เรื่องดีๆ อยู่ที่ปลายทาง (2) วัยรุ่น: ส่วนรวมมาก่อนส่วนตัว ผู้ใหญ่: ส่วนตัวมาก่อนส่วนรวม

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

​(ต่อจากตอนที่แล้ว)

​เรื่องดีที่สุดของวัยรุ่นคืออุดมคติ พวกเขาจะไปข้างหน้าด้วยพลังที่ดีที่สุดและบริสุทธิ์มากที่สุดในช่วงชีวิตหนึ่งของมนุษย์ เหตุหนึ่งเพราะพวกเขามีผลประโยชน์พัวพันกับโลกมนุษย์ไม่มากนัก บางคนยังไม่มีอะไรเลย อีกเหตุหนึ่งเพราะพวกเขายังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Executive Function ที่สมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องคิดเหตุผลรอบด้าน  เพราะหากมัวแต่คิดรอบด้านเหมือนพวกผู้ใหญ่ก็คงจะไม่กล้าทำและไม่มีวันทำ

​นี่คือประโยชน์ของอารมณ์ อารมณ์พาเหตุผลไปข้างหน้าเพื่อสู่อุดมคติที่ดีที่สุด

​มนุษย์ต่างจากจักรกลก็ตรงนี้ บางคนคิดว่าสมองมนุษย์ทำงานเหมือนคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่รอบด้าน สมองมนุษย์เหนือกว่าคอมพิวเตอร์แน่ๆ และส่วนที่เหนือกว่านี้เองคืออารมณ์ รวมทั้งจุดสูงสุดของเราคืออุดมคติมิใช่ผลงานสมบูรณ์แบบที่ไร้ข้อผิดพลาดแบบที่หุ่นยนต์ทำ  

ประชาธิปไตยมิใช่เรื่องสมบูรณ์แบบ เป็นเรื่องผิดพลาดได้แล้วค่อยๆ แก้ไขกันไป แต่ส่วนที่เป็นอุดมคติคือวัยรุ่นฝันถึงสังคมที่ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ ซึ่งเป็นเรื่องทำได้ เป็นความฝันที่พวกผู้ใหญ่ไม่กล้าแม้แต่จะจินตนาการถึง หรือไม่กล้าพูด  

เมื่อพูดถึงความกล้าพวกเขาก็กล้าหาญกว่าพวกผู้ใหญ่มาก

​กว่าที่ Executive Function จะสมบูรณ์นั่นเท่ากับอายุ 25 ปีแล้ว พวกเขามิใช่พวกวัยรุ่น (adolescents) อีกแต่กลายเป็นพวกผู้ใหญ่ (adults) อารมณ์ลดลง ความกล้าลดลง และผลประโยชน์ส่วนตัวมากขึ้น ช่วงเวลาที่ช่วงโชติชัชวาลที่สุดจะผ่านไป  

​บางคนผ่านช้า บางคนผ่านเร็ว บางคนไม่ผ่านเหมือนทุกๆ เรื่อง

​ถัดจากอุดมคติมาที่จริยธรรม งานวิจัยช่วงหลังๆ จากหลายแหล่งพบว่าผู้ใหญ่มีจริยธรรมน้อยกว่าวัยรุ่นมาก สาเหตุอธิบายได้ด้วยเหตุผลคล้ายกัน เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว ตัวเอง ครอบครัว วงศ์ตระกูล มักจะมาก่อน ส่วนรวมเอาไว้ทีหลังได้ ในขณะที่วัยรุ่นมักเอาส่วนรวมขึ้นก่อน ส่วนรวมนี้อาจจะหมายถึงประเทศชาติหรืออาจจะหมายถึงแก๊งของตัว จะเป็นแบบไหนก็ตาม ส่วนรวมมาก่อนอยู่ดี เรื่องตัวเองไว้ทีหลัง

เปรียบเทียบแก๊งเพื่อนกับพ่อแม่ ประโยชน์ของเพื่อนฝูงและแก๊งมักจะมาก่อนพ่อแม่ นี่เป็นพัฒนาการปกติ จึงมีคำแนะนำเสมอว่าพ่อแม่มีหน้าที่ฟังลูกวัยรุ่นพูด อย่าไปขัดคอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่าไปลบหลู่หัวหน้าแก๊งของเขา เขาไม่ชอบ

 

Lawrence Kohlberg

จริยธรรมเริ่มมาอย่างไร จริยธรรมมาจากสองคำ คือ ethics และ moral ซึ่งมีความหมายต่างกัน แต่เนื่องจากตำราจิตเวชศาสตร์ภาษาไทยจำนวนมากใช้คำว่าจริยธรรมแทนคำว่า moral ในทฤษฎีว่าด้วยพัฒนาการทางจริยธรรมหรือ Moral Development ของโคลเบิร์กเสมอมา บทความนี้จึงเลือกใช้คำว่าจริยธรรม และหมายถึงเพียงเรื่องการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมก่อนส่วนตน

​โคลเบิร์กเขียนว่าพัฒนาการทางจริยธรรมไปได้สูงสุดถึงประมาณอายุ 21 ปี โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงง่ายๆ

​ช่วงที่ 1 อายุน้อยกว่า 7 ปี เด็กวัยนี้เห็นตนเองเป็นศูนย์กลางมากอยู่ อะไรที่เกิดขึ้นรอบตัวมีสาเหตุหรือมีความเกี่ยวพันกับตนเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นเมื่อมีอะไรที่เรียกว่าผิดเกิดขึ้น พ่อแม่เลือกจะทำโทษเขา เขาก็จะยอมรับได้ง่ายว่าเขาเป็นคนผิด อย่างไรก็ตามการทำโทษควรมีความหมายเพียงการดุหรือชักสีหน้า แต่ไม่ตี

​เราไม่ตีเด็ก

เราไม่ทำร้ายเด็กและเยาวชน

​ช่วงที่ 2 อายุระหว่าง 7-14 ปี เด็กโตและวัยรุ่นลดความเป็นศูนย์กลางของตนเองลงมากแล้ว ในขณะเดียวกันโลกทัศน์เชิงรูปธรรมแปรเปลี่ยนเป็นโลกทัศน์เชิงนามธรรม อะไรที่เขาทำมีความสัมพันธ์กับโลกภายนอกมากขึ้น ดังนั้นเวลาเด็กทำอะไรบางอย่างแล้วเราอยากให้พฤติกรรมนั้นคงอยู่ เราให้รางวัล เพราะเด็กชอบรางวัล รางวัลเป็นได้ทั้งรูปธรรมคือขนม อมยิ้ม ไปจนถึงรางวัลที่เป็นนามธรรมคือคำชมเชย หรือเงินสด

​เงินสดเป็นนามธรรม

​ผู้ใหญ่เสียอีกที่มักมองเห็นเงินสดเป็นรูปธรรม

​ช่วงที่ 3 อายุระหว่าง 14-21 ปี เด็กวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นจะพัฒนาเรื่องความกลัวที่จะถูกลงโทษ ความพึงพอใจที่จะได้รับรางวัล และลักษณะทางธรรมชาติของรางวัลไปอีกขั้นตอนหนึ่ง เหตุเพราะไม่มีพ่อแม่ที่ไหนจะมาให้รางวัลได้ทุกวัน ให้บ้างไม่ให้บ้างลืมบ้างไม่มีจะให้บ้าง เป็นช่วงเวลาที่การเปลี่ยนผ่านจากนามธรรมยังคงดำเนินต่อไปในขั้นตอนที่สูงขึ้น ไปถึงระดับคุณค่าและอุดมคติ (value & ideal) รางวัลที่เคยเป็นก้อนๆหรือคำชมเชยที่เคยชอบเริ่มลดความหมายลง การทำอะไรสักอย่างที่ดีเป็นไปเพียงเพราะว่าสมควรจะทำเท่านั้นเอง

​พัฒนาการด้านจริยธรรมจึงมาถึงจุดสูงสุดของมันที่อายุประมาณหลังวัยรุ่น นั่นคืออุดมคติและการเห็นประโยชน์ส่วนรวมก่อนส่วนตน จริยธรรมอยู่ที่ปลายทาง เห็นส่วนรวมก่อนส่วนตน แต่ส่วนรวมมิได้หมายถึงสังคมกว้างเท่านั้น

 

ในยุคสมัยที่การศึกษาคับแคบ การเมืองคับแคบ ส่วนรวมอาจจะมีความหมายแคบๆ ตามไปด้วย เช่น เป็นเพียงกลุ่มหรือแก๊งวัยรุ่นที่มีรสนิยมเหมือนกัน เราจึงปรามาสนักศึกษามาช้านานว่าเอาแต่แต่งตัวเกาหลี ครั้นโลกมาถึงศตวรรษที่ 21 ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างอยู่บนอินเทอร์เน็ต ทุกศาสนา ชาติพันธุ์ เพศวิถีไปจนถึงระบอบการเมืองการปกครอง ได้ปรากฏให้ทุกคนเห็นซ้ำๆ เป็นเวลาหลายปี ตั้งแต่วัยรุ่นชุดใหม่นี้ถือกำเนิด

คือที่บริเวณปี 2000

​ดูเหมือนสังคมวัยรุ่นจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ แล้ว พวกเขามองเห็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรม ความยากจน และการไม่เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ พวกเขามิได้เห็นเฉยๆ แต่เห็นวิธีแก้ไขด้วย มองเห็นวิธีสร้างสังคมที่ดีกว่า

​ไม่เคยคิดเหมือนกันว่าพวกเขาจะคิดได้เพียงนี้ และสามารถรวมตัวกันเพื่อทำงานร่วมกันได้ดีเท่านี้ เป็นอะไรที่ไม่เคยเห็นในผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเราด้วยซ้ำไป

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า