ผู้เขียนบรรยายพัฒนาการเด็กช่วงอายุ 0-3 ปีหลายครั้ง โดยสังเขป เป็นการบรรยายที่ตนเองคิดเสมอว่าจะไม่เกรงใจผู้ฟังว่าเป็นใคร หรือมีการศึกษาอะไร เป็นความพยายามที่จะให้ประชาชนคนไทยทราบว่าสามขวบปีแรกของชีวิต พ่อแม่และครูสำคัญยิ่งยวดเพียงใด
วันนี้จะเขียนอย่างละเอียด พร้อมคำศัพท์ทางจิตวิเคราะห์ตามต้นฉบับ โดยไม่เกรงใจผู้อ่านแต่อย่างใด ท่านที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษก็อ่านได้ โดยให้อ่านเฉพาะภาษาไทย ไม่ต้องใส่ใจคำอังกฤษในวงเล็บ ก็จะได้ใจความสมบูรณ์ในตัวเอง
มาร์กาเร็ต มาห์เลอร์ 1897-1985 (และบางส่วนจากงานของ แอนนา ฟรอยด์ 1895-1982) ได้เขียนบรรยายพัฒนาการเด็กอายุ 0-3 ปี ไว้ดังนี้
ทารกแรกเกิดอยู่ในสภาวะที่จักรวาลมีตนเองแต่ผู้เดียว (primary narcissism) คือไม่รู้แม้กระทั่งว่าข้างกายนั้นมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าแม่ (mothering object) เป็นระยะเวลาสามเดือนแรกของชีวิตทารกที่อยู่กับตนเองอย่างแท้จริง (normal autism)
ที่อายุ 3 เดือน ทารกรับรู้อย่างเลือนรางว่าความสุขหนึ่งที่เขาได้รับมาจากวัตถุที่เรียกว่าเต้านม แต่เต้านมมิใช่วัตถุอิสระ เต้านมเป็นวัตถุหนึ่งในวงโคจรรอบตนเองของทารก ทารกและแม่อยู่ร่วมกันอย่างแนบแน่นโดยที่ทารกเองเป็นจ้าวจักรวาลสามารถดลบันดาลได้ทุกสิ่งอัน (omnipotent symbiosis)
เช่น แหกปากร้องเพื่อเอานม ตามด้วยแหกปากร้องเมื่อเหงา
เมื่อเวลาผ่านไป ทารกจะรับรู้การมีอยู่ของแม่มากขึ้นทุกขณะ เป็นวัตถุอีกชนิดหนึ่ง และดูเหมือนว่าหล่อนจะมีอำนาจบางประการที่ทัดเทียมอำนาจของตนเอง
ที่อายุ 6 เดือน ทารกรับรู้ว่าแม่มีอยู่จริง แล้วเริ่มต้นแยกตัว (separation) เพื่อเป็นบุคคลอิสระ (individuation) กระบวนการนี้เริ่มต้นตั้งแต่แรกอย่างช้าๆ เพื่อตัดแยกสภาวะซิมไบโอซิสของแม่ลูกออกจากกัน กระบวนการแยกตัวเพื่อเป็นบุคคลอิสระจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามความสามารถของทารกทั้งร่างกายและจิตใจ ทางร่างกายด้วยความสามารถอัตโนมัติ เช่น กลั้นฉี่อึ เตะถีบแม่ (autonomous function) ทางจิตใจด้วยพัฒนาการหน้าที่ของอีโก้และขอบเขตของอีโก้ (ego function & ego boundary)
อธิบายว่าร่างกายที่พัฒนาตนเองโดยอัตโนมัติดีขึ้นทุกวันทำให้เด็กเล็กกลายเป็นสิ่งมีชีวิตใหม่ ในขณะเดียวกันจิตใจที่พัฒนาตนเองโดยอัตโนมัติทำให้เกิดจิตใจดวงใหม่ที่มีขอบเขตของตนเอง
ที่จริงแล้วมาห์เลอร์ให้ตัวเลขกระบวนการแยกตัวเป็นบุคคลอิสระ (separation-individuation) นี้ไว้ตั้งแต่อายุ 4-5 เดือน จนกระทั่งอายุ 30-36 เดือน โดยแบ่งย่อยเป็น 4 ขั้นตอน
- ขั้นตอนที่ 1 ทารกฟักตัว (hatching) คือแตกตัวออกจากวงจรซิมไบโอซิสเดิมที่เคยอยู่ร่วมกับแม่มาช้านาน
- ขั้นตอนที่ 2 ทารกรับรู้ว่าตนเองมีร่างกายที่แยกจากแม่ได้ (practicing) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเมื่อเขาคลานไปไกลจากแม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ชีวิต จิตใจ และร่างกายของทารกยังพึ่งพิงแม่สูงมาก ดังนั้นทารกจะสร้างความผูกพัน (bonding) ล่ามตนเองเอาไว้กับแม่เสมอ
- ขั้นตอนที่ 3 เมื่อครบ 1 ขวบย่างเข้าขวบปีที่ 2 ทารกยืนได้ ลำตัวตั้งตรง และก้าวไปจากแม่ด้วยระยะทางที่ไกลมากขึ้น ด้วยการพึ่งพิงที่น้อยลง สามารถอดทนที่จะไม่ต้องเห็นแม่ในสายตามากขึ้น เด็กรับรู้การแยกทางร่างกาย พร้อมๆ กับความกังวลว่าแม่จะหายตัวไป (separation anxiety) เพราะที่แท้แล้วไม่เสมอไปที่แม่จะปรากฏตัวต่อหน้าทันท่วงทีเมื่อเขาต้องการ
- ขั้นตอนที่ 4 ที่ประมาณอายุ 30 เดือนคือสองขวบครึ่ง เด็กไปไกลจากแม่ได้มากแล้ว แต่เพราะความกังวลว่าแม่อาจจะหายสาบสูญได้ เขาจึงเรียกร้องให้แม่มาอยู่ด้วยเสมอในทุกโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาทำอะไรได้ใหม่ๆ เช่น ขว้างอาหารจากโต๊ะอาหาร ราดน้ำนองทั่วบ้าน ปีนบันไดได้สามขั้น หรือเตะหน้าแข้งปู่ย่าตายาย เป็นต้น เขาต้องการให้แม่อยู่ด้วยเสมอ เป็นประจักษ์พยานความสำเร็จ ชื่นใจที่เขาเติบโตแข็งแรง และเป็นบุคคลอิสระ
ช่วงเวลา 6 เดือนจากสองขวบครึ่งถึงสามขวบที่เขาต้องการให้ร่างกายของแม่ติดตัวไปด้วยทุกหนแห่งนี้เรียกว่า ร้าพ-พรอช-เฉอะ-มองต์ (rapprochement)
นี่คือช่วงเวลาวิกฤติ ใจหนึ่งเด็กต้องการแยกตัวเป็นบุคคลอิสระและเขาจะต้องกลายเป็นบุคคลอิสระให้จงได้ แต่อีกใจหนึ่งเขาต้องการแม่ผู้ให้โดยไม่มีเงื่อนไขยังคงติดตามเขาไปทุกหนแห่ง นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่เด็กคนหนึ่งจะแยกตัวจากแม่ด้วยสุขภาพจิตที่ดีที่สุด คือมีอีโก้ (ego) ที่แข็งแรงที่สุด เพื่อใช้ผจญภัยต่อไปในอนาคต
กลับมาในชีวิตจริง
แม่ทั้งโลกจะออกปากห้ามทำนั่นทำนี่ในวัยนี้เพราะเด็กซนและอาจจะเกิดอันตราย เป็นการห้ามหรือการอบรมสั่งสอนที่สอดคล้องกับพัฒนาการ นั่นคือแม่ห้ามเพื่อยับยั้งอีโก้มิให้ก่ออันตราย แต่เราไม่สามารถห้ามกล้ามเนื้อที่พัฒนาตนเองอย่างอัตโนมัติทุกวันได้ พูดง่ายๆ ว่าแม่ทั้งโลกจะสร้างกฎ กติกา มารยาท เพื่อให้เด็กทำหรือไม่ทำอะไรตามกาลเทศะ
แม่ประเทศไทยไม่เพียงมีหน้าที่เหมือนแม่ทั้งโลกตามย่อหน้าที่แล้ว บ้านเรามีเรื่องพิเศษคือเรา ‘พราก’ ลูกไปจากแม่กันเร็วมาก ค่านิยมส่งลูกไปเรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลหรืออย่างช้าอนุบาล ทำให้กระบวนการแยกตัวเป็นบุคคลอิสระเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่อีโก้จะตั้งรับทัน แม้ว่าร่างกายจะแยกได้ แต่บังเกิดแผลฉีกขาดขึ้นในจิตใจไม่มากก็น้อย
แผลฉีกขาดนั้นอาจจะเป็นต้นกำเนิดของพยาธิสภาพทางจิตในอนาคต
เรื่องนโยบายรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (อ่านบทความเรื่องนี้ ที่นี่) จึงต้องการการจัดการที่ดีมาก
ทั้งหมดที่เขียนนี้ ซิกมันด์ ฟรอยด์, แอนนา ฟรอยด์, เมลานี ไคลน์ และ มาร์กาเร็ต มาห์เลอร์ อาจจะผิด อย่างไรก็ตามมีหนังสือที่คนเหล่านี้เขียนบรรยายไว้ชัดเจนว่าหลังการฉีกขาดของจิตใจ เด็กเล็กจะใช้กลไกทางจิตอะไรบ้างเข้ามาดูแลตนเอง เพราะบัดนี้แม่เป็นที่พึ่งมิได้และได้หายตัวไปจากจักรวาลเรียบร้อยแล้ว กลไกทางจิตเหล่านั้นนั่นเองคือบ่อเกิดของโรคทางจิตเวชในอนาคต
เราได้แต่หวังว่านักคิดเหล่านี้ผิด
หมายเหตุ: อ่านบทความย้อนหลังของ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้ที่นี่
01 ครอบครัววันนี้: นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ |