เรื่อง: เครือข่ายพลเมืองเน็ต
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดงานสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไขกฎหมายปัจจุบันที่ประกาศใช้เมื่อปี 2550
ในงานเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้จะวิเคราะห์จากร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปรับปรุงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 โดยสาระสำคัญในร่างมีดังนี้
สามารถดาวน์โหลด ร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ (ฉบับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559) ได้ตามลิงค์
หรือ ร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ (ฉบับวันที่ 18 พฤศจิกายน) ดาวน์โหลดได้ตามลิงค์
วิจารณ์-ตรวจสอบบนออนไลน์ทำได้ยาก เหลือพื้นที่แค่คลิปหมาแมวหรรษา
ร่างกฎหมายนี้แก้ไขใจความสำคัญในมาตรา 14 (1) และ (2) เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ ด้วยการเพิ่มฐานความผิดให้กว้างกว่าเดิม หากมีผู้โพสต์ข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายต่อ “การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ การบริการสาธารณะ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ให้มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท การเพิ่มฐานความผิดเช่นนี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อการแสดงความเห็นเชิงตรวจสอบวิจารณ์นโยบายสาธารณะได้
ส่วนมาตราที่เป็นปัญหา อย่างมาตรา 14(1) ตามร่างปัจจุบัน ที่เคยถูกนำมาใช้ฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อสื่อและภาคประชาชน ในร่างฉบับใหม่ก็เพิ่มองค์ประกอบขึ้นมาว่า การกระทำที่เป็นความผิด ต้องทำโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง ซึ่งในเชิงภาษากฎหมาย ยังไม่ชัดเจนมากนักว่าจะแก้ปัญหาคดีหมิ่นประมาทออนไลน์แบบเดิมๆ ได้
ยิ่งไปกว่านั้น ยังเพิ่มมาตรา 16/2 ในกรณีที่พบข้อมูลที่เป็นความผิด ศาลอาจสั่งให้ทำลายข้อมูลได้ด้วย ซึ่งผู้ใดที่รู้ว่ามีข้อมูลเหล่านั้นอยู่ในคอมพิวเตอร์ ต้องทำลาย ไม่เช่นนั้นจะต้องรับโทษครึ่งหนึ่งของคนโพสต์
รัฐไทยหวัง สังคมรีพอร์ต ช่วยตรวจสอบ
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปัจจุบันกำหนดความผิดของผู้ให้บริการที่จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีข้อความผิดกฎหมายปรากฏอยู่ ตามร่างใหม่เอาผิดผู้ให้บริการที่ ‘ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ’ ให้มีเนื้อหาออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย ให้มีโทษเช่นเดียวกับผู้โพสต์ข้อความ
แต่ที่ผ่านมา มีข้อที่พิสูจน์ได้ยากว่า จะพิจารณาอย่างไรว่าผู้ให้บริการมีส่วน ‘ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ’ ร่างแก้ไขฉบับนี้จึงกำหนดมาตรการ ‘การแจ้งเตือนและการระงับการแพร่หลาย’ (Notice and Takedown) ซึ่งกำหนดเอาไว้ในร่างประกาศกฎกระทรวงให้เป็นภาระหน้าที่ของผู้ให้บริการที่จะต้องจัดหามาตรการแจ้งเตือน เพื่อให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถแจ้งรายงานไปยังผู้ให้บริการ และผู้ให้บริการต้องระงับข้อมูลภายใน 3 วัน
บล็อคเว็บด้วยอำนาจใหม่ ใหญ่กว่าเดิม
สิ่งที่จะมีความสำคัญและเกิดผลกระทบต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในร่างฉบับนี้ อยู่ในมาตรา 20 คือการกำหนดให้มี ‘คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์’ มาทำหน้าที่เกี่ยวกับการบล็อคเว็บไซต์ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการห้าคน โดยมีสองคนที่เป็นผู้แทนภาคเอกชน ทำหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อบล็อกเว็บ
โดยขณะเดียวกันกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็กำลังจัดทำร่างประกาศกระทรวงเกี่ยวกับการบล็อกเว็บไซต์ กำหนดให้กระทรวงฯ สร้างระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นศูนย์กลางเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถบล็อคหรือลบข้อมูลนั้นได้เอง โดยให้เชื่อมโยงระบบดังกล่าวเข้ากับระบบการบล็อกหรือลบข้อมูลของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายต่างๆ ตามความยินยอม
นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยังขยายขอบเขตของการบล็อคเว็บ ที่เดิมจำกัดเฉพาะความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้สามารถบล็อคเว็บที่อาจมีเนื้อหาขัดต่อเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา หรือความผิดตามกฎหมายอื่นๆ รวมถึง บล็อคเนื้อหาที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี แม้จะไม่ผิดกฎหมายใดๆ เลยก็ได้
ทำ พ.ร.บ.คอม ให้เป็นประมวลกฎหมายอาญาฉบับออนไลน์
โดยภาพรวมแล้ว การปรับแก้ร่างกฎหมายครั้งนี้ มีความพยายามปรับให้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สามารถครอบคลุมถึงกฎหมายอื่นๆ เช่น การกำหนดอำนาจของเจ้าหน้าที่ที่จะตรวจคอมพิวเตอร์หรือยึดอายัดคอมพิวเตอร์ ก็ไม่ได้จำกัดความผิดเพราะตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เท่านั้น แต่รวมถึงความผิดอาญาตามกฎหมายอื่นด้วย (มาตรา 18 และ 19)
ผู้ให้บริการอาจมีหน้าที่ต้องเก็บข้อมูลนานขึ้น
ตามกฎหมายปัจจุบันผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีหน้าที่ต้องเก็บข้อมูลผู้ใช้งาน ข้อมูลการจราจรคอมพิวเตอร์ ไว้ไม่เกิน 90 วัน หรือในกรณีจำเป็นเจ้าหน้าที่อาจสั่งให้เก็บไว้ได้ไม่เกิน 1 ปี แต่ตามร่างแก้ไขใหม่ มาตรา 26 กำหนดว่าในกรณีจำเป็นอาจสั่งให้เก็บไว้ได้ไม่เกิน 2 ปี และมาตรา 18 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สั่งให้เก็บข้อมูลที่เป็นหลักฐานในการกระทำความผิดที่เจ้าหน้าที่ต้องการเอาไว้ก่อนได้ โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลา