ทักษะศตวรรษที่ 21 และโควิด-3

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ก่อนจะพ้นโควิด-3 อย่างเป็นทางการ (หวังว่าจะพ้น) ว่ากันว่าคนไทยลืมง่าย วันนี้จะชวนรำลึกอดีตครั้งที่โควิด-2 ก่อตัวเมื่อปลายปี พ.ศ. 2563

อีกทั้งน่าจะเป็นการพูดซ้ำซากเมื่อพาดพิงการศึกษาศตวรรษที่ 21 แต่ก็จะพูดอีกจนกว่าคุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูสมัยใหม่จะเข้าใจ

โควิด ฝุ่น PM2.5 เศรษฐกิจล่ม และความรุนแรงทางการเมือง เป็น 4 เรื่องที่อยู่ล้อมรอบตัวเราทุกวันนี้ มีหลักฐานให้เห็นทนโท่ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม อีกทั้งไม่ว่าจะเป็นพวกไหนก็ตาม เราให้การศึกษาเด็กไทยวันนี้มิใช่เพื่อให้เขาเป็นเด็กดี มีศีลธรรม ถือความสัตย์ แต่เพื่อให้เขามีทักษะศตวรรษที่ 21 เพื่อเตรียมรับมือภัยคุกคามทั้งสี่ด้าน   

กล่าวเฉพาะภูเก็ตและเชียงใหม่ น่าจะเห็นอยู่ว่าเศรษฐกิจวันนี้เป็นอย่างไร 

ผมจำได้ว่าตัวเองเคยพูดในที่ประชุมคุณพ่อคุณแม่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในภูเก็ตว่า เกาะภูเก็ตมีพื้นที่เท่ากับเกาะสิงคโปร์ เพราะอะไรการพัฒนาจึงต่างกันมากมาย ถ้าต้องการตัวเลขจริงๆ ภูเก็ตมีพื้นที่ 543 ตารางกิโลเมตร สิงคโปร์มีพื้นที่ 728 ตารางกิโลเมตร

จะว่าไปเรารู้อยู่แก่ใจว่าทำไมสองเกาะนี้ต่างกันมากมาย ทั้งที่เกาะหนึ่งต้นทุนธรรมชาติสูงกว่ามาก

ผมเดินทางไปพักผ่อนที่กระบี่เมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 เพียง 2 วันหลังจากข่าวสตรีไทยข้ามพรมแดนธรรมชาติบริเวณท่าขี้เหล็ก-แม่สายเล็ดลอดกลับบ้าน หลังจากที่ไปทำงานที่โรงแรมแห่งหนึ่งในท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า

เธอติดโควิดและแพร่เชื้อให้เพื่อนชายชาวเชียงรายคนหนึ่งในวันต่อมา มีชายไทยคนนี้เพียงคนเดียวที่นับเป็นสถิติของการพบเชื้อ ‘บน’ พื้นที่จังหวัดเชียงรายจริงๆ คนอื่นๆ นับจากนี้เป็นร้อยรายเป็นการติดเชื้อในพื้นที่กักกันตรงพรมแดน แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ดังที่เรียกว่าการติดเชื้อใน State Quarantine ซึ่งจะเป็นยอดเดียวกันกับที่ชาวต่างประเทศจากยุโรปถูกตรวจพบหลังจากกักตัวในโรงแรมในกรุงเทพฯ หรือพัทยา ถ้าไม่จ่ายเอง หรือกักกันตัวในโรงแรมห้าดาวกลางถนนสุขุมวิทถ้าจ่ายเอง ก็ประมาณ 75,000 บาท ราคาเวลานั้น ผมจ่ายมาแล้ว

มีหญิงไทยไม่เกิน 5 ราย ที่หลุดรอดพรมแดนธรรมชาติและจังหวัดเชียงรายแล้วเดินทางต่อไปยังกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต และจังหวัดอื่นๆ ที่ภาคกลาง ตัวเลขทั้งหมดมีเท่านี้เอง แต่ความตื่นตระหนกกระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว

มีการยกเลิกโรงแรมและที่พักในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายเกือบทั้งหมดในช่วงวันหยุดยาวต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ต่อไปถึงวันหยุดยาวปีใหม่ พ.ศ. 2564 ร้านขายของในสองจังหวัดภาคเหนือตอนบนเงียบเหงา วังเวง มากกว่านี้คือมีคำสั่งในหลายจังหวัดรวมทั้งหลายสำนักงานทั้งในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศว่าใครที่เดินทางมาที่จังหวัดเชียงรายเมื่อกลับไปจะถูกกักตัว 14 วัน และบางสำนักงานจะให้ออกจากงาน

ประโยคสุดท้ายนี้เป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ยกเลิกการเดินทางมาฟังผมบรรยายเรื่องพัฒนาการเด็กที่จังหวัดเชียงรายบอกแก่ผมเอง

หนังสือพิมพ์และเพจต่างๆ ประโคมยอดผู้ติดเชื้อจังหวัดเชียงรายทุกวัน และ ศบค. ก็เป็นไปกับเขาด้วย ทั้งที่ตัวเลขการติดเชื้อบนพื้นที่จังหวัดเชียงรายมีเพียง 2 คน โดยที่การติดเชื้อจากต่างประเทศมีคนเดียว คือสตรีไทยจากพม่า และการติดเชื้อในประเทศที่มีผู้ชายเพียงคนเดียวเช่นกัน ตัวเลขอีกหลายสิบคนที่เหลือไปจนถึงหลักร้อยในวันหลังเป็นการพบในสถานกักกันตัวของรัฐ หรือตรวจพบทันทีที่ด่านพรมแดนด้วยการตรวจของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไม่มีใครหลุดรอดเลยแม้แต่คนเดียว แล้วสถานการณ์จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ก็จบลงในเวลาก่อนถึงวันสิ้นปี พ.ศ. 2563 ก่อนที่วิกฤตการณ์สมุทรสาครจะเริ่มต้นไม่นานเกินรอ

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความรังเกียจนั้นมีความเกี่ยวพันกับที่สตรีไทยเหล่านี้ไปทำงานในสถานบริการบันเทิงในพม่าหลากหลายหน้าที่ มีทั้งเป็นพนักงานเสิร์ฟและขายบริการ สำหรับวิกฤตการณ์สมุทรสาครนั้นมีความเกี่ยวพันกับแรงงานข้ามชาติเชื้อสายพม่าด้วย

ผมและครอบครัว ไปพักผ่อนที่จังหวัดกระบี่ 4 วัน เมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ยังมีผู้คนพอสมควร วิกฤติโควิด-1 สงบไปนานแล้ว วิกฤตการณ์เชียงรายกำลังคุกรุ่น เวลานั้นวิกฤติโควิด-2 ยังไม่เริ่มต้นเต็มรูปแบบ

โรงแรมที่กระบี่แห่งนี้ให้ลูกค้าสแกนอุณหภูมิ ใส่หน้ากากอนามัยและแจกถุงมือก่อนเข้าห้องอาหารเช้าทุกวัน ทุกโต๊ะรักษาระยะห่าง ทุกพื้นที่รวมทั้งที่ชายหาดส่วนตัวอันเงียบสงบนั้นไม่มีใครเดินเฉียดใคร เป็นอาทิตย์ตกที่สวยงามมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของผมเอง ณ ชายหาดแห่งนี้ กระบี่สวยจริง สวยจนลืมโลกด้วย โลกเงียบเสียจนไม่น่าเชื่อว่าจะเงียบเท่านี้ได้   

มีวันหนึ่ง ผมและครอบครัวยืนรอเรือเพื่อจะไปเที่ยวเกาะ นักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งแซงหน้าครอบครัวของเราขึ้นเรือหน้าทั้งที่มีคิวรออยู่อีกพอสมควร ชั่วขณะหนึ่งเกิดความคิดชั่วร้ายว่าถ้าตัวเองพูดออกไปว่าผมมาจากจังหวัดเชียงรายครับ น่าจะเกิดอะไรขึ้น

อาศัยว่า EF พอจะมี ควบคุมตัวเองพอใช้ได้จึงปล่อยไป เพราะจะว่าไปเราก็แซงคิวกันทั่วประเทศอยู่แล้ว แม้กระทั่งเรื่องวัคซีนที่แซงคิวกันอุตลุดในช่วงโควิด-3 ก็เห็นกันอยู่ทนโท่

สำหรับเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 ผมขอใช้สิทธิผู้เชี่ยวชาญการสูดดมในพื้นที่เพราะได้ทำมาแล้ว 14 ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ถึงวันนี้ รัฐทำเป็นเพียงออกประกาศ “ขอให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง” แค่นั้น วันนี้ตุลาคม พ.ศ. 2564 ฝุ่นเริ่มก่อตัวบ้างแล้วรอบตัวเมืองเชียงราย เรากำลังเข้าสู่ฤดูฝุ่นควันปีที่ 15

โควิด เป็นความรู้พื้นฐานเรื่องสุขภาพ

PM2.5 เป็นความรู้พื้นฐานเรื่องสิ่งแวดล้อม

ความยากจน เป็นความรู้พื้นฐานเรื่องเศรษฐกิจ

ความรังเกียจชาติพันธุ์และการเข้าคิว เป็นความรู้พื้นฐานเรื่องประชาสังคมและความเป็นพลเมือง

คือ health, environment, economics, civil society

รวมเรียกว่าความรู้พื้นฐานสำหรับศตวรรษที่ 21 เรื่องเหล่านี้ไม่สามารถพัฒนาได้ด้วยการให้ลูกเรียนหนังสือ แต่ทำได้ด้วยการสร้างโรงเรียนเพื่อพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ให้แก่เด็กไทย ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าเรียนหนังสือไปก็ตายเปล่า เป็นเด็กดี มีศีลธรรมยิ่งน่ากลัว ครั้นถือความสัตย์ยิ่งไปกันใหญ่

ทักษะศตวรรษที่ 21 เริ่มต้นด้วยการส่งเสริมการคิดเชิงวิพากษ์ (criticized thinking) แต่พอนักเรียนนักศึกษาคิดวิพากษ์ได้ก็ถูกจับกุมอีก

เราไม่มีทางไป

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า