แนวคิด ‘ราชประชาสมาสัย’ กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งเมื่อ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักเขียนชื่อดัง ให้สัมภาษณ์กับ The Standard โดยเสนอ “ปฏิรูปสถาบันให้เป็นราชประชาสมาสัย ราชกับประชาอยู่ร่วมกัน คือทางออกเดียวของประเทศไทย” จนเป็นที่น่าคิดว่า แนวคิดนี้มีสาระสำคัญอย่างไร เริ่มต้นความเป็นมาอย่างไร และส่งผลอย่างไรต่อวิกฤติยุคปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
แม้ว่าในบทสัมภาษณ์ดังกล่าว ภิญโญจะกล่าวอ้างการปรับตัวของสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยราชวงศ์จักรีหลายต่อหลายครั้ง ก่อนจะสรุปข้อเสนอให้ใช้แนวทางราชประชาสมาสัย แต่ในความเป็นจริงแนวคิดดังกล่าวนับเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นราว 40 ปีที่ผ่านมา เพื่อประนีประนอมกับผลของการลุกฮือของนักศึกษาประชาชนในช่วงการเคลื่อนไหวก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แนวทางดังกล่าวปรากฏเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการก่อตั้ง ‘สภาสนามม้า’ ขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนผ่านระเบียบการเมืองใหม่จากเผด็จการทหารสู่ระบอบประชาธิปไตย
จุดเริ่มต้นของราชประชาสมาสัย
‘สภาสนามม้า’ คือชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการของ ‘สมัชชาแห่งชาติ พ.ศ. 2516’ ซึ่งเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้ไม่นาน เมื่อสถานะของกองทัพเสื่อมทรุดลงอย่างมาก พร้อมๆ กับการเข้ามามีส่วนสำคัญทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล โปรดเกล้าฯ พระราชทานบุคคลจำนวน 2,347 คน ขึ้นมาทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลจำนวน 299 คน ทำหน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติ มีภารกิจสำคัญคือ เร่งร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในเวลา 6 เดือน ตามที่ให้สัญญาไว้แก่ประชาชน
จากการค้นคว้าของ จันทนา ไชยนาเคนทร์ เสนอไว้ว่า ความคิดเรื่องสภาสนามม้า อาจจะเริ่มมาตั้งแต่ก่อนที่ชัยชนะของนักศึกษาและประชาชนจะมาถึง เมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนบทความตีพิมพ์ในปี 2514 โดยเสนอไอเดียราชประชาสมาสัย ซึ่งเป็นการผสานแนวคิด 2 แนวทางคือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์กับประชาธิปไตย โดยมีหลักว่า
“ให้พระมหากษัตริย์กับประชาชนร่วมกันปกครองแผ่นดิน ให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการปกครองมากขึ้นกว่าในระบอบประชาธิปไตย และให้ประชาชนมีอำนาจในการปกครองมากขึ้นกว่าในระบอบประชาธิปไตยที่แล้วมา”
ในช่วงเวลาดังกล่าวไอเดียนี้ดูจะยากเกินไปที่จะเข้าใจ จนกระทั่งเป็นรูปธรรมในปี 2515 คึกฤทธิ์ได้เสนอรูปธรรมขึ้นมาอีกครั้ง (อันเป็นช่วงเวลาที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร อยู่)1 ว่า
“ในระยะต่อไปอาจจะให้มีการเลือกตั้งโดยตรงจากราษฎรครึ่งหนึ่งแล้วก็แต่งตั้งครึ่งหนึ่ง หรือก็อาจจะเป็นการให้พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานบัญชีรายนามผู้ที่ราษฎรควรจะเลือกลงไป ถ้าต้องการผู้แทนร้อยคนก็ให้พระราชทานลงไปห้าสิบ” แล้วค่อยพัฒนาไปสู่การเลือกตั้งโดยตรง
(อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ใน: ‘สภาสนามม้า’ และข้อถกเถียงของผู้กุมอำนาจหลังเหตุการณ์ ‘14 ตุลา 2516’)
จนกระทั่งท้ายที่สุด ‘สภาสนามม้า’ ก็เกิดขึ้นจริงโดยได้รับอิทธิพลความคิดจาก ‘ราชประชาสมาสัย’ การผงาดขึ้นมาเป็นไอเดียนำ นับว่าเป็นเรื่องใหม่ในเวลาดังกล่าว แต่แนวคิดนี้ก็ยังนับว่ามีสถานะที่แตกต่างออกไปจากยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และในยุคสมัยหลังรัฐประหาร 2490 รวมถึงในสมัยการเมืองการปกครองของสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ในทศวรรษที่ 2510 ซึ่งเป็นระบอบเผด็จการทหารเบ็ดเสร็จด้วย เพราะเป็นการอนุญาตให้อำนาจมาจากประชาชนเพียงบางส่วน คือรัฐสภาส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ขณะที่อีกส่วนมาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์
ถึงกระนั้นก็ตาม แนวคิดราชประชาสมาสัยก็ได้กลายเป็นแนวทางหลักของปัญญาชนฝ่ายกษัตริย์นิยม หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และส่งผลต่อเนื่องมาอีกหลายทศวรรษถัดมา ความสัมพันธ์แบบถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างพระมหากษัตริย์และประชาชน สอดคล้องกับคำอธิบายของปัญญาชนอนุรักษนิยมอย่างพระองค์เจ้าธานีนิวัต ที่เคยเสนอไว้ว่าระบอบการเมืองการปกครองไทยก่อนที่จะมีระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกนั้นมีลักษณะเป็น ‘อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ’ หมายถึง พระมหากษัตริย์และประชาชนเป็นหนึ่งเดียวกัน ต่างคนต่างทำหน้าที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นการประสานระหว่างฟ้าและดิน
ในแนวคิดนี้อ้างว่าพระมหากษัตริย์กับประชาชนไทยนั้นไม่เป็นภัยต่อกัน มีแต่ความรักต่อกัน และมีความอนุเคราะห์เกื้อกูลต่อกันและกันมาโดยตลอด ถ้าหากว่าพระมหากษัตริย์กับประชาชนของพระองค์ได้ร่วมกันปกครองแผ่นดินด้วยความรักและอนุเคราะห์เกื้อกูลกัน
ในยุคสมัยถัดมา ราชประชาสมาสัยยังได้ส่งอิทธิพลต่อนักกฎหมายกษัตริย์นิยมยุคหลังหลายต่อหลายคนด้วย ตัวอย่างเช่น บวรศักดิ์ อุวรรณโณ แม้ว่าจะไม่ได้เอ่ยคำว่า ‘ราชประชาสมาสัย’ โดยตรง แต่ในตำรากฎหมายหลายฉบับที่บวรศักดิ์เขียน ก็ยึดหลักการนี้ไว้อย่างคงเส้นคงวา เช่น เรื่อง ในหลวงกับประชาชน: เอกลักษณ์ประชาธิปไตยไทย ตีพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ 30 เมษายน 2536 และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบทที่ 7 ส่วนที่ 2 ตำรา กฎหมายมหาชน เล่ม 2 ตีพิมพ์เมื่อเดือนกันยายน 2537 ระบุว่า
อำนาจอธิปไตยนั้นอยู่ที่พระมหากษัตริย์และประชาชน ต่างกับรัฐธรรมนูญของชาติอื่นที่ถือว่าประชาชนเท่านั้นที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย… ด้วยเหตุนี้ในทางกฎหมายนั้น เมื่อมีการรัฐประหารเลิกรัฐธรรมนูญคราใด ต้องถือว่าอำนาจอธิปไตยที่เคยพระราชทานให้ปวงชนนั้น กลับคืนมายังพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นเจ้าของเดิมมาก่อน 24 มิถุนายน 2475
“หลักนิติธรรมทางรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์และประชาชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ ไม่เคยมีในประเทศอื่น มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเสนอความคิดในเรื่องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนนี้โดยการขนานนามว่า… ‘ลัทธิราชประชาสมาศัย’ มาจากการผนวกกันของคำ 3 คำ คือ ราชา + ประชา + อาศัย”
ครั้งท้ายๆ ที่มีการอ้างอิง
มาสู่ยุคการเมืองสีเสื้อ (2549-2557) แนวคิดเช่นนี้ไปปรากฏบนเวทีการชุมนุมของหลายค่ายทางการเมืองด้วย เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นำแนวคิดไปใช้รณรงค์ โดยเสนอให้นำหลักการราชประชาสมาสัยมาต่อสู้กับระบอบทักษิณ ไม่ว่าจะเป็น การขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี โดยการอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2540 และมีการนำไปเคลื่อนไหวอีกครั้งในการชุมนุมใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ในปี 2551
อย่างที่เรียนไปว่าในทศวรรษที่ 2550 แนวคิดราชประชาสมาสัย มิได้ถูกผูกขาดอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ในกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็เคยเคลื่อนไหวโดยอ้างอิงเอาหลักคิดนี้เข้ามาสนับสนุนด้วย ตัวอย่างที่สำคัญคือ กิจกรรมการยื่นถวายฎีกาพระราชทานอภัยโทษในช่วงก่อนเหตุการณ์ ‘เมษาเลือด’ ในปี 2552 ความคิดนี้เริ่มจากการสนทนาของวีระ มุสิกพงศ์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผ่านการโฟนอินของทักษิณในการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน โดยทักษิณกล่าวตอนหนึ่งว่า
ไม่มีใครที่จะเอาผมกลับประเทศไทยได้หรอกครับ นอกจากพระบารมีที่จะทรงมีพระเมตตา หรือไม่ก็พลังของพี่น้องประชาชนเท่านั้น
หลังจากนั้นแนวทางการต่อสู้เช่นนี้ได้หายไปชั่วคราวระหว่างการชุมนุมใหญ่ในเดือนเมษายน 2552 ก่อนที่ วีระ มุสิกพงศ์ กลับมาเริ่มอธิบายการต่อสู้ด้วยแนวทางนี้อีกครั้งในการชุมนุมใหญ่ช่วงกลางปี 2552 โดยให้เหตุผลว่า การยื่นถวายฎีกามีฐานคิดมาจากราชประชาสมาสัย ซึ่งหมายถึงการพร้อมใจกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนในการกระทำเรื่องใดๆ โดยปรากฏผ่านกิจกรรมการยื่นถวายฎีกาจาก 2 รูปแบบ คือ การถวายฎีกาสงฆ์ และการยื่นถวายฎีกาประชาชน จำนวน 5 ล้านกว่ารายชื่อ
อย่างไรก็ตาม หลังจาก นปช. จัดกิจกรรมยื่นถวายฎีกาเสร็จสิ้น พวกเขากลับเผชิญกับความจริงที่ว่า ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ต่อกระบวนการดังกล่าว
มาถึงปัจจุบันสมัย เกิดคำถามไม่น้อยว่า บริบททางการเมืองในยุคนี้ซึ่งแตกต่างไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิงนั้น ข้อเสนอราชประชาสมาสัยจะมีน้ำหนักเพียงพอให้ทุกฝ่ายรับฟังมากน้อยเพียงใด เพราะการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในปัจจุบันมุ่งไปที่การเปลี่ยนกติกาทางการเมืองให้ยืนอยู่บนหลักนิติรัฐ ปฏิเสธอำนาจคณะรัฐประหารอย่างสิ้นเชิง คนรุ่นใหม่เหล่านี้จะมองเนื้อหาของราชประชาสมาสัยอย่างไร
รวมถึงคำถามสำคัญกว่านั้นที่ว่า ‘ราชประชาสมาสัย’ ซึ่งเคยเป็นหลักหมายในยุคสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมีพระราชอำนาจนำ จะเป็นทางออกมากน้อยเพียงใด ท่ามกลางยุคสมัยปัจจุบันที่คนหนุ่มสาวปรารถนาจะเห็นการเมืองไทยที่ต่างออกไปจากเดิม ดังที่พวกเขามีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนว่า “พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมืองและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง”
เชิงอรรถ
- นำมาใช้เป็นครั้งแรกในบทสนทนาหัวข้อ ‘การเมืองไทยกับ เสน่ห์ จามริก และเกษม ศิริสัมพันธ์’ มีบันทึกอยู่ในวารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 เดือนเมษายน 2515 หน้า 39-4