เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายจนนับไม่ถ้วน ต่อการได้มาของวัคซีนที่ไทยกำลังใช้อยู่และนำเข้ามามากกว่าวัคซีนยี่ห้ออื่น อย่าง ซิโนแวค (Sinovac) และ แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) โดยเฉพาะซิโนแวคที่รัฐบาลใช้เป็นวัคซีนหลักอยู่ขณะนี้ที่มีประสิทธิภาพต่ำและได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ล่าช้ากว่าวัคซีนตัวอื่นๆ
ด้วยสาเหตุข้างต้นประกอบกับข้อมูลที่คลุมเครือของวัคซีนตัวดังกล่าว เป็นสาเหตุให้ประชาชนบางส่วนไม่มีความเชื่อมั่นต่อวัคซีนที่รัฐจัดหามาให้ และหมดความเชื่อถือในรัฐบาลไปด้วย ทั้งนี้ ด้วยวัคซีนที่มีเพียง 2 ตัวจากรัฐ มีประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าวัคซีนทางเลือกอย่าง โมเดอร์นา (Moderna) ที่หน่วยงานเอกชนนำเข้ามา และซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นผู้จัดสรรมาให้ ทำให้ประชาชนบางส่วนยอมที่จะควักเงินตัวเองให้กับวัคซีนทางเลือกมากกว่า
อย่างไรก็ตาม แม้วัคซีนซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่รัฐต้องจัดหา นอกจากจะต้องไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับประชาชนแล้ว หากต้องมีประสิทธิภาพและมีข้อมูลที่ชัดเจนด้วย แต่เมื่อไม่เป็นเช่นนั้น ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะใช้วัคซีนทางเลือก เพื่อแลกกับชีวิตที่ไม่ต้องเสี่ยงกับวัคซีนคุณภาพต่ำที่รัฐจัดหาให้ แม้จะเสียเงินก็ตาม
WAY พาไปดูตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ ว่ามีประเทศไหนบ้างที่จัดให้มีวัคซีนทางเลือกให้ประชาชนจ่ายเงินซื้อวัคซีนเอง และพวกเขาต้องจ่ายในราคาเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ
สิงคโปร์: วัคซีนที่มีให้ดีอยู่แล้ว แต่ประชาชนก็มีตัวเลือก
เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนแล้ว สิงคโปร์ถือเป็นประเทศที่ประชาชนได้รับวัคซีนครบทั้งสองเข็มมากที่สุด หรือคิดเป็น 37.1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ โดยวัคซีนที่ใช้เป็นหลัก คือ ไฟเซอร์ (Pfizer) และโมเดอร์นา ซึ่งเป็นวัคซีนที่รัฐจัดหามาฉีดให้ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้ประชาชนมีตัวเลือกที่มากขึ้น รัฐบาลจึงได้นำเข้าวัคซีนทางเลือกมาให้บริการประชาชนด้วย คือ ซิโนแวค โดยกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ (The Ministry of Health) ได้จัดเตรียมไว้ 200,000 โดส กระจายให้กับสถาบันดูแลสุขภาพเอกชนจำนวน 31 แห่ง โดยมีราคาอยู่ที่ 10-25 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อโดส หรือราว 240-599 บาทต่อโดส ขึ้นอยู่กับการตั้งราคาของแต่ละหน่วยงาน
วัคซีนทางเลือกนี้มีไว้สำหรับประชาชนที่กังวลถึงผลข้างเคียงของวัคซีนที่รัฐจัดให้ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ใช้วิธีการผลิตแบบเทคโนโลยีใหม่ สังเคราะห์สารพันธุกรรมเอ็มอาร์เอ็นเอ ที่เฉพาะเจาะจงกับเชื้อไวรัส (messenger RNA: mRNA)
อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศสิงคโปร์จะไม่มีค่าแรงขั้นต่ำ แต่หากดูที่รายได้ของครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 12,235 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 293,712 บาท ซึ่งหากเทียบกับค่าวัคซีนที่ต้องจ่ายแล้วจึงถือว่าไม่กระทบมากนักต่อรายได้ที่มี
อินเดีย: วัคซีนผลิตในประเทศ แต่ประชาชนก็ต้องจ่าย
อินเดียถือเป็นประเทศที่มีประชากรผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีผู้ติดเชื้อทั้งหมดประมาณ 30.66 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตทั้งหมดแตะถึง 400,000 คน แม้จะมีจำนวนวัคซีนโดยรวมทั้งหมดราว 361 ล้านโดส แต่หากดูอัตราการฉีดวัคซีนทั้งสองเข็มของประชาชนแล้วพบว่า มีเพียง 4.7 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น
วัคซีนที่มีอยู่ในอินเดียขณะนี้ ได้แก่ แอสตราเซเนกา (ในชื่อวัคซีนโควิชีลด์-Covishield) และ โควาซิน (Covaxin) ที่ผลิตเองในประเทศ ส่วนสปุตนิค วี (Sputnik V) และ โมเดอร์นา คือวัคซีนที่รัฐนำเข้ามา
อย่างไรก็ตาม แม้อินเดียจะมีวัคซีนที่ผลิตเองในประเทศ หากแต่บริษัทผู้ผลิตไม่ใช่องค์กรของรัฐบาล ดังนั้นจึงต้องมีการแบ่งสัดส่วนการซื้อจากรัฐและสถานพยาบาลเอกชน กล่าวคือ ภาครัฐมีสัดส่วนการซื้อวัคซีนโควิด-19 โดยตรงจากผู้ผลิต 75 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นการจัดซื้อโดยโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งหากประชาชนรับวัคซีนกับหน่วยงานเอกชนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง โดยวัคซีนโควิชีลด์ มีราคา 780 รูปีต่อโดส (ราว 337 บาท) ส่วนวัคซีนโควาซิน มีราคา 1,410 รูปีต่อโดส (ราว 609 บาท) และ สปุตนิค วี 1,145 รูปีต่อโดส (ราว 495 บาท) โดยรัฐบาลกำหนดให้เรียกเก็บค่าบริการที่รวมภาษีแล้วไม่เกิน 150 รูปี (ราว 65 บาท)
จากราคาวัคซีนแต่ละตัว เมื่อนำมาเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 178 รูปี (ราว 77 บาท) หรือหากคิดเป็นรายได้ต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 2,310 บาท และเมื่อเทียบกับราคาวัคซีนต่อโดส ก็เป็นเรื่องยากที่ประชาชนทั่วไปจะสามารถจ่ายค่าวัคซีนทางเลือกเหล่านั้นได้
ปากีสถาน: ราคาวัคซีนทางเลือก แพงเกินจะเอื้อมถึง
หากวัดจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนทั้งสองเข็มของประชากรทั้งหมดในปากีสถาน จะอยู่ที่ 1.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แม้วัคซีนที่ประเทศปากีสถานมีอยู่ขณะนี้จะมีหลากหลายชนิด อย่าง แอสตราเซเนกา, ซิโนฟาร์ม, ซิโนแวค, คานซิโน ไบโอ (CanSino-Bio) ของจีน และ ไฟเซอร์ โดยวัคซีนบางส่วนได้มาจากโครงการ COVAX และบางส่วนได้จากรัฐบาลจัดซื้อมาให้ แต่ตัวเลขของผู้ติดเชื้อในประเทศยังคงมีจำนวนสูงและไม่ลดลง
อย่างไรก็ตาม นอกจากวัคซีนข้างต้นที่รัฐบาลจัดสรรมาให้ประชาชนฟรีแล้ว รัฐยังได้อนุญาตให้หน่วยงานเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีน เพื่อเป็นวัคซีนทางเลือกอีกด้วย นั่นคือ วัคซีนสปุตนิค วี โดยมีราคารวม 2 เข็ม เป็นเงิน 12,000 รูปีปากีสถาน หรือราว 2,432 บาท หรือเฉลี่ยเข็มละกว่า 1,200 บาท ซึ่งหากเทียบกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 20,000 รูปีปากีสถาน หรือราว 4,000 บาทต่อเดือน ถือว่าวัคซีนทางเลือกยังมีราคาที่ค่อนข้างสูงถึงกว่า 1 ใน 4 ของรายได้ต่อเดือน
ไทย: อยากได้วัคซีนดี ไม่อยากรอก็จ่ายตังค์
เป็นที่รับรู้กันว่าวัคซีนหลักที่รัฐบาลไทยจัดหามาให้อย่าง ซิโนแวค และ แอสตราเซเนกา มีประสิทธิภาพต่ำแค่ไหน แต่นอกเหนือจากวัคซีน 2 ยี่ห้อนี้แล้ว ยังมีวัคซีนตัวอื่นที่รัฐได้ทำการติดต่อและรอนำเข้าคือ ไฟเซอร์, สปุตนิค วี และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ได้อย่างน้อย 50 ล้านคน คิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งหากดูตัวเลขประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนทั้งสองเข็มแล้วอยู่ที่ 4.3 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ซึ่งยังถือว่าอีกยาวไกลกว่าจะฉีดให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ ขณะที่อัตราการแพร่แพร่ระบาดยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 308,230 ราย และผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 2,462 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2564) ทั้งยังพบผู้ติดเชื้อล่าสุด ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 จำนวน 9,276 ราย และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ระหว่างการตั้งหน้าตั้งตารอวัคซีนที่ดีและมีคุณภาพเข้ามา ประชาชนบางส่วนได้ทำการลงทะเบียนกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นผู้นำเข้าวัคซีนโมเดอร์นาไปบ้างแล้ว ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเข็มละ 1,650 บาท รวมสองเข็มอยู่ที่ 3,300 บาท และวัคซีนซิโนฟาร์ม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในราคา 888 บาทต่อโดส ซึ่งไม่รวมค่าบริการทางการแพทย์
เช่นเดียวกัน เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ แล้ว อยู่ที่ 331 บาท หรือตกเดือนละประมาณ 9,930 บาท ซึ่งถ้าเทียบกับราคาของวัคซีนโมเดอร์นาในราคา 1,650 บาท ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่น้อยสำหรับประชาชนโดยทั่วไปที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าครองชีพสูงอย่างกรุงเทพฯ ยังไม่นับปัญหาปากท้อง การว่างงาน และขาดรายได้ อันเป็นผลพวงจากมาตรการควบคุมเข้มข้นของรัฐบาล
การจัดให้มีวัคซีนทางเลือกในไทย อาจเป็นทางออกสำหรับบุคคลส่วนหนึ่งผู้มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ แต่อาจไม่ใช่ทางเลือกสำหรับคนส่วนใหญ่ในประเทศที่จะมีโอกาสเข้าถึงได้
*หมายเหตุ – อัตราค่าเงินทั้งหมด ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2564
ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่รัฐบาลเปิดให้เอกชนนำวัคซีนเข้ามาเองได้ แต่ไม่ระบุราคา ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เมียนมา มาเลเซีย บราซิล และเม็กซิโก เป็นต้น และมีบางประเทศที่รัฐอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนทางเลือก แต่ไม่อนุญาตให้เอกชนเรียกเก็บเงินประชาชน อย่างอินโดนีเซีย และโคลอมเบีย เป็นต้น
ที่มา
- Southeast Asia Covid-19 Tracker
- Coronavirus Pandemic (COVID-19) – the data
- Centre caps Covid-19 vaccine rates in private hospitals, here’s how much they will cost now