วิทยาศาสตร์ของการกราดยิง: เหตุจูงใจ วิธีเอาตัวรอด ผลกระทบ และแนวทางป้องกัน

เวลาประมาณบ่าย 4 โมงของวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เยาวชนชายคนหนึ่งได้ก่อเหตุกราดยิงที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ผลคือมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย และเสียชีวิต 2 ราย พฤติการณ์อุกอาจครั้งนี้ทำให้สาธารณชนตั้งคำถามว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เยาวชนชายคนดังกล่าวลุกขึ้นมาก่อเหตุและเขามีปืนในครอบครองได้อย่างไร

การกราดยิง (mass shooting) เป็นคำที่ยังไม่มีนิยามสากล แต่คนส่วนใหญ่คงนึกภาพได้ไม่ยากว่า การกราดยิงคือการที่คนคนหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่งนำปืนออกมาสาดกระสุนใส่ผู้อื่น โดยมีสาเหตุและวิธีการที่หลากหลาย ซึ่งสถานที่เกิดเหตุมักจะเป็นพื้นที่สาธารณะมากกว่าพื้นที่ส่วนบุคคล

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดเหตุกราดยิงขึ้นหลายครั้ง เช่น

  • วันที่ 6 ตุลาคม 2565 เกิดเหตุกราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู
  • วันที่ 4 สิงหาคม 2565 เกิดเหตุกราดยิงใกล้ศูนย์การค้าบิ๊กซี จังหวัดอุบลราชธานี
  • วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 เกิดเหตุกราดยิงที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 จังหวัดนครราชสีมา
  • วันที่ 9 มกราคม 2563 เกิดเหตุกราดยิงที่ศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ จังหวัดลพบุรี

บทความนี้ ผมอยากชวนผู้อ่านไปสำรวจ ‘การกราดยิง’ ผ่านมุมมองทางวิทยาศาสตร์ว่า สาเหตุของการกราดยิงคืออะไร วิธีเอาตัวรอดต้องทำอย่างไร ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง และแนวทางป้องกันควรทำอย่างไร

สาเหตุของการกราดยิง

วันที่ 1 สิงหาคม 1966 ชาร์ลส์ โจเซฟ วิตแมน (Charles Joseph Whitman) อดีตนักศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและทหารของกองทัพเรือ อายุ 25 ปี ได้สังหารภรรยาและแม่ของตนที่บ้านด้วยมีด ก่อนจะเดินขึ้นไปบนหอนาฬิกาของมหาวิทยาลัยเท็กซัสแห่งออสติน (University of Texas at Austin) แล้วใช้ปืนสไนเปอร์ยิงลงมายังสวนสาธารณะด้านล่าง ไม่กี่นาทีให้หลัง ลมหายใจของเขาก็ดับลงด้วยกระสุนของตำรวจ เหตุการณ์ในวันนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 17 ราย และบาดเจ็บอีก 31 ราย

อาคารที่วิตแมนเลือกใช้เป็นสถานที่ก่อเหตุ | photo: Larry D. Moore

หลังจากนั้น ตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านของวิตแมนและพบจดหมายที่เจ้าตัวเขียนว่า “สิ่งผิดปกติกำลังเกิดขึ้นภายในสมองของผม มันทำให้ผมอยากฆ่าพวกเขา” อีกทั้งเจ้าตัวยังขอให้แพทย์ทำการผ่าสมองของเขาออกมาตรวจสอบอีกด้วย และเมื่อแพทย์ชันสูตรศพก็พบ ‘เนื้องอก’ แทรกอยู่ระหว่างสมองส่วนอะมิกดาลา (amygdala) และไฮโปทาลามัส (hypothalamus) ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมที่แสดงออก

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 2 ศตวรรษที่แล้ว คนส่วนใหญ่คงเชื่อว่าสาเหตุของการก่ออาชญากรรมเป็นเพราะคนร้ายมีความบกพร่องทางพันธุกรรมและมีวิวัฒนาการถดถอยตามสมมติฐานอาชญากรแต่กำเนิด (born criminal hypothesis) ของซีซาร์ ลอมโบรโซ (Cesare Lombroso) แต่สำหรับกรณีของวิตแมน เราอาจตอบว่าเป็นเพราะเนื้องอกในสมองทำให้อารมณ์ของเขาผิดเพี้ยนไปจากปกติอย่างรุนแรง ขณะที่เหตุกราดยิงอื่นๆ อาจเกิดจากการปล้นชิง ความขัดแย้งส่วนตัว ความเครียดสะสม ความผิดปกติทางจิต ไปจนถึงพฤติกรรมเลียนแบบ

ผลการศึกษาด้านจิตวิทยาอาชญากรรม (criminal psychology) บ่งชี้ว่า บุคคลที่ก่อเหตุกราดยิงมักจะมาจากครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น เคยถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมโรงเรียน เคยประสบเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ มีประวัติการใช้สารเสพติด หรืออยู่ในภาวะที่มีความเครียดสูง โดยปัจจัยเหล่านี้จะทำหน้าที่ ‘กระตุ้น’ ให้บางคนมีพฤติกรรมที่รุนแรง โดยเฉพาะคนที่มีอาการป่วยทางจิต (mental illness) จะไวต่อการกระตุ้นมากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นการดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยในกลุ่มเปราะบางจึงสามารถลดโอกาสการเกิดเหตุกราดยิงได้ 

อย่างไรก็ตาม ผมต้องขอย้ำว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีอาการป่วยทางจิตจะมีพฤติกรรมที่รุนแรงไปเสียหมดนะครับ เพราะคนที่มีอาการป่วยทางจิตและลุกขึ้นมาก่อเหตุร้ายแรงแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยถือว่ามีน้อยมากๆ ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เมื่อเทียบกับการก่อเหตุเพราะถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยภายนอก โดยคนที่ก่อเหตุมักจะเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ทำให้เชื่อได้ว่าฮอร์โมนเพศ (sex hormone) มีส่วนอย่างมากต่อพฤติกรรมที่แสดงออก

หลังจากเยาวชนชายคนดังกล่าวก่อเหตุสลดที่ห้างดังกลางกรุง สื่อไทยจำนวนมากพากันพาดหัวข่าวว่า สาเหตุของการกราดยิงคือ ‘เกม’ (game)

จริงอยู่ว่าคนที่เล่นเกม (แล้วแพ้) มักจะมีอาการ ‘หัวร้อน’ แต่อาการดังกล่าวจะคงอยู่เพียงชั่วครู่ อีกทั้งผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเล่นเกมกับการกราดยิงก็ไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าเป็นเหตุและผลของกันและกัน แต่สิ่งที่พบคือ คนที่ก่อเหตุกราดยิงมักจะมีประวัติว่าบุคคลนั้นอยู่ในสถานะที่สามารถหาปืนมาครอบครองได้ง่าย ถูกบ่มเพาะจากคนรอบตัวว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติหรือมีค่านิยมชอบการล่าสัตว์

จากเหตุผลข้างต้น การกล่าวโทษคนที่มีอาการป่วยทางจิตหรือคนที่ชอบเล่นเกมในทันทีทันใด จึงเป็นการละเลยสาเหตุสำคัญที่หลบซ่อนอยู่หลังม่าน นั่นคือความสัมพันธ์ของอำนาจ ความเหลื่อมล้ำ และความรุนแรง

หนี-ซ่อน-สู้: วิธีเอาตัวรอดจากการกราดยิง

การเกิดอาชญากรรมสามารถอธิบายด้วยทฤษฎีสามเหลี่ยมอาชญากรรม (crime triangle theory) ซึ่งประกอบด้วย ผู้กระทำความผิด (desire) เป้าหมาย (target) และโอกาสที่เหมาะสม (opportunity) ได้แก่ สถานที่ ช่วงเวลา และสิ่งเอื้ออำนวยต่างๆ หากตัวแปรเหล่านี้โคจรมาพบกัน อาชญากรรมก็จะเกิดขึ้น

สามเหลี่ยมอาชญากรรม | photo: Houston Police Department

การกราดยิงมีความคล้ายคลึงกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำนายสถานที่ ช่วงเวลา และความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ หากวันดีคืนดีเราบังเอิญต้องเผชิญกับสถานการณ์คับขัน ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่ามีข้อปฏิบัติ 3 อย่างที่ควรทำ ดังต่อไปนี้

1. หนี (run) คือ การละทิ้งสิ่งของที่ไม่จำเป็น ก้มตัวลงต่ำ ไม่วิ่งเข้าหาวิถีกระสุน พยายามปกป้องอวัยวะสำคัญ และรีบออกจากสถานที่เกิดเหตุโดยเร็ว เพราะคนร้ายมักจะไม่แหงนปากกระบอกปืนขึ้นฟ้าหรือกดปืนลงต่ำ แต่จะถือปืนในแนวระนาบแล้วยิงออกไป ซึ่งคนร้ายส่วนใหญ่จะสาดกระสุนออกไปมั่วๆ แต่คนร้ายบางคนก็มีวิธีการเลือกเหยื่อที่จำเพาะเจาะจง

2. ซ่อน (hide) คือ การหลบอยู่หลังที่กำบังที่ลับตาและมั่นคงแข็งแรง ไม่ควรส่งเสียงดังหรือทำให้เกิดแสงสว่างจนดึงความสนใจของคนร้าย แล้วรีบโทรแจ้ง 191 เพื่อขอความช่วยเหลือ

3. สู้ (fight) คือ หนทางสุดท้ายที่ควรทำเมื่อไม่มีทางเลือกอื่น โดยเราต้องพยายามหยิบจับสิ่งของใกล้ตัวมาใช้เป็นอาวุธ แล้วสังเกตจุดอ่อนหรืออาวุธของคนร้าย เพื่อประเมินสถานการณ์และหาวิธีตอบโต้ในจังหวะที่คนร้ายเผลอ แต่วิธีการดังกล่าวอาจเป็นข้อจำกัดสำหรับเด็ก ผู้หญิง สตรีมีครรภ์ คนชรา คนป่วย และคนพิการ ซึ่งการร่วมมือกันต่อสู้จะมีโอกาสหยุดยั้งหรือเอาชนะคนร้ายได้มากกว่าการลุยเดี่ยว

ในทางปฏิบัติ การหนีออกจากสถานที่เกิดเหตุถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ดังนั้นเวลาเราออกไปเที่ยวที่ไหน การมองหาประตูเข้า-ออก บันไดฉุกเฉิน หรือทางหนีทีไล่อื่นๆ จึงสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการควบคุมสติไม่ให้ตื่นตระหนกหลังได้ยินเสียงปืน

ผลกระทบทางกาย-ใจ และปรากฏการณ์เลียนแบบ

ทุกคนคงทราบดีว่า คมกระสุนไม่ได้สร้างเฉพาะบาดแผลทางกายเท่านั้น แต่ยังสร้างบาดแผลทางใจให้กับคนที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วย ซึ่งบาดแผลดังกล่าวอาจทำให้เกิดโรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะทือนขวัญ (PTSD หรือ Post-Traumatic Stress Disorder) ดังนั้นการดูแลรักษาทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ประสบเหตุร้ายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

สิ่งที่น่าสนใจคือ การกราดยิงสามารถศึกษาผ่านแง่มุมด้านระบาดวิทยา (epidemiology) ได้ด้วย เนื่องจากพฤติกรรมที่รุนแรงมักจะกระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์เลียนแบบ (copycat effect) คล้ายกับโรคระบาดที่แพร่จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง (หรือหลายคน) โดยอาศัย ‘สื่อ’ เป็นพาหะ เรียกว่า ปรากฏการณ์ระบาดผ่านสื่อ (media contagion effect) ซึ่งถูกจัดเป็นรูปแบบหนึ่งของการระบาดทางสังคม (social contagion) 

นักวิทยาศาสตร์เคยคำนวณอย่างคร่าวๆ ว่า ทุกการกราดยิง 10 ครั้ง จะกระตุ้นให้เกิดการกราดยิงตามมาอีก 2 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งอาจห่างกันไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน หรือไม่กี่ปี แต่จะไม่เว้นห่างกันนานหลายปี โดยเรียกระยะห่างระหว่างเหตุการณ์หนึ่งกับอีกเหตุการณ์หนึ่งว่า ช่วงเวลาระหว่างรุ่น (generation time)

แผนภาพแสดงการระบาดทางสังคมของโซเชียลมีเดีย | photo: Martin Grandjean (2014)

ด้วยเหตุนี้ การเปิดเผยข้อมูลว่า คนร้ายคือใคร แรงจูงใจคืออะไร ลงมือก่อเหตุอย่างไร รวมถึงการส่งต่อภาพเหตุการณ์ที่รุนแรงอย่างละเอียดหรือมากจนเกินไป จึงไม่เป็นผลดีต่อสังคม โดยเฉพาะยุคที่คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลได้ง่ายและรวดเร็วเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสหน้าจอสมาร์ตโฟน

แนวทางป้องกันการกราดยิง

ในทางอุดมคติ การกราดยิงจะไม่เกิดขึ้นหากผู้ลงมือไม่สามารถเข้าถึงปืนและกระสุน รวมถึงผู้ที่มีอำนาจเข้าถึงปืนไม่ใช้สิ่งที่ตนครอบครองในทางที่ผิด แต่ในทางปฏิบัติคงเป็นเรื่องยาก ตราบใดที่การซื้อ-ขายปืนเถื่อน การลักขโมยปืน และการนำปืนออกมาใช้อย่างไม่เหมาะสม ยังมีให้เห็นอยู่เป็นประจำ สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอของกฎหมายและปัญหาด้านจิตสำนึกส่วนบุคคล

จากปัจจัยหลายอย่างที่ยากต่อการควบคุม สถานที่สาธารณะต่างๆ จึงต้องติดตั้งกล้องวงจรปิด เครื่องตรวจจับวัตถุโลหะ ระบบแจ้งเตือนภัย และมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เชี่ยวชาญประจำการอยู่ นอกจากนี้ นักวิจัยด้านเทคโนโลยียังพยายามพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เพื่อนำมาตรวจจับปืนและคำนวณโอกาสที่จะเกิดการกราดยิงอีกด้วย

หากพิจารณาให้ลึกลงไป การออกแบบด้านสถาปัตยกรรมก็มีส่วนสำคัญ เพราะการกราดยิงจะทำได้ยากขึ้น หากสถานที่นั้นไม่เปิดโล่งจนเกินไป ตามทางเดินมีเสาหรือกำแพงที่แข็งแรงให้หลบซ่อน รวมถึงมีช่องทางเข้า-ออกที่สะดวก การออกแบบเหล่านี้จะช่วยลดความสูญเสียจากการกราดยิงและการวางระเบิดได้ ภาครัฐและเอกชนจึงต้องคำนึงถึงรายละเอียดเหล่านี้ให้มากขึ้น

แต่เมื่อเกิดการกราดยิงขึ้นแล้ว ความปลอดภัยของประชาชนต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่ง ‘สื่อ’ ที่รายงานสถานการณ์อย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา และไม่แพร่ข่าวลือ จะสามารถเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เช่น เหตุกราดยิงเกิดที่ศูนย์การค้าสยามพารากอนก็ควรรายงานว่า ‘สยามพารากอน’ ไม่ควรเลี่ยงไปใช้คำว่า ‘ห้างดัง’ เนื่องจากบริเวณนั้นมีห้างดังหลายแห่งและการเลือกใช้คำที่คลุมเครืออาจสร้างความสับสนแก่ประชาชนได้ โดยคำว่า ‘สื่อ’ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงสื่อสำนักต่างๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพวกเราทุกคนที่มีสื่อโซเชียลอยู่ในมือด้วย

การที่สังคมไทยเกิดเหตุกราดยิงถี่ขึ้นภายในไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาจเป็นสัญญาณบอกเหตุว่ามี ‘ความผิดปกติบางอย่าง’ ซุกซ่อนอยู่ภายในมุมมืดของสังคม และหากภาครัฐยังทำได้เพียง ‘ถอดบทเรียน’ แต่กลับเมินเฉยต่อความผิดปกติเหล่านั้น โศกนาฏกรรมเลวร้ายก็อาจเกิดขึ้นซ้ำอีก

อ้างอิง:

สมาธิ ธรรมศร
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านฟิสิกส์ประยุกต์ โลกศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่ชื่นชอบการเดินป่า เที่ยวพิพิธภัณฑ์ และฟังเพลงวงไอดอล

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า