จาก ‘Pride Month’ สู่ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม-คู่ชีวิต และการช่วงชิงประวัติศาสตร์สีรุ้งในสังคมไทย

ภาพการเดินขบวนกลางกรุงเทพฯ เฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศในวาระ ‘Pride Month’ และข่าว พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม พ.ร.บ.คู่ชีวิต ผ่านวาระแรก ถือเป็นบรรยากาศแห่งประชาธิปไตยอันชวนอภิรมย์ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ณ ช่วงเวลานี้ นี่ถือเป็นก้าวสำคัญสู่การลดอคติทางเพศและการปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมของผู้คนในสังคม

ในท่ามกลางบรรยากาศอันน่าชื่นชมนี้ ก็ยังอาจจะมีบางเรื่องที่ชวนให้ฉุกคิดและบางประเด็นชวนให้ถกเถียง บทความนี้จึงอยากจะชวนผู้อ่านร่วมกันใคร่ครวญถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และจับตามองความไม่ชอบมาพากลบางประการที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อหนทางสู่สังคมอุดมคติของเราทุกคน

จากจลาจล ‘สโตนวอลล์’ (Stonewall Riots) สู่ BANGKOK NARUEMIT PRIDE 2022 

เช้าตรู่วันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 เหตุจลาจล ‘สโตนวอลล์’ เกิดขึ้นเมื่อตำรวจใช้ความรุนแรงกับกลุ่มบุคคลเพศหลากหลายที่สโตนวอลล์อินน์ นครนิวยอร์ก เหตุการณ์นี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ความรุนแรงทางเพศหน้าสำคัญของโลก จึงมีการกำหนดให้เดือนมิถุนายนเป็นสัญลักษณ์แห่งการรำลึกเหตุรุนแรงในครั้งนั้น และจัดงานไพรด์ขึ้นเพื่อสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งมักจะจัดขึ้นทุกปีในประเทศที่มีความก้าวหน้าเรื่องเพศและสิทธิมนุษยชน

ก่อนหน้านี้ เราอาจจะเคยได้ยินการจัดงานใกล้เคียงกันนี้อยู่บ้างในบ้านเรา เช่น ‘เสาร์ซาวเอ็ด’ (งานไพรด์ที่เชียงใหม่) กิจกรรมภายในม็อบที่เรียกร้องประชาธิปไตย หรืองานอื่นๆ ที่จัดขึ้นเล็กๆ และรู้กันในวงจำกัด ซึ่งหากมองบรรยากาศโดยรวมแล้ว ก็ยังถือว่าค่อนข้างจะสวนทางกับภาพลักษณ์ที่ประเทศไทยของเราพยายามนำเสนอต่อสายตาชาวโลก ว่าเป็นดินแดนที่เปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ

จนกระทั่งปีนี้ งานไพรด์ได้ถูกจัดขึ้นกลางเมืองหลวงอย่างเป็นทางการ ซึ่งเกิดจากแรงผลักดันของกลุ่มเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ โดยมีหน่วยงานจากภาครัฐและกรุงเทพมหานครเข้ามาร่วมสมทบ

บรรยากาศงานไพรด์เป็นไปอย่างครึกครื้นและได้รับความสนใจจากสาธารณชนไม่น้อย มีหลากหลายประเด็นทางสังคมที่ถูกนำเสนอ เช่น การสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม การยุติความรุนแรงทางเพศ การเรียกร้องสวัสดิการสำหรับบุคคลเพศหลากหลาย การผลักดันเซ็กส์ทอยให้เป็นเรื่องถูกกฎหมาย การทำแท้งปลอดภัย การคุ้มครองสิทธิของผู้ให้บริการทางเพศ การลดอคติต่อโรคติดต่อทางเพศ ฯลฯ ซึ่งมีเนื้อหาที่ถือว่าก้าวหน้าและสะท้อนเสียงของกลุ่มคนในสังคมที่ถูกละเลย ถูกปิดปากเงียบ หรือทำให้เป็นเรื่องผิดบาปมาอย่างยาวนาน 

นั่นทำให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วความคิดเรื่องเพศในบ้านเราไปไกลมากแล้ว… มากในระดับที่ไม่แพ้ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ แต่เหตุผลหลักที่ทำให้ประเด็นเหล่านี้ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาไว้บนดินหรือเป็นธุระของคนในสังคม ก็คงเป็นเพราะยังขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐที่ควรเปิดพื้นที่ให้ประเด็นเหล่านี้ได้เกิดการถกเถียงและรับฟังทัศนะของพลเมือง รวมถึงเวลาหรือวิวัฒนาการสู่สังคมประชาธิปไตยของเรายังคงถูกดึงรั้งไว้กับวงจรอุบาทว์และการเมืองน้ำเน่าที่ยังคงพูดถึงปัญหาเดิมๆ ประเด็นเดิมๆ ตัวละครเดิมๆ จนยากเหลือเกินที่จะมีโอกาสได้ผลักดันเรื่องใหม่ๆ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าไม่น้อย

นอกจากประเด็นอันก้าวหน้าของภาคประชาชนและกลุ่มสนับสนุนความหลากหลายทางเพศแล้ว หนึ่งในขบวนที่ถือว่าน่าชื่นชมมาก หรืออาจแทบจะเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในไฮไลต์ของงานก็ว่าได้ คือขบวนของกลุ่มนางงามที่มากันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ไม่ว่าจะเป็นมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ มิสแกรนด์ไทยแลนด์ มิสซูปราเนชันแนลไทยแลนด์ มิสฟ้าบุญเลิศไทยแลนด์ (Miss Fabulous Thailand) ฯลฯ กลุ่มนางงามแทบจะเป็นตัวแทนจากสื่อบันเทิงแขนงเดียวในนามองค์กรที่มาร่วมขบวนไพรด์แห่งประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ 

การประกวดนางงามที่มักถูกวิจารณ์ว่า เป็นการสร้างบรรทัดฐานทางความงามซึ่งน่าจะสวนทางกับการเชิดชูความแตกต่างหลากหลาย แต่ก็ลงจากเวทีมาร่วมขบวนบนถนนเพื่อเป็นกระบอกเสียงสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน บทบาทของการประกวดนางงามในสังคมไทยจึงถือว่ามีความน่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติพลวัตทางวัฒนธรรม 

บรรยากาศของการฉลอง ‘Pride Month’ ไม่ได้คึกคักแค่ในงานไพรด์แต่เพียงเท่านั้น เรายังอาจจะสังเกตเห็นได้ว่าหลายๆ บริษัท หน่วยงาน และองค์กร ต่างยินยอมพร้อมใจกันเปลี่ยนโลโก้เป็นสีรุ้งเพื่อร่วมสนับสนุนอุดมคติต่อต้านอคติทางเพศในครั้งนี้ด้วย ซึ่งก็ดูจะเป็นเรื่องน่ายินดีไม่น้อย แต่ก็ยังชวนให้ฉุกคิดจริงๆ ว่า คนจำนวนหนึ่งอาจกล้าอวดอ้างสัญลักษณ์สีรุ้งอันเป็นดอกผลของสังคมประชาธิปไตยกันทั่วบ้านทั่วเมือง โดยอาจไม่เคยแสดงจุดยืนว่าสนับสนุนประชาธิปไตย แต่สามารถย้อมสีตัวเองให้แนบเนียนไปกับกระแสสังคมโลก ขณะเดียวกัน เมื่อความรุนแรงเกิดขึ้นกับประชาชนในประเทศที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน… กลับเมินเฉยหรือกระทั่งด่าทอบริภาษ และสมน้ำหน้าคนเหล่านั้นเสียด้วยซ้ำ

พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม vs พ.ร.บ.คู่ชีวิต

หลังจากงานไพรด์กลางกรุงผ่านพ้นไป ก็ถึงคราวลุ้นกันต่อกับประเด็นการเสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ในรัฐสภา ซึ่งแม้ว่ากำหนดการลงมติจะลากยาวออกไปเล็กน้อย แต่ผลที่ออกมาก็เป็นดังที่ทุกท่านอาจจะทราบกันแล้วว่า ‘ผ่าน’ ในวาระแรก 

ก่อนหน้าที่ประเด็นการสมรสของบุคคลเพศหลากหลายจะได้รับความสนใจจากสังคมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เราอาจจะคงพอคุ้นหูว่ามีคนพูดถึง พ.ร.บ.คู่ชีวิต อยู่บ้าง และหากย้อนมองไทม์ไลน์ของประเด็นนี้จะพบความน่าสนใจในบางแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมองในบริบทของพื้นที่ทางการเมือง 

  • ปี 2555 เมื่อ นที ธีระโรจน์พงษ์ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘เกย์นที’ ร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานภาครัฐเนื่องจากเขาไม่สามารถจดทะเบียนกับคนรักได้ จึงเกิดความพยายามในการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ออกมาในปี 2556 เพื่อรับรองสิทธิการมีครอบครัวของคนรักเพศเดียวกัน 
  • สถานการณ์ทางการเมืองในปีเดียวกันนั้นที่เป็นเหตุนำมาสู่การรัฐประหารในปี 2557 ทำให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนั้นเงียบหายไป และกลับเข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม 
  • สังคมเริ่มกลับมาพูดถึงประเด็นนี้อีกครั้งหลังจากการผลักดันของภาคประชาชน เอ็นจีโอ และพรรคก้าวไกล จนกระทั่งในปี 2562 มีการยื่นจดหมายเปิดผนึกไปยังกระทรวงยุติธรรม เพื่อเสนอแนวทางแก้กฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส และขอให้ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ
  • มีความพยายามในการปรับปรุงกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรสอีกครั้ง ผ่านกลไกของผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ที่รับรองสิทธิการก่อตั้งครอบครัวเฉพาะชาย-หญิง ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่าห้ามเลือกปฏิบัติหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง
  • 14 กุมภาพันธ์ 2563 เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และ พวงเพชร เหมคำ ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรส แต่ถูกนายทะเบียนปฏิเสธ เนื่องจากขัดต่อเพศกำเนิดที่กฎหมายยังรองรับเฉพาะ ชาย-หญิง ทั้งคู่จึงยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ซึ่งได้มีการส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทำการวินิจฉัย
  • 18 มิถุนายน 2563 พรรคก้าวไกลเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.พ.พ. เพื่อรองรับสิทธิการก่อตั้งครอบครัวสำหรับบุคคลทุกเพศ ซึ่งกฏหมายปัจจุบันยังจำกัดว่าการสมรสทำได้เฉพาะชายและหญิง (รอนานถึง 2 ปี กว่าจะมีการลงมติ)
  • 8 กรกฎาคม 2563 ครม. มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. ขณะนั้นสังคมเกิดความสับสนไม่น้อยระหว่าง ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตของ ครม. ฉบับนี้ กับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล จนฝั่งพรรคก้าวไกลต้องออกมาอธิบายว่าเป็นร่างกฎหมายคนละฉบับกัน โดยร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังไม่ครอบคลุมสิทธิอีกหลายเรื่อง
  • 17 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 1448 ไม่ขัดต่อหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยให้คำอธิบายว่า “ในสังคมไทยมีความสืบต่อกันมาว่า การสมรสกระทำได้เฉพาะชาย-หญิงเท่านั้น ป.พ.พ. มาตรา 1448 จึงเป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับธรรมชาติและจารีตประเพณีที่มีมาอย่างช้านาน” (จนเกิดเป็นแฮชแท็ก #ศาลรัฐธรรมนูญเหยียดเพศ) พร้อมกับตั้งข้อสังเกตให้ ‘ตรากฎหมาย’ รับรองสิทธิผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ 
  • วันถัดมา ฝั่ง ครม. ให้ข่าวว่ารัฐบาลได้เสนอให้มีการทำร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. … เรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีข้อทักท้วงบางอย่างจากสภาผู้แทนราษฎร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงกำลังทำการปรับปรุงแก้ไข
  • 9 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แต่ยังไม่ลงมติรับหลักการในวาระหนึ่ง โดย ครม. ขอรับร่าง พ.ร.บ. ของพรรคก้าวไกลไปศึกษาก่อน 60 วัน
  • 29 มีนาคม 2565 ครม. มีมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เพราะเห็นว่ามีหลักการใกล้เคียงกับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. ที่ ครม. เห็นชอบไปแล้ว
  • 15 มิถุนายน 2565 ที่ประชุม ส.ส. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม-คู่ชีวิต ทั้ง 4 ร่าง ในวาระแรก (จาก ครม. 2 ฉบับ ประชาธิปัตย์ 1 ฉบับ และก้าวไกล 1 ฉบับ)

แม้ว่าเนื้อหาของร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ ดูท่าจะไปในทำนองเดียวกัน แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันในรายละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจตนารมณ์พื้นฐานในการร่างกฎหมาย การย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์ที่มาของการขับเคี่ยวกันระหว่างร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต จึงมีความน่าสนใจตรงที่ว่ามันช่วยให้เรามองเห็นการช่วงชิงพื้นที่ทางการเมือง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการแย่งชิงหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์เรื่องเพศในประเทศไทย… ใครจะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ที่ทำให้การแต่งงานของบุคคลเพศหลากหลายโดยมีกฎหมายรองรับเกิดขึ้นจริงเป็นครั้งแรก 

ฟังแล้วดูจะเป็นเรื่องยิ่งใหญ่และน่าภาคภูมิใจ แต่ก็อดที่จะถามต่อไปไม่ได้ว่าหากร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของฝ่าย ครม. ชนะ ความภาคภูมิใจจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในเมื่อเนื้อหาบางส่วนยังไม่อาจผลักดันให้บุคคลเพศหลากหลายกระทำการทางกฎหมายได้เทียบเท่ากับคนรักต่างเพศ เช่น การหมั้น สิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ สิทธิการลดหย่อนภาษี ฯลฯ เราจะเรียกมันว่าเป็นผลงานได้จริงๆ หรือ หากที่มาของหลักการในร่างกฎหมายยังคงตั้งอยู่บนฐานการแบ่งแยกทางเพศและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งขัดกับสามัญสำนึกและหลักสิทธิมนุษยชน 

เช่นนี้แล้ว เราจึงต้องร่วมกันส่งเสียงให้ดังๆ เข้าไปในสภาว่า พอกันทีกับการกีดกันและกดทับ พร้อมกับจับตามองอีกหลายปัจจัย เช่น เกมการเมือง การเตะถ่วง เนื้อหาที่อาจถูกเพิ่มหรือลดทอน ฯลฯ เพราะสิทธิในการมีชีวิตของประชาชน ควรจะมีประชาชนเป็นใจกลางหลักของสมการ อย่าปล่อยให้ใครช่วงชิงมันไปเพียงเพราะหวังจะได้ชื่อได้เสียง แล้วเอาไปเที่ยวพูดราวกับเป็นบุญคุณแบบที่มักจะเห็นกันมาตลอดช่วงระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา 

จากงานพาเหรดสู่ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม-คู่ชีวิต ท่ามกลางบรรยากาศอันน่าประทับใจนี้ แม้ว่าอาจจะมีบางอย่างที่ยังดูผิดฝาผิดตัวและชวนให้จับตามองอยู่บ้าง แต่นี่คือก้าวเดินที่น่ายินดีของสังคมไทย และในโอกาสครั้งต่อๆ ไป เราต้องร่วมกันขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ จนไม่ใช่แค่เทศกาลของคนตัวเล็กตัวน้อยหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่มันจะเป็นงานฉลองของทุกคนในสังคม และเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีใครต้องอับอายหรือเจ็บปวดกับอคติทางเพศอีกต่อไป

อ้างอิง:

Author

ณัฐ วิไลลักษณ์
เจ้าของร้านขนมสมัครเล่น ที่เชื่อมั่นในคุณค่าความเป็นมนุษย์ มีสตรีนิยมเป็นศาสนา และลมหายใจเข้าออกเป็นประชาธิปไตย

ณัฐณิชา วาณิชย์วิรุฬห์
นักเรียนประวัติศาสตร์ผู้ผันตัวมาทำกราฟิก คลั่งไคล้ประวัติศาสตร์และการ์ตูนญี่ปุ่น อยากถ่ายทอดเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ให้เข้าใจง่ายด้วยการร้อยเรียงสีสันแห่งอาร์ตเวิร์ค

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า