สมาชิกในเว็บ Pantip ตั้งกระทู้ถามว่า “ปรีดี พนมยงค์ นี่ สรุปว่าเป็นคนดีหรือไม่ดีครับ แล้วทำไมเราถึงยกย่องเขาเป็นวีรบุรุษในหนังสือเรียนครับ?” กระทู้นี้ถูกตั้งเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2559
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2557 มีกระทู้ถามว่า “ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นคนดีหรือไม่?”
สองคำถามข้างต้นสะท้อนความคลุมเครือในการรับรู้ตัวตนของปรีดี พนมยงค์ ในสังคมไทยร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี และเป็นคำถามที่ทำให้เรามองเห็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ในสังคมไทยมาตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาตราบปัจจุบัน
นับตั้งแต่ปี 2475 กระทั่งถึง 2491 มีการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่าง ‘ระบอบใหม่’ กับ ‘ระบอบเก่า’ มาโดยตลอด เกิดการรัฐประหาร 4 ครั้ง ในช่วงเวลา 16 ปี ในการรัฐประหารครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ปรีดีต้องยุติบทบาททางการเมืองหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล โดยถูกกล่าวหาจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นเหตุให้เขาต้องลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศจีนและฝรั่งเศส รวมระยะเวลากว่า 30 ปี และไม่ได้กลับสู่ประเทศไทยอีกเลยจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 รวมอายุได้ 83 ปี
ช่วงต้นทศวรรษที่ 2490 กระแสความคิดแบบจารีตนิยมและกษัตริย์นิยมมีพลังสูงขึ้น ซึ่งมาจากหลายปัจจัย เช่น สังคมไทยผ่านความยากลำบากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเบื่อหน่ายการรัฐประหาร ประกอบกับ “คณะราษฎรสูญเสียอำนาจทางการเมือง ทำให้ปัญญาชนฝ่ายจารีตนิยมและกษัตริย์นิยมมีโอกาสเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง และคนทุกชั้นในสังคมกำลังสะเทือนใจกับกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” [1]
วันปฏิวัติสยาม 24 มิถุนาฯ ที่เคยถูกกำหนดให้เป็น ‘วันชาติ’ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จนเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นใหม่อีกฉบับหนึ่ง เรื่อง ‘ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยในปี 2503’
แม้ว่าระหว่างที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ปรีดีได้ฟ้องร้องผู้ใส่ความหมิ่นประมาทต่อศาลยุติธรรม ผลปรากฏว่าศาลตัดสินให้ชนะทุกคดี และยังได้รับการรับรองจากทางราชการ ตลอดจนเงินบำนาญและหนังสือเดินทางของไทย และแม้ว่าใน พ.ศ. 2542 ที่ประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 30 ขององค์การยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้มีมติประกาศให้ปรีดี พนมยงค์ เป็น ‘บุคคลสำคัญของโลก’
ทว่า สังคมไทยร่วมสมัยก็ยังคงไม่สามารถสร้างความรับรู้ที่ชัดเจนแก่ตนเองว่า ปรีดี พนมยงค์ คือใคร? เราควรจดจำเขาแบบไหน?
WAY ทดลองสำรวจ ‘ตัวตน’ ของ ปรีดี พนมยงค์ และ ‘ความทรงจำ’ ของสังคมไทยร่วมสมัยที่มีต่อรัฐบุรุษผู้นี้ ผ่าน 3 ปรากฏการณ์
1. ‘พ่อ PD’ แห่ง ‘คณะร่าน’
facebook.com/Khanaranparty คือเพจสาธารณะที่มีลักษณะล้อเลียนหรือ parody ผู้สร้างเพจได้อธิบายว่า เพจคณะร่านเป็นเพจเกี่ยวกับ ‘เด็กนอกสุดเฟี้ยว instyled since June 24th, 1932’
ข้อความอธิบายเกี่ยวกับเพจ มุ่งล้อเลียนคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ด้วยการใช้คำว่า ‘เด็กนอกสุดเฟี้ยว’
คอนเทนต์ของเพจคณะร่านหนีไม่พ้นการแซะ ล้อเลียน บุคคลในคณะราษฎร โดยใช้ตัวละครที่เรียกว่า ‘พ่อ PD’ เป็น ‘น้ำเสียงหลัก’ ในการเล่าเรื่อง
การนำเสนอคอนเทนต์ของเพจ เป็นการหยิบจับข่าวหรือสถานการณ์ปัจจุบันมาเล่าผ่านโครงความคิดแบบหยาบๆ ในลักษณะลดทอนความคิดหรืออุดมการณ์ของบุคคลที่ผู้อ่านสามารถตีความได้ว่า ‘อาจจะเป็นปรีดี พนมยงค์’ ให้แบนราบเหมือนสีขาวกับดำผ่านเป็นน้ำเสียงของ ‘พ่อ PD’
ข่าวหรือเหตุการณ์ที่เพจคณะร่านเลือกหยิบมานำเสนอ เป็นข่าวหรือความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่ผู้อ่านพอจะเหมารวมแบบหยาบได้ว่า เป็นพวก ‘ต่อต้านรัฐประหาร’ การนำเอาความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านรัฐประหารในศตวรรษที่ 21 หรือที่มีการใช้คำในลักษณะเสียดสีว่า ‘ลิเบอร่าน’ ไปอ้างอิงถึงอุดมการณ์ของคณะราษฎรหรือของปรีดี พนมยงค์ ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่า เพจคณะร่านมุ่งเน้นการล้อเลียนเป็นหลัก แม้ว่า ‘พ่อ PD’ แห่ง ‘คณะร่าน’ จะสอดแทรกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ แต่เล่าในท่วงทำนอง ‘มุขปาฐะ’ เล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางประวัติศาสตร์ด้วยน้ำเสียง ‘ยกตนข่มท่าน’ อันเป็นเอกลักษณ์ของมู้ดและโทนในการเล่าเรื่องของเพจ มากกว่าจะเสนอข้อสันนิษฐานหรือตั้งคำถามใหม่ๆ กับประวัติศาสตร์
2. เพลง ‘เจ้าภาพ’ ของ แอ๊ด คาราบาว
เมื่อเดือนพฤจิกายน 2560 ยืนยง โอภากุล หรือ ‘แอ๊ด คาราบาว’ เผยแพร่เพลงชื่อ ‘เจ้าภาพ’ ลงเฟซบุ๊คของเขา เนื้อหาของเพลงเป็นการ “บ่งชี้ว่าประชาธิปไตยและการเลือกตั้งสำหรับประเทศไทยนั้น เป็นเพียงเปลือกนับตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา พร้อมถามหาคนที่จะเป็นเจ้าภาพในการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับประชาธิปไตย”[2]
เนื้อหาท่อนหนึ่ง ผู้ประพันธ์กล่าวถึง ปรีดี พนมยงค์ ว่า “ตั้งแต่ปรีดีมีสมุดปกเหลือง เค้าโครงเรื่องเศรษฐกิจไทย ใครต่อใครก็ไหวตัว” ก่อนจะมีท่อนต่อไปว่า “จวบจนบัดนี้มีเจ้าภาพบ้างไหม เคี่ยวเข็ญคนในสังคมไทย ให้สอดรับปรับตัว ต่างคนก็ต่างกลัว กลัว กลัว กลัว เลยไม่มีเจ้าภาพ”
ก่อนหน้าท่อนที่พูดถึงปรีดี พนมยงค์ และสมุดปกเหลือง แอ๊ด คาราบาว ร้องว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่ของเล่น เท่าที่ผมทราบสร้างจากบทเรียนหยดเลือดน้ำตา ท้องฟ้าสีทองของปวงประชา ได้นำเข้ามาด้วยความหวังดี” ก่อนที่จะต่อด้วยท่อนนี้ “ตั้งแต่ปรีดีมีสมุดปกเหลือง เค้าโครงเรื่องเศรษฐกิจไทย ใครต่อใครไหวตัว”
เมื่อถึงท่อนสร้อย แอ๊ด คาราบาว ร้องว่า “เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นจะมีเลือกตั้ง ผมก็ไม่ทราบ แต่กราบลาครับ ผมไม่ไปเลือก ประชาธิปไตยที่มีแต่เปลือก อยากเลือกพร้อมคนไทยที่ไม่ขายเสียง”
ถ้าตีความจากเพลงนี้ เราก็พอจะเห็นว่า ปรีดี พนมยงค์ ในมุมมองของแอ๊ด คาราบาว เป็นผู้หวังดีกับสังคมไทย แต่การเสนอสมุดปกเหลืองหรือเค้าโครงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2475 นั้น ไม่มีใครสนับสนุน เช่นที่เขาบอกว่า “ใครต่อใครไหวตัว” แต่เมื่อเราฟังไปถึงท่อนสร้อย ก็จะพบชุดความคิด ซึ่งเป็น ‘หัวใจของเพลง’ ดั่งที่แอ๊ด คาราบาว ได้เขียนไว้ในเฟซบุ๊ค ว่า
“เราจะเป็นประเทศที่เหมาะกับระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร ถ้าไม่มีใครสอนหรือปลุกจิตสำนึกประชาธิปไตยให้ประชาชน นี่คือหัวใจของเพลง ป.ล. เป็นแค่ความคิดเห็นส่วนตัวของผมคนเดียว ผิดถูกก็ให้สังคมตัดสินเอาเอง”
3. หมุดหาย
การหายไปของหมุดคณะราษฎรจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อเดือนเมษายน 2560 เป็นสถานที่รำลึกถึงจุดที่ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ประกาศเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย และอ่าน ‘ประกาศคณะราษฎร’ ฉบับแรก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่มีข้อความ ว่า “24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”
การหายไปของหมุดคณะราษฎร ถูกแทนที่ด้วยหมุดใหม่ ซึ่งมีข้อความบนหมุด ว่า “ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาสุขสันต์หน้าใสเพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน: ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”
คำถามต่อการหายไปของหมุดคณะราษฎรจึงดังขึ้น แต่ผู้มีส่วนรับผิดชอบต่างก็ไม่มีคำตอบ เขตดุสิต กทม. เจ้าของพื้นที่ตอบไม่ได้ กรมศิลปากร รับผิดชอบพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันไม่มีคำตอบ พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ตอบไม่ได้
ภาคประชาชนหลายกลุ่มเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต เพื่อให้ติดตามหาตัวคนร้ายมาดำเนินคดี เช่น
พริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ หลานชายหลวงเสรีเริงฤทธิ์ พร้อมนักศึกษาอีกสามคนไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.ดุสิต ระบุว่า “รู้สึกกังวลใจเนื่องจากหมุดนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร ถือเป็นโบราณวัตถุของชาติประเภทหนึ่ง เนื่องจากมีอายุเก่าเกิน 50 ปี คือมีอายุ 81 ปีแล้ว อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของประเทศ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาก็ตาม จึงมาแจ้งความร้องทุกข์ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสอบสวนและติดตามโดยเร็ว”
ในเดือนถัดมา สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT แจ้งผ่านเฟซบุ๊คว่า ยกเลิกการจัดเสวนาในหัวข้อ ‘ความทรงจำแห่งอภิวัฒน์ 2475 – ปริศนาหมุดคณะราษฎรหาย’ (Memories of 1932 – The Mystery of Thailand’s Missing Plague) ซึ่งตามกำหนดการจะจัดขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 หนังสือจาก สน.ลุมพินี ระบุขอความร่วมมือให้งดกิจกรรมดังกล่าว หลังทางตำรวจได้รับการประสานจาก ‘ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง’ ซึ่งเห็นว่างานเสวนาที่ว่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ บุคคลผู้ไม่หวังดีอาจฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ต่างๆ ก่อให้เกิดความวุ่นวาย [3]
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2503 เคยมีการถอด ‘หมุดคณะราษฎร’ ออกจากที่เคยวางไว้บนลานพระบรมรูปทรงม้าตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2479 แต่ไม่มีการนำ ‘หมุดใหม่’ มาแทน กระทั่งภายหลังหมดยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และมีการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญใหม่ในเดือนมิถุนายน 2511 สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา จึงได้มีการนำ ‘หมุดคณะราษฎร’ กลับมาวางไว้เหมือนเดิม [4]
นายทวี บุณยเกตุ ซึ่งเป็นผู้ก่อการสำคัญแห่งคณะราษฎร เข้าดำรงตำแหน่งประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญและเป็นผู้ผลักดันรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511
ประเด็นการให้คุณค่าของหมุดคณะราษฎรในเชิงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ก็ได้สะท้อนออกมาผ่านมุมมองของกรมศิลปากร
วันที่ 19 เมษยน 2560 เฟซบุ๊ค ‘กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร’ โพสต์ข้อความชี้แจงหัวข้อ: ‘หมุดคณะราษฎร์’ เป็นโบราณวัตถุ ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หรือไม่?’
“กรมศิลปากรได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ได้บัญญัติให้ ‘โบราณวัตถุ’ หมายความถึง สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี
“จากนิยามดังกล่าว กรมศิลปากรจึงเห็นว่า หมุดคณะราษฎรมิใช่โบราณวัตถุตามนัยของ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ เนื่องจากหมุดคณะราษฎรเป็นวัตถุที่พลเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา นำมาติดตั้งไว้ในบริเวณลานพระราชวังดุสิตเมื่อปี พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นเวลา 4 ปี ภายหลังจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง หมุดคณะราษฎรจึงมิใช่สังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เพราะหมุดดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่เคยมีการประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น”
2 พฤษภาคม 2526 คือวันอสัญกรรมของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์
2 พฤษภาคม 2561 สังคมไทยจะจดจำ ปรีดี พนมยงค์ และอุดมการณ์ของเขาอย่างไร
เชิงอรรถ
[1] 10 ปัญญาชนสยาม โดย สายชล สัตยานุรักษ์
[2] ถูกใจลุงตู่ “แอ๊ด คาราบาว” แต่งเพลงใหม่ ประกาศชัด ‘ไม่ไปเลือกตั้ง’ ชี้ ปชต.แต่เปลือก อยากเลือกพร้อมคนไทย ไม่ขายเสียง
[3] 1 ปี ‘หมุดคณะราษฎร’ หาย: ย้อนดูชะตากรรมคนตามหาความจริงในรัฐที่ขยันเป็นเรื่องๆ
[4] ปฏิกิริยา สังคม ต่อ “หมุดคณะราษฎร” จากปี 2503-2560