เรื่องดีๆ อยู่ที่ปลายทาง (1) : ต้นทางของวัยรุ่นที่มีอุดมคติ คือเด็กที่ไม่ด้อยโอกาสทางการเล่น

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

​ดูแผนภูมินี้ประกอบการอ่าน

เริ่มต้นที่มุมซ้ายของรูป เด็กทุกคนเริ่มต้นด้วยการเห็นตนเองเป็นศูนย์กลาง ในระดับจิตสำนึก (conscious) เราใช้คำว่าเซลฟ์เซ็นเตอร์ (self-centered) ในระดับจิตใต้สำนึก (unconscious) เราเรียกว่าอีโก้เซ็นตริค (egocentric) สองระดับนี้มีความต่างกัน  

​ดูเส้นที่หนึ่งคือเส้นตั้งฉาก เป็นพัฒนาการด้านวิธีคิด ภาษาอังกฤษเรียกว่า cognition พัฒนาการของวิธีคิดเรียกว่า cognitive development บุคคลสำคัญที่เขียนเรื่องพัฒนาการของวิธีคิดที่มีชื่อเสียงและยังมีอิทธิพลมากที่สุดคือ ฌอง เพียเจต์ (Jean Piaget) แม้ว่าหลังๆ จะมีนักจิตวิทยาสมัยใหม่และงานวิจัยสมัยใหม่บางชิ้นบอกว่าท่านเขียนถูกแต่อธิบายผิดเป็นบางเรื่อง

​พัฒนาของวิธีคิดที่เพียเจต์เขียนแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ อายุ 0-2 ขวบพัฒนาระบบสัมผัสและกล้ามเนื้อ 3-7 ขวบเตรียมความพร้อม 8-12 ขวบพัฒนาวิธีคิดเชิงรูปธรรม 13-18 ปีพัฒนาวิธีคิดเชิงตรรกะหรือลอจิค (logic)

​ตัวเลขที่ให้เป็นตัวเลขประมาณการ ผมปรับตัวเลขของเพียเจต์เล็กน้อย เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการศึกษาส่วนใหญ่ของโลก กล่าวคือสองขวบปีแรกอยู่บ้านไม่ต้องไปไหน อย่างมากก็ไปเนิร์สเซอรี เมื่อเป็นเด็กเล็กให้เตรียมความพร้อม ถ้าจำเป็นต้องไปโรงเรียนควรไปโรงเรียนที่มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อม เมื่อเป็นเด็กโตจึงอ่านเขียนเรียนเลขตอนชั้นประถม จากนั้นเมื่อเป็นวัยรุ่นจึงเรียนชั้นมัธยม ภาษาอังกฤษที่เพียเจต์ใช้เรียกพัฒนาการทั้ง 4 ขั้นตอนนี้คือ sensori-motor, preoperation, concrete operation และ formal operation ตามลำดับ

หากจะรวบเรื่องที่เพียเจต์เขียนให้เหลือประโยคสั้นๆ เพียงประโยคเดียว ประโยคนั้นน่าจะเป็น ‘งานของเด็กคือการเล่น’ เพราะการเล่นจะพัฒนาวิธีคิดทั้ง 4 ขั้นตอนให้แก่เด็กเอง โดยพัฒนาการและโดยธรรมชาติ เด็กที่มิได้เล่น หรือเล่นไม่มากพอ หรือเล่นกลางแจ้งในสนามไม่มากพอจึงเกิดปัญหาทางพฤติกรรม ปัญหาทางพฤติกรรมนั้นมิได้เกิดจากนิสัยที่ไม่ดีแต่อย่างใด แต่เกิดจากพัฒนาการของวิธีคิดที่ติดขัด สะดุด บกพร่อง ไม่เต็ม แล้วเสียสมดุล

​เราเรียกว่าเด็กด้อยโอกาส  คือด้อยโอกาสที่จะได้เล่นสมวัย

​ดูที่จุดสูงสุดของพัฒนาการ คืออุดมคติ (ideal)

เราจะไปถึงจุดสูงสุดได้จำเป็นต้องผ่านพัฒนาการของสิ่งที่เรียกว่าคุณค่า (value) ถ้าไม่มีคำว่าคุณค่า จะไม่มีคำว่าอุดมคติติดตามมา เราอยากให้ลูกวัยรุ่นของเรามีสิ่งที่เรียกว่าอุดมคติ เพราะอุดมคติเป็นเรื่องดีมากกว่าเรื่องไม่ดี แม้ว่าเขาอาจจะมีอุดมคติทางลบบ้างก็ตาม 

กล่าวคืออุดมคติคือจุดสูงสุดที่เขาจะไปได้ และไปให้ไกลที่สุดก่อนที่วัยผู้ใหญ่จะมาถึง เพราะหลังจากนี้ทุกอย่างจะเริ่มหยุดชะงักแล้วลดระดับลง เราจะทำงานเพื่อตนเองมากขึ้นแล้วเราจะทำงานเพื่อส่วนรวมน้อยลง

​ส่วนเรื่องอุดมคติทางลบนั้นไม่ควรกังวลมากจนเกินไป เพราะมันก็จะดาวน์ลงมาเองเมื่อถึงเวลา นี่เป็นเรื่องธรรมชาติ

แต่การจะไปให้ถึงสิ่งที่เรียกว่าคุณค่าไม่มีทางลัด เราจำเป็นต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กได้เล่น เพราะการเล่นคืองานของเด็ก และงานย่อมสร้างคุณค่าเสมอ การเล่นจะช่วยให้สองขวบปีแรกของเด็กมีประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อที่ดีที่สุดก่อนเข้าสู่ระยะก่อนปฏิบัติการหรือระยะเตรียมความพร้อมที่อายุ 3-7 ขวบ พัฒนาการของประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อนี้เริ่มต้นที่แม่ ยกตัวอย่างเดียว เด็กรู้จักมอง (คือประสาทสัมผัสด้านการมองเห็น) ต่อเมื่อเขารู้จัก 1.มองตาแม่ 2.มองตามแม่

​ที่ระยะก่อนปฏิบัติการหรือเตรียมความพร้อม คือวัยอนุบาล ซึ่งโดยทฤษฎีท่านจะมีหรือไม่มีสิ่งที่เรียกว่าโรงเรียนอนุบาลก็ได้ ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กทุกคนวิ่งเล่นเองได้ เดิน วิ่ง คลาน กระโดด ปีน ขว้าง กำ ต่อย เตะ ถีบ โรงเรียนอนุบาลค่าเล่าเรียนฟรีของรัฐ หรือโรงเรียนอนุบาลเตรียมความพร้อมปีละสองแสน หรือเล่นอยู่กับบ้าน เด็กคนหนึ่งเดิน วิ่ง คลาน กระโดด ปีน ขว้าง กำ ต่อย เตะ ถีบ ได้เท่าๆ กัน

​ยกเว้นข้อเดียว คือท่านไม่อนุญาต นอกจากไม่อนุญาตยังตบเด็กคว่ำได้อีกต่างหาก

​การเล่นคืองานของเด็ก เพราะการเล่นจะสร้างความสามารถดังต่อไปนี้ให้แก่เด็ก คือ

​Animism

​Egocentricism

​Magical thinking

​Phenomenalistic causality

​Placement & Displacement

​Space & Time

​Grouping

​Ordering

​Hierrachy classification

​Seriation

​Centration & Decentration

Conservation

Spatial relation

​รวม 13 คำ

ความสามารถ 13 คำนี้มีมากกว่า ‘การอ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็น’ ที่วัยอนุบาลนี้มาก 

อ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็นที่วัยอนุบาลนี้ส่งผลให้เด็กไปได้ไกลอย่างมากที่สุดเมื่อจบปริญญาตรี แล้วไปต่อไม่ค่อยจะได้เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ปริญญาตรี-โท-เอก-ตำแหน่งงานที่ดี มิใช่ตัวชี้วัดที่ดีอีกต่อไปแล้วในวันนี้

​ในทางตรงข้าม ความสามารถ 13 คำนี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อตัวชี้วัดที่ (ไม่) ดี 6 ตัวในอนาคตคือวัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงาน ได้แก่ อัตราการเจ็บป่วยทางกาย อัตราการเจ็บป่วยทางจิต อัตราการว่างงาน อัตราการใช้ยาเสพติด อัตราการก่อคดี และความยากจน กล่าวคือเราเตรียมความพร้อมลูกดีที่สุด ตัวเลขเหล่านี้ต่ำที่สุด

​มีงานวิจัยจากยุโรปจากบางประเทศที่ชี้ว่าเด็กที่ไปโรงเรียนช้าที่สุดหรือเด็กที่มีอายุมากที่สุดในช่วงวัยอนุบาล มีตัวชี้วัดเหล่านี้ดีกว่าเด็กคนอื่นๆ ในห้อง

เพราะการเล่นคืองานของเด็ก

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า