ผมเป็นคนหนึ่งที่เขียนเสมอว่า นักเขียนการ์ตูนไทยและนักเขียนนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กไทยมีเรื่องให้เขียนไม่มาก
นักเขียนการ์ตูนมีข้อห้ามมากจึงเขียนไปได้ไกลที่สุดเป็นการ์ตูนแนว ซึ่งพอแนวมานานๆ ก็เริ่มติดขัดเหมือนกันเพราะไม่ไปไหน นักเขียนการ์ตูนแนวบางคนถึงกับนิยมการปฏิวัติก็มี ส่วนนักเขียนนิทานประกอบภาพมีคำกล่าวว่า ทางสำนักพิมพ์ขอให้เขียนเรื่องสอนเด็กเป็นเด็กดีจะขายได้มากที่สุดเพราะพ่อแม่ชอบ เราจึงมีนิทานแนวสั่งสอนให้ยกมือไหว้และแปรงฟันกันอยู่เรื่อยๆ ทำกันสวยๆ หลายเจ้าเลยทีเดียวซึ่งก็มิได้มีข้อเสียอะไร บางเจ้าขายเหมาโหลราคาถูกเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากส่งเสริมลูกอ่านนิทานแต่มีเงินไม่มาก
ผิดกับหนังสือนิทานประกอบภาพจากต่างประเทศซึ่งมักมีเนื้อเรื่องดีกว่ากันมาก ที่อิมพอร์ตมาแปลขายกันมีลักษณะเป็นเรื่องเล่าจริงๆ (story) เป็นนิทานหรือนิยายจริงๆ (tales & fictions) มีตัวเอก ตัวร้าย และความขัดแย้ง ที่สำคัญคือไม่เคยสอนอะไรเลย แค่เล่าๆ ไปแล้วก็จบเรื่อง แต่พบว่าให้อะไรมากมาย คุณพ่อคุณแม่ชนชั้นกลางไปจนถึงชนชั้นกลางระดับสูงชอบกันมาก ราคาต่อเล่มบ้านเรามิใช่น้อย ทำปกแข็งมาอย่างดีเพราะหลายเล่มถูกบังคับให้ทำเหมือนต้นฉบับต่างประเทศทุกประการ ตั้งราคาปกสูงกว่า 200 บาททุกเล่ม ก็เห็นขายได้ขายดีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง
หนังสือกลุ่มนี้พ่อแม่ชนชั้นกลางระดับล่างจะซื้อได้ไม่กี่เล่ม ชนชั้นล่างน่าจะซื้อไม่ไหวเลย ที่ผมขัดใจคือเราไม่มีห้องสมุดสำหรับเด็กมากพอที่จะให้ทุกชนชั้นเข้าถึงหนังสือกลุ่มนี้ฟรี ยืมได้ครั้งละ 5-10 เล่มกลับไปนอนอ่านที่บ้าน ยืมได้นานครั้งละครึ่งถึงหนึ่งเดือนเหมือนในประเทศพัฒนาแล้ว เพราะมันดีต่อสมอง จิตใจ และพัฒนาการมากกว่ามาก อยากให้เด็กยากจนประเทศไทยได้อ่านทุกๆ คน
ทุกครั้งที่มีนิทานประกอบภาพไทยแนวไม่สั่งไม่สอนออกมา ผมจะเขียนถึงเสมอบนเพจของตัวเองเช้าวันเสาร์ แม้ว่าจะแฝงการสั่งสอนอะไรบ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็เขียนถึง เพราะมิเช่นนั้นจะหามิได้เอาเสียเลย
ครั้งนี้ก็เช่นกัน ผมสั่งซื้อนิทานประกอบภาพชุด ‘วาดหวัง’ นี้มาตั้งแต่ยังไม่เป็นข่าว เมื่อได้มาก็ตั้งไว้ยังไม่แกะกระดาษเพราะมีหนังสือนิทานประกอบภาพอีกหลายเล่มที่น่าอ่านรอคิวอยู่ ไม่นับว่าระยะหลังๆ มี ‘หนังสือภาพสำหรับเด็กที่ไม่ใช่นิทาน’ (nonfiction children’s picture books) จากต่างประเทศมาเพิ่มเติมคิวให้ยาวขึ้นอีก ครั้นมีข่าวว่าเป็นหนังสือวาดหวังมอมเมาเด็กๆ ก็อดแปลกใจมิได้จึงแกะกระดาษออกอ่าน
ผมรู้สึกผูกพัน ‘สองขา’ จึงสุ่มเรื่องของสองขาขึ้นมาก่อนเลย เรื่อง ตัวไหนไม่มีหัว สองขา เขียนเรื่อง พรพิมล วงศ์ศิริทรัพย์ เขียนภาพ ผมไม่รู้จักว่าสองขาเป็นใคร เพศอะไรยังไม่รู้เลย ที่ผูกพันเพราะสองขาเป็นนักเขียนนิทานประกอบภาพที่มีผลงานมากมายมาก่อนแล้ว สำหรับท่านที่หยิบหนังสือนิทานประกอบภาพฝีมือคนไทยมาอ่านเรื่อยๆ คงทราบดีว่าเรามีไม่กี่ชื่อที่จะพบเห็นผลงานกันบ่อยๆ ความบ่อยนั้นเองที่ประกันผลงาน
นิทานประกอบภาพมีกลไกสำคัญคือ ใช้ภาพและคำช่วยกันทำงาน การช่วยกันทำงานมี 4 ลักษณะ
- ลักษณะที่ 1 เรื่องและภาพช่วยกันเล่าเรื่อง
- ลักษณะที่ 2 เรื่องและภาพช่วยกันถม ช่องว่าง (gap)
- ลักษณะที่ 3 เรื่องและภาพช่วยกันถมช่องว่าง แต่เหลือช่องว่างไว้บ้าง
- ลักษณะที่ 4 เรื่องและภาพเล่าไปคนละทาง แล้วดูซิว่าจะเกิดอะไรขึ้น
นิทานส่วนใหญ่เป็นแบบที่ 1 รองลงมาเป็นแบบที่ 2 น้อยที่จะทำแบบที่ 4 ซึ่งหากทำได้ก็จะได้ผลงานมหัศจรรย์เสมอ
ที่ดีที่สุดต่อเด็กๆ คือแบบที่ 3 กล่าวคือ แม้ว่าภาพและเรื่องจะช่วยกันถมช่องว่างแต่จะเหลือช่องว่างเอาไว้บ้าง ช่องว่างที่เหลือเอาไว้นั่นเองคือคุณค่าของหนังสือ ปล่อยเนื้อที่ให้เด็กๆ เติมเอาเองตามสบาย เติมความคิด ความฝัน และจินตนาการ โดยที่เราไม่สั่งสอน ไม่ควรสั่งสอน และห้ามสั่งสอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยทำยากที่สุด เราจะสอนให้จงได้สิน่ะ!
อยากรู้ว่าหนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กเล่มหนึ่งดีอย่างไร ให้ดูรูปอย่างเดียวโดยไม่อ่าน จากนั้นจึงอ่านอย่างเดียวโดยไม่ดูรูป ทั้งนี้เพื่อดูการทำหน้าที่ของสองส่วนว่าทำได้ดีเพียงใดและเหลืออะไรไว้ให้เราคิดคำนึง มาลองกับเล่มแรกนี้กันครับ ตัวไหนไม่มีหัว
หน้าปกของเรื่องนี้มีพื้นเป็นสีเหลือง ตัวหนังสือแดงดำ เครื่องหมายปรัศนีที่ตรงกลางใช้สีแดง มีสัตว์ 6 ชนิดล้อมรอบ หากอ่านเฉพาะสีแดงจะได้ความว่า “ตัวไหน?” ฟอนต์แดง ไล่สายตาดูสัตว์ 6 ตัวที่ล้อมรอบปรัศนี จะเห็นความแตกต่างที่ขัดลูกตาขึ้นมาทันที
หนึ่งคือไก่ไม่ใช่การ์ตูน ในขณะที่อีก 5 ตัวเป็นการ์ตูน
สองคือเต่ามีสองหัว แต่น่าจะเป็นเพราะหัวยืดได้หดได้เนื่องจากมีเส้นเคลื่อนไหว (speedline) ช่วยอยู่
จากนั้นเปิดเรื่อง เนื้อเรื่องยอดมากนะครับ ขออภัยที่จะบอกว่าคุณสองขาเขียนได้ดีกว่าอีกหลายๆ เรื่องในอดีตที่ผ่านมา เห็นไหมครับว่าพลันที่เราเปิดพรมแดนให้นักเขียนไทยเขียนอะไรก็ได้ เขาก็ปล่อยของได้ทันที นี่เพียงเริ่มต้นเท่านั้นเอง ถ้าท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพนักเขียนไทยแนวสั่งสอนจะมีเรื่องสนุกสนานอื่นๆ ให้เขียนอีกมาก
ผมเขียนเสมอว่านักเขียนการ์ตูนไทยและนักเขียนนักวาดนิทานประกอบภาพไทยมีฝีมือดีหลายคน แต่พวกเขาทำงานได้เพียงการ์ตูนและนิทานแนวสั่งสอน หรือวนเวียนอยู่กับเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ นิทานพื้นบ้าน ประวัติศาสตร์บุคคลสำคัญ หรือพุทธศาสนา
ตัวไหนไม่มีหัว มีเนื้อหาที่ดีมากด้วย เมื่อมีการชี้ให้เห็นในตอนท้ายว่า ก ไก่ ไม่มีหัวจะเป็นอย่างไร แล้วถ้าเติมหัวลงไปจะเกิดอะไรขึ้น ส่วนนี้ถือว่าเนื้อเรื่องไปได้เนียนมากกว่านิทานไทยหลายๆ เรื่องที่ชอบสั่งชอบสอน หรือจงใจ หรือยัดเยียด ด้วยสำนวนและการปล่อยคำเฉลยในตอนท้ายที่ยอดเยี่ยมนี้เอง ผมจึงให้เล่มนี้ครองตำแหน่งชนะเลิศ (กรรมการมีคนเดียว)
ลองพลิกหน้าสุดท้ายดูนะครับ ก ไก่ ยังคงเป็น ก ไก่ ที่ไม่ใช่การ์ตูนวันยังค่ำ จะเห็นว่าศิลปินทำงานตามไวยากรณ์มาตรฐานของนิทานประกอบภาพอย่างดียิ่งไม่มีหลุด
ส่วนประกอบส่วนอื่นๆ เป็นไปอย่างที่ผมเขียนเสมออีกเช่นกันคือ จบแล้วไม่ค่อยยอมจบต้องแถมนั่นแถมนี่บอกกล่าวนั่นนี่นิดๆ หน่อยๆ ท้ายเล่ม ต่างจากนิทานต่างประเทศดีๆ ที่ไม่สอนอะไรกันจริงๆ แล้วก็ไม่บอกกล่าวอะไรด้วย จบเป็นจบ นิทานที่ดีสร้างความคิดคำนึงก็เพียงพอ แต่นักเขียนและบรรณาธิการมักบอกผมเสมอว่า “ไม่สอนไม่แถมไม่ได้หรอกคุณหมอ สำนักพิมพ์ต้องการและพ่อแม่ก็ต้องการ”
ขออภัยด้วยที่ผมอ่านเฉพาะตัวนิทานเหมือนทุกครั้ง ไม่อ่านส่วนแถมเลย
มาเล่มที่สอง ขอเลือก ‘แม่นาก’ แม่นาก เป็นหนังไทยเรื่องเดียวที่ทำผมร้องไห้ได้จริงๆ จึงผูกพันกันตั้งแต่นั้น เมื่อแม่นากขึ้นปกก็จะตามอ่านงานของเธอเสมอ เคยนั่งประชุมกับเธอครั้งหนึ่งในงานประกวดนวนิยายไทยเวทีหนึ่ง เธอเป็นคนแรกที่พูดถึงหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมในท้องตลาดมากเวลานั้นว่าเป็นเรื่องหวานแหววเกินจริงและหวานมากจนเลี่ยน ถ้อยคำที่ถูกต้องอาจจะไม่ตรงเสียทีเดียวแต่ก็ประมาณนี้ด้วยเวลาผ่านมาหลายปีแล้ว เพียงเท่านี้ก็อดนิยมในความปากกล้าของเธอมิได้ เหมือนเรื่อง เสื้อใหม่ของพระราชา ที่รู้จักกัน คนทั้งเมืองชื่นชมหนังสือเรื่องนี้ มีเธอคนเดียวพูดขึ้นว่ามันไม่ดีพอ พอเธอพูดคนอื่นๆ ก็คล้อยตาม ปรากฏว่าปีนั้นหนังสือเล่มนี้คว้ารางวัลทุกเวที ยกเว้นเวทีที่เราประชุมด้วยกัน
จะเห็นว่าปัญหาของบ้านเราคือไม่พูด เหตุหนึ่งเพราะพูดไม่ได้ เหตุที่ใหญ่กว่าคือเกรงใจผู้หลักผู้ใหญ่ ลำพังสองเหตุนี้ก็ฉุดประเทศของเราให้ไปไหนไม่ได้ แล้วทำให้มีคนยากจนกับความลำบากถ้วนหน้าที่แก้ไขไม่ได้จนถึงวันนี้ ที่ผมต้องการคือคนอย่างเธอในที่ประชุมราชการนี่แหละ เราจ้างคุณมาพูด มิได้จ้างคุณมาเป็นลูกขุนพลอยพยัก ใช่ครับท่าน ได้ครับนาย สุดท้ายน้ำท่วมเหมือนเดิม วันนี้พบนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กที่เธอเขียน ก็ต้องอ่านว่าเธอจะพูดอะไรที่คนอื่นไม่พูดอีก
เรื่องที่สอง แม่หมิมไปไหน อินทิรา เจริญปุระ เขียนเรื่อง สองขา เขียนกลอน เพชรลัดดา แก้วจีน เขียนภาพ หน้าปกมีพื้นสีฟ้าหญ้าสีเขียวแมวสีส้มตัวใหญ่พร้อมตุ๊กตาเป็ดยางสองข้าง มีนกพิราบและมีธง ผู้หญิงคนหนึ่งน่าจะชื่อแม่หมิมใส่ชุดทะมัดทะแมงยืนชูสามนิ้วของมือซ้ายอยู่ข้างๆ เธอมิใช่ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์
ผมอ่านเหมือนอ่านนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กเรื่องอื่นๆ เช่นเคย เวลาพบคำกลอนหรือสองภาษา ผมจะอ่านเฉพาะคำกลอนหรือภาษาหลักที่ต้องการเท่านั้น เราไม่อ่านไขว้ เพราะอ่านไขว้จะไม่ได้อะไรเลย อ่านสองภาษาก็จะไม่ได้อะไรเลย อ่านเชิงอรรถก็จะเสียรสชาติ ดังนั้นเราอ่านคำกลอนเท่านั้น ไวยากรณ์ของเล่มนี้เป็นรูปภาพและคำกลอน ทั้งสองส่วนช่วยกันถมช่องว่างของข่าวสาร แล้วเหลือบางส่วนให้คิดเอาเอง
อ่านรูปอย่างเดียวก่อนนะครับ หญิงคนหนึ่งพบลูกแมวในกล่อง อุ้มขึ้นมาแล้วกอดแนบอก หลังฉากน่าจะเป็นบ้านสวยงาม เธอแต่งตัวดีมีระดับ ไม่ปอนๆ เหมือนที่หน้าปก น่าแปลกใจที่ทรงผมเปลี่ยนตลอด (ตั้งสมมุติฐานว่าชอบทำผม) พลิกหน้าสองแม่นากมาแล้วพร้อมทรงผมแม่นาก ยังกลัวอยู่ – รีบพลิกหน้าถัดไป
เธอไปช่วยทำครัว แล้วก็ไปเยี่ยมไข้หญิงสวมแว่นคนหนึ่ง แล้วไปยืนแจกอาหาร แล้วไปนั่งกลางสตรีมุสลิมกลุ่มหนึ่ง แล้วไปนั่งกลางดินยามค่ำคืน ณ ที่หนึ่ง แล้วไปนำหน้าขบวนประท้วง ตามด้วยการประท้วงอีกงานหนึ่งที่ทุกคนใส่หน้ากาก แล้วมาถึงการยืนหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ทุกคนใส่หน้ากากอีกเช่นกัน จนถึงหน้าสุดท้าย แมววิ่งมาหาเธอท่ามกลางแปลงดอกไม้รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย – จบ
แต่ละรูปที่เล่ามาจะมีแมวสีส้มตัวนั้นชะเง้อดูเธออยู่ที่มุมซ้าย สังเกตว่ามีคนเริ่มใส่หน้ากากหลังรูปแม่นากเป็นต้นมา รูปวาดทุกหน้าสวยมากและลงสีคงเส้นคงวาจากหน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย น่าชมเชยนักวาดเป็นพิเศษด้วยครับ
คราวนี้อ่านคำกลอน เป็นกลอนสี่อย่างง่ายเหมาะกับหนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กมาก อ่านแล้วดีนะครับ ไพเราะ ลื่นไหล เรียบง่าย สบายตา และสบายใจ เป็นคำกลอนที่มีเนื้อหาสำคัญคือ ‘ให้’ เราอยากสอนเด็กไทยให้รู้จักให้มิใช่หรือ คำกลอนนี้พูดเรื่องการให้ล้วนๆ ให้วัตถุไปจนถึงให้หัวใจ ให้สักอย่างแล้วสังคมจะดีขึ้นแน่ๆ เป็นสิ่งที่คนตัวเล็กตัวน้อยพอทำได้ เจ้าแม่กวนอิมยังทำเลย แต่ที่แม่นากมีมากกว่าคนอื่นๆ คือเธอกล้าทำ กล้ามานาน และยังคงกล้าหาญถึงวันนี้
ผมอ่านกลอนสี่จบแล้วจบเท่านั้นเช่นเคย ที่เหลือเป็นส่วนเกินของนิทานประกอบภาพ จะเห็นว่าคำเข้าไปเติมช่องว่างของภาพได้สมบูรณ์แล้ว จบได้แล้ว – คลาสสิก
เพิ่งเขียนได้ 2 เล่มเท่านั้นเอง แหม ถ้าจะเขียนให้ครบ 8 เล่มจะตีกินบรรณาธิการไปได้อีก 3 ตอนเลยทีเดียวครับ