การแก้รายละเอียดของบัตรทองในด้านต่างๆ เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย มันกระทบกับสิทธิ์อะไรของคนไทยบ้าง ในโครงสร้างงบประมาณ มันเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน นี่คือ 12 ข้อสงสัยเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
1. เราสงสัยว่า ที่ออกมาพูดเรื่องแก้ไขบัตรทองกัน มีเหตุผลอะไร ทำไมต้องแก้ ของเดิมก็ดีอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ
แม้ว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทย ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่ก็มีบางมาตราที่ควรแก้ไขเพิ่มเติมและทำให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีความคล่องตัวในการสนับสนุนงบประมาณมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการของโรงพยาบาล ซึ่งสุดท้ายจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จากบัตรทองมากขึ้น
ดังนั้น เมื่อเดือนเมษายน 2559 รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจัดทำร่างแก้ไข พ.ร.บ. ให้สอดคล้องกับคำสั่ง คสช.ที่ 37/59 ที่หัวหน้า คสช. ลงนาม เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการดำเนินงานตามข้อทักท้วงของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ต่อมา เดือนมกราคม 2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงได้แต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ขึ้นมาจัดทำข้อเสนอแก้ไขกฎหมายอย่างเป็นทางการ
2. ถ้าหลักการหรือรายละเอียดสิทธิ์ประกันสุขภาพบัตรทองถูกแก้ จะส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร
หัวใจหลักของระบบหลักประกันสุขภาพ คือ ‘คนไทยทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ มาตรฐาน อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม’ ด้วยหลักการ ‘แยกผู้ซื้อและผู้จัดบริการ’ ออกจากกัน จึงได้มีการตั้ง สปสช. ขึ้นมาเป็นหน่วยงานกลางในการ ‘ซื้อบริการสุขภาพ’ ให้กับประชาชนคนที่มีสิทธิ์บัตรทอง โดยมีกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีโรงพยาบาลกระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็น ‘ผู้จัดบริการ’ หลัก
แต่ในร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฉบับแก้ไขนี้ กลับมีการเพิ่มสัดส่วนของกรรมการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ซึ่งถือว่าเป็น ‘ผู้ซื้อบริการ’ ด้วยการเพิ่มกรรมการจากตัวแทนโรงพยาบาลมากขึ้น แต่กลับลดตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลง ทำให้มีสัดส่วนกรรมการจาก ‘ผู้จัดบริการ’ มากขึ้น จนกลายเป็นคณะกรรมการของ ‘ผู้จัดบริการ’ แทนที่จะเป็นคณะกรรมการของ ‘ผู้ซื้อบริการ’ ถือว่าเปลี่ยนเจตนารมณ์ของบัตรทองที่ต้องการให้มีการถ่วงดุลอำนาจกัน และเมื่อสมดุลของสัดส่วนคณะกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ เสียไป จึงไม่อาจมั่นใจได้ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะสามารถรักษาเป้าหมายที่สำคัญ นั่นคือ การสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ และการปกป้องประชาชนให้พ้นจากความยากลำบากยามเจ็บป่วย ได้อีกต่อไปหรือไม่
3. บัตรทองทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณก้อนใหญ่โดยใช่เหตุ?
สุขภาพของคนไทยนั้น ‘คุ้มค่ากับการลงทุน’ เพราะหากคนคนหนึ่งไม่เจ็บป่วย ก็จะสามารถทำงานหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต ไม่เป็นภาระกับสังคม ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง เพราะทุกบาทที่ทุกคนในประเทศนำมาจับจ่ายใช้สอยจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ รัฐก็จะมีรายได้นำไปพัฒนาประเทศมากขึ้น
นอกจากนี้ ระบบบัตรทองของไทยยังได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เพราะนอกจากจะช่วยคนไทยให้เข้าถึงการรักษามากขึ้น ยังช่วยแก้ปัญหาความยากจน ทำให้ครอบครัวไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย จึงนับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
หากคิดว่าบัตรทองสิ้นเปลืองงบประมาณเพราะใช้เงินในแต่ละปีมากกว่าแสนล้านบาท ยกตัวอย่างปี 2560 ก็ใช้เงินมากกว่า 151,700 ล้านบาท ขณะที่ค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการใช้เงินเพียง 70,000 ล้านบาท แต่ถ้าดูตัวเลขแค่นี้ ก็จะเห็นเป็นภาพลวงตาเท่านั้น เพราะคนไทยที่ใช้บัตรทองมีมากถึง 48.8 ล้านคน แต่ข้าราชการและครอบครัวมีเพียง 6 ล้านคน ดังนั้นเบี้ยประกันที่รัฐบาลจ่ายให้คนบัตรทอง จึงมีเพียง 3,109.94 บาท ในขณะที่เบี้ยประกันข้าราชการ สูงถึงคนละ 14,000 บาท รัฐจึงควรเน้นการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ จึงจะสามารถลดค่าใช้จ่ายนี้ได้
4. ถ้าไม่อยากให้รัฐต้องอุ้มรายจ่ายมากขนาดนั้น ทำไมถึงไม่ให้ประชาชนร่วมจ่าย เพราะอาจจะช่วยแบ่งเบารัฐ และทำให้โรงพยาบาลไม่ขาดทุนก็ได้
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองนั้น ถือว่าเป็น ‘หลักประกัน’ สำหรับทุกคน ไม่ใช่การสงเคราะห์ เหมือนที่ผ่านมาในอดีตที่กำหนดค่าตีตราคนไปรับการรักษาพยาบาล แต่ไม่มีเงินจ่ายว่าเป็น ‘คนไข้อนาถา’ ที่ต้องร้องขอความเห็นใจ ทำให้คนป่วยยากจนไม่ยอมไปรักษาที่โรงพยาบาล ขาดโอกาสหายจากความเจ็บไข้ แต่เมื่อเปลี่ยนมามี ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงการรักษาพยาบาลมากขึ้น
อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานการศึกษาที่ชัดเจนว่า ‘การร่วมจ่าย’ ผู้ป่วยจะร่วมจ่ายอย่างไร และจะใช้หลักการใดในการร่วมจ่ายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือประชาชนทุกคนได้ ‘ร่วมจ่าย’ ผ่านทางการจ่ายภาษี โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ ที่ทุกคนต้องจ่ายเมื่อซื้อสินค้าและบริการทุกประเภทอยู่แล้ว
ดังนั้น การร่วมจ่าย ณ จุดบริการ จึงควรถูกแก้ไขในการแก้กฎหมายครั้งนี้ ดังเช่นงานศึกษาที่คณะกรรมการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่ง รมว.สาธารณสุข เป็นคนแต่งตั้ง ได้ชี้ชัดเอาไว้ ต้องเป็นการร่วมจ่ายก่อนป่วย ไม่ใช่บังคับร่วมจ่าย ณ จุดบริการ
5. ถ้ายากมากนัก ให้คนทำประกันเอกชนดีกว่าไหม หรือให้รัฐเอางบประมาณรายหัวไปให้ประกันเอกชนเข้ามาบริหารแทนดีกว่า
การรักษาพยาบาลเป็นความเมตตาอย่างหนึ่งที่มนุษย์พึงกระทำต่อกัน ความเมตตานี้ไม่ควรผูกโยงกับผลประโยชน์และอามิสสินจ้างใดๆ และปฏิเสธไม่ได้ว่า ปรัชญาของ ‘เอกชน’ คือการทำกำไร การคุ้มครองประชาชนกว่า 48.8 ล้านคนให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดของระบบหลักประกันสุขภาพ จึงไม่มี ‘กำไร’ จูงใจพอที่จะให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ หรือหากจะทำให้มี ‘กำไร’ ก็ไม่พ้นต้องลดสิทธิประโยชน์ และตัดทอนสิ่งที่ประชาชนคนบัตรทองพึงจะได้รับ ดังนั้น จะพบว่า แม้แต่แนวคิดปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการยังไม่เห็นด้วยกับการให้ธุรกิจเอกชนเข้าไปบริหารจัดการ เพราะเกรงว่าจะจำกัดการเข้าถึงบริการเพื่อทำกำไร
6. ทำไมต้องเอางบบัตรทองไปรวมกับกองทุนอื่นๆ ด้วย เช่น แรงงานต่างด้าว คนชรา หรือต้องมีการแบ่งเกรดสิทธิ์ บัตรทอง บัตรเงิน
งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีเพื่อจัดบริการสุขภาพให้กับ ‘คนที่มีหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย’ เท่านั้น ไม่ได้ใช้เพื่อการรักษาผู้ป่วยที่เป็นแรงงานต่างด้าว หรือคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย เพราะแรงงานต่างด้าวที่มีนายจ้างจะต้องทำประกันสุขภาพกับสำนักงานประกันสังคม ส่วนผู้ติดตามหรือแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีนายจ้าง ก็สามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม หากนำเงินกองทุนต่างๆ มาบริหารจัดการร่วม เพื่อลดปัญหาการขาดทุนของกองทุนที่เล็ก ประชากรน้อย ก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ในเชิงปฏิบัติ
คำว่า ‘บัตรทอง’ ถือว่าเป็น ‘ชื่อเล่น’ ของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อยืนยันสิทธิในการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ในปัจจุบันไม่ต้องใช้บัตรทองอีกแล้ว เพียงแค่มีบัตรประชาชนใบเดียวก็สามารถตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลได้
7. ที่ไม่อยากให้เราเดินทางไปกระจุกที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ แล้วโรงพยาบาลขนาดเล็ก เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะรักษาเราได้จริงเหรอ
กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นต้นสังกัดของโรงพยาบาลทุกระดับ นั้นมีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานบริการตลอดเวลา เช่น โครงการ รพ.สต. ติดดาว และมีการพัฒนาโรงพยาบาลเพื่อให้บริการ ‘ใกล้บ้าน ใกล้ใจ’ ซึ่ง รพ.สต. แม้จะเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก แต่ก็รู้สึกมักคุ้นกับคนในชุมชนเป็นอย่างดี มีทะเบียนประวัติสุขภาพ ประวัติครอบครัว ประวัติการรักษาพยาบาล การไปรับบริการที่โรงพยาบาลปฐมภูมิใกล้บ้าน หรือ รพ.สต. ก่อน จึงมีผลดีมากกว่าผลเสีย หากโรงพยาบาลแห่งนั้นรักษาไม่ได้ ก็จะส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพมากพอ ดีกว่าป่วยแล้ววิ่งไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เสียค่าเดินทาง ค่าเสียเวลา แล้วก็ได้ยาตัวเดียวกัน
8. จริงอย่างที่เขาพูดกันไหม ว่าบัตรทองทำให้หมอต้องทำงานหนักขึ้น เพราะคนไข้มาใช้สิทธิ์รักษาฟรีจำนวนมาก
เราต้องเข้าใจกันก่อนว่า คนไข้ไม่ได้มา ‘รักษาฟรี’ เพียงแต่ประชาชนผู้มีสิทธิ์บัตรทองไม่ต้องควักเงินจ่าย ณ ห้องการเงินของโรงพยาบาล เพราะเมื่อโรงพยาบาลให้การรักษาเสร็จเรียบร้อย ก็จะส่งใบเสร็จไปเก็บเงินกับ สปสช. แม้โรงพยาบาลอาจได้ไม่เท่ากับที่ส่งใบเสร็จเรียกเก็บไป เพราะงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้มามีจำกัด แต่ที่แน่ๆ การรักษานั้น ‘ไม่ฟรี’
ในอดีต คนป่วยอาจไม่ค่อยอยากไปหาหมอ ต้องรอจนอาการหนักมาก เพราะไม่มีเงินค่าหยูกค่ายา พอมีบัตรทอง คนไข้กล้าไปหาหมอมากขึ้น แต่ก็ไปเพราะจำเป็นต้องไปรับการรักษา ทำให้หมองานหนักขึ้น และต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านี้คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงบริการ เมื่อมีระบบบัตรทองจึงกล้าที่จะเข้ารับการรักษา ไม่ต้องรอให้โรคร้ายลุกลามจนยากจะรักษา หากเป็นเช่นนั่นแล้ว จะทั้งเป็นภาระงานที่มากขึ้นของหมอและเป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน จึงควรสนับสนุนให้ประชาชนไปรับการรักษาแต่เนิ่นๆ
9. ถามแทนหมอ จริงหรือเปล่า ที่บัตรทองจำกัดวิธีการรักษาของหมอ ที่ต้องเหมาะสมกับงบประมาณ ทำให้หมอไม่มีอิสระในการตัดสินใจ
บัตรทองอาจมีงบประมาณจำกัด แต่ไม่ได้จำกัดวิธีการรักษาของหมอ เพราะหมอยังสามารถมีความเห็นและวินิจฉัยโรคได้ตามปกติ เช่น กรณีของผู้ป่วยโรคไต แม้ สปสช. จะมีนโยบายเริ่มล้างไตทางหน้าท้องก่อน แต่หากหมอและพยาบาลประเมินแล้ว ผู้ป่วยและผู้ดูแลไม่สามารถล้างไตทางหน้าท้องได้ ก็สามารถมีความเห็นให้ผู้ป่วยฟอกไตด้วยเครื่อง
ที่บอกว่าจำกัดนั้น น่าจะเป็นรายการอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่หมออาจไม่สามารถเลือกยี่ห้อได้ตามใจชอบ แต่ก็เป็นบางรายการเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นเหตุผลของการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด ด้วยการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ไม่ใช่เลือกเพราะราคาถูก แต่เลือกเพราะดี และมีราคาเหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้ หากไปดูประเทศอื่นที่มีงบประมาณมากกว่าไทย ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย ไต้หวัน ฝรั่งเศส อังกฤษ แคนาดา ฯลฯ ก็จำกัดวิธีการรักษาของหมอมากกว่านี้ แถมยังต้องทำบันทึกรายงานด้วย
10. เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า สปสช. จะเข้ามาดูแลเงินก้อนใหญ่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สปสช. ไม่ใช่หน่วยราชการ แต่ทำงานภายใต้มติของคณะกรรมการ (บอร์ด) ที่มาจากหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 30 คน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เลขาธิการ สปสช. มีอำนาจจำกัด ไม่สามารถตัดสินใจตามอำเภอใจได้ นอกจากนี้ยังมีระบบตรวจสอบภายในโดยคณะอนุกรรมการตรวจสอบ ซึ่งต้องรายงานบอร์ดทุกสามเดือน และถูกตรวจสอบเข้มข้นจาก สตง.
บอร์ด สปสช. มีทั้งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลการเงินการคลังของประเทศ ย่อมไม่ปล่อยให้บริหารงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวแบบไร้ประสิทธิภาพอย่างแน่นอน ซึ่งต่างกับการบริหารแบบกระทรวง ทบวง กรม ที่อำนาจอยู่ในมือของผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น และมีการตัดสินใจแบบนิติบุคคล ประสิทธิภาพในการบริหารจึงแตกต่างกัน
ที่ผ่านมา สปสช. ได้รับรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่นจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังติดต่อกันหลายปี จนปี 2559 ได้รับรางวัลทุนหมุนเวียนเกียรติยศ รับรางวัลจากมือของนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้สังคมยังสามารถร่วมตรวจสอบได้ เพราะการประชุม สปสช. จะมีการถ่ายทอดเสียง รายงานการประชุมต่างๆ เอกสารต่างๆ เผยแพร่ในเว็บไซต์ทั้งหมด
11. ในด้านการบริหาร การเพิ่มสัดส่วนวิชาชีพเข้าไปในบอร์ดไม่ดีอย่างไร เพราะดูเหมือนจะได้มีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น?
สัดส่วนของผู้แทนในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ (บอร์ด สปสช.) ตาม พ.ร.บ. ฉบับเดิม มีความสมดุลระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดบริการและผู้รับบริการ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งถือว่าเป็นกลาง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หากเพิ่มสัดส่วนจากผู้แทนวิชาชีพ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้บริการ ในขณะที่ไปลดสัดส่วนผู้รับบริการ (ประชาชน) ลง จะทำให้เกิดปัญหากรณีมีประเด็นที่ต้องการเสียงสนับสนุน เพราะไม่เป็นเอกฉันท์ จนทำให้เกิดความเอนเอียงไม่เป็นธรรม
นอกจากนี้ การเสนอให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ น่าจะเป็นประเด็นเรื่องความเหมาะสม เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของฝั่งผู้ให้บริการโดยตรง และจะทำให้ทิศทางของการประชุมบอร์ดบริหารเอนเอียงไปในฝั่งของผู้ให้บริการมากเกินไป
บอร์ด สปสช. เป็นบอร์ดของ ‘ผู้ซื้อบริการ’ ไม่ใช่บอร์ด ‘ผู้จัดบริการ’ การแก้ไขกฎหมายโดยปรับสัดส่วนบอร์ด สปสช. จึงเป็นการทำลายหลักการและเจตนารมณ์ของกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ทั้งนี้ สามารถนึกเปรียบเทียบกับคณะกรรมการการแพทย์ของประกันสังคม ซึ่งประกอบด้วย ผู้ให้บริการ โรงพยาบาลที่ให้บริการในประกันสังคมจำนวนมาก จึงพบว่า การพิจารณาเพิ่มเงินค่าหัวของสิทธิประกันสังคม อาจไม่ได้หมายถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนเสมอไป เพราะไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
12. ระบบบัตรทองทำให้ราคายาถูกลงได้อย่างไร เพื่อให้เรารักษาฟรีได้อย่างไร
แต่ละปี ระบบบัตรทองได้รับงบประมาณอย่างจำกัด ไม่เต็มจำนวนที่มีการประมาณการ (ซึ่งพิสูจน์มาทุกปีว่า การประมาณการด้วยหลักวิชาการนั้นตรงกับความเป็นจริง) โดย รัฐบาลมักบอกว่า เงินไม่พอให้ไปของบกลาง แต่ที่ผ่านมา การของบกลางมักไม่ได้ เพิ่งมีในกรณีล่าสุดที่มีข่าวโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องเท่านั้น เมื่อไม่ได้งบประมาณเพียงพอ จึงต้องบริหารเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด ซึ่ง ‘ยา’ เป็นต้นทุนสำคัญในการรักษาพยาบาล บางตัวถูก บางตัวแพง บางตัวแพงมากๆ ยกตัวอย่างยารักษาโรคมะเร็งบางตัว ราคาเม็ดละ 5,000 บาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล สปสช. จึงหาวิธีลดต้นทุนยา โดยใช้วิธีการจัดซื้อรวมเพื่อให้เกิดอำนาจในการต่อรองราคา นอกจากนี้ ยังใช้ร่วมกับการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา หรือที่เรียกว่า ‘การทำ CL ยา’ ที่เริ่มในสมัย นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรี ทำให้ได้ยาที่มีคุณภาพเท่ากัน แต่มีราคาถูกลงมาก ยกตัวอย่าง ยาละลายลิ่มเลือด จากเดิมเม็ดละ 70 บาท เหลือเม็ดละ 70 สตางค์เท่านั้น เท่ากับว่าใช้เงินเท่าเดิม แต่ได้ยาจำนวนมากขึ้น ทำให้คนไข้เข้าถึงบริการรักษาได้มากขึ้น
สปสช. ดำเนินอย่างนี้มาหลายปี จนกระทั่ง สตง. มาตรวจแล้วบอกว่า “ทำไม่ได้” เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ชัดๆ ว่าให้ทำได้ และหลังรัฐประหาร มีการตั้ง คตร. ขึ้นมาตรวจสอบ ไม่พบทุจริต แต่อ้างว่า ทำเกินกฎหมาย และห้าม สปสช. ซื้อยา อย่างไรก็ตาม เมื่อ ห้ามไปได้สักพัก คนไข้เดือดร้อนกันถ้วนหน้า โรงพยาบาลเดือดร้อน คตร. กลับมาทบทวน แล้วพบว่า การซื้อยาแบบที่ สปสช. ทำ ยังประโยชน์ให้กับผู้ป่วยและประหยัดงบประมาณประเทศไปได้มากสี่ปี ประหยัดไปกว่า 30,000 ล้าน จึงมีหนังสืออนุญาตให้ สปสช. ซื้อยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ ได้ตามที่เคยทำ และทำหนังสือแจ้งรัฐบาลไปว่า การจัดซื้อยาของ สปสช. มีประโยชน์จริง แต่กฎหมายไม่ได้เขียนให้อำนาจไว้อย่างชัดเจน ถ้ารัฐบาลเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็ควรจะดำเนินการให้มีการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้