครื่องแบบตำรวจและทหารโดยตรง อย่างพวกตำรวจที่มาจากสถาบันคือ โรงเรียนเตรียมทหารแล้วเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน เครื่องแบบถือเป็นเรื่องใหญ่มาก จะมีประเพณีของเรื่องเครื่องแบบไว้ เพราะเป็นหน่วยงานที่มีการใช้กำลัง ต้องมีผู้ถูกปกครอง มีผู้บังคับบัญชา ระเบียบเรื่องการใช้เครื่องแบบก็ต้องเข้มข้นเข้มแข็ง แล้วก็มีขนบธรรมเนียมอย่างอื่นที่ไม่อยู่ในกฎหมายบอกไว้ เช่น แต่งเครื่องแบบเดินกินไอศกรีมก็ไม่ได้ เมื่อใส่เครื่องแบบเดินออกนอกชายคาก็ต้องใส่หมวก ถ้าเป็นตำรวจ ทหารจะเข้มข้นอย่างนี้ แต่เครื่องแบบข้าราชการทั่วไปอาจจะไม่มี”
ส่วนตำรวจที่พยายามโชว์เครื่องแบบ หรือสัญลักษณ์ต่างๆ ของตำรวจผ่านพื้นที่ต่างๆ อย่าง แขวนเสื้อในรถยนต์ วางหมวกหน้ารถ ตรงนี้ พ.ต.ท. ดร.ปิยะบอกว่า มองได้ 2 มุม
“ถ้ามองโลกแง่ร้ายก็อาจจะคิดว่า เป็นการเบ่งแสดงอำนาจ แต่หลายๆ คนที่อยู่ในอาชีพตำรวจไม่ได้ต้องการตรงนั้น อย่างคนที่เข้ามาเป็นตำรวจบ้าน เป็นอาสาสมัครต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีเครื่องแบบใส่ เพราะจะได้รู้ว่า ใครเป็นใคร เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นกติกาก็ต้องใส่เครื่องแบบ ตำรวจกับทหารเป็น 2 อาชีพที่มีกำลังและระเบียบวินัยอยู่ในมือ เป็นอาชีพที่รักษากฎหมาย เครื่องแบบนั้นเป็นตัวสื่อให้เห็นว่า ทำงานหรือปฏิบัติหน้าที่อะไร”
สำหรับ คนที่ใฝ่ฝันอยากเป็นตำรวจ อย่าง คะนึง ม่วงบัวยุง พนักงานรักษาความปลอดภัยบริษัท เอ็ม.จี.เอ็น. ซีเคียวริตี้ การ์ด เซอร์วิส จำกัด มองว่า ตำรวจหรือทหารเป็นพวกที่ดูแล้วเท่ เขายอมรับว่า เครื่องแบบเป็นเรื่องของอำนาจ
“โดยเฉพาะพวกตำรวจหรือทหารเหมือน กับว่า ใหญ่โตมียศไม่มีใครกล้ายุ่ง พวกคนในเครื่องแบบมีอภิสิทธิ์พิเศษ แต่รปภ. ไม่มี ถ้ามีก็แค่ในหน่วยงานเท่านั้น ซึ่งเจ้าของบริษัทยามส่วนมากก็เป็นตำรวจหรือทหารที่มาทำธุรกิจด้านนี้ เพราะคนที่มาฝึกสอนรปภ. ก็เป็นตำรวจหรือทหารเก่า” ภาพสะท้อนทั้งหมดก็แสดงให้เห็นว่า เครื่องแบบทหารหรือตำรวจยังส่งอิทธิพลในเรื่องบารมีหรืออำนาจอย่างสูงยิ่งใน สังคมไทย
เครื่องแบบเป็นการตอกย้ำอำนาจที่สูงกว่าของคนกลุ่มหนึ่งต่อคนอีกกลุ่มหนึ่ง แสดงความศิวิไลเซชั่นให้คนภายนอกเห็น ขณะเดียวกันก็ทำให้คนในสังคมไทยเห็นความสูงต่ำที่คนสวมเครื่องแบบมีเหนือคน ไม่มีเครื่องแบบด้วย
19 กันยา พาแฟชั่นทหารฮิต
การทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทหารฟีเวอร์ ประชาชนได้นำครอบครัว ลูกเล็กเด็กแดงออกมาถ่ายรูปกับทหารที่ถือปืน ยืนข้างรถถังอย่างรื่นรมย์และสนุกสนาน คล้ายกับการปิคนิคและมาเที่ยวในงานวันเด็กอย่างไรอย่างนั้น รวมถึงกระแสคลั่งไคล้แฟชั่นทหารที่ตามมาเป็นระลอกใหญ่ ซึ่งศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ วิเคราะห์ว่า การปฏิวัติหนล่าสุดทำให้เห็นว่า เครื่องแบบของทหารมีความเท่มากขึ้น ทำให้มีแฟชั่นเสื้อยืดทหาร เสื้อสายเดี่ยวทหารออกตามมาในวงกว้าง ซึ่งไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน
“ในอีกแง่มุมหนึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะคนในสังคมไทยยังยอมรับว่า อำนาจทหารยังมีอิทธิพลเหนือระบบประชาธิปไตยอยู่ ซึ่งทำให้เข้าใจได้เลยว่า ทำไมคนไทยจึงยอมรับการทำรัฐประหารอย่างง่ายดาย เพราะคิดว่าอำนาจทหารเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจทางการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนไทย
“ผมคิดว่า ในสังคมอื่นที่ไม่ชอบความรุนแรง อย่าง สวีเดน แฟชั่นชุดทหารไม่มีทางเกิดขึ้น การแต่งตัวเลียนแบบทหารไม่ใช่เรื่องที่น่าภูมิใจ เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรง เป็นสัญลักษณ์ของความตาย”
วรวุฒิ โชติกุล เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้ายี่ห้อ ZAP มองถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เพราะเครื่องแบบของทหารนั้นแสดงถึงอำนาจชี้เป็นชี้ตาย “ระบบการปกครองในอเมริกาจะมีทัศนคติว่า ทหารหรือตำรวจจะรับใช้ประชาชน แต่ในเมืองไทยหรือประเทศที่กำลังพัฒนาจะมองว่า คนที่ถือปืนจะมีอำนาจมากกว่าคนทั่วไป โดยมีสัญลักษณ์ผ่านทางเครื่องแบบ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดรัฐประหารแล้วแฟชั่นทหารจะฮิตก็ไม่ใช่เรื่องที่ แปลก”
เขายังเสนอความคิดเห็นต่อว่า ลักษณะรูปแบบของเครื่องแบบทหารและตำรวจในยุคปัจจุบันดูมีความเหมาะสมกับ กิจกรรมที่ทำมีความทะมัดทะแมงทนทานต่อการใช้งาน แต่เสนอแนะว่า สำหรับตำรวจหรือทหารที่ไม่ใช่อยู่ในภาคสนาม แต่ทำเกี่ยวกับธุรการหรือติดต่อกับประชาชนโดยตรง น่าจะมีเครื่องแบบอีกอย่างหนึ่ง “เวลาไปติดต่อที่สถานีตำรวจหรือที่ทำการของทหาร เครื่องแบบดูขึงขังจนทำให้คนเกรงกลัว ไม่เป็นมิตร ทำให้มีความรู้สึกที่กั้นขวาง เหมือนมีอำนาจที่ข่มขู่ เพราะเครื่องแบบในสายตาของประชาชนที่เห็นส่วนมากก็เอาไว้จับผู้ร้าย ทำร้ายข่มขู่หรือรีดไถ น่าจะมีเครื่องแบบที่ดูอ่อนโยนลงมา
“ในอเมริกา ตำรวจจะถูกจ้างโดยภาษีของประชาชนในแต่ละเมืองเอง เพราะฉะนั้นเครื่องแบบของตำรวจจะหลากหลายเหมาะสมกับชุมชนและท้องที่ในเมือง ของเขาเอง ในเมืองไทยเองก็น่าจะทำอย่างนี้ ให้มีเครื่องแบบที่หลากหลายขึ้น แต่ก็ยังเป็นสีกากีอยู่เช่นเดิม”
โลกใหม่ : เครื่องแบบในระบบทุนนิยม
แม็กซ์ เว็บเบอร์ส นักมานุษยวิทยาเชิงวัฒนธรรมเขียนถึงเรื่องเครื่องแบบไว้ว่า รูปแบบของระบบราชการจะมีการระบุที่ชัดเจนเป็นตัวบทกฎหมายถึงระเบียบแบบแผนใน เรื่องเครื่องแบบ ส่วนภาคเอกชนเครื่องแบบจะเป็นตัวสื่อบอกถึงระบบของการจ้างงานที่มีความมั่น คงในโลกของทุนนิยมและลัทธิเสรีนิยมใหม่ เครื่องแบบเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของพนักงานบริษัทต่างๆ ซึ่งพยายามใช้เครื่อง-แบบให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่หรือมหานคร การที่จะให้เห็นหน้าที่ของแต่ละคน เครื่องแบบจะเป็นสิ่งที่ช่วยบอกได้เร็วขึ้น เป็นการรวบย่อถึงการติดต่อปฏิสัมพันธ์หรือสนทนาว่า คุยอยู่กับใคร คนนั้นทำหน้าที่อะไร ศิโรตม์ชี้ว่า เครื่องแบบของคนชั้นล่างในสังคม ไม่ได้แสดงถึงสถานภาพทางอำนาจของเขา แต่แสดงถึงความเป็นกลุ่มของเขามากกว่า
“เพื่อให้คนในสังคมรับรู้ว่าพวกเขาเป็นใคร มีความสำคัญอย่างไรในสถานที่แห่งที่เขาทำงานอยู่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับอำนาจแต่อย่างใด ซึ่งจะเกี่ยวกับการยืนยันการมีอยู่ของตัวตนพวกเขามากกว่า เครื่องแบบของคนงานมันจะทำให้คนในโรงงานรู้สึกเหมือนกันหมด ไม่ใช่เหมือนกันหมดในแง่หน้าที่การงาน แต่เหมือนกันตรงที่มีนายจ้างร่วมกัน มีผลประโยชน์บางอย่างร่วมกัน รับเงินเดือนมาจากที่เดียวกัน ทำงานเพื่อบริษัทเหมือนกัน จุดตรงนี้น่าสนใจตรงที่เมื่อก่อน ตอนที่กระแสสังคมนิยมยังมีพลัง ความสัมพันธ์ของกรรมกรจะนำไปสู่การรวมกลุ่มเป็นสหภาพหรือเกิดจิตสำนึกต่อ ต้านหรือต่อสู้กับระบบทุนนิยม
“ในขณะที่ทุกวันนี้ ระบบทุนนิยมได้สร้างเครื่องแบบและรูปแบบเพื่อให้คนงานหรือกรรมกรภูมิใจใน ความเป็นกรรมกรมากขึ้นโดยผ่านเครื่องแบบ เท่ากับคนงานได้คิดอยู่ตลอดเวลาว่า ตัวเองเป็นลูกจ้างของบริษัท ไม่ใช่ผู้มีอำนาจและไม่จำเป็นต้องไปต่อต้านบริษัทแต่ต้องทำเพื่อบริษัท ซึ่งจุดนี้เป็นการแบ่งปันที่น่าสนใจว่า เครื่องแบบของคนงานหรือกรรมกรที่ใช้เพื่อต่อรองกับนายทุนได้ แต่ปัจจุบันกลายเป็นเครื่องมือของนายทุนที่นำไปใช้เพื่อให้คนงานอยู่ใน ภาพลวงตาบางอย่างว่า เจ้าของโรงงานเป็นนายจ้างและต้องตั้งใจทำการผลิตเพื่อโรงงาน”
จุดที่น่าสนใจอีกอย่างที่ศิโรตม์ชี้ให้เห็นก็คือ ประเด็นเรื่องโลกาภิวัตน์ที่มาตั้งแต่ปี 1990 ซึ่งทำให้เกิดเครื่องแบบของคนกลุ่มใหม่ขึ้นมาก็คือ เครื่องแบบของชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกลางที่อิงอยู่กับตลาดทุน
“คนกลุ่มนี้เวลาพรีเซนต์ตัวเองในภาพสาธารณะจะอยู่ในชุดสูทตลอดเวลา อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โฆษณาชิ้นแรกที่แสดงตัวเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรมก็จะใส่ชุดสูท เสื้อเชิ้ตขาว ผูกเนคไท แล้วชี้นิ้วไปข้างหน้า หลังจากนั้นภาพแบบนี้ เครื่องแบบอย่างนี้จะถูกใช้โดยนัก-การเมืองเกือบจะทั้งหมด เป็นแอ็คชั่นเดียวกัน พรีเซนต์ตัวเองในรูปแบบของคนชั้นกลาง หรือไม่ก็คนที่ทำอาชีพธุรกิจ คนที่มีเงิน ไม่ใช่เครื่องแบบข้าราชการเหมือนในอดีต”
เครื่องแบบเพิ่มมูลค่าสินค้า
สำหรับในสังคมไทย อีกด้านที่ปฏิเสธไม่ได้ของเครื่องแบบก็คือ การขายบริการทางเพศของบรรดานักเรียนและนักศึกษาสาว เพราะเครื่องแบบของพวกเขาเป็นเหมือนโค้ดอย่างหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับราคาบางอย่างในท้องตลาด เครื่องแบบนักศึกษามีมูลค่าทางเศรษฐกิจทำให้สามารถค้าขายร่างกายด้วยราคาที่แพงกว่าปกติ
ภัทราภรณ์ ศรีนาค นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 3 โรงเรียนพณิชยการสามเสน แจกแจงว่า เด็กพาณิชย์ใจง่าย ก็เป็นเรื่องแล้วแต่ระดับของโรงเรียน เรื่องขายบริการก็ยอมรับว่า ยังมีอยู่ในบางโรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องจริง แต่เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าอย่างวรวุฒิมีคำอธิบายอีกด้านหนึ่งว่า ทัศนคติด้านลบของคนในสังคมที่มองเด็กสาวในชุดนักศึกษาและเครื่องแบบนักเรียนพาณิชย์เป็นสินค้าทางเพศ เพราะระบบการศึกษาพื้นฐานของไทยจำกัดอายุให้อยู่ในระดับไม่เกิน 25 ปี
“คนที่ใส่เครื่องแบบก็ยังอยู่ในวัยเด็กสาวสะพรั่ง เมื่อมาต่อโยงเกี่ยวเนื่องกับเรื่องทางเพศก็เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงสินค้า เพราะได้หลับนอนกับคนที่มีอายุน้อยและมีความสดใส ถ้าเป็นประเทศอื่นที่ไม่จำกัดอายุในการศึกษา และไม่ต้องมีเครื่องแบบในสถานการศึกษา ปัญหาเรื่องนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น มูลค่าสินค้าทางเพศตรงนี้จะหายไป เพราะมันจะไม่มีความชัดเจน ความเป็นนักเรียนนักศึกษาที่เป็นสินค้าทางเพศ กระตุ้นเร้าให้คนมาซื้อบริการก็ไม่ถูกสร้างมาเป็นจุดขาย ไม่สามารถสร้างมูลค่าได้ ทัศนคติอย่างนี้จะเกิดในประเทศที่มีรูปแบบเหมือนเมืองไทยในระบบการศึกษา”
คดีการซื้อบริการของบรรดาเฒ่าหัวงูจนเป็นคดีความพรากผู้เยาว์ก็มีให้เห็นกันทนโท่และบ่อยครั้งในสื่อต่างๆ และกลายเป็นเรื่องธรรมดาในยุคที่เด็กไทยหลงใหลวัตถุภายนอกจนขายร่างกายกันดาษดื่น และชุดนักเรียนนักศึกษาก็คือ แรงดึงดูดใจทางเพศชั้นเยี่ยมที่ใครๆ ก็ไขว่คว้า
ศรีนาค
“หนูชอบชุดนักเรียนแบบนี้ เพราะรู้สึกว่าน่ารัก แล้วทำให้ดูดี เครื่องแบบนักเรียนพาณิชย์แบบเก่าๆ มันน่าเบื่อแล้ว ตอนนี้โรงเรียนพาณิชย์ต่างๆ ก็แข่งกันในเรื่องชุดนักเรียน พยายามทำให้ชุดนักเรียนสวยงามโดดเด่น เด็กจะได้สนใจอยากมาเรียน แล้วมีผลอย่างมาก ถ้าโรงเรียนไหนชุดนักเรียนน่ารักสไตล์ญี่ปุ่น เด็กก็จะแห่กันมาเรียน “สำหรับเรื่องชุดนักเรียน บางคนร้องห่มร้องไห้กับแม่เพื่อจะเปลี่ยนโรงเรียนมาอยู่โรงเรียนที่ใส่ชุดสวยถูกใจ ต้องย้ายโรงเรียนให้ได้ เพื่อนหนูตอนแรกเรียน ม.ปลายอยู่ กำลังเรียน ม.5 จะขึ้น ม.6 แล้ว ก็ลาออกตามเพื่อนมาเรียนพาณิชย์ เพราะชุดนักเรียนสวย
เด็กที่เรียนพาณิชย์จะสนใจเรื่องชุดเป็นอย่างมาก เพราะพวกเราอยากสวยอยากเป็นที่สนใจ ใส่ชุดนักเรียนแบบนี้แล้วน่ารักจะได้มีคนมาจีบ ตอนนี้โรงเรียนพาณิชย์ เด็กจะมาเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม เพราะให้แต่งตัวด้วยเครื่องแบบคล้ายนักเรียนญี่ปุ่น ชอบเครื่องแบบเปรี้ยวเซ็กซี่ เรียนสบาย ใส่ชุดสวย” ภัทราภรณ์ บอกตรงไปตรงมา
“ความภูมิใจของนักเรียนพาณิชย์นอกจากความสวยเก๋ เวลาตอนกลางวันมาเรียนก็แต่งหน้ามาแข่งกัน เป็นเรื่องธรรมดา เพราะเด็กพาณิชย์จะเป็นเด็กที่แต่งตัว ถ้าใครแต่งแบบธรรมดาจะโดนด่าโดนว่า เชยว่ะแก ไม่มีใครคบ เป็นยายเพิ้ง ใครเข้ามาเรียนก็ต้องแต่งหน้าแต่งสวยไปโดยอัตโนมัติ เด็กๆ รุ่นหนูจะกล้าแสดงออก ไม่ค่อยอาย มั่นใจในตัวเอง”
การสลายอำนาจของเครื่องแบบ
แม้ว่าในปัจจุบัน สังคมไทยยังมีความผูกโยงยึดติดกับอำนาจของเครื่องแบบทหาร-ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนอย่างเหนียวแน่น แม้บางส่วนจะมีเครื่องแบบตามความเป็นทุนนิยมแบบโลกตะวันตกก็ตาม ศิโรตม์บอกว่าในสังคมอื่น เครื่องแบบไม่ได้ทำหน้าที่แสดงสถานภาพทางอำนาจ อย่างเช่นในยุโรป
“เครื่องแบบของตำรวจในเยอรมนีตะวัน-ออกหลังจากหมดยุคคอมมิวนิสต์ เขาจะใช้สีซึ่งเป็นโทนสีอ่อน ไม่ใช้สีเข้มๆ แบบเดิม เพื่อจะให้คนรู้สึกว่า ตำรวจ ทหารไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว เป็นมิตรกับประชาชน แต่ในเมืองไทยเครื่องแบบของข้าราชการจะมาในโทนสีที่เข้ม เพื่อตอกย้ำความขึงขังการมีอำนาจพิเศษบางอย่าง ผมคิดว่าตรงนี้ก็สะท้อนภาพทางการเมืองในบ้านเราเหมือนกันว่า ข้าราชการมีอำนาจบางอย่างที่สำคัญอยู่ ขณะที่ในยุโรปตะวันออก คอมมิวนิสต์มีปัญหาเรื่องใช้ระบบราชการรังแกประชาชนมาก เมื่อเกิดการปฏิวัติทางสังคมขึ้นมา เครื่องแบบก็เลยเปลี่ยนเพื่อทำลายภาพของการมีอำนาจเหนือประชาชนลงไป”
ทางด้าน พ.ต.ท. ดร.ปิยะ ชี้ว่า ในอนาคต ทัศนคติในเรื่องเครื่องแบบของคนไทยก็ต้องเป็นไปตามโลกตะวันตกแบบในยุโรปและอเมริกา
“อำนาจที่อยู่คู่เครื่องแบบต้องคลายตัวหายไปอย่างแน่นอนตามสถานการณ์ของสังคมและบ้านเมือง เพราะว่าแต่เดิมอำนาจกับเครื่อง-แบบมันจะอยู่คู่กัน แต่ระยะหลังอำนาจจะถูกแตกขยายออกไป ปัจจุบันระบบราชการต่างๆ เริ่มคลายตัวไม่รวมศูนย์แบบเก่า อำนาจเริ่มกระจายตัวไปสู่หลายๆ ส่วนของสังคมมากขึ้น ความสำคัญของเครื่องแบบกับอำนาจก็เริ่มจะห่างออกไป เหมือนคนรุ่นปัจจุบันเลือกอาชีพก็จะไม่มองที่อำนาจในหน้าที่ทางราชการแบบคนรุ่นเก่า แต่จะมองความมั่นคงและรายได้ที่จะตอบแทนในอาชีพนั้นๆ มากกว่า แสดงว่าความรู้สึกของคนปัจจุบันไม่ได้มองที่เครื่องแบบและอำนาจอีกแล้ว”
พื้นที่ทางสังคมและอำนาจของเครื่องแบบในเมืองไทยเป็นเรื่องที่มีแง่มุมหลากหลายและมีมิติซับซ้อนที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง การมีราก-ฐานมาจากสังคมศักดินาและระบบอุปถัมภ์ รวมทั้งการรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองและระบบราชการไว้ที่ส่วนกลางมายาวนานถึงร้อยกว่าปี แม้สังคมจะแปรเปลี่ยนไป แต่รากที่ฝังแน่นยาวนานก็ยังคงอยู่และยังทำหน้าที่ของตัวมันเองอยู่ในปัจจุบันอย่างมิยอมผันแปรไป เครื่องแบบในสังคมไทยจึงทรงพลานุภาพในจิตใจของผู้คนอย่างไม่ยอมเสื่อมคลาย
*******************************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Way ฉบับที่ 2 พ.ศ.2549)