ใครเป็นคนริเริ่มความคิดว่าสายฝนทำให้คิดถึงคนรัก? แล้วอะไรในสายฝนที่ทำให้มนุษย์รู้สึกเปียกปอนถึงหัวใจ?
นั่นไม่ใช่สิ่งสลักสำคัญที่จะเกิดขึ้นในโลกนวนิยาย ฝนตกตลอดเวลา ของ ปราบดา หยุ่น ที่ความรักเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ สายฝนในเรื่องนี้จะนำไปสู่การตั้งคำถามต่อสรรพสิ่งรอบตัวที่ถูกประกอบสร้างผ่านภาษาและท้าทายต่อขนบวรรณกรรม…
ความหมายของสายฝนนับจากนี้อาจไม่ได้อยู่แค่เพียงนิยามของความรักอีกต่อไป
ฝนตกตลอดเวลา บอกเล่าเรื่องราวของชายหนุ่มปริศนา เขา ผู้ตื่นขึ้นมาพบว่าตัวเองนอนอยู่ในโรงแรม ‘สมานภพโมเต็ล’ ซึ่งเป็นสภาวะแวดล้อมที่เขาไม่รู้จักมาก่อน อีกทั้งอากาศภายนอกยังมีฝนตกตลอดเวลา เขาพยายามติดต่อคนในโรงแรม และพบว่ามี ครู รอเขาอยู่ที่ล็อบบี้
ทุกครั้งเดินทางออกจากโรงแรม เขาจะไปตามดูชีวิตของ นิศาชล ตั้งแต่นิศาชลยังเป็นเด็กสาว ใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน พบรักกับ เจต นักศึกษาศิลปะติดยา นิศาชลกลายเป็นนักเขียน จนกระทั่งชีวิตรักวินาทีสุดท้ายของเจตและนิศาชล
แต่เรื่องราวของนิศาชลไม่ได้ถูกฉายเป็นหนังม้วนเดียวจบ สำหรับเขา มันถูกตัดออกเป็นช่วงๆ ตอนจบในแต่ละช่วงเขาจะสลบไป และฟื้นขึ้นมาพบว่าตัวเองกลับมาอยู่ที่สมานภพโมเต็ล จากนั้นเขาก็ออกไปตามหานิศาชลอีกครั้ง
การเล่าเรื่องดูเหมือนปกติธรรมดาไล่เรียงไปตามเหตุการณ์ แต่สิ่งที่กลับทำให้เรื่องนี้มีลักษณะเฉพาะตัวคือ ‘พื้นที่’…พื้นที่ทำให้เรื่องมีความพิเศษขึ้นมา เพราะผู้เล่าต้องเล่าสลับไปมาระหว่างพื้นที่ ‘ใน’ สมานภพโมเต็ลและ ‘นอก’ สมานภพโมเต็ล
มากไปกว่านั้นคือหลายครั้งที่สองพื้นที่นี้ถูกเบลอเข้าหากัน จนผู้อ่านอาจจะรู้สึกว่าผู้เล่ากำลังเล่าเรื่องของใครกันแน่?
ในและนอกสมานภพโมเต็ล: เส้นแบ่งที่กั้นและทับซ้อนในเวลาเดียวกัน
พื้นที่ในเรื่อง ผิวเผินอาจดูว่าถูกแบ่งอย่างชัดเจน คือโลกในสมานภพโมเต็ล อันประกอบไปด้วย เขา ครู โอเปอเรเตอร์ พิธีกรสองคนใน นิวส์ทอร์ค และโลกนอกสมานภพที่มี นิศาชล ตุ๊กตา เจต เต่า เพื่อนสาวของนิศาชล เจต กบ ฯลฯ แต่มันกลับทับซ้อนกันเมื่อเรื่องถูกเล่าผ่านการหลับและการตื่นของเขา ราวกับว่าเรื่องของนิศาชลเกิดขึ้นในฝันของ และจบลงในขณะที่เขาตื่นมาพบว่าตัวเองอยู่ที่สมานภพ
ความอลหม่านที่หนักไปกว่านั้นคือ โลกในสมานภาพกลับถูกสร้างให้ ‘จริง’ น้อยกว่าโลกนอกสมานภพ กล่าวคือ สมานภพโมเต็ลที่ดูเหมือนว่าจะเป็นโรงแรม ก็ไม่ใช่โรงแรมเสียทีเดียว เพราะแม้ตัวละครครูที่ทำงานอยู่ในโรงแรมนั้นก็ยังไม่แน่ใจ มิหนำซ้ำยังบอกว่า
“จะเรียกว่าเป็นโรงเรียนก็ได้ เธอเป็นนักเรียนของที่นี่ แต่มันไม่เหมือนการสอนแบบที่เธอเคยรู้จัก”
– หน้า 133
ผังของโรงแรมเองก็ชวนพิศวง เช่น เมื่อเขาวิ่ง ‘ลง’ ไปยังล็อบบี้ก็พบว่าตัวเอง ‘ขึ้น’ มาอยู่ที่ดาดฟ้า แต่เมื่อวิ่ง ‘ขึ้น’ ไปดาดฟ้ากลับพบว่าตัวเอง ‘ลง’ มาอยู่ที่ล็อบบี้ ประกอบกับตัวละครทุกตัวในพื้นที่นี้ล้วนแล้วแต่ไร้ที่มา เขา ที่ไม่รู้แม้กระทั่งชื่อตัวเอง ครู ที่เหมือนจะเป็นพนักงานโรงแรมก็ไม่ใช่ เป็นครูก็ไม่เชิง และ โอเปอเรเตอร์ เป็นตัวละครร่างเลยด้วยซ้ำ เวลาที่ไม่รู้แน่ชัดว่าตอนไหน รู้เพียงแต่ว่าฝนตกตลอดเวลา ผิดกับโลกนอกสมานภพโมเต็ลที่ถูกอย่างถูกบรรยายอย่างสมจริง
สถานที่แม้จะไม่ได้ระบุชื่อ แต่ถูกบรรยายรายละเอียดอย่างตรงไปตรงมา ตัวละครมีชื่อมีที่มาที่ไปพอสังเขป สิ่งที่ทั้งสองโลกดูจะเหมือนกันคือ ‘กี่โมงไม่รู้ แต่ฝนตกตลอดเวลา’ ทั้งหมดนี้คือความสับสนอลหม่านแบบพูดสั้นๆ คือ ‘ความเหมือนจริงกลายเป็นสับเซ็ตของความจริงที่ดูไม่จริง’ และหากจะตีความว่าโลกนอกสมานภพโมเต็ลเป็นเพียงความฝัน มันก็ไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะตัวละครครูอธิบายว่า
“ไม่ใช่ความฝัน…แต่ก็ไม่ใช่… สิ่งที่เธอเรียกว่าความจริง”
ความปวดหัวทั้งหมดตกมาอยู่กับผู้อ่านที่พยายามหาเส้นแบ่งพื้นที่ในเรื่องเป็นส่วนๆ ออกจากกัน – แต่อันที่จริงชื่อของโรงแรม ‘สมานภพ’ ก็น่าจะบอกในตัวอยู่แล้วว่าเส้นแบ่งมันไม่มีอยู่จริง เพราะมันถูก ‘สมาน’ เข้ากันไว้แล้ว
การเขียนในลักษณะนี้มีความสอดคล้องกับความเป็น Nouveau Roman (นูโว โรมอง) สไตล์การเขียนของกลุ่มนักเขียนฝรั่งเศสในช่วงกลางถึงท้ายศตวรรษที่ 20 ที่มีเป้าหมายในการต่อต้านขนบการเขียนวรรณกรรมแบบ Realism (สัจนิยม) ที่พยายามวางกฎและแบบแผนของการเขียนงานวรรณกรรมไว้ว่า องค์ประกอบของงานวรรณกรรมที่ดีคือต้องที่สมดุลและสมจริงในเรื่องของตัวละคร สถานที่ และเวลา แต่สิ่งที่กลุ่ม Nouveau Roman เชื่อหลักๆ คือ งานศิลปะที่ต้องการเสรีภาพทางความคิดต้องไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบหรือกฎเกณฑ์ และท้าทายกับสไตล์การเขียนใหม่ๆ ที่เป็นการตั้งคำถามว่า อะไรเรียกว่าวรรณกรรม และอะไรที่ทำให้วรรณกรรมต่างจากตัวบทประเภทอื่น
อีกเรื่องที่น่าสนใจใน ฝนตกตลอดเวลา คือการวางบท โดยปกติแล้วหนังสือจะเริ่มจากคำนำ บทที่หนึ่ง บทที่สอง บทที่สาม… ไล่ไปจนกระทั่งบทสุดท้ายของเรื่อง แต่ ฝนตกตลอดเวลา เริ่มจากบทที่ลบสิบ ลบเก้า ลบแปด… จนกระทั่งถึงศูนย์ และจบด้วยคำนำของนิศาชล ถามว่าจุดนี้มันเป็นการขบถที่ทำให้ ฝนตกตลอดเวลา นำไปสู่ข้อถกเถียงว่าอะไรถึงจะเรียกว่าวรรณกรรมไหม? …ก็อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น เพราะยังคงอิงอยู่กับฟอร์มของคำนำและการแบ่งเรื่องเป็นบท อีกทั้งเรื่องก็ไม่ได้ย้อนถอยหลังไปตามเลข เพราะลำดับเวลาก็ยังคงเดินจากก่อนไปหลัง
อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ก็ดูเป็นการตั้งคำถามต่อฟอร์มที่น่าสนใจ และแน่นอนว่ามันชวนให้ผู้อ่านอยากรู้ว่าการดำเนินเรื่องจะเป็นไปอย่างไร
อีกสิ่งหนึ่งที่กลุ่มนักเขียน Nouveau Roman ชอบทำคือ ทำให้งานเขียนเป็นกระจกสะท้อนเงาของการเขียนเอง ในหลายครั้งจะออกมาในรูปแบบของ mise en abîme [1] เทคนิคทางศิลปะที่ถูกใช้ทั้งในภาพวาด วรรณกรรม ภาพยนตร์ ฯลฯ ในเรื่อง ฝนตกตลอดเวลา มันคือการที่นักเขียนเขียนถึงนิศาชลที่พูดถึงการเขียนของตัวเอง ประโยคหนึ่งที่น่าสนใจของเธอที่ปรากฏในคำนำของนิศาชลคือ
“ฉันสมเพชตัวเองที่เป็นนักเขียนแต่ไม่เคยหาคำบรรยายความรู้สึกสำคัญในใจได้สักคำ ทำแต่เพียงห้อมล้อมตัวเองด้วยศัพท์ของคนอื่น ที่นับวันจะดาษดื่นและไร้ความหมาย”
– หน้า 174
ความคิดที่ว่าสุดท้ายงานเขียนก็คือการ ‘เขียนซ้ำ’ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่กลุ่มนักเขียน Nouveau Roman หลายคนเอามาใช้ในการเขียน หลังจากพยายามทดลองที่จะนำเสนอวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ (หลายคนไปไกลกว่าการเล่าเรื่องด้วยตัวอักษร เพื่อที่จะนำสัญญะอื่นมาแทนตัวอักษร)
พวกเขาได้ข้อสรุปกันว่า สุดท้ายสิ่งที่ทำได้คือ ไม่ใช่การเขียนเพื่อสร้างสิ่งใหม่ แต่เป็นเพียงการหยิบยืมสัญญะเก่ามาใช้ และทำได้เพียงการเขียนซ้ำในสิ่งที่คนรุ่นก่อนเคยเขียนเอาไว้แล้วเท่านั้น อย่างที่ โรลองด์ บาร์ต (Roland Barthes) อธิบายไว้ว่า “ภาษาไม่เคยไร้เดียงสา”[2] เพราะคำที่ดูเหมือนเราเลือกมาใช้ แท้จริงแล้วมันพ่วงเอาความหมายที่ถูกประกอบสร้างภาพประวัติศาสตร์ติดมาไว้กับมันเสมอ
จากจุดนี้จะเห็นว่าผู้เขียนมีความตั้งใจในการจะ ‘เล่น’ กับฟังก์ชั่นของภาษาตามสไตล์ของนักเขียนแบบ Nouveau Roman ซึ่งมันปรากฏชัดมาก จนเราผู้อ่านจะรู้ว่าเขาตั้งใจ (เกินไป) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพาร์ทของ ‘เขา’
อำนาจของภาษาและการรับรู้ต่อสรรพสิ่ง
จากในเรื่องจะเห็นว่าผู้เล่าพยายามเน้นถึง ‘ชื่อ’ โดยเฉพาะยี่ห้อของของแต่ละสิ่งหลายครั้งมาก จนผู้อ่านต้องตั้งคำถามว่าทำไมต้องใช้วิธีนี้ เช่น พัดลม ‘อกาลิโก’ กระจกหน้าต่าง ‘สกุลสัญชาน งานหน้าต่าง’ โทรศัพท์ ‘ไญยะโซนิค’ พรม ‘สสารการพรม’ โทรทัศน์ ‘บุพนิโยคะวิชชั่น’ โซฟา ‘จารวาก เฟอร์นิเจอร์’ ประตู ‘สหัชญาณ งานประตู’ กลอนประตู ‘เจตจำนง ลงกลอนและกุญแจ’ ฯลฯ รวมถึงการ ‘ไม่มีชื่อ’ ของสรรพสิ่ง เช่น “สิ่งของทุกชิ้นในรัศมีของล็อบบี้ ไม่มียี่ห้อเลยแม้แต่อย่างเดียว” (หน้า 34) การย้ำแบบจงใจนี้ทำให้เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าผู้เขียนกำลังเล่นกับเรื่องของภาษากับอัตลักษณ์ของสรรพสิ่ง เหมือนกับโยนข้อสังเกตมาที่เรา ว่าภาษาเป็นตัวสร้างการรับรู้ของเราต่อสรรพสิ่งต่างๆ
สิ่งที่ แฟร์ดินองด์ เดอ โซซูร์ (Ferdinand de Saussure) บิดาแห่งภาษาศาสตร์ ได้สร้างไว้ให้กับโลกใบนี้ คือความเข้าใจที่ว่า ภาษาเป็นสัญญะที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นตัวแทนของสรรพสิ่ง แต่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งนั้นๆโดยธรรมชาติ ความคิดนี้นำมาซึ่งการเกิดขึ้นของ linguistic turn นักคิดจำนวนมากเข้ามาต่อยอดและอธิบายฟังก์ชั่นของภาษา จนทำให้รู้สึกว่า แท้จริงแล้วตัวภาษาเองไม่ได้เป็นตัวแทนของสรรพสิ่งอย่างตรงไปตรงมา แต่หลายครั้งมันจะพ่วงอคติที่ติดมากับประวัติศาสตร์ของมัน และขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้กุมความหมายของคำนั้นๆ ไว้
ในแง่หนึ่งภาษาจึงเป็นเสมือนอำนาจในการจัดการระบบความคิดและการรับรู้ของเรา
ในเรื่อง ฝนตกตลอดเวลา อาจจะไม่ได้พาเราไปไกลถึงตรงนั้น แต่อย่างน้อยๆ ก็ชวนให้เราตั้งคำถามว่าของแต่ละอย่างจะถูกบันทึกว่า ‘มีตัวตน’ ได้นั้น มันต้องถูกสร้างผ่านภาษา การเน้นย้ำถึงยี่ห้อหรือสโลแกนยิ่งเป็นตัวตอกย้ำความคิดนี้ และในตรรกะเดียวกัน หากสรรพสิ่งนั้นไม่มีชื่อเรียก ก็อาจจะถือได้ว่า ‘ไม่มีตัวตน’เหมือนกับที่ผู้เล่าไม่สามารถบรรยายสรรพสิ่งอะไรได้เลยในห้องล็อบบี้
อย่างที่ได้กล่าวไป ภาษาเป็นเสมือนอำนาจที่เข้ามาจัดการกับระบบคิดและการรับรู้ของเรา มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) อธิบายว่า อำนาจของภาษานี้มักอยู่ในรูปแบบของความรู้ ความรู้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจต่อสรรพสิ่ง แต่การก่อร่างสร้างตัวของมันความหลายครั้งมักเจือปนด้วยอคติและนำไปสู่อุดมการณ์บางอย่างที่มีความประสงค์เข้ามาจัดการกับปัจเจกบุคคล ในเรื่อง ฝนตกตลอดเวลา เราจะพอเห็นความคิดที่สอดคล้องกันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่เขาต้องพบกับสิ่งที่เขาไม่รู้จักและพยายามทำความเข้าใจกับมัน เช่น
ความรู้กระจ่างแจ้งมากมายที่เขาไม่ปรารถนาปะทุขึ้นเหมือนจะบังคับให้หัวของเขาระเบิด การพัดพาของลม ความเร็วในการตกของฝน ปฏิกิริยาไฟฟ้าในเนื้อเมฆ กลุ่มคำศัพท์อย่าง “แรงเกรเดียนต์ความกดอากาศ” “ความเร็วเชิงมุม” “การเคลื่อนที่ของกอากาศในแนวตั้ง” “บริเวณความกดอากาศสูงกึ่งโซนร้อน มวลอากาศร้อน” “ไอออนบวก-ไอออนลบ” และอื่นๆ จัดระเบียบกันเอง เป็นขั้นตอน เป็นสมการเป็นเหตุผล วนเสนอหน้าให้เขาเข้าใจแทบจะพร้อมกัน (หน้า 29-30)
จากคำบรรยายนี้จะเห็นได้ชัดว่าความรู้เหมือนมีชีวิตด้วยตัวของมันเองและมีอำนาจในการ ‘เรียกร้องความสนใจจากเขา ทุกรายละเอียดคะยั้นคะยอให้เขานั่งฟังอย่างนักเรียนที่ดี’
– หน้า 30
ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า ฝนตกตลอดเวลา ที่ชื่อดูเหมือนจะพาไปรู้จักกับความรักโรแมนติก กลับพาผู้อ่านมาตั้งคำถามกับภาษาในฐานะของอำนาจที่เข้ามาจัดการการรับรู้ของเราต่อสรรพสิ่ง อีกทั้งยังพาให้มารู้จักกับสไตล์การเขียนที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่ชวนให้ปวดหัว ถ้าคุณยังติดกับการอ่านแบบเดิมๆ ที่คอยจะหาเหตุผลและเส้นแบ่งอะไรต่อมิอะไร
เปิดใจให้กับหนังสือฤดูฝนที่ไม่ได้ผูกตัวเองกับความรักดูสักครั้ง…
[1] mise en abîme คือ เทคนิคทางศิลปะตะวันตกที่แสดงภาพสะท้อนผ่านกระจกหรือภาพซ้อนกันหลายๆ ชั้นของวัตถุใดวัตถุหนึ่งซึ่งจะพบบ่อยๆ ในภาพวาด เทคนิคนี้ถูกนำมาใช้ไม่น้อยในงานวรรณกรรมโดยเฉพาะช่วงกลางศตวรรษที่ 20 นักเขียนดัดแปลงเอาความคิดดังกล่าวมาอยู่ในรูปแบบของการแทรกเรื่องเล่าย่อยเข้าไปในเรื่องเล่าหลัก หรือบางครั้งจะเป็นการเขียนถึงการเขียนหรือตัวผู้เขียนเอง
[2] ประโยคในภาษาฝรั่งเศสคือ ‘Le langage n’est jamais innocent’ ซึ่งบาร์ตเขียนเอาไว้ในบทความ ‘Le Degré Zéro de l’Écriture’ เขียนในปี 1953