ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ ทำอะไร?  รวมผลงาน 8 ปี รัฐบาลประยุทธ์

“ทำแล้ว มันเกิดขึ้นมาแล้ว เห็นผลแล้ว และก็ทำอยู่ ที่กำลังทำอยู่แล้วยังไม่เสร็จเหมือนถนน แล้วสุดท้ายคือ ทำต่อ ต่อเติมของที่มีอยู่แล้ว”

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวโฆษณาสรรพคุณตัวเอง ในงานเปิดตัวแถลงนโยบายชุดแรกของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 สมชื่อแคมเปญ ‘ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ’

แม้สโลแกนหาเสียงเพื่อส่ง พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกฯ อีกครั้งจะครบถ้วนถูกต้องตามหลักแกรมมาร์ ที่มีทั้ง past, present และ future ทว่าเสียงปวงชนชาวไทยกลับยังคงกังขากับคำอวดอ้างดังกล่าวว่า ช่างกล้าเสียเหลือเกิน

WAY ไล่เลียงสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยทำมาแล้วนับตั้งแต่ยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 จนกระทั่งสิ้นสุดอำนาจหลังประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ตั้งแต่เรื่องการปฏิรูปประเทศที่ผลาญภาษีนับล้าน การบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ที่ล่าช้าและไร้ประสิทธิภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจที่พังไม่เป็นท่า ช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำที่นับวันยิ่งถ่างขยาย ความเน่าเฟะขององคาพยพรัฐและระบบโครงสร้างอำนาจนิยมที่ซุกซ่อนความรุนแรง ตลอดจนการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทยจวบจนถึงวินาทีสุดท้ายที่อยู่ในอำนาจ

ปฏิรูปประเทศ เครือข่ายคนดีผลาญภาษีกว่า 1,700 ล้าน

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยความขัดแย้งทางการเมืองช่วงกลางทศวรรษ 2550 เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร หลังขึ้นสู่อำนาจไม่นาน คสช. สัญญาว่าจะเดินหน้า ‘ปฏิรูป’ ประเทศ ไม่ต่างจากข้อเรียกร้อง ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ ของกลุ่ม กปปส. ก่อนหน้านั้น ทว่าผ่านมาแล้ว 8 ปี การปฏิรูปประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เพียงไม่คืบหน้า แต่ยังผลาญภาษีไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1,700 ล้านบาท

ย้อนไปในปี 2557 หัวหน้า คสช. แต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เพื่อทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำและเสนอแนวทางในการปฏิรูปด้านต่างๆ ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครม. คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

สปช. มีรายงานข้อเสนอ 62 เล่ม แยกย่อยเป็นข้อเสนอ 505 ข้อ ซึ่งล้วนมีลักษณะเป็นยาครอบจักรวาล เป็นนามธรรม ไม่มีรายละเอียด ไม่มีอะไรใหม่ เน้นรวมศูนย์อำนาจ แก้ปัญหาด้วยการตั้งคณะทำงานชุดต่างๆ ด้วยความเชื่อมั่นในคนดีมีศีลธรรม ทั้งๆ ที่มีค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินงาน 716,474,700 บาท ตลอดระยะการทำงานกว่า 11 เดือน

จากนั้น รัฐบาล คสช. ตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งมีลักษณะไม่ต่างกับ สปช. ในเดือนตุลาคม 2558 ตลอดระยะเวลาการทำงานร่วม 22 เดือน (สิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคม 2560) สปท. ผลิตรายงาน 131 ฉบับ พร้อมข้อเสนอ 1,342 ข้อ และจัดทำร่าง พ.ร.บ. กว่า 62 ฉบับ ด้วยงบดำเนินงาน 1,072,845,000 บาท แต่ข้อเสนอเหล่านั้นก็ล้วนแต่เป็นนามธรรม มิหนำซ้ำ บางข้อเสนอไม่มีงานวิชาการรองรับ ไม่กล่าวถึงสาเหตุของปัญหา ไม่เสนอวิธีแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน และมุ่งเน้นแต่จะหาคนดีมาแก้ไขปัญหา

หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ก็มี ‘หมวดปฏิรูป’ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญฉบับใดของไทย เพื่อสานต่อภารกิจของ สปช. และ สปท. ก่อให้เกิดคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งจาก ครม. ของ คสช. เอง และบุคลากรในคณะกรรมการปฏิรูปนี้ก็เป็นคนที่เคยทำงานให้ คสช. ในฐานะ สปช. สปท. หรือ สนช. มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูป 2 ชุดด้วยกัน คือ ชุดแรก ปฏิบัติงานตั้งแต่ 1 กันยายน 2560 ถึง 1 เมษายน 2563 และชุดสอง ปฏิบัติงานตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2563 ถึง 14 สิงหาคม 2565 ข้อมูลจากสภาพัฒน์ฯ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ระบุว่า คณะกรรมการปฏิรูปชุดแรกมีการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมไม่ต่ำกว่า 30,826,500 บาท และคณะกรรมการปฏิรูปชุดสองที่เปลี่ยนมาจ่ายค่าตอบแทนรายเดือน ได้รับค่าตอบแทนรายเดือนรวมทั้งสิน 33,885,500 บาท นั่นหมายความว่า คณะกรรมการปฏิรูปทั้งสองชุดใช้เงินภาษีไปทั้งหมด 64,711,500 บาท

การปฏิรูปประเทศที่ใช้เงินภาษีไปจำนวนมาก แต่ผลงานการปฏิรูปกลับไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงหรือเป็นที่ประจักษ์ จึงเปรียบเสมือนอุตสาหกรรมผลาญภาษีที่สร้างงานและรายได้ให้เครือข่ายคนดีและพันธมิตรของ คสช.

คุกคาม จับกุม คุมขัง ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ

หลังยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557 คสช. ออกคำสั่งให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลง (ฉีกรัฐธรรมนูญ) และประกาศให้คำสั่งของหัวหน้า คสช. มีสถานะเทียบเท่ากฎหมายการปกครองประเทศ

คสช. จับกุมนักการเมืองและแกนนำคนสำคัญของขบวนการเสื้อสีต่างๆ ตั้งแต่คืนรัฐประหาร ทั้งยังเรียกผู้เห็นต่าง ตั้งแต่นักวิชาการ นักกิจกรรม นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่อาจเป็น ‘ภัยความมั่นคง’ ให้มารายงานตัวเพื่อ ‘ปรับทัศนคติ’ ผู้ที่ไม่มารายงานตัวจะถูกจับกุมและดำเนินคดีในศาลทหาร มิหนำซ้ำ ต่อให้มารายงานตัวก็อาจโดนดำเนินคดีอยู่ดี

การเรียกปรับทัศนคติขนานใหญ่ของ คสช. ส่งผลให้ประชาชนเกิดความหวาดระแวงไปทั่ว หลายคนต้องลี้ภัยไปยังต่างประเทศเพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยในชีวิต แต่กระนั้นก็ยังเกิดการอุ้มหายอย่างไร้ร่องรอยและจับมือใครดมไม่ได้

แม้เมื่อมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2559 คสช. ก็จับกุมและดำเนินคดีกับผู้ทำกิจกรรมรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือ ‘Vote No’ ในข้อหามั่วสุมชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. และก่อความวุ่นวายไม่ให้การออกเสียงเป็นไปอย่างเรียบร้อย จนมีผู้ตกเป็นจำเลยจำนวนมาก อาทิ รังสิมันต์ โรม, อนันต์ โลเกตุ, นันทพงศ์ ปานมาศ และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

8 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงมีคนถูกเรียกปรับทัศนคติ ถูกตั้งข้อหา และดำเนินคดีในศาลทหารจำนวนมาก แต่หลังการเลือกตั้งปี 2562 และท่ามกลางกระแสการเคลื่อนไหวประท้วงในปี 2563-2564 เราจะเห็นการกลับมาของมาตรา 112 จนมีผู้ถูกดำเนินคดีหลายร้อยคน รวมถึงเด็กและเยาวชนที่อายุไม่เกิน 18 ปี

ทวงคืนผืนป่า ยึดที่ทำกินชาวบ้าน สู่การขายที่ดินให้ต่างชาติ

การลิดรอนสิทธิไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ที่ตั้งคำถามและประท้วงทางการเมืองเท่านั้น แต่ชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิในที่ดิน สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ หรือปัญหาเรื่องปากท้อง ก็โดนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มองเป็นศัตรู โดยเฉพาะหลังการประกาศ ‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’ ที่ให้สิทธิเจ้าหน้าที่รัฐในการละเมิดสิทธิชุมชนอย่างถึงที่สุด ทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) 

กล่าวเฉพาะปี 2557-2561 มีชาวบ้านโดนฟ้องคดีกว่า 20,000 คดี แม้รัฐบาลจะอ้างว่า ละเว้นคนไม่มีที่ดินทำกินหรือคนยากไร้ แต่คนกลุ่มนี้กลับได้รับผลกระทบโดยตรง ในขณะที่นายทุนขนาดใหญ่ เจ้าของรีสอร์ตเอกชน เครือข่ายในระบบอุปถัมภ์ของทหาร หรือผู้มีอำนาจกลับไม่ถูกดำเนินคดี

สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการจากกลุ่ม EEC Watch เห็นว่า นโยบายทวงคืนผืนป่าคือการฟอกเขียว (green washing) ของรัฐบาลประยุทธ์ ที่โดนกดดันจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ให้ต้องใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงต้องทวงคืนผืนป่าและที่ดินจากชาวบ้านจำนวน 27 ล้านไร่ 

แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลับไปจับมือกับกลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งขณะนั้นไม่มีใครคบค้านอกจากรัฐบาลจีนที่มีนโยบาย One Belt One Road จนมีการเอาพื้นที่ชายแดน 10 จังหวัด มาสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) พร้อมกับออกคำสั่ง คสช. เพื่อจะไล่ยึดที่ชาวบ้าน

นอกจากนี้ เมื่อมีการประกาศเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออกอย่างชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา รัฐบาลประยุทธ์ก็เพิ่มสิทธิพิเศษต่างๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ เช่น สิทธิประโยชน์จาก BOI (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ที่ยกเว้นภาษีสูงสุด 15 ปี หากเป็นเอกชนที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง หรือคำสั่ง คสช. ที่ 9/2559 ถ้าเป็นโครงการร่วมระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) ไม่ต้องรอประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือผลกระทบสุขภาพ (EHIA) ซึ่งประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) ขณะนั้นคือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ยิ่งกว่านั้น ที่ดินทหารซึ่งเป็นที่ราชพัสดุหรือที่ดิน สปก. ก็สามารถแปลงเป็นพื้นที่ EEC ได้

เขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้เอื้อให้ทุนต่างชาติอย่างมาก กล่าวคือให้เช่าที่ดินสูงสุด 99 ปี (50 ปี และต่ออายุได้อีก 49 ปี) สามารถเอาคนต่างชาติเข้ามาทำงานได้ในทุกระดับ จำกัดภาษีเงินได้ให้ไม่เกิน 17 เปอร์เซ็นต์ แต่นโยบายเหล่านี้กลับไม่เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านท้องถิ่นแต่อย่างใด 

ซ้ำร้ายกว่านั้น เดือนตุลาคม 2565 รัฐบาลพยายามผลักดันร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. … โดยให้สิทธิชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสามารถซื้อและถือครองที่ดินได้ไม่เกิน 1 ไร่ ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท อย่างน้อย 3 ปี ก่อนจะถูกกระแสสังคมตีกลับจนต้องยอมยกธงขาวในที่สุด

ทั้งนี้ การเปิดรับชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูงจะยิ่งเพิ่ม demand จนส่งผลให้ราคาที่ดินสูงขึ้น และยิ่งขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินให้ห่างกว่าเดิม เพราะที่ดินจำนวน 128.2 ล้านไร่ จากที่ดินในประเทศไทยทั้งหมด 320.7 ล้านไร่ เป็นเอกสารสิทธิ์การครอบครองของเอกชน แต่มีประชากรเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่ถือครองที่ดินเหล่านี้ ขณะที่คนอีก 50 ล้านคน ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง (ข้อมูลจากกลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน – Land Watch Thai) ส่วนที่ดินที่เหลือกว่า 198.36 ล้านไร่ ที่เป็นที่ดินของหน่วยงานของรัฐ ก็เกิดปัญหาทับซ้อนกับที่ทำกินของประชาชนเป็นจำนวนมาก

คดีเหมืองทองอัครา ค่าโง่ของมาตรา 44

รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่เขียนขึ้นโดย คสช. มอบอำนาจพิเศษแก่หัวหน้า คสช. ผ่านมาตรา 44 ให้คำสั่งอะไรก็ตามที่ออกจากหัวหน้า คสช. มีผลในทางบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

มาตรา 44 กลายเป็นเครื่องมือครอบจักรวาลที่ คสช. ใช้สั่งการและแก้ไขปัญหาการบริหารประเทศทุกประเด็นตามใจชอบ โดยอ้างอำนาจตัวเองในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ ข้อมูลจาก iLaw ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งไปแล้วอย่างน้อย 200 ครั้ง ตัวอย่างที่เด่นๆ เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 1/2557 ที่ใช้แช่แข็งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารชุดใหม่ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งออกมาใช้แทนกฎอัยการศึก เพื่อให้ทหารมีอำนาจจับกุมคุมขังประชาชนในค่ายทหาร เรียกคนไปรายงานตัว และสั่งห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป 

ทว่าการใช้ ม.44 พร่ำเพรื่อดูจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 (ซึ่งเป็นปีที่ใช้อำนาจพิเศษชนิดนี้มากที่สุดถึง 79 ครั้ง) สั่งระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำอัคราหรือเหมืองทองคำชาตรี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณรอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ จนเป็นเหตุให้บริษัทแม่ในออสเตรเลียอย่างบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ไม่พอใจ จนนำไปสู่การฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายกว่า 750 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท

คำสั่ง ม.44 ดังกล่าวมีอำนาจเด็ดขาดในการสั่งปิดเหมืองทอง ทั้งๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานหรืองานวิจัยรองรับว่า เหมืองทองอัคราสร้างผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ยิ่งกว่านั้น มีหน่วยงานรัฐอย่างน้อย 2 กระทรวงคือ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศ คัดค้านการใช้อำนาจพิเศษดังกล่าว แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ฟังเสียงคัดค้าน จึงทำให้ประเทศไทยเสี่ยงที่จะต้องจ่ายชดเชยค่าเสียจำนวนมหาศาลแก่คิงส์เกต

พรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่นำโดย จิราพร สินธุไพร เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ รับผิดชอบค่าเสียหายดังกล่าวด้วยตนเองในการอภิปรายไม่ไว้วางใจหลายครั้ง อย่างไรก็ดี หลังมีแนวโน้มว่าจะแพ้คดี รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเริ่มหันไปเจรจากับบริษัทคิงส์เกต และพยายามยื่นข้อเสนอเพื่อเอาใจหลายข้อ เช่น เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของคิงส์เกต ได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลง เนื้อที่ 397,226 ไร่ จากเดิมที่ได้รับแค่ 3,000 กว่าไร่

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอจากรัฐบาลไทยเหล่านั้นยังไม่ได้ทำให้บริษัท คิงส์เกต พอใจจนถึงขั้นยกเลิกการเรียกร้องค่าเสียหายตามคำสั่งฟ้องทั้งหมด แต่กลับสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการบอกปัดความรับผิดชอบ และใช้ทรัพยากรและเงินภาษีของรัฐเพื่อกลบเกลื่อนการออกคำสั่งที่ผิดพลาดในอดีตของ พล.อ.ประยุทธ์

ทหาร-ตำรวจ องค์กรอำนาจนิยมซุกซ่อนความรุนแรงและการทุจริต

แม้แก๊ง 3 ป. (ประยุทธ์ ประวิตร และบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) จะมีพื้นเพจากกองทัพบก แต่ตลอด 8 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ กองทหารทุกเหล่าทัพ รวมถึงตำรวจ กลับตกเป็นข่าวฉาวไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งข่าวทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจบาตรใหญ่ ระบบอุปถัมภ์เส้นสาย ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กระทำต่อเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย จนมีไม่น้อยที่สติแตกลุกขึ้นมาก่อคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญประชาชน สร้างภาพลักษณ์เชิงลบแก่หน่วยงานราชการเหล่านี้มากขึ้นทุกที

ฟากกองทัพบก เกิดคดีกราดยิงด้วยปืนหลวง ตัวอย่างเช่นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 จ่าสิบเอกรายหนึ่งใช้อาวุธปืนยิงผู้บังคับบัญชาและแม่ยายของผู้บังคับบัญชา จากปมขัดแย้งเรื่องบ้านพักทหาร ก่อนเข้าไปเอาอาวุธที่คลังอาวุธ และยิงเจ้าหน้าที่เวรเสียชีวิต จากนั้นผู้ก่อเหตุได้ขโมยรถฮัมวีขับออกมาจากหน่วย และกราดยิงประชาชนหลายราย สุดท้ายจึงหลบหนีเข้าไปในห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 30 ราย (รวมผู้ก่อเหตุ) และบาดเจ็บอีก 58 ราย 

ฟากกองทัพเรือ เกิดกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปางในวันที่ 18 ธันวาคม 2565 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม 24 นาย สูญหาย 5 นาย จากยอดกำลังพล 105 นาย สังคมพากันตั้งคำถามถึงสาเหตุที่เรือล่ม ตั้งแต่การขาดการซ่อมบำรุง อุปกรณ์ที่ไม่เพียงพอ ไปจนถึงงบประมาณที่ใช้ไปกับเรืออายุกว่า 30 ปีลำนี้ 

มีการเปิดเผยเอกสารการซ่อมเรือหลวงสุโขทัย ระหว่างพฤษภาคม 2561 ถึงมกราคม 2564 ซึ่งใช้งบการซ่อมบำรุงประมาณ 1,300 ล้านบาทต่อปี ชี้ว่าแม้จะทำการซ่อมเสร็จแล้ว แต่ตัวเรือยังมีปัญหาอีกหลายจุด เช่น สมอเรือ มอเตอร์เรือขัดข้อง มาตรวัดแรงดันต่างๆ ใช้งานไม่ได้ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าก็ใช้งานไม่ได้ 1 ตัว จากทั้งหมด 4 ตัว โดยเฉพาะส่วนตัวเรือที่ต้องจมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลานาน ก็ยังพบว่าไม่ได้รับการซ่อมแซม จนอาจกลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการอับปาง

ฟากตำรวจก็ไม่น้อยหน้าทหาร มีแต่ตั้งแต่ตำรวจชั้นผู้น้อยก่อคดีสังหารหมู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู ตำรวจขโมยปืนหลวงไปจำนำกว่า 100 กระบอก จนถึงกรณี ‘สารวัตรเครียด’ หรือตำรวจสันติบาลที่ก่อเหตุยิงปืนหลายนัดในย่านสายไหมจนถูกวิสามัญ ยังไม่นับรวมคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปพัวพันกับยาเสพติด พนันออนไลน์ และธุรกิจสีเทาอีกมาก ตลอดจน ‘ตั๋ว’ ประเภทต่างๆ ที่กัดกินวงการตำรวจ โดยเฉพาะ ‘ตั๋วช้าง’ ที่โยงไปถึงเบื้องบน

เหตุการณ์เหล่านี้มีเบื้องหลังซับซ้อนและยึดโยงไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบราชการที่เต็มไปด้วยอำนาจนิยม ความล้าหลัง กระทั่งทุจริตกันยกใหญ่ จนหล่อหลอมให้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยเกิดความเครียดจนถึงขั้นลงมือก่อเหตุสลด แต่กระนั้นผู้มีอำนาจในรัฐบาลประยุทธ์กลับทำตัวลอยนวลพ้นผิด และโบ้ยปัญหาไปที่ตัวผู้ก่อเหตุเท่านั้น โดยกลบต้นตอและบริบทเชิงโครงสร้างที่ฉ้อฉลไปเสียสิ้น

การบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ผิดพลาดล้มเหลว 

การบริหารในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ภายใต้การนำของ อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ถือว่าสอบตก มาตรการป้องกันโควิด-19 ของ สธ. นอกจากจะไม่ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพต่ำแล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการจัดหาวัคซีนที่ถูกวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน ทั้งในรัฐสภา บนท้องถนน และโลกออนไลน์

ในช่วงแรกๆ ของการแพร่ระบาด รัฐพยาบาลจัดหาวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือรองรับ โดยเฉพาะวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) จากประเทศจีน ที่แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์เองก็ยังส่งเสียงคัดค้านว่าอย่าสั่งซื้อเพิ่ม ยิ่งกว่านั้นเมื่อโควิดกลายพันธุ์เป็นเดลตา วัคซีนที่ด้อยประสิทธิภาพก็ยิ่งไร้ศักยภาพในการรับมือไปใหญ่ แต่กระนั้นนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. ก็ยังดึงดันที่จะใช้วัคซีนซิโนแวค

จุดเริ่มต้นของปัญหานี้มาจากการที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจผิดพลาด ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการ COVAX หรือโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลก และ ‘แทงม้าตัวเดียว’ ด้วยการเลือกทำสัญญากับแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) บริษัทผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน โดยมี บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 แต่วัคซีนจากพ่อชนิดนี้ก็ผลิตไม่ทันการณ์และส่งมอบล่าช้า

นอกจากนี้ นโยบายรับมือโควิดด้านอื่นๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีปัญหา และส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกภาคส่วน ตั้งแต่นโยบายล็อกดาวน์ที่ไม่คำนึงถึงคนทำงานกลางคืน การสั่งปิดโรงเรียนและสถานที่ราชการโดยไม่มีมาตรการอื่นรองรับ การเยียวยาฟื้นฟูที่ไม่ครอบคลุมผู้ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง

กาลเวลาล่วงไป 3 ปี สถิติยืนยัน ณ วันที่ 13 มกราคม 2566 ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศไทยทั้งหมด 4,463,557 คน รักษาหายแล้ว 4,399,358 คน กำลังรักษา 34,056 คน และโรคหวัดธรรมดาที่เกิดจาก ‘ไวรัสกระจอก’ ชนิดนี้ คร่าชีวิตคนไทยไปแล้ว 30,143 คน

แก้ปัญหาด้วยการกู้ หนี้สาธารณะพุ่ง 10.69 ล้านล้าน

“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีที่กู้หนี้สินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ กู้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 ล้านล้านบาท และสิ้นปีนี้จะไปแตะที่ 9 ล้านล้านบาท พลเอกประยุทธ์รู้จักแต่ก่อหนี้ แต่ไม่มีปัญญาหาเงินมาชำระหนี้” 

ในปี 2564 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็น ความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจตลอดหลายปีของรัฐบาลประยุทธ์ ยิ่งเมื่อถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์โควิด ภาวะปากท้องของคนไทยจึงเข้าขั้นวิกฤตเป็นประวัติการณ์ คนจนในไทยเพิ่มขึ้น 1.5 ล้าน รวมเป็น 7 ล้านคน และนอกจากมีผู้เสียชีวิตรายวันจากโรคระบาดแล้ว ยังมีผู้สูญเสียชีวิตจากพิษเศรษฐกิจอีกจำนวนไม่น้อย

จากปีแรกที่ คสช. ยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศในปี 2557 ไทยมีหนี้สาธารณะ 3.9 ล้านล้านบาท สามปีต่อมาในเดือนกันยายน 2560 รัฐบาลก่อหนี้เอาไว้ 4.9 ล้านล้านบาท ปี 2563 มีหนี้ 6.7 ล้านล้านบาท ปี 2564 มีหนี้ 7.7 ล้านล้านบาท ก่อนจะทำลายสถิติเพิ่มเป็น 10.69 ล้านล้านบาทในปี 2565

สาเหตุประการสำคัญมาจากการกู้เงินเพื่อแก้ไข เยียวยา และฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด หลัง ครม. มีมติเห็นชอบให้ขยายเพดานการก่อหนี้สาธารณะได้ไม่เกิน70 เปอร์เซ็นต์ของ GDP และออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.กู้เงินฯ 500,000 ล้านบาท ตามลำดับ รวมเป็น 1.5 ล้านล้านบาท 

โดยแผนงานและโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฯ มี 3 ประเภท ได้แก่ กลุ่มโครงการสาธารณสุข โครงการเยียวยาประชาชน และโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตั้งแต่การจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด จัดหาอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ในการรักษา ป้องกันและตรวจหาเชื้อโควิด ค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ เยียวยาประชาชนทั่วไป (โครงการคนละครึ่ง) ลดค่าน้ำค่าไฟ งบอุดหนุนนายจ้างให้จ้างงานต่อ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เงินช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ตลอดจนโครงการเราเที่ยวด้วยกัน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญๆ อีกหลายโครงการที่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวและเติบโต เช่น โครงการสร้างและต่อขยายรถไฟฟ้าสารพัดสีกว่า10 สาย เดินหน้าสร้างถนนและทางพิเศษระหว่างเมืองสายต่างๆ หรือรถไฟความเร็วสูง 

อย่างไรก็ตาม โครงการด้านคมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เหล่านี้อาจเห็นผลได้ช้า และหลายโครงการก็ถูกอภิปรายไว้ว่ามีการทุจริตยกใหญ่ ไม่เพียงเท่านั้น ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา สวัสดิการของประชาชนไทยเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างมาก จากเดิมที่เคยมีลักษณะถ้วนหน้า (universal) ก็เปลี่ยนเป็นมุ่งเน้นช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม (targeting) มากขึ้น 

แต่การจัดสวัสดิการรูปแบบใหม่นี้กลับไม่มีประสิทธิภาพ เพราะคนที่ควรเป็นกลุ่มเป้าหมาย หรือคนที่จนจริงๆ กลับเข้าไม่ถึงสวัสดิการนั้น เช่น บัตรสวัสดิการคนจน 

ที่มา

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า