เรื่อง: อรปมน วงค์อินตา
ภาพ: คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนและความรุนแรงต่อบุคคลที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในไทยนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า มีผู้หยิบยกประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นมาหลายต่อหลายครั้ง
ดังจะเห็นได้จากการจัดการกับเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่นำเสนอในงานอภิปรายวิชาการ ‘ป๋วยกับสังคมไทยในวิกฤติเปลี่ยนผ่าน’ ที่จัดขึ้น ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง ที่ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกเป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี 2559-2560
มองสิทธิมนุษยชน ฉบับ(ไม่)หาความจริงและ(ไม่)รับผิด
ในช่วงแรกของการอภิปราย มุ่งประเด็นไปที่การเมืองในวิกฤติเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจะไม่สามารถก้าวข้ามวิกฤติได้ หากไม่มีการชำระประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์บาดแผลที่สังคมพยายามบอกว่าไม่มีประโยชน์ที่จะไปรื้อฟื้นขึ้นมา
จากการนำเสนอบทความ ‘มองสิทธิมนุษยชนไทยผ่านการ(ไม่)หาความจริงและการ(ไม่)รับผิด: กรณีความรุนแรงโดยรัฐที่กระทำต่อขบวนการประชาธิปไตย’ โดย เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า
มีการกระทำความรุนแรงต่อผู้เรียกร้องประชาธิปไตยหลายครั้ง แต่ไม่เคยมีผู้ต้องรับผิด
เบญจรัตน์ยกกรณีอาจารย์ป๋วยซึ่งโดดเด่นมากในการค้นหาความจริงและความพยายามพูดความจริงเกี่ยวกับกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วง 6 ตุลา 19
เบญจรัตน์ยกประเด็นสิทธิมนุษยชนไทยจากกรณีความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อผู้เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ได้แก่ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 ขึ้นมาอภิปราย
กรณีเหล่านี้เมื่อย้อนดูจะพบว่า ล้วนไม่มีความคืบหน้าของการค้นหาความจริงและการรับผิด ซึ่งถือว่าสำคัญมากต่อการสร้างสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย
เบญจรัตน์จับคู่เหตุการณ์ 4 เหตุการณ์โดยเรียงตามสถานะของผู้ชุมนุม คือจับคู่ 14 ตุลากับพฤษภาทมิฬไว้ด้วยกัน เพราะผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องในเหตุการณ์นี้ค่อนข้างได้รับการยอมรับ และมีความชอบธรรมว่าเป็นผู้เรียกร้องประชาธิปไตย
ส่วนกรณี 6 ตุลากับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ถือว่ายังเป็นเรื่องค้างคา เพราะตัวผู้ชุมนุมถูกตีตราจากสังคมและภาครัฐ ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และในกรณีคนเสื้อแดงได้รับการกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย โดยเบญจรัตน์กล่าวว่าเรื่องนี้มีผลต่อการจัดการความจริงเรื่องสิทธิมนุษยชนมาก พร้อมชี้ให้เห็นว่ากลุ่มผู้กระทำผิดที่เป็นฝ่ายละเมิดกลับไม่ถูกดำเนินคดี
14 ตุลา และพฤษภา 35
หลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ไม่ถึงหนึ่งเดือน รัฐบาลออกมาแถลงผลการสอบสวนของกระทรวงกลาโหมคือ สอบสวนจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พันเอกณรงค์ กิตติขจร ว่าบุคคลทั้งสามปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ แบบแผนของทางราชการ แฝงไว้ด้วยโทสะจริตที่มุ่งหมายทำลายล้างนิสิตนักศึกษาและประชาชน
“ฟังดูดี มีการยอมรับว่าผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กระทำ มีความมุ่งหมายที่จะทำร้ายประชาชน แต่นัยที่ซ่อนอยู่ พบว่าแถลงการณ์ไม่ได้บอกว่าการปราบปรามประชาชนเป็นความผิดในตัวของมันเอง และรัฐบาลไม่มีการปฏิเสธหากจะมีการปราบปรามการซ่องสุมกำลังล้มล้างรัฐบาลโดยใช้ความรุนแรงไปปราบปราม”
เบญจรัตน์กล่าวว่า การที่รัฐบาลไม่สนใจดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดยังปรากฏชัดใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งให้การนิรโทษกรรมแก่นักเรียนนักศึกษาและประชาชน ที่เกี่ยวข้องกับการเดินขบวน โดย พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวลดทอนความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชนเป็นเพียง “ความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันของนิสิตนักศึกษาและประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ใช่ความรุนแรงที่กระทำต่อนักศึกษา”
และยังบอกด้วยว่า “เจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการ คนที่ยิงนักศึกษา คนที่ยิงผู้ชุมนุม เมื่อได้กระทำการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอยู่แล้ว”
กรณี 14 ตุลา จึงยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อให้มีการรับผิด นอกเหนือไปจากการเยียวยาโดยได้รับเงินชดเชยช่วยเหลือ กรณี 14 ตุลา จึงไม่ต่างกันนักกับกรณีพฤษภาคม 2535 ซึ่งมีงานรำลึกเพื่อเชิดชูเกียรติวีรชนทุกปี แต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าในแง่การเอาผิดเช่นกัน
เบญจรัตน์ให้ข้อมูลว่า มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุดเพื่อหาว่าเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 17-20 พฤษภาคม แต่ข้อค้นพบของคณะกรรมการนั้นมีนัยสำคัญต่อเรื่องรับผิดและการลอยนวลเช่นกัน
“มีรายงานการสืบสวนกรณีพฤษภาทมิฬของกระทรวงกลาโหมได้เผยแพร่ออกมาในปี 2543 ก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเช่นกัน เพราะมีการขีดฆ่าสีดำตรงชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องออกไป กรณีนี้รัฐยอมรับว่ามีการกระทำผิดในการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงขึ้น มีการพยายามสืบสวนระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้มีความพยายามใดๆ เลยที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมารับผิดชอบ” เบญจรัตน์อภิปราย
6 ตุลา และ เมษา พฤษภา 53
ส่วนกรณี 6 ตุลานั้นต่างจากกรณี 14 ตุลา เพราะมีเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจที่ใช้ความรุนแรง และยังมีกลุ่มพลเรือนฝ่ายขวาที่เข้ามาใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม และ 6 ตุลาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยฉบับทางการ ก็ไม่ได้มีการบันทึกไว้ว่าเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย
“แทบจะไม่มีความพยายามของรัฐในการค้นหาความจริงเลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับนักศึกษา เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงก็ได้รับการนิรโทษกรรมอีกแล้ว โดยพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งก็ออกมาแทบจะทันทีหลังวันที่ 6 ตุลาคม” เบญจรัตน์กล่าว
โดยมีการนิรโทษกรรมให้กรณีความรุนแรงต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งนิรโทษกรรมให้คนที่ทำรัฐประหารในวันนั้น และคนที่ใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาด้วย เบญจรัตน์กล่าวถึงข้ออ้างในการนิรโทษกรรมนั้นว่า
“ใครก็ตามที่ทำเพื่อให้เกิดความมั่นคงของอาณาจักร ของราชบัลลังก์ และเพื่อความสงบสุขของประชาชน ไม่ว่าจะทำในฐานะใด ไม่ว่าจะทำวันนั้นหรือวันก่อนหน้านั้นก็ได้รับการนิรโทษกรรม”
เหตุการณ์ 6 ตุลานั้น เบญจรัตน์กล่าวว่ามันถูกอธิบายว่า “เกิดจากความไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่แท้จริง เพราะเหตุแห่งความเยาว์วัยและการขาดประสบการณ์ของผู้กระทำความผิด ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาวันที่ 6 ตุลา เป็นแค่ปัญหาของคนหนุ่มคนสาวที่ไม่เข้าใจโลก และคนที่ได้รับนิรโทษกรรม คือตัวนักศึกษาที่ชุมนุม ก็ไม่สิทธิ์ฟ้องร้องสิทธิและเรียกประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้นจากกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้น”
เหตุการณ์การชุมนุมช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 เบญจรัตน์กล่าวว่า กรณีนี้หากเทียบกับสามเหตุการณ์ก่อนหน้านี้อาจจะดูดีขึ้นนิดหนึ่งเพราะไม่มีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมออกมา เนื่องจากถูกต่อต้านจนตกไป
จากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แต่ คอป. ออกตัวอยู่ตลอดว่าต้องการค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองไม่ใช่ค้นหาผู้ละเมิด มีข้อเสนอชดเชยผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ แต่ไม่มีเรื่องการดำเนินคดีกับผู้ละเมิดเลย คอป. มุ่งไปที่การเยียวยาเหยื่อมากกว่าให้คุณค่ากับการลงโทษผู้กระทำผิด และเน้นให้ผู้กระทำผิดมาแสดงความรับผิด มากกว่าที่จะลงโทษพวกเขา ในแง่การดำเนินคดี เบญจรัตน์กล่าวว่า
“ดีเอสไอฟ้องร้องคุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพ ข้อหาพยายามฆ่า แต่ศาลอาญาก็บอกว่า เป็นความผิดหน้าที่ต่อราชการ ไปดำเนินการที่ศาลฎีกาแผนกคดีนักการเมือง ก็ยกฟ้องไป
“พอไปฟ้องที่ ปปช. มติของ ปปช. ก็บอกว่าปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องแล้ว เพราะการชุมนุมนั้นไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ รัฐจำเป็นต้องดำเนินมาตรการปราบปราม ถ้ามีความผิดอยู่บ้าง ก็เป็นแค่ความผิดเฉพาะตัวของเจ้าหน้าที่ทหารแต่ละคนที่ใช้อาวุธปืนไม่สมควรแก่เหตุเท่านั้น ไม่ได้เป็นความผิดระดับผู้บังคับบัญชา”
จากมติ ปปช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) เมื่อปลายปี 2558 เบญจรัตน์กล่าวว่า ไม่ต่างกันนักกับคำตัดสินของคณะกรรมการในเหตุการณ์ 14 ตุลา และพฤษภาทมิฬที่ลดทอนการกระทำความรุนแรงของรัฐให้เป็นความผิดส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ และยังมีนัยเรื่องการอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงปราบปรามได้ หากผู้ชุมนุมไม่ได้ชุมนุมโดยสงบ ซึ่งล้วนไม่ได้ตั้งคำถามถึงสัดส่วนที่เหมาะสมของความรุนแรงที่ใช้โดยเจ้าหน้าที่รัฐ
จากการศึกษาการดำเนินการค้นหาความจริง และความพยายามนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษหลังจากการปราบปรามผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตยในสี่กรณีนี้ เบญจรัตน์พบว่าแทบไม่มีการค้นหาความจริง และไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การหาผู้กระทำผิด ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการเหล่านี้แล้ว เบญจรัตน์ให้ความเห็นอย่างกังวลใจว่า
เราคงจะไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนให้หยั่งรากขึ้นได้ในสังคมไทย เพราะมันจะกลายเป็นวัฒนธรรมการลอยนวลแทน ซึ่งจะยิ่งเป็นการตอกย้ำแก่ประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า รัฐสามารถจะละเมิดสิทธิประชาชนได้ตามอำเภอใจ ไม่ต้องรับผิดชอบ แล้วมันก็จะเป็นการนิยามความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพลเมืองผู้ไร้สิทธิ์อย่างสำคัญ
สุดท้ายเสียงเรียกร้องของประชาชนให้มีการค้นหาความจริงและความรับผิดยังคงจำกัดอยู่ในคนกลุ่มเล็กๆ เบญจรัตน์ชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนของไทยยังไม่ได้หยั่งรากพอที่จะออกมายืนยันสิทธิแทนผู้อื่น ที่สำคัญพลเมืองที่เรียกร้องประชาธิปไตยมักถูกเสนอว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อความมั่นคงของชาติ
ทำไมเมืองไทยไม่มีนักคิด
“ตกลงแล้วพื้นที่ทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยไทยมีไหม หรือมี แต่อยู่ในสภาพที่ชุลมุนวุ่นวาย จนกระทั่งหลักการไม่มีจนกลายเป็นหลักกู” ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความเห็นหลังการนำเสนอบทความประเด็นสิทธิมนุษยชน
ขณะที่ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่อาจารย์ป๋วยสนใจนั้น ธเนศกล่าวว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอังกฤษก็เป็นที่ถกเถียงกันตั้งแต่ช่วงหลังสงคราม
“มันไม่มีคนที่อยู่ในฐานะทางสังคม ทางการเมือง ทางการรับรู้ของประชาชนที่เรียกว่าเป็นชนชั้นนำ ที่มีความจริงใจและปรารถนาจะเห็นการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง ระดับล่างลงมา ไม่ใช่แค่ข้างบน”
ธเนศยกตัวอย่างนักคิดไทยที่เป็นปัญญาชนสยามก่อนอาจารย์ป๋วยที่ออกมาพูดเรื่องความจริง ความงาม ความดี คนแรกคือ เทียนวรรณ เป็นบรรณาธิการและนักเขียนในสมัยรัชกาลที่ 5
“เทียนวรรณก็พูดเรื่องความเท่าเทียมของสตรี การศึกษา ความรู้ต่างๆ ว่าต้องเปิดให้ไปถึงข้างล่าง แต่ความสามารถที่จะผลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ มันมีน้อย และมันไม่ได้เปลี่ยนไปถึงฐานราก เทียนวรรณจบชีวิตด้วยการถูกลงโทษ ป้ายสี หรือพูดปัจจุบันก็คือหมิ่นมาตรา 112 ติดคุก 17 ปี”
คนที่สองคือ ศรีบูรพา หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ นักคิดนักเขียนคนสำคัญที่ต้องประสบชะตากรรมไม่ต่างจากเทียนวรรณ
“กุหลาบ สายประดิษฐ์ พูดว่าความจริงมันพูดไม่ได้ เพราะความจริงมักถูกกีดกันโดยอำนาจ ถ้าพูดความจริงก็ต้องสู้กับอำนาจ ซึ่งประเด็นที่พูดทำให้ศรีบูรพาต้องจบด้วยการลี้ภัยทางการเมือง”
ตั้งแต่กรณีเทียนวรรณถึงศรีบูรพา ถึงอาจารย์ป๋วย คือ คนที่พูดความจริงในสังคมไทย แต่ต่างได้รับชะตากรรมเหมือนกัน ธเนศตั้งข้อสังเกตน่าสนใจว่า
“ทำไมนักคิดสยามไทยจึงไม่ค่อยมี เพราะว่าถ้ามี ก็เข้าคุก ไม่เข้าคุกก็อยู่นอกประเทศ อยู่ในประเทศไม่ได้” ธเนศมองว่าการสร้างนักคิดในสังคมไทยถือเป็นภารกิจที่ยากมาก
ถ้าสังคมไทยสร้างนักคิดของตัวเองไม่ได้ สร้างปัญญาชนที่มีอิสระ รักความจริง และสามารถต่อสู้เพื่อความถูกต้องของตัวเองไม่ได้ ระบบการปกครองอะไรก็ไม่มีความหมาย จะเป็นประชาธิปไตยก็เป็นแต่ในนาม เพราะอำนาจก็ยังเหนือกว่าอุดมการณ์ต่างๆ
นักคิดปัญญาชนสยามที่รับรู้เรื่องโลกสมัยใหม่ ธเนศให้ความเห็นว่ามีมานานแล้ว แต่เป็นแนวคิดที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากส่วนกลาง
“เรามีแต่จารีตวัฒนธรรมของรัฐ วัฒนธรรมของหลวง วัฒนธรรมของราษฎรมันถูกกดอยู่ตลอดเวลา มันเป็นสิ่งแปลกปลอม เป็นสิ่งที่ถูกอ้างว่าเป็นความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงของการปกครอง
“ทั้งหมดทั้งปวงทำให้เส้นทางพัฒนาการต่างๆ ของสังคมมาได้อย่างขาดๆ วิ่นๆ และจะเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ เพราะมันไม่มีความจริง ไม่มีความงาม ไม่มีความดีอะไรที่เหลืออยู่” ธเนศกล่าว