เช เกวารา ในความคิดถึง: จาก อาเลย์ดา ถึง ‘พ่อ’ ผู้เป็นนิรันดร์

โลกและสงครามยุติตัวเลขอายุของ เช เกวารา ไว้ที่ 39 ทว่าไม่อาจยุดยื้อตำนานนักปฏิวัติชาวอาเจนไตน์อันหนุ่มแน่นและหล่อเหลา ให้พล่านพลุ่งละล่องลอยข้ามผ่านกาลเวลา

หนุ่มแน่นในฐานะที่ผลผลิตทางความคิดของเชยังเร่าระริกสดใหม่ในนึกคิดของผู้คน “If you tremble with indignation at every injustice then you are a comrade of mine.” – หากท่านรู้สึกโกรธจนตัวสั่นต่อความอยุติธรรมใดๆ ท่านคือสหายของข้าพเจ้า หรือใครไม่ซาบซ่านในคำกล่าวนี้ของเช

หล่อเหลาในฐานะคนต้นเรื่องผู้ออกเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ทั่วอเมริกาใต้กับมิตร พบเห็นความยากจนข้นแค้น หิวโหย และโรคภัยที่กัดกินผู้คน นายแพทย์หนุ่มในขณะนั้นตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการ ‘26 กรกฎาคม’ กับสหายนาม ‘ฟิเดล กัสโตร’ เพื่อปลดแอกคิวบาจากรัฐบาลเผด็จการบาติสตาที่มีอเมริกาหนุนหลัง ก่อนกัสโตรขึ้นสู่อำนาจในปี 1959

อย่างไรก็ตาม เชละทิ้งตำแหน่งประธานธนาคารแห่งชาติคิวบาและรัฐมนตรีอุตสาหกรรม จรจากครอบครัวเพื่อทำสงครามปฏิวัติตามแนวทางมาร์กซิสต์ที่เขาเชื่อในคองโก รู้จักความล้มเหลว ก่อนคมกระสุนจากลานประหารตัดดับเปลวชีวิตอันอ่อนล้าของเชให้มอดลงที่โบลิเวีย ในวันที่ 9 ตุลาคม 1967

บางช่วงระหว่างที่ WAY พูดคุยกับ อาเลย์ดา เกวารา นั้น ลูกสาวคนโตของเชก้มหน้าลงเล็กน้อย หยาดน้ำเอ่อขึ้นที่สองตา เธอนิ่งนึกเนิ่นนานก่อนกล่าว

“เหมือนว่าคุณพ่อยังมีชีวิตอยู่ เหมือน เช เกวารา ยังเดินผ่านประตูเข้ามาหาเรา (ยิ้ม)”

เปล่าเลย, ตลอดการแลกเปลี่ยนและไถ่ถาม อาเลย์ดามิได้โศกเศร้า รอยยิ้มที่ผลิบานอยู่บนแก้มและเสียงหัวเราะอันสดใส ยืนยันว่าเธอเป็นคนเข้มแข็ง กล้าและแกร่งไม่ต่างจากผู้เป็นแม่ ‘อาเลย์ดา มาร์ช’ เจ้าของงานเขียนชื่อปก Remembering Che: My Life with Che Guevara ที่มีเนื้อหาบอกเล่าชีวิตคู่และการเคียงข้างเช เป็นห้วงรักระหว่างรบในความทรงจำของภรรยา

การจำและลืมแตกต่างกันอย่างไร ในเมื่อไม่มีใครปรารถนาการถูกเลือนลืม การจดจำและเทิดทูนใครสักคนในฐานะตำนานอันมิอาจแตะต้อง คงไม่ต่างกับการถูกลืม วันที่อาเลย์ดามีภารกิจเดินทางเยือนประเทศไทย เราชวนลูกสาวเชคุยถึงพ่อในฐานะมนุษย์พ่อคนหนึ่ง คุยอย่างมีชีวิตชีวาและมากสีสันเท่าที่จะทำได้

คุณแม่ (อาเลย์ดา มาร์ช) สบายดีไหมครับ สุขภาพร่างกายเป็นอย่างไรบ้าง

ค่อนข้างสบายดีค่ะ เป็นไปตามวัย (เกิด 1936 ปีนี้อายุครบ 82 ) ตามที่ควรจะเป็น แต่ว่ายังแอ็คทีฟแล้วก็แข็งแรงอยู่

ส่วนคุณยังทำงานเป็นกุมารแพทย์อยู่?

แน่นอนค่ะ

เส้นทางอาชีพแพทย์ในประเทศคิวบามีความยากง่ายอย่างไร เพราะคนไทยมักได้ยินว่ารัฐบาลของคุณสนับสนุนมากๆ

การศึกษาในคิวบาเป็นการศึกษาฟรี เราถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ทุกคนมีอิสระในการเลือก ถึงอย่างนั้น เด็กๆ ก็ต้องมีความสามารถในทางการเรียน มีคะแนนที่ดี และความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นหมอด้วย พวกเราพยายามกระตุ้นให้ประชาชนหรือเยาวชนทำงานด้านนี้ เนื่องจากเป็นอาชีพที่ไม่มีวันตกงาน

ทราบมาว่า คุณแม่ของคุณอาเลย์ดาเป็นผู้ดูแล ‘ศูนย์การเรียนรู้ เช เกวารา’ ตอนนี้ท่านยังรับหน้าที่นี้อยู่หรือเปล่า

ตอนนี้คุณแม่ต้องการเกษียณแล้ว และขอให้ฉันไปดูแลแทน แต่ส่วนตัวยังไม่ค่อยอยากทำเท่าไหร่ เพราะต้องการทำงานด้านแพทย์ต่อ เลยขอผลัดคุณแม่ไปอีก 1-2 ปี (หัวเราะ)

ศูนย์การเรียนรู้ตรงนี้อยากให้คนรุ่นใหม่จดจำภาพของ เช เกวารา แบบไหน

อยากให้ผู้คนรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเช ส่วนจดจำในแบบไหน ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั้นๆ ที่จะมาศึกษาเรียนรู้

ตอนคุณพ่อเสียชีวิตที่โบลิเวีย คุณมีอายุเพียงแค่ 7 ขวบ ซึ่งถือว่าเด็กมาก มีความทรงจำเกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำร่วมกับพ่อบ้างไหม

ยังไม่ครบ 7 ขวบดีเลย ประมาณ 6 ขวบกว่าๆ เพราะคุณพ่อ (อาเลย์ดาใช้คำว่า papá) เสียชีวิตเดือนตุลาคม ส่วนวันเกิดของฉันคือเดือนพฤศจิกายน ความทรงจำของฉันเรื่องคุณพ่อมีน้อยนิดมาก เคยมีการบันทึกไว้บ้างเป็นเอกสาร จากคำสัมภาษณ์ของสำนักข่าวต่างๆ ที่มักถามเรื่องเดียวกันนี้

เป็นเรื่องแปลก เมื่อต้องเล่าบ่อยๆ คุณเชื่อไหมว่า ความทรงจำระหว่างฉันกับพ่อจะค่อยๆ เลือนหายไป ดูไม่มีอะไรจริง อย่างที่บอกไปว่า ฉันได้อยู่กับคุณพ่อแค่สี่ปีครึ่ง หลังจากนั้นคุณพ่อก็ไปคองโก กระทั่งเดินทางอีกหลายที่เพื่อนำสารเกี่ยวกับการปฏิวัติในคิวบาไปเผยแพร่

พอเริ่มโตขึ้น คุณรับรู้ว่าพ่อเป็นบุคคลสำคัญผ่านทางไหนบ้าง

องค์กรเกี่ยวกับเด็กองค์กรแรกในคิวบา ชื่อ Pioneros (Organización de Pioneros José Martí: OPJM) มีสโลแกนว่า คนที่จะเป็นผู้บุกเบิกทางสังคมนิยม ต้องเป็นแบบเช ฉะนั้น การได้ยินได้ท่องประโยคนี้ตั้งแต่ 7 ขวบ ทำให้เรารู้ว่าเชมีความสำคัญในชีวิตของเรา เลยทราบมาตั้งแต่เด็กว่าคุณพ่อเป็นที่รักของทุกคน

แม่ของคุณเขียนเล่าถึงชีวิตของท่านในขบวนการปฏิวัติ 26 กรกฎาคม มีเรื่องตื่นเต้นมากมาย รู้สึกอย่างไรกับบทบาทนักรบหญิง ท่านเล่าให้ฟังบ่อยไหม

แน่นอน ท่านเล่าให้ฟัง การเข้าสู่ขบวนการของคุณแม่เป็นหน้าที่ เป็นความจำเป็นที่ไม่อาจเลี่ยงเพื่อบ้านเมือง คำว่านักรบ ฉันรู้สึกว่าคนอื่นใช้เรียกท่านมากกว่า เพราะคุณแม่เป็นคนหัวขบถ มีความคิดต่อต้านสิ่งไม่เป็นธรรมมาตั้งแต่วัยรุ่น สิ่งใดที่ไร้เหตุผล ต้องหาทางปรับหาทางทำให้มันมีเหตุมีผล

เราทุกคนเติบโตขึ้นในสังคมแห่งการปฏิวัติ เพื่อนของคุณแม่ก็เป็นนักปฏิวัติกันหมด ฉันย่อมได้ฟังเรื่องราวเหล่านั้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะเพื่อนของคุณแม่ เล่าให้ฟังมากกว่าคุณแม่ด้วยซ้ำ

ฟังแล้วรู้สึกอย่างไร

สนใจและอยากรู้ ยิ่งได้ฟังก็ยิ่งรู้สึกภูมิใจมาก

คุณแม่เล่าให้ฟังถึงฉากการเจอกันครั้งแรกระหว่างคุณพ่อกับคุณแม่บ้างไหม

(หัวเราะ) เราขำกับเรื่องนี้กันมาก ที่แม่ต้องพันเงินไว้ที่ตัวเพื่อให้คุณพ่อเป็นคนแกะออก (เดือนพฤศจิกายน 1958 อาเลย์ดา มาร์ช ได้รับภารกิจนำเงินขึ้นภูเขาเอสกัมไบรย์ไปให้กลุ่มนักรบ และได้พบผู้การ เช เกวารา เป็นครั้งแรก เพื่อมิให้มีพิรุธ เธอจำต้องนำธนบัตรพันซ่อนไว้รอบกาย) คุณแม่ไม่ค่อยชอบเวลาเราล้อเรื่องนี้ ซีเรียสทีเดียว แต่เราชอบกันมาก (ยิ้มกว้าง)

ทำไมท่านถึงซีเรียส

คุณแม่ไม่ค่อยชอบเรื่องล้อเล่นน่ะค่ะ ก็เลยทำซีเรียส คือถ้าเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเขาสองคน คุณแม่จริงจังมาก แต่ลูกๆ ชอบล้อคุณแม่เล่น (ยิ้ม)

ในหนังสือท่านเขียนถึง เช เกวารา เล่ามุมน่ารักๆ เช่น อ่านบทกวีจีบ หรือชวนไปนั่งรถจี๊ปเล่นโดยทำเป็นพูดว่า ไปยิงปืนเล่นกัน คุณแม่เคยเล่าเรื่องพวกนี้ให้ฟังบ้างไหม

คุณแม่เป็นคนค่อนข้างเก็บเรื่องส่วนตัว หัวโบราณเรื่องนี้ อาจด้วยมิได้เกิดในเมืองหลวง ท่านไม่เล่าให้ฟังเลย คนนอกเมืองหลวงชอบเก็บเรื่องส่วนตัวไว้มากกว่าที่จะเล่าให้คนอื่นฟัง ดังนั้น จึงพูดได้ว่าท่านอุทิศหนังสือเล่มนี้ให้แก่ลูกๆ คล้ายว่าเรื่องพวกนี้ท่านอยากเล่าให้ฟังตั้งนานแล้ว หนังสือเลยเป็นเหมือนสัญญาใจที่ให้ไว้แก่ลูกๆ

แสดงว่าเนื้อหาบางอย่างที่ปรากฏในหนังสือ ก็คือสิ่งที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน?

ถ้าเป็นเรื่องของคุณแม่เราพอทราบอยู่บ้าง แต่ถ้าเป็นเรื่องระหว่างคุณพ่อกับคุณแม่ เป็นครั้งแรกที่ได้รับรู้เลยค่ะ

มีเรื่องไหนที่อ่านเจอในเล่มแล้วรู้สึกเซอร์ไพรส์บ้างไหม

สิ่งแรกที่เซอร์ไพรส์คือ ตอนท่านเขียนหนังสือเล่มนี้ คุณแม่อัดเสียงเอาไว้ก่อน ฉันเห็นคุณแม่ร้องไห้ตลอดเวลาที่เผยทวนเรื่องราวในอดีต ลูกๆ ต่างขอร้องท่านว่า ถ้าเจ็บช้ำขนาดนี้อย่าทำเลยดีกว่า แต่ดีที่คุณแม่ไม่ฟังเสียงที่ลูกๆ พูด เลยเกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้น

ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าคุณแม่สู้อยู่ในกลุ่มผู้ชาย แต่ไม่เคยมีแฟนมาก่อน คุณพ่อเป็นแฟนคนแรกของคุณแม่ เป็นสามี เป็นคนรัก เป็นพ่อของลูกๆ เป็นอาจารย์ เป็นผู้นำ เป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับแม่ เมื่อคุณพ่อเสียชีวิต คุณแม่ก็เลยปิดตัว เก็บทุกอย่างไว้กับตัวเอง เพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไปได้เมื่อชีวิตไม่มี เช เกวารา แล้ว

ตอนที่คุณพ่อยังมีชีวิตอยู่ ฉันจำได้ว่าพวกเรามักไปที่ห้องนอนของคุณพ่อคุณแม่ เราทั้งสี่คน (อาเลย์ดา, กามีโล, เซเลีย และ เอร์เนสโต) ทิ้งตัวนอนบนเตียงล้อมรอบตัวคุณแม่เพื่อสัมผัสตัวท่านให้ครบทุกด้าน จากนั้นก็เล่นตีหมอนกัน คุณยายเข้ามาในห้องก็พูดขึ้นว่า “นี่มันแม่หมูกับลูกหมูนี่!” (หัวเราะ)

หลังคุณพ่อเสียชีวิต สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย เพราะคุณแม่ไม่สามารถ… (นิ่งคิด) คุณแม่ทำแต่งาน โฟกัสกับงานอย่างมาก เพื่อให้ผ่านชีวิตแต่ละวันไปได้ ดังนั้น จึงไม่เคยเล่าเรื่องอะไรให้พวกเราฟัง เพราะท่านเล่าไม่ไหว คุณแม่จึงอุทิศหนังสือเล่มนี้ให้ลูกๆ เล่าผ่านตัวหนังสือแทน

แสดงว่าเรื่องวันแต่งงานของคุณพ่อกับคุณแม่ แม้แต่ลูกสาวคนโตอย่างคุณอาเลย์ดา ก็ไม่เคยได้ฟังเรื่องนี้จากคุณแม่ใช่ไหม

(หัวเราะ) เล่านิดหน่อยค่ะ เพราะอย่างที่บอก คุณแม่หัวอนุรักษ์ จะเก็บเรื่องพวกนี้ไว้ งานแต่งงานที่เป็นวันสำคัญของผู้หญิง แต่สำหรับแม่ มันไม่ได้สำคัญขนาดนั้น เป็นแค่เรื่องที่สังคมปฏิบัติกันมากกว่า สิ่งสำคัญคือความรักระหว่างคู่แต่งงาน ถ้ามีลูก ความสำคัญก็ไปอยู่ที่ลูก คุณพ่อคุณแม่เขามีความสัมพันธ์และสื่อถึงกันได้ดี

คุณพ่อเชื่อมั่นในตัวคุณแม่ ให้คุณแม่เลี้ยงดูลูกๆ ตอนที่คุณพ่อจะไปคองโก ใจจริงคุณแม่ก็อยากไปด้วย แต่คุณพ่อบอกว่าต้องอยู่กับลูกๆ ก่อน คุณแม่ก็เลยอยู่

ตอนที่คุณพ่อเดินทางไปปฏิวัติอีกครั้ง แม่คุณบอกว่าถือเป็นการเสียสละอย่างมาก พูดตรงๆ คือต้องทิ้งครอบครัวไป คุณรู้สึกอย่างไรกับสิ่งนี้

ฉันเด็กมาก ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ทั้งนี้ พวกเราทั้งสี่คนมีคุณแม่อยู่ข้างๆ คุณแม่รักคุณพ่อมาก ดังนั้นความรักที่คุณแม่มีให้คุณพ่อก็ส่งผ่านมายังพวกเรา คุณแม่สอนสิ่งสำคัญให้เรา สอนว่าเราต้องรักคนคนนั้นอย่างที่เขาเป็น ถ้าเรารักเขาด้วยความจริงใจ เราก็จะเข้าใจในสิ่งที่เขาทำ มันคงวิเศษมากถ้าพวกเราได้โตมาพร้อมหน้า โดยมีคุณพ่ออยู่ด้วย แต่เขาย่อมไม่ใช่พ่อของเราที่แท้จริง

ตอนที่คุณเกิด พ่อคุณอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ แม่ของคุณเล่าว่า พอกลับมาท่านตั้งชื่อคุณตามนักรบกองโจรปฏิวัติคนหนึ่ง (อาเลย์ดา เฟร์นันเดซ ซาร์ดิเอ) เนื่องจากเห็นว่าไพเราะมาก คุณรู้สึกอย่างไรกับชื่อนี้

อืม… ไม่มั้งคะ ชื่อฉันน่าจะมาจากชื่อของคุณแม่มากกว่า เพราะจริงๆ คุณแม่อยากตั้งชื่อฉันตามชื่อพี่สาวของคุณแม่ แต่คุณพ่อบอกว่าใช้ชื่อแม่ดีกว่า ซึ่งแปลว่า หญิงผู้เป็นที่รัก คือเป็นเรื่องปกติของชาวละตินอเมริกา ที่จะตั้งชื่อของลูกๆ ตามชื่อคนที่เคารพรักของพวกเขา ชื่อพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ในครอบครัวหนึ่งก็จะมีชื่อเดียวกัน 4-5 คน

ยกตัวอย่างชื่อ เอร์เนสโต ก็ใช้กันตั้งแต่คุณปู่ คุณพ่อ น้องชาย หลานชาย หรือชื่อ เซเลีย ซึ่งเป็นชื่อน้องสาวของฉันที่เกิดวันเดียวกับคุณพ่อ ก็ใช้ชื่อนี้ตามชื่อของคุณย่า (แม่ของคุณพ่อ) คุณพ่อรักน้องคนนี้มาก เพราะเกิดวันเดียวกัน เหมือนเป็นของขวัญวันเกิด

ในปีที่คุณเกิด มีการก่อตั้งสมาพันธ์สตรีแห่งคิวบาขึ้น อยากให้เล่าเรื่องบทบาทในการทำงานด้านสตรีของคุณแม่

เป็นองค์กรแรกในคิวบาที่ก่อตั้งโดยผู้หญิงค่ะ จุดประสงค์ขององค์กรนี้คือทำหน้าที่กระตุ้นให้ผู้หญิงเข้ามาร่วมช่วยกันเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น และเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนในสังคม หลังจากที่มีการปฏิวัติ คุณแม่ก็ไปเรียนปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ จากนั้นมาเป็นนักวิจัยในหลายๆ สถาบัน ปัจจุบัน คุณแม่เป็นผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้เช

เราทราบกันดีว่า เช เกวารา เป็นนักอ่านตัวยง คุณเติบโตมากับหนังสือเหล่านั้นบ้างไหม

คุณพ่อเป็นคนที่ได้รับหนังสือเยอะมาก ได้รับเรื่อยๆ นอกจากชอบจัดชั้นหนังสือในบ้านแล้ว ยังมีกล่องและลังสำหรับเก็บหนังสืออีกมากมาย คุณพ่อเห็นฉันอยู่ข้างๆ ก็มอบหนังสือให้เป็นของขวัญด้วย เป็นหนังสือที่มีรูปภาพ อย่างหนังสือสถาปัตยกรรม เพราะภาพดึงดูดความสนใจและกระตุ้นให้เด็กๆ รักการอ่าน

ตอนหลบภัยอยู่ที่ประเทศแทนซาเนีย พ่อของคุณใช้เวลาว่างอัดเสียงของท่านเพื่อเล่านิทานให้ลูกๆ ฟัง แล้วฝากแม่ของคุณกลับมาคิวบา คุณได้ฟังเทปนิทานพวกนั้นใช่ไหม

ได้ฟัง เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวไคแมน คล้ายๆ จระเข้ คุณแม่เล่าให้คุณพ่อฟังว่า กามีโล (น้องชาย) พูดคำหยาบที่โรงเรียน คุณพ่อเลยเล่านิทานส่งมา บอกว่าถ้าพูดคำหยาบเมื่อไร ไคแมนจะกัดขาคุณพ่อ กามีโลก็เลยไม่สามารถพูดคำหยาบได้อีก เพราะกลัวไคแมนกัดขาคุณพ่อ เป็นเรื่องเล่าเอาไว้สอนเด็กๆ

ส่วนฉันชอบเพลงเพลงหนึ่งที่คุณพ่อร้อง ปกติคุณพ่อร้องเพลงไม่เพราะเลย อย่าเรียกว่าไม่เพราะ เรียกว่าแย่มากดีกว่า (หัวเราะ) เพลงที่อัดมาก็คือไม่เพราะ แต่ว่าพ่อเป็นคนชอบล้อเล่น ก็เลยอัดคำที่ไม่ค่อยสุภาพ เป็นเรื่องราวของวัวที่อยากจะถ่าย แต่ถ่ายไม่ได้ เลยต้องหาทางทำให้วัวถ่าย คุณพ่อร้องมาเป็นเพลงนะ (หัวเราะหนักมาก)

มีหลายครั้งตอนที่คุณพ่อยังอยู่ เวลาทำแบบนี้คุณแม่ก็จะหยิกคุณพ่อไม่ให้ร้อง แต่คุณพ่อก็ยังร้อง

เวลาได้ยินเสียงจากในเทป คุณเศร้าไหม แบบเด็กๆ ที่คิดถึงพ่อ ซึ่งไม่ได้อยู่ด้วยกัน

ไม่เลย คุณพ่อตั้งใจทำแบบนี้เพื่อให้เราสนุก ตลก มีความสุข ดังนั้นเราต้องไม่เศร้า

คือคุณพ่อเป็นคนมองโลกในแง่บวกมากๆ การเป็นนักรบจะเสียชีวิตเมื่อไรก็ได้ แต่คุณพ่อรักชีวิต เลยเป็นจุดแข็ง เป็นแรงบันดาลใจให้เราต้องมีชีวิตอยู่ เรื่องเหล่านี้จึงเป็นสิ่งน่ารัก แต่คุณแม่ไม่ชอบเลย (หัวเราะ) เพราะท่านเป็นคุณครู มีการศึกษา เขาสองคนทะเลาะกันเรื่องนี้บ่อย เพราะแม่ไม่ชอบให้พ่อทำตลก

ก่อนพ่อของคุณไปโบลิเวียเพื่อรบครั้งสุดท้าย ทราบว่าท่านปลอมตัวเพื่อมาเจอลูกๆ แล้วค่อยเดินทางสู่สนามบิน คุณจำเรื่องนี้ได้ไหม

ฉันจำเหตุการณ์คืนนั้นได้ แต่ไม่รู้ว่านั่นคือคุณพ่อ เป็นความทรงจำที่ประทับใจและน่ารักมากที่สุด ฉันทราบว่าคุณพ่อชอบไวน์แดงที่ต้องเติมน้ำเปล่าผสมลงไปด้วย ฉันเห็นว่าไวน์แดงตรงหน้าผู้ชายคนนั้นเป็นแก้วไวน์ปกติ จึงพูดกับเขาว่า คุณไม่ใช่เพื่อนของพ่อฉันหรอก และคุณก็ไม่ใช่พ่อฉันด้วย เพราะพ่อของฉันต้องเติมน้ำในไวน์แดง แล้วฉันก็เอาน้ำเติมลงไป

แม่บอกว่าพ่อประทับใจมาก เพราะตอนนั้นฉันอายุแค่ 5 ขวบครึ่ง แต่รู้จักต่อสู้และปกป้องความจริงทุกอย่างที่เกี่ยวกับพ่อ คืนนั้นหลังอาหารมื้อค่ำ ฉันล้มหัวแตก คุณพ่อเลยเข้ามาอุ้ม ท่านเป็นหมอด้วยเลยยิ่งห่วงฉันมาก และดูแลอย่างดี

ฉันรู้สึกว่าผู้ชายคนนี้รักฉันในรูปแบบที่พิเศษ เลยบอกคุณแม่ว่า ฉันคิดว่าผู้ชายคนนี้ตกหลุมรักฉัน (ยิ้ม) อย่างที่บอก ฉันยังไม่รู้ว่าเขาคือคุณพ่อ แค่รู้สึกว่าเขารักและใจดีกับฉันมาก ฟังตอนนี้ดูเป็นเรื่องที่น่ารักดีใช่ไหม แต่ในเวลานั้นคงเป็นความลำบากของคุณพ่อมาก ที่บอกความจริงแก่ลูกไม่ได้

คุณแม่ของคุณอาเลย์ดาเคยบอกไว้ว่า ท่านพยายามอย่างที่สุดที่จะไม่ให้ความรู้สึกขาดพ่อ กระทบกระเทือนถึงลูก คุณเติบโตมาด้วยความรู้สึกแบบไหน

คุณแม่พยายามตั้งแต่ต้นเพื่อให้เรารับรู้ถึงการมีอยู่ของคุณพ่อ แม้ท่านจากเราไปแล้ว ส่วนตัวฉันก็ไม่ทราบว่าคุณแม่ทำได้ยังไง แต่คิดว่าท่านสามารถทำได้สำเร็จ และพวกเราก็พยายามเติบโตมาเป็นลูกที่ดี เป็นมนุษย์ที่ดี เพราะวิธีที่จะทำให้คุณแม่มีความสุขและทำให้คุณพ่อภูมิใจก็คือวิธีนี้

มองย้อนกลับไปในสมัยปฏิวัติคิวบา คุณพ่อกับคุณแม่ของคุณอาเลย์ดาถือเป็นคนรุ่นใหม่ ถ้าให้มองคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ มีความเห็นอย่างไรบ้าง

คนรุ่นใหม่หรือเยาวชนก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงคนรุ่นก่อนหน้าที่ให้การศึกษาแก่พวกเขา

ดังนั้น เท่าที่เห็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ในคิวบา ก็เป็นคนที่พร้อมจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในอนาคต ถูกสอนให้เคารพเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อย่างคนที่ไปช่วยต่อสู้กับโรคอีโบลาที่แอฟริกา ก็เป็นแพทย์เยาวชนจากคิวบา ที่ทำตามแบบอย่างคุณพ่อ เป็นอะไรที่เลิศมากๆ

ตอนปฏิวัติเสร็จใหม่ๆ สิ่งแรกๆ ที่ทางการให้ความสำคัญคือเรื่องการศึกษา สิ่งนี้ส่งผลมาถึงสังคมคิวบาในปัจจุบันเลยใช่ไหม

การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับมนุษย์อยู่แล้ว โฆเซ มาร์ตี (ผู้ก่อตั้งองค์กร Pioneros) ชาวคิวบาที่มีชื่อเสียงและโด่งดังที่สุดท่านหนึ่งพูดว่า มนุษย์เราทุกคนมีปีศาจอยู่ในตัว ปีศาจตัวนี้จะไม่ออกมาจากตัวเรา ถ้าเราได้รับการศึกษาที่เหมาะสม ดังนั้น การศึกษาจึงสัมพันธ์กับการปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และเกี่ยวข้องกับอิสรภาพของผู้คนด้วย

ยิ่งคนเรามีการศึกษามากขึ้นเท่าไร ยิ่งไม่ไปทำร้ายหรือเอาเปรียบใคร ถ้าเรามีการศึกษา เราก็จะมีอิสรภาพมากขึ้น ดังนั้น การศึกษาฟรีจึงมีความสำคัญมากต่อกระบวนการปฏิวัติ เป็นจุดเริ่มต้นในการทำให้เราไปถึงเป้าหมายทุกอย่างได้ โฆเซ มาร์ตี พูดว่า อยากมีอิสรภาพ ต้องมีการศึกษา

มีโอกาสได้อ่านสุนทรพจน์ของคุณ ในวันที่คุณรับศพของพ่อกลับมาจากโบลิเวีย หลังจากที่ท่านเสียชีวิตไปราว 30 ปี ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร

เป็นช่วงเวลาที่สะเทือนอารมณ์มาก ความตายสำหรับคุณพ่อของฉันไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญนัก เพราะมันเป็นปกติของนักรบนักสู้อยู่แล้ว แต่สำหรับชาวคิวบามันสำคัญ พวกเขาอยากให้คุณพ่อของฉันกลับมา เราเป็นลูก เราก็ยอมรับความคิดเห็นของชาวคิวบา ไปค้นหาและนำศพกลับมา ใช้เวลาในการค้นหาศพผู้เสียชีวิตห้าปี ก็เจอศพของทุกคน ขาดไปแค่หนึ่งคน เป็นช่วงสะเทือนอารมณ์ชาวคิวบาทั้งหมด

มีความขัดแย้งอะไรบ้างไหมระหว่าง เช เกวารา กับ ฟิเดล กัสโตร ในช่วงสุดท้าย

ไม่เคยมี ทั้งสองคนเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ฉันเรียกฟิเดลว่าคุณลุง ท่านเป็นเหมือนคุณพ่อของฉันอีกคน คอยอยู่เป็นกำลังใจให้ครอบครัวเราเสมอ เป็นตัวแทนของคุณพ่อ สิ่งที่สร้างรอยยิ้มให้แก่ฉันเสมอเวลาคุยกับคุณลุง คือเมื่อเราพูดถึงคุณพ่อ การผันกริยาในประโยคจะไม่ใช้โครงสร้างที่เป็นอดีตเลย เป็นรูปภาษาปัจจุบัน เหมือนว่าคุณพ่อยังมีชีวิตอยู่ เหมือน เช เกวารา ยังเดินผ่านประตูเข้ามาหาเรา (ยิ้มและน้ำตาคลอ)

(ร้องไห้) การเสียชีวิตของคุณลุงก็เพิ่งผ่านไปเมื่อไม่นานมานี้ สำหรับฉัน เหมือนการสูญเสียคุณพ่ออีกคน (นิ่งไปสักพัก)

ฟิเดลดุไหม

ก็เป็นคนดุ แต่ยิ้มง่าย ฉันชอบเล่าเรื่องขำขันต่างๆ ของคนทั่วไปให้คุณลุงฟัง ซึ่งเขาจะไม่เชื่อว่ามีเรื่องตลกแบบนี้อยู่ด้วย มันเป็นความสัมพันธ์เหมือนครอบครัว วันที่ฉันแต่งงาน ตอนนั้นห้าทุ่มครึ่งแล้ว ฟิเดลก็ยังไม่มา เขาบอกว่าจะแต่งไม่ได้นะถ้ายังไปไม่ถึง วันนั้นประธานาธิบดียูโกสลาเวียมาเยือนคิวบา ฟิเดลเลยยังมาไม่ได้ เพราะต้อนรับแขกคนสำคัญอยู่

จริงๆ งานแต่งฉันเชิญแขกแค่ 30 คน แต่กลายเป็นว่าพอคุณลุงมา ท่านประธานาธิบดีพร้อมคณะมากันหมดเลย เราไม่มีอะไรให้ฉลอง เพราะทั้งงานมีแชมเปญแค่ขวดเดียวสำหรับคู่บ่าวสาว (หัวเราะ) สุดท้ายประธานาธิบดีก็เลยมอบแอปเปิลไซเดอร์ให้ เลยมีเครื่องดื่มสำหรับฉลองกัน งานแต่งวันนั้นเป็นงานที่น่ารักมาก ฟิเดลอยู่ตรงกลางระหว่างฉันกับสามี ไม่ว่าจะตัดเค้กหรือทำอะไร คุณลุงอยู่ตรงกลางตลอด คนที่เห็นภาพถ่ายเขาก็ถาม สรุปใครเป็นเจ้าบ่าวกันแน่ (หัวเราะ)

ทุกวันนี้เวลาลูกหลานชาวคิวบานึกถึง เช เกวารา เขานึกถึงอะไรกัน

ศูนย์การเรียนรู้เชทำเรื่องนี้อยู่ เราไม่อยากให้เป็นเพียงหนังสือหรือบทเรียน แต่อยากให้อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน เราทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จะได้ทำให้ผู้คนมีการปฏิสัมพันธ์กับเรื่องของเช จริงๆ มีเรื่องน่ารักหลายเรื่องเลยในคิวบา สิ่งที่ฉันชื่นชมเกี่ยวกับคนคิวบาคือความสามารถที่จะรัก เด็กๆ รักเชมาก

ฉันซึ่งเป็นแพทย์เคยได้เห็นตัวอย่างมากมาย อย่างครั้งหนึ่งตอนทำงานในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ได้เจอเด็กอายุประมาณ 5 ขวบ เห็นในใบสั่งยามีชื่อนามสกุลของฉันอยู่ แม่ของเด็กบอกแกว่า คิดว่าคุณหมอเป็นลูกสาวของเชนะ เด็กคนนั้นกลับมาและถามว่า คุณเป็นลูกของเชเหรอ

ฉันตอบไปว่า ใช่ ฉันเป็นหนึ่งในลูกของเช เด็กคนนั้นเลยบอกว่า อ๋อ มิน่าล่ะ คุณถึงเป็นคนดี เป็นหมอที่ดี (หัวเราะ) เด็กคงคิดว่าฉันไม่สามารถเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากเป็นคนดี เพราะเป็นลูกของเช ในจินตนาการของทุกคน เชเป็นผู้ชายที่ดี (ยิ้ม)

 

 

ระหว่างบรรทัดกับ ‘เบญจมาศ วงศ์สาม’

ผู้แปลหนังสือที่ภรรยาเชเขียนจากภาษาสเปนโดยตรง

บนปกหนังสือฉบับภาษาอังกฤษ แขนซ้ายของ อาเลย์ดา มาร์ช คล้องอยู่ในแขนขวาของ เช เกวารา ภาพนี้ถ่ายในปี 1959

Remembering Che: My Life with Che Guevara พาดอยู่บนสีซีเปียซีดจาง กาลเวลาห่อหุ้มความรักของหนุ่มสาวนักปฏิวัติให้เป็นนิรันดร์

ความทรงจำ… ชีวิตที่เคียงข้างเช – เป็นชื่อที่อยู่ในใจของ เบญจมาศ วงศ์สาม ปัจจุบันเธอทำงานเป็นเลขานุการของเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาร์เจนตินาประจำประเทศไทย สำนักพิมพ์ Golden Leaves Press ของนักเขียนนักเดินทาง เกศณี ไทยสนธิ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาษาไทย

“ปกติเห็นภาพเชหน้านิ่งๆ ขรึมๆ สูบไปป์ตลอดเวลา ดูดุ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เขามีมุมสบายๆ ขำ ติงต๊อง บ้าบอ ซึ่งต้องเป็นคนใกล้ชิดเท่านั้นที่จะเล่าได้ ต้องใช้ภาษาสมัยนี้ที่เรียกว่า โป๊ะแตก อย่างเรื่องเชเป็นคนหูไม่ค่อยดี จับจังหวะไม่ค่อยได้ ฉะนั้น เวลาเพลงไหนมาก็มักจำทำนองสลับกัน บางเพลงดังขึ้นเขาก็จะลุกขึ้นยืนเพราะคิดว่าเป็นเพลงชาติ (หัวเราะ)”

สำหรับบทบาทของ อาเลย์ดา มาร์ช ซึ่งเป็นหนึ่งในขบวนการปฏิวัติ ในฐานะผู้หญิงด้วยกัน เบญจมาศมีมุมมองที่น่าสนใจ

“ยอมรับว่ากระแสการเป็นนักปฏิวัติและการเป็นผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาสู้ในสังคมคิวบายุคนั้นค่อนข้างเป็นไปได้ เพราะเป็นสังคมที่ถูกกดขี่โดยผู้นำ และมีความเดือดร้อนทุกหัวระแหงของประเทศ ส่วนตัวเลยคิดนะ ไม่ว่าเพศไหนก็สามารถลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อประเทศได้ทั้งนั้น แล้วอาเลย์ดาเป็นครู ได้มีโอกาสรู้จักกับพวกพ้องที่ชักชวนเข้าร่วม คิดว่าสภาพสังคมทุกอย่างพาให้ลุกขึ้นต่อสู้ ปกป้องสิทธิของคนคิวบาโดยรวม”

ว่าง่ายๆ คือเป็นคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น

“ตอนนั้นคิวบามีผู้นำประเทศเป็นทหารที่ไม่ได้ให้ความยุติธรรมกับประชาชนในทุกชนชั้น คือให้อภิสิทธิ์กับชนชั้นปกครองด้วยกัน แต่ชนชั้นกรรมาชีพไม่ได้อยู่ในสายตาของผู้บริหารเลย ความเป็นอยู่ ความยากจน ความไม่สะดวกสบายด้านสาธารณูปโภค แม้กระทั่งหมอสักคนในหมู่บ้านก็ไม่มี ทำให้เกิดการเสียชีวิตเพราะไปหาหมอไม่ทัน ซึ่งมันไม่ควรเกิดขึ้น คนงานเหมืองแร่ก็ไม่ได้รับค่าแรงที่ยุติธรรม มีความเป็นอยู่แบบอดมื้อกินมื้อ ความแตกต่างชัดเจนเกินไป และคนเหล่านี้เป็นคนหมู่มากของประเทศ ประกอบกับกระแสของลาตินอเมริกาในช่วงนั้น หลายประเทศเริ่มลุกขึ้นมาปฏิวัติและทำสำเร็จ ทำให้คนเกิดคำถามว่าทำไมเราไม่ปฏิวัติบ้างล่ะ?”

เมื่อถามถึงความประทับใจหรือสะเทือนใจในความสัมพันธ์ของ อาเลย์ดา มาร์ช และ เช เกวารา

“ตอนที่เชไปโบลิเวียแล้วหายไปเลย… อาเลย์ดาคงรู้แหละว่าตาย แล้วก็หายไปจากชีวิต สิ่งที่ประทับใจคือ เราไม่รู้ว่าเธอเอาแรงมาจากไหน ทำให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ลูกยังเล็กๆ สี่คน สามีที่เป็นเหมือนเสาหลักหายตัวสาบสูญไป แต่อาเลย์ดายังกลับมามีชีวิตของตนเอง ก้าวต่อไปข้างหน้า จนทุกวันนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่

“กับการสร้างศูนย์การเรียนรู้ของเช มันก็คงเจ็บปวดไม่น้อยที่ต้องกลับมาหยิบจับสิ่งที่เป็นของคนที่เรามีความทรงจำที่ดีด้วย และการที่ต้องออกมาพูดมาเล่าแบบนี้ ทั้งๆ ที่อยากเก็บไว้เป็นความทรงจำของตนคนเดียว ยอมเปิดใจให้คนอื่นเข้ามารับรู้เรื่องราวส่วนตัว มันก็ค่อนข้างทำใจลำบาก แต่อาเลย์ดาก็ยอม”

ท้ายสุดนักแปลอย่างเบญจมาศให้ความเห็นว่า มรดกทางความคิดอย่างหนึ่งของเชคือการศึกษา

“เชเน้นมากเรื่องพัฒนาการศึกษา คนคิวบายุคนั้นไม่มี เลยโดนจูงง่าย โดนผู้นำที่มีการศึกษามากกว่าครอบงำ แล้วเอาความคิดทุนนิยมซึ่งไม่เหมาะกับสังคมคิวบาในตอนนั้นเลยมาครอบสวม ไม่ได้บอกว่าทุนนิยมไม่ดี แต่การปกครองแต่ละรูปแบบต้องดูไปตามสภาพสังคม รวมถึงเหตุและผลต่างๆ ในเวลานั้น

“จริงๆ อาร์เจนตินาบ้านเกิดของเชคือประเทศที่ค่อนข้างเป็นทุนนิยมและดูเป็นยุโรปมากที่สุดในกลุ่มลาตินอเมริกา และการที่เชเข้าไปเกี่ยวข้องกับความเป็นสังคมนิยม เป็นฝ่ายซ้าย มันก็จะค้านกับภาพโดยรวมของประเทศอาร์เจนตินา คนที่ไม่ชอบเชก็เยอะ เพราะเห็นว่าเป็นฝั่งตรงข้าม ภาพของเชในอาร์เจนตินากับในคิวบาจึงต่างกัน”

ขอขอบคุณ:
สรัลนันท์ ภูมิชิษสานันท์ ล่ามภาษาสเปนที่ช่วยอำนวยความสะดวกตลอดการสนทนา
โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ เอื้อเฟื้อสถานที่

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

Author

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า