COVID-19: ชีวิตวิถีใหม่ ความไม่ธรรมดาที่ต้องคุ้นเคย

เป็นเวลา 1 ปีเต็ม ที่คนไทยต้องตกอยู่ในความหวาดหวั่น นับจากเกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่เริ่มต้นจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อช่วงปลายปี 2019 ก่อนจะลุกลามไปทุกทวีปทั่วโลกภายในเวลาอันรวดเร็ว

ในช่วงแรกของการระบาด สถานการณ์ในประเทศยังอยู่ในระดับที่รับมือได้ แต่เพียงไม่นานก็เกิดการแพร่เชื้อแบบ Super Speader ที่สนามมวยลุมพินี ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งทะยาน ขยายวงลุกลามไปสู่หลายจังหวัดทั่วประเทศ

ตามมาด้วยการระบาดระลอกใหม่ส่งท้ายสิ้นปี 2563 ที่เริ่มลุกลามอีกครั้งจากตลาดกลางกุ้ง มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ภายในไม่กี่วันมียอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงกว่าพันคน

ด้วยเหตุที่ COVID-19 เป็นโรคระบาดอุบัติใหม่ ในระยะแรกจึงไม่มีคำอธิบายทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัด รู้แต่เพียงว่าไวรัสชนิดนี้เป็นมหันตภัยร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต และแพร่เชื้อถึงกันได้อย่างง่ายดายยิ่งกว่าไข้หวัด

‘ความไม่รู้’ นำไปสู่ความสับสน แตกตื่น หวาดวิตก อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้กระทั่งบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวก็ไม่อาจไว้วางใจ ทำให้ผู้คนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตขนานใหญ่ เปลี่ยนโฉมหน้าสังคมไทยมาเป็นเวลาร่วม 1 ปี

 

ล็อกดาวน์ ปิดประเทศหนีไวรัส

หลังจากประเทศไทยถูกโจมตีด้วยไวรัส COVID-19 รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพื่อควบคุมสถานการณ์ โดยก่อนหน้านี้ระบบสาธารณสุขของไทยเป็นที่ยอมรับจากสากลในการจัดการภาวะโรคระบาด จากประสบการณ์ที่เคยรับมือโรคซาร์ส (SARS) หรือโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันได้อย่างดีเยี่ยม แต่ในยุครัฐบาลทหาร การทำงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่ราบรื่นเหมือนที่เคยเป็นมา หลายมาตรการที่ประกาศออกมายังไม่มีลักษณะ 2 มาตรฐาน ไม่สามารถบังคับใช้กับบุคคลบางกลุ่มที่มีอำนาจ

ในที่สุดประเทศไทยก็เพลี่ยงพล้ำในการควบคุมโรค ดังเช่นกรณีการเปิดสนามมวยลุมพินีที่มีผู้อยู่เบื้องหลังคือคนมีสี ตั้งแต่ระดับนายพล นายพัน เป็นกรรมการสนามมวย แต่กลับละเลย หละหลวม

กับอีกกรณีที่หลายคนจำได้ดีคือ ทหารอียิปต์และคณะทูตที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยแบบวีไอพีโดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการกักตัว 14 วัน และต่อมาพบว่ามีอาการติดเชื้อ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การประกาศย้ำเตือนไม่ให้การ์ดตก คือการผลักภาระให้ประชาชนเพียงฝ่ายเดียว

อีกมาตรการต่อมาที่หนักหน่วงที่สุดสำหรับคนไทยคือ คำสั่งล็อกดาวน์ประเทศโดยที่ไม่มีการส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าและบังคับใช้ทั่วทั้งประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้า พนักงานลูกจ้าง ในหลายธุรกิจได้รับความเดือดร้อนอย่างสาหัส เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร การกักตุนสินค้า การปิดกิจการ การเลิกจ้าง

มาตรการล็อกดาวน์เมื่อช่วงต้น-กลางปี ทำให้คนไทยทั้งประเทศถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่อย่างไม่อาจปฏิเสธ เป็นบทเรียนครั้งใหญ่ที่ทุกคนไม่มีวันลืม

 

ใส่หน้ากากเข้าหากัน

ความตื่นตระหนกในช่วงแรกของการระบาด ก่อให้เกิดปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน โดยเฉพาะบุคลากรด้านสาธารณสุขที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากมีการกักตุนสินค้า โก่งราคาหน้ากากอนามัย จนภายหลังหน่วยงานรัฐต้องออกมาให้คำแนะนำประชาชนในการผลิตหน้ากากผ้าไว้ใช้เอง แทนหน้ากากทางการแพทย์ที่ขาดแคลนอย่างหนัก เพื่อให้บุคลากรมีหน้ากากใช้อย่างเพียงพอ

ปัจจุบันทั้งหน้ากากอนามัยทางการแพทย์และหน้ากากผ้ามีจำหน่ายเกลื่อนท้องตลาด ด้วยรูปแบบหลากหลายและมีสีสันสวยงามให้เลือกสวมใส่ การพกพาอุปกรณ์เหล่านี้ติดตัวกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน เพราะแทบทุกกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะล้วนมีกฎข้อบังคับชัดเจน ทั้งบนรถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร รวมถึงร้านสะดวกซื้อ ต่อให้หิวแค่ไหน ก็แวะเข้าไปไม่ได้ หากไม่สวมหน้ากากอนามัย

 

อิ่มอร่อย ช็อปกระจาย เพียงปลายนิ้ว 

ตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงการระบาดระลอกใหม่มีข้อสังเกตถึงความเปลี่ยนทางพฤติกรรมที่เห็นได้ชัดของคนไทย ซึ่งในอดีตประเทศไทยมีการรณรงค์ ‘กินร้อน ช้อนกลาง’ มาแต่ไหนแต่ไร ทว่าในยุค COVID-19 มาตรการนี้อาจไม่เพียงพอ จึงมีการเพิ่มความเข้มข้นเป็น ‘กินร้อน ช้อนกู ถูสบู่ อยู่ห่างกัน’ โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ประกอบกับหลักการ social distancing ทำให้การสั่งอาหารออนไลน์เป็นที่นิยมถึงขีดสุด เพราะทั้งสะดวกสบาย ลดความเสี่ยงในการเดินทาง และมีเมนูยั่วน้ำลายให้เลือกไม่อั้น เพียงปลายนิ้วสัมผัส เช่นเดียวกับการจับจ่ายผ่านระบบออนไลน์ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสธนบัตร ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ

 

เรียนออนไลน์บนความไม่พร้อม

ผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ เด็กในช่วงวัยเรียน เนื่องจากโรงเรียนปิดการเรียนการสอนเป็นเวลานาน ส่งผลให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ แม้ภาครัฐจะแก้ปัญหาด้วยการเรียนออนไลน์หรือเรียนออนแอร์ผ่านระบบทีวีดาวเทียม แต่ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นไปตามที่คาด เนื่องจากปัญหาความเหลื่อมล้ำของนักเรียนในครอบครัวยากจน หรือนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ซึ่งขาดแคลนอุปกรณ์ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนในรูปแบบนี้ได้

งานศึกษาวิจัยล่าสุดของธนาคารโลก ระบุว่า การจัดสรรและการกระจายทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาโรงเรียนขาดแคลนบุคลากรครูยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อีกทั้งยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมระหว่างนักเรียนในเขตเมืองกับเขตชนบทค่อนข้างสูง

เมื่อสำรวจความพร้อมของอุปกรณ์การเรียนและคอมพิวเตอร์ พบว่า เด็กในเขตเมืองส่วนใหญ่มีความพร้อมกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เด็กนักเรียนในเขตชนบทมีความพร้อมเพียง 45 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสะท้อนได้ว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์

นอกจากนี้ จากการสำรวจผลกระทบการเรียนรู้ของเด็กไทยในช่วง COVID-19 โดยใช้ดัชนีชี้วัด 3 ด้าน ได้แก่ การปรับตัวในการสอนของครู ระเบียบวินัยในห้องเรียน และคุณภาพการเรียนการสอน พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในกลุ่มโรงเรียนที่ด้อยโอกาสจะมีดัชนีชี้วัดทั้ง 3 ข้อนี้ ต่ำกว่าระดับมาตรฐาน

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า