Rainbow Capitalism ความจกตาของการตลาดสีรุ้ง ในเทศกาล Pride Month

ความยิ่งใหญ่ของ ‘Pride Month’ ย่อมเตะตานายทุนยักษ์ใหญ่ และเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่ย้ำเตือนว่าเราไม่สามารถปฏิเสธการดำรงอยู่ภายใต้ความธรรมดาของโลกทุนนิยมได้ ตลอดเดือนมิถุนายนจะเห็นการประดับประดาธงสีรุ้งในร้านรวงต่างๆ เห็นผลิตภัณฑ์ที่แต่งแต้มด้วยสีรุ้งเป็นคอลเลกชันที่ออกมาสำหรับต้อนรับเดือนแห่งการเฉลิมฉลองของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะ และเห็นการไหลบ่าของนายทุนที่ต้องการเข้ามาสนับสนุนไฮไลต์สำคัญอย่าง pride parade ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘rainbow capitalism’ หรือบ้างก็เรียกว่า ‘rainbow washing’

การแทรกซึมของนายทุนผ่านแผนการตลาดในลักษณะนี้ ถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์เสมอเมื่อเข้าสู่บรรยากาศของการเฉลิมฉลองและเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ในเดือนแห่งความภาคภูมิใจของเหล่า LGBTQIA+ ซึ่งถูกตั้งคำถามว่านายทุนที่ใช้ธงสีรุ้งมาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสื่อสารภาพลักษณ์องค์กรหรือผลิตภัณฑ์ แท้จริงแล้วเขาให้การสนับสนุนสิทธิความเท่าเทียมทางเพศจริงหรือไม่ (สำหรับบางเจ้าก็เห็นชัดว่า ‘ไม่’)

หากเราไม่สามารถปฏิเสธการเข้ามาทำการตลาดของนายทุนได้ เพราะโลกทุนนิยมมันหมุนวนและขับเคลื่อนทุกสิ่งอย่าง แต่ถึงอย่างไรการตลาดของทุนนิยมกับวัตถุประสงค์สำคัญของงานก็ยังคงมีเส้นแบ่งอยู่ โดยมีข้อสังเกตที่ถูกพูดถึงกันมากคือ อย่างน้อยๆ ความเท่าเทียมทางเพศต้องเกิดขึ้นจริงในองค์กรของพวกเขา และต้องมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง จริงใจ ไม่จกตา

การตลาดฉาบฉวยของ Rainbow Capitalism 

เบื้องหลังของการเดินขบวนที่เปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิในศักดิ์ศรีคือ ประวัติศาสตร์เหตุจลาจลที่บาร์ ‘The Stonewall Inn’ ในนิวยอร์ก เมื่อปี 1969 ที่ตำรวจได้บุกเข้าไปจับกุม ทำร้ายร่างกาย พร้อมกับใช้กฎหมายต่อต้านกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยข้อกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมขัดต่อศีลธรรมของสังคม ซึ่งในปีต่อมากลุ่มหลากหลายทางเพศก็ได้จัดงานเดินขบวนพาเหรดเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว 

การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิของกลุ่ม LGBTQIA+ ในการเดินขบวนครั้งนั้นได้แผ่ขยายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และในเดือนมิถุนายนของทุกปีจึงถือเป็นเดือนแห่งไพรด์ หรือ Pride Month โดยที่มีธงสีรุ้งเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้อง

เมื่อชุมชนหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับมากขึ้น ปรากฏการณ์การเข้ามามีส่วนร่วมของระบบทุนนิยมก็มีมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อย่างเข้าสู่เดือนมิถุนายน บริษัทห้างร้านหรือแบรนด์สินค้าทั้งหลายต่างก็พร้อมใจกันเปลี่ยนโลโก้บนโซเชียลมีเดียให้มีสีรุ้งมาแต่งแต้มกันอย่างที่เห็น

ในบางบริษัทมีการสนับสนุนและให้ความสำคัญกับสิทธิ LGBTQIA+ อย่างจริงจัง แต่กับบางบริษัทก็ตั้งใจเอาสีรุ้งมาฟอกพฤติกรรมเอาเปรียบแรงงาน และฟอกทัศนะผู้บริหารที่ไม่เห็นความสำคัญ แต่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดูดีไปพร้อมๆ กับการกอบโกยเม็ดเงิน

การตลาดของทุนนิยมสีรุ้งทำให้หลายฝ่ายลงความเห็นว่า ภาคธุรกิจฉกฉวยผลประโยชน์ทางการค้าจากเทศกาล pride ด้วยการตลาดแบบฉาบฉวย เป็นการลดทอนขบวนการ กลายเป็นการสร้างกำไรจนบดบังข้อเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQIA+ 

จากรายงานของ BBC พบว่านักเคลื่อนไหวด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศในเวลส์ ได้ออกมาแสดงความเห็นเรื่องการตลาดสีรุ้งของธุรกิจรายใหญ่เมื่อปี 2022 ว่าพวกเขายินดีที่สัญลักษณ์สีรุ้งซึ่งเป็นตัวแทนของชุมชน LGBTQIA+ จะถูกทำให้มองเห็นมากขึ้น แต่ธุรกิจที่ได้กำไรจากสินค้าคอลเลกชันสีรุ้ง ควรทำอะไรได้มากกว่าการเจียดเม็ดเงิน (ส่วนน้อยมากๆ) ให้กับชุมชน

“บริษัทมากมายแค่จับสีรุ้งไปแปะในผลิตภัณฑ์ของพวกเขา และขายมันในราคาที่สูงกว่าเดิม” ยาน ไวท์ (Yan White) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่แสวงหาผลกำไร กล่าวกับ BBC
ตอกย้ำความชัดเจนมากขึ้นจากการนำเสนอของ เอมี แลงเกอร์ (Aimee Langer) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะ จากมหาวิทยาลัยคาลการี ประเทศแคนาดา ที่เคยกล่าวถึงการทำการตลาดของ LEGO ที่วางขายสินค้าธีม LGBTQIA+ ภายใต้คอนเซปต์ ‘LEGO’s Everyone is Awesome’ ซึ่งแลงเกอร์เองได้ให้ความเห็นว่า การยอมรับความหลากหลายทางเพศและการฉกฉวยของทุนนิยมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ผ่านการตลาดที่ดูไร้ความรับผิดชอบและไม่จริงใจ แต่ก็ทำให้เห็นว่ากลุ่มธุรกิจหันมาให้ความสนใจกับ Pride Month อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

LEGO’s Everyone is Awesome | ที่มา: lego.com

จากข้อมูลของ LGBT Capital ที่ได้วิจัยเพื่อประเมินมูลค่าขนาดและมูลค่าของตลาด LGBTQIA+ พบว่า ในปี 2023 กำลังซื้อของชาว LGBTQIA+ เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกำลังซื้อของชาว LGBTQIA+ ทั่วทั้งโลกจะอยู่ที่ประมาณ 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ดังนั้นแล้วการทำการตลาด โดยมีคอลเลกชันสีรุ้งในช่วง Pride Month จึงสร้างกำไรได้อย่างมหาศาล

มีข้อมูลจากการศึกษาเกี่ยวกับ rainbow capitalism ของปี 2021 ผ่าน 25 บริษัทที่หยิบเอาสีรุ้งไปแต่งแต้มบนโลโก้ของตัวเอง พร้อมออกตัวสนับสนุน LGBTQIA+ ด้วยการกระโดดมาร่วมจอยแบบขำๆ ใน pride parade โดยพบว่าบริษัทเหล่านี้ หลายเจ้าทุ่มเงินหลายล้านเพื่อสนับสนุนนักการเมืองที่ต่อต้าน LGBTQIA+ ทั้งในระดับรัฐบาลกลางและในระดับมลรัฐมาตั้งแต่ปี 2019

ตัวอย่างเช่น CVS Health บริจาคเงินกว่า 259,000 ดอลลาร์ ให้กับสมาชิกสภาคองเกรสจำนวน 54 คน ที่ลงคะแนนเสียงต่อต้าน พ.ร.บ.ความเสมอภาค ที่จะให้ความคุ้มครองไม่ให้กลุ่ม LGBTQIA+ ถูกเลือกปฏิบัติ

หรือบริษัทค้าปลีกเจ้าใหญ่ของสหรัฐอย่าง Walmart ที่ออกตัวสนับสนุนสินค้าธีม pride แต่เมื่อไปดูรายงานการเงินและการหาเสียงของรัฐบาลกลาง พบว่า Walmart ได้บริจาคเงินให้กับนักการเมืองที่ต่อต้าน LGBTQIA+ และสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐอาร์คันซอ นอร์ธแคโรไลนา และเท็กซัส เพื่อผลักดันให้มีกฎหมายต่อต้านการข้ามเพศ

ทันทีที่สิ้นสุดเดือนแห่งความภาคภูมิในศักดิ์ศรีนี้ การป่าวประกาศของเหล่านายทุนว่า “ฉันสนับสนุนความเท่าเทียมนะ เพราะฉันทำสินค้าที่สนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+” ก็สิ้นสุดลงไปด้วย และส่วนใหญ่ก็แทบไม่ได้ทำอะไรเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมหรือสร้างบรรยากาศแห่งการยอมรับความหลากหลายเลย

ถ้าเธอเป๊ะ ฉันก็ต้องเป๊ะ: ขยับเพดานเรื่องเพศของภาคธุรกิจ ถามหาความจริงใจจากกลุ่มทุน

Rainbow capitalism ก็มีในเมืองไทย และมีมาตลอด…

เมื่อย้อนมองกรณีของประเทศไทยที่มีการถกเถียงเรื่องการเข้ามามีส่วนร่วมใน ‘Bangkok Pride Parade 2024’ ของนายทุนเจ้าใหญ่ ซึ่งผู้จัดงานถูกวิจารณ์อย่างมากว่า อ้าแขนต้อนรับนายทุนที่แม้แต่สวัสดิการทั่วไปยังไม่เอื้อต่อคุณภาพชีวิตแรงงานตัวเล็กตัวน้อย จึงเหมือนเป็นการเอาสีรุ้งมาฉาบเปลือกนอก ฉาบภาพลักษณ์ขององค์กรให้ (ดูเหมือน) สนับสนุนความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ ทำให้ถูกตั้งคำถามถึงเกณฑ์การคัดเลือกกลุ่มธุรกิจที่เข้ามาร่วมในขบวน

อีกมุมหนึ่ง ปรากฏบริษัทอีกรายที่เข้ามาร่วมเดินในขบวนพาเหรดและให้การสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ ซึ่งได้รับการชื่นชมและยกขึ้นมาเป็นคู่เทียบอย่าง ‘ศรีจันทร์’ แบรนด์เครื่องสำอางไทย มีการเปิดเผยนโยบายของบริษัทที่สนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ เช่น การให้พนักงานลาผ่าตัดแปลงเพศ ไม่เกิน 30 วัน โดยยังจ่ายค่าจ้างปกติ ทั้งยังมีการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อ LGBTQIA+ มาเสมอ

ชัดเจนว่าไม่ใช่ทุกเจ้าจะมีความตระหนักในเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง แต่ท้ายที่สุดก็คงหลีกเลี่ยงการมีอยู่ของ rainbow capitalism หรือ rainbow washing ที่หยิบยืมเอาสัญลักษณ์ธงสีรุ้งมาใช้ในเชิงพาณิชย์ในช่วง Pride Month ไม่ได้

ดังนั้นแล้วปลายทางคงไม่ใช่การต่อต้าน หรือขจัดการเข้ามามีส่วนร่วมของนายทุนให้หมดสิ้น เพียงแต่จำเป็นต้องคิดกับมันให้มากขึ้น แยกให้ชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ของงานที่กำลังดำเนินไปคืออะไร และต้องมีเงื่อนไขบางอย่างกระตุ้นให้ภาคธุรกิจสร้างบรรยากาศความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นจริงในระยะยาว 

ยกตัวอย่างประกาศเมื่อไม่นานมานี้จาก ‘Pride in London’ องค์กรผู้จัดงาน pride ของเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระบุให้กลุ่มบริษัทที่ต้องการเข้าร่วม ‘Pride in London Parade’ จะต้องเป็นสมาชิกภายใต้แคมเปญ ‘Pride in the City’ ตลอดทั้งปี ไม่ใช่แค่มาโชว์ตัวเฉพาะในขบวนพาเหรดเท่านั้น

ต้องมีการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนสิทธิพนักงาน LGBTQIA+ พร้อมกับเข้าอบรมหัวข้อต่างๆ เช่น การสร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้เป็นมิตร สร้างการยอมรับสำหรับพนักงานที่เป็นทรานส์ (trans) และนอนไบนารี (non-binary)

เช่นเดียวกันกับ Stonewall Inn Gives Back Initiative (SIGBI) องค์กรการกุศลที่เรียกร้องสิทธิให้กับกลุ่ม LGBTQIA+ ในสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเคลื่อนไหวหลังจากมองเห็นการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือสถานที่ต่างๆ ที่ใช้ธงสีรุ้งมาเป็นเครื่องมือสื่อสารว่าพวกเขาเป็นมิตรกับเหล่า LGBTQIA+ ทางองค์กร SIGBI จึงได้จัดให้มีการฝึกอบรมนโยบายและมาตรฐานที่เหมาะสมเพื่อให้แน่ใจว่าธุรกิจเหล่านั้นกำลังสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพนักงานและลูกค้า LGBTQIA+ จริงๆ มิใช่เพียงการหากินกับอัตลักษณ์ทางเพศ

นอกจากนี้ ปีที่แล้วสื่อที่รายงานข่าวประเด็นความเท่าเทียมทางเพศอย่าง Pink News ได้เสนอว่ามีอย่างน้อย 8 วิธี ที่ภาคธุรกิจต่างๆ ควรทำเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศอย่างจริงจังในระยะยาว ไม่ใช่เพียงทำการตลาดผิวเผินในช่วง Pride Month คือ

  1. อัปเดตสิ่งที่บริษัทกำลังดำเนินการหรือดำเนินการไปแล้ว เพื่อส่งเสริมชุมชน LGBTQIA+
  2. การฝึกอบรมเสริมความเข้าใจเรื่องความหลากหลายให้กับบุคลากร จะช่วยให้ตระหนักถึงอคติที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ส่งเสริมการเคารพและให้เกียรติกัน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่แบ่งแยกได้
  3. พิจารณาและปรับปรุงสวัสดิการพนักงาน เพราะบางสวัสดิการอาจไม่ครอบคลุมถึงกลุ่ม LGBTQIA+
  4. เรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของ Pride Month เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับการสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่แบ่งแยก ยิ่งเมื่อประเด็นความหลากหลายทางเพศได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมือง การศึกษาเพิ่มเติมตั้งแต่ต้นกำเนิดแห่งความภาคภูมิในศักดิ์ศรีที่ชุมชน LGBTQIA+ เผชิญมาตลอดในประวัติศาสตร์ จะทำให้เข้าใจกันและกัน ตระหนักรู้ และเป็นเรื่องที่นายจ้างต้องแสดงให้เห็นถึงการยืนหยัดเคียงข้างกับพนักงานชาว LGBTQIA+ ด้วย
  5. บริจาคให้กับองค์กรการกุศลที่มีนโยบายสอดคล้องกับแนวทางการสนับสนุนสิทธิ LGBTQIA+ ของบริษัท
  6. เปิดพื้นที่ให้ ERGs (เครือข่ายกลุ่มทรัพยากรพนักงาน) หรือพนักงานทั่วไปที่เป็น LGBTQIA+ เป็นผู้นำตั้งวงแลกเปลี่ยน ถกถามกันเกี่ยวกับประเด็น pride
  7. จัดให้มีทรัพยากรหรือแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม ที่จะส่งเสริมความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ
  8. ยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง ด้วยการปกป้องกลุ่ม LGBTQIA+ จากกระแสต่อต้านความเท่าเทียมทางเพศ หรือกลุ่มต่อต้าน LGBTQIA+

rainbow capitalism ไม่มีทางหมดไป เฉกเช่นเดียวกับการวิจารณ์ rainbow capitalism ที่จะมีไปเสมอ ฉะนั้นการตั้งเงื่อนไขบางอย่างไปพร้อมกับการวิพากษ์วิจารณ์การตลาดสีรุ้งในโลกทุนนิยม เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้เกิดผลประโยชน์ย้อนคืนแก่ชุมชน LGBTQIA+ 

และคงไม่ใช่เรื่องยากเย็นนักที่เหล่านายทุนจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับเหล่า LGBTQIA+ ไม่ใช่แค่เพื่อสร้างใบเบิกทางที่ประทับตราจริยธรรมสูงส่ง แต่เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นจริงกับชุมชนที่ถูกฉกฉวยผลประโยชน์มาตลอดเส้นทางการต่อสู้

อ้างอิง:

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า