WAY to READ: ฉากและชีวิต คือรักและหวัง

…เล่าเรื่องรำลึกย้อนหลังเช่นนี้ ดูเหมือนลูกหลานชาวนาจะภาคภูมิใจกับกำพืดของตนเสียจริง ในขั้นตอนที่เป็นจริง ช่วงเรียนมัธยมตาไปเยี่ยมถึงห้องเรียน นำผักกระเฉดกับไข่เป็ดไปฝาก เพราะกลัวหลานจะอด แต่ผมออกจะอายๆ เพื่อนชอบกลอยู่ที่ผู้ปกครองดูเป็นคนบ้านนอกชัดเจน ดีที่ได้ผ่านการเคลื่อนไหวความคิดช่วงหลังสิบสี่ตุลา…

– หน้า 121

 

แก่นหลักใจความของเรื่องราวใน ฉากและชีวิต เป็นเรื่องราวความรักสามเส้าของ ‘น้าพร’ ‘น้าน้อย’ และ ‘น้านายท้าย’ เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อ ‘ผม’ ต้องเดินทางกลับมายังบ้านเกิดที่ยังเป็น…ทุ่งร้างไม่ได้หมายถึงทุ่งว่างเปล่าเงียบเหงา เป็นทุ่งร้างที่ไร้กลิ่นโคลนสาบควายและรวงข้าว เริ่มแออัดจอแจด้วยบ้านจัดสรร…ที่ วัฒน์ วรรลยางกูร บรรยายให้เราได้เห็นภาพตามว่าแม้ฉากจะเปลี่ยน แต่ชีวิตซึ่งเคยโลดแล่นอยู่ในนั้นยังเต้นเร่าอยู่ในความทรงจำไม่จางหายไป แม้ว่า ‘ผม’ จะเติบโตออกไปใช้ชีวิต แล้วต้องกลับมาเมื่อคนในครอบครัวเสียชีวิตลง จากนั้น ‘ผม’ พาเราไปรู้จักทุ่งนาและฉากชีวิตของชาวบ้านก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้อนุมานได้ไม่ยากว่า แท้แล้ว ‘ผม’ ในนิยายนั้น คือตัว วัฒน์ วรรลยางกูร เอง

ภาพของความทรงจำที่โลดแล่นอยู่ในความทรงจำเป็นเรื่องราวง่ายๆ ที่ดำเนินไปอย่างไม่ซับซ้อนอะไร ตามประสาทคนหากินอยู่กับทุ่งอยู่กับน้ำ และแน่นอนว่าหากเป็นคนที่คุ้นเคยกับงานของวัฒน์ที่จำลองออกมาฉายให้เห็นในรูปของภาพยนตร์ฝีมือกำกับของ เป็นเอก รัตนเรือง จากเรื่อง มนต์รักทรานซิสเตอร์

ฉากและชีวิต ก็บอกเล่าเรื่องราวของสาวบ้านนอกที่ผิดหวังในรักแรกเช่นเดียวกัน ต่างกันแค่ในมนต์รักฯ ‘สะเดา’ ต้องคอยผัวคืนกลับ จนกระทั่งได้ผัวใหม่แล้วถูกทิ้งอีกครา ผัวแรกจึงได้กลับคืน ขณะที่ ฉากและชีวิต น้อยต้องเลือกระหว่างผจญชีวิตลำพัง หรือคืนกลับสู่บ้านที่พร้อมโอบรับอยู่เสมอ เหมือนที่วัฒน์ได้เขียนไว้ว่า

…บ้านของเรายินดีต้อนรับเสมอทั้งผู้ชนะผู้แพ้ ที่นี่มีมือซับน้ำตา มีถ้อยคำปลอบโยน มีหัวใจพร้อมยอมรับ ไม่ข้องใจกับความพลาดพลั้งที่ผ่านมา บ้านของเรามีเสียงนกกิ้งโครงร้องกล่อมแมกไม้ชายคลอง คลายความเหงาหงอยเศร้าสร้อย บ้านของเรามีคนช่วยอุ้มชูดูแลเจ้าหนูตัวน้อย…พยานแห่งรักร้าง

– หน้า 33

 

ภาษาของวัฒน์เป็นภาษาที่เรียบง่าย กระชับ รัดกุม และเต็มไปด้วยเนื้อหนังของเรื่องราวที่แฝงอยู่ในถ้อยคำง่ายๆ แม้หากมองผ่านเรื่องราวที่ดูเหมือนจะธรรมดา ทั้งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของตัวละครต่างๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีถ้อยคำของความเศร้า ความรันทด แฝงอยู่ในถ้อยคำทั้งหมดนั้น และแม้ตัวละครของวัฒน์จะดูมีทีท่าไม่ยี่หระต่อชะตากรรมที่สาดซัด ทั้งเรื่องชีวิตและความรัก แต่ตัวละครทุกตัวมีความเศร้าปะปนอยู่ในห้วงขณะของชีวิต

บทบาทร้องรำทำเพลงในยี่เกของน้าพรจะสนุกสนานหรือโศกสลด ขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้น น้อยกลับไปคืนดีกับน้านายท้าย สามีหรือไม่

แม้จะก้มหน้าก้มตาทำงานไม่ปริปาก ในฐานะที่ตกแต่งเป็นเขย แต่ ‘น้านายท้าย’ ก็กลับรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่ตนเองเป็นได้แค่คนขับเรือ

ข้างน้อยเองนั้น แม้จะได้ผัวคนที่สองเป็นเพียงคนใต้ ตัวล่ำ ขยันขันแข็ง แต่ภายใต้หน้าที่แม่ลูกสี่ ใครจะรู้บ้างเธอต้องซ่อนน้ำตามากี่ครั้ง

หากมองเพียงแค่นั้น ย่อมเข้าใจได้เพียงนั้น ว่า ฉากและชีวิต เป็นเพียงเรื่องรักในบรรยากาศท้องทุ่งริมคลองเรื่องหนึ่ง แต่เมื่ออ่านจนจบ กลับพบว่าเอาเข้าจริง ชะตาของตัวละครทั้งหมดผูกโยงกับปัจจัยและเงื่อนไขที่เราอาจไม่เคยมองเห็น กระทั่งไม่เคยตั้งคำถาม ความทะเยอทะยานในชีวิตที่อยากจะมั่งมี ที่อยากจะมีหน้ามีตา แม้แง่หนึ่งจะเพื่อให้สาวเจ้าที่หมายตาหันมามอง แต่อีกใจ ใช่หรือไม่ว่าเงินตอบโจทย์หลายๆ อย่างในชีวิตที่วาทกรรมคำว่าพอเพียง เป็นได้แต่เพียงการกดทับให้พวกเขาต้องทนรับด้วยถ้อยคำปลอบประโลม วาสนาเราคงน้อย

วาด รวี พูดในงาน ‘คือรักและหวัง’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมาเพื่อระดมทุนช่วยเหลือ วัฒน์ วรรลยางกูร ซึ่งลี้ภัยอยู่ต่างประเทศว่า ชะตาชีวิตของวัฒน์ผูกโยงกับสองด้าน คือการเมือง และวรรณกรรม สวิงไปมาระหว่างทั้งสองด้านนี้ตลอด วาด รวี ตั้งข้อสังเกตว่าตลอดเกือบทศวรรษ วัฒน์ไม่มีผลงานในรูปแบบนิยายเล่มใหม่ออกมาเลย ขณะที่การเมืองไทยแตกร้าวรานลึกยิ่งกว่ารักแรกของน้อยจากผัวที่เป็นจ่าอากาศซึ่งเพียงโฉบลงมาทิ้งลูกน้อยไว้ให้แล้วบินจากไป ในฐานะผู้มาทีหลังทางวรรณกรรม วาด รวี ทำได้เพียงวาดหวังให้วัฒน์มีผลงานเล่มใหม่ เฝ้ารอดูการคลี่คลายตัวตนและนิยายที่เปลี่ยนไปของวัฒน์

ขณะที่ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ พูดถึงวัฒน์ว่าวัฒน์เป็นสมบัติของแวดวงวรรณกรรมที่เขารอคอยให้สมบัตินี้ได้คืนกลับบ้าน ได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ เพราะอาจจะเหมือนที่วัฒน์เองได้เขียนไว้ใน ฉากและชีวิต

…บ้านของเรายินดีต้อนรับเสมอทั้งผู้ชนะผู้แพ้ ที่นี่มีมือซับน้ำตา มีถ้อยคำปลอบโยน มีหัวใจพร้อมยอมรับ ไม่ข้องใจกับความพลาดพลั้งที่ผ่านมา บ้านของเรามีเสียงนกกิ้งโครงร้องกล่อมแมกไม้ชายคลอง คลายความเหงาหงอยเศร้าสร้อย…

และยิ่งตอกย้ำอย่างเด่นชัดในบทนำของวัฒน์เองที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2553 ว่า

เพราะที่นี่ บ้านหลังนี้

เราต่างเป็นเจ้าของอย่างเต็มภาคภูมิ

ไม่มีใครเป็นเจ้าของมากหรือน้อยกว่ากัน…


โรคซึมเศร้า 

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
อธิคม คุณาวุฒิ: อ่าน

คุณสมบัติแข็งแรงอย่างน้อยสามประการของหนังสือเล่มนี้คือ

หนึ่ง ความรู้: ผู้เขียนอาจเป็นที่รู้จักในฐานะคุณหมอผู้หลงใหลการ์ตูน หรืออีกขาหนึ่งคือเจ้าของเพจให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกที่มีผู้ติดตามมากที่สุดเพจหนึ่ง แต่อาชีพที่แท้จริงของหมอประเสริฐคือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช

สอง ทัศนคติ: ด้วยความรู้และประสบการณ์ในข้อหนึ่ง ดูเหมือนว่าการบ้านข้อแรกๆ ที่ผู้เขียนตั้งใจให้หนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่ก็คือ การต่อสู้กับความรู้ ความเชื่อ และทัศนคติผิดๆ เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า

สาม ความสามารถในการสื่อสาร: ผู้เขียนจับประเด็นที่คนส่วนใหญ่น่าจะอยากรู้ อยากรับทราบแนวทางปฏิบัติ ทั้งเพื่อรับมืออาการที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และรับทราบสภาพจิตผู้ป่วยคนรอบข้าง แล้วสื่อสารออกมาเป็นภาษามนุษย์ที่เข้าใจง่าย กระชับ ตรงประเด็น ใครๆ ก็อ่านรู้เรื่อง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

บทที่ 1 เปิดประเด็นด้วยคำสำคัญว่า

“โรคซึมเศร้ามิใช่อารมณ์เศร้าที่เกิดกับคนทั่วไป โรคซึมเศร้ามีคำสำคัญคือคำว่า ‘โรค’ (disease) บุคคลที่เป็นโรคจึงเป็นผู้ป่วย”

คำขยายประเด็นนี้อยู่ในย่อหน้าที่สองของคำนำ

“ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามิใช่คนอ่อนแอ คิดมาก คิดไปเอง ไม่ปล่อยวาง หรือเป็นคนที่ยอมแพ้ต่อชีวิต ความจริงคือเขาป่วยด้วยโรคชนิดหนึ่งจริงๆ เหมือนคนทุกคนที่อาจจะป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บบางอย่าง”

แน่นอนว่า สำหรับผู้มีประสบการณ์ต้องรับมือกับผู้ป่วยโรคนี้ทั้งในระดับญาติสนิทและมิตรสหาย ข้อมูลนี้ย่อมมิใช่เรื่องใหม่ ในโลกอินเทอร์เน็ตมีข้อมูลบอกกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากสารเคมีในสมองไม่สมดุลหรือทำงานผิดปกติ

แต่หมอประเสริฐให้ข้อมูลไปไกลกว่านั้น ในบทที่ 4 ของหนังสือระบุว่า

“โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคทางสมอง แม้ว่าปัจจุบันวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่จะสาธิตให้เห็นว่ามีสารเคมีกี่ตัวในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เสียสมดุล แต่โรคซึมเศร้ามิใช่โรคทางสมอง และยาต้านอารมณ์เศร้ามิใช่คำตอบหนึ่งเดียวหรือคำตอบสุดท้าย

“หากโรคซึมเศร้าเป็นโรคทางสมอง การกินยาต้านอารมณ์เศร้าย่อมรักษาได้ง่ายๆ เหมือนกินยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อโรค แต่เรื่องมิได้ง่ายดายเพียงนั้น”

อ้าว – แล้วถ้าเช่นนั้น มันเกิดจากสาเหตุอะไร เราๆ ท่านๆ จะได้แก้ที่สาเหตุได้

คุณหมอประเสริฐท่านอธิบายว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวช (psychiatric disorder) ซึ่งโรคทางจิตเวชใดๆ ล้วนเกิดจากปัจจัยสามประการเสมอ คือ กาย ใจ และสังคม

บทที่ 4 ของหนังสือขยายความปัจจัยสามประการนี้ไว้ว่า

“กาย หมายถึงปัจจัยทางชีววิทยา (biological factors) ได้แก่ พันธุกรรมและสมดุลของสารเคมีบางตัวในสมอง”

“ใจ หมายถึงปัจจัยทางจิตวิทยา (psychological factors) ได้แก่ จิตสำนึกและจิตใต้สำนึก”

“สังคม หมายถึงปัจจัยด้านสภาพสังคมที่แวดล้อมผู้ป่วย (social factors) ได้แก่ บ้านและครอบครัว โรงเรียนหรือที่ทำงาน สิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งเศรษฐกิจ”

นั่นเป็นคำอธิบายว่า เหตุใดผู้มีประวัติพันธุกรรมโรคซึมเศร้า แต่มีทักษะการใช้ชีวิตที่ดีจึงยังรักษาสมดุลได้ หรือในทางตรงข้าม ผู้ไม่มีประวัติพันธุกรรม แต่ทักษะชีวิตไม่ดี หรืออยู่ในสภาพสังคมบีบคั้นตึงเครียด จึงเสียศูนย์ไม่สามารถรักษาสมดุลชีวิตต่อไปได้

ประเด็นแบบนี้ถ้าให้พระมาเทศน์ก็คงถูกด่า แต่อย่าลืมว่าคนพูดคือแพทย์จิตเวช

หนังสือเล่มนี้เป็นประโยชน์โดยตรงต่อวิถีชีวิตร่วมสมัย

เอ่อ…โดยเฉพาะผู้คนในแวดวงหนังสือ ศิลปะ และวรรณกรรม ลองพักยกจากการด่าทอ จุกจิกหยุมหยิมจนเสียบุคลิก แล้วไปหาความรู้ตรวจสอบสภาพจิตตัวเองบ้าง พรรคพวกเพื่อนฝูงจะได้เวียนหัวน้อยลงหน่อย

The Immortal Story

Isak Dinesen / อรจิรา โกลากุล: แปล
ณขวัญ ศรีอรุโณทัย: อ่าน

ตำนานนิรันดร์ เป็นเรื่องหนึ่งจากหนังสือ Anecdotes of Destiny ตัวเรื่องเรียบง่ายตรงไปตรงมา เล่าเรื่องของเศรษฐีชราคนหนึ่ง ผู้ต้องการทำให้เรื่องแฟนตาซีที่เล่าต่อๆ กันมาของกลาสีหนุ่มกลายเป็นเรื่องจริง

“วันหนึ่ง ในขณะที่ข้ากำลังเดินเตร็ดเตร่อยู่ที่ท่าเรือ รถม้าหรูระยับก็ชะลอจอดด้านหน้า เศรษฐีแก่ๆ คนหนึ่งชวนข้าไปยังคฤหาสถ์ เสนอเงินให้ข้า 5 กินี แน่นอน ข้าตอบตกลง

“ที่ปราสาท (คฤหาสถ์ใหญ่โตเหลือเกิน จนข้านึกว่าเป็นปราสาท) ตาแก่นั่นเลี้ยงอาหารอย่างดี คนรับใช้รินไวน์ให้ข้าไม่เคยพร่อง จากนั้นจึงบอกว่าตนเองชราแล้วแต่ยังไร้ทายาท เงิน 5 กินีนั่น เป็นค่าจ้างสำหรับความหนุ่มแน่นและแข็งแรงของข้า ที่น่าจะเหมาะสมกับเมียสาวหญิงสูงศักดิ์ในห้องหับด้านหลัง เพื่อเป็นการสร้างทายาทผู้มาดูแลทรัพย์สมบัติของตาแก่นั่นต่อไป

“แน่นอน ข้าตอบตกลง

“อ้อ ข้ายังไม่ได้เล่าถึงใบหน้าอันงดงาม และส่วนเว้าส่วนโค้งอันนวลเนียนของหญิงสาวเลยสินะ…”

จากเรื่องเล่าที่เล่าต่อๆ กันมา บนเรือเดินสมุทร ในวันที่มรสุมผ่านพ้น หรือในคืนอันเปลี่ยวเหงา ในมหาสมุทรอินเดีย แปซิฟิก หรือแอตแลนติก กลาสีทั้งหลายต่างเล่าเรื่องทำนองนี้ (อาจเติมเสริมต่อด้วยจินตนาการของตนเอง) และต่างเล่า โดยใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ประหนึ่งว่าตนเองประสบพบกับโชคดีเช่นนั้นเอง

หนังสือเล่มนี้ เล่าเรื่องของเศรษฐีชราคนหนึ่ง ผู้ทะเยอทะยานต้องการทำให้เรื่องเล่าต่อๆ กันมากลายเป็นเรื่องจริง

หนังสือหนาเพียง 126 หน้า สามารถอ่านจบได้ภายในวันสองวัน วิธีเล่าตรงไปตรงมา แต่การบรรยายนั้นน่าสนใจมาก มันทั้งน้อยนิด แต่ก็เปิดช่องให้จินตนาการทำงานอย่างสนุกสนาน

รสเหมือนนิทานโบราณ ที่สามารถปลุกสิ่งดึกดำบรรพ์ส่วนลึกในใจของผู้อ่านให้ครุ่นคิดถึงอะไรบางอย่าง เหมือนสมัยวัยเยาว์ที่นิทานง่ายๆ พาให้เราคิดไปถึงอะไรต่อมิอะไรได้มากมาย หนังสือเล่มนี้ก็ง่ายๆ เช่นกัน เป็นนิทานสำหรับผู้ใหญ่ แต่อ่านจบแล้วไม่จบง่ายๆ

อัตชีวประวัติ: ทหารชั่วคราว 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์กษิดิศ อนันทนาธร: บรรณาธิการ
วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์: อ่าน

ระหว่างที่เดินในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราจะพบอนุสาวรีย์ ปรีดี พนมยงค์ และที่ใต้อาคารคณะเศรษฐศาสตร์รูปปั้นของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อยู่ตรงนั้น คำถามหนึ่งที่ไม่ได้ต้องการคำตอบผุดขึ้นมาว่า ทำไมพื้นที่แห่งนี้จึงเต็มไปด้วยลูสเซอร์

แน่ละว่าทั้ง ปรีดี พนมยงค์ และ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ต่างก็มีคุณูปการต่อสังคมไทยทั้งสิ้น แต่คำถามที่ผุดขึ้นมานั้นตั้งอยู่บนสมมุติฐานถึงฉากและเหตุการณ์ในชีวิตบุคคลทั้งสอง พูดอีกแบบก็ต้องบอกว่า ทำไมสังคมไทยจึงไม่ซื้อไอเดียหรือความคิดของพวกเขา ทั้งยังขับไล่พวกเขาจากสังคมไทย

เดินเรื่อยเปื่อยในธรรมศาสตร์ ความคิดก็ยิ่งตอกย้ำสมมุติฐานนี้ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล หรืออาจารย์แห่งคณะนิติราษฐ์ ไล่เรียงมาถึงคนหนุ่มคนสาวกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ทำไมสังคมไทยไม่ซื้อความคิดของพวกเขา และนักอุดมคติเหล่านี้ก็ล้วนอยู่ในธรรมศาสตร์

บ่ายวันหนึ่งในธรรมศาสตร์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ หัวข้อที่เราพูดคุยก็คือนักอุดมคติที่ชื่อ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล (เนื้อหาสาระจะเผยแพร่ผ่านพื้นที่ของ WAY Magazine เร็วๆ นี้)

จากคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าอาจารย์ประจักษ์ จึงอยากทราบมุมมองของเขา

ทุกการต่อสู้ไม่อาจสำเร็จได้ในคนรุ่นเดียว อาจารย์ประจักษ์ยกตัวอย่างการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในมุมต่างๆ ของโลก แต่ทุกความพ่ายแพ้นั้นคือรอยทางที่คนรุ่นก่อนเเผ้วถางทำทางมาสู่คนรุ่นใหม่ ทุกความพ่ายแพ้คือการเบิกทางเสมอ คือการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จากคนรุ่นอาจารย์ปรีดีสู่คนรุ่นอาจารย์ป๋วยสู่คนรุ่นอาจารย์เสกสรรค์สู่คนรุ่นอาจารย์ประจักษ์สู่คนรุ่นใหม่ เหมือนคบเพลิงโอลิมปิกที่กินเวลายาวนานเกินกว่าชั่วอายุคนคนเดียว ข้าพเจ้านึกภาพตามอย่างนั้น

กลับจากธรรมศาสตร์จึงเปิดอ่านหนังสือเล่มนี้

อัตชีวประวัติ: ทหารชั่วคราว คือช่วงชีวิตหนึ่งของป๋วย อึ๊งภากรณ์ คือช่วงที่เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ชีวิตของคนคนหนึ่งมีมากมายหลากหลายมิติเหลือเกิน ยังไม่นับว่ามันถูกมองมาจากสายตาของใคร ชีวิตของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ย่อมไม่ได้รับการยกเว้นจากความจริงข้อนี้

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า