ในประเทศที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวิทยาศาสตร์ ออกมาพูดถึงความสำคัญของวิชาคณิตศาสตร์ ด้วยวิธีการที่ทำให้วิชาการด้านภาษาด้อยค่าลง หนังสือเล่มนี้จึงน่าสนใจตั้งแต่ต้น
แน่นอน ประเทศเราขาดแคลนทั้งความรู้ และวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าพูดแค่นี้ พูดเมื่อไหร่ก็ถูกเมื่อนั้น เพราะในเบื้องต้นมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
หนังสือหนา 500 กว่าหน้า แต่อย่าเพิ่งขมวดคิ้ว เพราะจัดแบ่งหมวดหมู่เนื้อหาออกเป็น 7 หมวด ได้แก่ อาหารการกิน / การออกกำลังกาย / สมอง / จิตวิทยา / สุขภาพ / สิ่งแวดล้อม และ เรื่องสนุก แต่ละหมวดบรรจุเนื้อหาหัวข้อย่อย อ่านจบเรื่องภายใน 1-3 หน้า จึงไม่มีความจำเป็นต้องอ่านเรียงกัน ใช้วิธีเปิดสารบัญ สนใจเรื่องไหนก็พลิกเข้าไปอ่านก่อน
ผู้เขียนเป็นนักเขียนด้านวิทยาศาสตร์ ศึกษาด้านฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ชำนาญการย่อยเรื่องยากๆ ให้คนทั่วไปเข้าใจ ผู้แปลมีอาชีพเป็นก็อปปี้ไรเตอร์ แต่รักงานแปลและสนใจวิทยาศาสตร์
โดยองค์ประกอบดังกล่าว หนังสือเล่มนี้จึงถูกออกแบบมาให้อ่านง่าย สื่อสารกับคนอย่างเป็นมิตร เข้าใจง่าย อ่านแล้วได้ข้อสรุป ซึ่งก็สอดคล้องไปด้วยกันได้ดีกับสังคมที่อุดมไปด้วยข้อมูลลวง ตั้งแต่ยุคฟอร์เวิร์ดเมล มาจนถึงยุคแชร์ต่อๆ กันไปในโซเชียลมีเดีย
แต่พูดก็พูด ไม่ว่าผู้เขียนหรือผู้แปลจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ความสนุกที่แท้จริงในการอ่านหนังสือเล่มนี้ กลับอยู่ที่การตั้งคำถามต่อเนื้อหาและข้อสรุปสั้นๆ ในแต่ละหัวข้อ แต่ละประเด็นว่า – – มันจริงแค่นั้นเหรอ
ยกตัวอย่างเช่น บทที่ว่าด้วย Recorded music กล่าวถึงความพยายามจะแทนที่แผ่น CD ด้วย SACD (Super audio CD) ทั้งที่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุว่าลำพังแค่ความสามารถของแผ่น CD ก็มีช่วงเสียงที่เกินขีดศักยภาพของหูมนุษย์ที่จะจำแนกความแตกต่าง / ความเชื่อที่ว่าไฟล์เพลงดิจิตอลที่ถูกบีบอัดจะทำให้รายละเอียดเสียงเสียไป ทั้งที่หูคนทั่วไปแค่ฟังไฟล์บีบอัดก็รับรู้เพียงพอแล้ว รวมถึงข้อสรุปที่ว่าครั้งต่อไปเมื่อคุณอยากซื้อหูฟังเก๋ๆ ราคาหลายร้อยปอนด์ จงแน่ใจว่าจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการจ่ายเงินเพื่อประสบการณ์นั้น
คำอธิบายและข้อสรุปแบบนี้มีส่วนจริง และเป็นที่รับรู้กันดีว่าราคาของการจ่ายเพื่อให้ได้เสียงที่ดีขึ้นนั้น มันขึ้นกับความพึงพอใจระหว่างผู้ซื้อกับพ่อค้ามากกว่าเหตุผลทางวิทยาศาสตร์
แต่ทั้งนี้ หากจะพูดแค่นั้นมันก็ดูเหมือนจะไม่มีพื้นที่ให้กับคุณภาพเสียงที่ดีขึ้นจริง (ไม่ว่ามันจะสมเหตุสมผลกับราคาที่แพงขึ้นหรือไม่ก็ตาม) และเป็นปัญหาต่ออีกว่า อุตสาหกรรมเครื่องเสียงมีสัดส่วนความเป็นวิทยาศาสตร์สักแค่ไหน เมื่อเทียบกับขีดความสามารถด้านการตลาด
อันนี้เป็นตัวอย่างเบาๆ หากจะเอาให้เป็นจริงเป็นจังชวนวิวาทมากขึ้น ก็เช่น บทที่ว่าด้วยผงชูรส ซึ่งพยายามอธิบายให้เห็นข้อเท็จจริงว่า โมโนโซเดียมกลูตาเมตไม่ได้เป็นโทษโดยตัวมันเอง (ซึ่งถูกต้อง เพราะประเด็นที่ถกเถียงกันคือปริมาณการใช้) แต่พออ่านประโยคสุดท้ายของบทที่ระบุว่า “…ผงชูรสไม่ส่งผลร้ายอะไรต่อสุขภาพและปลอดภัยโดยสิ้นเชิงที่จะบริโภค” อันนี้หลายคนอ่านแล้ว…อาจเป็นเรื่อง
มองอย่างบริสุทธิ์ใจ นี่อาจจะเป็นปัญหาของการพยายามอธิบายอะไรสั้นๆ
ถ้าจะไปให้สุดทางมากกว่านั้น ก็ต้องอ่านบทที่ว่าด้วย ‘อาหารจีเอ็ม’ ซึ่งในเบื้องต้นก็มีส่วนถูกนั่นแหละที่แนวทางการรณรงค์ออกไปในทางสุดขั้ว แต่วิธีเขียนให้คนเข้าใจว่า สุนัขพันธุ์ชิวาวาและเกรทเดน “เป็นตัวอย่างภาพการทำงานของกระบวนการดัดแปลงพันธุกรรมที่ดี” อันนี้เกาหัวได้เลย เพราะมันสับสนกันมากระหว่างการผสมปรับปรุงพันธุ์กับการดัดแปลงพันธุกรรม
บทนี้ผู้เขียนโต้แย้งการทำให้อาหารจีเอ็มเป็นอาหารแฟรงเกนสไตน์ การใช้หลักฐานการศึกษาวิจัยที่อุดมไปด้วยช่องโหว่ข้อผิดพลาด (ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อหาข้อพิสูจน์ใหม่ๆ) ภายในเนื้อหา 2-3 หน้ากระดาษ
ท้ายเรื่องของบทนี้เขียนไว้ว่า… “ถ้าเรายังคงต่อต้านการดัดแปลงพันธุกรรมในระดับเดียวกับที่เป็นอยู่ตอนนี้ เราก็ต้องพึงระลึกว่า หนึ่งในผลที่ตามมาคือการเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากในประเทศกำลังพัฒนา”
อ่านถึงตรงนี้แล้ว นึกถึงท่าทีของอธิการบดีท่านนั้นขึ้นมาทีเดียว
ข้อดีคือมันอาจช่วยให้เราคิดต่อไปได้ว่า ลำพังการขาดแคลนความรู้และวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ อาจเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของอาการขาดแคลนความรักในความรู้และศิลปวิทยาการทุกๆ ด้าน โดยมีกับดักสำคัญว่าความรู้สาขาที่ตนเองสังกัดผูกขาดความถูกต้องในทุกมิติ
อย่างที่บอกว่าหนังสือเล่มนี้หนา 500 กว่าหน้า และสามารถเลือกหัวข้อที่สนใจอ่านได้โดยไม่ต้องเรียงลำดับ ความสนุกในการอ่านคือเปิดไปหาหัวข้อที่สนใจ ลองอ่าน แล้วลองหาประเด็นถกเถียง
อ่านวิทยาศาสตร์ให้สนุก ไม่ควรรีบเชื่อ
Science for Life คู่มืออยู่อย่างวิทย์ ฉบับติดบ้าน Brian Clegg เขียน พินดา พิสิฐบุตร แปล สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น |