ผมอยากเข้ามหา’ลัยดีๆ ฮะ ผมว่าการเรียนไม่สำคัญเท่าการได้เข้ามหา’ลัยดีๆ หรอก
และ
ก็ไม่ใช่ว่าผมอยากเข้ามหาวิทยาลัย แต่ตลอดมาสังคมกดดันเรามาตลอดว่าต้องเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ให้ได้
ไม่ต้องพูดอะไรกันอีกแล้ว ว่าความรู้สึกร่วมของประชากรวัยรุ่นเอเชียที่ต้องแบกรับความคาดหวังของสังคมให้เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ มันเป็นอย่างไร และไม่ได้เป็นความคาดหวังที่เราอยากจะโยนทิ้ง แต่เราวิ่งเข้าหา อยากกระแทกแรงๆ เพราะรู้ว่านี่คือประตูบานสำคัญที่จะพาเราไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า!!!
และเฉพาะตอนแรกที่แค่เห็นทีเซอร์เรื่อง Reach for the SKY ฝากฝันไว้ที่ปลายฟ้า ว่าด้วยเรื่องการสอบ ‘ซูนึง’ เข้ามหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้ นอกจากจะรู้สึกหวือหวาขนแขนลุกชันให้กับฉากเสียงไซเรนรถมอเตอร์ไซค์ของตำรวจ ซึ่งมีเด็กนักเรียนซ้อนท้าย (และไม่ใส่ชุดนักเรียนหรือนักศึกษาด้วย!) วิ่งเข้ารั้วไปสอบ พร้อมเสียงบรรยายประมาณว่า
“ในวันสอบซูนึง ห้ามไม่ให้รถยนต์แล่นผ่านในระยะ 300 เมตร จะไม่มีการเคลื่อนพลของกองทัพ และในช่วงสอบฟังภาษาอังกฤษ ห้ามเครื่องบินผ่านน่านฟ้าเป็นระยะเวลาประมาณ 30 นาที” ข้อความประมาณนี้ไม่น่าขาดเกิน พร้อมตัดภาพการเคลียร์เส้นทางจราจร ภาพเด็กนั่งอ่านหนังสือในรถ แถมด้วยฉากที่นักเรียนคนหนึ่งบอกว่า ‘พี่ (แท็กซี่) คะ ประตูโรงเรียนสอบอยู่ตรงนั้น’
ก็ยิ่งเร้าความรู้สึกให้ขนที่แขนลุกชัน ได้กลิ่นความเครียดที่รสชาติคล้ายอ้วกตีขึ้นคอเพราะยังจำได้ว่าความรู้สึกที่ต้องนั่งรถเมล์ไปท่องศัพท์ครูสมศรีไปมันเป็นยังไง
แต่เข้าใจว่ารัฐบาลที่รักของเราไม่แคร์ เอ๊ย… ไม่อยากจะกดดันประชากรเด็ก ม.6 และเด็กซิ่วเท่านี้ รวมทั้งเส้นความเครียดอาจเห็นได้น้อยว่า
ตอนนั้นก็ได้แต่ชวนเพื่อนที่แอดมิชชั่นพร้อมกันทั้ง ‘พราวด์ลี่พรีเซนต์’ ว่าตัวเองเป็นติ่งเกาฯ (เกาหลี) ให้ไปดูพร้อมกันนะ แต่ไม่ได้คิดว่าตอนออกจากโรงมาแล้ว ขนที่แขนจะยังตั้งตรง และชวนกันย้อนรำลึกครั้งตอนที่ต้องเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยในวันวาน
ความกดดันที่รู้ว่ากดดัน แต่พยายามจะไม่กดดัน แต่สุดท้ายก็กดดันอยู่ดี
ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ เขียนถึงการสอบซูนึง ไว้ในคอลัมน์ ‘เล่า / เรียน’ บนเว็บไซต์สำนักข่าวออนไลน์ที่เท่ที่สุดในยุคสมัยไว้ว่า การสอบซูนึง ( – 수능) จากประเทศเกาหลีใต้ เป็นชื่อเล่นของการสอบ College Scholastic Ability Test หรือ CSAT และที่บอกว่า ‘ฝากฝันไว้ที่ปลายฟ้า’ ก็ไม่ใช่คำอุปมาถึงคาแรคเตอร์ซีรีส์เกาฯ สุดโรแมนติกขยี้จิกหมอน แต่มาจากตัวย่อ ‘SKY’ ชื่อต้นของมหาวิทยาลัยชั้นนำของเกาหลี
S-Seoul National University
K-Korea University
Y-Yonsei University
รวมตัวกันแล้วได้คำว่า SKY พอดี และพวกเขาเรียกเช่นนี้จริงๆ
ก่อนจะไปว่ากันด้วยความกดดัน ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เปิดเรื่องด้วยการค่อยๆ อธิบายตัวละครที่แตกต่างสามคน คนหนึ่งเป็นเด็กสาว ‘รอสอบใหม่’ แต่เตรียมสอบด้วยตัวเอง อีกคนเป็น ‘เด็กรอสอบใหม่’ แต่เข้าไปเตรียมสอบที่โรงเรียนประจำเพื่อเป็น ‘เด็กซิ่ว’ โดยเฉพาะ ขณะที่อีกหนึ่งคนเป็นเด็ก ม.6 ที่กำลังเตรียมสอบซูนึง เด็กนักเรียนธรรมดาที่คะแนนไม่น่ามีสิทธิ์ลุ้นเข้าสามมหาวิทยาลัยชั้นนำได้
และเพราะมันคือภาพยนตร์สารคดี และในหนังเล่าว่า มีเด็กเพียง 0.01 เปอร์เซ็นต์จากเด็กเตรียมสอบทั้งหมด ที่จะได้เก้าอี้เข้าไปนั่งในมหาวิทยาลัย เราจึงเตรียมใจว่า อาจไม่มีใครที่สมหวังสอบติดมหาวิทยาลัยเลยก็ได้นะ
ตัดภาพกลับมาในหัว คิดถึงพระเอกเกาหลีมาดเท่ที่มีคาแรคเตอร์เรียนเก่ง ฉลาดเป็นกรด คิดเลขเร็ว คำนวณแม่น มีหน้าที่การงานดีๆ ในซีรีส์แล้วก็นึกเข้าใจว่า “พี่ๆ ก็ต้องผ่านการสอบซูนึงมาอย่างยากลำบากแน่นอน #รัก”
ภาพความคาดหวังของเด็กๆ เป็นเช่นนั้น และนักเรียนในเรื่องก็ไม่มีใครที่ใช้เวลาทิ้งๆ ขว้างๆ อ่านไป เทไป ก่นด่าโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของสังคมออกมาเป็นคำพูด (หรือเขาอาจจะด่า แต่ไม่ได้ตัดมาให้เห็น) แต่ในระหว่างบรรทัดคือด่าเละแบบที่ไม่ต้องเอ่ยปากออกมา
ที่บอกว่ามันเป็น ‘ความกดดันที่รู้ว่ากดดัน แต่พยายามจะไม่กดดันแต่สุดท้ายก็กดดันอยู่ดี’ คือฉากก่อนหน้าวันสอบจริงหนึ่งวัน ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ประกาศออกไมค์ว่า “ก่อนสอบหนึ่งวันนี้ขอให้ผู้ปกครองระวังคำพูด อย่าพูดกดดันลูก หรือแม้แต่บอกว่าให้สู้ๆ ก็ไม่ควร เพราะถือเป็นการกดดันอยู่ดี” นั้น
มันแบบว่า… ชัดเจนไปเลยว่า “คือมึงรู้ว่านี่คือความกดดัน ซึ่งควรจะหลีกเลี่ยงความกดดันนี้ แต่สุดท้ายเราก็เลี่ยงมันไม่พ้นอยู่ดี”
พอถึงจุดนี้มันยิ่งจำได้ว่า วินาทีที่ครูประจำห้องแจกกระดาษข้อสอบ เราตั้งคำถามว่า “เราไหว้พระมาดีหรือยังวะ” มันเป็นยังไง มันคือดวง!!! เพราะถ้าทำใจให้สงบกับความตื่นเต้นและกดดันตัวเองตรงหน้าไม่ได้ ก็ขอให้การทิ้งดิ่งมันสำเร็จผลให้มากที่สุดแล้วกัน
สิ่งที่ชอบที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือฉากการดูดวง การขอพร พิธีกรรมต่างๆ ก่อนสอบ ไม่แน่ใจว่าเพราะสำรวจซีรีส์เกาหลีไม่ถ้วนทั่วเอง เป็นสิ่งที่ถูกซ่อนเอาไว้ หรือเพราะเป็นพิธีกรรมเฉพาะแล้วแต่วาระและความเชื่อของใครหรืออย่างไร เราจึงไม่ค่อยได้เห็นพิธีกรรมแบบนี้ในซีรีส์อื่นๆ แต่มันทำให้รู้สึกว่า ‘เหมือนกันเลยๆ’ ในช่วงเวลาที่ไม่มีหลักยึด ไม่รู้ซ้ายหรือขวา เห็นจะมีแต่พิธีกรรมยึดเหนี่ยวจิตใจตัวเองแบบนี้ ที่ทำให้รู้สึกว่าเราถูกคุ้มครอง
อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเด็กที่ไม่มีเงินกวดวิชา ไม่มีแม้แต่การส่งเสริมให้ ‘ทำข้อสอบเป็น’ จากโรงเรียนต้นทาง เช่นในไทย บันไดที่ฝันไว้ ต่อให้สู้จนกระดูกป่น ก็คงไม่มีทางวิ่งไปเพื่อปีนถึงแน่ๆ เลย
กรี๊ดดด… พูดไปพูดมาก็วกกลับไปที่เรื่องความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาไทย!!! #ว่าจะไม่ #แก้บนวนไปค่ะ