ภาพ: ชเลฝัน ดิษฐ์ผู้ดี ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และกลุ่มเกษตรกร คนจน ปลดแอก จัดเวทีเสวนา ‘ชำระประวัติศาสตร์ สู่จินตภาพใหม่ในที่ดิน’ ณ สวนอัญญา จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องในวันครบรอบ 47 ปี การก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย โดยมี สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ดร.ชัยพงศ์ สำเนียง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุย
ตีแผ่มรดกที่ดินยุคอาณานิคม-คณะราษฎร-เผด็จการสฤษดิ์
สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า การจัดการที่ดินมีมรดกทางประวัติศาสตร์อยู่ 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ มรดกในยุคอาณานิคมผ่านกฎหมายป่าไม้และกฎหมายที่ดิน ยุคคณะราษฎรผ่านสมุดปกเหลือง และยุคทุนนิยมสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ในยุคอาณานิคม ไทยรับเอาแนวคิดในการจัดการที่ดินมาจากอังกฤษคือ จ้างคนอังกฤษมาเขียนกฎหมาย หลังจากนั้นจึงดัดแปลงให้เข้ากับบริบทของไทยเอง เรื่องสิทธิในที่ดินจึงกลายเป็นมรดกสืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังเห็นได้จากมาตราแรกๆ ของกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินซึ่งระบุว่า ‘ที่ดิน’ ถ้าไม่มีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ ที่ดินเหล่านั้นถือเป็นของกษัตริย์ทั้งหมด ต่อมาจนถึงยุคกฎหมายที่ดิน ที่ดินที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ถือเป็นของรัฐทั้งหมด ส่วน ‘ป่า’ คือที่ดินที่ยังไม่มีบุคคลใดได้มาตามกฎหมายที่ดิน
“หมายความว่า ‘ระบบสิทธิในที่ดิน’ มันไม่ได้มีขึ้นตั้งแต่ต้น ราษฎรไทยไม่มีสิทธิในที่ดินตั้งแต่เกิด คือคุณไม่มีส่วนแบ่งในแผ่นดินเลยตั้งแต่คุณเกิดมา คุณจะได้สิทธิในที่ดินก็ต่อเมื่อรัฐอนุญาตให้คุณได้เท่านั้นเอง และเขาก็มีสิทธิไปยึดเอาที่ดินจากคุณได้ตลอดเวลาถ้าเขาอยากเอาไปทำอะไรผ่านกฎหมายเวนคืน” สุมิตรชัยกล่าว
จนมาถึงยุคคณะราษฎร ผู้ที่สร้างจินตภาพใหม่ในการเปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องที่ดินในประเทศไทยก็คือ ปรีดี พนมยงค์ ดังปรากฏใน ‘สมุดปกเหลือง’ ซึ่งมีลักษณะเป็นระบบรัฐสวัสดิการ ต้นกำเนิดของการซื้อที่ดินคืนมาจากเจ้าที่ดินสมัยนั้นเป็นความคิดของปรีดี คือหาเงินซื้อที่ดินจากเจ้าที่ดินที่ไม่ทำประโยชน์ แล้วแบ่งสรรให้ราษฎร เพื่อสร้างงานให้ประชาชน
“ปรีดีใช้คำหนึ่งที่รัชกาลที่ 7 ยอมรับไม่ได้ก็คือว่า ไอ้คนที่ไม่ทำมาหากิน เป็นคนรกโลก อาจจะหมายถึงพวกเจ้าที่ดินที่ไม่ได้ทำมาหากินในสมัยนั้น ส่วนชาวนาชาวไร่ที่ลำบากตรากตรำทำมาหากินเป็นคนที่มีคุณค่า เป็นที่มาของสโลแกนของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยว่า ที่ดินต้องเป็นของผู้แบกคันไถ”
นอกจากนั้นยังมีมรดกยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ที่มีการเพิ่มเครื่องมือหนึ่งในการจัดการทางกฎหมายคือ เรื่องการจำกัดการถือครองที่ดินตั้งแต่มาตรา 34 เป็นต้นไป ซึ่งสุดท้ายถูกยกเลิกในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ออกประกาศคณะปฏิวัติในปี 2502 และนำที่ดินเข้าสู่ระบบตลาด จุดนี้เองถือเป็นมรดกของเผด็จการในยุคจอมพลสฤษดิ์ หรือเป็นมรดกของทุนนิยมในระยะแรกภายใต้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 อันเป็นมรดกของฝ่ายอนุรักษนิยม
เมื่อที่ดินเข้าสู่ระบบตลาด การออกโฉนดที่ดินในสมัยนั้นสำหรับราษฎรที่ไปแจ้งการครอบครอง โอกาสที่จะได้รับการเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินทำได้ยากมาก เนื่องจากนายทุนไปกว้านซื้อที่ดิน สค. 1 กว้านซื้อที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ประชาชนทำประโยชน์อยู่ เช่น ในลำพูนมีโครงการจัดสรรที่ดินตั้งแต่ปี 2508 มีการออกใบจองให้ราษฎรถือไปแล้ว วันดีคือดีกลับยกเลิกใบจอง แต่ก็ยังทำมาหากินเรื่อยมาแบบไม่มีเอกสารสิทธิ์ ต่อมาปี 2528-2531 มีโครงการเดินสำรวจภายใต้ธนาคารโลก ปรากฏว่ามีการออกเป็นโฉนดของนายทุนทั้งหมด ราษฎรกลุ่มดังกล่าวจึงกลับเข้าไปยึดที่ดินของนายทุนเหล่านี้คืน
“สรุปได้ง่ายๆ ว่าศัตรูใหญ่ของเราคือ ระบบกฎหมายที่เป็นนิติรัฐอภิสิทธิ์ กฎหมายไม่ได้มีไว้เพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน แต่เป็นกฎหมายที่เสริมอำนาจของฝ่ายอำนาจนิยมหรือปกป้องความมั่นคงของเขา เราจึงอยู่ภายใต้การปกครองด้วยกฎหมายของผู้มีอำนาจ แต่ไม่ได้อยู่ภายกฎหมายตามหลักสากล” สุมิตรชัยกล่าว
จนถึงยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ดินกลายเป็นหลักฐานการแสดงอำนาจของทั้งนายทุนและฝ่ายอนุรักษนิยม ป่าไม้ก็เช่นกัน โดย คสช. ออก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพิ่มโทษสูงสุดจำคุก 20 ปี ถ้าอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำจะเพิ่มโทษเข้าไปอีกครึ่งหนึ่ง รวมเป็น 30 ปี เทียบเคียงได้กับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ที่ดินหรือดินแดนที่เป็นของประเทศไทย กลายเป็นหลักฐานของการแสดงอำนาจของฝ่ายผู้มีอำนาจ
“ตอนนี้ศัตรูของเราและคนรุ่นใหม่คือฝ่ายอนุรักษ์สุดโต่ง เหมือนเขาต้องการย้อนเวลากลับไป คือเขาจะไม่ไปข้างหน้า เขาจะดึงสังคมไทยย้อนกลับไป คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญยิ่งทำให้เห็นอย่างชัดเจนมาก ในการต่อสู้ของพี่น้องสหพันธ์ของชาวนาชาวไร่จนมาถึงปัจจุบัน ผมอยากให้กลับไปดูสมุดปกเหลือง ยุคของคณะราษฎร 2475 อุดมการณ์ใหม่เรื่องที่ดินเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว อาจารย์ปรีดีได้สร้างจินตภาพให้เราแล้วตั้งแต่ต้นว่า เราจะจัดการกับที่ดินในประเทศไทยอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม” ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นย้ำ
สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ขบวนการปลดแอกรุ่นแรก
ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ปัญหาการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกันสะท้อนความไม่เป็นธรรมในสังคม อาจย้อนไปได้ตั้งแต่ ปรีดี พนมยงค์ ออกสมุดปกเหลือง ซึ่งรัชกาลที่ 7 ไม่เห็นด้วย จนถึงความพยายามของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ได้มีพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดินเพื่อความเป็นธรรม แต่ถูกยกเลิกในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ปัจจุบันภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของการรื้อสร้างขบวนการเคลื่อนไหวใหม่ ดร.ชัยพงษ์ มองเห็น 2-3 ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน
หนึ่ง – การประสานระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวในอดีตกับขบวนการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน ดร.ชัยพงษ์ ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันความทรงจำของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยถูกยกขึ้นมาพูดถึงว่าเป็น ‘ขบวนการปลดแอก’ รุ่นแรกๆ เป็นขบวนการภาคประชาชนที่ยืนยันสิทธิเสรีภาพในการจัดการทรัพยากร สาเหตุที่การเข้าถึงฐานทรัพยากรที่ดินนับเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยการผลิต โฉนดที่ดินเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในยุคที่บริษัทขุดคูคลองสยามสัมปทานขุดคลองรังสิต ชนชั้นศักดินาหรือคนที่มีอำนาจได้ใช้อำนาจเพื่อการสงวนหวงห้ามและยึดสิทธิในที่ดินเพื่อขูดรีดส่วนเกิน เช่น ค่าเช่า
“การอธิบายเรื่องนี้คือการรื้อถอนการเข้าถึงทรัพยากร และทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน โดยเฉพาะชาวนาชาวไร่ที่ถูกพูดว่า ‘โง่ จน เจ็บ’ สามารถที่จะเปลี่ยนความหมายของขบวนการเคลื่อนไหว ประสานคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เพื่อจะทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้เกิดความเข้มแข็งขึ้นในเชิงอุดมการณ์” ชัยพงศ์กล่าว
สอง – คนที่สู้มาก่อนไม่เคยหยุดฝัน ดร.ชัยพงษ์ ให้ข้อสังเกตว่า คนทั่วไปอาจคิดว่าคนรุ่นใหม่เป็นวัยที่มีความฝัน แต่ที่จริงแล้วคนรุ่นเก่าก็ไม่เคยหยุดฝันเช่นกัน เขายังมีจินตนาการถึงโลกที่เท่าเทียม คนสองรุ่นจึงควรมาประสานกัน เช่น ขบวนการของพี่น้องเสื้อแดง พี่น้องสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ไปเป็นเบื้องหลังกองกำลังในการสนับสนุนทุนทรัพย์หรือวิธีคิดให้คนรุ่นใหม่ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลไม่สามารถทำได้ในวันเดียว และไม่สามารถทำได้แบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน
“ข้อเสนอสำหรับผมคือ คนรุ่นเก่าไม่มีทางเลือกที่จะไม่สนับสนุนหรือถอย ไม่มีทางเลือกที่จะไม่หนุนเสริมคนรุ่นใหม่ ในจุดยืนแบบนี้ต่อให้ไปไกลกว่านี้พี่ๆ ก็ต้องเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้เด็กๆ แม้จะไม่เห็นด้วยกับบางประเด็นหรือขบวนการเคลื่อนไหวที่ไม่มีการจัดตั้ง แต่เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว ดึงกลับไปไม่ได้แล้ว ก็ต้องร่วมกันผลักดัน” อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.นเรศวร กล่าว
ท้ายที่สุด เรื่องที่ดินและทรัพยากร เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมไทยนี้มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่ดิน เกษตรกรทั้งหลายไม่ได้ถือครองสิทธิ์ในที่ดิน เราจึงเห็นขบวนการเคลื่อนไหวมากมายในภาคเหนือ เช่น ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อยึดที่ดิน ซึ่งขบวนการเหล่านี้ยังสัมพันธ์กับขบวนการเคลื่อนไหวสมัยใหม่เช่นกัน สิ่งที่นิสิตนักศึกษาในภาคเหนือทำ ไม่ได้หยุดอยู่ที่วิธีคิดในเชิงทรัพยากรอย่างเดียว แต่ยังเรียกร้องไปถึงการกระจายอำนาจ การกระจายทรัพยากร อันนี้คือสิ่งที่เชื่อมต่อกัน และสิ่งที่เชื่อมต่อกันมากที่สุดสำหรับผมคือ จินตนาการและความใฝ่ฝันถึงสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียม
“การต่อสู้ในพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญมาก พี่น้องยังต่อสู้กับคดีความกันอยู่ ยังสู้เรื่องที่ดินอยู่ เราจะทำยังไงให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ ถ้าเราเข้าใจเรื่องทรัพยากร เข้าใจการยืนอยู่บนผืนดินเดียวกัน เป็นคนกลุ่มเดียวกัน และลดสถานะของรัฐได้ ก็จะสามารถกระจายการถือครองที่ดินได้” ชัยพงศ์ย้ำ
ประชาธิปไตยแบบคอมมิวนิสต์ และขบวนการภาคประชาชนที่ควรถูกตั้งคำถาม
รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ดินจำเป็นต้องเป็นส่วนรวม ไม่สามารถเป็นของใครคนใดคนหนึ่งได้ รูปแบบการจัดการที่ดินที่ผ่านมามีแค่ 2 ประเภท หนึ่งคือ ทำให้เป็นของปัจเจกบุคคล ส่งผลให้คนจำนวนหนึ่งสะสมที่ดิน ในขณะที่คนจำนวนมากถูกขับออกจากที่ดินที่พวกเขาอยู่อาศัยมาเป็นร้อยๆ ปี อีกรูปแบบคือ ที่ดินกลายเป็นพื้นที่หรือกรรมสิทธิ์ของรัฐ แนวทางการต่อสู้จึงไม่ใช่แค่การต่อสู้ภายใต้ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลหรือภายใต้ระบบทุนนิยม คำถามคือเราจะไปไกลกว่าทุนนิยมได้อย่างไรในยุคปัจจุบัน เพราะระบบทุนนิยมวางอยู่บนหลักการสำคัญคือ กรรมสิทธิ์ต่างๆ ควรเป็นของปัจเจกบุคคล
“ตอนที่ผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสไปที่เขื่อนปากมูล ตอนนั้นสมัชชาคนจนกำลังประท้วงคัดค้านเขื่อนปากมูล แม้จะผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว แต่ผมจำประโยคหนึ่งได้ ผมถามแม่ใหญ่ว่าเขาเป็นห่วงอะไรเรื่องการสร้างเขื่อน เขาตอบว่า ห่วงว่าผีจะไม่มีที่อยู่ ตอนนั้นเป็นคำตอบที่ผมประทับใจมาก เพราะผมคิดว่าเขาจะตอบว่ากลัวตัวเองไม่มีที่อยู่ สิ่งที่ผมคิดจนถึงตอนนี้คือ ผีคืออะไร เพราะว่าผีเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เป็นจิตวิญญาณ เป็นสิ่งที่ร้อยผู้คนต่างๆ เข้ากับพื้นที่ แม่น้ำ อาหาร ความเป็นชุมชน และประวัติศาสตร์ของชุมชนเอาไว้ด้วยกัน เพราะฉะนั้นการที่เราพูดถึงที่ดินหรือทรัพยากร มันจึงไม่ใช่เป็นแค่ทรัพยากร แต่มันเป็นองค์รวมทั้งหมดของชีวิตที่เราทุกคนจะแชร์กัน” เก่งกิจกล่าว
นอกจากนั้น เก่งกิจยังตั้งคำถามถึงขบวนการภาคประชาชนที่สนับสนุนการรัฐประหาร หากย้อนกลับไปช่วงปี 2541-2544 เราได้รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มีการปราบปรามขบวนการภาคประชาชนหลากหลายรูปแบบ และกีดกันขบวนการต่อสู้ของชาวบ้าน จนถึงปี 2548 เกิดขบวนการเสื้อเหลือง มีการเรียกร้องนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ทำให้ขบวนการภาคประชาชนควรถูกตั้งคำถามว่า อะไรคือแนวทางการต่อสู้
เก่งกิจกล่าวต่อไปว่า ความขัดแย้งดำเนินต่อเนื่องมาจนปี 2553 อดีตแกนนำภาคประชาชนจำนวนหนึ่งสะใจที่คนเสื้อแดงโดนฆ่าตาย และในปี 2557 คนเหล่านี้ก็ไปสนับสนุนการรัฐประหาร หลายคนได้เข้าไปนั่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาอย่างหน้าไม่อาย กินเงินเดือนแสนกว่าบาท จนกระทั่งหลังจากที่มีการรัฐประหารก็เกิดพรรคการเมืองของภาคประชาชนหลายๆ พรรค หรือพรรคการเมืองที่มีแนวโน้มที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคสามัญชน อนาคตใหม่ หรือก้าวไกลในปัจจุบัน หรืออาจจะเป็นบางส่วนของพรรคที่มีอยู่แล้วอย่างพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญของการต่อสู้ เนื่องจากในช่วงประมาณปี 2540 มีข้อถกเถียงในขบวนการภาคประชาชนว่าควรจะมีพรรคการเมืองของตัวเองไหม หรือจะต่อสู้เป็นขบวนการแล้วเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ซึ่งจะเห็นว่าภาพของการต่อสู้แบบเครือข่ายยังไม่สามารถที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างได้
อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาย้ำว่า ขณะนี้เป็นโอกาสที่จะกลับมาทบทวนการจัดขบวน จากเมื่อก่อนมุ่งเคลื่อนไหวนอกสภา สร้างกันเป็นเครือข่าย แต่ในปัจจุบันมีการเมืองในสภาที่ยังไม่ได้โยงกับการต่อสู้ของขบวนการภาคประชาชน คำถามก็คือเราจะเชื่อมโยงการต่อสู้ในสภากับการต่อสู้ของภาคประชาชนได้อย่างไร แน่นอนว่าถ้าการต่อสู้ในรัฐสภาของพรรคการเมืองไม่แตะต้องระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เราจะไม่มีทางที่จะแก้ปัญหา หรือไม่มีทางที่จะส่งต่อจินตนาการของคนที่ต่อสู้มาก่อน หรือความเดือดร้อนของผู้คนที่มีมาก่อนได้
“สำหรับผม ประชาธิปไตยในความหมายที่เราต้องการมันต้องไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบคอมมิวนิสต์ หรือแบบสังคมนิยม ที่เราต้องยึดทรัพย์สินส่วนบุคคลที่กระจุกตัวอยู่ในปัจจุบันให้กลายเป็นของส่วนรวมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราทุกคนควรมีชีวิตที่มีทรัพย์สินแค่ให้เรายังชีพได้ นอกนั้นมันควรเป็นสิ่งที่เราแบ่งปันร่วมกัน จินตนาการในอนาคตเกี่ยวกับเรื่องที่ดินหรือเรื่องต่างๆ จะเป็นไปได้ ต้องคิดถึงอนาคตที่เป็นประชาธิปไตยในทุกมิติที่ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งหรือสิทธิในร่างกาย แต่รวมถึงสิทธิในทุกๆ อณูในชีวิตของเราที่เราจะกำหนดชีวิตของตัวเองได้” อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยากล่าว
เก่งกิจปิดท้ายว่า อนาคตไม่ใช่แค่สิ่งที่อยู่ข้างหน้าหรือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่อนาคตยังรวมถึงการจดจำความฝันของเราในอดีต หรือจินตนาการที่เราเคยร่วมกันฝันในอดีตด้วย เราจะทำอย่างไรให้ความฝันและจินตนาการในอดีตเป็นจริงได้ในอนาคต การที่เราจะมีอนาคตร่วมกันจึงเป็นกระบวนการที่ทำให้สิ่งที่เราเคยฝันในอดีตสามารถปรากฏขึ้นในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้
ข้อเสนอการขับเคลื่อนสู่จินตภาพใหม่ในที่ดิน
ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง ย้ำว่า ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม หรือนิสิตนักศึกษา ก้าวหน้ากว่าพรรคการเมืองอยู่ตลอดเวลา พรรคการเมืองยังพูดเรื่องการกระจายอำนาจและการกระจายการถือครองที่ดิน ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ยังปรากฏอยู่ในสังคมได้เพราะมีความก้าวหน้า จินตนาการที่ผุดขึ้นเหล่านี้อาจจะตอบปัญหาในเวลานี้ไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นรากฐานสำหรับผู้คนในอนาคต สิ่งที่เรากำลังทำตอนนี้คือการสร้างอนาคต กาลเวลาไม่ได้แยกขาดจากกัน แต่เหลื่อมซ้อนกันอยู่ตลอดเวลา อนาคตคือสิ่งที่เรากำลังสร้าง พี่น้องในขบวนการที่ร่วมต่อสู้กันมาก่อนก็คือคนของอนาคตเช่นกัน
ด้าน รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ย้ำข้อเสนอเดิมคือ จะทำอย่างไรเพื่อให้การต่อสู้หรือความใฝ่ฝันในเรื่องต่างๆ ที่ทุกคนสามารถเป็นกองหน้าร่วมกันได้ และตกผลึกเป็นการต่อสู้ทางการเมืองอันหนึ่งอันเดียวกัน และย้ำว่า เราควรจะต่อสู้ให้ความหมายประชาธิปไตยคือการที่ทุกคนเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ ร่วมกัน ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อให้เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเท่านั้น ซึ่งความฝันนั้นคือความฝันของคณะราษฎร จนถึงตอนนี้ก็ยังถือว่าเป็นผลึกที่เป็นรูปธรรมที่สุดที่เราจะพูดได้ในปัจจุบัน
สุมิตรชัย หัตถสาร เห็นว่า สองสิ่งที่ภาคประชาชนจะต่อสู้กับฝ่ายอำนาจนิยมได้ก็คือ การไม่ใช้ความรุนแรง และการไม่ร่วมมือ เมื่อฝ่ายอำนาจนิยมได้แสดงตัวออกมา ภาคประชาชนต้องสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาแทนแล้วเราเพิกเฉยมัน ประเด็นก็คือ หากเราจะสร้างสิ่งใหม่ในการจัดการที่ดิน ก็ต้องทำให้เห็นว่าเราจัดการที่ดินได้จริงๆ เราจัดการป่าไม้ได้จริงๆ แต่จะทำอย่างไรให้คนในสังคมนี้เห็นด้วย และสร้างความเป็นธรรมให้คนในสังคมได้ ทำให้คนเข้าถึงที่ดิน ทำให้เกิดความเป็นธรรม ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี เรื่องนี้เราทำกันมาหลายปี เพียงแต่ไม่ถูกยกระดับเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง
“ฝ่ายอนุรักษนิยมเขาไม่ต้องการเปลี่ยน เขาต้องการดึงกลับไป แต่ถ้าเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในอนาคตข้างหน้า เราก็ต้องเดินหน้าและทำไปเรื่อยๆ มันเป็นการต่อสู้ระยะยาว พูดง่ายๆ ว่าเวลาอยู่ข้างพวกคุณ คนรุ่นผมเหมือนกับเป็นลมใต้ปีก แต่ถ้าให้ผมไปวิ่งเท่าคุณ ผมก็วิ่งไม่ไหวแล้ว อย่างรุ่นใหม่ๆ หลายคนก็เป็นกำลังใจส่งแรงส่งความรู้สึกให้พวกเรา ต่อให้ทำอะไรไม่ได้ก็ให้กำลังใจ ให้ความรู้สึกที่ดี ผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องที่เราน่าจะไปด้วยกันได้ในแง่ของกระบวนการและการต่อสู้ไปด้วยกัน ทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่” สุมิตรชัยย้ำ