สำราญชน ชื่อ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
“…ผมเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2511 ปลายยุคขุนนางข้าราชการสังกัดกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ธรรมศาสตร์สลัดออกจากแอกขุนนางข้าราชการเชื่องช้ามาก นับจากที่ท่านปรีดีมีส่วนในการคัดเลือกอาจารย์ผู้สอนด้วยตัวเอง แต่ตั้งแต่รัฐประหารปี2490 ขุนนางข้าราชการที่มาสอนในธรรมศาสตร์จำนวนมากมิได้ผูกพันกับธรรมศาสตร์ในด้านจิตวิญญาณ ขาดสอนบ่อยมาก บางคนเข้ามาสอนในสัปดาห์สุดท้ายของภาควิชา มิหนำซ้ำยังให้นักศึกษาสอบตก 60-70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจารย์ป๋วยเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง
“ในเวลานั้น อาจารย์มหาวิทยาลัยมีสถานะเป็นงานอดิเรกของขุนนางข้าราชการ คนเหล่านี้ต้องการตำแหน่งจากมหาวิทยาลัยเป็นเครื่องประดับสถานะทางสังคม การที่ธรรมศาสตร์ยังถูกครอบงำด้วยสำนักวิชาการขุนนาง ย่อมนำความเสื่อมทรามมาสู่มหาวิทยาลัย และไม่อาจก้าวตามทันความก้าวหน้าทางวิชาการได้ ประการสำคัญ ไม่อาจศึกษาวิจัยเพื่อเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ได้ สิ่งที่สอนในมหาวิทยาลัยย่อมล้าสมัยตามกาลเวลา มหาวิทยาลัยจึงเป็นเพียงที่สิงสถิตของความรู้
“ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปลายยุคการครอบงำของสำนักวิชาการขุนนาง และอยู่ในช่วงต้นยุคอาจารย์มหาวิทยาลัยในฐานะอาชีพ ภายใต้ยุคดังกล่าวนี้ ผมคาดหวังว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยจะเป็นสำราญชน ดุจดังสังคมตะวันตก แต่แม้จนเกษียณอายุมาหลายปีแล้ว ผมก็ยังไม่มีโอกาสจะได้เป็นสำราญชน
“มหาวิทยาลัยเมื่อแรกถูกจัดตั้งในสังคมตะวันตกเป็นชุมชนของสำราญชน สำราญชนเป็นกลุ่มคนที่ใช้เวลาในการแสวงหาความรู้อย่างสำราญ การแสวงหาปัญญาเป็นความสำราญอย่างหนึ่งปัญญาชนเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของสำราญชน อาจารย์มหาวิทยาลัยบางส่วนเป็นองค์ประกอบของสำราญชน แต่บางส่วนก็เป็นสำราญชนที่มิใช่ปัญญาชน สังคมตะวันตกมิได้คาดหวังให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นสำราญชนที่ไร้บทบาทหน้าที่ หรือใช้ชีวิตประดุจเสเพลชน หากแต่คาดหวังว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นสำราญชนที่มีบทบาทในการสร้างองค์ความรู้แขนงวิชาต่างๆ
“ความคาดหวังเช่นนี้เองที่ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องเป็นอาชีพสำราญชนหากไม่มีเวลาว่างเพียงพอ และไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม อาจารย์มหาวิทยาลัยย่อมยากที่จะผลิตองค์ความรู้ใหม่ได้ หากอาจารย์มหาวิทยาลัยมิใช่สำราญชนก็คงไม่มีใครมาร่วมถกเถียงว่าอะไรคือความงาม ความจริง และความยุติธรรม จะมีใครที่จะมานั่งเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของจักรวาล และนั่งพินิจกล้องจุลทรรศน์เพื่อศึกษาจุลินทรีย์ประเภทต่างๆ หรือนั่งเฝ้ามองการร่วงหล่นของผลแอปเปิ้ลจากลำต้น
“มรดกทางประวัติศาสตร์ในสังคมตะวันตก ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมีสถานะเป็นอาชีพที่สูงส่งในตะวันตก ผู้ที่มีอาชีพดังกล่าวมิได้มีหน้าที่เฉพาะการถ่ายทอดความรู้ และการฝึกอบรมกุลบุตร กุลธิดาเท่านั้น แต่ยังเป็นที่คาดหวังว่าจะมีบทบาทในการพัฒนาองค์ความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ ด้วย…”
ด้านบนคือส่วนหนึ่งของปาฐกถาของ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ภายในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ ‘72 ปี รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์’ แสดงให้เห็นทั้งสถานะและตัวตนของนักวิชาการผู้เป็นลูกศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งของป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานะของ ‘อาจารย์’
(อ่านปาฐกถาฉบับเต็มได้ที่นี่)
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวถึงรังสรรค์ในภาพย้อนความทรงจำกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ในการต่อสู้ต่อระบบการเมืองภายในมหาวิทยาลัยเรื่องการขึ้นค่าหน่วยกิตและค่าธรรมเนียม ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่ชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ซึ่งแสดงมุมมองในความเป็นมิตรสหายทางวิชาการไว้ว่า
“ในแง่ของการทำงานของผมกับอาจารย์รังสรรค์ในช่วงบั้นปลาย ในปี 2537-2538 ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ช่วงสั้น ผมคิดว่างานที่อาจารย์รังสรรค์ทำและผลักดันจนสำเร็จ ทำให้เมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 มหาลัยธรรมศาสตร์ยังมีเงิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นำร่องไปแล้วเมื่ออาจารย์เกริกเกียรติผลักดันให้ตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ ก็หมายความว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่อาจารย์เกริกเกียรติผลักดันจนเกิดเนี่ย เก็บค่าเล่าเรียนแพงผิดปกติ อาจารย์รังสรรค์ก็ชี้ให้เห็นว่านี่ไง เก็บแพงแล้วนี่ เราก็จะเก็บแพงบ้าง แต่ก็ลดหลั่นกัน
“ผมคิดว่า ความสำเร็จของเราแม้จะอยู่สั้นและมีศึกภายในอย่างรุนแรง เราก็ภูมิใจมากเมื่อคิดกลับไปว่าเรายังมีเงินในวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง 2540
“ตอนนี้ก็มีเงินเยอะมาก ไม่รู้หายไปไหน (ฮา)”
ขณะที่ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ออกตัวว่าคงจะไม่เป็นการกล่าวเกินจริงแต่อย่างใดเมื่อพูดถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีเพียงไม่กี่ชื่อที่ทำให้นึกถึงทั้งในฐานะที่เป็นหน้าเป็นตาของมหาลัย และในฐานะ Spiritของธรรมศาสตร์ แม้โดยส่วนตัว ชูศักดิ์จะประหลาดใจนิดหน่อยว่าทำไมถึงเชิญตน เพราะไม่ได้เป็นลูกศิษย์โดยตรงต่ออาจารย์รังสรรค์ อีกทั้งยังอยู่กันคนละคณะ คนละสายวิชา กระนั้นชูศักดิ์ก็กล่าวว่าตนมีความผูกพันส่วนตัวต่อชื่อและงานอาจารย์รังสรรค์ตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนมัธยม กระทั่งมาเข้าเรียนธรรมศาสตร์ในปี 2519 จึงได้รู้จักชื่อและอ่านงานบางชิ้นของอาจารย์รังสรรค์ และเมื่อเข้ามาตนก็ได้ยินได้ฟังชื่อเสียงของอาจารย์รังสรรค์ผ่านรุ่นพี่นักกิจกรรมทั้งหลายว่าอาจารย์เป็นหนึ่งในอาจารย์รุ่นใหม่ หัวก้าวหน้า ที่ถ้าเราอยากขอความช่วยเหลือ สนับสนุนอันใดก็จะมีอาจารย์เหล่านี้ให้เข้าไปหาได้
“ผมรู้จักอาจารย์รังสรรค์อีกครั้งหนึ่งในฐานะผู้บริหารมหาลัย ตอนนั้นคนก็ฮือฮาว่าเป็นดรีมทีมของผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวลาไล่เลี่ยกันผมก็ไปเป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ ในหน้าไม่ไกลจากอาจารย์รังสรรค์ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผมกับอาจารย์รังสรรค์ผูกพันกันผ่านตัวหนังสือ ผ่านอาชีพการงานในมหาวิทยาลัย ซึ่งงานเขียนที่มันโด่งดังมากในยุคนั้นชื่อว่า ‘มหาวิทยาลัยในทศวรรษ2540’
“เนื่องในโอกาสวันไหว้ครู ผมจำได้ว่าภาพประกอบบทวาม คือภาพเครื่องถ่ายเอกสารเป็นครูที่นักศึกษาใช้ไหว้ บทความชิ้นนี้เขียนในฐานะนวนิยายวิทยาศาสตร์ ที่จินตนาการว่าเกิดอะไรขึ้นกับมหาวิทยาธรรมศาสตร์ในปี2540 แต่เขียนปี 2536 ว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากมีการย้ายการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีไปรังสิต
“มหาวิทยาลัยดำเนินนโยบายตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่และกระแสโลกาภิวัฒน์จนเกิดการแบ่งชนชั้นระหว่างแคมปัสท่าพระจันทร์กับแคมปัสรังสิต ซึ่งมันเป็นที่ฮือฮามากว่าเครื่องถ่ายเอกสารกลายเป็นครูที่นักศึกษาใช้ไหว้ เพราะว่าเครื่องแฟกซ์และเครื่องถ่ายเอกสารมันแพร่หลายและถูกมาก ผมอยากจะชี้ว่าบทความเช่นนี้มันเป็นจุลจักรวาลย่อส่วนมหาจักรภาคได้ค่อนข้างดีทีเดียว”
ภาพในความทรงจำของรังสรรค์ในความคิดของชูศักดิ์จึงเป็นภาพประทับของความเป็น ‘ปัญญาชนสาธารณะ’ ซึ่งปรากฏผ่านคอลัมน์ที่ตนได้อ่านผ่านตามาตั้งแต่สมัยมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะชื่อคอลัมน์ที่อาจารย์ตั้งไว้ว่า ‘จากท่าพระจันทร์ถึงสนามหลวง’อันน่าจะมีความหมายในแง่ จากหอคอยงาช้างสู่สนามหลวง คือ สนามหลวงมันมีความหมายเปลี่ยนไปจากเดิมจาก ‘สนามของหลวง’ เป็น ‘สนามของประชาชน’ ในช่วงหนึ่งของการเมืองไทย ซึ่งชื่อคอลัมน์คงจะบ่งบอกว่าอาจารย์ต้องการนำความรู้ไปสู่มหาชน
โดยสถานะของความเป็นนักวิจารณ์ด้านวรรณกรรม ชูศักดิ์ถูกขอให้กล่าวถึงผลงานของรังสรรค์ในด้านของชั้นเชิงทางภาษาและลีลาการเขียน ซึ่งชูศักดิ์อธิบายว่าทั้งชั้นเชิงภาษาและลีลาการเขียนของรังสรรค์ เป็นสิ่งที่โดดเด่นผิดวิสัยนักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป แสดงให้เห็นถึงความเป็นคนที่เจนจัดในภาษาไทยมาก และน่าจะอยู่กับหนังสือมานานมาก รวมทั้งการบัญญัติศัพท์ใหม่ๆ ไว้พอสมควร เช่นคำว่า ‘สำราญชน’หรือการเรียกชื่อโลกมนุษย์ว่าเป็น ‘มนุษย์พิภพ’ซึ่งให้น้ำเสียงที่ชวนให้เข้าใจว่าอาจารย์รังสรรค์เป็น Post humanเหมือนกับอาจารย์รังสรรค์เป็นผู้ที่มาก่อนกาล สื่อให้เห็นถึงการพยายามยึดครองโลกนี้ให้เป็นโลกของมนุษย์ ทั้งที่มีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อยู่ในโลกนี้อีกมาก
“บทความชิ้นนั้นและงานจำนวนมากของอาจารย์ แสดงตัวตนทางวิชาการของอาจารย์รังสรรค์ซึ่งอาจารย์เคยพูดไว้ในบทความบางชิ้น ว่าอาจารย์ปวารณาตัวเองเป็นนักเศรษฐศาสตร์สวนกระแส
“ซึ่งผมมองการสวนกระแสของอาจารย์รังสรรค์ในสองความหมายว่า ในแง่ที่หนึ่ง คืออาจารย์ไม่ได้สนใจแต่เรื่องเศรษฐศาสตร์เชิงตัวเลขและเศรษฐกิจ เพราะว่าอาจารย์มีความสนใจที่หลากหลายมาก ทำให้การวิเคราะห์เศรษฐกิจของอาจารย์ ไม่ได้มีกรอบอยู่แค่เชิงปริมาณ ตัวเลข สถิติ สมการ แต่อย่างเดียว แต่มีการนำมิติของสังคม เศรษฐศาสตร์การเมือง มาร่วมด้วยในฐานะปัจจัยหนึ่งในการทำความเข้าใจเศรษฐกิจ
“แต่ผมอยากจะเสนอเพิ่มเติมว่า การเป็นนักเศรษฐศาสตร์สวนกระแสของอาจารย์รังสรรค์ หมายรวมไปถึงการนำมิติด้านความเป็นธรรมในสังคมมาเป็นปัจจัยชี้ขาดในการพูดถึงมิติเชิงเศรษฐศาสตร์ในสังคม ซึ่งไม่ปรากฏมากนักในนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป มันจึงทำให้จุดนี้ของอาจารย์เป็นที่น่าประทับใจ
“ไม่ใช่แค่ปัจจัยที่ใช้อธิบายเศรษฐกิจ แต่มันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ต้องนำมาเป็นกรอบ ในแง่นี้ผมจึงถือว่าการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ทวนกระแสของอาจารย์จึงเป็นส่วนที่ควรเชิดชูและยกย่อง”
เฉกเช่นชูศักดิ์ ปกป้อง จันวิทย์ ก็บอกเล่าภาพความทรงจำต่อรังสรรค์จากการรู้จักผ่านบทความในคอลัมน์นิตยสารมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมสาม ราวปี 2535ซึ่งเป็นช่วงที่ไฟการเมืองในใจของปกป้องกำลังลุกโชน อันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์พฤษภา2535
“ตอนนั้นผมอยากค้นหาคำตอบหลายเรื่องเกี่ยวกับการเมืองไทย ผมจึงอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเมืองไทยเป็นบ้าเป็นหลัง จนกระทั่งมาเจอหนังสือ ‘เศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่าด้วยการเมืองไทย’ผมจำได้ว่าพอผมเห็นหนังสือครั้งแรก ผมก็ซื้อทันที และอ่านรวดเดียวจบ และถูกตาถูกใจกับวิธีวิเคราะห์ และ ‘ปิ๊ง’ อย่างที่ไม่เคยมีกับหนังสือเล่มไหนมาก่อน นี่คือหนังสือที่มีอิทธิพลต่อชีวิตผมมากที่สุด ซึ่งเปลี่ยนชีวิต มุม ความคิด ก่อนจะวิวัฒน์มาเป็นตัวผมในวันนี้ ถ้าถอดรากความคิดตัวเองออกไป ก็จะเจอหนังสือเล่มนี้ ถ้าใช้ภาษาของสิงห์สนามหลวงก็ต้องบอกว่า อำนาจวรรณกรรมมีจริงๆ”
ในมุมของลูกศิษย์ ปกป้องมองรังสรรค์ในฐานะครูเศรษฐศาสตร์คนแรกที่สอนให้รู้จักเรื่องความหลากหลายในโลกวิชาการ การสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมได้ด้วยแว่นตาหลายแบบ เช่นการเมืองที่เราชอบอาจมองในอีกมุมได้ด้วย ต่อมาจึงขมวดให้คิดได้ว่า นักแต่ละนักมีวิธีคิดวิธีมองโลกต่างกัน แว่นตาแต่ละแบบก็มีจุดคมชัด จุดบอด จุดเบลอ แตกต่างกัน
นักเศรษฐศาสตร์เองยังมีแว่นตาหลายแบบ ความสนุกทางปัญญาคือการใส่ๆ ถอดๆ แว่นตาหลายแบบ และหาวิธีมองโลกในแบบของตัวเอง
ประเด็นต่อมา ปกป้องกล่าวถึงหัวใจของเศรษฐศาสตร์ที่อาจารย์รังสรรค์ทำให้เห็นว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่วิชาเชิงธุรกิจ ว่าด้วยเงินๆ ทองๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุนงบประมาณ เหมือนที่เด็กคนหนึ่งเคยเข้าใจผิด แต่เศรษฐศาสตร์เป็นชุดเครื่องมือหรือวิธีคิดที่ใช้อธิบายโลกได้กว้างขวาง
“ด้านหนึ่งเราใช้มันไปอธิบายเรื่องที่ไม่ใช่เศรษฐกิจได้ด้วย ทั้งเรื่องการเมือง เรื่องสังคมวัฒนธรรม อีกด้านหนึ่ง เราจะไม่มีทางเข้าใจเศรษฐกิจ ถ้าเรายังไม่เข้าใจการเมือง เศรษฐกิจกับการเมืองแยกขาดจากกันไม่ได้ ในอีกด้านหนึ่งเราไม่สามารถเข้าใจปัจจุบันหรือมองอนาคตได้ หากปราศจากความเข้าใจเกี่ยวกับอดีต และวิถีความเป็นมาของคนในสังคม ข้อมูลเชิงประจักษ์ในบทวิเคราะห์ของอาจารย์รังสรรค์จึงไม่ใช่แค่คณิตศาสตร์หรือเชิงสถิติ แต่ใช้หลักฐานเชิงประวัติศาสตร์เป็นพระเอกในการสร้างชุดเรื่องเล่า”
นอกจากนี้ อาจารย์รังสรรค์ยังอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างการวิเคราะห์สิ่งที่เป็นอยู่ กับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยใช้เศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิคในการวิเคราะห์การเมืองไทยเพื่อทำความเข้าใจและอธิบายความเป็นอยู่ของสภาพการเมืองไทย เช่น ทำไมถึงเกิดรัฐประหาร ทำไมผู้มีอำนาจถึงโกง ทำไมคนไม่ออกไปเลือกตั้ง ขั้นตอนนี้ต้องวางตัวเองให้ออกห่างจากสิ่งที่เราศึกษา กระทั่งเมื่อเข้าใจโลกที่เป็นอยู่แล้ว เราจึงคิดเปลี่ยนโลก ให้มุ่งสู่สภาพที่ควรจะเป็น ด้วยหลักวิชา
ต่อเนื่องมาถึงความสำคัญของสถาบันหรือระบบ แทนที่จะเรียกร้องให้นักการเมืองเสียสละหรือเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติ อาจารย์รังสรรค์กลับเสนอกรอบการวิเคราะห์ โดยมองนักการเมืองเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ที่แสวงหาประโยชน์สูงสุดให้ตัวเองและเครือข่าย หรือแสวงหาคะแนนนิยมทางการเมืองสูงสุด ไม่ใช่แสวงหาผลประโยชน์สูงสุดแก่สังคมส่วนรวม
เรื่องเล่าทางการเมืองของอาจารย์รังสรรค์จึงสอนให้รู้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ ปุถุชน ไม่ใช่อรหันต์ ตัวระบบหรือสถาบันจึงมีความสำคัญมากกว่าตัวบุคคล และคำว่าสถาบันในที่นี้ คือ กติกาการเล่นเกม ที่กำกับปฏิสัมพันธ์กับผู้คน กำหนดและปรับเปลี่ยนความเชื่อ และการตัดสินใจและพฤติกรรมของคน ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่นจารีต ค่านิยมส่วนรวมของสังคม
“การปฏิรูปการเมืองจึงไม่ใช่การเรียกร้องคนดี แต่โจทย์อยู่ที่การออกแบบสถาบันที่ดี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ตัวละครต่างๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในทางที่ประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวมขัดแย้งกันน้อยที่สุด เช่น ออกแบบรัฐธรรมนูญให้โครงสร้างตลาดการเมืองมีการแข่งขันสมบูรณ์ บนพื้นฐานของความเสมอภาคลดต้นทุนธุรกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน สร้างกลไกการรับผิดของรัฐบาล
“ทั้งหมดนี้คือ Spirit ของงานวิชาการวิถีรังสรรค์ และเมื่อผมได้อ่าน รวมถึงงานของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ ครูเปลี่ยนชีวิตของผมอีกท่านหนึ่ง ก็ทำให้ผมตัดสินใจแน่วแน่ตั้งแต่มัธยมต้นที่จะเข้าเรียนเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ให้ได้ และสนใจศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง”
72ปีในชีวิตของรังสรรค์ 32 ปีในฐานะคอลัมนิสต์บทความ จนมีหนังสือรวมเล่มจากคอลัมน์ 17 เล่ม งานเขียนร่วมเล่มชุดสุดท้าย คือ ชุด ทักษิโนมิคสู่ทักษิณาธิปไตย ปี 2548 สองเล่ม และหนังสือเล่มสุดท้ายที่ไม่ได้เผยแพร่ทั่วไป คือ ปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 10 จารีตรัฐธรรมนูญไทยกับสันติประชาธรรม2550 ซึ่งอาจารย์กล่าวนำปาฐกถาว่า การได้รับเลือกเป็นปาฐกนับเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่เหนือกว่าเกียรติยศใดๆ ที่เคยได้รับตลอดชีวิต
“สิบห้าปีเต็มที่หายไปจากการแสดงทัศนะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จากผลงานสุดท้ายที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการเมืองทักษิณยุคก่อนพันธมิตรเพื่อการเมืองและประชาธิปไตย นำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล ภายใต้วิกฤติเปลี่ยนของสังคมไทย หลายคนคิดถึงรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ แม้การแสดงออกในที่สาธารณะจะนับครั้งได้ แต่ลูกศิษย์ และหลานศิษย์ของอาจารย์จำนวนไม่น้อย มีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมืองในช่วงเวลานั้น เรายังคงเห็นรากทางความคิดของรังสรรค์ในตัวปัญญาชนที่ชัดเจน เช่น อาจารย์อภิชาต สังคมไทยอดคิดไม่ได้ว่าอาจารย์รังสรรค์มองหาสาเหตุและทางออกของความขัดแย้งทางการเมืองที่แบ่งขั้วแยกข้างอย่างรุนแรงในวิกฤติเปลี่ยนผ่านครั้งนี้อย่างไร
“จากม็อบเสื้อเหลือง ผ่านการเคลื่อนไหวมาตรา 7 ผ่านรัฐประหาร 2549 ผ่านรัฐธรรมนูญ2550 ผ่านม็อบปิดสนามบิน ผ่านวิกฤติซับไพร์ม ผ่านเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ผ่านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมสุดซอย ผ่านม๊อบนกหวีดกปปส.เรื่อยมาจนถึงรัฐประหาร 2557 การเปลี่ยนผ่านรัชกาล รัฐธรรมนูญ 2560 จนถึงการเลือกตั้ง 24 มีนาคม รวมถึง ณ วันนี้ อาจารย์มีนโยบายต่อเศรษฐกิจอย่างไร เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยเขียนเรื่องทักษิโณมิคอย่างไร หลังจากมองเห็นความเปลี่ยนแปลงเรื่องเศรษฐกิจในช่วงสิบห้าปีหลัง
“ถ้าตอบแบบอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ก็จะตอบว่า อาจารย์ทำอะไรให้สังคมไทยมาก็เยอะแล้ว จะเอาอะไรกับอาจารย์อีก โจทย์อยู่ที่พวกเราไม่ได้อยู่ที่อาจารย์แล้ว”
โจทย์สุดท้ายที่ปกป้องทิ้งท้ายให้ผู้สนใจมรดกทางความคิดของรังสรรค์ในเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง การพัฒนา และนโยบายสาธารณะ คือ การย้อนกลับไปอ่านงานเขียนเก่าๆ ของรังสรรค์ เพื่อแกะรอยความคิดอันจะนำมาสู่การเห็นปัญหาเศรษฐกิจการเมืองไทยในยุคที่ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ วางมือแล้วได้อย่างไรบ้าง?
คำตอบนั้น อาจต้องย้อนทวนกลับมามองตัวเองเสียก่อน ในฐานะสำราญชน เช่น รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์