ความทุกข์ที่เกิดจากการปิดเรียนแล้วเรียนออนไลน์พูดกันมากแล้ว ไม่นับเรื่องการปิดบ้านเพื่อป้องกันฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทำให้เด็กๆ ไม่สามารถวิ่งรับแสงแดด วิตามินดี และพัฒนา Executive Function วันนี้เราจะพูดเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น
เรื่องเริ่มจากมีคำเชิญให้ผมไปขึ้นเวทีปฏิรูปการศึกษาอยู่เรื่อยๆ ได้ปฏิเสธไปเรื่อยๆ เหตุหนึ่งคือแก่แล้ว อีกเหตุหนึ่งที่สำคัญกว่าคือตนเองได้ขึ้นเวทีมามากแล้วและพูดมากแล้ว แต่ไม่มีผลลัพธ์อะไรเกิดขึ้นกับระบบการศึกษาเลย นอกจากไม่มีผลลัพธ์แล้ว ระบบการศึกษายังพัฒนาดิ่งลงมากกว่าเดิม ไม่นับว่าที่จริงแค่อยู่เฉยๆ ก็ดิ่งลงอยู่แล้วโดยสัมพัทธ์กับยุคสมัย แต่นี่เราพัฒนาลงข้างล่างด้วยเจตนาซ้ำลงไปอีก
การขึ้นเวทีพูดเรื่องซ้ำๆ โดยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องน่าอาย
ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกผมว่าคุณหมออย่าพยายามปฏิรูปเลย ไม่มีวันสำเร็จ เพราะการศึกษาไทยถูกออกแบบเพื่อส่งเสริมอำนาจนิยมตั้งแต่แรกเริ่ม การสร้างวาทกรรม (เช่น เห็นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง) การแก้ไขระเบียบเล็กๆ น้อยๆ (เช่น แก้ไขปัญหาครู) ไปจนถึงการปฏิรูปกระบวนการสอน (เช่น ใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานแทนหลักสูตรสอนหน้ากระดาน) เหล่านี้จะไม่มีผลอะไรเลย ทุกกระบวนการจะเลื่อนไหลเข้าไปสู่โครงสร้างอำนาจนิยมที่ออกแบบให้ครอบงำการศึกษาไทยทั้งหมดเอาไว้แล้วตั้งแต่แรก
ซึ่งเมื่อใคร่ครวญดูแล้วก็เห็นจริง ภาคโรงพยาบาล เราเคยมีสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือ สสส. และกระบวนการรับรองคุณภาพ HA แต่ทั้งสองประการก็เคลื่อนตัวเข้าไปอยู่ใต้อำนาจนิยมและ bureaucracy ของระบบราชการในที่สุด โรงเรียนทางเลือกในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการก็จะเป็นเช่นนั้น
ข้างบนนั้นเขียนให้ไพเราะ พูดภาษาชาวบ้านว่าการศึกษาไทยรับใช้ระบอบเผด็จการมานานแล้ว เห็นได้จากผู้สำเร็จการศึกษาระดับสูงจำนวนมาก
กลับมาที่โรงเรียนปิดบ่อยเพราะโควิด-19 และเรื่องเด็กๆ ถูกขังในบ้านปีละ 2-3 เดือนเพราะฝุ่นควัน PM2.5 ทั้งสองเรื่องนี้สร้างภาวะถดถอย (regression) ให้แก่เด็กไทยมาก เราขาดงานวิจัยที่จะใช้บอกผู้กำหนดนโยบายว่ามากเท่าไร ในต่างประเทศมีงานวิจัยที่บอกว่าทุกๆ การปิดเทอม เด็กชนชั้นล่างจะถดถอยมากกว่าชนชั้นกลางหรือชนชั้นบน บ้านที่ขาดหนังสือให้เด็กอ่านหรือไม่มีผู้ใหญ่อ่านให้ดูเป็นแบบอย่าง เด็กๆ จะถดถอยมากกว่า มากเท่าไรท่านที่สนใจค้นหาเอกสารอ้างอิงกันเองได้ (ไม่พูดแล้ว เจ็บคอ)
14 ปีที่ฝุ่นลง เรากักขังเด็กไว้ในบ้านหลายครั้ง 1 ปีโควิดที่ผ่านมาเรากักขังเด็กเพราะต้องปิดโรงเรียนหลายครั้ง แต่ละครั้งเราใช้การเรียนออนไลน์ทดแทนซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วว่าสร้างความทุกข์ยากมากกว่าเดิม ครั้นไม่ทำก็ไม่ได้เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ภายใต้ระบบนี้และไม่สามารถดิ้นรนออกไปได้ วันนี้มีข่าวว่าการเปิดเทอมจะเลื่อนออกไปอีก โดยทฤษฎีแล้วเด็กไทยกำลังถดถอยไปเรื่อยๆ
ถดถอยแล้วจะทำไม? เดี๋ยวเปิดเทอมก็กวดวิชาทันหรือเร่งเรียนทันได้?
การถดถอยของเด็กแต่ละรอบจะกระทบพัฒนาการ เป็นสัจพจน์ ผลกระทบต่อพัฒนาการมิได้มีลักษณะว่าพร่องแล้วเติมทีหลัง แต่ทุกๆ รอบที่พร่อง จะมีความเสียหายลามออกไปจากจุดที่พร่องเสมอ ความเสียหายเหล่านี้เป็นความเสียหายของสมองที่มีร่างแหระบบประสาทนับล้านล้านตำแหน่งยากต่อการแจกแจง
นอกจากสมองยังมีเรื่องจิตใจ ซึ่งเรามีความเข้าใจน้อยกว่าสมองลงไปอีก ทุกครั้งที่พร่อง ความเสียหายลามออกไปแล้วกู่ไม่กลับ คือพยาธิสภาพทางจิตที่เรารู้จัก
ในแต่ละช่วงอายุที่เด็กเติบโต หากเราเปรียบภาพการเติบโตเป็นพีระมิดที่ก่อรูปขึ้นไปเป็นชั้นๆ ทุกครั้งที่เด็กถดถอย ไม่เพียงเด็กต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งในการชดเชยเพราะเราไม่มียาเม็ดเร่งพัฒนาการ พัฒนาการเป็นเรื่องที่เร่งมิได้
ทุกครั้งที่เด็กถดถอย จะเกิดรูโหว่ขึ้นในฐานพีระมิด รูโหว่นั้นเกิดขึ้นกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบทำให้ฐานรากของพัฒนาการพร่อง ไม่แข็งแรง และพร้อมจะถล่มลงเมื่อถึงวัยรุ่น
หากท่านปิดเทอมเรื่อยๆ ตอนวัยรุ่น อาการจะแสดงออกที่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น เราพบผู้ป่วยที่ระบบการศึกษาสร้างให้ที่โต๊ะทำงานของจิตแพทย์ทุกวัน
โรงเรียนวันนี้เป็นโรงงานสร้างผู้ป่วยจิตเวช
อันที่จริงถ้าโรงเรียนแย่เพียงนั้นปิดทั้งปีก็น่าจะดีนะ แต่บ้านของเราจำนวนมากกว่ามากที่พ่อแม่ไม่สามารถจัดการศึกษาทดแทนได้ บ้านชนชั้นกลางที่จัดเองได้ยังถูกราชการขวางทางเสมอๆ การปล่อยเด็กอยู่บ้านเปล่าๆ ก็เป็นเรื่องไม่ดีเช่นกัน เด็กถดถอยมากและพัฒนาการพร่องไปได้มาก ตามด้วยเฉไฉออกนอกเส้นทางได้ด้วย
วันนี้เราติดกับดักที่ดิ้นไม่หลุด ไปโรงเรียนก็แย่ อยู่บ้านก็แย่ เรียนออนไลน์ก็แย่
ทั้งหมดนี้ถูกออกแบบให้ปฏิรูปไม่ได้ตั้งแต่แรกดังที่ผู้ใหญ่ท่านนั้นบอกผมเอาไว้
ฟังดูเหมือนไม่มีทางออก?
มีครับ ทางออกอยู่ที่มันสมองของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับยุคดิจิตอลและมีสมองแบบดิจิตอล ข่าวดีมีอยู่นั่นคือเด็กอัลฟ่าคนแรกอายุ 11 ปีแล้ว และคนรุ่น Z คนแรกอายุ 26 ปีแล้ว
เด็กอัลฟ่าจะถึงเวลาสอบเข้ามหาวิทยาลัยใน 5 ปีข้างหน้า น่าสนใจมากว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กอัลฟ่าและมหาวิทยาลัยไทย ในขณะเดียวกันคนรุ่น Z คนแรกๆ จะเป็นผู้บริหารระดับต้นหรือระดับกลางใน 5 ปีข้างหน้าเช่นกัน (ไม่นับว่าหลายคนเป็นไปก่อนแล้ว) อันนี้ยิ่งน่าสนใจมากว่าสมองดิจิตอลของพวกเขาจะรอดบ่วงกรรมของราชการและวัฒนธรรมการทำงานแบบไทยๆ ไปได้มากน้อยเพียงไร
จะมีการเปลี่ยนแปลงแน่ ประเทศไทยไม่มีวันกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีกต่อไปแล้ว เพราะคนรุ่นใหม่นี้อายุมากขึ้นทุกวัน มิใช่เวลาที่คนรุ่นใหม่ต้องปรับตัว เป็นเวลาที่คนรุ่นเก่าต้องปรับตัว