“เรียนหนังสือรู้เรื่องไหม” ผมถาม
“ครูให้พักครับ บอกว่าให้ไปรักษาตัวก่อนไม่ต้องกังวล” นักเรียนมอหกตอบ
“อ้อ ดีนะ กินยาใหม่ๆ แล้วง่วงจะได้นอนพัก” ผมให้กำลังใจ “พอร่างกายปรับตัวได้บ้าง ความง่วงน้อยลงค่อยไปเรียน”
“ครูให้สองสัปดาห์ครับ บอกว่าถ้าไม่หายต้องพักการเรียน”
ผมไม่เห็นตัวเลขของทั้งระบบ แต่เชื่อได้ว่าจำนวนนักเรียนที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าทวีจำนวนมากขึ้นจริง เฉพาะที่มาให้ผมดูแลส่วนใหญ่จะเป็นเด็กมอหกกับนักศึกษาปี 1 หรือ 2 ที่ต่ำกว่ามอหกก็มีจำนวนมาก ที่เรียนปี 3-4 ก็มีมาก แต่มากที่สุดคือมอหก และปี 1-2
สมมติฐานคือเป็นช่วงปรับตัวครั้งสำคัญ เด็กมอหกเผชิญด่านสำคัญคือเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนปี 1 เผชิญด่านสำคัญยิ่งกว่าคือ “เป็นผู้ใหญ่เต็มตัวที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว”
ก่อนจะไปถึงเรื่องสาเหตุ ชวนคุยเรื่องความรู้ความเข้าใจโรคซึมเศร้าก่อน นอกเหนือจากพ่อแม่ที่ควรเข้าใจแล้ว คุณครู อาจารย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเป็นบุคคลที่ควรรู้เรื่องและเข้าใจ จะได้วางนโยบายรองรับไปจนถึงสนับสนุนและช่วยเหลือได้ถูกต้อง
ข้อแรก โรคซึมเศร้าเป็น ‘โรค’
ภาษาอังกฤษว่า disease มีสาเหตุ พยาธิสรีรวิทยา พยาธิสภาพทางจิต และการดำเนินโรคที่ชัดเจน มีวิธีรักษาและพยากรณ์โรคที่ชัดเจนอีกด้วย ความรู้นี้ส่งผล 2 ข้อ
ข้อแรกคือ เด็กๆ มิได้อ่อนแอหรือคิดไปเอง พวกเขาป่วยจริง
ข้อสองคือ การรักษาใช้เวลานานมากกว่า 2 สัปดาห์ ส่วนจะนานเท่าไรแล้วแต่บุคคล
แพทย์ที่มีประสบการณ์ช่วยให้เด็กๆ ดีขึ้นได้ในเวลา 2 สัปดาห์แต่มิใช่ทำได้ทุกคน คนที่ดีขึ้นก็ยังต้องรับการรักษาอีกหลายเดือน บางคนหลายปี และบางคนตลอดชีวิตที่เหลือ ดังนั้นการกำหนดเวลาว่าไม่หายต้องดร็อปเรียนจึงมิใช่นโยบายที่เหมาะสม คิดดูง่ายๆ ว่าเราไม่กำหนดนโยบายแบบนี้กับนักเรียนนักศึกษาที่เป็นเบาหวานแน่
โรคซึมเศร้าและโรคเบาหวานไม่ต่างกัน มีสาเหตุจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู และพฤติกรรมการใช้ชีวิต ต่างกันตรงไหน?
ข้อสอง โรคซึมเศร้าเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโครงสร้าง
ภาษาอังกฤษว่า structure กล่าวคือมีโครงสร้างการก่อโรคดำรงอยู่ในสังคมไทยจึงสามารถผลิตผู้ป่วยเด็กๆ ได้มากมายและรวดเร็วเพียงนี้
บ้าน เป็นที่เพาะโรค
โรงเรียน เป็นผู้จุดระเบิด
อนาคต เป็นผู้ปิดล้อมสังหาร
เป็นความจริงที่ว่าโรคซึมเศร้าถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่พันธุกรรมมิใช่ฟ้าลิขิต ส่วนใหญ่แล้วพันธุกรรมต้องมีตัวจุดชนวนจึงจะเริ่มทำงาน บ้านมิใช่เป็นแหล่งกำเนิดของพันธุกรรมเท่านั้น แต่เป็นที่เพาะเชื้อได้ด้วย บ้านควรเป็นที่สร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่แข็งแรงในภายภาคหน้า ซึ่งทำได้ด้วยพ่อแม่ที่มี ‘เวลา’ และ ‘เงิน’ เลี้ยงลูก แต่สังคมของเราวันนี้พ่อแม่ไม่มีทั้งสองอย่าง
เด็กที่ได้พันธุกรรมบางส่วนมาบวกกับภูมิคุ้มกันที่สร้างไว้ไม่แข็งแรงตั้งแต่ 3 ขวบปีแรกจึงสามารถถูกการศึกษาจุดระเบิดได้ไม่ยาก
โรงเรียนและการศึกษาบ้านเราไม่มีเมตตา นอกเหนือจากไม่มีเมตตายังสอนหนังสือผิดทิศผิดทาง แทนที่จะคิดสอนให้ใช้ชีวิตแต่กลับนับจำนวนชั่วโมงเข้าเรียนเป็นสำคัญ เด็กนักเรียนที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าหากรักษาไม่ดีพอนั้นถึงตายได้
แต่การขาดเรียนจำนวนชั่วโมงเรียนไม่ครบมิได้ทำให้ใครตาย เว้นแต่เราไปยกระดับความสำคัญของชั่วโมงเรียนว่าสำคัญกว่าความตาย นี่คือสิ่งที่สถาบันการศึกษาทั้งระดับมัธยมและอุดมศึกษาทำ
อนาคตที่มืดมน เรียนอะไรไปก็ไม่รู้ เรียนจบจะไปทำอะไรก็ไม่รู้ เงินเดือนกี่บาทก็ไม่รู้ จะมีบ้านหลังแรกรถคันแรกตอนไหนก็ไม่รู้ ความรู้สึกเหล่านี้เกาะกุมนักศึกษาทั้งระบบเวลานี้ด้วย เรามาถึงจุดไม่รู้ว่าเรียนอะไรไปทำไมกันจริงๆ แล้ว
ถ้าผู้บริหารมหาวิทยาลัยยังไม่ตระหนักความจริงข้อนี้ นั่นคือปรัชญาการศึกษาศตวรรษที่ 21 สถานการณ์ด้านการศึกษาของเราย่อมลำบากมาก
ที่ผู้บริหารควรทำคือ วางระบบช่วยเหลืออย่างจริงจัง มิใช่เล่นขายของ ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าจำนวนจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นในแต่ละจังหวัดนั้นไม่มีวันทำงานทัน ในสภาวะที่โรงงานผลิตผู้ป่วยเร่งสายพานการผลิตรวดเร็วปานนี้ เชื่อว่าบางจังหวัดยังไม่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และถึงแม้จะระดมจิตแพทย์ผู้ใหญ่ไปช่วยตรวจตรวจอย่างไรก็ไม่มีวันทำงานทัน เลิกพูดเสียทีว่าป่วยไปพบจิตแพทย์ เพราะเราไม่เคยมีจิตแพทย์พอเพียง
ดังนั้นโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องช่วยเหลือตัวเอง
โรงเรียนและมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องผลิตบุคลากร ‘ฟูลไทม์’ ทำงานด้านสุขภาพจิตนักเรียนนักศึกษาทั้งเชิงรับและเชิงรุก เชิงรับคือตั้งโต๊ะให้คำปรึกษาที่สามารถให้บริการผู้ป่วยได้ตลอด 24 ชั่วโมงอย่างพอเพียง เชิงรุกคือวิจัยค้นหาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการก่อโรคในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยโดยเร็ว
เรื่องนี้เขียนให้อ่านได้อีกมาก แต่ผมขออนุญาตพักไว้เท่านี้ก่อน