ไปให้ไกลกว่า Pride Month หรือทุกเพศคือมนุษย์เท่ากัน แต่ต้องเป็น Liberation of Gay

นับตั้งแต่เหตุจลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) ในปี ค.ศ. 1969 ทั่วโลกก็ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น แต่ถึงแม้การต่อสู้ในยุค 60s ครั้งนั้นจะนำมาสู่การสถาปนา Pride Month ในเดือนมิถุนายนของทุกปีที่ก็ไม่ได้หมายความว่าความหลากหลายทางเพศจะได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังไม่มีประชาธิปไตยเต็มใบ

ในฐานะนักวิชาการสายเควียร์ (Queer) ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เชื่อว่าอัตลักษณ์ทางเพศเป็นสิ่งที่อธิบายได้อย่างตายตัว เพราะอัตลักษณ์ทางเพศนั้นลื่นไหลเกินกว่าจะถูกจำกัดความด้วยคำสั้นๆ ไม่กี่คำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะกวาดความหลากหลายทุกอย่างให้เหลือแค่ความเป็นมนุษย์ได้ เพราะการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นมีความหมาย และ Pride Month เองก็เกิดจากการถูกลดทอนความ ‘ซ้าย’ ในขบวนการต่อสู้ ปัจจุบันเราจึงต้องตั้งคำถามกับวิธีการขับเคลื่อนสังคมเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศไปพร้อมกับความเท่าเทียมทางสังคม โดยมีสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานสำคัญ

หลากหลายและลื่นไหล เรารักกันได้เพราะเป็นมนุษย์เหมือนกันหมด?

ติณณภพจ์อธิบายว่า การระบุอัตลักษณ์ของคนเกิดจากการทำความเข้าใจการแสดงออกและวัตถุประสงค์ของการแสดงออกนั้น อัตลักษณ์จึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งหากพูดถึงอัตลักษณ์ว่าด้วยเรื่องเพศ นักวิชาการสายสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาก็มักจะอธิบายว่าคนเราต้องอธิบายได้ว่าตนเองเป็นผู้มีรสนิยมแบบใดหรือมีอวัยวะเพศแบบใดควบคู่กันไป แต่ในความเป็นจริงแล้วหากพิจารณาว่าอัตลักษณ์ไม่ใช่สภาพที่ตายตัว แต่เป็นเรื่องที่แปรเปลี่ยนได้ ลื่นไหล เป็นไปตามชุดการกระทำหนึ่งๆ การนิยามอัตลักษณ์ทางเพศจึงเป็นเรื่องที่อธิบายได้ยาก 

“ผมพยายามจะอธิบายว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วแทนที่จะมาบอกว่าฉันเป็นผู้ชาย ฉันเป็นผู้หญิง ฉันเป็นเกย์ ฉันเป็นกะเทย ฉันเป็นทรานส์ มันมีคำกล่าวคำอื่นไหมที่จะมารองรับการอธิบายอัตลักษณ์ของเรา แต่ในขณะเดียวกันก็จะไม่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดและคิดไปว่าเรามีอัตลักษณ์ที่ตายตัว ผมจึงนึกถึงคำว่า เควียร์ (Queer) เพราะคำว่าเควียร์ในตัวของมันเองสื่อให้เห็นถึงความหมายที่มีความลื่นไหล นิยามได้ยาก คลุมเครือ และซับซ้อน”

ติณณภพจ์เชื่อว่าประชากรไทยจำนวนไม่น้อยยังคงไม่รู้จักคำว่าเควียร์ หรืออาจจะพอรู้จักแต่ยังไม่ค่อยเข้าใจนัก ซึ่งก็ถือว่าเป็นความหมายแฝงที่ดีของการใช้คำนี้ เพราะไม่ทำให้ผู้ฟังและผู้พูดเข้าใจว่าเควียร์เป็นอัตลักษณ์ที่ตายตัว แต่ในขณะเดียวกันสังคมไทยก็ยังมีมุมมองหรือความเข้าใจเกี่ยวกับการแสดงออกทางเพศภาวะ อัตลักษณ์ทางเพศ หรือรสนิยมทางเพศที่ค่อนข้างตายตัว 

“ผมยังคงเห็นสังคมไทยพยายามทำความเข้าใจเรื่องเพศในลักษณะที่เป็นกล่องหรือประเภทอย่างตายตัว ถ้าคนนี้เป็นเกย์คุณก็ต้องเป็นเกย์ไปตลอดชาติ ถ้าคุณมีรสนิยมทางเพศแบบนี้คุณก็ต้องมีรสนิยมแบบนี้ไปตลอดกาล ถ้าคุณแสดงออกแบบนี้แต่งตัวแบบนี้คุณก็ต้องเป็นแบบนี้ไปตลอดกาล

ผมรู้สึกว่าความเข้าใจเรื่องเพศของคนเรายังไม่ได้ลื่นไหลอย่างที่ปากพูด คนรุ่นใหม่มักจะพูดกันว่าพวกเขาเข้าใจความหมายของความลื่นไหลทางเพศมาดีพอแล้ว และเข้าใจว่าความลื่นไหลทางเพศคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด แต่ปรากฏว่าเมื่ออธิบายเรื่องอัตลักษณ์ทุกคนก็กลับมาอยู่ในกล่องที่ตายตัวอยู่ดี 

“มากไปกว่านั้น บางคนที่อธิบายความลื่นไหลทางเพศมักจะให้เหตุผลมาสนับสนุนอย่างที่ผมมองว่ามันค่อนข้างน่าเสียดาย กล่าวคือผมมักจะเจอข้อความแบบนี้ในโลกออนไลน์ที่พูดว่า ‘ไม่ว่าเขาจะเป็นอะไร แต่สุดท้ายเราก็คือมนุษย์เหมือนกันทั้งหมด’ ”

ปัญหาของประโยคดังกล่าว คือการลดทอนอัตลักษณ์และความเข้มข้นในมิติเพศให้เหลือเพียงแค่ความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ด้วยแนวคิดแบบสมภาคนิยม (Egalitarianism) ซึ่งเป็นการอธิบายว่าไม่สำคัญว่าเราเท่าเทียมกันในมิติใด แต่สำคัญที่ว่าเราทุกคนคือมนุษย์เท่าเทียมกัน เฟมินิสต์ เควียร์ หรือมาร์กซิสต์จึงไม่จำเป็นเพราะแค่เราทุกคนคือมนุษย์ก็เพียงพอแล้ว ทั้งที่เฟมินิสต์ เควียร์ หรือมาร์กซิสต์ต่างก็มีประวัติศาสตร์การต่อสู้มาอย่างยาวนาน

“สำหรับผมพูดอย่างนี้มันไม่พอ human rights หรือสิทธิมนุษยชนมันคือขั้นต่ำหรือขั้นพื้นฐานของการอธิบายความสำคัญของมนุษย์ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของการอธิบายมนุษย์ ถ้าเราพูดว่าไม่ว่าเราจะเป็นเพศอะไรมันไม่สำคัญ ไม่ว่าเราจะรักกันได้หรือไม่มันไม่สำคัญ สุดท้ายแล้วเราทุกคนคือมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน จบ สำหรับผมเท่ากับเป็นการลดทอนความสำคัญและความหนักแน่นของความเป็นเควียร์ ความเป็นเลสเบี้ยน ความเป็นเกย์ ความเป็นผู้ชาย ความเป็นผู้หญิง ความเป็นนั่นเป็นนี่ อีกนัยหนึ่งคุณอาจรู้สึกย้อนแย้งการไม่เชื่อเรื่องอัตลักษณ์ตายตัว คำตอบคือถ้าคุณกวาดทุกอย่างให้เป็นแค่เรื่องของมนุษย์เหมือนๆ กันหมด มันก็หลุดไม่พ้นเรื่องสารัตถะ (ความตายตัว) อยู่ดี แต่สารัตถะในที่นี้คือการติดกรอบที่ตายตัวในฐานะมนุษย์ แล้วทำลายความหลากหลายทางเพศทิ้งไป

“การที่จะมาบอกว่าไม่เห็นต้องสนใจเลยว่าใครมีอัตลักษณ์แบบใด เราทุกคนเป็นมนุษย์เท่ากันหมด พูดแบบนี้เท่ากับคุณเจตนาที่จะมองข้ามประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนพวกนั้นทั้งหมด มันคือการลดทอนประวัติศาสตร์การต่อสู้และประวัติศาสตร์ความหมายของคำศัพท์เหล่านั้นไป เพราะฉะนั้น

อย่าจบด้วยการอธิบายว่า สุดท้ายแล้วเราทุกคนคือมนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่เห็นต้องสนใจเลยว่าเราเป็นเพศอะไร เพศไม่มีจริง เราสนับสนุนความหลากหลายหรือความลื่นไหลทางเพศได้ แต่ไม่ใช่การอ้างว่าเราทุกคนเป็นมนุษย์ แล้วจบ มันไปไกลกว่านี้ได้”

เมื่อพูดถึงเพศและความรัก วาทกรรมที่ว่า ‘ความรักเป็นเรื่องสากล’ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ติณณภพจ์เห็นว่าเป็นปัญหาอยู่เช่นกัน เพราะหากเราคิดว่าความรักไม่มีข้อจำกัด เป็นสากล และไร้พรมแดน คำถามคือความรักแบบโลกตะวันตกสมัยใหม่เป็นความรักแบบเดียวกันกับในยุคกรีกหรือไม่ ความสัมพันธ์แบบชายรักชายในปัจจุบันเป็นแนวคิดเดียวกันกับความสัมพันธ์ทางเพศของผู้ชายในยุคโรมันจริงหรือ แม้กระทั่งการมีความรักในปัจจุบันคนไทยมีความรักรูปแบบเดียวกันกับคนในสังคมแอฟริกาหรือไม่ ความรักจึงมีบริบททางสังคมและวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ 

“การบอกว่าความรักเป็นเรื่องของธรรมชาติ ความรักเป็นเรื่องสากลผมไม่ค่อยซื้อ เพราะสุดท้ายแล้วความรักมันเป็นผลประกอบสร้างมาจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และบริบททางวัฒนธรรมด้วย ไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางอารมณ์ที่มนุษย์ทุกคนพึงมีตามธรรมชาติ วัฒนธรรมมีผลต่อความรักของผู้คนไม่มากก็น้อย เราเลือกที่จะรักใครหรือไม่ เรามีความปรารถนาทางเพศก่อตัวมาได้อย่างไร เช่น ในบางวัฒนธรรมมีแนวโน้มว่าคนจะรักและเอ็นดูหรือมีความปรารถนาทางเพศกับคนที่มีหุ่นอวบอั๋น ในบางวัฒนธรรมกลับบอกว่าไม่ หุ่นอวบอั๋นหรือคนอ้วนฉุไม่ควรได้รับความรัก หรือแม้กระทั่งความรักทางการเมือง การรักเจ้า ทำไมบางสังคมถึงรักเจ้า แต่บางสังคมความรักเจ้าไม่ปรากฏให้เห็นแบบชัดเจน” 

ภายใต้ความเป็นมนุษย์ เราแต่ละคนต่างมีความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งความรักเป็นเรื่องของการต่อรองระหว่างบุคคลกับสังคม ไม่ใช่เรื่องของข้อกำหนดของสังคมหรือเสรีภาพของปัจเจกเท่านั้น และไม่ใช่การต้องเลือกระหว่างปัจเจกหรือสังคมอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นกัน 

“ความรักเป็นเรื่องของการต่อรองกันระหว่างปัจเจกบุคคลกับสภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีผลต่อปัจเจกนั้น ในการตัดสินใจเลือกที่จะรัก ณ ชั่วขณะใดขณะหนึ่งต่างหากล่ะ” 

Gay Pride ภายใต้ประวัติศาสตร์การต่อสู้และความขัดแย้งกันเอง 

เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ ติณณภพจ์ยกตัวอย่างขบวนการ Pink Dot ในสิงคโปร์มาอธิบายว่า ทำไม Pink Dot จึงประสบความสำเร็จมากกว่า Gay Pride ในสิงคโปร์ อาจเป็นเพราะ Gay Pride เป็นแพลตฟอร์มแบบตะวันตกเกินไปหรือไม่สำหรับสังคมอนุรักษนิยมแบบประเทศสิงคโปร์ แต่กลับกัน Pink Dot กลับมีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก จึงอาจเป็นผลจากการที่ Gay Pride เป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ถูกให้ความหมายว่าเป็นตะวันตก

ขบวนการ Gay Pride เริ่มต้นจาก Gay Liberation Movement ในช่วงปลายทศวรรษ 60s จนถึงการก่อกำเนิดจริงจังตั้งแต่ 1970s เป็นต้นมา ถึงแม้ Gay Pride จะเกิดจากอเมริกาเป็นหลักในเหตุการณ์ Stonewall Riots ก็ตาม แต่การที่ Gay Pride เผยแพร่ตัวเองไปในดินแดนต่างๆ ทั่วโลกออกมาเป็น Pride ในประเทศอื่นๆ แม้ติณณภพจ์จะเห็นว่า Gay Pride Parade จะเป็นกระแส Americanization แต่เขาก็เห็นความพยายามต่อรองทางวัฒนธรรมจากคนในดินแดนนั้นๆ ในวัฒนธรรม Gay Pride ด้วย เช่น การนำบริบททางวัฒนธรรมของการเมืองไต้หวันในช่วงเวลานั้นๆ มาเผยแพร่ในป้ายระหว่างที่เดินขบวน Taiwan Pride

Gay liberation demonstration in 1970

ติณณภพจ์จึงเชื่อว่าในแง่หนึ่ง Gay Pride เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมอเมริกันสู่ดินแดนอื่นทั่วทั้งโลก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าวัฒนธรรมอื่นๆ ทั่วทั้งโลกจะไม่มีปฏิสัมพันธ์หรือถูกครอบงำโดยอเมริกาโดยสมบูรณ์ วัฒนธรรมท้องถิ่นมีปฏิสัมพันธ์กับวัฒนธรรมที่เข้ามาครอบงำเสมอ เช่น Taiwan Pride มีแคมเปญประจำปีทุกปี หรือสิงคโปร์เองที่อาจจะไม่ได้เป็น Gay Pride แต่เป็น Pink Dot ก็จะมีแคมเปญแต่ละปีขึ้นมาเช่นกัน และในช่วงหลังๆ สิงคโปร์เริ่ม ‘ขวา’ ขึ้นไปเรื่อยๆ จากเดิมที่พูดถึงเรื่องของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคม ทุกวันนี้เปลี่ยนเป็นกระแสการเรียกร้องการยอมรับจากครอบครัว หรือการเรียกร้องให้นำพาเกย์ เลสเบี้ยน กลับเข้าสู่บรรทัดฐานของสังคม ซึ่งเป็นวิธีการต่อสู้แบบประนีประนอมที่ค่อนข้างขวาในสายตาของเขา

“เอาเข้าจริงๆ Gay Pride เป็นสิ่งที่ผมไม่ค่อยชอบและสนับสนุนเท่าไหร่ เพราะ Gay Pride เป็นสิ่งที่เข้ามายึดพื้นที่ของ Gay Liberation Movement ช่วง 70s ซึ่งคนไทยจำนวนมากไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วขบวนการความหลากหลายทางเพศเริ่มต้นจาก Gay Liberation Movement หรือขบวนการปลดแอกเกย์ แต่ช่วงปลาย 70s เป็นต้นมา ฝ่ายขวาในขบวนการ Gay Movement มีแนวโน้มที่จะไม่อยากปะทะกับสังคม คนพวกนี้จึงเสนอขายฝันแบบที่อยากจะประนีประนอมกับสังคม ก็เลยพยายามปฏิรูปภาพลักษณ์ของ Gay Liberation Movement ให้กลายมาเป็น Gay Pride Movement 

“เพราะฉะนั้นสำหรับผม พูดคำว่า Gay Pride Movement ทีไรผมอดไม่ได้ทุกทีที่จะระลึกถึงความขัดแย้งภายใน Gay Movement ช่วง 70s ที่จริงๆ แล้วเกย์จำนวนหนึ่งลุกขึ้นมาพยายามจะประนีประนอมกับสังคม แล้วถีบหัวส่งพวกแอคติวิสต์ฝ่ายซ้ายในยุคนั้นที่พยายามจะปฏิวัติและต่อต้านสังคม เกย์ฝ่ายซ้ายจึงเหมือนกับล้มหายตายจากไปแล้วถูกสวมรอยไว้ด้วยฝ่ายประนีประนอมสังคมภายในงาน Gay Pride Movement”

นอกจากนี้ ในขบวนการ Gay Movement เองก็มีความขัดแย้งภายในสูง เนื่องจากช่วงปลาย 70s และต้น 80s กลุ่มคนที่เป็นกระแสหลักใน Gay Movement เต็มไปด้วยเกย์ผิวขาวชนชั้นกลางผู้มีการศึกษา สิ่งนี้จึงเป็นจุดสำคัญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและการวิพากษ์จากภายในโดย Lesbian Feminist และ Black Gay หรือ Gay People of Color โดยทั้งสองกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มหลักที่หันมาโจมตี Gay Movement แล้วมองว่า Gay Movement ซึ่งกลายมาเป็น Gay Pride Movement ไปแล้วมีชนชั้นกลางและคนผิวขาวเป็นศูนย์กลาง (white-washing) กลายเป็นว่าพยายามจะทำให้วัฒนธรรมใน LGBT community กลายเป็นวัฒนธรรมคนผิวขาวหรือ Gay Privilege ไปเสียหมด ซึ่งเลสเบี้ยนและ Black Gay หรือ Gay People of Color ก็รู้สึกว่าถูกเบียดขับด้วยวัฒนธรรมคนผิวขาว 

“สำหรับผม ชอบนะไอ้การที่เราเห็นว่าภายใต้ภาพของการมีเอกภาพหรือการเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันแต่มีความขัดแย้งแฝงอยู่ มันตอกย้ำให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว LGBT movement เติบโตขึ้นมาควบคู่กับสิ่งที่เรียกว่า Politics of Difference หรือการเมืองเรื่องความแตกต่าง กล่าวคือภายใต้อัตลักษณ์ที่ฟังดูเหมือนเป็นเอกภาพ จริงๆ มันมีความแตกต่างหลากหลาย มีความสลับซับซ้อนซ้อนทับกันเต็มไปหมด การพูดว่าฉันเป็นเกย์เพียงอย่างเดียวไม่พอ ภายใต้คำว่าฉันเป็นเกย์มันเต็มไปด้วยสีผิวแบบไหน ชนชั้นแบบไหน ระดับการศึกษาแค่ไหน มาจากชุมชนแบบไหน หรือมีค่านิยมแบบไหน ผมจึงบอกว่าอัตลักษณ์เป็นเรื่องสลับซับซ้อน ไม่สามารถตอบได้ด้วยกล่องเพียงกล่องเดียว

“เพราะฉะนั้นสำหรับผม สุดท้ายแล้ว Gay Pride Movement เป็นเรื่องของวัฒนธรรม white-washing และเป็นความพยายามที่จะประนีประนอมกับสังคมแล้วเข้ามาสวมรอยแทนที่ Gay Liberation Movement ซึ่งลดทอนความซ้ายของขบวนการไปอย่างมากมายเลย”

Pride Month กับการเมืองเพื่อความหลากหลาย ไม่ใช่แค่การเฉลิมฉลองเดือนมิถุนายน

ติณณภพจ์มองว่า Gay Pride Movement ในประเทศไทยยังมีความประนีประนอมของสังคมแล้วพยายามเรียกร้องให้เกิดการยอมรับ และพาตัวเองเข้าไปสู่ศูนย์กลาง แต่ไม่ได้นำไปสู่ความเป็นไปได้ชุดใหม่ๆ หรือการตั้งคำถามกับขอบเขตที่ข้ามพ้นมาตรฐานของสังคม 

“Gay Pride Movement ในทัศนะของผมมันควรจะโอบรับอัตลักษณ์ทุกชุด ต่อให้อัตลักษณ์นั้นๆ หรือรสนิยมทางเพศนั้นๆ จะเป็นอัตลักษณ์หรือรสนิยมทางเพศที่นอกขนบของสังคมก็ตาม หรือมันจะถูกมองว่าผิดศีลธรรมก็ตาม แต่สำหรับผมมันต้องได้รับการเปิดรับให้ไปปรากฏตัวบนเวทีหรือบนท้องถนนในขณะที่กำลังเดินขบวนให้จงได้ เช่น BDSM (รสนิยมชอบความรุนแรง) หรือว่าพวก Zoophilia (รสนิยมมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์) ซึ่งฟังดูคุณอาจจะรู้สึกว่าแปลกประหลาด สกปรก ต่ำช้า ผิดปกติวิสัย 

“แต่ด้วยจุดยืนแบบเควียร์จึงต้องการจะเสนอว่าสุดท้ายแล้ว Gay Pride Movement ไม่ควรตีกรอบว่าใครควรได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ตรงนี้บ้าง แต่ควรจะโอบรับคนทุกกลุ่มในอนาคตไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มใดก็ตาม เราต้องยอมรับเขาบนพื้นฐานอย่างน้อยที่สุดคือเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา แต่ก็ไม่ได้จบลงที่ว่าแค่เป็นมนุษย์แล้วจบกันนะ พอเป็นมนุษย์แล้วเขามีความพยายามที่จะต่อรองเรื่องรสนิยมที่เขาอยากมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์กับสังคม การพยายามจะต่อรองตรงนี้เขายังคงต่อสู้อย่างไม่จบไม่สิ้นนะ เขาเลยต้องลงมาต่อสู้บนถนนร่วมกันกับคนกลุ่มอื่นๆ ด้วย”

Gay Pride Movement ที่อนุญาตให้ใครก็ตามลงมาอยู่ในขบวนการนี้ร่วมกันได้โดยไม่ตัดสินจึงเป็นสิ่งที่ติณณภพจ์สนับสนุน เพราะท้ายที่สุดแล้วสำหรับเขา Gay Pride เป็นผลของการต่อรองกันระหว่างการครอบงำจากอเมริกันกับการนำเสนอเรื่องราวหรือเรื่องเล่าจากท้องถิ่น และในขณะเดียวกันก็ควรเป็นกิจกรรมที่เปิดรับคนทุกกลุ่มและรสนิยมทุกรูปแบบเข้าไปไว้ในนั้น 

แน่นอนว่าการมี Pride Month คือการทำให้ผู้คนไม่ลืมว่าเคยเกิดประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่อเมริกาเพราะ Stonewall Riots ก็มีความสูญเสียและความรุนแรงที่เห็นได้ชัดพอสมควร แต่จริงๆ แล้ว Stonewall Riots ไม่ใช่เหตุการณ์เดียวที่เกิดขึ้น ติณณภพจ์จึงไม่สนับสนุนและไม่ต่อต้านการเฉลิมฉลอง Pride Month เฉพาะเดือนมิถุนายน เพราะการต่อสู้หรือความขัดแย้งระหว่างสรัฐอเมริกากับ Gay community เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายเดือนและมีหลายเหตุการณ์ ซึ่งบางเหตุการณ์รุนแรงกว่าด้วยซ้ำแต่คนส่วนใหญ่ให้ภาพจำกับ Stonewall Riots มากกว่า จึงทำให้เดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่ง Pride 

“สำหรับผมมิถุนายนไม่ใช่เดือนแห่ง Pride ถ้าจะพูดให้ถูก มิถุนายนซึ่งเป็นเดือนของ Stonewall Riots มันคือเดือนแห่ง Liberation of Gay ต่างหาก และไม่ใช่แค่มิถุนายนที่มีความพยายามเรียกร้องให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Gay Liberation แต่มันเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ในแทบทุกเดือนตลอดทั้งปี และไม่ใช่เฉพาะในประวัติศาสตร์อเมริกาเท่านั้น ในประวัติศาสตร์ทั่วทั้งโลกด้วยเช่นกัน เราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าทุกวันนี้ทุกพื้นที่ในโลกต่างก็มีความพยายามจะสร้างการเมืองเพื่อความหลากหลายทางเพศในทุกพื้นที่ 

“แต่ถ้ามีคนบอกว่าเขาจะเฉลิมฉลองเดือนมิถุนายนในฐานะที่เป็น Gay Liberation Month อันนั้นผมซื้อ แต่จะซื้อยิ่งกว่าถ้าจะบอกว่า Gay Liberation Month(s) อันนั้นผมยิ่งซื้อและผมยิ่งปรบมือให้ด้วย สุดท้ายแล้ว Liberation of Gay หรือการปลดแอกความหลากหลายทางเพศควรเกิดขึ้นตลอดทุกปี มันควรเฉลิมฉลองและยกย่องสิ่งนี้ทั้งปี เพราะเขาก็สู้กันมาทั้งปีและในทุกพื้นที่”

ความหลากหลายทางเพศจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเราไม่มีประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ติณณภพจ์มองว่า Pride Month มีความฉาบฉวย คือการนำสีรุ้งมาเป็นจุดขายทางการตลาด โดยที่องค์กรเอกชนหลายแห่งยังละเลยการแก้ไขนโยบายที่เลือกปฏิบัติทางเพศ ไปจนถึงการละเลยเรื่องสิทธิมนุษยชน 

“ถ้าคิดจะร่วมต่อสู้แล้วมันต้องต่อสู้ร่วมกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และต้องต่อสู้กันทุกเดือน ไม่ใช่แค่เดือนมิถุนา ไม่ใช่แค่ออกแคมเปญผ่านสินค้าต่างๆ ด้วยธงสีรุ้ง แต่นโยบายการจ้างงานของคุณ สวัสดิการที่คุณมีให้ลูกจ้างในองค์กรของคุณ ถามตัวเองหรือยังว่า Gay friendly หรือเปล่า เลือกปฏิบัติหรือเปล่า นั่นต่างหากที่ผมสนใจ

“เราจะพูดถึงความหลากหลายทางเพศได้ เราต้องพูดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการเคารพความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันเป็นพื้นฐานตั้งแต่แรกก่อน นี่คือเงื่อนไขขั้นแรก แต่หากไม่สนใจเรื่องสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ในระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่แรก แล้วอยู่ดีๆ จะมาติดธงรุ้งอย่างฉาบฉวยในเดือนมิถุนาแค่นี้เหรอ เพราะฉะนั้นผมไม่ซื้อสิ่งที่เรียกว่า Pride Marketing แบบนี้”

การสนับสนุนความหลากหลายทางเพศจึงควรเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเรียกร้องประชาธิปไตย รวมไปถึงสิทธิทางเพศ ความยุติธรรมทางเพศ และการลดความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นเรื่องการพัฒนา โดยรูปธรรมที่ติณณภพจ์เห็นอย่างชัดเจนตอนนี้คือการชุมนุมของเยาวชน เขาหวังว่าการต่อสู้ในการชุมนุมของคนกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มคณะราษฎร 2563 กลุ่มเสรีเทยพลัส เฟมินิสต์ปลดแอก ไปจนถึงสมัชชาคนจน และบางกลอย จะกลับคืนมาโดยเร็วหรือควรมีการหล่อเลี้ยงความเคลื่อนไหวเหล่านี้บนโลกออนไลน์ต่อไป

“เราจะไม่สามารถเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศได้อย่างเต็มที่ ถ้าเราปราศจากประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ถ้าเราปราศจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและตรวจสอบได้ ถ้าเราปราศจากสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเต็มที่ ไม่ถูกจำกัดเอาไว้ด้วยกฎหมายบางมาตราที่มุ่งทำลายความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น หรือมุ่งละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตั้งแต่ต้น ซึ่งกฎหมายบางมาตรายังคงไม่ได้รับการแก้ไขหรือปฏิรูป

“ความหลากหลายทางเพศจะไม่มีวันเติบโตได้อย่างเต็มที่ the so called Pride หรือศักดิ์ศรีที่เราเรียกร้องก็ไม่สามารถเติบโตเต็มที่ได้ ถ้าเราไม่เป็นประชาธิปไตย การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ การจำกัดความหลากหลายทางเพศ การไม่เข้าใจความหลากหลายทางเพศ การละเมิดทางเพศ หรือความรุนแรงทางเพศต่างๆ ไปจนถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่สร้างขึ้นโดยรัฐบาล ถ้ามันยังอยู่เราไม่มีทางเฉลิมฉลองความเป็น Pride ได้อย่างเต็มที่ สำหรับผมเอง agenda หลักตอนนี้ไม่ใช่ Pride แต่เป็นการปลดแอกทางสังคม”

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า