เพราะอะไรม็อบนักเรียนนักศึกษาเป็นม็อบที่โปร่งใสที่สุดแล้ว

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

มีคำกล่าวหาว่าม็อบนักเรียนนักศึกษามีผู้อยู่เบื้องหลังหรือจ้างวาน หากความข้อนี้เป็นจริงจึงเป็นเรื่องน่าเสียใจ แต่ที่แท้แล้วม็อบนักเรียนนักศึกษาเป็นม็อบที่น่าจะบริสุทธิ์มากที่สุดแล้วตามพัฒนาการ

นักเรียน หมายถึงมัธยมปลาย และได้ยินว่ามีมัธยมต้นเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงหมายถึงวัยรุ่นที่อายุ 14-15 ไปจนถึง 18-19 ปี

นักศึกษา หมายถึงอุดมศึกษา วิทยาลัย มหาวิทยาลัย จึงหมายถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นที่อายุ 18-19 ปี ไปจนถึง 22-24 ปี แล้วแต่ต้องแบมือขอเงินพ่อแม่นานเท่าไร

กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พูดกัน ยังแบมือขอพ่อแม่อยู่เลยจะออกมาเคลื่อนไหวทำไม (พ่อแม่มีหน้าที่ให้เงินลูกแต่ไม่สามารถเรียกร้องความกตัญญู) กลับไปเรียนหนังสือตามหน้าที่ก็พอ (หน้าที่ของวัยรุ่นคือหาอัตลักษณ์ไม่ใช่เรียน) ความข้อนี้มีประเด็นพัฒนาการน่าคุยกันอีกมาก ยกไปไว้ครั้งหน้า

กลับมาที่เพราะอะไรม็อบนักเรียนนักศึกษาเป็นม็อบที่โปร่งใสที่สุดแล้ว เพื่อจะเข้าใจความข้อนี้จำเป็นต้องทบทวน พัฒนาการด้านการคิด (cognition) ของเด็ก

เพียเจต์ (Jean Piaget) เขียนว่าพัฒนาการด้านการคิดของเด็กแบ่งออกเป็น 4 ช่วง สองช่วงแรกคือพัฒนาการด้านประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ (sensori-motor) และพัฒนาการเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปฏิบัติการ (pre-operation) พัฒนาการสองขั้นตอนนี้จบไปแล้วที่โรงเรียนอนุบาล

พัฒนาการขั้นที่สามเป็นของเด็กประถม เรียกว่าพัฒนาการวิธีคิดเชิงรูปธรรม (concrete operation) พัฒนาการนี้อธิบายง่ายๆ ว่าคิดตามที่เห็นหรือได้ยิน เช่น ได้ยินครูพูดว่าไว้ผมยาวไม่ดี ต้องตัดสั้นทั้งชายหญิง ถ้าไม่ตัดถูกตีหรือครูจะตัดให้ด้วยตนเอง (โอย ค่าตัดผมวัยรุ่นสมัยนี้มิใช่น้อยๆ ช่างมิใช่จะทำกันได้ง่ายๆ) สมองก็จะทำงานตามที่เห็นและได้ยิน ครูเป็นวัตถุภายนอก (object) มีทั้งรูปและเสียง ส่วนตนเองนั้นไม่มี หมายความว่าแม้ว่านักเรียนประถมจะมีตัวตน (self) แล้ว แต่เขามิได้นำตัวตนของตัวเองเข้ามาในสมการของการคิด หรือจะอธิบายอีกแบบหนึ่งก็ได้ว่าเขามิได้นำตัวตนของตัวเองเข้ามาในกรอบอ้างอิง (frame of reference)

วิธีคิดจึงมีเพียง ครูสั่ง-เราทำ จบเท่านี้

พ่อแม่ก็เหมือนกัน สมการของวิธีคิดง่ายๆ พ่อแม่สั่ง-เราทำ ถ้าพ่อไม่มีจริง คำพูดย่อมไม่มีด้วย-เราไม่ทำ ถ้าแม่ไม่มีจริง คนพูดย่อมล่องหน-เราไม่ทำ

ดังนั้นเวลาพ่อแม่พบว่าลูกไม่ฟัง สมควรดีใจเพราะพัฒนาการเขาไปเร็วกว่าปกติ นั่นคือเขาสามารถนำตัวตนของตัวเองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมการการคิดหรือนำตัวตนของตัวเองเข้ามาวางไว้ในกรอบอ้างอิง บัดนี้เขาเป็นส่วนหนึ่งของระบบ (system) อย่างแท้จริงแล้ว และเริ่มแทนที่รูปธรรมด้วยนามธรรมได้แล้ว

นี่คือพัฒนาการขั้นที่สี่ ของเด็กวัยรุ่น อายุ 13-18 ปี คือชั้นมัธยม แต่เนื่องจากวัฒนธรรมบ้านเราเองที่ทำให้เด็กไม่รู้จักโต ขอเงินพ่อแม่ถึงจบมัธยมปลายยังไม่พอ เราไปให้เงินเขาต่อจนถึงจบปริญญาตรี โท เผลอๆ บางบ้านให้ถึงปริญญาเอก นั่นเท่ากับเรายืดช่วงวัยรุ่นขอเงินพ่อแม่นี้ออกไปเรื่อยๆ เราเรียกว่า artificial adolescents เป็นวัยรุ่นไม่รู้จักโตเอาแต่ขอเงินพ่อแม่ที่เราสร้างพวกมันขึ้นมาเอง ฮาฮา

เมื่อรูปธรรมกลายเป็นนามธรรม เขาเป็นส่วนหนึ่งของระบบและอยู่ในกรอบอ้างอิง เส้นผมบนหัวตัวเองที่มองเห็นชัดๆ ด้วยสายตาเป็นรูปธรรมอาจจะถูกแทนที่ด้วยคำศัพท์ที่เป็นนามธรรมมากกว่า เช่น ‘ทาส’ (รู้งี้ไม่ให้มันโตก็ดี) หรือ ‘วินัย’ (บัดนี้เราได้กองกำลังที่จะเชื่อทุกอย่างไม่ว่าอายุเท่าไร) เป็นต้น

ทาส และ วินัย เป็นคุณค่า (value) ของเส้นผมที่สั้น อยู่ที่เด็กจะแทนที่มันด้วยคำไหน นี่คือปฏิบัติการเชิงนามธรรม (abstract operation หรือ formal operation) คือปฏิบัติการขั้นที่สี่และจะเป็นขั้นสุดท้ายก่อนที่วัยรุ่นจะแปลงกายวิวัฒน์ (metamorphosis) ไปเป็นผู้ใหญ่ (adult) เสมือนดักแด้ที่วางตัวเองในกรอบอ้างอิงเพื่อใคร่ครวญตนเองจนถึงเวลาแตกออกมาเป็นผีเสื้อโตเต็มวัยที่สวยงามฉะนั้น

อย่างไรก็ตาม วินัยที่เราอยากให้เด็กไทยมีคือวินัยจากภายใน (internal regulation) มิใช่วินัยจากภายนอกด้วยกำลัง (external control)

ทำไม?

ยกตัวอย่างเดียว เมื่อเราขับรถไปพบสี่แยกไฟแดงที่ไฟแดงขึ้นแล้ว แล้วไม่มีรถจอดรอเลยแม้แต่คันเดียว อีกทั้งไม่มีตำรวจหรือกล้องจับภาพที่สี่แยกนั้นเลย วินัยจากภายในคือเราควรหยุดรถ แล้วรอ สังคมต้องการวินัยจากภายในมากมายหลายข้อ มิเช่นนั้นตำรวจเป็นแสนคนก็ทำงานไม่ได้

ที่จุดสูงสุดของพีระมิดคือคุณค่า (value) สิ่งที่เรียนมีคุณค่าอะไร งานที่ทำมีคุณค่าอะไร สุดท้ายคือชีวิตที่มีมีคุณค่าอะไร สมมุติคำตอบมีว่าสิ่งที่เรียนจะล้าสมัยทันทีที่เรียนจบ (นี่เป็นคำพูดเมื่อสามสิบปีก่อน วันนี้สิ่งที่เรียนอาจจะล้าสมัยหลังจากห้านาทีที่ครูอาจารย์เริ่มเล็คเชอร์ หรือล้าสมัยตั้งแต่ก่อนเล็คเชอร์นานแล้ว) งานที่ทำไม่มีอะไรที่อยากทำรออยู่ข้างหน้าเลย ชีวิตที่มีไม่มีคุณค่าอะไรเลยนอกจากทำงานหาเงินที่ไม่ค่อยจะได้มากเท่าไรนัก เอาเท่านี้ก่อนสามข้อ จะเห็นว่านี่เป็นคุณค่าที่น่าหดหู่สิ้นหวัง

สมมุติฐานคือนักเรียนนักศึกษาที่จะไปม็อบเวลานี้ พวกเขาเป็นแบบนี้กันจริงๆ คืออนาคตช่างมืดมนและไม่มีคุณค่าเท่าไรนัก แต่จิตใจของคนไม่เคยยอมแพ้ง่ายๆ อยู่แล้ว พัฒนาการของวัยรุ่นจะก่อร่างสร้างตัวสิ่งที่เรียกว่า อุดมคติ (ideal) เพื่อมาซ่อมแซมหรือเพิ่มคุณค่าที่กำลังปรักหักพังและล่มสลาย

นี่เป็นพัฒนาการปกติ

อุดมคติคืออะไร? อุดมคติคือการไปให้ถึงจุดสูงสุดของพีระมิดความคิด อุดมคติไม่จำเป็นต้องมีความหมายด้านบวกเสมอไป เช่น วัยรุ่นบิดมอเตอร์ไซค์บนทางด่วนตอนตีสองด้วยความเร็วสูงสุดจนถึงจุดอุดมคติ เป็นต้น หรือ ไซมึงชวยเสาะ (มือกระบี่ในนวนิยายจีน เล็กเซียวหงส์) สะบัดกระบี่ด้วยความเร็วสูงสุดถึงระดับคู่ต่อสู้ตายแล้วแต่กระบี่ของมันยังคงอยู่ในฝักฉะนั้น เป็นต้น หรือ รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ประชาธิปไตยที่กินได้ บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข เป็นต้น

เรื่องที่นักเรียน นักศึกษากำลังขอจึงเป็นอุดมคติ ตามพัฒนาการปกติ เพื่อสร้างคุณค่าให้แก่การศึกษา การหางานในอนาคต และการใช้ชีวิต ด้วยความหวังดีต่อความร่มเย็นของสังคม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อบ้านเมืองมีความโปร่งใสและเท่าเทียม

จึงว่า เพราะอะไรม็อบนักเรียนนักศึกษาเป็นม็อบที่โปร่งใสที่สุดแล้ว

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า