หมดยกที่ 1 ที่ต้องแก้ด่วนคือระบบราชการ

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

หากจำไม่ผิด อะไรที่เขียนนี้เคยเขียนไปหมดแล้วในรอบสองปีที่ผ่านมา 

เนื่องในโอกาสที่มีเสียงร่ำลือว่าอะไรๆ จะเรียบร้อยในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ไม่ผิดกติกาที่เราจะทบทวนเหตุการณ์สองปีที่เพิ่งผ่านไป

“คนละครึ่ง” มิได้ช่วยอะไรชาวบ้านที่ขาดแคลน พวกเขาไม่ต้องการซื้อของ พวกเขาต้องการประหยัดรายจ่ายคงที่ที่ต้องจ่ายทุกเดือนมากกว่าออกไปซื้อของ เพราะไม่มีรายได้เข้าเลย

“เที่ยวทั่วไทย” ยิ่งไปกันใหญ่ ชาวบ้านไม่ต้องการเที่ยว แค่หาข้าวกินยังต้องไปยืนรอคิวแจกข้าวเลย โครงการดูเหมือนจะใส่ใจชนชั้นกลางที่มีเงินสายป่านยาวอยู่แล้วมากกว่า อาจจะดีกว่าคนละครึ่งนิดหน่อยตรงที่ต่ออายุโรงแรมหรือร้านอาหารขนาดกลางได้บ้าง แต่ดูเหมือนเรายังไม่เห็นรายงานการประเมินโครงการนี้เต็มรูปแบบ

การลงทะเบียนอะไรๆ ที่ผูกกับ “เป๋าตังค์” ยากเย็นแสนเข็ญ ฉลาดระดับคุณตาหมอยังทำไม่สำเร็จเลยต้องหาลูกหลานช่วย แต่ที่จริงไม่เกี่ยวกับความฉลาดหรอกเกี่ยวกับสมองอนาล็อกเสียมากกว่า เมื่อถึงขั้นตอนต้องมอบข้อมูลส่วนบุคคลบางประการให้แก่รัฐก็ต้องถอยก่อน ด้วยพอมีการศึกษาอยู่บ้างว่าบางข้อมูลเรามอบให้รัฐมิได้ จะรัฐบาลไหนมาก็ให้มิได้ทั้งนั้น

เปิดข่าวดูพบแต่ข่าวขู่ขวัญด้วยยอดคนติดเชื้อ คนตาย และคนถูกทอดทิ้งหาโรงพยาบาลมิได้ ฟังโฆษกรัฐพูดก็มีแต่การโยนความผิดมาที่ประชาชน อะไรที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพวกเราไม่รักษาระยะห่างกันเอง เช่นนี้แล้วจะมีรัฐไว้ทำไมก็ชวนงงจริงๆ รัฐแก้ตัวได้ว่าพูดดีๆ แล้วประชาชนไม่ฟัง ประเด็นคือผลลัพธ์ไม่ดีจะอ้างว่าพูดดีๆ แล้วอย่างไรก็ฟังไม่ขึ้น มีข้อสรุปเดียวคือพูดไม่ดีพอ

เรียน บ.ก. ถ้าข้อเขียนวันนี้จะมีประเด็น EF ให้ได้ก็เรื่องนี้แหละครับ คนทำงานอยากอ้างอะไรก็อ้างไปเถอะ แต่ถ้าผลลัพธ์มันแย่ มีคำอธิบายเดียวคือเราทำงานได้ไม่ดีพอ แม้ความผิดจะเป็นของฟ้าแต่เราทำงานยังไม่ดีพออยู่นั่นเอง

สื่อคุณภาพมีไม่มาก เกือบทั้งหมดน่าจะถูกปิดปาก หรือให้สื่อสารได้เฉพาะที่รัฐเห็นชอบ นักวิชาการด้านไวรัสหลายคนตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์กันได้เอง ไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี ได้แต่ตรวจสอบภูมิหลังกันเองว่าแต่ละคนรับใช้ใครจนสูญเสียจุดยืนทางวิชาการไปมากเพียงใด

ข้าราชการไทยทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ดียิ่ง หมายถึงซื่อตรงตามคำสั่งรัฐโดยไม่โต้แย้งแม้เห็นอยู่ทนโท่ว่าไม่ถูก มีหลายคนที่ผมเคยรู้จักมาก่อน เรียนด้วยกัน ทำงานด้วยกัน พวกเขาไม่เหมือนเดิม หลายคนเคยเก่งมากระดับหาตัวจับยากแต่วันนี้พวกเขาไม่ใช่คนเดิมเมื่อไปนั่งตำแหน่งนั้น หลายคนมีวิชาการด้านจิตวิทยาและจิตเวชศาสตร์สูงมากแต่เขาพูดจาตามคำสั่งโดยไม่เป็นตัวของตัวเองอีกเลย ปรากฏการณ์เหล่านี้มิได้เกิดจากบุคคลแม้ว่าพวกเขาควรลาออกตั้งแต่แรกเมื่อพบเรื่องที่ไม่เหมาะสม แต่เป็นเพราะตัวระบบเองที่ใครอยู่ใครก็ต้องเป็นแบบนั้นและทำแบบนั้น ทางแก้มีหนทางเดียวคือไม่อยากเป็นแบบนั้นต้องเดินออกมาทันที ถ้าเดินออกไม่ได้ก็จะเป็นแบบนั้นแหละ ระบบราชการสามารถพัดคนทุกคนไปข้างหน้าได้ง่ายๆ เช่นนี้เอง

ข้าราชการที่ดีควรพูดว่า “ไม่” เมื่อพบเรื่องที่จำเป็นต้องพูดว่า “ไม่”

จำได้ว่ามีหลายครั้งที่ผมขับรถออกไปต่างตำบล ต่างอำเภอ ไปบ้านนอก พบชาวบ้านนับร้อย หรือหลายร้อย ยืนออกันหน้าธนาคารฯ ล้นลงฟุตบาธ ออกมาที่ถนน เลยเต็นท์และเก้าอี้ที่ธนาคารฯ หรือหน่วยงานรัฐจัดไว้ให้ เมื่อคิดถึงว่านี่เป็นศตวรรษที่ 21 ที่ชนชั้นกลางดูเน็ตฟลิกซ์แบบไม่สะดุดเลยสักแอะได้แล้วก็อดสังเวชมิได้ ตัวเองรู้จักข้าราชการที่ทำงานในพื้นที่บ้าง รู้จักเจ้าหน้าที่ธนาคารบ้าง ทุกคนไม่มีทางออก อย่าว่าแต่ทางออก สมองให้คิดก็ไม่มีเพราะไม่ได้รับอนุญาตให้คิดตั้งแต่แรก มิใช่ตั้งแต่แรกแต่ว่าตั้งแต่บรมสมกัลป์มาแล้ว นี่คือระบบราชการไทย 

หากโควิดสองปีจะมีคุณต่อประเทศไทย เรื่องการฟ้องร้องต่อความพิกลพิการของระบบราชการไทยน่าจะเป็นคุณูปการอย่างที่สุด มิใช่คนของเราไม่ดี มิใช่คนของรัฐไม่ดี แต่เป็นระบบและโครงสร้างที่ไม่ดีเอามากๆ จริงๆ

มิใช่เพียงเพราะชาวบ้านเราไม่มีไอที ที่รัฐไทยลืมหรือไม่สนใจคือคนไทยจำนวนมากยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ กระบวนการเรียกร้องสิทธิใดๆ เราต้องอ่านออกเขียนได้ทั้งนั้น บางแห่งยังต้องแนบสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านอยู่ด้วยซ้ำไป ไม่มีเลยที่สิทธิจะมาถึงบ้านโดยอัตโนมัติ เป็นชาวบ้านที่ต้องร้องขอต่อรัฐเสมอ

มีอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง ข้าราชการไทยมีเจ้านายหลายคน ในเรื่องหนึ่งๆ มักมีคำสั่งจากสำนักงานต่างๆ กรมต่างๆ กระทรวงต่างๆ รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดพุ่งเข้ามาจากหลายทิศทาง ผู้บริหารระดับกลางหรือระดับล่างที่มีความสามารถจะคัดกรองคำสั่งต่างๆ ที่ซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งกันเองได้ แต่ผู้บริหารที่ไม่มีความสามารถหรือนั่งเก้าอี้เพียงเพื่อไต่เต้าหรือเอาตัวรอดจะส่งผ่านคำสั่งต่างๆเหล่านั้นลงไปให้ผู้ปฏิบัติการ “คิดสร้างสรรค์” กันเองว่าจะทำอย่างไร นี่เป็นการบริหารแบบรวมศูนย์ประเภทศูนย์ใครศูนย์มัน นโยบายการกระจายวัคซีนเป็นลักษณะนี้ จึงได้เกิดการเทกันตอนแรกๆ อยู่เรื่อยๆ ความสับสนอลหม่านเชิงตัวใครตัวมันของระบบนี้ก่อปัญหามากกว่าการเปลี่ยนคำสั่งรายวันหรือรายชั่วโมงเสียอีก การเปลี่ยนคำสั่งรายวันหรือรายชั่วโมงจะอย่างไรก็เป็นเส้นตรง ข้าราชการไทยทำตามได้ไม่ยาก สั่งให้หันซ้ายขวาวันละสามรอบเราทำได้ แต่การได้รับสามคำสั่งพร้อมกันที่ไปคนละทิศเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

จะเอาเศรษฐกิจหรือจะเอาจำนวนผู้ติดเชื้อ?

นี่เป็นตัวอย่างของคำถามที่แสดงถึงสมองของระบบราชการอันจำกัดจำกัดเขี่ย เศรษฐกิจหมายถึงชาวบ้านมีกิน เป็นเรื่องของชีวิต มีพลวัตและตัวแปรมากมายเกินควบคุม อย่างง่ายที่สุดคือเอาเงินสดไปใส่มือชาวบ้านให้เรียบร้อย จำนวนผู้ติดเชื้อเป็นตัวเลขทางชีววิทยา สะท้อนความเจ็บป่วย ความตาย และภาระงานของโรงพยาบาล อย่างง่ายที่สุดคือจำนวนคนป่วยไม่ควรเกินกำลังของบุคลากร 

หากกำหนดเป้าหมายง่ายๆ ของสองเรื่องนี้มิได้ มิพักจะไปขั้นตอนต่อไปว่าแล้วจะประสานเข้าหากันได้อย่างไร ไม่นับว่าเป็นที่ซุบซิบเสมอมาว่าเป้าหมายที่แม้คือคุมฝูงชน เรื่องจึงไปกันใหญ่

ชาวบ้านมีกินด้วย โรงพยาบาลทำงานได้ด้วย หากเป้าหมายถูกต้องเราจะแจกเงินและวัคซีนอย่างไรจึงจะตามมา

ทั้งหมดที่เขียนนี้เป็นปัญหาเชิงระบบ ข้าราชการไทยมีคนเก่งอีกมากที่ทำได้ถ้าได้ไฟเขียวให้ทำ

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า