ในสังคมอเมริกัน วันที่ 1 มกราคม มีความหมายมากกว่าการเปลี่ยนศักราชใหม่ แต่ยังเป็นวันสมบัติสาธารณะ (Public Domain Day) หรือวันที่ผลงานศิลปะแขนงต่างๆ ที่มีอายุ 95 ปี นับแต่วันที่มันถูกสร้างสรรค์ขึ้น จะหมดสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ของสหรัฐ (The Copyright Act of 1976) ทำให้ใครก็ตามสามารถทำซ้ำ เลียนแบบ แชร์ แปล แปร ดัดแปลง หรือกระทำการอื่นๆ กับผลงานเหล่านั้นได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ผู้สร้างสรรค์หรือผู้แทนอีกต่อไป
หากจุดตัดคือ 95 ปี ในปี 2023 ก็ถึงเวลาของผลงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นในปี 1927 และผลงานชิ้นสำคัญที่ใครหลายคนเฝ้ารอคือ The Case Book of Sherlock Holmes ซีรีส์ 12 เรื่องสุดท้ายของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ (Arthur Conan Doyle) ที่เผยแพร่ครั้งแรกใน Strand Magazine ระหว่างปี 1921 – 1927
นั่นหมายความว่าตัวละครและเรื่องราวทั้งหมดในเชอร์ล็อก โฮล์มส์ จะไม่มีลิขสิทธิ์คุ้มครองอีกต่อไป และ Conan Doyle Estate Ltd. บริษัทดูแลผลประโยชน์ของทายาทอาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ จะไม่สามารถไล่ฟ้องนักเขียนคนอื่นๆ เหมือนที่เคยฟ้อง เลสลี คลิงเจอร์ (Leslie Klinger) ผู้เขียน The New Annotated Sherlock Holmes และผลงานดัดแปลงจากชีวิตของอีกหลายเรื่อง และ แนนซี สปริงเกอร์ (Nancy Springer) ผู้เขียนบท Enola Holmes ให้กับ Netflix โดยดัดแปลงจากหนังสือที่ดัดแปลงมาจากเชอร์ล็อก โฮล์มส์อีกที
นอกจากซีรีส์ชุดสุดท้ายของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ยังมีรายชื่อผลงานวรรณกรรมอมตะอีกหลายชิ้นที่ก้าวเท้าออกจากปริมณฑลความคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์ในปีนี้ อาทิ To the Lighthouse ของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf), Men Without Women ของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway), Now We are Six ของ เอ.เอ. มิลน์ (A.A. Milne) ภาพประกอบโดย เออร์เนส เอช. เชพเพิร์ด (Ernest H. Shepard), Der Steppenwolf (ฉบับภาษาเยอรมัน) ของ เฮอร์มานน์ เฮสเส (Hermann Hesse), Amerika (ฉบับภาษาเยอรมัน) ของ ฟรันซ์ คาฟคา (Franz Kafka), The Big Four ของ อกาธา คริสตี (Agatha Christie) และ The Gangs of New York ของ เฮอร์เบิร์ต แอสบูรี (Herbert Asbury)
และผลงานภาพยนตร์อย่าง The Lodger: A Story of the London Fog ภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องแรกของ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก (Alfred Hitchcock), Metropolis กำกับโดย ฟริตซ์ แลง (Fritz Lang), The King of King กำกับโดย เซซิล บี. เดมิลล์ (Cecil B. DeMille), 7th Heaven กำกับโดย แฟรงก์ บอร์เซจ (Frank Borzage) และผลงานที่ฟิล์มหายไปแล้วอย่าง London after Midnight กำกับโดย ท็อด บราวนิง (Tod Browning) และ The Way of All Flesh กำกับโดย วิกเตอร์ เฟลมิง (Victor Fleming)
รวมถึงงานศิลปะ เช่น The Menaced Assassin ผลงานมาสเตอร์พีซของ เรอเน มากริต (René Magritte) ศิลปินแนวเหนือจริง ที่เป็นภาพเรื่องราวฆาตกรรม มีศพหญิงสาวเปลือยกายบนโซฟา ฆาตกรยืนอยู่ในห้อง และนักสืบอีก 2 คน ดักอยู่หน้าประตู มากริตวาดภาพนี้จากฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Le Mort Qui Tue (The Murderous Corpse) นอกจากภาพฆาตกรรม ยังมีผลงานของมากริตอีก 2 ชิ้น พ้นจากการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในปีนี้คือ The Meaning of Night และ Le Jouer Secret นอกจากนี้ ยังมีผลงานของ เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ (Edward Hopper) ชื่อ Automat ตลอดจนเพลง เนื้อเพลง ดนตรีประกอบ และอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง
วันขึ้นปีใหม่ของทุกปี แวดวงศิลปวัฒนธรรมของสังคมอเมริกันจะฉลองด้วยการปล่อยผลงานที่ดัดแปลงจากผลงานที่เพิ่งหมดอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เพื่อให้โลกได้สัมผัสผลงาน ตัวละคร หรือเรื่องราวที่คุ้นเคยในมิติใหม่ๆ และยังเป็นการฉลองการก้าวข้ามพรมแดนทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ทรงสิทธิไปสู่พรมแดนของสมบัติส่วนรวม
เมื่อ The Great Gatsby (1925) ของ ฟรานซิส สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald) หมดอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ในวันที่ 1 มกราคม 2021 ถัดจากนั้นไม่กี่วัน โลกวรรณกรรมของอเมริกาก็ต้องให้การต้อนรับ The Great Gatsby Undead ของ คริสเตน บริกส์ (Kristen Briggs) ที่เฉลยว่า แท้จริงแล้วสาเหตุที่เจย์ แกตส์บี ผู้ร่ำรวย มีพฤติกรรมแปลกประหลาดและจัดปาร์ตี้หรูสุดเหวี่ยงที่บ้านแทบทุกคืน เป็นเพราะเขาเป็นแวมไพร์ ไม่มีวันตาย ผลงานชิ้นนี้เปลี่ยนอารมณ์จากนิยายรักเป็นเรื่องเล่าสยองขวัญที่ยังคงเดินเรื่องด้วยแกตส์บี เดซี่ และนิก
The Gay Gatsby ของ บี.เอ.เบเกอร์ (B. A. Baker) เผยให้เห็นความหลากหลายทางเพศในสังคมนิวยอร์กยุค Jazz Age (ทศวรรษ 1920) ซึ่งเดิมทีฟิตซ์เจอรัลด์พยายามปกปิดเอาไว้ตามค่านิยมในสมัยนั้น The Gay Gatsby โฆษณาอย่างชัดแจ้งว่าเป็น “a remix of the timeless classic” วางโครงเรื่องให้แกตส์บีเป็น gaylord จัดปาร์ตี้อย่าง “โคตรเกย์ที่สุด” เท่าที่เคยมีมา และเมื่อได้ตามเพื่อนชาวเควียร์ (queer) ไปปาร์ตี้ของแกตส์บีบ่อยครั้งเข้า นิกก็ค้นพบความลับของตนเอง
นอกจากจะมีแกตส์บีในเวอร์ชั่นที่แตกต่างจากต้นฉบับอย่างมากแล้ว การพ้นจากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ยังเปิดทางให้แกตส์บีเดินทางสู่โลกของภาพยนตร์แอนิเมชันและละครเพลง รวมถึงหนังสือเสียงฉบับเต็มที่มีผู้ทำออกเผยแพร่ทางออนไลน์ และเปิดให้แชร์อย่างเสรี
1 มกราคม 2022 Winnie-the-Pooh (1926) ของ เอ.เอ. มิลน์ ก้าวออกจากปริมณฑลของลิขสิทธิ์ พร้อมๆ กับการถือกำเนิดของ Winnie-the-Screwed ในฐานะเครื่องมือสื่อสารทางวัฒนธรรมของค่ายมือถือยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในสหรัฐ เปลี่ยนหมีพูห์ใสซื่อ และโลกทั้งใบที่มีแต่มิตรภาพกับโหลน้ำผึ้ง ให้เป็นหมีผู้กลัดกลุ้ม เพราะไม่มีเงินจ่ายบิลค่าโทรศัพท์มือถือ กระทั่งพบว่าบริษัทมือถือแห่งหนึ่งยอมให้ผู้ใช้บริการค้างชำระได้ 3 เดือน เจ้าหมีจึงรีบย้ายค่ายและแจ้งข่าวดีนั้นแก่คริสโตเฟอร์ โรบิน ไม่เพียงเท่านั้น วินนี เดอะ พูห์ ยังมีความสุขกับการเปลือยกายในหนังสือการ์ตูนเล่มหนึ่ง และกลายเป็นตัวละครในภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง Winnie-the-Pooh: Blood and Honey
เจนนิเฟอร์ เจนกินส์ (Jennifer Jenkins) ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสมบัติสาธารณะ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke’s Center for the Study of Public Domain) เขียนบทความเฉลิมฉลอง Public Domain Day ในปีนี้ว่า
“สาธารณะสามารถเข้าถึงวัตถุทางวัฒนธรรมได้มากขึ้น และช่วยไม่ให้มันหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ปี 1927 ถือว่านานมาก ผลงานส่วนใหญ่ที่สร้างสรรค์ขึ้นในปีนั้นหลุดจากวงโคจรไปแล้ว แต่เมื่อมันกลายเป็นสมบัติสาธารณะ เราสามารถช่วยกันทำให้มันปรากฏขึ้นในสังคมอีกครั้ง ทำให้ผู้คนได้ค้นพบ มีความสุข และเติมชีวิตชีวาให้กับงานเหล่านั้น”
เจนกินส์ยังพูดถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผลงานสร้างสรรค์เป็นสมบัติสาธารณะว่า ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และคนรุ่นใหม่สามารถนำผลงานคลาสสิกของคนรุ่นเก่าไปต่อยอดในวิถีที่สอดคล้องกับยุคสมัย ซึ่งเจนกินส์มองว่าเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับแนวคิดของกฎหมายลิขสิทธิ์
“เป้าหมายหลักของกฎหมายลิขสิทธิ์คือ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และการเปลี่ยนสถานะเป็นสมบัติสาธารณะเช่นนี้ จะยิ่งช่วยให้ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ง่าย”
ฝ่ายสนับสนุนแนวคิดลิขสิทธิ์อันเป็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบหนึ่ง มักให้เหตุผลว่า กฎหมายลิขสิทธิ์จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตผลงานใหม่ๆ เพราะลิขสิทธิ์จะคุ้มครองไม่ให้ผู้อื่นลอกเลียนแบบ หรือนำผลงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ไปทำซ้ำหาผลประโยชน์เข้าตัว ความคุ้มครองนี้จึงทำหน้าที่เป็นทั้งรางวัลและสร้างแรงกระตุ้นให้มนุษย์ใช้ความคิดสร้างสรรค์
หัวใจของกฎหมายลิขสิทธิ์คือ การให้สิทธิผูกขาดเฉพาะตัว (exclusive right) แก่ผู้ทรงสิทธิ เพื่อให้มีอิสระดำเนินการเผยแพร่หรือใช้ประโยชน์ผลงาน แต่ในทางปฏิบัติ ลิขสิทธิ์กลับถูกนำมาใช้ทำหน้าที่ สิทธิภาคเสธ (negative right) กล่าวคือห้ามทุกคนยกเว้นผู้ทรงสิทธิกระทำการใดๆ กับผลงานนั้น โดยไม่ได้รับอนุญาต
นอกจากนี้ แม้จะเป็นกฎหมายแพ่ง แต่กฎหมายก็กำหนดให้ความผิดฐานฝ่าฝืนหรือละเมิดลิขสิทธิ์ต้องรับผิดทางอาญาด้วย ทำให้นักวิจารณ์บางกลุ่มมองว่า แท้ที่จริงแล้วกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้สนับสนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์โดยรวมของสังคม แต่เป็นเพียงการตอบสนองความต้องการสิทธิผูกขาด และสร้างความร่ำรวยให้ผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น
ลิขสิทธิ์ของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เป็นตัวอย่างที่ดี ตัวละครนักสืบชื่อดังก้องโลกถือกำเนิดในปี 1887 อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ สร้างสรรค์เรื่องราวของโฮล์มส์ออกมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 1927 ในขณะที่ลิขสิทธิ์ของเชอร์ล็อก โฮล์มส์หลายเล่มทยอยหมดอายุตามกาลเวลา ก็ยังมีอีกหลายเล่มที่ยังได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์
ปี 2013 Conan Doyle Estate Ltd. บริษัทดูแลผลประโยชน์ของทายาทอาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ ฟ้อง เลสลี คลิงเจอร์ ข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ และห้ามไม่ให้จำหน่ายหนังสือจนกว่าจะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้บริษัท คลิงเจอร์สู้คดี โดยให้เหตุผลว่า หนังสือของเธอดัดแปลงจากเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เล่มที่เป็นสมบัติสาธารณะแล้ว Conan Doyle Estate Ltd. โต้กลับว่า เชอร์ล็อก โฮล์มส์ และ ดร.วัตสัน ยังเป็นตัวละครที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์
คดีจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของ Conan Doyle Estate Ltd. เมื่อศาลตัดสินว่า องค์ประกอบทุกอย่างในหนังสือเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ที่หมดอายุลิขสิทธิ์แล้ว ถือเป็นสมบัติสาธารณะ ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ใคร
อย่างไรก็ดี ปี 2020 ผู้แทนของโคนัน ดอยล์ก็ยื่นฟ้องแนนซี สปริงเกอร์ และ Netflix อีก ด้วยเหตุผลใกล้เคียงกับการฟ้องคลิงเจอร์ นั่นคือกล่าวหาว่า Netflix นำเสนอภาพของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ใน Enola Holmes ภาพยนตร์ดัดแปลงจากหนังสือ Enola Holmes Mysteries ซึ่งสปริงเกอร์ดัดแปลงจากหนังสือของโคนัน ดอยล์ อีกที แม้สปริงเกอร์จะออกแบบให้โฮล์มส์เป็นคนที่แสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก ให้เกียรติผู้หญิง เป็นมิตร และเริ่มสนใจสุนัข แตกต่างจากบุคลิกของโฮล์มส์ที่โคนัน ดอยล์สร้างขึ้น คดีนี้จบลงด้วยการถอนฟ้องในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน
ทั้งนี้ แนวคิดที่มองว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอย หากเกิดจากพัฒนาการของกฎหมายลิขสิทธิ์ในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีกฎหมายลิขสิทธิ์เอื้อผลประโยชน์ต่อผู้ทรงสิทธิมากที่สุดในโลก
กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของอเมริกาที่ประกาศใช้ในปี 1790 ให้ความคุ้มครองผลงาน 14 ปี โดยอนุญาตให้ยื่นขอขยายความคุ้มครองเพิ่มได้อีก 14 ปี หลังจากนั้นมีการแก้กฎหมายเพื่อขยายระยะเวลาการให้ความคุ้มครองเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 1976 เมื่อมีการขยายระยะเวลาการให้ความคุ้มครองถึง 75 ปี ก่อนจะมีการแก้เพิ่มเติมในปี 1998 ขยายระยะเวลาการคุ้มครองไปอีก 20 ปี เป็น 95 ปี ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
กฎหมายฉบับแก้ไขในปี 1998 มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า กฎหมายคุ้มครองมิกกี้เมาส์ (The Micky Mouse Protection Act) เพราะวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งคือ ขยายความคุ้มครองให้กับมิกกี้เมาส์ เจ้าหนูขวัญใจเด็กๆ ทั่วโลก ซึ่งหากไม่มีการขยายอายุลิขสิทธิ์ มิกกี้เมาส์ต้องเปลี่ยนจากทรัพย์สินของดิสนีย์เป็นสมบัติสาธารณะในปี 2004 แต่เมื่อได้รับการขยายความคุ้มครองสิทธิ์ออกไปอีก 20 ปี ดิสนีย์จะสามารถสร้างรายได้จากหนูตัวนี้อีกนับพันล้านเหรียญ ก่อนที่อายุความคุ้มครองจะหมดลงในวันที่ 1 มกราคม ปี 2024
นอกจาก The Micky Mouse Protection Act จะทำให้ผลงานต่างๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้นก่อนปี 1978 ได้รับการคุ้มครอง 95 ปี แล้ว ยังทำให้ผลงานรุ่นหลังๆ ที่สร้างขึ้นได้รับการคุ้มครองตลอดอายุของผู้ประพันธ์หรือผู้สร้างสรรค์ผลงาน และบวกไปอีก 70 ปี หลังการเสียชีวิต
ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า วันที่ 1 มกราคมถูกกำหนดให้เป็นวันสมบัติสาธารณะตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่การเฉลิมฉลองวันสำคัญนี้ก็มีเสียงดังมากขึ้นทุกปี จนสำนักงานลิขสิทธิ์ของอเมริกาเองก็ออกมาร่วมเฉลิมฉลองด้วย คาริน เอ. เทมเปิล (Karyn A. Temple) อดีตรักษาการณ์ผู้อำนวยการสำนักงานลิขสิทธิ์ กล่าวในการฉลอง Public Domain Day ในปี 2019 ว่า
“การเป็นสมบัติสาธารณะคือส่วนหนึ่งของระบบลิขสิทธิ์อย่างแท้จริง สมบัติสาธารณะเป็นแรงบันดาลใจ และวัตถุดิบสำคัญให้เหล่านักประพันธ์นำไปสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ”
วิทนีย์ เลวานดัสกี (Whitney Levandusky) ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย ประชาสัมพันธ์ และการศึกษาของสำนักงานลิขสิทธิ์ ยืนยันว่า การเป็นสมบัติสาธารณะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดผลงานสร้างสรรค์ใหม่ๆ และกฎหมายลิขสิทธิ์ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อประเด็นนี้
“รัฐธรรมนูญอนุญาตให้สภาคองเกรสออกกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่ก็มีข้อกำหนดว่า การคุ้มครองสิทธินั้นต้องมีระยะเวลาจำกัด และการจำกัดระยะเวลาคุ้มครองเช่นนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตที่สร้างสรรค์ของสหรัฐอเมริกา”
ทว่าไม่มีใครชี้แจงสาเหตุของระยะเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ยาวนานข้ามชั่วอายุคนเช่นนั้น ทั้งที่ประเด็นสำคัญของ Public Domain Day คือ ต้องการให้ผลงานทางศิลปวัฒนธรรมจำนวนหนึ่งปลอดจากการผูกขาด ไม่ถูกแช่แข็งให้หยุดนิ่ง และสามารถถูกนำไปต่อยอดเป็นผลงานชิ้นใหม่ๆ ได้ ดังคำกล่าวของเจนนิเฟอร์ เจนกินส์ ว่า
“ระบบลิขสิทธิ์ในปัจจุบันทำให้เราต้องสูญเสียผลงานทางวัฒนธรรมไปอย่างไม่ควรจะเสีย ส่วนใหญ่เป็นเพราะงานเหล่านั้นหมดคุณค่าในเชิงพาณิชย์หรือไม่ก็หายสาบสูญไปแล้ว เราขังมันไว้เพื่อสิทธิ์ผูกขาดของคนกลุ่มเล็กๆ เหมือนที่เราสูญเสียฟิล์มภาพยนตร์เงียบ สิ่งที่ยังคงเหลืออยู่เป็นเพียงเศษชิ้นส่วน หรือเหลือเพียงภาพนิ่งและคำอธิบายถึงความร่วมสมัยของมัน
“ศาสตราจารย์ฮาล อเบลสัน (Hal Abelson) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์แห่ง MIT เคยตั้งคำถามว่า การเป็นมนุษย์จะมีความหมายอะไร หากเราไม่มีวัฒนธรรมร่วมกัน และวัฒนธรรมร่วมกันจะมีความหมายอะไร หากเราไม่สามารถแบ่งปันมันได้ วันสมบัติสาธารณะจึงเป็นการเริ่มต้นปีแห่งการแบ่งปันวัฒนธรรมของพวกเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรเฉลิมฉลองอย่างยิ่ง”
ที่มา
- https://news.artnet.com/art-world/public-domain-day-2023-copyright-2238867
- https://web.law.duke.edu/cspd/publicdomainday/2023/
- https://www.fastcompany.com/90710034/ryan-reynolds-taunts-disney-with-winnie-the-screwed-ad-as-copyright-battles-heat-up
- https://www.theguardian.com/commentisfree/2023/jan/01/something-is-not-right-with-copyright-this-public-domain-day-conan-doyle
- http://www.openbase.in.th/node/1852?fbclid=IwAR1ozWjSyXerS6EypMH2AWBa5rjHIHx2kj9l2PNccuPJNaR0-S00FQb7lEs
- https://www.reuters.com/article/uk-usa-court-copyright-idUKKBN0IN1EB20141103
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/214264