Hawaii (1966) และ The Hawaiians (1970): ฮาวายเมื่อวันวาน

มิได้จะเขียนเรื่องภูเก็ต 

ไม่เคยไปฮาวาย หนังสือนวนิยายปี 1959 Hawaii ของ เจมส์ เอ มิเชนเนอร์ (James A. Michener) ซึ่งหนาเตอะ และเล่าเรื่องราวตั้งแรกเริ่มของการกำเนิดหมู่เกาะฮาวายข้ามหลายรุ่น เป็นมหากาพย์ขนาดยาวที่อ่านไม่จบ แต่วันนี้จะเล่าหนังเรื่องฮาวายที่ไม่เคยเห็นในสตรีมมิ่ง หนังฮาวายที่สร้างจากหนังสือของเจมส์ เอ มิเชนเนอร์ มี 2 เรื่อง

เรื่องแรกเป็นหนังปี 1966 ชื่อ Hawaii นำแสดงโดย แม็กซ์ ฟอนซีโดว์ (Max von Sydow) และ จูลี แอนดรูวส์ (Julie Andrews) หนังสร้างจากบทที่ 3 ของหนังสือ From the Farm of Bitterness เล่าเรื่องการตั้งถิ่นฐานของมิชชันนารีครั้งแรก กำกับโดย จอร์จ รอย ฮิล (George Roy Hill) ดนตรีโดย เอลเมอร์ เบิร์นสไตน์ (Elmer Bernstein) เรียกว่าทีมงานมิใช่เล่นๆ เลย ความยาว 3 ชั่วโมง

แม็กซ์ ฟอนซีโดว์ เวลานั้นอายุ 37 ปี รับบทบาทหลวงใหม่ แอ็บเนอร์ เฮล ( Abner Hale) ที่จะย้ายไปประจำการเกาะกลางทะเลไกลโพ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อช่วยเหลือจิตวิญญาณเหล่านั้น แต่มีข้อแม้ว่าเขาต้องแต่งงานแล้ว

แอ็บเนอร์ เฮล ตอนวัยหนุ่มเซ่อซ่ามากมาย ไม่รู้ทักษะสังคมอะไรมีแต่ความซื่อสัตย์และศรัทธาแรงกล้าต่อพระผู้เป็นเจ้าเป็นที่ตั้ง เมื่อเขาไปบ้านของสาวครั้งแรกเป็นเวลาเดียวกับสาวที่ เยรูชา บรอมลีย์ (Jerusha Bromley) ซึ่งรับบทโดย จูลี่ว์ แอนดรูว์ เวลานั้นอายุ 31 ปี ซึ่งจะว่าไปดูเหมือนกาลเวลาจะทำอะไรหน้าตาและเสียงของมนต์รักเพลงสวรรค์คนนี้ได้น้อยมาก

เยรูชากำลังผิดหวังกับเรื่องคนรักที่เป็นกัปตันเรือสินค้าข้ามสมุทรไม่เคยตอบจดหมายเธอเลย พ่อแม่ต้องการกีดกันเธอออกจากกัปตันที่ไม่รู้หัวนอนปลายเท้าไม่มีหลักแหล่งแห่งที่ จึงไฟเขียวให้แก่โบสถ์และบาทหลวงโดยง่าย ส่วนเธอก็น่าจะแต่งงานกับบาทหลวงเฮลเพราะเอ็นดูเขามากกว่าอย่างอื่น

เมื่อสองคนเดินเรือข้ามสมุทรไปฮาวาย บาทหลวงเฮลไม่เป็นอะไรเลยด้วยแรงศรัทธา ในขณะที่คุณนายเฮลเมาเรือแทบปางตายอยู่หลายสัปดาห์ พอถึงชายหาดฮาวาย ก็เหมือนบางแสน หัวหิน หาดป่าตอง และเกาะพีพียุคแรกๆ ที่เคยเห็น นั่นคือมีแต่น้ำและทรายและต้นไม้และท้องฟ้า สี่อย่างเท่านั้น คือสวรรค์ดีๆ นี่เอง (คนรุ่นผมน่าจะเป็นรุ่นสุดท้ายที่ได้เห็นภาพเหล่านี้)

ตามเนื้อหาในหนัง ฮาวายเวลานั้นปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ ที่ใหญ่กว่ากษัตริย์คือราชินี พวกเขามีน้ำใจไมตรีเหลือเฟือแต่บางทีก็เหลือเฟือเกินไปโดยเฉพาะเรื่องทางเพศ เมื่อบาทหลวงพบว่าที่แท้พระสวามีของราชินีคือพี่ชายของราชินีเอง นี่เป็นบาปกรรมที่ยอมรับไม่ได้ นอกจากนี้ฮาวายยังเป็นสถานที่ที่ลูกเรือของเรือสินค้าใดๆ แวะดื่มกินและปล้ำสาวท้องถิ่น นี่เป็นเรื่องอดสูเหลือทนอีกเช่นกัน (ว่ากันว่าข้อมูลเรื่องชนพื้นเมืองที่เจมส์ เอ มิเชนเนอร์เขียนควรได้รับการตรวจสอบในรายละเอียดอยู่บ้าง)

หนังโฟกัสที่ศรัทธาแรงกล้าของบาทหลวงที่จะเปลี่ยนราชินีและชาวเกาะฮาวายไปในทางที่ถูกที่ควร มีการสร้างโบสถ์มุงจากชั่วคราวและเชิญชวนราชินีเข้ารีต เกิดความขัดแย้งเป็นระลอกๆ ระหว่างชนพื้นเมืองกับบาทหลวงเฮลผู้แข็งกร้าว แต่ด้วยความช่วยเหลืออย่างใจเย็นของคุณนายเฮลก็สามารถดับไฟขัดแย้งได้ทีละขั้นๆ นำไปสู่การเข้ารีตของราชินีและการออกกฎหมายใหม่แก่ประดาเรือสินค้าที่เข้าเทียบท่า

นับจากนี้สาวชนพื้นเมืองจะไม่พลีกายให้ใครอีก

นอกเหนือจากศาสนาก็มีเรื่องการแพทย์ ยีน แฮ็คแมน (Gene Hackman 1930) เวลานั้นอายุ 36 ปี รับบทนายแพทย์จอห์น วิปเปิล (Dr. John Whipple) ซึ่งนำการแพทย์สมัยใหม่ไปให้แก่ชาวฮาวายด้วย

วันหนึ่งกัปตันราเฟอร์ ฮ็อกซเวิร์ธ (Capt. Rafer Hoxworth) รับบทโดย ริชาร์ด แฮริส (Richard Harris) ตอนนั้นอายุ 36 ปีพาลูกเรือกลัดมันมาขึ้นฝั่ง ที่แท้เขาคืออดีตคนรักของเยรูชา บรอมลีย์ ซึ่งวันนี้เป็นคุณนายเฮล ความตึงเครียดในชีวิตสมรสของบาทหลวงกับภรรยาสุดประเสริฐของเขาทวีความรุนแรงขึ้นอีก ที่แท้เป็นโบสถ์และพ่อแม่ของเธอเองที่ลักซ่อนจดหมายทุกฉบับที่กัปตันราเฟอร์เขียนถึงหญิงสุดที่รัก อย่างไรก็ตามความซื่อสัตย์ต่อสามีมีมากกว่าสิ่งใด ไม่นับว่าบาทหลวงเป็นคนเข้ากับใครบนเกาะไม่ได้เลย เธอจำเป็นต้องช่วยเขาทำหน้าที่บนเกาะ ‘ป่าเถื่อน’ แห่งนี้ให้สำเร็จ อีกทั้งเธอก็มีบุตรร่วมกับเขาแล้วด้วย จากหญิงสาวผู้ดีมีตระกูลในคฤหาสถ์แสนสะดวกสบาย กลับกลายมาเป็นหญิงแกร่งบนผืนทรายและป่าดิบ

หนังยาว 3 ชั่วโมง สนุกดีสำหรับคนชอบหนังโบราณที่ถ่ายทำจากสถานที่จริง ไม่มีคอมพิวเตอร์เข้าช่วย และมีบทสนทนาที่ดีหลากหลายตอน มิใช่พูดเท่ไปเรื่อย หนังมีรายละเอียดมากมายทั้งที่ย่นย่อจากหนังสือมามากแล้ว

คุณนายเฮลตายจากไปก่อนเพราะชีวิตที่แสนลำเค็ญ บาทหลวงก่อตั้งคณะสงฆ์เป็นผลสำเร็จ สร้างโบสถ์ถาวร เรือสินค้ามากมายเข้าเทียบท่า หนังจบลงด้วยการมาถึงของนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่นี่ก็เป็นเพียงเสี้ยวแรกของหนังสือเท่านั้น

ยังมีอีกท่อนหนึ่งของหนังสือที่ถูกนำมาทำหนังคือคือหนัง The Hawaiians ปี 1970 สร้างจากบทที่ 4 ของหนังสือ From the Starving Village เล่าเรื่องการเริ่มต้นของการนำเข้าสัปปะรดและอ้อยกับการมาถึงของชาวจีนอพยพ กับการระบาดของโรคเรื้อนครั้งใหญ่ เป็นเหตุให้ต้องเนรเทศผู้ป่วยโรคเรื้อนนับพันคนไปรวมกันที่เกาะโมโลไค (Molokai)

สเกลของหนังเล็กกว่าเรื่องแรก ความยาว 2 ชั่วโมงครึ่ง ได้ ชาร์ลสตัน เฮสตัน (Charlton Heston) มารับบทรุ่นหลานของกัปตันราเฟอร์ ฮ็อกซเวิร์ธ และ ทิน่า เฉิน (Tina Chen) ในบทหญิงจีนอพยพที่เริ่มชีวิตด้วยการเป็นกุลี จนกระทั่งเป็นจ้าวที่ดินในตอนท้าย เธอคว้าลูกโลกทองคำปีนั้นไปด้วยบทนี้

ชาร์ลสตัน เฮสตัน รับบท วิป ฮ็อกซเวิร์ธ (Whip Hoxworth) ซึ่งถูกขับออกจากพินัยกรรมของตระกูลเขาได้เพียงที่ดินผืนหนึ่งและถูกสั่งห้ามเดินเรือ เขานำเข้าชาวจีนอพยพมากมายมาเป็นกุลี และคนงานไร่สัปปะรดที่เขานำเข้ามาอีกเช่นกัน

เจอราลดีน แชปลิน (Geraldine Chaplin) รับบทภรรยาของวิปซึ่งมีเชื้อสายชนพื้นเมืองและมีอาการทางจิต หนังเป็นเมโลดราม่ามากกว่าที่จะเป็นเอพิคเหมือนเรื่องแรก แต่ก็ดูสนุก หนังมิได้พูดถึงราชาธิปไตยแล้ว แต่ก็เล่าเรื่องประชาธิปไตยสมัยใหม่ในตอนท้ายอีกเช่นกัน

หากอยากรู้ว่าฮาวายเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีหนังฮาวายที่เล่าเรื่องเจ้าหญิงองค์สุดท้ายของระบอบกษัตริย์คือหนังปี 2009 Princess Kaiulani ไม่สนุกมากนัก แต่สปีชของเธอต่อหน้าพวกนักการเมืองระบอบประชาธิปไตยน่าฟัง

มีหนังเล่าเรื่องการเลือกตั้ง การท่องเที่ยวและการเหยียดผิวเรื่อง Diamond Head เป็นหนังปี 1962 สร้างก่อนหน้าหนังเอพิกเรื่องแรกนั้นอีก ชาร์ลสตัน เฮสตัน และ ยอร์ช ชาคิริส (George Chakiris) รับบทนำ เรื่องนี้สนุกมาก

แล้วก็ยังมีหนังปี 1999 เรื่อง Molokai: The Story of Father Damien เล่าเรื่องบาทหลวงเดเมียนที่อาสาไปช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อนบนเกาะอย่างกล้าหาญระหว่างปี 1873-1889 จนตายด้วยโรคเรื้อนในที่สุด เรื่องนี้มี ปีเตอร์ โอทูล แซม นีลส์ (Peter Seamus O’Toole) และ คริส คริสทอฟเฟอร์สัน (Kristoffer Kristofferson) เป็นนักแสดงรับเชิญ หนังน่าดูมากอีกเช่นกัน

เล่ามาตั้งยาวมิได้เล่าเรื่องเกาะภูเก็ต ชนพื้นเมือง ชาวจีนอพยพ นายทุนต่างถิ่น เหมืองแร่ดีบุก และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แค่เล่าเรื่องฮาวาย การเผยแพร่ศาสนา เจ้าที่ดินสมัยใหม่ ไร่สัปปะรด และประชาธิปไตยเฉยๆ

อย่างไรก็ตาม ให้กำลังใจคนภูเก็ตครับ

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า